ฐานะของ “สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” มีความน่าสนใจทั้งในบริบทประวัติศาสตร์และปัจจุบัน โดยมีการวิเคราะห์ทั้งในเชิงคุณูปการต่อสังคมและเชิงลบต่อระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย แต่เมื่อพิจารณามาถึงผลทางเศรษฐกิจและการเมืองกลับพบว่า สมุดปกเหลืองมีคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาแนวคิดสังคมนิยมเศรษฐกิจไปจนถึงการนำหลักเศรษฐกิจบางประการมาวิเคราะห์ว่ามีลักษณะสอดรับกับแนวทางรัฐสวัสดิการ แล้วปรับใช้กับนโยบายของพรรคการเมือง
บทความนี้จะชี้ให้เห็นการวิเคราะห์ วิวาทะ และผลของเค้าโครงการเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเปิดกว้างเพื่อให้มีการนำไปศึกษาหรือกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจว่าอะไรคือ “สมุดปกเหลือง” ผ่านบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์นิพนธ์เป็นหลัก
ฐานะของสมุดปกเหลือง : หลักการ เจตนารมณ์ และข้อควรสังเกต
ฐานะของสมุดปกเหลืองเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญในยุคระบอบใหม่ภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ถือเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกและฉบับเดียวที่จัดทำขึ้นภายใต้หลักการแบบสังคมนิยมจึงทำให้เกิดวาทกรรมเกี่ยวกับสมุดปกเหลืองแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ สมาชิกคณะราษฎรหัวก้าวหน้าที่มีแนวทางการวางแผนเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา เช่น นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุณยเกตุ และ ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มอำนาจเดิม ชนชั้นนำ และทหารที่สนใจแนวทางเศรษฐกิจแบบระบอบเก่าและทุนนิยมเสรี เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาทรงสุรเดช
สมุดปกเหลืองจึงเป็นเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับแรกและฉบับเดียวในสังคมไทยที่ทำให้เกิดการปะทะทางอุดมการณ์ระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยมทางเศรษฐกิจ และการสร้างวาทกรรมว่าสังคมนิยมคือคอมมิวนิสต์ หรือมีแนวปฏิบัติเดียวกันกับคอมมิวนิสต์ และความคิดสังคมนิยมทุกประเภทล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้นซึ่งไม่เหมาะกับสังคมไทยจนนำไปสู่การรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ขึ้นเป็นครั้งแรกที่มีความตั้งใจหลักคือ กำจัดนายปรีดี พนมยงค์ แต่วาทกรรมนี้กลับมีผลจนถึงปัจจุบันนั่นคือ การเหมาะรวมว่าอุดมการณ์สังคมนิยมทุกประเภทคือแนวทางเดียวกับความคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์
เจตนารมณ์ของสมุดปกเหลืองยังเป็นการวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรที่ให้ความสำคัญกับการปูทางให้ราษฎรเข้ามามีสิทธิ์และมีส่วนรวมในการจัดการเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติที่สำคัญคือ ต้องการให้สยามมีเอกราชทางเศรษฐกิจโดยจัดกสิกรรมและอุตสาหกรรมให้มีขึ้นภายในประเทศอย่างเพียงพอ และสอดรับกับปณิธานของนายปรีดีที่แถลงไว้ในหมวดที่ 1 ของสมุดปกเหลืองว่า
“ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งสาระสำคัญคือ ‘บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ และถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่ไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎรได้มีส่วนมีเสียงในการปกครองให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตนและเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้น เข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสมบูรณ์”
และสมุดปกเหลืองยังมีข้อควรสังเกตเรื่องวัตถุประสงค์ที่สำคัญนอกจากการบรรลุภารกิจตามหลัก 6 ประการแล้วยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การวางรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง
จุดตั้งต้นและบริบทการเมืองของเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง
ระบอบใหม่หลังการอภิวัฒน์ 2475 ของคณะราษฎรได้ปกครองโดยยึดหลัก 6 ประการที่ระบุไว้ในประกาศคณะราษฎร และผู้แทนราษฎรต้องกล่าวคำปฏิญาณตามหลักนี้ตั้งแต่ในการประชุมสภาผู้แทนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[1] โดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ให้ความสำคัญแก่หลักข้อที่ 3 “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”[2] ค่อนข้างมาก และได้กล่าวไว้ว่า “ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ”
จากแนวคิดของคณะราษฎรและนายปรีดีที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สังคมเผชิญอยู่ในสมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นพื้นฐานทำให้หลังการอภิวัฒน์รัฐบาลมีความตื่นตัวการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกค้างมาจากระบอบเก่าทันทีนับตั้งแต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 มีการลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง 50 เปอร์เซ็นต์ ยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภท ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกอากรนาเกลือ ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีสมพัตสร ปรับปรุงภาษีการธนาคารและประกันภัย ประกาศลดพิกัดเก็บเงินค่านา ลดภาษีโรงเรียนในที่ดิน ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร การลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าสวน การออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และพระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน
กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำโครงการเศรษฐกิจ มีกระทู้ถามถึงโครงการเศรษฐกิจทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนจนต่อมานายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอ “โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม”[3] ต่อสภาฯ แต่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่ได้ตอบรับโครงการฯ ดังกล่าว
ต่อมารัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีจึงมีมติมอบหมายให้นายปรีดีเป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจมาเสนอแก่รัฐบาล[4] เมื่อนายปรีดีจัดทำคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้วเสร็จจึงส่งให้แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การประชุมเรื่องคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมีขึ้นสองครั้ง ดังนี้
การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ก็เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีบางคนอย่างไม่เป็นทางการและไม่ครบองค์ประชุมฯ หลังการหยั่งเสียงและถกเถียงแล้ว ปรากฏผลว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจา และพระยาราชวังสัน ไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีจึงเก็บร่างฯ นี้ไว้ และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) คณะรัฐมนตรีจึงประชุมปรึกษากันเพื่อลงมติให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยให้นายปรีดีเข้าชี้แจ้งและนำเสนอในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า)
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วังปารุสกวัน
วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2475
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ศกนี้ ลงมติให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาโครงการณ์เศรษฐกิจซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะได้เป็นผู้เสนอ มีรายนามดั่งต่อไปนี้ คือ
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- พระยาศรีวิสารวาจา
- นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน
- นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- หลวงเดชสหกรณ์
- นายประยูร ภมรมนตรี
- นายแนบ พหลโยธิน
- หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ
- หลวงเดชาติวงศ์วรารักษ์
- หลวงคหกรรมบดี
- นายทวี บุณยเกตุ
- นายวิลาศ โอสถานนท์
- หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เลขานุการ
กำหนดการประชุมครั้งแรก วันอาทิตย์ 12 มีนาคม ศกนี้ เวลา 8 นาฬิกา ณ วังปารุสกวัน
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงนาม) หลวงเดชสหกรณ์
รั้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”[5]
การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 แต่เป็นการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475 (นับตามปฏิทินเก่า)[6] โดยเปิดการประชุมเวลา 8.20 น. มีผู้เข้าประชุมคือ กรรมาธิการพิจารณาโครงการเศรษฐกิจจำนวน 14 ราย ตามที่ตั้งขึ้นในการประชุมฯ ครั้งที่ 1 และนายปรีดีได้แถลงที่มาและข้อควรระลึกจากเอกสารคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจในการประชุมฯ ครั้งนี้ไว้อย่างละเอียด
จากการประชุมฯ ครั้งนี้ทางนายปรีดีถามเชิงรุกให้ที่ประชุมตกลงว่า จะเอาอย่างไรให้แน่นอนแต่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เบี่ยงบ่ายด้วยความคิดที่ว่าโครงการนั้นจะดำเนินการไม่ได้ และพระยาทรงสุรเดชระบุว่าถ้าหากนายปรีดีจะประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนเองจะเหมาะสมกว่าโดยอย่าทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นของรัฐบาล
และผู้เข้าร่วมประชุมฯ มีความเห็นแบ่งออกเป็นสองทางคือ ฝ่ายสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ ฝ่ายที่คัดค้าน โดยมีผู้ลงมติเห็นชอบต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของนายปรีดี จำนวน 8 เสียง ได้แก่ นายปรีดี, หลวงเดชสหกรณ์, นายแนบ พหลโยธิน, ม.จ.สกลวรรณกร วรวรรณ, หลวงคหกรรมบดี, หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์, นายทวี บุณยเกตุ และนายวิลาศ โอสถานนท์ และมีผู้ที่คัดค้าน จำนวน 4 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิสารวาจา และพ.อ.พระยาทรงสุรเดช กลุ่มนี้ยังเสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เตรียมไว้อย่างคร่าวๆ ต่อที่ประชุมอีกด้วย และมีอีก 2 เสียง คือนายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการจึงมิได้ออกเสียง
ในวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) พระยานิติศาสตร์ไพศาลได้สอบถามถึงเรื่องโครงการเศรษฐกิจและคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี โดยพระยาราชวังสันหนึ่งในกรรมานุการฯ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ พิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจกล่าวตอบว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง[7]
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) นั้นนายปรีดีมีหนังสือไปถึงพระยาทรงสุรเดชลงวันที่ 24 มีนาคม 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) เพื่อยินยอมให้มีการผ่อนผันในเค้าโครงการเศรษฐกิจของตนตามข้อตำหนิของพระยาทรงสุรเดช 3 ประการ ได้แก่
1. ไม่ประสงค์ให้มีการบังคับซื้อที่ดิน คือประสงค์ให้ซื้อโดยสมัคร หรือ โดยขึ้นภาษีทางอ้อม
2. ไม่ประสงค์บังคับให้คนเข้ามาเป็นลูกจ้างของสหกรณ์ทั้งหมด คือ ประสงค์ให้เป็นโดยสมัคร
3. ประสงค์ให้ทำเป็นส่วนๆ ตามกำลังของเราที่มีซึ่งจะทำได้
นายปรีดีชี้แจงว่า “ผมได้ยอมผ่อนและได้ชี้แจงไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อประสงค์จะใช้โครงการเศรษฐกิจที่ผมได้เสนอไว้ และแก้ข้อความ 3 ประการนี้ ผมก็ยอมรับและขอให้ได้ประกาศตามที่แก้ไขให้อยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ เมื่อแก้แล้ว เราจะได้ให้หลักการแก่สภาเศรษฐกิจแห่งชาติถูกเพื่อสภาจะได้ยกร่างโครงการพิสดารขึ้น และตั้งหน้าทำงานไปในหลักอันเดียวกัน มิฉะนั้น จะต้องโต้เถียงหลักการกันเรื่อยไปทำให้การงานเดินไปไม่เรียบร้อย”
หากทางคณะรัฐมนตรีได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจขึ้นอีกในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติเพราะว่าที่ประชุมฯ ให้รอการกลับมาของพระยาพหลพลพยุหเสนาเสียก่อนเพื่อหวังผลว่าจะมีการประนีประนอมกันได้แต่ความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจกลับยกระดับไปสู่จุดแตกร้าวจนถึงขึ้นที่นายปรีดีขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแต่พระยามโนปกรณ์คัดค้าน ทำให้นายปรีดีเสนอทางเลือกว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลแต่ขอให้เค้าโครงการเศรษฐกิจของตนเผยแพร่ในทางใดทางหนึ่งโดยมีพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเข้ามาไกล่เกลี่ยว่าไม่ต้องประกาศนโยบายเศรษฐกิจของทุกฝ่ายและให้เลือกนโยบายที่ดีไปจัดทำแผนเศรษฐกิจ
สามวันถัดมาในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้อีกครั้งและทางพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้นำบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ มาเสนอต่อที่ประชุมทำให้ความขัดแย้งยุติลงในท้ายที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้ออกเสียงสนับสนุน 11 เสียง
และลงมติว่าจะไม่ประกาศต่อสาธารณะว่า นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ นโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะเห็นได้ว่าข้อยุติเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและเค้าโครงการเศรษฐกิจได้มีการลงมติในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ซึ่งเป็นไปตามเสียงข้างมากและนายปรีดียังไม่ได้ลาออกจากรัฐมนตรีหรือเคลื่อนไหวอื่นอีกจนถึงวันที่ 31 มีนาคม กลับเป็นฝ่ายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่นำทหารเข้ามาคุมสภาฯ และรัฐประหารครั้งแรกด้วยการปิดสภาฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476[8]
ฐานะและสาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง
ฐานะของเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองในสังคมไทยคือ การเสนอความคิดเศรษฐกิจแบบโซเชียลลิสม์โดยนายปรีดีมีพื้นฐานความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาจาก Charles Gide และ Charles Rist. นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส[9]จากครั้งที่ลงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
“สมุดปกเหลือง” มีเนื้อหา 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ส่วนที่สองคือ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Sociale) และส่วนที่สามคือ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช...
และ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 หมวด ได้แก่
- ประกาศของคณะราษฎร เน้นข้อที่ 3 ของหลัก 6 ประการ
- ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจ
- การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
- แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก
- วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน
- การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ
- การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์
- รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ
- การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง
- แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ และ
- ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ
อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ ได้ชี้ให้เห็นถึงสาระสําคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจไว้ 10 ประการ[10] ดังนี้
สาระสําคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ
อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ
- ด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้แห่งการดํารงชีวิต เช่น การเจ็บป่วยหรือพิการ ทํางานไม่ได้ ทําให้ราษฎรทุกคนควรได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์จากรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพว่าจะได้ปัจจัยแห่งการดํารงชีวิต เนื่องจากเหลือวิสัยที่เอกชนจะทําได้หรือหากทําได้ราษฎรจะต้องเสียค่าประกันแพงจึงจะคุ้ม โดยรัฐบาลไม่ต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง แต่อาจจัดให้แรงงานใช้ประโยชน์มากขึ้น หรือการเก็บภาษีทางอ้อม
- การประกันความสุขสมบูรณ์ ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกัน ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรกําหนดให้เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรทุกคนเป็นจํานวนพอที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการในการดํารงชีวิต (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร)
- การที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรนั้นจําเป็นที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ) และมีข้อยกเว้นให้เอกชนประกอบการ เศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ “แรงงานเสียไปไม่ได้ใช้เต็มที่” (ชาวนาทํางานปีหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน ทําให้เวลาที่เหลือสูญเสียไป) และการปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทําจะทําให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และหากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนําเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดี ไม่ส่งผลเสียดังเช่นให้เอกชนประกอบการที่การนําเครื่องจักรกลนํามาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทําหากรัฐประกอบการเองจะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทําได้
- วิธีการจัดหาที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจของรัฐ
ที่ดิน รัฐบาลจะซื้อที่ดินกลับคืนจากเจ้าของที่ดิน (เฉพาะที่ดิน ที่นา ที่ใช้ ประกอบการเศรษฐกิจ ไม่รวมที่อยู่อาศัย) รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินตามราคาที่ดิน และรัฐบาลกําหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ย โดยเจ้าของที่ดินยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การซื้อที่ดินกลับมานี้เป็นวิธีที่ต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์ เมื่อรัฐบาลได้ที่ดินกลับคืนมาจะได้สามารถวางแผนการใช้ที่ดิน การใช้เครื่องจักรกล การทําคูน้ําทําได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
แรงงาน รัฐบาลให้ราษฎรที่อยู่ในวัยแรงงาน (18 ปี ขึ้นไป) เป็นข้าราชการเพื่อให้ แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี รัฐบาลกําหนดให้ราษฎรทํางานตามคุณวุฒิและความสามารถเงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิแต่กําหนดเงินเดือนขั้นต่ําสุดที่พอเพียงแก่การดํารงชีพ และยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการ เมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
ทุน รัฐบาลจัดหาทุน โดยไม่ริบทรัพย์ของเอกชน แต่จะหาทุนโดยวิธีอื่น ได้แก่ การเก็บภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือภาษีทางอ้อม การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงิน และการหาเครดิต - ในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ ได้เสนอการจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ โดยเอาเงินทุนสํารองและรัฐบาลและเงินกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ
- การรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชน ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ซึ่งเอกชนหามาได้ และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐ์คิดค้นของบุคคล
- การจัดให้รายจ่ายและรายได้เข้าสู่ดุลยภาพ ทั้งดุลยภาพภายในและดุลยภาพระหว่างประเทศ
- การที่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจที่มีพลเมืองกว่า 11 ล้านคน เช่น ประเทศไทย จําเป็นต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ โดยสมาชิก รวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ ร่วมกันประดิษฐ์ จําหน่าย ขนส่ง จัดหาของ อุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและ ทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง ทั้งนี้การจัดให้สหกรณ์มีการปกครองตามแบบเทศบาลย่อมทําได้สะดวก
- รัฐบาลต้องถือหลักว่าจะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปิดประตูทางการค้าเพื่อให้ประเทศมีเอกราชในทางเศรษฐกิจ
- การจัดทําแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้มีสภาทําหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติเกี่ยวกับกสิกรรม อุตสาหกรรม ขนส่งและคมนาคม การจัดสร้างที่อยู่ให้ราษฎรและการแยกงานออกให้สหกรณ์ต่างๆ โดยคํานวณสืบสวนหาความต้องการปัจจัยแห่งการ ดํารงชีวิต และประมาณการปัจจัยที่ดิน แรงงาน ทุนที่ต้องใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาตินี้ กําหนดประมาณการว่าปีหนึ่งรัฐบาลจะทําได้อย่างไร และแจ้งผลการกระทําต่อมหาชนทุกสัปดาห์
ขณะที่นายวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร[11] กล่าวถึงความมุ่งมาดปรารถนาในการอภิวัฒน์สยามของนายปรีดีไว้ว่ามีเป้าประสงค์สำคัญ 3 ประการโดยประการที่ 3 เกี่ยวกับการเศรษฐกิจ ได้แก่
1. สถาปนาระบอบการปกครองที่จะยืนยงเป็นฐานรากของบ้านเมืองไปนาน แสนนาน คือการปกครองในระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งราษฎรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกให้ความเห็นชอบผู้บริหารประเทศอันเป็นของราษฎรและบริหารประเทศเพื่อราษฎร โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาเป็นหลักค้ําจุน.
2. สถาปนารัฐไทยที่มีความก้าวหน้า ทันสมัย และเป็นสากลในทุกๆ มิติ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ, การบริหารราชการ, การจัดการเงินการคลังที่สุจริตและมีประสิทธิภาพ, การให้การศึกษาและการสาธารณสุขอย่างครบถ้วนและทั่วถึง, การมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นขื่อแปของบ้านเมือง, การให้สิทธิและความเสมอภาคแก่ราษฎร, และการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยให้บังเกิดสันติสุข. ยิ่งกว่านั้น จะต้องสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพบนพื้นฐานของหลักคิดและจิตสํานึกที่ถูกต้องและเป็นอารยะ.
3. สถาปนาหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของราษฎรทุกคน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มารดาจนถึงเชิงตะกอนเมื่อชีวิตถึงที่สุด ซึ่งได้แก่ความปลอดภัย, การศึกษา, สวัสดิการสังคมอย่างสมบูรณ์, และการมีงานทําและรายได้อย่างเป็นธรรมและเพียงพอตามอัตภาพ.
และ เสนอแนวความคิดทางเศรษฐกิจของนายปรีดีไว้ 5 ประการ ดังนี้
แนวความคิดทางเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
เป้าประสงค์ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สําหรับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ก็คือ “ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า ซึ่งหมายถึง “ความพอเพียง” ในบรรดา “ชีวปัจจัย” ต่างๆ ที่เป็นรากฐานของความสุขในชีวิต. ในการให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ดังกล่าว, การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติจะต้องประกอบด้วยแนวความคิด 5 ประการ คือ
1. เศรษฐกิจความมั่นคงแห่งชาติ หมายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถือเอกราชและอธิปไตยของชาติเป็นหลัก โดยไม่กระทําการใดๆ, แม้นว่าการนั้นจะนํามาซึ่งความมั่งคั่งและเติบโต, ที่จะมีผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ.
2. เศรษฐกิจสหกรณ์ในชนบท เนื่องจากความสุขสมบูรณ์อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า ของราษฎรในพื้นที่ชนบทมีความสําคัญสูงสุดในการบริหารเศรษฐกิจของชาติ ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจ ในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะที่เป็นการร่วมมือร่วมใจดําเนินการเศรษฐกิจของเกษตรกรที่มีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย อันก่อให้เกิดหนี้สิน, ในการผลิต, ในการตลาด, และในการบริโภค, โดยพิจารณาขยายกระบวนการผลิตและการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม”, ทั้งนี้โดยปราศจากอิทธิพลครอบงําของทุนนิยม, ในขณะที่ภาครัฐให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและการวิจัยและพัฒนา.
3. เศรษฐกิจประชาธิปไตย หมายถึงการกระจายบรรดา “ปัจจัยการผลิต” อันได้แก่ ที่ดิน, ทรัพย์สินและเงินทุน, และเทคโนโลยี มิให้กระจุกตัวอยู่ในความครอบครองของบุคคลกลุ่มใด, ในขณะที่การจัดสรรส่วนแบ่งใน “มูลค่าเพิ่ม” ที่เกิดจากการผลิต มีความเป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ. เศรษฐกิจประชาธิปไตยจะเป็นฐานรากรองรับสังคม/การเมืองประชาธิปไตย.
4. เศรษฐกิจสวัสการสังคม โดยที่ราษฎรทุกคนจะต้องมีหลักประกันสวัสดิภาพในทุกมิติ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงเชิงตะกอน, ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับชาติจึงจําเป็นจะต้องให้ความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ราษฎรทุกคนเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผล.
5. เศรษฐกิจเทคโนโลยี หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีเพื่อใช้เพิ่มพลังการผลิตบรรดา “ชีวปัจจัย” สําหรับการดํารงและดําเนินชีวิตของราษฎรอย่างมีความสุขสมบูรณ์, การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีจะเป็นหลักประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ.
นายวิชิตวงศ์มองว่าหลักเศรษฐกิจทั้ง 5 ประการข้างต้นสะท้อนแนวคิดทางเศรษฐกิจของนายปรีดีทั้งที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2475 และในข้อคิดข้อเขียนต่างๆ ในกาลต่อมาตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต.
วิวาทะและผลทางเศรษฐกิจการเมืองของสมุดปกเหลือง
พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อเค้าโครงการของนายปรีดีหรือต่อมาเรียกว่า สมุดปกขาว นั้นมีใจความหลักที่วิจารณ์ไว้ว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีเป็นโครงการอย่างเดียวกับที่กำลังใช้อยู่ในประเทศรุสเซีย[12]
ขณะที่นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้สรุปความคิดทางเศรษฐกิจของนายปรีดีจากสมุดปกเหลืองว่าได้รับอิทธิพลมาจากหลักโซลิดาริสต์ซึ่งถือว่ามนุษย์ในสังคมเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาย่อมเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ต่อกัน ความยากแค้นของมนุษย์เกิดจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ฝูงชนยากจนลงได้ ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนต่างก็มีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จำเป็นต้องร่วมประกันภัยต่อกันและกัน และร่วมกันในการประกอบการทางเศรษฐกิจ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกชนชั้นต้องตกอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยจัดระเบียบเศรษฐกิจ และรัฐบาลภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีแผนเศรษฐกิจที่แน่นอน รัฐบาลของคณะราษฎรจึงจะแก้ไขข้อบกพร่องนี้เสีย โดยกำหนดโครงการที่อาศัยหลักวิชาของการวางแผนแบบสังคมนิยมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ และได้วิจารณ์หนังสือท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสฯ ของเดือน บุนนาค ฉบับพิมพ์ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2500
ขณะที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัยคือ นายวรพุทธิ์ ชัยนาม ได้เขียนบทความโต้แย้งนายชัยอนันต์ด้วยการเสนอในเชิงบวกต่อความคิดทางเศรษฐกิจของนายปรีดีว่าให้ดูที่เจตนารมณ์และปณิธานว่าต้องการสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับสังคมสยามและเป็นไปตามหลัก 6 ประการ[13]
ส่วนนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ในแง่บวกต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีว่าได้นำเสนอในสิ่งใหม่ที่สุดของสังคมสยามคือ การที่รัฐบาลจะใช้พันธบัตรซื้อที่ดินสำหรับการเพาะปลูกทั้งหมดยกเว้นที่อยู่อาศัย ส่วนนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มองว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมีลักษณะ “ซ้ายจัด” คือ “ซ้าย” ยิ่งกว่าพวกบอลเชวิคในรัสเซียก่อนสมัยสตาลิน[14] จากบริบทประวัติศาสตร์และวิวาทะข้างต้นทำให้เห็นว่ามี “การเมืองเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นความขัดแย้งครั้งแรกระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่และยังเป็นจุดพลิกผันสำคัญทางการเมืองไทยที่นำไปสู่การพึ่งพาคณะราษฎรสายทหารมากยิ่งขึ้นเพื่อคานอำนาจทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเดิม
ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีจะไม่ได้ประกาศใช้บังคับแต่หลักการ และสาระสำคัญหลายประการจากเค้าโครงการเศรษฐกิจได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญในการวางแผนเศรษฐกิจในเวลาต่อมา เช่น หลักการสหกรณ์ ต่อมามีการจัดตั้งสหกรณ์การหาทุนและที่ดินขึ้นในช่วง พ.ศ. 2478-2480 ซึ่งจัดตั้งขึ้นในหลายจังหวัด เช่น สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินที่จังหวัดปทุมธานี สหกรณ์บ้านเกาะจำกัดสินใช้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และมีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นใน พ.ศ. 2483 ตามแนวทางตั้งต้นที่ระบุไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ และมีการตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เพื่อก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงนำรูปแบบบางประการของเค้าโครงการเศรษฐกิจมาใช้ในกรณีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ในชื่อแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. 2504-2509 หรือต่อมาเรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย[15]
จากรากฐานความคิดในสมุดปกเหลืองยังขยายผลไปสู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ใน พ.ศ. 2477 การหารายได้ให้รัฐบาลด้วยการจัดเก็บภาษีอากรระบบใหม่ที่เป็นธรรมแก่สังคมที่เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร” รวมทั้งเก็บภาษีเงินได้ การกอบกู้เอกราชทางเศรษฐกิจ และทางการค้า ใน พ.ศ. 2480 โดยการเปิดเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศตะวันตก 15 ประเทศ ซึ่งสยามเคยเสียเปรียบในทางการศาลและเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การจัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามเพื่อวางรากฐานการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งสหกรณ์ทางเศรษฐกิจ และระบบประกันสังคม
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับและเอกสารชั้นต้น
ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสถาบันปรีดี พนมยงค์
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 169-179.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 55 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 829-834.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1, วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 57 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 889-890.
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2)สร 0201.22 กล่อง 1 ปึกที่ 2. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง หนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (9 มีนาคม 2475-เมษายน 2476)
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
- เอกสารอัดสำเนา. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
- เอกสารอัดสำเนา. อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. รู้จัก “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” แผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก, (มปท., มปป.)
หนังสือ :
- คณะบรรณาธิการสำนักพิมพ์, บันทึกประวัติศาสตร์ พระปกเกล้าฯ ทรงโต้เศรษฐกิจ นายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: จิรวรรณนุสรณ์, 2526)
- เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, แปลโดย ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518)
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2531)
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
- ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
- มังกร สามเสน, โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง, 2490)
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544)
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีคิด-ปรีดีเขียน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2543)
- ฮัต เจสสัน, ลัทธิเศรษฐกิจ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สมาคมเศรษฐศาสตร์, 2518)
- Landon, Kenneath Perry, National Economic Policy of Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years since thae Revolution of 1932 (Bangkok: Suksit Siam, 1999)
บทความในหนังสือและวารสาร :
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช, “แนะนำและวิจารณ์หนังสือ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก,” พัฒนบริหารศาสตร์, 9:4, (ตุลาคม 2512), น. 752-764.
- ปรีชา อารยะ, “เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 8:1, (มิถุนายน-สิงหาคม 2513), น. 752-764.
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, “การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย,” สังคมศาสตร์, 16:2, (เมษายน-มิถุนายน 2522), น. 1-12.
วิทยานิพนธ์ :
- ชวลิต วายุภักตร์, “การปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2475-2485,” (วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519)
- Makoto Nambara, “Economic Plans and the Evolution of Economic Nationalism in Siam in the 1930s,” (School of Oriental and African Studies) A thesis submitted for the degree of Doctor of Philosophy of the University of London, 1998)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (11 กันยายน 2564). ดูมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ทาบกับ “เศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด”. https://www.silpa-mag.com/history/article_10152. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- ธิกานต์ ศรีนารา. เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- สฤณี อาชวานันทกุล. (20 มิถุนายน 2560). เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์. https://www.the101.world/pridi-economic-plan/. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. เค้าโครงการเศรษฐกิจ. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจ. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- อนุสรณ์ ธรรมใจ. (2 กรกฎาคม 2563). [สรุปประเด็นเสวนา] ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ชู โมเดล ‘สมุดปกเหลือง’ แก้พิษเศรษฐกิจ ชี้ ‘ปรีดี’ คือ มันสมองชาติ. https://pridi.or.th/th/content/2020/07/328. เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2567.
- อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. (7 พฤษภาคม 2563). มอง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน. https://pridi.or.th/th/content/2020/05/244. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ. https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113
[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-5.
[2] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2531), น. 269-270.
[3] มังกร สามเสน, โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง, 2490)
[4] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535), น. 19.
[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2)สร 0201.22 กล่อง 1 ปึกที่ 2. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง หนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (9 มีนาคม 2475-เมษายน 2476)
[6] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1, วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475.
[7] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 57 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 889-890.
[8] ธิกานต์ ศรีนารา. เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
[9] Makoto Nambara, “Economic Plans and the Evolution of Economic Nationalism in Siam in the 1930s,” (School of Oriental and African Studies) A thesis submitted for the degree of Doctor of Philosophy of the University of London, 1998), pp. 88-97.
[10] เอกสารอัดสำเนา. อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. รู้จัก “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” แผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก, (มปท., มปป.)
[11] เอกสารอัดสำเนา. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
[12] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), น. 236-237.
[13] ธิกานต์ ศรีนารา. เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567. ณัฐพล ใจจริง. (10 มีนาคม 2566). วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และพระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ (ตอนที่ 1). https://pridi.or.th/th/content/2023/03/1452. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567., ณัฐพล ใจจริง. (13 มีนาคม 2566). วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ (ตอนจบ). https://pridi.or.th/th/content/2023/03/1452 https://pridi.or.th/th/content/2023/03/1456. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567., ชัยอนันต์ สมุทวณิช, “แนะนำและวิจารณ์หนังสือ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก,” พัฒนบริหารศาสตร์, 9:4, (ตุลาคม 2512), น. 752-764. และปรีชา อารยะ, “เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 8:1, (มิถุนายน-สิงหาคม 2513), น. 752-764.
[14] ธิกานต์ ศรีนารา. เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
[15] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. เค้าโครงการเศรษฐกิจ. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจ. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.