ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญฉบับ 2490

12
พฤศจิกายน
2563

พวกปรปักษ์ประชาธิปไตยเรียก “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ว่า “ขบถวังหลวง” บางคนก็พลอยเรียกเช่นนั้น โดยไม่พิจารณาตามหลักวิชาการแท้จริงว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นเป็นขบถต่อระบบปกครองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ หรือเป็นขบวนการที่ต่อต้านพวกปฏิกิริยาที่ทําลายระบบประชาธิปไตยซึ่งได้สถาปนาถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ปรีดีฯ จึงขอเสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะ โปรดใช้สติปัญญาระลึกและศึกษาความเป็นมา ดังต่อไปนี้

-1-

(ก) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงดํารงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงมีพระราชอํานาจทําการแทนปวงชนชาวสยามได้ โดยไม่ต้องมีผู้รับอํานาจจากราษฎรรับสนองพระบรมราชโองการนั้น พระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ระบบปกครองนั้นจึงถูกต้องสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย 

ธรรมนูญฉบับนั้นได้กําหนดวิธีตราพระราชบัญญัติไว้ ซึ่งการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินก็จะต้องดําเนินตามวิธีการที่ธรรมนูญนั้นได้กําหนดไว้ มิใช่จะทําโดยพละการของบุคคลใดคณะใดที่ฝ่าฝืนวิธีการตามธรรมนูญฉบับนั้น 

(ข) ต่อมารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้ร่างขึ้นโดยร่วมมือกับพระองค์นั้น สภาฯได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ 

(ค) ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ได้ทรงตรารัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคมโดยใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ทุกประการ ดังนั้น ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นโดยสืบต่อมาจากธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475

-2-

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอํานาจรัฐล้มระบบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นอย่างถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวใน (1) ข้างบนนั้น ต่อมาในวันที่ 9 เดือนนั้นคณะบุคคลดังกล่าวก็ได้สถาปนาระบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีสมญาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” 

ซึ่งนอกจากมิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบตามที่ได้กล่าวใน (1) นั้นแล้ว หากระบบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารทําขึ้นเองนั้น ก็มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเองด้วย ดังจะเห็นได้ดังต่อไปนี้

(ก) ขอให้นักวิชาการแท้จริงดูต้นฉบับรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งสํานักพิมพ์ “นิติเวชช์” รวบรวมโดย ร.ต.ท. เสถียร วิชัยลักษณ์ เนติบัณฑิตไทย และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต กับ พ.ต.ท. สืบวงศ์ วิชัยลักษณ์ นิติศาสตร์บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นํามาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “รวมรัฐธรรมนูญ” อย่างตรงไปตรงมา มิได้มีการตัดตอนบิดเบือนให้ผิดไปจากต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา ปรากฏชัดแจ้งในตอนต้นของรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มที่ปรีดีฯ ถ่ายภาพมาพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้ 

 


“หัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตําแหน่งผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ‘คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์’ ซึ่งในภาษาไทยคําว่า ‘คณะ’ หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ ‘รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ”

 

ผู้นิยมประชาธิปไตยสมัยนั้น แม้มิใช่อาจารย์หรือนักศึกษากฎหมายก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นหัวรัฐธรรมนูญมีความปรากฏดังนั้น ก็ใช้สามัญสํานึกได้ทันทีว่า หัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตําแหน่งผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคําว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร”  

ส่วนหลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่า เมื่อก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายนนั้น เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาอ่านประกาศกฎหมายหลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคําว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” แล้วก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม 2 ท่าน คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่า คณะนั้นประกอบด้วยบุคคล 2 คน ฉะนั้น ผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าวเริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น 

ส่วนนักวิชาการแท้จริงสมัยนั้นก็ได้ค้นคว้าเอกสารหลักฐานแท้จริง แทนที่จะถือเอาคําบอกเล่าเป็นหลักวิชาการนั้น ก็พบประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลที่ได้ลงและแจ้งประกาศตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะยังทรงพระเยาว์ ตามประกาศลงวันที่ 16 มิถุนายน 2489 มีความดังต่อไปนี้ 

“โดยที่รัฐสภาอาศัยร่างตามความในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ปรึกษากันเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2489 และลงมติตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย 

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน 

2. พระยามานวราชเสวี 

โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม จึงขอประกาศ ให้ทราบทั่วกัน 

ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2489
วิลาศ โอสถานนท์
ประธานรัฐสภา”

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯ องค์เดียวเป็นผู้ลงนาม จึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดในประกาศแต่งตั้ง “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2489 

ส่วนระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และฉบับต่อ ๆ มา อาทิ ฉบับ 2517 ที่ถือเอาฉบับ 2492 เป็นแม่บทนั้น จึงเป็นโมฆะ และองค์การใดที่กําลังเรียกร้องให้มีรัฐธรมนูญโดยถือเอาฉบับ 2517 เป็นแม่บทนั้น จึงชักจูงให้บุคคลทําสิ่งที่เป็นโมฆะ 

ข้อสังเกต 

มีหนังสือบางเล่มที่พิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ จําหน่ายได้จัดทําหัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มโดยพลการ ซึ่งขัดต่อราชกิจจาฯ เล่มที่ปรีดีฯ อ้างไว้อาทิ บางเล่มได้ตัดคําว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ออกไป คงมีแต่ชื่อ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” เป็นผู้ลงนาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่า กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามในฐานะใด ซึ่งต่างกับที่เคยปฏิบัติมาว่า ผู้ลงนามในหัวเรื่องบทกฎหมายใด ๆ นั้น ให้แจ้งว่า “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” และถ้าผู้สําเร็จราชการหลายคนก็แจ้งว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ถ้าในกรณีที่แต่งตั้งผู้สําเร็จราชการฯ ไว้คนเดียว ผู้ลงนามก็บอกตําแหน่งของตนว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” 

ฉะนั้น ขอให้นิสิตนักศึกษาที่ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ใช้ความรอบคอบตรวจดูให้ถี่ถ้วนว่า ในกรณีที่มีคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สําเร็จฯ ได้ลงนามครบถ้วนตามข้อกําหนดในประกาศแต่งตั้งหรือไม่ ไม่ควรศึกษาแต่เพียง “ย่อรัฐธรรมนูญ” เพื่อสะดวกในการสอบไล่เท่านั้น

(ข) ในตอนท้ายแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่ม) นั้น ปรากฏความดังต่อไปนี้ 

“จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
9 พฤศจิกายน 2490” 

นิสิตนักศึกษาและสามัญชน ที่แม้มิใช่นักวิชาการ ก็เห็นได้โดยไม่ยากว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” เป็นตําแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และผู้นั้นไม่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะตามที่ได้กล่าวใน (ก) ข้างบนนั้นแล้ว ก็ยังเป็นโมฆะอีกสถานหนึ่ง เพราะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการไม่มีอํานาจหรือสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่จะทําเช่นนั้นได้ 

(ค) ขอให้นิสิตนักศึกษาที่มีปัญญาประกอบด้วยสติโปรดพิจารณาว่า การที่บุคคลหลายคนได้ร่วมมือกันทํารัฐประหารทําลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาโดยระบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นั้นได้ทําการที่เข้าลักษณะเป็น “กบฏ” หรือไม่ และกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภาที่ตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น ถือว่าถูกต้องในทางนิตินัยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญหรือไม่

-3-

ปรีดีฯ ได้รวบรวมนักประชาธิปไตยจํานวนหนึ่งที่เห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะลงมือใช้กําลังอาวุธต่อสู้คณะรัฐประหารกับพวกที่ทําลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

ปรีดีฯ จึงเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการลับ และนําการต่อสู้ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งขณะนั้นระบบปกครองของประเทศเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่มที่เป็นโมฆะ)

วัตถุประสงค์ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้แถลงเมื่อขบวนการได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ว่า ขบวนการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ จึงมิใช่กบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงไม่ควรที่ผู้รณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มและระบบต่าง ๆ ที่สืบเนื่องจากระบบใต้ตุ่ม โดยใส่ความว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นกบถวังหลวง

ข้อสังเกต

ในการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 กับขบวนปรปักษ์ประชาธิปไตยเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ในหลวงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้น การยึดวังหลวงชั่วคราวจึงไม่มีภยันตรายต่อพระมหากษัตริย์