ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ทนายความคณะผดุงธรรม และการอภิวัฒน์ 2475

10
กรกฎาคม
2565

ห้วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปรากฏความตื่นตัวของกลุ่มคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาให้ประเทศของพวกตนได้ปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยิ่งเฉพาะในกลุ่มของผู้ทำงานด้านกฎหมายเยี่ยงพวกทนายความแล้ว ก็จะแสดงออกความคิดเห็นและเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บ้านเมืองมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” อย่างแข็งขัน

ทนายความคณะหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศควรปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ นั่นคือ สมาชิกแห่งสำนักงานทนายความ “ผดุงธรรม” อันได้แก่ ขุนวิศุทธจรรยา (สุวรรณ เพ็ญจันทร์) และ นายทองอินทร์ อุดล เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง นายซิม วีระไวทยะ ทนายความชั้นหนึ่ง และ นายสงวน ตุลารักษ์ ทนายความเลื่องชื่อ

น่าสังเกตว่า ทนายความของสำนักงานผดุงธรรมมีพื้นฐานมาจากการรับราชการครูมาก่อน  

ขุนวิศุทธจรรยา หรือ นายสุวรรณ เคยเป็นครูสอนหนังสือและทำงานกระทรวงธรรมการ เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2467 สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตในปีถัดมา จึงลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2469 มาประกอบอาชีพทนายความและร่วมกับผองเพื่อนตั้งสำนักงานทนายความผดุงธรรม

นายซิม เคยเป็นครูสอนโรงเรียนอัสสัมชัญ เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย พอสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2469 ก็ลาออกจากราชการครูมาเป็นทนายความ

นายสงวน เคยเป็นครูสอนโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย แล้วลาออกมาเป็นทนายความหลังสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2468

ต้นทศวรรษ 2470 ทนายความคณะ “ผดุงธรรม” สบโอกาสได้ทำความรู้จักกับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการแนะนำของ หลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อรรถกิจ พนมยงค์) ซึ่งทั้งนายกลึง นายสงวน และนายซิม คุ้นเคยกันขณะศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย นายปรีดี เขียนบอกเล่าความทรงจำไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าได้รู้จักนายซิมเมื่อ พ.ศ. 2470 ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้กลับจากการศึกษาวิชา ณ ประเทศฝรั่งเศสแล้ว  ในระหว่างนั้นข้าพเจ้ากำลังเสาะหาผู้ที่มีความคิดร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับทราบจากนายกลึง พนมยงค์ (หลวงอรรถกิจกำจร) ว่ามีเนติบัณฑิตพวกผดุงธรรมอยู่คณะหนึ่ง  ซึ่งเคยได้สนทนาถึงการที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง  โดยให้ประเทศไทยได้ปกครองตามระบบรัฐธรรมนูญ 

ข้าพเจ้าจึงได้ทำความรู้จักกับทนายความในสำนักนี้  และทาบทามดูลาดเลาตลอดมา ก็ได้ความสมจริงว่า สำนักนี้มีวี่แววไปในทางที่ต้องการ  นายซิมและคณะผดุงธรรมได้จัดการหาสมัครพรรคพวกโดยสอนทบทวนวิชากฎหมายให้แก่นักเรียนกฎหมาย ซึ่งสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตได้ประมาณ 30 คน”

 

ล่วงปี พ.ศ. 2473 ทนายความแห่งสำนักงานผดุงธรรมได้แยกย้ายไปรับราชการและประกอบอาชีพส่วนตัวอื่นๆ เช่น ขุนวิศุทธจรรยา หรือ นายสุวรรณ ไปเป็นผู้พิพากษาฝึกหัดในกระทรวงยุติธรรม

นายซิม ไปตั้งสำนักงานทนายความส่วนตัว ณ บ้านในเวิ้งท่ากลาง จังหวัดพระนคร ส่วนเพื่อนร่วมสำนักงานผดุงธรรมที่ยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คือ นายสงวน 

นายปรีดี เล็งเห็นว่า ทั้ง นายสงวน และ นายซิม แสดงทีท่าเอาจริงเอาจังกับความปรารถนาเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ  จึงชักชวนทั้งสองมาร่วมเป็นสมาชิก “คณะราษฎร” สายพลเรือน  นายปรีดีติดต่อกับนายสงวนก่อน แล้วให้นายสงวนเชิญนายซิมไปพบตน ณ บ้านถนนสีลม

นายซิมถามนายปรีดีว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศรูปแบบใด นายปรีดีชี้แจงรายละเอียดและแนะนำให้นายซิมลองศึกษาค้นคว้าวิธีการช่วยเหลือประเทศชาติทางด้านเศรษฐกิจ

ทั้ง ทนายสงวน และ ทนายซิม กลายเป็นคนใกล้ชิดอาจารย์สอนกฎหมายนาม ปรีดี  กระทั่งคนเรียกขานกันว่า นายสงวน คือ “พระโมคคัลลานะ” ส่วน นายซิม คือ “พระสารีบุตร”

ช่วงที่นายสงวนยังเป็นทนายความประจำสำนักงานผดุงธรรม ก็ได้ชักชวนเพื่อนอีกคนมาร่วมคลุกคลี เขาคือ มนัส จรรยงค์ นักประพันธ์นามอุโฆษ ในเวลาต่อมา

ตอนนั้น มนัสเพิ่งพา อ้อม บุนนาค หญิงสาวคนรัก ผู้เป็นบุตรีของ พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี หนีตามกันมาจากเมืองเพชรบุรี แต่ปล่อยข่าวว่าหนีไปปักษ์ใต้

เมื่อถึงกรุงเทพพระมหานคร มนัสเข้าทำงานหนังสือพิมพ์เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพตนและภรรยา เริ่มต้นที่ค่าย หลักเมือง ในความดูแลของ คุณนายทรัพย์ อังกินันท์ ด้วยการแนะนำของ นายผาด อังกินันท์ น้องชายของคุณนาย ซึ่งเป็นชาวเพชรบุรีที่ทางครอบครัว “จรรยงค์” ของมนัสสนิทสนมแน่นแฟ้น (ต่อมานายผาดยังได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี)

หลักเมือง ยังมีหนังสือพิมพ์ในเครืออีกหลายฉบับ ไม่ว่า หญิงไทย, เจริญกรุง หรือ อิสระ  ไม่เพียงหาข่าวสารมานำเสนอ มนัสยังใช้นามปากกา “ฤดี จรรยงค์” เขียนเรื่องอ่านเล่นจนมีผู้อ่านชื่นชอบและตามติดกันงอมแงม เช่นเรื่อง “ลูกผู้ดี” ที่ทยอยลงตีพิมพ์เผยแพร่ผ่าน หญิงไทย

มนัสยังได้พบปะกับเพื่อนฝูงสมัยเขาเคยเป็นนักเรียนประจำอยู่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทั้ง บุญล้อม พึ่งสุนทร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ปราโมทย์สงวน ทองประเสริฐ และ สงวน ตุลารักษ์ เป็นต้น  

ความที่มีเพื่อนชื่อสงวนสองคน นักเรียนแห่งบ้านสมเด็จฯ จึงเรียก สงวน ทองประเสริฐ ว่า ‘หงวนทอง’ และเรียก สงวน ตุลารักษ์ ว่า ‘หงวนเตียว’ เนื่องจากเดิมใช้นามสกุล เตียวเลี่ยงซิม

นอกเหนือจากเคยเล่นฟุตบอลและเล่นดนตรีด้วยกัน ผองเพื่อนดังพาดพิงนามมานั้น ยังสนใจการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย และระบอบประชาธิปไตย เพราะ พระประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญ-หลง ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประมวญวิชาพูล) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จฯ (ระหว่าง พ.ศ. 2458-2470) มักสอนถึงเรื่องราวเหล่านี้ ไม่แปลกเลยที่ต่อมา บุญล้อม, หงวนทอง และ หงวนเตียว จะกลายเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน

สงวน ตุลารักษ์ อายุมากกว่าและเป็นทนายความระดับหาตัวจับยาก แต่ก็ให้ความเป็นกันเองกับมนัส และมักชวนไปร่วมวงสนทนากับคณะทนายความสำนักงานผดุงธรรม 

แน่นอน ทนายสงวนย่อมทาบทามให้มนัสเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มนัส ย้อนรำลึกให้ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ รับฟังเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 ว่า บ่ายวันหนึ่ง สงวน ทองประเสริฐ ได้มาหาที่โรงพิมพ์หลักเมือง แต่เขาออกไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอก ‘หงวนทอง’ เขียนการ์ดวางทิ้งไว้ให้บนโต๊ะทำงาน “นัสที่รัก หงวนเตียวให้ลื้อไปพบให้ได้ที่บ้านหม้อ”

เย็นย่ำวันเดียวกัน มนัสไปพบ ‘หงวนเตียว’ หรือ สงวน ตุลารักษ์ตามนัดหมาย ทนายสงวนเอ่ยปากกับเขา “นัส! อั๊วจะวานอะไรลื้อสักอย่างได้ไหม?”  สำหรับภารกิจที่จะให้ช่วยเหลือยังเน้นย้ำว่า “มันเกี่ยวกับชีวิต” และ “ถามจริงๆ ลื้อห่วงลูกเมียไหม?

ทนายสงวนกำลังว่าความต่อสู้คดีนายสำเภานักเลงโตแห่งเมืองชลบุรี มนัสพลอยเข้าใจว่าคงจะใช้ให้เขา “ไปนวดกระบาลใคร หรือไปยิงใครกระมัง” เพราะเขาเป็นคนมีสมัครพรรคพวก แต่ทนายหงวนหัวเราะพร้อมกล่าว “ลื้อไม่รู้เรื่องเลยหรือวะ เขาลือกันที่สะพานใหม่ว่ายังไง?”

ครั้นแจ่มแจ้งชัดเจนถึงการที่ ‘หงวนเตียว’ จะชวนไปร่วมเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ ในความคิดของมนัส สงวนคงเมาสุราแล้วพูดเล่น ทนายความจะทำการใหญ่เพื่อยึดอำนาจล้นฟ้าได้อย่างไรกัน หากเขาเพิ่งจะมารับรู้ภายหลัง หาใช่เพียงแค่ทนายความไม่กี่คนหรอก กลุ่มคนผู้มุ่งหมายเรียกร้องประชาธิปไตยยังเชื้อเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาร่วมคณะก่อการจนสำเร็จลุล่วง

มนัส เปรยกับ ’รงค์

 

“...พวกทนายความสองสามคนจะไปปฏิวัติได้ยังไง ผมก็เลยไม่เอาด้วย เขาไม่บอกนี่ว่ามีพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ มีทหารมีปืนมาร่วมด้วย แต่เมื่อเขาปฏิวัติกันแล้วเขาก็มาตามผมอีก ให้ไปเป็นผู้จัดการหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา”

 

มนัสย่อมไม่ยักไหล่และปฏิเสธอีกหน เขากระโจนลงเรือน้ำหมึกลำที่ชื่อ 24 มิถุนา 

ทว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีอันปิดตัวลง เมื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแล้วถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ฝรั่งเศสนับแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2476  ด้าน นายสงวน ตุลารักษ์ ก็ต้องหลบไปทำนาและเลี้ยงปลาอยู่ที่ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

คณะราษฎร สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ราบรื่นในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นายซิม วีระไวทยะ และ นายสงวน ตุลารักษ์ สองทนายความแห่งสำนักงาน “ผดุงธรรม” สมาชิกคนสำคัญสายพลเรือนเข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นจากการได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2  และค่อยๆ ขยับตำแหน่งหน้าที่ขึ้น เฉกเช่น นายสงวน ที่ได้เป็นรัฐมนตรี เป็นเสรีไทย และเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนแรก

ส่วน ขุนวิศุทธจรรยา หรือ สุวรรณ เพ็ญจันทร์ ผู้ก่อตั้งสำนักงานทนายความ ต่อมาได้เป็นนายทหารยศพันเอก และเป็นหนึ่งในนักกฎหมายที่ร่วมร่าง รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ของคณะรัฐประหารที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้อาจดูขัดต่อปณิธานครั้งที่ยังเป็น ทนายสุวรรณ 

ปฏิเสธมิได้เลยว่า ทนายความคณะผดุงธรรม นับเป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เมืองไทยเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบรัฐธรรมนูญช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 ซึ่งสะท้อนบรรยากาศอันนำไปสู่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่อุบัติขึ้น !

 

เอกสารอ้างอิง

  • ซิม วีระไวทยะ. ดวงใจ. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2541.
  • ’รงค์ วงษ์สวรรค์. ไฉไลคลาสสิค. กรุงเทพฯ: ช่อผกา, 2531
  • ’รงค์ วงษ์สวรรค์. เถ้าอารมณ์​. ​ พิมพ์​ครั้ง​ที่​ 2. กรุงเทพฯ: ฟรีฟอร์ม, 2553
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2538. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.,2538
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก สุวรรณ เพ็ญจันทร์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2527. กรุงเทพฯ: บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด, 2527