ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

10
มิถุนายน
2563

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เคยเขียนบทความกล่าวถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เนื่องในโอกาสที่ท่านผูหญิงมีอายุครบ 84 ปี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2539 ว่า

“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น  แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดช่วงเวลายาวนาน  ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวลุล่วงผ่านพ้นไปได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก”

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง บิดาของท่านคือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ เมื่ออายุไม่ถึง 17 ปี ท่านผู้หญิงก็สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ดอกเตอร์หนุ่มนักกฎหมายชื่อดังสมัยนั้น

สี่ปีต่อมา สามีของท่านก็กลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สยาม ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

อายุได้ 22 ปี ท่านผู้หญิงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ เนื่องจากนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ ท่านก็ติดตามนายปรีดีไปทุกหนทุกแห่งในฐานะภรรยาของสามีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง  เพียงอายุ 28 ปี ท่านก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท่านผู้หญิง”

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดินส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตรในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย

หลังจากนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกนักการเมืองจากฝ่ายตรงกันข้ามกล่าวว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในที่สุดทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ขับรถถังมาจ่อทำเนียบท่าช้าง และสาดกระสุนเข้าไปในบ้านที่ท่านผู้หญิงและลูก ๆ พำนักอยู่ เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีต้องหนีตายไปอยู่ต่างประเทศ

ต้นปี พ.ศ. 2495 เมื่ออายุได้ 40 ปีท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้ ตัดสินใจติดตามไปอยู่ต่างประเทศกับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 30 กว่าปี จนกระทั่งสามีที่รักได้จากไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสมรสว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายภาคหน้า คุณความดีของน้องจะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย…”

วันนี้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัย 89 ปี ความทรงจำยังแจ่มชัด จะมาเล่าประวัติศาสตร์บทหนึ่งผ่านภาพอดีตของท่านให้ลูกหลานได้ฟัง…

สารคดี : ท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดีรู้จักกันได้อย่างไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เป็นญาติห่าง ๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน 11 ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ  นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้าน จึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุเก้าขวบ  พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 7 ปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ 16 ปี นายปรีดีกลับมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2470 กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน  2471

ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น  ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ standard 7 ตามหลักสูตรนี้เรียนภาษาไทยวันละชั่วโมงเท่านั้น วิชาอื่นสอนเป็นภาษาต่างประเทศหมด เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอคุณพ่อก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องไรนอกแหวนเพชรวงหนึ่ง

สารคดี : ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีถือเป็นคนเด่นในหมู่ข้าราชการไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : สมัยนั้นดอกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน  ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  เราแต่งงานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 เราหมั้นกันก่อน 6 เดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม  เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั้นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน

สารคดี : สมัยก่อนถนนสีลมเป็นอย่างไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เปลี่ยว ถนนสีลมเพิ่งมามีรถรางทีหลัง  ตอนที่ครอบครัวเรามาอยู่ใหม่ ๆ เปลี่ยวมาก มีป่าช้าฝรั่ง มีคลองแล่นเรือได้ดี อะไรอย่างนี้  คุณพ่อชอบฝึกพวกลูก ๆ คือมีบ้านเพื่อนอยู่ถนนสาทรเหนือ กลางคืนพาลูก ๆ ไปบ้านเพื่อน ท่านเดินนำหน้า ฉันอยู่สุดท้ายจนเคยแล้ว มันเป็นถนนดินเล็ก ๆ ไม่มีไฟฟ้าเลย ต้องถือไฟฉายไป อย่าว่าแต่ผู้ร้าย แม้แต่งูเงี้ยวเขี้ยวขอก็อาจจะมี  แต่สมัยก่อนจากสีลมไปราชดำเนินก็ไม่ไกล ขับรถแป๊ปเดียวก็ถึงเพราะรถไม่ติด กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้รู้สึกไกลกว่า

สารคดี : อยากให้ท่านผู้หญิงช่วยเล่าเหตุการณ์ในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475  ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนนั้นฉันอายุ 20 ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้านั้นนายปรีดีเคยมาขออนุญาตไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา  นายปรีดีบอกว่าวันที่ 23 มิถุนายน จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช  พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมกับลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับก็ยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์ วันที่ 23  พอตกกลางคืน ลูกคนที่ 2 ร้องไห้ เวลานั้นมีลูก 2 คน คือลลิตาและปาล  ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดทั้งคืนก็ใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 24 มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครื้ม มีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูกเป็นระยะ ลูกปาลอายุครบ 6 เดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ  พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีในเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์  ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีคนมาจับทูนกระหม่อมชาย 

สารคดี : หมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระองค์นะครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คนที่บ้านเราไม่รู้เรื่องเลย ไกลปืนเที่ยงอยู่ถึงสีลม จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร  เรื่องมันเกิดแถวบางขุนพรหม  เจ้าพระยายมราชท่านก็จะให้คุณพ่อออกไปสืบ  ที่บ้านมีแต่รถเก๋ง ท่านก็บอกอย่าขี่รถเก๋งไปนะ เดี๋ยวคนเขาจะหมั่นไส้  พอดีมีเจ้าคุณเพื่อนอีกคนหนึ่ง มีรถประทุนมาที่บ้าน ก็เลยชวนนั่งรถประทุนไปด้วยกัน 

คุณแม่บอกเจ้าพระยายมราชให้พักที่บ้านกันก่อน เพราะท่านเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คุณแม่เกรงว่าไม่ปลอดภัย สักครู่ภรรยาคนหนึ่งของท่านก็ตามมาหาท่าน เล่าว่าเดินผ่านมาทางโรงพิมพ์นิติสาส์นที่ศาลาแดง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ส่วนตัวของนายปรีดี พิมพ์หนังสือกฎหมายเผยแพร่ เห็นว่ามีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์  ฉันชักกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด  ตอนหลังจึงรู้ว่า มีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย  ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบก็กลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร

สารคดี : ตอนนั้นท่านผู้หญิงทราบหรือยังครับว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ยังไม่รู้ว่านายปรีดีเกี่ยวข้อง ยังไม่รู้จนกลางคืนประมาณสัก 5 ทุ่ม ที่หน้าบ้านป้อมเพชร์ซึ่งเป็นประตูเหล็กคล้องกุญแจ มีคนมาหา 2 คน บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งกายนายปรีดี ขอเสื้อกับผ้าม่วง เพราะว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมเสนาบดี แล้วก็ขออาหาร  สมัยก่อนอาหารใส่ตู้เย็นไม้ที่ใส่น้ำแข็ง ไม่ใช่ตู้เย็นสมัยนี้ มีแต่ขนมปังครีมแคร็กเกอร์ ก็ให้ขนมปังไป หมูหยองก็ดูจะไม่มี  คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน เพราะไม่ใช่คนที่รู้จัก  พอดีญาติที่อยู่ในบ้านก็รู้จักกัน บอกว่าชื่อนายซิม วีระไวทยะ เป็นทนายความ แต่คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไม่รู้จักคนแปลกหน้า พอรับของเสร็จกลับไป ก็เลยรู้ว่านายปรีดีเป็นผู้ก่อการคนหนึ่ง

สารคดี : เมื่อทราบแล้วตกใจไหม

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ฉันตกใจเหมือนกัน บางคนบอกว่ามีเจ้านายหนีไป แล้วจะทำการสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รู้เรื่องอะไร  นายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับจากวันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งให้นายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ  จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะเล่าให้ฟังเดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านฉันก็คุ้นเคยกับเจ้าหลายวัง

ภายหลังนายปรีดีย้ายจากพระที่นั่งอนันต์ฯ มาอยู่วังปารุสกวัน เลยมารับลูกกับเมียไปอยู่ด้วย ตอนนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกลับบ้านได้ เพื่อสะดวกในการอารักขาความปลอดภัย จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติจึงกลับบ้านได้

 

 

สารคดี : คนไทยในสมัยนั้นรู้สึกอย่างไรกันบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เท่าที่เราดูในหนังสือพิมพ์ ก็เห็นมีคนเชียร์กันแยะนี่ บริเวณพระที่นั่งอนันต์ฯ แต่ฉันไม่ได้ออกจากบ้านเลย เป็นห่วงแต่นายปรีดี

สารคดี : คิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นอย่างไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง  ตอนนั้นกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นคณะราชทูตไทยในอังกฤษ และคุณปู่ของฉันคือหลวงวิเสศสาลี (นาค) เป็นผู้ช่วยทูต พวกนี้มีจดหมายกราบบังคมทูลขอให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ แต่ในหลวงท่านก็ไม่เปลี่ยน แต่ท่านก็ไม่กริ้วนะ ก็นับว่าเป็นความกล้าหาญมีเจ้านายกับข้าราชการ 11 คน กราบบังคมทูลเพื่อเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง ปู่ของฉันก็เป็นคนหนึ่ง

สารคดี : ดูเหมือนหลักการหนึ่งของคณะราษฎรให้ความสำคัญกับผู้หญิงมาก 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : นายปรีดีเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งมีก่อนกฎหมายเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศส

สารคดี : แล้วช่วงที่อาจารย์ปรีดีร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร เพราะท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เรื่องมันยืดยาว แต่สรุปสั้น ๆ ว่า ตั้งใจจะช่วยคนจน มีสหกรณ์ ก็ไม่ได้มีนโยบายจะไปยึดทรัพย์ใคร แต่ถูกคนในรัฐบาลใส่ความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บีบบังคับให้เราต้องเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว

สารคดี : เหตุการณ์นั้นทำให้อาจารย์ปรีดีเกิดความขัดแย้งกับคุณประยูร ภมรมนตรี ใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เวลาประชุมกัน คุณประยูรจะเป็นฝ่ายเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

 

สารคดี : แล้วกับพระยาทรงสุรเดชนั้นความสัมพันธ์เป็นอย่างไรครับ 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : พระยาทรงฯ เป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยกันกับนายปรีดี  การที่ท่านต้องอยู่ต่างประเทศ (กัมพูชา) และพรรคพวกของท่านถูกประหารชีวิตกันไปทั้ง 18 คน  หลวงพิบูลฯ ก็ว่าหลวงอดุลฯ เป็นคนสั่งฆ่า  หลวงอดุลฯ ก็ว่าหลวงพิบูลฯ เป็นคนสั่งฆ่า  เราก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นสั่ง  เมื่อพระยาทรงฯ ถึงแก่กรรม ได้เชิญอัฐกลับมาเมืองไทย นายปรีดีนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จัดให้มีการต้อนรับอย่างสมเกียรติและบำเพ็ญกุศลที่วัดมหาธาตุ

สารคดี : ในบั้นปลายชีวิตจอมพล ป. เคยเขียนจดหมายขอขมาอาจารย์ปรีดี 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ถึงกับเขียนจดหมายหรอก เป็นการ์ด ส.ค.ส. แล้วก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Please อโหสิกรรม” เราก็เก็บอย่างดี แต่อะไรที่เก็บอย่างดีมักหาย  ตอนนั้นจอมพล ป. อยู่ที่ญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ก็ส่งคนมาหา ก่อนที่จะถูกจอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหาร มาติดต่อกับเราว่า เรื่องกรณีสวรรคต ทางจอมพล ป. จะรื้อฟื้อคดีขึ้นมาใหม่ คิดว่าแกคงเริ่มรู้สึกตัวแล้ว แต่ก็โดนจอมพล สฤษดิ์ทำรัฐประหาร เลยต้องไปอยู่ต่างประเทศ

สารคดี : อยากจะเรียนถามถึงชีวิตส่วนตัวของอาจารย์ปรีดีครับ ไม่ทราบว่าท่านใช้จ่ายเงินในครอบครัวอย่างไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ นิติสาส์น รายเดือน พิมพ์หนังสือชุด ประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อเยอะมาก และรายได้จากอีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ 10 บาท  พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์อีกต่อไป  พอเป็นรัฐมนตรีก็มีรายได้เดือนละ 1,500 บาท ก็ให้ฉันอีก  บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน  แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเล ย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

สารคดี : อาจารย์ปรีดีแบ่งเวลาอย่างไร เพราะต้องสอนหนังสือและบริหารแผ่นดินไปพร้อมกัน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ได้สอนแล้ว ท่านเคยสอนช่วง พ.ศ. 2470-2476 แต่เมื่อทำหน้าที่บริหารประเทศก็หยุดสอน เมื่อตั้งธรรมศาสตร์ เป็นผู้ประศาสน์การ ก็ทำหน้าที่วางนโยบายและหลักสูตร 

สารคดี : งานอดิเรกของอาจารย์ปรีดีคืออะไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ค่อยมีเวลาว่างหรอก สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีเลิกจากงานกลับจากกระทรวงก็ตรงมาบ้าน หรือไม่ก็แวะสมาคมฝรั่งเศสยืมหนังสือไปอ่าน  หากไม่ได้ยืมก็ตรงมาบ้าน หรือไม่ก็มีงานแต่ง งานศพ ท่านก็ไป นาน ๆ จึงจะทำอาหารรับประทานเอง

สารคดี : อาจารย์ปรีดีออกกำลังกายไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เคยเล่นกอล์ฟเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเวลา หมกหมุ่นกับงาน ตอนอยู่ประเทศฝรั่งเศส รู้ว่าอาจารย์คนอื่นเขาไปตีกอล์ฟกัน เราจะเอาเวลาที่ใหนไปตีล่ะ เราต้องเตรียมที่จะไปเลกเชอร์  ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ตื่นเช้ามาก็ไปเลกเชอร์ ฉันยังช่วยเลย ตั้งแต่แต่งงานกันมา  ท่านก็สอนฉันในตัว คือเวลาท่านสอนกฎหมาย ท่านก็ dictate เรื่องที่จะไปเลกเชอร์ ฉันก็จดตามคำบอกของท่าน ส่วนใหญ่เป็นวิชากฎหมายปกครอง เท่ากับสอนเราในตัวด้วย แทนที่ท่านจะนั่งเขียน แต่ตอนนั้นฉันยังไม่มีลูก  พอมีลูกแล้วนายปรีดีก็ไม่ให้ทำ เพราะต้องดูแลลูก  เราแต่งงานกันตั้งปีครึ่งถึงจะมีลูก ฉันมีเวลก็ไปเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศสถนนสาทร

เพื่อนร่วมชั้นที่เรียด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ้งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ พวกอัสสัมนี่เป็นนักเรียนภาษาฝรั่งเศสทั้งนั้น

สารคดี : อาจารย์ปรีดีเคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ต่างประเทศหลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติบ้างไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เคย ตอนนั้นปี 2478 ไปเข้าเฝ้าที่อังกฤษ นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยไปเจรจากับผู้นำอังกฤษที่กรุงลอนดอนเพื่อขอแปลงดอกเบี้ยเงินกู้สมัยรัชกาลที่ 6 ที่กู้ธนาคารอังกฤษ จากเดิมร้อยละ 6 ให้เหลือร้อยละ 4

 

สารคดี : ตอนที่พระองค์ประทับที่ประเทศอังกฤษ ทรงเคยมีพระราชดำริว่าอยากจะกลับมาประทับเมืองอีกไหม 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ได้ยินว่าท่านมีพระราชหัตถเลขาถึงหลวงพิบูลฯ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิด ว่าอยากจะนิวัตกลับสู่เมืองไทย จะมาประทับแถวจังหวัดตรัง แต่เกิดสงครามโลกเสียก่อนและไม่นานก็สวรรคต

สารคดี : ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงประทับที่ไหน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนแรกอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งรัฐบาลให้เป็นบ้านพักรับรองของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ ตอนนั้น แต่เราไม่ได้ขุดหลุมหลบภัย ท่าช้างนี่ชั้นล่างอยู่ติดพื้นดิน แล้วก็สองชั้น ชั้นสามก็เอากระสอบทรายมากองสูงท่วมหัวที่ชั้นล่าง ทำเนียบท่าช้างอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ เยื้องสถานีรถไฟบางกอกน้อย เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดบ่อยมาก  เวลานั้นลูก ๆ ก็ยังเล็ก เวลาเครื่องบินมาก็อุ้มลูกจากที่มาหลบที่หลังเนินกระสอบ ก็เลยอพยพไปอยู่อยุธยาสักพัก พอการทิ้งระเบิดค่อยเพลาลงก็งกลับมาอยู่กรุงเทพฯ จ้างครูมาสอนลูกเรียนหนังสือ 

ปรากฏว่าพอถึงปี 2488 ปลายสงคราม เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักขึ้นอีก ทั้งตอนกลางคืนและกลางวัน ตึกรามบ้านช่องพังจำนวนมาก ต้องวิ่งหนีกัน เด็กเล็กลูกคนอื่นมาเรียนกับลูกเราลูกเราด้วยก็ไม่ปลดภัย นายปรีดีก็ทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปประทับที่พระราชวังบางประอินเพื่อความปลอดภัย แล้วเราก็อพยพตามไปถวายการรับใช้ด้วย 

นายปรีดีได้ติดต่อกับสัมพันธมิตร บอกให้ทราบว่าบางประอินเป็นที่ประทับของเจ้านาย อย่าทิ้งระเบิด ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ แต่บริเวณทำเนียบท่าช้างยังทิ้งระเบิดกัน นายปรีดียังอยู่ประจำที่นั่น ทิ้งระเบิดริมน้ำ เขื่อนพังทลาย แต่ตัวอาคารใหญ่ไม่เป็นไร  พอหวอมา ชาวบ้านเข้ามาหลบในบ้านเต็มไปหมด เพราะว่ามีค่ายเชลยอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เราคิดว่าเครื่องบินไม่มาทิ้งระเบิดเชลยศึกซึ่งเป็นพวกเดียวกัน

สารคดี : ท่านผู้หญิงต้องช่วยถอดรหัสหรือเขียนโค้ดด้วยใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ได้ถอดรหัส แต่ใช้วิธีเขียนเป็นตัวหนังสือ คือฉันเขียนตัวบรรจง จึงช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษ แบบตัวพิมพ์ใหญ่ก่อนที่จะนำไปเข้าโค้ดลับเพื่อเป็นการพรางหลักฐาน เพราะหากถูกจับได้ก็ไม่รู้ว่าเป็นลายมือใคร และตอนนั้นใช้พิมพ์ดีดไม่ได้ หากพวกญี่ปุ่นเขาจับได้ สมัยนู้นตรวจกันรู้นี่ว่าเป็นพิมพ์ดีดจากไหน บางครั้งก็เขียนคำสั่งของปรีดีที่จะส่งไปต่างประเทศ ส่วนฝ่ายถอดรหัสนั้นมีพวกเสรีไทยสายอังกฤษหรือสายอเมริกาเป็นคนจัดการ

สารคดี : นิสัยตัวท่านอาจารย์ปรีดีเป็นคนอย่างไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : รู้สึกใจร้อนนิดนึง แต่ไม่ถึงกับหุนหันพลันแล่นหรอก  แต่ว่าทำอะไรก็อยากเห็นผลเร็ว อย่างนี้  แล้วก็เชื่อคนง่าย บางทีเราก็ช่วยดูให้ นายปรีดีดูคนไม่ค่อยเป็น นึกว่าเหมือนตัวเอง 

สารคดี : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ไม่ยอมส่งจอมพล ป. กับพวกให้ศาลอาชญากรสงครามที่โตเกียวตัดสินใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ได้ตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นในประเทศไทยพิจารณาตัดสินคนไทยด้วยกันเอง  ถ้าส่งไปเมืองนอกก็ไม่แน่ว่าเกิดอะไรขึ้น  ตอนนั้นโดนจับหลายคน หลวงวิจิตรฯ เอย ใครต่อใครเอย เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ฆ่ากันไม่ลงหรอก 

สารคดี : ขอความกรุณาท่านผู้หญิงช่วยเล่าเรื่องเหตุการณ์วันที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

ท่านผู้หญิงพูนศุข : วันนั้นไม่สบายเพราะไปถอนฟันมา ก็ไม่ได้รับประทานอาหารเย็นด้วยกัน วันนั้นหลวงอดุลฯ (พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก) หลวงธำรงฯ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี) มารับประทานอาหารเย็น  ฉันก็เข้านอนก่อนเพราะเป็นไข้ ต่อมาประมาณสองสามยาม ฉันก็สังเกตมีแสงไฟสาดเข้ามาในห้องนอน  ทีหลังจึงรู้ว่าเป็นไฟจากรถถังที่จอดอยู่หน้าธรรมศาสตร์ แสงไฟจ้าเชียว แปลกใจก็ลุกขึ้นมา ลมพัดหนังพิมพ์กระจาย ไม่ใช่พัดลมน่ะ เป็นลมจากแม่น้ำ แล้วฉันก็ลงไปชั้นล่าง พบเด็กที่อยู่กับเรายืนอยู่กับตำรวจที่เป็นยามประจำบ้าน ตอนนั้นยังไม่ได้ยิง  ฉันถามว่าท่านอยู่ไหน เด็กบอกท่านไปแล้ว  สักครู่หนึ่งทหารก็ยิงมา เราก็เลยวิ่งมารวมอยู่ห้องนอนลูกริมน้ำ

สารคดี : ทหารยิงเข้ามาในบ้านเลยเหรอครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ยิงเข้ามาในบ้าน เจาะเข้ามาในห้องพระ รูขนาดนกกระจอกทำรังได้ แต่ไม่ทะลุ  เราก็รวบรวมลูกมาอยู่ห้องเดียวกัน แล้วก็บอกลูกให้นอนหมอบราบไปบนเตียงนะ  ฉันก็ตะโกนออกไปว่า อย่ายิง อย่ายิง มีแต่เด็กกับผู้หญิง  เขายิงรัว แหม รู้สึกว่าหลายสิบนัดนะ เสียงมันอาจจะสะท้อนด้วย  ฉันยังมีใจเป็นธรรมนะ คิดว่าไม่ได้ยิงกราด ผลสุดท้ายเขาก็พังประตูเข้ามา  ฉันก็ลงไปพบ  

มีคณะนายทหารที่เราไม่รู้จัก เขาบอกว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล  ฉันก็ว่าทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาล่ะ  คณะทหารค้นทั่วบ้าน ไม่มีตัวปรีดีแล้วนะ ท่านลงเรือรับจ้างที่อยู่ข้าง ๆ ท่าช้างวังหน้าหลบหนีไปแล้ว

สารคดี : ตอนนั้นหลวงอดุลฯ ซึ่งอยู่ในฐานะ ผบ.ทบ. อยู่ที่ไหน 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : สักตีสี่ หลวงอดุลฯ มาหาฉัน บอกว่าผมไล่พวกกบฏออกไปหมดแล้ว ให้ไปอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ตอนนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่นี่ ท่านก็บอกผู้ที่มายิงบ้านเรา พอเช้ามีบรรณาธิการ บางกอกโพสต์ มาสัมภาษณ์และได้นำประโยคที่ฉันถามพวกทหารตอนที่เข้ามาค้นไปลงหน้าหนึ่ง เสร็จแล้วตอนสาย ๆ  ร.อ. สมบูรณ์ (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) เอารถถังมา เพื่อนของฉัน คุณฉลบชลัยย์ (ภรรยาคุณจำกัด พลางกูร) วิ่งออกไปยืนขวางพวกทหาร ห้ามไม่ให้เข้ามาบริเวณโรงรถเพราะเป็นมุมอับ เกรงว่าจะเอาสิ่งของต้องห้ามมาใส่ จึงให้คนในบ้านร่วมเป็นพยานการตรวจค้น ซึ่งก็ไม่มีอะไร เราไม่ได้เป็นฝ่ายก่อการกบฏ พวกเขาเป็นพวกมาทำลายพวกเรา แล้วยังมาค้น 

สารคดี : ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีไม่ได้ดำรงตำแหน่งใด ๆ แล้ว

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เป็นเพียงรัฐบุรุษอาวุโส ตอนที่หนีไปต่างประเทศก็ไม่มีเงินติดตัว ต้องยืมจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสารไปสิงคโปร์

สารคดี : แล้วหลวงอดุลฯ ที่ว่าไล่ไปหมดแล้ว

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็ไม่จริงน่ะ พวกกบฏก็กลับมายึดอำนาจได้อีก หลวงอดุลฯ แกก็ลาออก ตอนหลังฉันมาอยู่บ้านป้อมเพชร์ มาอยู่กับคุณแม่ หลวงอดุลฯ มาเยี่ยมเกือบทุกคืน

สารคดี : หลังจากที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ท่านผู้หญิงออกนอกประเทศไปเลยหรือเปล่าครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ยังไม่ได้ไปทันที ฉันไปอยู่เมืองนอกปี 2495  พอปี 2500 ได้กลับมาชั่วคราวเพราะมารดาป่วยหนักมาก เสี่ยงเข้ามา ลูกก็ติดคุกอยู่นะ ก็เข้ามาเผาคุณแม่ อยู่ประมาณปีครึ่ง พอปี 2503 ก็ออกไป กลับมาอีกทีปี 2518 ได้มาก็เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา

สารคดี : หลังจากอาจารย์ปรีดีลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองจีน บรรดาปัญญาชนจำนวนมากในเมืองไทยร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณู แต่ก็ถูกรัฐบาลกวาดล้าง เพราะเกรงว่าเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ คุณปาลลูกชาคนโตก็ถูกรัฐบาลทหารจับไปเมื่อปี 2494 ใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนนั้นลูกปาลถูกเกณฑ์ทหารและอยู่ระหว่างลาป่วย ตำรวจก็มาจับตัวถึงในบ้าน  ฉันพยายามทำใจเข้มแข็งเมื่ออยู่ต่อหน้า พอพวกนั้นกลับไปฉันวิ่งขึ้นไปร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจ  ลูกปาลถูกข้อหากบฏสันติภาพ ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี แล้วลดลงมาเหลือ 13 ปีกับ 4 เดือน  แต่ขังอยู่ 4 ปี พอปี 2500 ก็มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา

สารคดี : ท่านผู้หญิงก็ติดคุกด้วยใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : หลังจากตำรวจเอาลูกฉันไป สองวันต่อมา ฉันเป็นเถ้าแก่หมั้นคุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์)  ตำรวจก็มาจับในงานไปสอบสวนที่สันติบาล ตอนนั้นลูกสาว 2 คนยังเล็กอยู่เลยต้องเอามานอนที่สันติบาลด้วย 2 คืน  ตำรวจที่มาสอบฉันคือพระพินิจชนะคดี พี่เขยของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ถามว่ารู้จักพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธิน ที่ตอนนั้นกำลังล่าตัวอยู่หรือไม่ 

คือภายหลังการรัฐประหารจนทำให้นายปรีดีต้องออกนอกประเทศไปนั้น สถานการณ์ตอนนั้นก็ไม่น่าวางใจ ยังมีการติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้อง  หากจับสามีไม่ได้ก็จับภรรยาไปแทน  ฉันจึงไปอาศัยบ้านพักคุณทหารอยู่ที่สัตหีบชั่วคราว  คุณทหารต้อนรับฉันกับลูก ๆ อย่างดี  เราอยู่ที่สัตหีบเกือบสามเดือน  คุณทหารเป็นผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 มีบุญคุณกับครอบครัวเรามาก  ตอนหลังคณะรัฐประหารจะจับคุณทหาร แต่จับไมได้ คุณทหารหลบไปที่เมืองปราณฯ หรืออยู่ที่ไหนสักแห่งไม่แน่ชัด

ทีนี้มีคนมาติดต่อ บอกว่าคุณทหารเข้าป่า ฉันก็ฝากข้าวของไปให้ เขียนโน้ตใส่เศษกระดาษฝากคนไป บอกว่าถ้ามีหนทางอะไรก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ  พอคุณทหารถูกจับได้ ก็พบเศษกระดาษที่มีลายมือของฉัน ดังนั้นเมื่อตำรวจถาม ฉันก็ไม่ปฏิเสธ เขาถามว่านี่ใช่ลายมือของฉันไหม ฉันก็รับว่าใช่ ฉันเขียนจริง ๆ ข้อหาฉันมีข้อนี้เท่านั้นเท่าที่ดูในสำนวนฟ้อง  นอกนั้นถามว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไม่ทราบทั้งนั้น ตอบไม่ได้ ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย  แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจทำลายทุกอย่างหมด อิสรภาพเรื่องเล็ก จิตใจนี่เรื่องใหญ่ ถูกขังติดลูกกรงเหล็กอยู่ ถ้าเผื่อไฟไหมเราก็ตายในนั้น และฉันเป็นคนที่กินกาแฟยาก พอคนในบ้านเอากาแฟที่บ้านชงใส่กระติกมาให้ก็ยังเอาเข้าไม่ได้

ติดคุกได้ 12 วัน ตำรวจก็พาไปศาล ผู้ต้องหาหญิงคนเดียวไม่รู้ใช้กำลังเท่าไหร่ ไปศาลแล้วพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมาถ่ายรูป ตำรวจพยายามจะเอาฉันหลบกล้อง พอถึงศาลแล้วก็เห็นพวกผู้ต้องหาคนอื่น ๆ นั่งเป็นแถว แต่ของฉันไปนั่งเฉพาะ มีตำรวจคุม แหม ทุเรศจริง ๆ เชียว ทำกับฉันขนาดนี้

สารคดี : กลัวไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนนั้นไม่กลัวเลยนะ  หลังจากติดคุกได้ 84 วัน อัยการยกฟ้องฉัน  ตอนนั้นมีตำรวจคนหนึ่งเป็นสารวัตร ขณะนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว  แหม ดีกับฉันเหลือเกิน เวลานั้นท่านเป็นนายพันตรี ก็คุมฉันบางเวลา ท่านก็อุตส่าห์วิ่งไปหาเพื่อนที่เป็นอัยการ ไปสืบดูว่าฉันจะถูกฟ้องหรือเปล่า อุตส่าห์ไปเหน็ดเหนื่อยกันดึกดื่น ผลสุดท้ายฉันไม่ถูกฟ้อง แต่ลูกปาลถูกฟ้อง  พอศาลตัดสินแล้วจะเอาลูกขึ้นรถไปเรือนจำลหุโทษ ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ฉันก็ขึ้นรถไปด้วย นายตำรวจคนหนึ่งก็พูดขู่ว่า นี่จะเอาไปคุกแล้วนะวันนี้  ฉันก็บอกว่าคุณไม่รู้ประวัติของฉันดี คุณนึกว่าฉันกลัวคุกหรอ  คุณปู่ของฉัน คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตราเป็นแม่กองสร้างคุกแห่งนี้ และคุณพ่อของฉัน พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วฉันจะกลัวคุกได้อย่างไร

สารคดี : หลังออกจากคุกท่านผู้หญิงย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสแล้วค่อยหาทางไปหาอาจารย์ปรีดีที่ปักกิ่งใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนติดคุก ฉันสะเทือนใจมาก เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป จึงเห็นว่าไม่สมควรอยู่เมืองไทย พอปี 2496 ก็เดินทางไปอยู่ฝรั่งเศสกับลูก 2 คนคือดุษฎีและวาณีที่ยังเล็กอยู่ จากนั้นพยายามติดต่อนายปรีดีจนสำเร็จ จึงเดินทางไปอยู่เมืองจีนพร้อมกัน จนกระทั่งปี 2510 จึงกลับมาอยู่ฝรั่งเศสกับลูก สาเหตุที่มาก่อนเพราะมาหาทางพานายปรีดีออกจากเมืองจีนไปอยู่ฝรั่งเศส เราก็มีเพื่อนฝูงเก่า ๆ พอปี 2513 ก็พานายปรีดีมาอยู่ฝรั่งเศส

สารคดี : ทำไมหลังรัฐประหารปี 2490 อาจารย์ปรีดีเลือกไปอยู่เมืองจีน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : แล้วจะไปที่ไหนล่ะ เมืองจีนไม่มีสัมพันธ์กับไทยนี่ ก็ไปเมืองจีน ตอนนั้นยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นยุคสมัยของเจียงไคเช็คยังมีอำนาจ  อันที่จริงนายปรีดี ต้องการลี้ภัยที่ประเทศเม็กซิโก แต่รองกงสุลอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นพวกซีไอเอ ขีดฆ่าวีซ่าผ่านแดนอเมริกา ทำให้นายปรีดีไม่สามารถไปเม็กซิโกได้  รองกงสุลอเมริกันคนนี้คือนายนอร์แมน ฮันนา ต่อมาเป็นทูตประจำประเทศไทย

หลังจากนายปรีดีประสบความล้มเหลวในการก่อการขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยตัดสินใจไปประเทศจีน ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปกครองเกือบทั่วประเทศจีนแล้ว

สารคดี : ช่วงที่อยู่เมืองจีน กิจวัตรประจำวันของอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็อ่านหนังสือ ฟังวิทยุสถานีบีบีซีบ้าง ออสเตรเลียบ้าง วีโอเอบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง รับฟังข่าวสารจากเมืองไทย ไม่ได้ทำงานอะไร  ทำงานส่วนตัว คืองานบ้าน  แต่ทางการจีนจัดคนมาดูแลอำนายความสะดวก มีปัจจัยสี่ให้เราตลอด

สารคดี : รัฐบาลจีนตอนนั้นให้ความช่วยเหลือมากใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ฉันไม่ลืมบุญคุณรัฐบาลจีนและราษฎรจีน  ฉันเป็นคนไม่ลืมบุญคุณคน  ตอนที่ทางจีนเกิดอุทกภัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ฉันก็ส่งเงินตามมีตามเกิดไปช่วยเหลือ  เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ส่งไปอีก  ตอนเราออกจากเมืองจีนก็ไม่มีบาดหมางอะไรกันนะ เราออกมาด้วยดี

สารคดี : ใครในรัฐบาลจีนเป็นคนจัดการช่วยเหลืออาจารย์ปรีดี

ท่านผู้หญิงพูนศุข : นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล แต่ก็คงต้องช่วยกันหลายคน

สารคดี : อาจารย์ปรีดีรู้จักโจวเอินไหลมาก่อนหรือครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่รู้จักมาก่อน แค่ได้ยินชื่อมาก่อน

สารคดี : ไปเมืองจีนครั้งแรกอาศัยอยู่เมืองไหนครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ปักกิ่ง ตอนหลังทนอากาศหนาวจัดไม่ไหว หนาวมากขนาดลบ 15 องศา หนาวนี่กินแต่ผักกาดขาว ซื้อกันทีละเยอะ ๆ แล้วขุดหลุมลงไปทำเป็นตู้เย็น จึงขอย้ายมาอยู่เมืองกวางโจว อยู่ใกล้บ้าน รับฟังวิทยุจากต่างประเทศได้และได้อ่านหนังสือพิมพ์จากฮ่องกงด้วย

สารคดี : ตอนนั้นงานหลักของอาจารย์ปรีดีคือการเขียนหนังสือ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขียนบทความต่าง ๆ เขียนหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม เป็นคนเขียนหนังสือลายมือดี

สารคดี : ช่วงนั้นอยู่ได้เพราะบำนาญ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนแรกรัฐบาลตัดบำนาญตั้งแต่เริ่มคดีสวรรคต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นจำเลย ในคำฟ้องไม่มีนะ แต่เขาก็ตัดเราแล้ว  เวลานั้นเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ได้บำนาญสูงสุด 600 บาท เมื่อโดนตัด นายปรีดีก็ฟ้องศาล จน 20 ปีผ่านไปกว่าจะได้บำนาญ แต่เขาให้เพิ่มนะ ตอนหลังได้เดือนละ 4,000 กว่าบาท  ตอนนั้นฉันต้องขายบ้านขายที่ดิน  คนเขาถามขายทำไม ไม่ขายแล้วจะเอาอะไรกิน  มีอะไรก็ขายหมด  แล้วฉันก็มีรายได้จากค่าเช่าบ้าน  แล้วก็ขายบ้าน ขออนุญาตเอาเงินออกไปซื้อบ้าน สมัยนั้นคุณป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ

สารคดี : อาจารย์ป๋วยรู้จักอาจารย์ปรีดีมาตั้งแต่สมัยใดครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คุณป๋วยเป็นลูกศิษย์ ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณป๋วยไปทำงานห้องสมุดธรรมศาสตร์ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย

สารคดี : อาจารย์ปรีดีเคยคิดจะกลับเมืองไทยใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : อยากกลับบ้าน แต่ถ้าเรากลับมาแล้วบ้านเมืองวุ่นวาย ต้องมีคนไม่ชอบ แล้วอย่างนี้จะกลับได้ยังไง อยากให้บ้านเมืองสงบ คิดว่าอยู่ต่างประเทศดีกว่า ใจน่ะอยากกลับ ถ้ากลับมาไม่สงบ ก็เป็นคนไม่รักชาติ เราต้องการให้บ้านเมืองมีความสงบรุ่งเรือง

สารคดี : มีคนไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดีตลอดเวลาใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : มี คือการเยี่ยมมีหลายอย่าง ไปเยี่ยมด้วยน้ำใสใจจริง ระลึกถึงคุณงามความดีเก่า ๆ ไปดูก็มี อยากรู้ว่าอยู่กันอย่างไร บางคนที่สนิทกันแต่ไม่กล้าไป กลัวมีคนไปแจ้งกับรัฐบาล  ขนาดฉันจะขายที่ดิน คนจะซื้อพอรู้ว่าเป็นชื่อของนายปรีดีก็กลัวแล้ว  ที่ดินของนายปรีดีที่ทุ่งมหาเมฆ ซื้อไว้ถูก ๆ ไร่ละ 3.50 บาท ตั้งแต่เป็นทุ่งนา คนซื้อบอกว่าต้องไปถามรัฐบาลก่อน แล้วรัฐบาลมาเกี่ยวอะไรด้วย จะขายของตัวเองยังยาก ต้องไปถามรัฐบาล

สารคดี : แต่ก็จำเป็นต้องขายเพื่อหารายได้

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็ให้พรรคพวกช่วยกันซื้อ เพื่อว่าให้เราได้มีกินมีใช้ ถ้าฉันไม่ขายจะเอาเงินที่ไหน บำนาญก็ไม่ได้ บ้านที่สีลมและสาทรก็ต้องขาย เพราะเราไม่ได้ค้าขาย  ฉันเห็นเดี๋ยวนี้นะ ทำไมนักการเมืองรวยจัง ฉันไม่เข้าใจ  เอาเวลาราชการไปค้าขายเหรอ  เราใช้เวลาทั้งหมดให้แก่ราชการ ไม่ได้เอาเวลาของราชการมาทำมาหากิน  ซึ่งถ้านายปรีดีจะทำมาหากิน ก็มีหัวนะ ได้รับในประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐกิจ มีความสามารถหลายอย่างที่ทำอะไรต่ออะไร แต่ท่านไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ทำให้ประเทศชาติ 

สารคดี : อยากให้ท่านผู้หญิงช่วยเล่าถึงวันที่อาจารย์ปรีดีเสียชีวิต

ท่านผู้หญิงพูนศุข : อยู่ดี ๆ ก็นั่งเขียนหนังสือนั่นแหละ เขียนเสร็จแล้วจะให้ลูกคนหนึ่งตรวจทาน ก็ให้ฉันออกไปตาม แต่ลูกไม่อยู่ ออกไปทำงานก่อน ฉันก็กลับเข้ามา เห็นนายปรีดีถอดแว่น พูดอะไรสองสามคำ ฉันก็จำไม่ได้ แล้วเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้คอพับแล้วนิ่งไป  ฉันก็รีบไปหยิบยาฉุกเฉินที่หมอเขาให้ไว้ แล้วก็รีบโทรศัพท์ ลูกอีกคนก็เช่าบ้านอยู่ข้าง ๆ เพราะบ้านเราเล็ก เขามีครอบครัว ให้คนไปตาม  เผอิญมีหลานเรียนแพทย์จุฬาปี 4 มาพักอยู่ที่บ้าน ก็ให้เขามาช่วยผายปอด  แล้วก็โทรศัพท์เรียกแพทย์ฉุกเฉิน หมอสั่งไว้ให้เรียกรถแอมบูแลนซ์ก่อน เพราะว่าแอมบูแลนซ์ของเขามีเครื่องเคราครบ เขาก็มาปั๊มหัวใจ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว นายปรีดีไม่ได้ทรมานเลย สิ้นใจอย่างสงบ หมอประจำตัวมาทีหลังบอกว่าตายอย่างงดงาม

สารคดี : ตั้งร่างของท่านไว้ที่บ้านอยู่หลายวัน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ใส่หีบตั้งห้าวัน มีคนไทยจากที่ต่าง ๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปมาเยี่ยมเคารพ ท่านเสียวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ถึงได้ลงหีบ นอนอยู่บนเตียงนอนเฉย ๆ นี่ เหมือนคนนอนหลับ เล็บ แก้ม ไม่ได้ซีดเลย  ผม หนวด เล็บ ยังงอกยาวออกมาเหมือนยังมีชีวิตอยู่  เจ้าหน้าที่บอกไม่ให้เราถูกตัว แล้วมียาอะไรไม่รู้วางไว้ ทำสะอาด พอดีเดือนพฤษภาคมอากาศเย็น ความจริงถ้าเป็นโรคอื่นไม่ได้นะ เมืองฝรั่งไม่ให้ตั้งศพอยู่ที่บ้าน

สารคดี : สถานทูตไทยมาหรือเปล่าครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ท่านทูตมาส่วนตัว เพราะว่ารัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความเห็น ท่านไม่พูดก็เลยไม่ทำอะไร มีเพื่อนลูกอยู่ต่างประเทศโทรศัพท์ถามว่ารัฐบาลสั่งทำมั้ย ไม่มีเลย รัฐบาลไม่สั่งอะไรเลย รัฐบาลใบ้  เห็นใจทูตนะ เราเลยขอความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว  พอดีท่านปัญญาฯ กำลังอยู่ที่อังกฤษ ท่านรู้ข่าว ท่านก็โทรศัพท์มาแสดงความเสียใจ เราจึงนิมนต์ท่านมาเป็นประธานประชุมเพลิง ยังมีพระจากเมืองอังกฤษอีกสามรูปมาสวดให้ เอาผ้าไตรมาช่วย เดินทางมาเอง แล้วมีพระในฝรั่งเศสอีก  ท่านปัญญาฯ เป็นประธาน ท่านก็กล่าวสดุดี  มีคนไทยในฝรั่งเศสและในยุโรปไปเผากันเยอะ นักบินและเจ้าหน้าที่การบินไทยที่เผอิญไปปารีสขณะนั้น อุตส่าห์ไปเผากันหมด  คนรู้จัก ไม่รู้จักนะ อุตส่าห์ไปกัน ก็เผากันเดี๋ยวนั้น เก็บกระดูกเดี๋ยวนั้น ละเอียดเชียว  สั่งไว้นี่ บอกให้เป็นขี้เถ้า ไม่มีชิ้นเลย แล้วยังมีอดีตทูตฝรั่งเศสในเมืองไทย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ส่งพวงหรีดมาแสดงความเสียใจ

สารคดี : แล้วปี 2529 เหตุใดถึงเอาอัฐิกลับมาเมืองไทย

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ทีแรกลูกบางคนคิดว่าเอากลับมาทำไมในเมื่อบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ แต่เราก็มีบ้านที่เมืองไทยนี่นะ ตัดสินใจ 3 ปีถึงได้มา  ทีนี้ทางธรรมศาสตร์ เวลานั้นท่านอธิการบดี คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี บอกว่าทางธรรมศาสตร์จะต้อนรับเอง ฉันก็ไม่ออกความเห็น ไม่คัดค้าน ที่ธรรมศาสตร์ทำบุญ 50 วัน 100 วัน ฉันก็ทำบุญที่วัดพนมยงค์ ทางธรรมศาสตร์เขาก็ทำให้เต็มที่ เขาให้นักศึกษาติดแผ่นป้ายสีดำ ๆ แล้วแจกกลอนของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธ [สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ] ท่านเขียนกลอน “ชูดี” แหม ซึ้งเหลือเกิน

สารคดี : อาจารย์ปรีดีเขียนพินัยกรรมไว้หรือเปล่า

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่มีพินัยกรรม เคยแต่เขียนว่า ถ้าภายหน้ามีทรัพย์สมบัติอะไรก็จะยกให้ฉันคนเดียว และสั่งด้วยปากเรื่องเผาศพให้เผาให้ละเอียด

สารคดี : อาจารย์ปรีดีสนิทกับท่านพุทธทาส

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็รู้จักกันดี ไม่ถึงกับสนิทอะไร เคยนิมนต์มาสนทนาธรรมกันสมัยสงคราม เมื่อท่านมาแสดงธรรมที่มหามกุฎฯ ก็ไปฟัง และนิมนต์มาที่ทำเนียบท่าช้าง และเคยขอให้ท่านพุทธทาสตั้งสำนักสงฆ์เช่นเดียวกับสวนโมกข์พลารามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่มาเกิดรัฐประหาร 2490 จึงทำให้โครงการนี้ต้องล้มเลิกไป

สารคดี : กับท่านปัญญาฯ ก็คุ้นเคยกัน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็เคยมาเยี่ยมกันที่บ้าน ที่ปารีสน่ะ ท่านก็ไปต่างประเทศกันบ่อย ๆ สมเด็จพระพุฒาจารย์ [อาจ อาสโภ] วัดมหาธาตุ (พระพิมลธรรม) ก็สนิทกัน เมื่อเราประสบเคราะห์ท่านก็มาเยี่ยม บอกว่า อาตมาไม่ห่วงหรอก ท่านรัฐบุรุษ เพราะท่านรู้จักธรรมะ ห่วงท่านผู้หญิง พอมาเห็นแล้ว บอกไม่ต้องห่วง ท่านก็อุตส่าห์มาเยี่ยม สมเด็จฯ วัดสระเกศ [สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)] ก็ไปสองครั้ง แล้วท่านเจ้าคุณประยุทธ์ [สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)] เวลานั้นตามไปด้วย

ฉันจากเมืองไทยไป 17-18 ปี ไป พ.ศ. 2501 กลับ พ.ศ. 2518 คนแรกที่ฉันไปกราบคือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธ [สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ] ท่านไม่ได้รับที่กุฏิ แต่ออกรับในพระอุโบสถ ท่านให้เกียรติเราทั้งที่ขณะนั้นเราไม่มีเกียรติอะไรแล้ว  พระท่านยุติธรรม เที่ยงธรรม ไม่เชื่อคำพูดที่กล่าวหาเรา พระท่านปัญญาสูง คนที่เชื่อคือคนที่ไม่ใช้สติประกอบด้วยปัญญา

 

พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 182 เมษายน 2543

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: