ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒

26
กุมภาพันธ์
2565

รัฐบาลรัฐประหาร ซึ่งขึ้นสู่อำนาจเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีออกหน้าตามกฎหมายนั้น ได้แสดงบทบาททางการเมืองมากมายหลายประการ

เงินของชาติจำนวนหนึ่งถูกเบิกจากท้องพระคลังมาเป็นค่าใช้จ่ายของคณะรัฐประหารในการทำรัฐประหาร

คณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารกล่าวหา ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เริ่มต้นด้วยการใช้รถถังเข้ายิงทำเนียบท่าช้างที่พำนักเพื่อบุกจับ แล้วต่อมาก็ได้ออกหมายจับ และได้ขยายข้อกล่าวหานี้ไปครอบคลุมผู้ใกล้ชิดติดตาม ดร.ปรีดี พนมยงค์ ด้วย

เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หลบหนีไปพำนักอยู่ในสิงคโปร์ และต่อมาฮ่องกงภายใต้ร่มธงยูเนียนแจ็กของจักรภพอังกฤษ รัฐบาลรัฐประหารก็ใช้วิธีทางการทูตให้อังกฤษส่งตัว ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับพวก อันได้แก่ รอ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช, ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ และ ส.ต.ท.ชม แฮงเงิน ให้แก่รัฐบาลไทย คือ ขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อพิจารณาโทษ แต่ถูกรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำขอ เพราะไม่ยุติธรรมนั้นเอง อังกฤษมีหลักฐานแน่ชัดว่ากรณีสวรรคตเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

ต่อมา เมื่อ พระพินิจชนคดี ผู้ควบคุมคดีสวรรคตนำตำรวจเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีสวรรคต คือ นายเฉลียว ปทุมรส นายบุศย์ ปัทมศริน และ นายชิต สิงหเสนี แล้ว รัฐบาลควง อภัยวงศ์ เห็นว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้อำนาจศาล อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั่วทั้งแผ่นดินตามคำขอของพนักงานสอบสวนหรืออัยการได้ ๙๐ วันนั้นจะน้อยไปในการสอบสวนหาพยานหลักฐานยันผู้ต้องหา ฉะนั้นในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๙๑ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ จึงออกกฎหมาย ใหม่โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้หลายครั้งติดกันได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓๐ วันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน ๑๘๐ วัน สภาฯ ได้อนุมัติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๔๙๑ ก็นับว่าแปลกดี

หลังจากรัฐประหารแล้ว มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การอยู่ และในระหว่างสงครามเอเชียบูรพา ก็เป็นที่ตั้งกองบัญชาการขบวนการเสรีไทยนั้น ก็ถูกบีบ ถูกรุกราน ถูกกล่าวหาอย่างหนักจากรัฐบาลรัฐประหารและคณะรัฐประหารว่าเป็นที่ซ่องสุมคนและอาวุธ เพื่อต่อต้านรัฐบาลจนเกิดปฏิกริยาต่อต้านอย่างแรงจากคณะนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนั้น ต่อต้านชนิดกรีดเลือดมาดื่มปฏิญาณที่จะต่อสู้กับอธรรมทั้งหลาย “ดาบย่อมอยู่ใต้เสื้อครุย” นี่คือภาษิตกฎหมายที่นักศึกษาคณะนี้ถือเป็นคติประจำใจ

นักศึกษาหลายคนถูกสมาชิกคณะรัฐประหารนำตัวไปสอบสวน ปรากฏว่าเมื่อถูกปล่อยกลับมาหลายคนร่างกายและสมองบอบช้ำสาหัส เพราะถูกทำร้ายและที่สาบสูญไปก็มี นอกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว สถาบันที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติอื่นๆ ก็ถูกกดถูกบีบโดยคณะรัฐประหารอีกด้วย และบีบเลยไปถูกบุคคลสำคัญบางคน อาทิ นายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินและหัวหน้าใหญ่เสรีไทยผู้หนึ่งซึ่งถูกขู่จะฆ่าให้ตาย ถ้ายังอยู่ในประเทศไทย ในที่สุดนายทวี บุณยเกตุ ก็ต้องอพยพครอบครัวไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ปีนัง

น.อ.อ. หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ผู้หนึ่ง ในปีต่อมา ๒๔๗๖ ก็มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏบวรเดช ได้รับบาดเจ็บสาหัสแทบเอาชีวิตไม่รอด หลังจากนั้นก็ได้ไต่เต้าสูงขึ้นๆ ในราชการ ทางฝ่ายทหารได้เคยเป็นเสนาธิการทหารอากาศขับเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เรียกว่า มาร์ติน บอมเบอร์ ไปโหม่งพสุธาทางพลเรือนก็ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร และเป็นรัฐมนตรีหลายสมัย หลวงกาจสงครามขัดใจกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างหนักและได้เล็ดลอดหนีไปเมืองจีน อ้างว่าไปทำงานเสรีไทย แต่ไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้ใด

หลังจากสงครามแล้ว หลวงกาจสงคราม เปิดร้านค้าขายอยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี และประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ในการทำรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นี้ หลวงกาจสงครามมีความสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยก็เป็นผู้ริเริ่มคนหนึ่ง เป็นผู้เขียน “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว หลวงกาจสงครามก็ได้รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่ บังคับบัญชาทหารทั้งปวงทหาร ที่ถูกบังคับบัญชาหนักก็คือทหารเรือ ทางฝ่ายทหารบกนั้นก็ประสบกับความเสื่อมนานาประการ รถยนต์บูอิคที่รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ซื้อมาใช้ในราชการหลังสงครามใหม่ๆ เพราะไม่มีรถพอใช้ได้ในราชการที่สำคัญและจำเป็น เช่น การรับทูตต่างประเทศเลย ซื้อมาคันละ ๑๕,๐๐๐ บาท โดยความอนุเคราะห์ของทูตอเมริกัน ที่คณะรัฐประหารบางคนอ้างว่ารัฐบาลนั้นฟุ่มเฟือยผลาญเงินของชาติ  “และมันวิ่งอยู่บนหัวผมนี่เอง” ได้กลายเป็นรถจ่ายตลาดของบ้านของสมาชิกรัฐประหารบางคนไปเสียแล้ว มีรถราชการที่ซื้อใหม่มาใช้แทน

พอถึงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ก็ถูกคณะรัฐประหาร ๔ นาย คือพันโท ก้าน จำนงภูมิเวท, พันเอก ศิลป์ ศิลปศรชัย รัตนวราหะ, พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ และ พันโท ลม้าย อุทยานานนท์ จี้ให้ลาออกภายใน ๒๔ ชั่วโมง แล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เดินออกมาหน้าฉากรับบทนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ท่านผู้อ่านคงจำได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้เป็นผู้นำ “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” นำไทยเข้าสู่มหาสงครามเอเชียบูรพา ร่วมรบกับญี่ปุ่นมหามิตร และประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

เมื่อสิ้นสงครามก็ต้องตกเป็นอาชญากรสงครามแต่พ้นการรับโทษมาได้เพราะศาลฎีกาไทยวินิจฉัยว่า กฎหมายอาชญากรสงครามไทยเป็นโมฆะ เมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๔๘๙ จากนั้นมา ๒ ปี คือ ๗ เมษายน ๒๔๙๑ ก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดพ้นข้อหาอาชญากรสงครามตามกฎหมายไทยก็จริง แต่ไม่หลุดพ้นจากข้อหานี้ตามทัศนะของสัมพันธมิตรแน่นอน

รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนำประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติได้เมื่อ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๙ แล้วก็ได้พยายามที่จะเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสมาชิกธนาคารโลก กำลังเจรจาปลดเปลื้องข้อผูกพันทางการเมืองที่เกิดขึ้น คือเลิกสัญญาสมบูรณ์แบบจะสำเร็จอยู่แล้ว

เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย และสภาวการณ์ภายในประเทศเป็นไปอย่างนี้ ก็จะกล่าวเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการชะงักงัน การถอยหลังและความเสื่อมเสียของชาติเท่านั้น ได้มีคณะนายทหารในกองทัพบก พร้อมด้วยความสนับสนุนร่วมมือจากทหารเรือ ไม่อาจทนดูสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ต่อไป โดยเฉพาะทางด้านการทหารของชาติ คณะนี้ต้องการเห็นกองทัพบกมีระเบียบวินัยเข้มแข็ง เป็นทหารของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นทหารของบุคคลบางหมู่บางเหล่า คณะนี้จึงได้ยึดอำนาจการปกครอง แต่ไม่สำเร็จ

หัวหน้าและบุคคลสำคัญในคณะถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน รู้กันทั่วไปว่า คือ “กบฏ ๑ ตุลาคม” ถูกศาลตัดสินจำคุกกันคนละหลายปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ดังขึ้นมาอีกแบบในอดีตที่ผ่านมาฉะนี้

แม้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะถูกปราบลงไปในครั้งนี้ครั้งหนึ่งก็ตาม พฤติกรรมของรัฐบาลคณะรัฐประหารที่มีอยู่อย่างไรก็พยายามที่สุดที่ต้องทำลาย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ให้ย่อยยับลงไปไม่ว่าด้วยประการใดๆ และประการหนึ่งที่เห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือยัดเยียดข้อหาคดีสวรรคตให้โดยการกระพือข่าวนี้ยิ่งขึ้นๆ

และแล้วต่อมาไม่นานนัก ก็ได้เกิดขบวนการขึ้นใหม่ชื่อว่า “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ใช้ชื่อวันอันเป็นวันที่ขบวนการนี้ลงมือทำการเพื่อทำลายล้างความอยุติธรรมและกอบกู้อนาคตของชาติ

ขบวนการนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้อำนวยการ ท่านได้กล่าวถึงขบวนการนี้ว่า “ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศจีนประมาณ ๗ เดือนเศษ ก็เล็ดลอดกลับมาประเทศไทย เพื่ออำนวยการขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” และ “เมื่อครั้งข้าพเจ้าจัดตั้งดำเนินการ ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ นั้น ข้าพเจ้าได้ชวนคุณหลวงสังวรยุทธกิจ ร่วมด้วยพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ นายทหารเรือคนอื่นๆ เป็นอันมาก และอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยมากหลาย ได้มีอุดมการณ์อันเดียวกันและได้ร่วมในขบวนการนี้”

“ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์” หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กบฏวังหลวง” นั้นต้องประสบความล้มเหลวอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากที่ได้ยึดพระราชฐานชั้นนอกของวังหลวงไว้ได้ในตอนกลางคืนตลอดคืนแล้ว ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น คือ ๒๗ กุมภาพันธ์ ได้มีการรบระหว่างทหารเรือกำลังของฝ่ายขบวนการกับทหารบกในกลางพระนคร ทหารบกถูกทหารเรือตีถอยร่นตลอดแนวถนนราชปรารภ มักกะสัน ถนนเพชรบุรีปรากฏชัดว่า ฝ่ายรัฐประหารเตรียมตัวหนี แต่แล้วก็มีคำสั่งให้ทหารเรือหยุดบุก นายทหารเรือชั้นนายพลผู้หนึ่งให้เหตุผลที่หยุดนี้ว่า “เพราะมีคนตายมากขึ้น” แต่ความจริงนั้นเป็นเพราะ “แม่ทัพเรือยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลรัฐประหารให้มีการหยุดรบเพื่อเจรจากัน” ซึ่งหมายความว่ารับข้อเสนอเพื่อยอมแพ้นั่นเอง

ส่วนทางด้านวังหลวงนั้น ฝ่ายรัฐบาลใช้ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและปืนใหญ่ทหารราบยิงประตูวิเศษไชยศรีแล้วเคลื่อนกำลังมีรถถังนำหน้าบุกเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องคำนึงว่าปราสาทพระราชวังจะพินาศหรือไม่อย่างไร นายทหารผู้สั่งยิงและบุกนี้ ต่อมาได้ยศเป็นจอมพล และมีชื่อว่า ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับกรมทหารราบที่ ๑๑ ในขณะนั้นนั่นเอง

เป็นอันว่า ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ทำงานไม่สำเร็จตามต้องประสงค์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เขียนไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้ากับขบวนการนั้นพ่ายแพ้แล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนในขบวนการนั้นได้ถอยจากกำแพงพระราชวังด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับความช่วยเหลือจากพลเรือโทผัน นาวาวิจิตร ที่จัดเรือยนต์บรรทุกเพื่อนในขบวนการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฟากธนบุรีได้โดยปลอดภัย ส่วนข้าพเจ้ากับเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้อาศัยอยู่ที่กองบังคับการกองเรือรบจนถึงเวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา เมื่อพลเรือโท ผัน นาวาวิจิตร เห็นว่าปลอดภัยพอสมควรแล้วจึงสั่งให้คุณมนัสฯ (ร.ท. มนัส จารุภา) และเรือเอก โกวิท หงสเวส นำเรือยนต์ไปส่งข้าพเจ้าและเรือเอกวัชรชัยฯ ไปยังบ้านแห่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าอาศัยอยู่ชั่วคราว แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่แห่งอื่น”

ทางด้านทหารเรือนั้น พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ร.น. ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๒ และรักษาราชการผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพสัตหีบ ได้เขียนไว้ถึงสาเหตุ ฐานะ และผลของการที่ทหารเรือร่วมในขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ว่า

“๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒…มีความคิดเห็นพ้องด้วย ทั้งสนับสนุนเต็มกำลัง หวังจะให้ทหารพรรคนาวิกโยธินเจริญก้าวหน้าไปตามแผน โชคไม่อำนวยให้เป็นไปโดยสมหวัง ภาวการณ์อันไม่พึงปรารถนาดลบันดาลให้ผู้บังคับการทหารเรือ ซึ่งกำความได้เปรียบไว้ในมือยอมรับคำประนีประนอมด้วยความหลงผิด จะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ร่วมแรงในการปฏิบัติดำเนินการก็ดี ไม่มีใครต้องประสบความวิบัติครั้งนั้น ข้าพเจ้าผู้เดียว ได้รับความกระทบกระเทือน ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๒ และรักษาราชการผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน…”

“เหตุการณ์เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ อุบัติขึ้น ความไม่จริงจังลังเลของกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพาไปสู่ความล้มเหลวทหารเรือยอมรับคำประนีประนอมด้วยความเขลา ทำให้เกิดความวิบัติทั้งทหารเรือและพรรคเสรีไทยบางส่วน”

อีกครั้งหนึ่ง พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ก็หนหนึ่งแล้ว ไม่ควรแบไพ่ให้เห็นก่อนจะเป็นฝ่ายมีชัย เพราะจะทำให้กระทบกระเทือนต่อภาวะและฐานะ เมื่อต้องกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างเหตุการณ์ในครั้งก่อน และครั้งนี้จัดเป็นอุทาหรณ์ที่ควรจะสังวรระวังโดยตระหนัก นับว่าเป็นคราวเคราะห์ดีที่ท่านผู้ใหญ่ปลอดภัย ไม่ถูกประทุษร้าย ต้องกราบขออภัยโทษด้วยความเคารพอย่างสูงไว้ในที่นี้”

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้หลบอยู่ในประเทศไทยนานประมาณ ๖ เดือน แล้วเดินทางออกจากประเทศไทย โดยใช้เรือจับปลาขนาดเล็ก และมีอดีตเรือโทแห่งราชนาวี ผู้ร่วมอุดมการณ์ลาออกจากงานประจำมาเป็นกัปตันเรือลำนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และผู้ติดตามเล็ดลอดกำลังของฝ่ายรัฐบาลบ่ายหน้าลงใต้ไปสู่นครสิงคโปร์และได้ไปถึงนครสิงคโปร์โดยสวัสดิภาพ ที่นั่นท่านได้พบกับศิษย์และผู้ร่วมอุดมการณ์กับท่าน ต่างก็มีความปิติยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิษย์ที่ได้เห็นอาจารย์ที่เคารพยิ่งของเขาได้รับความปลอดภัย

หลังจากพำนักอยู่ในนครสิงคโปร์อย่างไม่เปิดเผยภายใต้จมูกของตำรวจสันติบาลสิงคโปร์ที่มีที่ทำการอยู่ห่างราว ๒๐๐ เมตร ได้ ๑๑ วัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยผู้ติดตาม ๒ คน ก็โดยสารเรือยนต์เดินสมุทรชื่อ ฮอยวอง จากนครสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ท่านเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเปลี่ยนเรือจากฮ่องกงไปยังเมืองซิงเตา ซึ่งอยู่ในเขตยึดครองของกองทหารปลดแอกจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมูนิสต์จีน และได้รับการต้อนรับจากพรรคคอมมูนิสต์จีนให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และได้เชิญข้าพเจ้าไปร่วมในงานสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยของราษฎรจีน ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒”

หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ นี้ แล้ว บรรดาอดีตเสรีไทย นายทหารบก ทหารเรือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยที่ถูกจับได้ก็ต้องถูกจับกุมคุมขังจำคุกเป็นอันมากที่หนีไปแต่หนีไม่พ้นก็ถูกจับเป็นก็มี ถูกจับตายทั้งๆ ที่ไม่ได้ต่อสู้เลยก็มี เช่น ดร.ทวี ตะเวทีกุล อดีตหัวหน้าเสรีไทยคนสำคัญ และอดีตรัฐมนตรีพร้อมด้วยสมัครพรรคพวก หนีไปทางสมุทรสงคราม เพื่อออกไปนอกประเทศทางทะเล ถูก ส.ต.อ.ม้วน ตำรวจใช้ปืนกลมือยิงกราดจนสิ้นชีวิต เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๒

นายถวิล อุดล อดีตเสรีไทย ผู้ยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางไปเมืองจีนทำงานเสรีไทย กอบกู้เอกราชของชาติ ได้พบข้าพเจ้าตอนเช้า ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ที่สี่กั๊กพระยาศรี ต่อว่าข้าพเจ้าว่าทำอะไรไม่เห็นบอกกันบ้าง ในวันนั้นเอง ถวิล ก็ถูกจับ

นายจำลอง ดาวเรือง อดีตเสรีไทย ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม และรัฐมนตรีในรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อดีตเสรีไทยแห่งพรรคสมาชีพ และรัฐมนตรีในรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ถูกจับ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ดร. จากฝรั่งเศส อดีตเลขาธิการรัฐสภา เลขาธิการแนวรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อน ไปพักผ่อนอยู่ที่ปีนัง ก็ถูกล่อลวงให้เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย พอลงจากเครื่องบินที่ดอนเมืองก็ถูกจับทันที

พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทย และรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบก็ถูกจับ และถูกทำร้ายถึงสิ้นชีวิต

ดร.ทองเปลว ถูกขังที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน จำลอง ที่นครบาลยานนาวา ถวิล ที่นครบาลนางเลิ้ง ทองอินทร์ ที่นครบาลสามเสน พอเริ่มวันใหม่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลา ๒.๐๐ น. คณะตำรวจบระมาณ ๒๐ คน มี พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุระการ เป็นหัวหน้า มีอาวุธพร้อม พร้อมด้วยรถยนต์ ๓ คัน ไปรับตัวผู้ต้องหาดังกล่าวแล้วจากที่คุมขัง ว่าจะย้ายไปยังที่อื่นที่ปลอดภัย แต่แล้วก็บ่ายหน้าไปตามถนนพหลโยธิน พอถึงกิโลเมตรที่ ๑๔ ต่อ ๑๕ ผู้ต้องหาคือ ถวิล, จำลอง, ทองอินทร์, ทองเปลว, ก็ถูกตำรวจที่ควบคุมตัวไปใช้ปืนกลยิงถึงแก่ความตายหมด เป็นการฆ่าให้ตายตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจในขณะนั้นแล้วราชการตำรวจก็เสแสร้งแกล้งอุบาย แถลงการณ์เรื่องนี้ว่า การที่ผู้ตายทั้ง ๔ ถูกยิงตายนั้น ก็เพราะพวกโจรมลายูมาดักแย่งชิงตัว ได้เกิดการต่อสู้กับพนักงานตำรวจผู้ควบคุม ลูกกระสุนปืนได้ถูกผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว ผู้มัวเมาอำนาจต้องการกำจัดบุคคลเหล่านี้เสียให้พ้นเท่านั้นเอง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกทหารบกเข้ายึดครอง เลขาธิการถูกบีบบังคับให้ลาออก ตั้งเลขาธิการใหม่ที่เป็นญาติพี่น้องของสมาชิกคณะรัฐประหาร มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัยกันขนานใหญ่ และท้ายสุด ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๙๔ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และหุ้นธนาคารเอเซียที่มหาวิทยาลัยถืออยู่ ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับโอนไปเป็นของเอกชน คือ สมาชิกของคณะรัฐประหารนั่นเอง

ส่วนทางด้านกองทัพเรือได้ถูกรัฐประหารบีบคั้นหนักยิ่งขึ้นนานาประการ จนทหารเรือต้องต่อต้านขึ้นในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ที่รู้จักกันว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ทหารเรือแพ้อีก คราวนี้คณะรัฐประหารแสดงอำนาจต่อไป โดยส่งกำลังเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมด ไล่นักศึกษาออกจากบริเวณมหาวิทยาลัยให้ไปเรียนที่อื่น แล้วเสนอขอซื้อในราคา ๕ ล้านบาท เพื่อ “ตั้งหน่วยทหาร” และเพราะ “ที่นี่เดิมเป็นของทหาร”

นักศึกษาธรรมศาสตร์รวมพลังกันต่อต้านอย่างถวายชีวิต จนในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องคืนให้ เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ และต่อมา คณะรัฐประหารผู้มัวเมาด้วยอำนาจก็จัดการกวาดล้างสมาชิกเสรีไทยต่อไป นายพร มลิทอง สมาชิกสภาฯ จังหวัดสมุทรสาคร นายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร อดีตหัวหน้าเสรีไทย นายชาญ บุนนาค อดีตหัวหน้าเสรีไทยผู้หนึ่ง ร.ท.อุทิศ ฉายแสงจันทร์ อดีตเสรีไทย ทั้งหมดนี้หายสาบสูญไปจากโลกนี้โดยยังหาร่องรอยไม่ได้เลย ยุคนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ยุคอัศวินผยอง” ยุคแห่งความกลัว

ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวข้างต้นที่ยกมานั้น พอจะเป็นนิทัศน์ให้มองเห็นได้ว่า ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ มีสาเหตุมาจากอะไร สิ้นสุดอย่างไรและเหตุการณ์กวาดล้างกันต่อมามีประการใด

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น.784-796