“...การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภา เพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ประสพผลดีเลยแม้แต่น้อยเป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรม ก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่าจะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้...ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้พร้อมด้วยทหารของชาติได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป...”
บางส่วนจากคำปรารภใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
“วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย” นั้น เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงวงจรแห่งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมารอคณะรัฐประหารคณะต่อไปมาฉีกทิ้ง
วงจรที่เริ่มต้นมาจากวิกฤตความขัดแย้งที่ฝ่ายการเมืองบริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพ ขาดเสถียรภาพ และถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน จนฝ่ายกองทัพออกมาทำการรัฐประหาร โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาหรือวิกฤตของประเทศที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเดิม ให้สัญญาว่าถ้าจัดการแล้วจะคืนอำนาจให้ประชาชนใน “อีกไม่นาน” พร้อมกันนั้นก็จะปกครองประเทศภายใต้รัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นมาตารัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารนั้นร่างขึ้น และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นก็จะมีบทบัญญัติกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่อ้างว่าเพื่อจะ “คืนอำนาจให้ประชาชน” เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งรัฐบาล แต่ต่อมาไม่กี่ปีให้หลัง ก็เกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายกองทัพออกมารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
แล้วประเทศไทยก็ได้หลงเข้าไปในวังวนแห่งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนใหม่ และฉีกใหม่ กระบวนการนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า “การเลี้ยวออกจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปสู่การรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด”
“รัฐประหาร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานนิยามไว้ว่า “การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน” สำหรับในภาษาอังกฤษนั้นจะนิยมใช้คำทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส ว่า coup d’état (กู เดต้า) ในทางวิชาการ “รัฐประหาร” หมายถึง การดำเนินการอย่างฉบับพลันโดยใช้กำลังของกลุ่มบุคคลซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก มีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างรัฐบาล และเข้าถือครองอำนาจรัฐแทน ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อนามใด เช่น “การปฏิวัติ” “การปฏิรูป” และ “การรักษาความสงบเรียบร้อย”
ในประเทศไทยมักจะเรียกการรัฐประหารว่า “การปฏิวัติ” หรือเรียกรวมกันไปว่า “การปฏิวัติรัฐประหาร” และแม้ทั้งการปฏิวัติและรัฐประการจะเป็นการล้มล้างอำนาจการปกครองของรัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้นเหมือนกัน แต่การรัฐประหารมีวัตถุประสงค์เพียงแค่การแย่งชิงอำนาจรัฐจากรัฐบาลเดิมมาเป็นของผู้ก่อการทำรัฐประหารเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แตกต่างจาก “การปฏิวัติ” ซึ่งโดยปกติจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากนั้น มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนการเมืองการปกครอง
ด้วยนิยามข้างต้น เหตุการณ์ในบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองบางกระแสเรียกว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” ครั้งที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการรัฐประหารตามความหมายนี้ ในการดังกล่าวก็มิได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ และมิได้ใช้กองกำลังทางทหารอย่างชัดเจน ตลอดจนไม่ได้มีการใช้อำนาจพิเศษที่เป็นลักษณะของอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะมีปัญหาในทางทฤษฎีว่านายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นองค์อำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ มีอำนาจให้งดใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาแห่งอำนาจของตนบางมาตราได้หรือไม่ก็ตาม
การรัฐประหารด้วยกองกำลังทางทหาร และเป็น รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกอย่างแท้จริง เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ กับ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 โดยอ้างว่าเนื่องจากเกิดวิกฤตยุคเข็ญทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจร้ายแรงที่ไม่อาจแก้ได้โดยวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ปรากฏในคำปรารภต่อไปนี้
“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ตราไว้และได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศชาติมาตั้งแต่พ.ศ. 2475 และได้มาเปลี่ยนแปลงแก้ไขประกาศใช้เป็นฉบับใหม่เมื่อ พ.ศ. 2489 นั้น นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศชาติในกาลสมัยที่ล่วงแล้วมา
บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตกาล ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะขาดอาหาร ขาดเครื่องนุ่งห่ม และขาดแคลนสิ่งอื่นๆ นานัปปการ เครื่องบริโภคและอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาแต่กาลก่อนขึ้นในประชาชน บรรดาผู้บริหารราชการแผ่นดิน และสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเข้าสู่ภาวะอย่างเดิมได้
การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภา เพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ประสพผลดีเลยแม้แต่น้อย เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรม ก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่าจะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้
ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้พร้อมด้วยทหารของชาติได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
นอกจากข้อกล่าวหาที่ว่าด้วยการบริหารประเทศที่ผิดพลาดแล้ว ข้อกล่าวอ้างสำคัญที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้ก่อการ คือหัวหน้าคณะรัฐประหารตัดสินใจกระทำการข้อหาว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดังที่พลโท ผิน ชุณหะวัณ ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนด้วยน้ำตานองหน้าว่า “...ต่างประเทศสั่งจอบมาช่วยชาวนา แต่ผู้แทนกลับเซ็งลี้เอาไปขายพ่อค้าเสีย แล้วพ่อค้าก็ไปเอากำไรกับชาวนาอีกต่อหนึ่ง เป็นการทำนาบนหลังคน…” และในทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการรัฐประหารครั้งนี้ น้ำตาของเขาก็มักไหลออกมาด้วยความตื้นตัน
เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “รักชาติจนน้ำตาไหล” ที่ปัจจุบันก็กลายเป็นคำเหน็บแนมแกมจริงว่า “รักชาติจนน้ำลายไหล” ด้วยปรากฏว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและผู้สนับสนุนนั้นจะปรากฏว่ามีฐานะมั่งคั่งขึ้นตามๆ กันไป
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ภายหลังการรัฐประหาร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ที่มีคณะบุคคลประกอบด้วย หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา พระยารักตประจิตธรรมจำรัส อดีตกรรมการศาลฎีกา พันเอก สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ร้อยเอก ประเสริฐ สุดบรรทัด นายเลื่อนพงษ์ โสภณ สมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ และ นายเขมชาติ บุญยรัตพันธ์ ตระเตรียมลักลอบกันร่างไว้ก่อนการรัฐประหาร และมีตำนานบอกเล่าและบันทึกกันไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อร่างเสร็จแล้ว คณะผู้ก่อการได้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำบ้าน นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม หนึ่งในแกนนำคณะรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นที่รู้จัก หรือถูกอ้างอิงถึงในภายหลังว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับตุ่มแดง”
โดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ ได้ทรงลงนามประกาศใช้แต่เพียงพระองค์เดียว ในขณะที่ พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์อีกคนไม่ยอมลงนาม ทำให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญมีผลไม่สมบูรณ์เนื่องจากคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามไม่ครบ แต่ถึงกระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490
กลไกทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปรากฏในบทเฉพาะกาล มาตรา 96 ถึงมาตรา 98 โดยมาตรา 96 กำหนดให้พระมหากษัตริย์เลือกแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นภายใน 15 วันเพื่อทำหน้าที่ของรัฐสภาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก โดยมีการฟื้นฟู “อภิรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นองค์กรตามระบอบเก่า ให้กลับมาอีกครั้งภายหลังการอภิวัฒน์ 2475
มีข้อสังเกตอีกประการว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 นี้ร่างแรกเดิมทีไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไว้ และด้วยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยตัวของมันเองแล้ว ก็สามารถใช้เป็นกติกาในทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะแม้จะมีรายละเอียดไม่มากนัก แต่ก็กำหนดเรื่องรูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล คือ คณะรัฐมนตรีไว้เพื่อให้บริหารประเทศต่อไปได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2491 หรือราว 3 เดือนหลังการรัฐประหารและใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการประกาศใช้บังคับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยเพิ่มเติมเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอีก 8 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 95 ถึงมาตรา 95 อัฎฐ และมีการเพิ่มเติมมาตรา 95 นว ขึ้นต่อมาตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2491 (ฉบับที่ 3) และถือเป็นการจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย
โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2490 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2491 กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกของรัฐสภาซึ่งมาจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทน 10 คน ตามมาตรา 95 ทวิ โดยมาตรา 95 ตรี กำหนดให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประเภท ประเภทละ 5 คน ได้แก่
(1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญนี้
(2) ผู้มีคุณสมบัติตามประเภท 1 และเป็นผู้ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า
(3) ผู้มีคุณสมบัติตามประเภท 1 และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และ
(4) ผู้มีคุณสมบัติตามประเภท (1) และเป็นผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
สำหรับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามมาตรา 95 เบญจ ถึง อัฎฐ สรุปได้ว่า เมื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ให้สภานั้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก จากนั้นให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังรัฐสภาเพื่อประชุมปรึกษากันก่อนลงมติ โดยรัฐสภามีอำนาจพิจารณาเพียงว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเท่านั้น จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเป็นประการอื่นใดไม่ได้
การลงมติใช้วิธีเรียกชื่อสมาชิกลงคะแนนเป็นรายตัว ในวันอื่นที่ไม่ใช่วันที่ประชุมปรึกษา ถ้ารัฐสภาโดยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาลงมติเห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ หรือเห็นชอบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ให้ดำเนินการเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้งตามวิธีการเดิม
รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2490 ที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ได้ปรากฏผลเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 โดยได้รับการลงนามโดยคณะอภิรัฐมนตรี (ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร หม่อมเจ้าธานีนิวัต โสณกุล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ พระยามานวราชเสวี และหลวงอดุลเดชจรัส) ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 นี้ก็ถูก “ฉีก” ลงไปในอีกในราวสองปีหลังจากการบังคับใช้ จากเหตุการณ์รัฐประหารที่เรียกว่าเป็นการรัฐประหารตัวเองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 โดย “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ซึ่งประกอบด้วย พลเอก ผิน ชุณหะวัณ พลโท เดช เดชประดิยุทธ์ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเรือตรี หลวงยุทธศาสตร์โกศล พลเรือตรี หลวงชำนาญอรรถยุทธ พลเรือตรี สุนทร สุนทรนาวิน พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี พลอากาศโท หลวงเชิดวุฒากาศ และ พลอากาศโท หลวงปรุงปรีชากาศ (ทั้งหมดคือยศในขณะนั้น)
โดยมีข้ออ้างว่า เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป ภัยแห่งคอมมิวนิสต์คุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง แทรกซึมเข้ามาอยู่ในรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ประกอบกับการทุจริตคอร์รัปชัน ผู้ก่อการซึ่งประกอบไปด้วยคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บุคคลในคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พร้อมด้วย “ประชาชนผู้รักชาติ” จึงก่อการรัฐประหาร โดยนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้บังคับ
การรัฐประหารในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นี้เอง ที่ทำให้ “วงจรอุบาทว์” ทางการเมืองไทยดำเนินมาชนกันครบวงจรแห่งการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเก่า และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อจะรอให้มีคณะรัฐประหารมาฉีกต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ตราบจนทุกวันนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 นี้นอกจากจะเป็นต้นตอของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังวาง “บรรทัดฐาน” ทางการเมืองอันเป็นประเพณีการปกครองในระบอบรัฐประหารไว้อีกเรื่องหนึ่งด้วย คือ การกล่าวอ้างถึงความผิดพลาดชั่วร้ายของรัฐบาลก่อนหน้า จนเป็นเหตุให้คณะรัฐประหารต้องทำรัฐประหาร ซึ่งคำกล่าวอ้างนี้ก็ได้ปรากฏในคำปรารถในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้หลังการรัฐประหารสำเร็จเกือบทุกครั้ง
เช่นที่ปรากฏอย่างยืดยาวใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 ที่เกิดจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้กล่าวถึงเหตุผลข้ออ้างในการทำรัฐประหารไว้อย่างยืดยาวชวนขนลุกว่า
“...ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กำลังและอาวุธสงครามเข้าทำร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล นับเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แม้รัฐจะแก้ไขปัญหาด้วยกลไกและมาตรการทางกฎหมาย เช่น นำกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะต่างๆ มาบังคับใช้ ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี เช่น องค์กรธุรกิจ ภาคเอกชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภา ได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กลับจะเกิดข้อขัดแย้งใหม่ในทางกฎหมายและการเมือง เป็นวังวนแห่งปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น
ในขณะที่ความขัดแย้งได้ขยายตัวกว้างขวางออกไป และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นจลาจลได้ทุกขณะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความสะดวกสบายของประชาชนผู้สุจริต กระทบต่อการทำมาหากินและภาวะหนี้สินของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การป้องกันปัญหาจากภัยธรรมชาติ ความเชื่อถือในอำนาจรัฐ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งยังเปิดช่องให้มีการก่ออาชญากรรมและความไม่สงบอื่นเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ...”
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ 2490 และรัฐธรรมนูญปี 2490 จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการ “เลี้ยวผิด” ในเส้นทางพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างมีนัยสำคัญ ที่แม้ประชาชนจะพยายามหักพวงมาลัยเลี้ยวกลับเข้าทิศเข้าทางแล้ว แต่ก็ยังปรากฏว่ามีทั้งอันธพาลทางการเมืองและอันธพาลติดอาวุธ เข้ามาจี้ชิงเพื่อเลี้ยวกลับเข้าสู่วงเวียนแห่งวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป
บรรณานุกรม :
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์. คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักทั่วไปของกฎหมายมหาชน. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2557)
- ณัฐพล ใจจริง. “รัฐประหาร พ.ศ. 2490”. สืบค้นจาก : http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐประหาร_พ.ศ._2490
- The People. ผิน ชุณหะวัณ : จอมพลเจ้าน้ำตา “บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล”. สืบค้นจาก : https://www.thepeople.co/read/19581
- ตัวบทรัฐธรรมนูญทุกฉบับ อ้างอิงจาก เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา : https://www.krisdika.go.th
- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- กล้า สมุทวณิช
- วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย
- รัฐประหาร
- coup d’état
- การปฏิวัติ
- รัฐประหารเงียบ
- รักชาติจนน้ำตาไหล
- รักชาติจนน้ำลายไหล
- เสนีย์ ปราโมช
- คึกฤทธิ์ ปราโมช
- พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์
- พระยารักตประจิตธรรมจำรัส
- สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์
- ประเสริฐ สุดบรรทัด
- เลื่อนพงษ์ โสภณ
- พรรคประชาธิปัตย์
- เขมชาติ บุญยรัตพันธ์
- กาจ กาจสงคราม
- รัฐธรรมนูญฉบับตุ่มแดง
- สมเด็จพระเจ้าบรมวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
- อภิรัฐมนตรี
- อภิวัฒน์ 2475
- จอมพล ป พิบูลสงคราม
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- หลวงยุทธศาสตร์โกศล
- หลวงชำนาญอรรถยุทธ
- สุนทร สุนทรนาวิน
- ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
- หลวงเชิดวุฒากาศ
- หลวงปรุงปรีชากาศ
- ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ