พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง
เมื่อกล่าวถึง ‘คณะราษฎร’ และการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตัวละครหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในฐานะตัวตั้งตัวตีในการอภิวัฒน์สยามสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ทว่าบันทึกและหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงปรีดีและคณะราษฎรในระยะหลัง มักปรากฏในลักษณะของการบอกเล่า ตีความ วิเคราะห์ จากมุมของคนนอก เช่น นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ เสียส่วนใหญ่ ขณะที่ข้อมูลชั้นต้นจำพวกบันทึกหรือข้อเขียนจากตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ กลับไม่แพร่หลายเท่าไหร่นัก
ในส่วนของปรีดี พนมยงค์ นอกจากเป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ เขายังเป็นนักเขียนตัวฉกาจ
จากความสนใจใฝ่รู้ในวิทยาการที่หลากหลาย ทั้งด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เขาได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มากลั่นเป็นงานเขียนมากมาย ขณะเดียวกันก็ได้จดบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ประสบในแต่ละช่วงของชีวิตไว้ด้วย
แน่นอนว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 นั้น เขาได้จดบันทึกไว้เช่นกัน ดังปรากฏในข้อเขียน ‘บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย’ เขียนขึ้นในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2515 เป็นบันทึกที่เขียนขึ้นขณะพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ระหว่างการลี้ภัยอันยาวนาน (หลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2490 ปรีดีลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนเป็นเวลา 21 ปี ก่อนจะย้ายไปฝรั่งเศสในปี 2513)
ต่อไปนี้คือบางบทบางตอนที่เราคัดสรรมาให้อ่านกันอีกครั้ง ด้วยเห็นว่าบางแง่มุมที่ปรีดีบอกเล่าในฐานะ ‘หัวหน้าผู้ก่อการ’ นั้นน่าสนใจ และต่างออกไปจาก ‘ข้อมูลบางชุด’ ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน
อภิวัฒน์สยาม = ชิงสุกก่อนห่าม ?
หนี่งในข้อถกเถียงยอดนิยมต่อกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือข้อกล่าวหาที่ว่าคณะราษฎรนั้น ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ โดยนัยหนึ่งนั้นหมายถึงการกระทำโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม และยังไม่เข้าใจแนวคิดประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้น คือการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของคณะราษฎร เป็นการชิงยึดพระราชอำนาจ ทั้งที่รัชกาลที่ 7 ตั้งใจพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนอยู่แล้ว
ต่อกรณีนี้ ปรีดีได้บันทึกไว้ว่า แนวคิดของคนที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 แล้ว ทั้งจากสามัญชนคนทั่วไป ชนชั้นสูงบางท่าน และหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ อันปรากฏให้เห็นในแบบเรียนไทยยุคแรกเริ่มอย่าง ‘มูลบทบรรพกิจ’ รวมถึงการออกมาแสดงทรรศนะของนักหนังสือพิมพ์หลายราย อันเป็นทรรศนะที่เสี่ยงคุกตะรางอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และ เทียนวรรณ
“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัย ๖๐ ปีกว่ามาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว ๒ คนคือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร ‘สยามประเภท’ ที่แคะได้ระบบปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน…
“อีกคนหนึ่งคือ ‘เทียนวรรณ’ ซึ่งมีฉายาว่า ‘วรรณาโก’ ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่ามีอายุเกือบ ๗๐ ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะคำพังเพยโบราณว่า ‘กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้’ ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุกได้กล่าววลีเดิมอีกรวมเป็นดังนี้ ‘กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้’…”
“เมื่อข้าพเจ้ากลับประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๗๐ ภายหลังที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเกือบ ๗ ปีนั้นแล้ว ปรากฏว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้นชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณา ทั้งนี้ก็แสดงว่าผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบบศักดินา เกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมของระบบนั้น และอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรปจึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว…
“เมื่อเราได้ยึดอำนาจรัฐในวันที่ ๒๔ มิถุนาฯ ได้แล้ว ก็ได้รับความสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมหาศาล ทั้งที่มาแสดงความยินดีด้วยตนเองที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการคณะราษฎร และทางจดหมายกับโทรเลข … ประจักษ์พยานยังมีอยู่อีก คือคณะได้มอบให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้รับสมัครผู้ที่ขอเข้าร่วมในคณะราษฎรที่สวนสราญรมย์ มีผู้ต้องการสมัครมากมายจนถึงกับเรามีใบสมัครไว้ไม่พอแจก
“ดังนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น ‘คณะราษฎร’ เพราะทำตรงกับความต้องการของราษฎร ‘People’ ไม่ใช่ตามความประสงค์ของ ‘Reactionaries’…”
ส่วนข้อครหาที่ว่าคณะราษฎรนั้นชิงยึดพระราชอำนาจ ทั้งที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วนั้น* ปรีดีชี้แจ้งว่าตนและคณะราษฎรไม่เคยทราบถึงพระราชประสงค์ข้อนี้มาก่อน ดังที่ได้ชี้แจงต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ใจความตอนหนึ่งว่า
“คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อ ๖ วันภายหลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พร้อมทั้งข้าพเจ้า ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเจ้าพระยามหิธร ซึ่งเป็นราชเลขาธิการขณะนั้นเป็นผู้จดบันทึก มีพระราชกระแสรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขณะนั้น ก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์ ในสุดท้ายเมื่อเสด็จกลับจากประพาสอเมริกาจึงได้ให้บุคคลผู้หนึ่งซึ่งไปเฝ้าในวันนั้นพิจารณา บุคคลนั้นก็ถวายความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา และที่ปรึกษาก็กลับเห็นพ้องด้วยกับบุคคลนั้น…
“คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อน การเปลี่ยนแปลงได้กระทำโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้ช่วงชิงดั่งที่มีการปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่น ความจริงทั้งหลายปรากฏในบันทึกการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้นแล้ว และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์มาก่อนแล้ว หากมีผู้ทัดทานไว้ ฉะนั้นเมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงพระราชทานด้วยดี…
“ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่า ทรงตรัสด้วยน้ำพระเนตรคลอเมื่อชี้ไปยังพระยาศรีวิสารวาจาที่ไปเฝ้าด้วยในวันนั้นว่า ‘ศรีวิสาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณา แกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศ เป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่าเห็นพ้องกับแก’…”
ว่าด้วย ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’
อีกหนึ่งมรดกสำคัญที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ ก็คือการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อันเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หลังจากที่คณะราษฎรเข้ามาบริหารประเทศ และถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยฯ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน และทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า “ชั่วคราว” เนื่องด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรนั้น ไม่พ้องกันกับพระราชประสงค์ของพระองค์
แม้ในเวลาต่อมา จะมีปรับแก้และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่ความเห็นต่างในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 นั้นยังคงดำรงอยู่ และได้กลายเป็นชนวนหนึ่งที่นำไปสู่การประกาศสละราชสมบัติ รวมถึงความขัดแย้งกันเองของคณะราษฎรในเวลาต่อมา
“ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะราษฎรได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้แก่ราษฎร เพื่อให้ราษฎรมีสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดังนั้นผู้แทนราษฎรประเภท ๒ ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงได้ร่วมมือกับผู้แทนราษฎรประเภท ๑ ซึ่งได้รับเลือกโดยตรงจากราษฎร จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕
“บางคนเคยมาถามข้าพเจ้าถึงการที่ระบบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานในระยะหลังๆ นี้ โดยเอาเรื่องมาพัวพันกับคณะราษฎรนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงว่าแม้ภายในคณะราษฎรจะได้มีการขัดแย้งกันในบางขณะ แต่ในที่สุดคณะราษฎรเป็นส่วนรวมก็ได้ร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมานั้น สถาปนาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙”
ในทรรศนะของปรีดี (เมื่อปี 2515) เขามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 หรือฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น เป็นฉบับที่สมบูรณ์และมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้ยึดหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรแต่อย่างใด
“รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย คือ มาตรา ๑๓ ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ มาตรา ๑๔ ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะ พรรคการเมือง การอาชีพ แม้มีข้อกำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่บทกฎหมายนั้นก็ไม่ล่วงล้ำสิทธิประชาธิปไตย คือ เพียงกำหนดให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงออกกันแพร่หลาย พรรคการเมืองก็ตั้งกันได้อย่างแพร่หลายโดยไม่จำกัดความนิยมลัทธิการเมืองของพรรคนั้นๆ
“ส่วนการที่ภายหลัง ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ได้มีระบบการเมืองโดยรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๐ ครั้งนั้น มิใช่เป็นเรื่องของคณะราษฎรเลย จึงขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมได้แยกเหตุการณ์ของคณะราษฎรออกจากของคณะรัฐประหาร และที่สืบจากคณะรัฐประหารซึ่ง ‘คณะปฏิวัติ’ ได้กล่าวอย่างเปิดเผยถึงระบบเผด็จการที่คณะนั้นๆ ใช้ปกครองประเทศไทย จึงไม่ควรที่จะมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตย…
“ระบบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ นั้น เป็นอีกระบบหนึ่งต่างหากจากระบบประชาธิปไตยของคณะราษฎร แม้ว่าในคณะรัฐประหารมีผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่เขาได้ปลีกตนออกไปจากส่วนรวมของคณะราษฎร ไปร่วมกับบุคคลที่มีทรรศนะตามระบบการเมืองของคณะรัฐประหารนั้น…
“ดังนั้นหน้าที่ของคณะราษฎรที่จะต้องรับผิดชอบต่อราษฎรตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร จึงถูกคณะรัฐประหารระงับลงทั้งในทางนิตินัยและในทางพฤตินัยตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมา ไม่อาจกระทำการใดๆ ให้สำเร็จตามวัตถุที่ประสงค์ของคณะราษฎรได้ ต่อจากนั้นมาความรับผิดชอบในการดำเนินกิจการบ้านเมืองจึงตกอยู่แก่คณะรัฐประหารนั้น และรัฐบาลต่อๆ มาอันสืบเนื่องจากผลของคณะรัฐประหาร”
บางทรรศนะเกี่ยวกับ ‘ผู้ต่อต้าน’ การอภิวัฒน์
มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคัดเลือกสมาชิกคณะราษฎร ‘ชุดแรก’ ก่อนลงมือยึดอำนาจ ซึ่งปรีดีได้บันทึกไว้ว่า เกณฑ์หนึ่งที่ใช้พิจารณา ก็คือความสามารถในการรักษาความลับ
“…มิให้ถือเพียงแต่ว่าบุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลก และอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อเป็นการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่างแต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ แต่เมื่อยึดอำนาจได้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบัง จึงชวนให้ร่วมมือได้”
แน่นอนว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนและออกมาต่อต้าน ในส่วนของผู้สนับสนุนนั้นได้มีการกล่าวถึงไปบ้างแล้วในช่วงต้น ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยนั้น ปรีดีก็ได้กล่าวถึงเช่นกัน โดยได้จำแนกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว
2. ผู้ที่ไม่เสียประโยชน์ แต่ยังคงยึดมั่นในความคิดแบบเก่า
3. สวะสังคม
ในสามกลุ่มนี้ ปรีดีเน้นขยายความที่กลุ่ม ‘สวะสังคม’ เป็นพิเศษ
“…‘สวะสังคม’ (Social Scum) คือ เศษโสมม (Rottenmass) ซึ่งสังคมเก่าได้โยนทิ้งไป แต่ตกค้างอยู่ในสังคมใหม่ นักทฤษฎีสังคมฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมีทรรศนะตรงกันที่ถือว่า ‘สวะสังคม’ เป็นชนชั้นวรรณะอันตราย (Dangerous Class) จึงต่างฝ่ายต่างไม่คบเข้าร่วมในขบวนการ เพราะ ‘สวะสังคม’ นั้นเห็นแก่ตัว (Egoist) เป็นสำคัญ ซึ่งแสดงด้วยอาการอวดดี (self conceit) ยกตนเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น
“ในปลายระยะการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส มีผู้กล่าวกันว่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง พวก ‘สวะสังคม’ สามารถขายแม้กระทั่งพ่อของเขาเอง นโปเลียนที่ ๑ ได้นำคำพังเพยสมัยนั้นที่กล่าวถึงสวะสังคมมากล่าวแก่ ‘ตาลเลรองค์’ (Talleyrand) ซึ่งเป็นคนโลเลเปลี่ยนทรรศนะกลับไปกลับมาสุดแต่ตนจะได้ประโยชน์ว่า ‘มองซิเออร์ ท่านขายได้แม้แต่พ่อท่านเอง’
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปรีดีมองว่ามี ‘สวะสังคม’ อยู่หลายประเภทด้วยกัน เป็นต้นว่า…
“บางคนใช้วิธีอำพรางเพื่อแสดงว่าเขามีความคิดเป็นอิสระโดยไม่เป็นข้าราชการ แต่เขายอมกินเงินเดือนของนายทุนที่ค้าขายหารายได้จากเยาวชน…“
“บางคนอ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนของชนรุ่นใหม่ที่ชี้ขาดว่าเอาคนนั้นไม่เอาคนนี้ โดยสายตาแคบตามลักษณะอวดดี … มองชนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลว่าเหมือนตนเองไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามชนรุ่นใหม่ทั้งหมดนอกจากตัวเขากับเพื่อนสวะสังคมจำนวนหยิบมือเดียว…”
“บางคนที่เคยเป็นมหาดเล็กชั้นต่ำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบางคนที่รับทรรศนะที่มหาดเล็กชั้นต่ำบางคนถ่ายทอดข้อเท็จจริงอย่างผิดๆ โดยไม่รู้ถึงพระราชทรรศนะที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยตลอด ก็พยายามที่จะฟื้นเอาเรื่องที่มีข้อขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร มาขยายความเพื่อแสดงตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี…”
“ม.ร.ว. บางคนย่อมได้บทเรียนว่า ‘สวะสังคม’ บางคน อาศัยเครดิตที่ ม.ร.ว. มีอยู่บ้างเพื่อไต่เต้า แต่เมื่อคนนั้นคิดว่าวัดรอยเท้า ม.ร.ว. ได้แล้วก็ผละออก แล้วทำการโจมตี ม.ร.ว. เพื่อแสดงว่าเขาวิเศษกว่า ม.ร.ว.นั้น…”
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านย่อมสังเกตได้ว่า ฝีปากกาของปรีดีนั้นมีลักษณะเชือดเฉือนอย่างร้ายกาจ แถมยังพาดพิงว่าร้ายบุคคลอื่นได้อย่างมีเชิง
ในฐานะของรัฐบุรุษสยาม หลักข้อหนึ่งที่ปรีดีอ้างถึงบ่อยๆ ในการอธิบายความเป็นไปของสังคม ก็คือ ‘กฎแห่งอนิจจัง’ เขาเขียนเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดในหนังสือชื่อ ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ บอกเล่าถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งสิ่งใหม่ต้องเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าอยู่เสมอ ไม่มีสรรพสิ่งใดที่คงอยู่อย่างถาวร ดังที่เขียนถึง สวะสังคม ไว้ในตอนหนึ่งว่า
“สิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้ มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น…”
*อ่านข้อถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. 2525. ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475. ใน วารสารธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, หน้า 62-67.
อ้างอิง
บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, จัดพิมพ์โดย นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เนื่องในโอกาส 24 มิถุนายน 2515. กรุงเทพ : นีติเวชช์, 2515 (ปรีดีเขียนลงวันที่ 24 มิถุนายน 2515)
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - https://www.the101.world/pridi-on-2475/ (Jun 30, 2017)