สัมภาษณ์คุณสุดา พนมยงค์
สุเจน กรรพฤทธิ์ : สวัสดีครับ สวัสดีอาจารย์สุดาด้วยนะครับ วันนี้พอดแคสต์ของสารคดี-เมืองโบราณเป็นวาระพิเศษนะครับที่เราร่วมมือกับสถาบันปรีดี พนมยงค์นะครับ เป็นซีรีส์เกี่ยวกับ 2475 เป็นเรื่องราวของคณะราษฎรส่วนหนึ่งอย่างที่ผมเรียนไปใน EP. 1 ครั้งที่แล้วเราได้เกริ่นไปแล้วว่าอาจารย์ปรีดีคือใคร ช่วงสุดท้ายของชีวิตท่านอยู่ที่บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศสก็เป็นข่าวเกรียวกราวในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาว่ามีนักการเมืองไทยคนนึงถ้าออกชื่อเลยก็คือ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปซื้อบ้านไว้บ้านอองโตนีกลับมาสู่มือของคนไทยอีกครั้ง เราก็ยังไม่รู้ว่าจะกลายเป็นสถานที่หรือกลายเป็นพิพิธภัณฑ์
แต่ว่าวันนี้ทางรายการได้รับเกียรติอย่างมากจากอาจารย์สุดา พนมยงค์ ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของอาจารย์ปรีดีแต่ว่าเป็นลูกสาวคนที่ 2 ขออนุญาตเรียกแบบง่ายๆ อาจารย์สุดาชีวิตของท่านเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย แน่นอนล่ะว่าที่ท่านเป็นลูกของอาจารย์ปรีดีเป็นลูกของรัฐบุรุษอาวุโส ท่านได้ผ่านเหตุการณ์หลายๆ อย่างในชีวิตของท่านด้วยจากมุมมองของลูกด้วย วันนี้เราก็จะมาขออนุญาตเรียนถามอาจารย์สุดาว่า ทั้งเรื่องบ้านอองโตนีและประสบการณ์ของอาจารย์สุดาเอง อาจารย์ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาหลายๆ เรื่อง เวลาเราศึกษาเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ช่วงที่อาจารย์ปรีดีลี้ภัยเป็นช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 หลังเดือนพฤศจิกายนเนี่ยครับ อาจารย์สุดาตอนนั้นผมเข้าใจว่า อาจารย์ยังเล็กมากเป็นเด็กมากๆ อาจารย์จำเหตุการณ์ตอนที่ทหารเอาปืนมาบุกทำเนียบท่าช้างได้ไหมครับ อยากให้อาจารย์เล่าให้คนรุ่นหลังฟัง
สุดา พนมยงค์ : พอจำได้ค่ะแต่ก็ต้องเท้าความไประหว่างสงครามนิดหน่อยเท่านั้นนะครับ เพราะมีอะไรเชื่อมโยง คือพอดีพอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วญี่ปุ่นบุกขึ้นมาตอนนั้นอายุ 7 ขวบ พอจะจำได้ว่า มีความรู้สึกไม่ชอบใจเลย ว่าทำไมทหารต่างชาติเข้ามาเดินเพ่นพ่านอยู่ในแถวกรุงเทพฯ ในประเทศไทย ข้อที่ 1 แล้วสัมพันธมิตรก็เริ่มทิ้งระเบิด แล้วตอนนั้นจำได้ว่า คุณพ่อหรืออาจารย์ปรีดียังพักอยู่ที่บ้านส่วนตัวที่ถนนสีลม ตอนนั้นก็คือมีหลุมหลบภัยก็จำความได้ว่าเอามาทำเป็นเนินดินแล้วก็ขุดลงไปเป็นหลุมหลบภัยที่สนามหญ้านี่ก็เรื่องนึง พอเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ย้ายไปอยู่บ้านประจำตำแหน่งก็เป็นทำเนียบ ที่เขาเรียกกันว่าทำเนียบท่าช้าง
ตอนนั้นสิ่งที่จำได้คือ สัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดที่สถานีบางกอกน้อย แล้วก็เราก็ต้องลงไปอยู่ใต้ดินเหมือนกัน แล้วก็ตอนแรกก็รู้สึกพอทิ้งเสร็จเครื่องบินสัมพันธมิตรก็ไป ก็ออกมาดูก็รู้สึกตกใจมาก เพราะว่าอย่างกับไฟไหม้ขนานใหญ่ที่ฝั่งตรงข้าม คือที่นั่นเพราะเดี๋ยวมันจะเกี่ยวแต่ตอนที่เกิดรัฐประหาร 2490 ตกใจตื่นขึ้นมาแล้วมีความรู้สึกดังนี้ค่ะว่าสงครามเสร็จสิ้นแล้วไม่ใช่หรือแต่ทำไมได้ยินเป็นเสียงระเบิดแบบชนิดที่ไม่รู้จักว่าเป็นปืนชนิดใด แต่ความรู้สึกของเด็ก เขาคงต้องใช้อาวุธหนักเข้ามายิงที่ตัวตึกของตัวอาคารของบ้านของบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามก็เลยไปเชื่อมโยงกับเรารู้จักเสียงจากสงคราม อันนี้ก็เหมือนเป็นสงครามฟังเสียงดูแล้วมันน่ากลัวเหมือนสงคราม
แล้วก็ตอนหลัง เอ่อคุณพ่อของปรีดิวิชญ์ (ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์-กองบรรณาธิการ)กับคุณแม่ก็มาบอกพวกเราทุกคนลงนอนราบกับพื้นเพราะเราไม่รู้ว่าเกิดอยู่ๆ จะมายิงอย่างนี้จะเป็นอันตรายไงก็สำหรับตอนนี้ก็อายุ วัยสักเท่าไหร่ช่วงปี 2490 อายุไม่ค่อยมากเกิด เกิดปี 2477 อายุ 13 สมัยสงครามมันก็อยู่ใกล้ๆ กันตอนนั้นมันหลังสงครามไม่นาน แล้วก็เลยเอาว่าไม่ใช่แต่ว่าก็ตกใจแล้วก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมเขาจะมายิง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์ครับ มันมีฉากนึงถ้าใครได้อ่านงานเกี่ยวกับท่านผู้หญิงพูนศุขที่เขียนในชีวประวัติท่าน คุณแม่อาจารย์เดินไปบอกทหารว่า “...มาเปลี่ยนรัฐบาลอะไรที่นี่ให้ไปเปลี่ยนที่สภาฯ” อาจารย์รู้ไหมครับว่าคุณแม่เดินออกไปตอนนั้น
สุดา พนมยงค์ : คุณแม่ก็ให้เราอยู่ในห้องนอนไม่ให้ขยับเขยื้อนไปไหน แล้วคุณแม่…พอเสียงปืนสงบลง พวกทหาร ผู้บังคับบัญชามาแล้วคุณแม่ก็เลยลงมาพบ แล้วมาถามว่าทำไมถึงได้มาโจมตีแบบนี้ คนนั้นก็ตอบว่าเราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล คุณแม่ถามว่าทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาฯ ล่ะ อันนี้คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เรียนไม่จบมัธยมปลายด้วยซ้ำแต่ก็มีเหตุผลเข้าใจเหตุผล แล้วก็มาพูดซึ่งหน้ากันต่อหน้าต่อตาเลยต่อว่ากันแบบนี้ไม่ได้กลัว คุณแม่จะเป็นคนในใจบางทีที่ก็ต้องทุกคนก็มีความหวาดกลัวได้นะคะแต่เวลาที่จะเผชิญหน้ากับคนที่ไม่หวังดีจะกล้ามากเลยเพราะถือว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไรเราอยู่ในฝ่ายเป็นธรรมจะใช้ศัพท์นี้ฝ่ายถูกต้องนะคะ
พอรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่าไม่ได้เจอหน้าคุณพ่อแล้วเพราะว่าออกไปแล้วตามที่คุณแม่เขียนไว้แล้ว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : แล้วในส่วนลูกๆ พอคุณพ่อออกไปคุณแม่ทำยังไง
สุดา พนมยงค์ : ก็รู้สึกตกใจแล้วก็กลัว เราเป็นเด็กเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา แล้วพ่อแม่เราล่ะจะโดนอะไรบ้างเป็นความรู้สึกกลัว อันนี้ยังจำได้ถึงความรู้สึกกลัว แม่ใช้คำพูดนี้ “ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” ก็เป็นความจริงแล้วทำไมมาทำผู้หญิงกับเด็กมีลักษณะไร้มนุษยธรรมขอใช้ศัพท์นี้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ทีนี้หลังจากเหตุการณ์นั้นอาจารย์ได้ตามคุณพ่อไปเมืองจีนเมื่อไหร่ นานไหมครับกว่าจะได้เจอ
สุดา พนมยงค์ : นานค่ะนาน คุณแม่ก็ดูแลให้เรียนหนังสือให้จบมัธยมปลาย หลังจากนั้นเห็นว่าชอบทางด้านดนตรีก็เลยสนับสนุนโดยทุนส่วนตัวก็ส่งไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างเมื่ออายุ 17-24 ก็ 7 ปีด้วยกันหลังจากนั้นมันก็ 2500 นะคะ คุณแม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยหลังจากไปอยู่กับคุณพ่อที่เมืองจีน แล้วมีโอกาสกลับเมืองไทยก็เพราะว่าคุณยายของคุณแม่มีอายุมากแล้ว คุณแม่ก็อยากที่จะได้ออกมาพบแล้วก็มาอยู่เมืองไทยแล้วตอนหลังพอดี เอ๊ะเหมือนกับมีช่วงหนึ่งเหมือนกับสถานการณ์ดีขึ้นแล้วคุณแม่ก็เลยกลับไปเมืองจีนเพื่อไปเยี่ยมคุณพ่อ
ส่วนดิฉันเองนั้นจากประเทศฝรั่งเศสก็เตรียมที่จะกลับเมืองไทยมาทำงานทำการสอนดนตรีแล้วก็ไปแวะเยี่ยมคุณพ่อ ก็คิดว่าจากนั้นจะกลับกรุงเทพฯ แต่ก็เกิดรัฐประหาร และไม่เพียงแต่ว่าเป็นผู้ที่เขาสงสัยแต่อยู่ในหมายจับเลย โดนหมายจับเลยมีชื่ออยู่ในนั้นเลย (ข้อหา-กองบรรณาธิการ) กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร คุณพ่อคุณแม่บอกอย่าเพิ่งกลับไปเลยอยู่ต่อก็แล้วกัน
ในฐานะที่คุณพ่อได้รับการต้อนรับจากประเทศจีนมีบ้านพักให้อยู่แต่ตอนนั้นย้ายมาอยู่ที่นครกวางโจวแล้ว เป็นบ้านพักเหมือนกลุ่มบ้านพัก คือมีอาคารส่วนตัวหน่อยก็ให้ครอบครัวเราอยู่ แล้วมีอาคารใหญ่หน่อยก็เป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกสมัยนั้นเขาเรียก
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คอมมิวนิสต์
สุดา พนมยงค์ : คุณพ่อเห็นว่าการเรียนไม่มีวันจบสิ้น ก็บอกว่าในระหว่างรอนี่ก็ไปขอเรียนเพิ่มเติมที่สถาบันดนตรีที่ปักกิ่ง สองคน (สุดาและดุษฎี พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) คนนึง(ดุษฎี พนมยงค์-กองบรรณาธิการ)ไปเรียนเอกขับร้องอยู่ที่สถาบันนั้นซึ่งจำปีไม่ได้แล้ว สมัยนั้น ภาษาจีนตอนนั้นจำได้ว่าเขามีชั้นเรียนสำคัญคนจีนหรือคนต่างประเทศก็ได้ที่จบอะไรแล้วหน่อยเขาเรียก 进修班 (หลักสูตรทบทวน) เป็นโครงการต่อเนื่องจากสิ่งที่เราเรียนจบมาแล้ว ก็ได้รับความรู้มากมาย
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ดนตรีในจีนกับดนตรีในยุโรปต่างกันไหม
สุดา พนมยงค์ : ดนตรีมันต่างกันนะ ดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีตะวันตก ตอนนั้นไม่มีดนตรีร็อคไม่มีอะไรแบบนั้น ดนตรีตะวันตกของเขาจึงเป็นดนตรีที่เขาเรียกว่าคลาสสิค แล้วของจีนเขามีประวัติมาแล้วเพราะว่าชาติตะวันตกถึงไม่ได้เอาเมืองจีนเป็นอาณานิคม แต่มีการไปเช่าซื้อใช่ไหม เขตเช่า เช่น นครเซี่ยงไฮ้ เทียนสิน ที่เทียนสินมีสถาบันดนตรีที่เก่งมาก และตอนหลังเขายุบให้มาอยู่ที่ปักกิ่งซะ ถูกต้องหรือเปล่า แล้วตั้งเป็นสถาบันดนตรีระดับสูง ซึ่งตอนนั้นขอเล่าหน่อยพอเข้าไปถึงก็ได้ยินว่าเป็นนักเปียโนจีนอายุเพียง 18 ปี ได้รางวัลที่ 2 ที่การแข่งขัน Tchaikovsky International Competition ที่มอสโก ได้ที่ 2 แต่ทำไมเรารู้สึกว่าเก่งเพราะอายุ 18 เท่านั้น แล้วคนที่ได้ที่ 1 ต่อมาเขาเป็นนักเปียโนเอก เป็นคนอเมริกันซึ่งอายุมากกว่าตั้งเยอะ เพราะฉะนั้นก็ตื่นเต้นดีว่า โอ้โห เมืองจีนนี่เขามีนักอะไรต่ออะไรเก่งทั้งนั้นเลย นักเปียโนก็เก่ง ต่อมาก็มีนักเปียโนเก่งๆ อีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ที่สามารถออกไปได้รางวัลระดับโลก
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อยากเรียนถามว่า ชีวิตประจำวันของคุณพ่อในเมืองจีนเป็นอย่างไรบ้างเท่าที่อาจารย์เห็น คุณพ่อทำอะไรบ้าง
สุดา พนมยงค์ : อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : หมายถึงว่ามีความเครียดไหมเพราะว่าต้องลี้ภัย ต้องจากบ้านมา
สุดา พนมยงค์ : แน่นอนว่าก็ต้องมีเพราะว่าเกิดเป็นคนไทย ยิ่งเป็นคนไทยมีชีวิตที่อยู่กับดินมาเพราะว่าครอบครัวก็ทำนา คุณพ่อก็ติดดินมาเรียนหนังสือมาแบบเด็กไทยโรงเรียนวัดอย่างนี้ โดยเฉพาะมีความรู้สึกผูกพันกับอาชีพทำนา แล้วก็ทราบว่าลำบากแค่ไหน ก็คิดถึงอยู่ แต่ไม่ได้คิดถึงในแง่ที่ว่ามันสบาย แต่คิดถึงว่ามันจะทำอะไรให้แก่ประเทศไทย แต่จะไม่มีโอกาสแล้ว แกเป็นคนไม่เครียดนะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : บ่นกับลูกๆ ไหมครับ หรือไม่คุยเรื่องการเมืองกับลูก
สุดา พนมยงค์ : คุยบ้าง ให้ความรู้บ้างแต่ไม่มีอาการเครียด มันทำให้พวกเราจะคิดอยู่เสมอว่าถ้าเจออะไรนิดนึงถ้าบ่น คุณพ่อจะบอกว่ามีคนลำบากมากกว่าเรา ให้รู้สึกอย่างนี้ตลอดเวลาเลย แล้วก็อยู่ได้ปรับตัวได้ แล้วพอดีคุณแม่ไปอยู่ด้วย มีลูกไปอยู่ด้วย ตอนแรกก็มีดุษฎีกับวาณีก่อน แล้วตอนหลังก็ศุขปรีดา และก็สุดา
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เห็นว่าอาจารย์ต้องไปทำงานด้วยใช่ไหมครับ
สุดา พนมยงค์ : ที่เมืองจีนไม่มีโอกาสทำ รู้สึกว่าเขาคงสงวนอาชีพมากเหมือนกัน และเขาต้อนรับเราในฐานะแขกต่างประเทศ แต่พวกน้องเขาไปฝึกทำงานเพราะว่า เขาเรียกหลักสูตรของประเทศจีนตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นมัธยมเลือกตามความสะดวกว่าให้ไปฝึกทำนา ดุษฎี วาณีเพราะไปอยู่มัธยมฯ ของจีนส่วนสุดาถือว่าจบแล้วก็เลยไม่ต้องไป
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์สุดาได้ภาษาจีนด้วยไหมครับ
สุดา พนมยงค์ : ได้แบบงูๆ ปลาๆ ค่ะ อ่านก็ไม่ได้เขียนก็ไม่ได้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คุณพ่อถึงตัดสินใจย้ายไปที่ฝรั่งเศส อยากให้เล่าความเป็นมา
สุดา พนมยงค์ : อันนี้ก็คือว่าเริ่มต้น คิดว่าจากท่านผู้ใหญ่ของจีน เวลาเชิญไปทานข้าวหรือไปพบคุยกันถามทุกข์สุขอะไรอย่างนี้แล้ว ก็ขึ้นไปปักกิ่งแล้วท่านก็พูดขึ้นเองว่ามาอยู่ที่นี่นานแล้ว อยากไปไหนบ้างไหมไม่งั้นตอนแรกเมืองจีนปิดมากเลยนะ เป็นประเทศที่ปิด เราจะเข้าไปได้ก็คุณแม่นำร่องเข้าไปนั้นก็ไม่ใช่ง่ายๆ ก็ติดต่อลำบากก็เลยเมื่อพูดอย่างนี้ พอดีไปตรงกับการที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของฝรั่งเศสไปประเทศจีนและได้ขอพบแล้วก็เมื่อพบแล้วท่านผู้นั้นก็ได้พูดทางวาจาว่าอยากจะไปฝรั่งเศสไหม แล้วก็เลยบอกว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากไป เขาก็เลยสั่งการให้เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศจีนให้ช่วยอนุญาต ให้ออกไป
คนฝรั่งเศสนี่ก็แปลกดีเหมือนกันนะถ้าเราไปในวงการ วงการศึกษา วงการราชการ เขารู้จักปรีดี พนมยงค์ เช่น Georges Picot (ท่านที่นายปรีดี ไปเซ็นแก้ไขสนธิสัญญาด้วยในปี 1937-กองบรรณาธิการ) ท่านผู้นี้เคยเป็นผู้เซ็นสัญญาด้วยแต่เขาก็เคารพสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สมัยนึงที่นายปรีดีเซ็นสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับพวกประเทศต่างๆ ก็มีประเทศฝรั่งเศส แต่แทนที่เขาจะโกรธแต่เขากลับรู้สึกนับถือแล้วก็พูดจาดีว่าถ้าท่านอยากไปประเทศฝรั่งเศสก็เชิญนะแล้ว เดี๋ยวไปขออนุญาตผู้ใหญ่ทางฝรั่งเศสแล้วก็สั่งการมาก็เลยมีคนไปติดต่อกับสถานทูตฝรั่งเศส หนังสือเดินทางก็หมดอายุแล้ว ของคุณพ่อก็หมดอายุแล้ว
ก่อนอื่นจีนอนุญาตมีใบออกให้ ฝรั่งเศสก็มีเป็นหนังสือที่เรียกว่าหนังสือผ่านแดนให้ไปได้แล้วก็เลยไปแล้วทางนั้นก็พอดีบิดา (ปาล พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) ของปรีดิวิชญ์ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้ว แล้วก็ช่วยติดต่อเยอะแยะเลยที่ว่าจะเงินจะทำยังไง เมื่อไปถึงจะให้ทำอย่างไรดี
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์สุดาต้องเตรียมอะไรบ้างในส่วนที่อาจารย์ทำครับ
สุดา พนมยงค์ : ที่จะเตรียมไป ก็ไปติดต่อให้เขาเซ็นใบอนุญาต เอกสารก็สำคัญที่สุดแล้วค่ะ เรื่องอื่นก็ไม่ต้องเตรียม
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่องที่คนรุ่นผมนึกไม่ออกครับ จากเมืองจีนที่ปิดมากไปฝรั่งเศสนี่ไปอย่างไรครับ
สุดา พนมยงค์ : ก็ขึ้นเครื่องบินไป
สุเจน กรรพฤทธิ์ : บ้านอองโตนีได้มาอย่างไร
สุดา พนมยงค์ : ตอนนั้นคุณปาล พนมยงค์คนเดียวกันที่ช่วยอยู่ พอดี(ปาล พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) ก็ไปสมัครเรียนระดับปริญญาเอกที่นั่น ก็มีความรู้เยอะแยะเกี่ยวกับเรื่องทางด้านกฎหมายการซื้อบ้านกันอะไรต่ออะไรแล้วก็เลยบอกไปเห็นว่ามีบ้านขายที่เมืองอองโตนีนะที่เราเรียก คนไทยก็อาจจะเรียกแอนโทนี ทีนี้เพราะว่าพ่อของสองคนนี้ก็เนื่องจากไปเป็นนักศึกษาทำปริญญาเอกอยู่ที่เขาเรียกว่ากลุ่ม กลุ่มที่พักหอพักสำหรับนักศึกษาแต่พอดีเขามีครอบครัวแล้ว ดีค่ะที่นั่นเขาก็มีห้องพักสำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่หน่อยแล้วนี่ไม่ใช่ปริญญาตรีคือ ปริญญาเอกก็เลยมีห้องให้พักอยู่ในหอพักนั้น แล้วคุณปาลก็บอกงั้นก็เลือกบ้านที่อยู่ใกล้หอพักจะได้ติดต่อกันสะดวก…
แล้ว (ปาล พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) ก็เป็นคนจัดการให้เสร็จเพราะในเมืองฝรั่งเศสการซื้อขายบ้านโดยเฉพาะครั้งอองโตนีที่คุณพ่อ (ปรีดี พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) จะมาอยู่แล้ว จะต้องมีพิธีการตามกฎหมายอะไรเยอะไปหมด แล้วคุณพ่อ…คนนี้(ปาล พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) ก็คล่องแคล่วเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วก็แปลกใจภาษาอังกฤษเขาเรียกอะไรนะ Public Monetary
ที่ดูแลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ พอบอกว่าคนที่จะมาซื้อชื่อปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้นั้นบอกว่า ตอนผมทำปริญญานะได้อ้างอิงงานของท่านก็เป็นที่รู้จักคือ คนฝรั่งเศสเขาได้ใช้ เขาเขียนเกี่ยวกับกฎหมายฝรั่งเศสก็เลยอยู่ที่บ้านอองโตนีแต่ตอนนั้นของคุณพ่อพอมาถึงก็ต้องอยู่ในห้องชุดก่อนแล้วถึงจะย้ายไปอยู่ที่อองโตนี อยู่ห้องชุดไม่ถึงปี แล้วก็ย้ายไปอยู่อองโตนีจนเสียชีวิต
สุเจน กรรพฤทธิ์ : บ้านอองโตนีมีคนบอกว่า มีเงินเยอะหรือถึงไปซื้อ อยากให้อาจารย์สุดาพูดถึงตรงนี้ครับ
สุดา พนมยงค์ : เดี๋ยวให้ดุษฎีพูด จะทราบว่าเป็นบ้านจะค่อนข้างเล็กๆ นะคะ มีไม่กี่ห้อง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ผมเห็นจะมีการอ้างอิงงานชิ้นนึงของคุณสุภา ศิริมานนท์ เรื่องความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีสฯ ดูเหมือนว่าชั้นที่เป็นหัวใจของบ้านคือ ชั้นล่างใช่ไหมตครับที่เป็นห้องครัว ผมไม่รู้จะเรียกว่าห้องครัวไหมครับ
สุดา พนมยงค์ : ที่จริงมันยกพื้นขึ้นมาหน่อย หมายความว่าที่เมืองฝรั่งเศสเขาจะมีแบบนี้ด้วยค่ะเขายกพื้นขึ้นมาหน่อยให้เป็นห้องที่เป็นที่พักอาศัยจริงแล้วก็ชั้นล่างลงไปก็จะเป็นเตาไม่ใช่หุงต้ม เตาต้มน้ำเพราะว่าเป็นระบบส่งเป็นท่อน้ำร้อนขึ้นไป แล้วก็เป็นห้องซักผ้าด้วยนะ ที่อยู่ก็ขึ้นบันไดยกพื้นขึ้นไปเป็นชั้น ชั้นอะไรก็ไม่รู้ค่ะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ห้องที่เราเห็นภาพบ่อยๆ ห้องที่คนรุ่นหลังเห็นภาพบ่อยๆ ที่อาจารย์ปรีดีอยู่กับกองหนังสือเยอะมาก นั่นคือห้องสมุดใช่ไหมฮะ
สุดา พนมยงค์ : นั่งอยู่เป็นประจำในห้องสมุดแล้วจะมีประตูเข้าห้องนอน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ห้องนอนติดกันเลยใช่ไหมฮะ
สุดา พนมยงค์ : ห่างออกมา สมมติขึ้นบันไดขึ้นไปแล้วนะคะ ถ้าเลี้ยวขวาคือ ในห้องสมุดจะมีประตูเข้าห้องนอน ส่วนถ้าเลี้ยวซ้ายจะมีเป็นห้องนั่งเล่น ครัวก็ติดกับห้องนั่งเล่น เพราะว่าเป็นบ้านฝรั่งไม่ได้ทำครัวแบบจะมีกลิ่นอะไรมากนะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์สุดาอยู่ไหนของบ้านครับ
สุดา พนมยงค์ : อยู่ใต้ถุน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เหมือนคุณสุภาในเล่มนั้น[1] แกก็จะพาทัวร์ทีละห้องแล้วก็เดินอ้อมหลังบ้านแล้วก็ลงไปข้างล่างเห็นจะต้องมีการจัดเวรซักผ้ากันด้วยใช่ไหมฮะ
สุดา พนมยงค์ : แล้วก็เอาทุกอย่างลูกหลานก็ช่วยกันจัดเวรก็เป็นชั้นพื้นดินอย่างที่บอก พอเป็นชั้นที่พักก็ยกพื้นขึ้นมา เขาเรียกว่าอะไรอันที่จริงเป็นชั้นระดับพื้นดิน คนที่เป็นเจ้าของบ้านอาจจะสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คุณสุภาเขียนไว้ว่าเจ้าของเดิมก็เป็นคนฝรั่งเศสก็จัดสวนจัดอะไรไว้เป็นอย่างดี อาจารย์สุดาครับ อยากทราบว่าอาจารย์ปรีดีมีตารางประจำวันท่านทำอะไรบ้างครับ
สุดา พนมยงค์ : หลังอาหารเช้า ก็คือออกมานั่งที่โต๊ะที่เต็มไปด้วยหนังสือ นั่งคิดนั่งเขียนอะไร
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เห็นมีคนแวะเวียนไปหาอาจารย์ปรีดีบ่อยมากเลย กลุ่มคนที่ไปหาเยอะๆ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนใช่ไหมฮะ
สุดา พนมยงค์ : ส่วนใหญ่ก็ของงานหรือบางทีก็มีคนที่เขาไม่กลัวอะไร ที่เคยเป็นเพื่อนกับครอบครัวเรามาก่อน ก็ไปหาเพราะสภาพในเมืองไทยเหมือนว่าเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวแต่คนไม่กลัว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ตอนที่ท่านอาจารย์ป๋วยไปหาท่านอาจารย์ปรีดีคุณสุดาอยู่ไหมครับ ได้ฟังไหมครับว่าอาจารย์ป๋วยกับท่านอาจารย์ปรีดีคุยอะไรกัน
สุดา พนมยงค์ : ก็มาคุยกันที่ห้องนั่งเล่น คุยเรื่องบ้านเมืองมั้ง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรียนถามอาจารย์สุดาว่าที่จำได้ดีที่สุดเกี่ยวกับบ้านอองโตนีที่พอนึกแล้วภาพมันขึ้นมาเลยคือภาพไหนฮะ
สุดา พนมยงค์ : ภาพที่ได้อยู่ร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่แล้วก็พี่น้องที่บางคนก็พักอยู่ที่บ้าน บางคนก็ไปมาหาสู่อยู่ก็เป็นสภาพครอบครัวที่ไม่แตกแยกนะคะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์ปรีดีมีวี่แววว่าป่วยมาก่อนวันที่ท่านจะเสียไหมครับ
สุดา พนมยงค์ : ไม่มีค่ะ อ๋อ คืออย่างนี้บางทีก็มีป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมีคลินิกใกล้บ้านนี้บางทีท่านก็ไปอยู่ที่นั่น เพราะว่าวันที่เสียทุกทีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจะช่วยดูแลติดต่อเรื่องหมอเรื่องอะไรต่ออะไร แต่วันนั้นพอดีเข้าไปสอนในปารีสตามปกติอยู่แล้ว แต่ว่าตามปกติก็คือออกจากบ้านเร็วหน่อยไปแวะแถวร้านหนังสือบ้างถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย เอ๊ะ
พอไปถึงน้องที่เป็นลูกของคุณอาเขาก็นั่งอยู่แต่เขาพูดว่าอย่างนี้ค่ะกลับบ้านเร็วคุณลุงไม่สบายพูดอย่างนี้นะรีบจับแท็กซี่ไป ไม่ถามอะไรแล้วพูดคำนี้ไม่สบายมากนะรีบจับแท็กซี่ไปก็ไปที่คลินิกก่อน บอกคลินิกที่อองโตนีว่าจะมาเยี่ยมคนไข้ชื่อ(ปรีดี พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) เขาบอกไม่มี ไม่ได้มา ก็เลยไปหยอดตู้โทรศัพท์ หยอดเหรียญ ไปที่คลินิกก่อนนี้เขาก็ยังไม่พูดให้เรากลับบ้านเห็นประตูบ้านเปิดหมด อะไรเปิดหมดแล้วก็เดาได้ว่ายิ่งกว่าป่วยละ
(ปรีดี พนมยงค์-กองบรรณาธิการ)ใช้ชีวิตง่าย เรียบง่ายมาก ซื้อรถยนต์คันนึงไว้ให้น้องสาวขับรถพาไปบ้าง แต่บางทีไปเองบ้าง ตอนยังไม่มีรถยนต์ ที่บ้านรถการจราจรคนขับ ขับทางซ้าย เป็นหลัก ทีนี้เราจะเข้าเมืองเราต้องข้ามถนนไปอีกฝั่ง ก็ยังเคยพาคุณพ่อดูไฟแดงให้ดีๆ เดินข้ามถนนไปแล้วก็ขึ้นรถเมล์เข้าเมืองหาหมอบ้าง ไม่ได้มีอาการอะไร ระบบที่นั่นด้วยทำให้โรงพยาบาลอาจจะไม่มีคิวคือหมอนะคะ เขาก็ต้องเป็นหมอที่เรียนสำเร็จมาและได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แต่สามารถมีบ้านของตัวเอง มีห้องเช่าของตัวเอง ทำเป็นคลินิกส่วนตัวและเรียกมาที่บ้านได้ด้วย
ดังนั้น คุณพ่อก็ใช้วิธีนี้ถ้าไม่ได้เป็นอะไรมากถึงก็ไปอยู่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็จะใช้วิธีโทรศัพท์เชิญคุณหมอที่อยู่ใกล้ๆ ที่สุดก็เป็นหมอประจำตัวก็เลยอยากจะเล่าเรื่องๆ นึงพอคุณพ่อเสียชีวิตมักก็จะเป็นคนที่ติดต่อทางการติดต่ออะไรต่างๆ ก็เลยรีบโทรศัพท์หาคุณหมอที่เคยมาเป็นประจำให้ท่านมาเซ็นรับรองการเสียชีวิตโดยไม่มีเงื่อนงำโดยธรรมชาติ
สิ่งที่จะจำได้และจะไม่มีใครเหมือน คนที่จะเสียชีวิตภายในวินาทีเดียวจะไม่มีอีกแล้ว เพราะตามที่คุณแม่เล่าท่านก็นั่งเขียนหนังสืออยู่ ถอดแว่นตาวางปากกาแล้วพูดอะไรกับคุณแม่ซึ่งแม่จำไม่ได้แล้วก็ฟุบกับโต๊ะ เพราะฉะนั้นหมอซึ่งเขาไม่รู้จักว่าเราเป็นใคร เป็นคนไข้คนหนึ่งเท่านั้น พอท่านตรวจเรียบร้อยแล้วนะคะ ท่านก็เป็นคาทอลิกท่านก็ทำเครื่องหมายนี้นะคะ (กางเขน ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า-กองบรรณาธิการ) แล้วท่านพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสว่าเป็นการตายที่งดงาม เพราะท่านเห็นการตายมาเยอะ เสี้ยววินาทีจริงๆ เลย
แล้วมีหลานอยู่พอดีตอนนั้นเขาจบแพทย์แล้วใช่ไหม เขาจะช่วยทำ (CPR.-กองบรรณาธิการ) เขาไปช่วยทำแต่ไม่ได้แล้วค่ะแล้วพอฟุบก็ไม่ไหวถึงก็ค่อยๆ เอาลงมาให้ช่วยแต่เขาก็มีเจตนาดีที่จะช่วยนะคะ
ดุษฎีอยากจะให้เสริมก็คือว่า เราไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยนะคะ ฉะนั้นเราไม่ได้เงินใดๆ เลยแต่เราได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ เรียกว่าของพวกลูกบางคนก็ได้โดยไม่มีการหมดอายุ ของอาจารย์ปรีดีได้อิสสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดอยู่แล้ว[2] โรงเรียนนี้ชื่อว่าโรงเรียนอิสสริยาภรณ์[3] (Les maisons d'éducation de la Légion d'honneur) ฉะนั้น เขาเปิดรับแต่คนที่ได้อิสสริยาภรณ์ (ตุลยา พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) ก็เลยได้ไปเรียนที่นั่นจนจบมัธยมปลายก็เรียกว่าเป็นโอกาสดีได้ศึกษาในโรงเรียนที่ที่วิชาแข็งมาก แล้วก็เป็นเกียรติอย่างยิ่งด้วยเพราะในเมื่อพ่อได้รับเหรียญตราลูกก็มีสิทธิ์ที่จะเข้า
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คำถามสุดท้ายอยากให้อาจารย์สุดาถ้าจะพูดถึงอาจารย์ปรีดีอยากจะฝากอะไรถึงคนรุ่นหลังก่อนจะปิดรายการ
สุดา พนมยงค์ : จะฝากอะไรคนรุ่นหลังก็เก่งๆ กันทั้งนั้น ก็ให้ศึกษาให้รู้จักอาจารย์ปรีดีอย่างถ่องแท้ คิดอย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยพูดคือศึกษาแล้วก็คิดด้วยตัวเองด้วยว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ตอนนี้ก็ขออนุญาตจบก่อนนะครับเพราะว่าเดี๋ยวอาจารย์สุดาก็จะเหนื่อยแล้ว ขอบคุณอาจารย์สุดามากเลยครับ สวัสดีครับ
สัมภาษณ์คุณดุษฎี พนมยงค์
สุเจน กรรพฤทธิ์ : สวัสดีครับ ก็จะต่อเนื่องกับตอนที่แล้วนะครับ อันนี้ผมก็ต้องแนะนำวิทยากรก่อนนะครับ ก็ต้องกราบสวัสดีท่านที่นั่งอยู่กับผมนะครับ ก็ท่านจะเป็นที่รู้จักกันดีครับสำหรับคนที่อยู่ในวงการดนตรีคลาสสิคก็คือท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงก็คือคุณดุษฎี พนมยงค์ ผมคงไม่เล่าเรื่องนี้เยอะนะครับแต่ว่าอีกมุมหนึ่งเนี่ยครูดุษ นอกจากท่านจะเก่งเรื่องดนตรีคลาสสิคแล้ว อีกสถานะหนึ่งของครูดุษเป็นลูกของอาจารย์ปรีดี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็อย่างที่ผมเรียนไปเมื่อตอนที่แล้วนะครับ ก็คือท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสแล้วก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยของไทย
เราคุยกับอาจารย์สุดา พนมยงค์ไปเมื่อตอนที่แล้วนะครับถึงประสบการณ์ส่วนตัวของท่านในแง่ของที่เจอเหตุการณ์ทางการเมืองกับคุณพ่อ การไปอยู่เมืองจีนแล้วก็ไปอยู่บ้านอองโตนีที่เป็นประเด็นตอนนี้ที่ฝรั่งเศสนะครับ
วันนี้ก็ได้เรียนเชิญครูดุษ ผมขออนุญาตเรียกครูดุษนะครับ อยากฟังจากมุมของลูกสาวอีกคนหนึ่งว่าในมุมที่เราผ่านประสบการณ์ในช่วงผมเริ่มจาก start จากปี 2490 นะครับ ตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2490 อาจารย์สุดาเล่าให้เราฟังว่า มีทหารมาได้ยินเสียงรถถังเต็มไปหมดเลย ถ้าเป็นทางฝั่งประสบการณ์ของครูดูษ เราแตกต่างกันไหม สิ่งที่เราพบ ที่เราเจอ เราเห็นอะไรที่เหมือนพี่สาวไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ก็ไม่น่าจะแตกต่างนะคะ เรื่องเสียงที่ได้ยินแต่ว่าเนื่องจากที่เป็นเด็กตอนนั้นอายุประมาณ 8 ขวบตกใจตื่น แต่ว่าที่สำคัญก็คือว่าอยากจะพูดเสริมนิดหน่อยว่า เช้าวันนั้นใช่ไหม จริงๆ คือเกิดขึ้นวันที่ 8 พฤศจิกายนประมาณตี 1 ตี 2 ที่คุณแม่เล่าว่าแสงไฟจากรถถัง สาดเข้ามาในห้องนอนที่คุณแม่วันนั้นนอนแต่หัวค่ำเพราะว่าป่วย เพราะว่าไปทำฟันแล้วปวดฟัน ทีนี้หลังจากที่คุณแม่ได้มีการโต้เถียงกับนายทหารแล้วก็ยังมีอีกก็คือ ทหารก็เข้ามาจะตรวจค้นบ้าน อันนี้เป็นผู้มีพระคุณอีกท่านหนึ่งคือคุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ท่านก็พอรู้เรื่องเช้าท่านก็รีบมา ท่านไม่ได้อยู่ที่บ้าน ท่านก็ไปพูดกับนายทหารคนหนึ่งซึ่งต่อมาก็เป็นคนโด่งดัง ตอนนั้นท่านชื่อร้อยตรีสมบูรณ์ ชุณหะวัณ ตอนนี้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อ๋อ ก็คือชาติชายเหรอครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : เขาก็จะเข้ามาตรวจ คุณครูฉลบฯ ก็บอกว่าคุณจะเข้าไปตรวจภายในบ้านเราโดยพลการโดยไม่มีคนของเราไม่ได้ ใครจะไปรู้คุณอาจจะเอาสิ่งผิดกฎหมายมาวาง คือจำไม่ได้ก็ 8 ขวบแต่ว่าคุณครูฉลบฯ เล่าให้ฟัง ต่อมาก็คือเราก็ต้องถูกออกจากบ้านทำเนียบท่าช้าง ไปอยู่ที่ไหน หลายคนไม่รู้ ไปอยู่ที่บ้านท่าเกษมของเจ้าพระยารามราฆพ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อยู่ตรงไหนครับครู
ดุษฎี พนมยงค์ : อยู่ริมแม่น้ำ เดี๋ยวนี้เป็นที่เขาพิมพ์ธนบัตร โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย แบงค์ชาติก็ไปอยู่ที่นั่นแต่ก็อยู่ไม่กี่วัน ก็ย้ายไปอยู่บ้านคุณยายที่สีลมที่ชื่อว่าบ้านป้อมเพชร มีเพิ่มเติมนิดหน่อยเรื่องสงคราม พี่สาวไม่ได้เล่า
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อยากเรียนถามครูดุษเพิ่มว่าหลังคุณพ่อลี้ภัย คุณแม่กับลูกๆ เจอแรงกดดันเยอะไหมครับ ตอนนั้น
ดุษฎี พนมยงค์ : แรงกดดันจะเกิดขึ้นมากตอนกรณีสวรรคต เช่นว่าน้องสาววาณี พนมยงค์ อยู่ที่โรงเรียนก็จะมีเพื่อนนินทาอะไรอย่างนี้ เป็นต้น
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครับแปลว่าหลังรัฐประหารตอนอาจารย์ปรีดี คือเราไม่รู้ หรือรู้ไหมครับว่าคุณพ่ออยู่ที่ไหน
ดุษฎี พนมยงค์ : ไม่ทราบเลยจะมีช่วงนึงที่คุณแม่พาลูกๆ ไปที่สัตหีบ ไปพักอยู่ที่สัตหีบที่หาดทรายขาว รู้สึกว่าก็ไม่ได้พบคุณพ่อ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษได้พบคุณพ่ออีกทีเมื่อไหร่ครับ ไปเมืองจีนเลยใช่ไหมครับ ตอนนั้นไปเมืองจีนอย่างไรครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ก็ 3 แม่ลูกเรานั่งรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย 8 วันจากกรุงมอสโกไปถึงกรุงปักกิ่ง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ไปเริ่มจากรัสเซียเหรอครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : เดินทางจากปารีสไปสต็อกโฮล์ม จากสต็อกโฮล์มก็ไปเฮลซิงกิ เฮลซิงกิสมัยนั้นเมืองชื่อเลนินกราด ตอนนี้ชื่อเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็มามอสโก ทีนี้ก็นั่งเครื่องบินจากมอสโกแล้วก็นั่งรถไฟเข้าไป 8 วัน แล้วก็ถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของประเทศจีน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ตอนนั้นคุณพ่ออยู่ที่ไหนนะครับ ตอนไปเจอในเมืองจีน
ดุษฎี พนมยงค์ : คุณพ่อรอรับอยู่ที่สถานีรถไฟแล้ว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์ปรีดีมารอรับอยู่แล้ว คุณพ่อตอนนั้นมีความเป็นอยู่เป็นอย่างไรตอนที่เราไป ครูดุษจำได้ไหมครับว่าคุณพ่ออยู่อย่างไร ตอนที่เราเพิ่งไปถึง
ดุษฎี พนมยงค์ : อยู่ที่นั่นคืนเดียวหรือเปล่าจำไม่ได้แล้วก็เดินทางไปปักกิ่ง หนาวมากจำได้แต่ว่าหนาวมาก เพราะตอนนั่งรถไฟเราก็เห็นหิมะสูงเกิน 1 ฟุต มาถึงปักกิ่งก็หนาวมาก เวลาลมพัดทีหนึ่งก็หนาวมาก
สุเจน กรรพฤทธิ์ : บ้านที่รัฐบาลจีนจัดให้คุณพ่อใหญ่เล็กหรือใหญ่หรือยังไง
ดุษฎี พนมยงค์ : หลายหลังนะคะ หลังแรกที่ปักกิ่งก็ใหญ่พอสมควร ก็คงเป็นบ้านนายทุนเก่าอะไรที่เขายึดมา แล้วต่อมาก็ไปอยู่ที่กวางโจว กวางโจวบ้านหลังแรกที่ไปอยู่ก็บ้านที่อยู่หลังแรกก็คือบ้านผู้เชี่ยวชาญโซเวียต ที่เป็นเป็นตึกเป็นหลังๆ แล้วเขาก็ต้อนรับ หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่สถานกงสุลฝรั่งเศสประจำกวางโจว ก็เป็นบ้านมีบริเวณมีสนาม แล้วหลังจากนั้นก็จะมีเรื่องนิดหนึ่งคือ วันหนึ่งเติ้งเสี่ยวผิง ก็ชวนไปทานข้าวตอนนั้นเขาก็ใหญ่มาก ก็เห็นบ้านที่เป็นสถานกงสุลซึ่งก็ไม่เล็ก ทำไมอยู่บ้านเล็กคับแคบ เดี๋ยวผมจะจัดการย้ายให้ไปอยู่ที่ๆ เหมาะสมกับเกียรติของท่าน ก็ย้ายไปอยู่ที่สถานกงสุลของอังกฤษ ที่นี่ใหญ่มากเลย มีอาคารทั้งหมด 4 หลัง มีสนามใหญ่มีถนนมีรถจอดได้หลายคัน ก็อยู่จนคุณพ่อเดินทางกลับประเทศจีน ก็เดินทางจากเซี่ยงไฮ้ไปปารีส
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษครับแล้วโดยส่วนตัวครูดุษเองตอนอยู่เมืองจีน เห็นอาจารย์สุดาเล่าให้ฟังว่าเหมือนกันครูดุษเองก็ต้องไปเรียน ทำงาน อยากให้เล่าหน่อยครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : คือต้องบอกว่าจีนจะมีหลักสูตรว่าเด็กมัธยมจะต้องไปโรงงาน ทำงาน ไปทำนาไปโรงถลุงเหล็ก อะไรอย่างนี้ ทีนี้เราไม่ต้องไปก็ได้เพราะเราเป็นเขาเรียกว่านักเรียนต่างประเทศ แต่คุณพ่อบอกว่าไปดูเขาเถอะ ว่าไปดูชีวิตของคนที่เขาทำงาน คนที่เขายากจนมันเป็นยังไง เราก็เลยไป ซึ่งต่อมาอีก 20-30 ปีคุณพ่อบอกว่า เห็นไหมแรงงานเป็นบ่อเกิดในความไพบูลย์ แต่งานทำให้เรามีกินมีใช้ ก็เลยได้ไปทำ อย่างเช่นทำนาทำหลายหนนะคะ ปีหนึ่งอย่างน้อยก็ 2 หน ก็ตั้งแต่ปรับดิน ใส่ปุ๋ย ดำนา
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คือครูดุษไปทำอย่างนั้นเลย
ดุษฎี พนมยงค์ : กับน้องสาวชื่อวาณี ก็รู้สึกสนุกไม่ลำบาก กินก็กินเหมือนคนจีน เพียงแต่ตอนที่ใส่ปุ๋ย เราต้องเอาอุจจาระของคนไปเกลี่ยในหน้าดินแล้วเอาเท้าเหยียบเพราะฉะนั้นกลิ่นส่วนหนึ่ง เล็บเท้านี่เหลืองไปเลยขัดก็ไม่ออก
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ทำไมคุณพ่อถึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสครับ เท่าที่ครูทราบ
ดุษฎี พนมยงค์ : ก็เมื่อสักครู่พี่สาวก็ได้พูดแล้วว่า โจเอินไหลนี่แหละนายกฯ ของจีน เป็นคนชวนบอกว่าจะออกไปต่างประเทศ ไปผ่อนคลาย คุณพ่อก็เลยติดต่อกับทางประเทศฝรั่งเศสก็เลยได้รับสิทธิ์นี้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ในส่วนของครูดุษต้องเตรียมอะไรบ้างไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ไม่ได้ไปพร้อมกันค่ะ ตามไปทีหลังก็ไม่ต้องเตรียมอะไรเพราะว่าอย่างอยู่เมืองจีนเป็นนักเรียนเขาก็มีเงินเดือนให้ pocket money อะไรอย่างนี้ พอไปอยู่ฝรั่งเศสเราก็กินอยู่กันอย่างประหยัด พี่น้องทำงานทุกคนนะคะ พี่ชายบางคนก็เคยไปเสิร์ฟอาหาร แล้วก็พี่สาวกับน้องก็เคยไปทำงานต่างบ้าน เป็นเหมือนกับอะไรดี เป็นแม่ครัวหรือเป็นอะไร คือรับออเดอร์อาหารแล้วก็ทำแล้วก็ไปส่งก็มีรายได้ก็มีรายรับเพราะเราก็อยู่กันอย่างประหยัด
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คุณพ่อคุยเรื่องเมืองไทยให้ฟังบ้างไหมครับ หมายถึงว่าบ่นอะไรบ้างไหม
ดุษฎี พนมยงค์ : ไม่บ่น แต่ว่าก็ต้องคุย ยิ่งไม่ว่าจะเกิดกรณีอะไร ก็ตอนหลังมีช่วงกรณี 14 ตุลาคม มีหลานเขาแต่งงานพอดีก็มีคนไทยมาชุมนุมกัน คุณพ่อก็พูดแต่ว่าคุณพ่อจะพูดในสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง เพราะว่าคุณพ่อจะพูดอยู่เรื่อยไม่ใช่พูดกับลูกอย่างเดียว พูดกับทุกคนว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เนี่ยจะต้องศึกษาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เรียกว่า Authentic Document ไม่ใช่ว่าฟังเขาเล่ามาแล้วเราก็พูดต่อแล้วเราก็เชื่อ จริงๆ คุณพ่อก็พูดว่ามันเป็นหลักกาลามสูตร แต่ตอนนั้นเราไม่เข้าใจมาเข้าใจทีหลังว่าเป็นอย่างนี้นี่เอง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อยากให้ครูดุษเล่าเรื่องตอนซื้อบ้านอองโตนี เข้าใจว่าครูน่าจะรู้รายละเอียด
ดุษฎี พนมยงค์ : เรื่องซื้อบ้าน ครูสุดา ครูแป๋วเขาก็จะรู้ คือตอนนั้นอยู่กรุงเทพฯ ก็พูดถึงเรื่องเงินก็แล้วกันคือมีเพื่อนบ้าน 2 บ้าน ตอนแรกก็มีคนสนใจอยากจะซื้อเพราะอยู่ใกล้เคียงนี้เหมือนกัน แล้วเขาก็บอกว่ากลัวทางฝ่ายรัฐบาลเขาจะว่า เขาไม่กล้าซื้อ ทีนี้มีผู้ใจบุญเขาก็เห็นว่า เราก็บอกเขาตรงๆ ว่า…เราก็มากับทนายว่าต้องการเงินเพื่อจะไปซื้อบ้านอยู่ ก็มีผู้ใจบุญยังอยู่แถวนี้เขาก็ซื้อบ้านคือ ไม่ใช่บ้านนะอย่างใกล้ๆ ตรงนี้ก็เป็นเป็นที่ร้าง มีหญ้าขึ้น มีถนนดินลูกรัง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เราก็ใช้เงินก้อนนั้น ก็คือผ่านแบงค์ชาติซึ่งเข้าใจว่าตอนนั้นอาจารย์ป๋วยท่านเป็นผู้ว่าการฯ
ดุษฎี พนมยงค์ : ใช่ๆ แล้วก็มีลูกพี่ลูกน้อง ชื่อคุณประภาพิมพ์ ศกุนตาภัย เป็นคนช่วยติดต่อช่วยจัดการ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : แล้วก็ตอนที่ได้บ้านอองโตนีมาก่อนจะเข้าไปอยู่จะต้องจัดบ้านจัดอะไรเยอะไหมครับ หรือว่าบ้านเขาดีอยู่แล้ว เราเข้าไปอยู่ได้เลยครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ตอนที่ซื้อบ้านอองโตนีละเข้าไปอยู่นี่คุณพี่สุดาเขาเป็นคนจัดการ ตอนนั้นครูดุษกับน้องวาณียังอยู่ประเทศจีน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อ๋อ ตามไปทีหลัง แปลว่าพอเราไปบ้านก็เรียบร้อยแล้ว
ดุษฎี พนมยงค์ : ใช่ค่ะ ก็อยู่กันแบบจะเรียกว่า 3 ชั้นก็ไม่ใช่ ชั้นเดียวมากกว่า ก็มีชั้นใต้ถุนวางสิ่งของต่างๆ ซึ่งก็รกพอสมควร ก็มีชั้น 1 เป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ ห้องทำงาน ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องอเนกประสงค์ ซึ่งคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์พอเวลามาที่บ้านก็กางเตียงผ้าใบนอนที่ห้องนั้น แล้วก็มีห้องน้ำเล็กๆ ที่เล็กมาก ประตูห้องพอเปิดไปก็เฉียดกับโถชักโครกพอดีก็นึกภาพ เพราะฉะนั้นบ้านนั้น 100 กว่าตารางเมตรอย่างห้องคุณพ่อที่ว่าตายตรงนั้นก็แค่นี้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูครับอันนี้อยากรู้เกร็ดเล็กๆ นิดนึงครับ เราแบ่งห้องกันอย่างไร ตอนที่คุยกับอาจารย์สุดา อาจารย์บอกว่าอยู่ห้องใต้ถุน เราจับฉลากแบ่งกันอย่างไรครับว่าใครอยู่ตรงไหน
ดุษฎี พนมยงค์ : พี่สาวอยู่ใต้ถุน ตัวครูดุษอยู่บนหลังคา ห้องใต้หลังคา จะมีหน้าต่างเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ หลานเวลามาก็อยู่ห้องใต้หลังคา อยู่ตรงทางเดินด้วยซ้ำ แล้วก็น้องคืออาจารย์วาณีก็ห้องใต้หลังคา ก็อยู่สบายดีนะคะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เวลาแขกมา เขานอนตรงไหนครับ ถ้าไม่นับอาจารย์ป๋วยที่ไปผูกเปลผ้าใบ
ดุษฎี พนมยงค์ : แขกมา ห้องรับแขกก็นอนแล้วก็ห้องของหลาน คือห้องของหลานนะคะมันไม่ใช่เป็นห้องหรอก มันเป็นทางเดิน ทางเดินจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง ก็นอนกันตรงนั้น นอนกัน 6 คน ปูผ้าแล้วก็นอน เวลาใครจะลุกขึ้นเข้าห้องน้ำนะมีความแออัด แล้วคนอื่นหลับอยู่ต้องเดินข้าม ข้ามร่างของอีกคนไปถ้าเดินพลาดก็เหยียบเลย
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เคยเหยียบไหมครับครู
ดุษฎี พนมยงค์ : ก็น่าจะเคย พวกเขายังเด็กๆ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูครับแล้วชีวิตประจำวันอันนี้ต้องขออนุญาตเรียนถามเหมือนที่ถามอาจารย์สุดาครับ ในสายตาครู คุณพ่อทำอะไรบ้าง
ดุษฎี พนมยงค์ : เท่าที่รู้นะคะ ตื่นมาปุ๊บก็ไปนั่งที่ริมหน้าต่าง คุณแม่ก็เสิร์ฟน้ำชา คุณพ่อชอบทานชาจีน ทานน้ำชาเสร็จซักพักเปิดวิทยุฟัง Voice of America (VOA) ฟัง BBC และอีกหลายๆ ช่อง และอ่านหนังสือพิมพ์นี่ก็หมดเวลาแล้ว เช้าก็อาบน้ำหรือบางทีก็ไม่ได้อาบ อากาศหนาวจัด เสร็จแล้วก็ย้ายไปห้องรับแขกก็รับประทานอาหารเช้า ก็จะเป็นง่ายๆ ขนมปัง ไข่ดาว บางทีก็ข้าวต้ม ข้าวต้มขาวที่มีกับข้าว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ท่านเข้านอนหัวค่ำหรือดึก
ดุษฎี พนมยงค์ : เดี๋ยว…แล้วก็มีอาหารกลางวัน บ่ายก็ไปพักสักชั่วโมงหนึ่งก็ออกมาสนทนากับผู้มาเยือน ก็ดูโทรทัศน์ ดูข่าว ดูข่าวจน 2 ทุ่มก็เข้านอน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ก่อนที่จะอัดตอนนี้เหมือนกับครูดุษพูดว่าอาจารย์ปรีดีบางทีก็นั่งรถเมล์เข้าไปในเมือง
ดุษฎี พนมยงค์ : อ๋อ ลูกหลานเห็น ก็คือมีรถยนต์อยู่ 1 คันทั้งบ้าน ทั้งบ้านมีอยู่จริงๆ แล้ว 10 กว่าคนที่ครูดุษถึงได้เขียนว่าชุมชนแออัด
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อ๋อ เรียกว่าชุมชนแออัดอองโตนี
ดุษฎี พนมยงค์ : ก็มีรถยนต์ 1 คัน ชนมาบ้างอะไรมาบ้างก็ไม่ได้ซ่อมแซมให้ดีเท่าไหร่แต่ก็ยังพอใช้ได้ น้องสาวเป็นคนขับพาคุณพ่อไปนู่นไปนี่ แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะเข้าเมืองก็อาศัยบริการรถไฟใต้ดินเพราะว่าบ้านเราอยู่ไกล
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อาจารย์ปรีดีส่วนใหญ่ท่านเข้าเมือง ท่านไปคนเดียวไหมครับ ส่วนใหญ่มีใครไปด้วย
ดุษฎี พนมยงค์ : ไม่ได้ไปคนเดียว ไปกับคุณแม่
สุเจน กรรพฤทธิ์ : แล้วช่วงที่มีคนมาหา เราจะเห็นแขกไปใครมาผ่านฝรั่งเศสก็จะแวะไปหาอาจารย์ปรีดีเยอะแยะเลย ครูดุษมีความทรงจำเรื่องแขกอย่างไรบ้างครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : เดี๋ยวก่อน คนที่จะมาบางทีก็ต้องติดต่อตั้งแต่เมืองไทย
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อ๋อ โทรมานัดตั้งแต่เมืองไทยเลยใช่ไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ส่วนหนึ่งไปถึงที่นั่นแล้วก็โทรมานัด เพราะว่าบางทีคุณพ่อรับแขกคนอื่น ส่วนอีกคนก็ต้องเป็นอีกวัน เช่นอย่างตอนนั้นที่บอกคุณสมัคร สุนทรเวช แล้วก็อาจจะตาสว่างขึ้นหลังจากที่ได้สนทนากับคุณพ่อ คุณพ่อมีความเป็นครูอย่างยิ่งเลย เวลาสนทนากับใครก็มักจะตั้งเป็นคำถามไว้ให้เขาไปคิด บอกไม่ต้องเชื่อสิ่งที่คุณพ่อพูด ไม่ต้องเชื่อไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องเชื่อ ต้องไปคิดเอง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษครับเรื่องคุณสมัคร ผมว่าหลายคนอยากรู้ว่าคุณสมัครโทรมานัดเองเลยเหรอครับ จำได้ไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : จำไม่ได้แล้ว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : แล้วครูดุษจำได้ไหมครับตอนคุณสมัครมามีท่าทีเป็นอย่างไรบ้าง
ดุษฎี พนมยงค์ : ตอนมาเจอคุณพ่อก็คงท่าทีดีพอใช้ เพราะมิฉะนั้นก็คงไม่มา นั่นเป็นหลัง…
ดุษฎี พนมยงค์ : หลัง 6 ตุลาคม
สุเจน กรรพฤทธิ์ : แล้วอันนี้เป็นเกร็ดที่ผมเพิ่งทราบเหมือนกันครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : แล้วก็มีอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. แล้วที่สำคัญลูกศิษย์ที่เป็นเตรียมธรรมศาสตร์ ก็ไปกันเยอะแล้วก็ลูกหลาน ลูกหลานบางคนไปฝรั่งเศสก็ไปขอพักที่บ้าน ไปขอนอนด้วยแล้วเวลาแขกมานะคะ คุณแม่ก็จะเป็นคนจัดรายการอาหาร หลายคนบอกยังจำได้ว่าข้าวคลุกกะปิของบ้านนี้อร่อย เป็นต้น คุณแม่จะเป็นคนจัดหมดเลยส่วนวันธรรมดาทานข้าวกันก็ 10 กว่าคนนะคะ โต๊ะทานข้าวนี่นั่ง 10 คนเบียดกันเต็ม คุณสุภา ศิริมานนท์อยากจะไปพบคุณพ่อนานแล้วเพราะเป็นศิษย์ที่เคารพนับถือคุณพ่อมากท่านก็ได้โอกาสแล้วท่านก็ไป ท่านกลับ 7 วันก่อนคุณพ่อเสีย
สุเจน กรรพฤทธิ์ : เข้าใจว่าน่าจะเป็นแขกคนสุดท้ายใช่ไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : น่าจะๆ แล้วก็ได้เรื่องราวอะไรมาเยอะ เพราะว่าคุณพ่อก็คุยด้วยเยอะแล้วก็รูปถ่ายสุดท้าย ข้างหลังเป็นรูปตู้หนังสือถ่ายโดยคุณสุภา ศิริมานนท์
สุเจน กรรพฤทธิ์ : วันที่คุณพ่อท่านอสัญกรรม ครูดุษอยู่ที่ไหนครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : อยู่เมืองไทยมันก็มีเหตุการณ์ที่ต่อมาวิสา คัญทัพเขียนบทกลอน มีก็เหมือนไม่มีประวัติศาสตร์บทนั้น ก็คือว่าพอดีพาพี่สาวคนโตไปเที่ยวชายทะเลกลับมาถึงก็เกิดพายุหมุนแล้วก็แผ่นดินไหว พอสงบก็ไม่ได้ไหวมากหรอกเมืองไทย แต่มันก็เอ๊ะทำไมมึนๆ ทำไมบ้านโคลงเคลงก็เลยจับไม้กวาดมากวาดฝุ่น ขณะกวาดฝุ่นเสียงโทรศัพท์ดัง น้องสาวที่ชื่อวาณีก็โทรมาบอกคุณพ่อเสียแล้ว ดูนาฬิกาก็เมืองไทยนะคะ ก็ 5 โมงครึ่งประมาณนั้น
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษบินไปทันทีเลยไหมครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : บินรุ่งขึ้น ไปกันหลายคนมีท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่านเป็นรองอธิการบดีฯ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-กองบรรณาธิการ) ณ ขณะนั้น
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษผมอยากเรียนถามว่าบรรยากาศงานศพเป็นอย่างไรบ้างครับที่ฝรั่งเศส คนมาร่วมงานเยอะไหมหรืออย่างไรเผื่อเด็กรุ่นหลังจะได้รู้ด้วยครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : เยอะมาก คือคนฝรั่งเศสก็อย่างเช่นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ส่งพวงหรีดมาแล้วก็ผู้ใหญ่หลายคนของฝรั่งเศส คนไทยก็นักเรียนไทยก็เยอะมากค่ะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ผมจะเห็นภาพในหนังสือเก่าๆ ว่ามีท่านปัญญานันทภิกขุไปด้วย
ดุษฎี พนมยงค์ : อันนี้เป็นเรื่องบังเอิญ คือจริงๆ ก็เป็นกัลยาณมิตรกันอยู่ ทีนี้ท่านรับนิมนต์ไปอังกฤษ ท่านไม่ได้ตั้งใจจะไปฝรั่งเศสตอนนั้น แล้วพอทราบข่าวว่าคุณพ่อเสีย ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัฒนก็เลยรีบช่วยจัดการให้ท่าน ทำวีซ่าฝรั่งเศสได้ภายในวันนั้น แล้วก็รุ่งขึ้นมาพร้อมพระลูกศิษย์ลูกหาในพิธีฌาปนกิจท่านก็เป็นประธาน
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ช่วงหลังพอบ้านอองโตนีอันนี้ก็อย่างที่ผมเข้าใจว่าครูดุษก็ทราบข่าวดีว่าถูกซื้อโดยคนไทยตอนนี้คุณธนาธร ครูดุษมองเหตุการณ์นี้อย่างไรที่บ้านอองโตนีกลับมาเป็นของคนไทย
ดุษฎี พนมยงค์ : ก่อนจะเล่าเรื่องนี้ ขอเล่าเรื่องที่เหลือเชื่อคือคุณพ่อพูดอยู่เสมอว่าสิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์เราต้องไม่เชื่อคือ พอดิฉันไปเป็นวันรุ่งขึ้นที่คุณพ่อเสีย คุณแม่ก็บอกว่าไหนๆ ก็เป็นลูกที่ไม่ได้อยู่ใกล้มีอีกคนคือศุขปรีดา พี่ชายอยู่ฮ่องกง เขาก็บินไปช้ากว่าครูดุษหนึ่งวัน คุณแม่ก็บอกว่าเอาอย่างนี้ให้ลูกคนนี้ไปนอนข้างเตียง ศพคุณพ่ออยู่บนเตียง ดิฉันก็นอนอยู่ข้างเตียง เอ๊ะ กดไปที่เท้าไม่แข็ง มองไปที่ริมฝีปากหนวดยาวกว่าเก่า แล้วก็ดูที่เล็บก็รู้สึกว่าเอาศพนอนไว้บนเตียง ประมาณ 5 วัน เล็บก็ยาว ก็ถามผู้รู้ถามหมอเขาบอกว่าคนเราเมื่อตายแล้วเซลล์จะตายทีหลัง พอมานึกดูเป็นเมืองไทยคงขอหวยกันไม่ไหวก็เป็นเรื่องที่เล่าสนุกๆ แล้วเมื่อกี้จะถามอะไร
สุเจน กรรพฤทธิ์ : จะเรียนถามว่าครูดุษมองยังไงที่บ้านอองโตนีกลับมาเป็นของคนไทย
ดุษฎี พนมยงค์ : คือจริงๆ บ้านนี้คุณแม่ขายไปในราคาค่อนข้างถูก เพราะเหตุผลที่ว่าคุณแม่จะกลับมาอยู่เมืองไทย 3 ปีหลังจากคุณพ่อเสียไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ ก็เป็นคนเวียดนามเขาซื้อไป เขาอยู่มานานกว่าเราเขาอยู่ 30 กว่าปี ในที่สุดเขาก็แก่ตาย
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ผมฟังของทางคลิปของคุณธนาธรกับอาจารย์ปิยบุตรเขาจะบอกว่า ท่านผู้หญิงบอกคนเวียดนามคนนั้นไหมครับว่าถ้าจะขายบ้านให้ถามคนไทยก่อน
ดุษฎี พนมยงค์ : ไม่รู้จักค่ะ คุณแม่ไม่รู้จักคนนั้น แต่อาจจะเคยปรารภกับเพื่อนคนไทยอะไรอย่างนี้ คือจริงๆ เรียนให้ทราบความจริง ตอนที่คุณพ่อเสียแล้วในช่วง 3 ปี มีคนไทยติดต่อผ่านครูดุษก็เคย ไม่เอ่ยชื่อ ว่าอยากจะซื้อ บางคนอยากจะซื้อทำหอพัก ทำห้องสมุด ทำพิพิธภัณฑ์แล้วแต่เขา แต่เสร็จแล้วทุกคนก็บอกกลัวทหารอีกเหมือนกัน มีคนๆ หนึ่งเขามีสตางค์ก็เงียบไป หญิงชราคนนี้เขาก็อยู่มาอายุ 95-96 ก็เสียชีวิต
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษอยากเห็นบ้านอองโตนีเป็นยังไงต่อไปในอนาคตสำหรับโดยส่วนตัวครูดุษเอง
ดุษฎี พนมยงค์ : โดยส่วนตัวนะคะ บ้านต้องทำให้มีชีวิต แล้วก็บ้านต้องส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมความยุติธรรม คือคุณพ่อเคยเขียนจดหมายถึงลูกชายคนหนึ่ง ปาล พนมยงค์บอกว่า พ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่พ่อเขียน ข้อเขียนทั้งหลายของพ่อหวังว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่ให้คนรุ่นต่อไปศึกษาและเรียนรู้ และถ้าเห็นว่าข้อไหนดีและถูกต้องก็ทำ เพราะฉะนั้นก็หวังว่าบ้านหลังนี้จะมีอนาคตที่สดใส แล้วคนก็จะตาสว่างขึ้นถ้าเผื่อเขาได้ไปในเห็นในสิ่งที่…คือเดี๋ยวนี้…เรื่องไม่จริงมันเยอะ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : อันนี้ต้องขออนุญาตเรียนถามครูดุษคือในช่วงวิกฤตการณ์เมืองช่วง 20 ปีที่ผ่านมามันมีการกลับมาโจมตีคณะราษฎรซึ่งอันนี้แน่นอนว่าต้องกระทบกับอาจารย์ปรีดีหรือกระทั่งครอบครัวจอมพล แปลก พิบูลสงครามหรืออะไรก็แล้วแต่อันนี้ครูดุษมองสถานการณ์ปัจจุบันเป็นยังไงครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : คือจริงๆ การที่เขาโจมตีคณะราษฎร 2475 มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรมันเป็นเรื่องเก่า เรื่องราวมันก็เรื่องเก่าๆ มันไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะฉะนั้นแล้วในส่วนของคณะราษฎรเองก็ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรผิดพลาดคุณพ่อก็พูดอยู่เสมอใช่ไหมละ ว่าตอนนั้นก็อายุก็ยังน้อยอยู่อายุ 32 เพราะฉะนั้นในสิ่งเหล่านี้สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็รู้สึกว่าความจริงมันต้องปรากฏว่าไม่ช้าก็เร็ว แล้วก็คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่อง 2475 มากกว่าเก่ามากขึ้น มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เขาได้นำทั้งสิ่งที่ดีไปพัฒนาสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องก็นำไปปรับปรุง เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ การที่เดี๋ยวนี้เด็กอายุไม่เท่าไหร่ก็จะมาถามเรื่องจดหมายอะไรอย่างนี้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ต้องเรียนถามครูดุษคิดยังไงกับเรื่องข่าวจดหมายปรีดีครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ค่อนข้างรู้รายละเอียดนอกเรื่องนิดหน่อย คือมีคนไทยคนหนึ่งเขาไปที่หอจดหมายเหตุฯ ฝรั่งเศส เขาไปเห็นเอกสารแผ่นเป็นแฟ้มเขียนว่า ‘เอกสารประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์’ คนนั้นก็เอามาเล่าให้เพื่อนฟัง ทีนี้ในหมู่คนที่ฟังเรื่องนี้ก็จะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง คิดว่าจะต้องมีเรื่องลี้ลับเกิดขึ้น จะต้องมีพินัยกรรมซึ่งปรีดีไม่มีสมบัติจะเอาพินัยกรรมที่ไหน ส่วนอีกพวกหนึ่งก็อาจจะไม่ค่อยเชื่อว่าเกิดอะไรก็เลยเป็นเรื่องตื่นเต้นบอกว่าปี 2024 จะเกิดจะมีการเปิดวันที่ 1 มกราคมเป็นวันหยุด วันที่ 2 ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งไปรออยู่ที่หน้าหอจดหมายเหตุฯ ขณะนี้คนไทยที่มีความรู้เรื่องภาษาฝรั่งเศสดีมากเขากำลังแปลอยู่ใกล้จะเสร็จ เขาบอกว่าไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องลี้ลับที่ชวนให้ทุกคนแบบตื่นเต้นตกใจ คิดว่าบางคนอาจจะคิดว่าเป็นความลับที่ปรีดีกุมเอาไว้แล้วจะเปิดเผย ไม่มีเลยเท่าที่คนนั้นเขาแปลนะคะ
เขาบอกเป็นเรื่องเอกสารระหว่างคุณพ่อกับกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสโต้ตอบกันจะออกมาเมื่อไหร่ ถึงเมื่อไหร่ ทำอะไรยังไงบัตรที่จะได้รับคืออะไรอย่างนี้ต่อมาก็ถึงเรื่องลูก 2 คน ที่ยังไม่ได้กลับออกมาก็จะกลับออกมาอะไรอย่างนี้ จะออกไปอยู่ฝรั่งเศส ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องลี้ลับอะไรเลย คนเขาเชื่อตามๆ กันไป ก็ดีเหมือนกันทำให้คนได้ตื่นเต้นซักพัก ไม่งั้นอยู่เฉยๆ ไม่มีเรื่องตื่นเต้น
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ที่เขาบอกว่าอะไรนะครับ รัสเซียเดอปรีดีเป็นจดหมายที่อาจารย์ปรีดีสั่งความ คือในนั้นไม่มีอะไรอย่างนั้นนะครับอาจารย์
ดุษฎี พนมยงค์ : โดยนิสัยส่วนตัวของคุณพ่อ คุณพ่อเชื่อในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เคยพูดใส่ร้ายใครเพราะฉะนั้นที่จะว่าให้เขียนว่าคนโน้นว่าคนนี้ก็คงไม่ทำ เราครอบครัวเราเชื่อแต่แรกแล้วว่าไม่มีอะไร
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษครับในฐานะลูกของอาจารย์ปรีดีมองเหตุการณ์คนโจมตีคณะราษฎร บางทีก็ไปว่าจอมพล แปลกบ้าง มาว่าอาจารย์ปรีดีบ้าง อย่างกับล่าสุดก็มีการ์ตูนอะไรออกมาโกรธไหม หรือว่าครูดุษมองเรื่องนี้อย่างไร
ดุษฎี พนมยงค์ : เอาเรื่องการ์ตูนนะคะ ใครอยากทำอะไรก็เชิญทำไป เพราะเขาทำแล้วเขาเหนื่อยเอง เราอย่าคิดว่าเรื่องอะไรก็ตามคนสมัยนี้ เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้มีเหตุผลกว่าคนรุ่นเก่าเยอะเพราะฉะนั้นก็ไม่เดือดร้อนแต่บางทีมันก็กระทบเหมือนกันมีคนมาพูดว่าเขาว่าอย่างนี้ๆ คุณพ่อเปรียบเสมือนปลาหมึกแดงอะไรทำนองนั้นแต่ก็ไม่เคยไปอ่านไม่เคยไปดูนะ แล้วถามคนที่เขาอ่านเขาก็บอกว่าไม่น่าสนใจ
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ครูดุษรู้สึกว่าเหมือนกับว่าในฐานะเป็นลูกอาจารย์ปรีดี คือเป็นลูกนายกฯ ในช่วงนึงไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ครูดุษนิยามชีวิตที่ผ่านมายังไงบ้างครับ
ดุษฎี พนมยงค์ : ทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับชีวิตของเรา ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงใบไม้ใกล้ฝั่ง ความจำก็เริ่มเลอะเลือนเพราะฉะนั้นทุกสิ่งมันเป็นบทเรียนซึ่งบทเรียนนี้มันทรงคุณค่า ให้มันบังเอิญที่เราเป็นลูกคุณพ่อชื่อปรีดี คุณแม่ชื่อพูนศุข ตรงนี้ต้องพูดเรื่องดีเอ็นเอนิดหน่อยเพราะมีทั้งของคุณพ่อและคุณแม่อยู่ในตัวก็ไม่รู้สึกอะไร
สุเจน กรรพฤทธิ์ : คำถามในส่วนบ้านอองโตนีครูดุษได้พูดไปแล้วแต่ถ้าใครศึกษาเรื่องอาจารย์ปรีดี ครูดุษอยากจะบอกอะไรกับเด็กรุ่นหลังไหมครับ คนที่จะมาศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นหลังจากนี้
ดุษฎี พนมยงค์ : คนรุ่นใหม่ต้องมีวิจารญาณในการรับฟัง ในการอ่าน ในการมองเห็นสิ่งต่างๆ แล้วต้องเปรียบเทียบว่าอะไรถูกต้องไม่ถูกต้องมิฉะนั้นสังคมมันจะพัฒนาต่อไปได้ก็เพราะว่ามีสิ่งนี้ คือต้องใช้สมอง
สุเจน กรรพฤทธิ์ : ตอนนี้ก็ขอขอบคุณครูดุษฎี พนมยงค์ ขอบคุณมากครับ
ผู้สัมภาษณ์: สุเจน กรรพฤทธิ์
วันที่ 4 พฤษภาคม 2567
[1] หนังสือความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ โดยสุภา ศิริมานนท์
[2] นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเครื่องอิสสริยาภรณ์ Ordre national de la Légion d'honneur ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสที่มอบเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบแก่ทหารและพลเรือน
[3] Les maisons d'éducation de la Légion d'honneur เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาของฝรั่งเศสที่ก่อตั้งโดยจักรพรรดินโปเลียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงที่มีบิดา ปู่ หรือทวดได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส