ข้อมูลจากหนังสือ “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
เราอาจจะเคยได้ยินชุดคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” กันคุ้นหูคุ้นตา บางคนอาจจะทราบว่ามันคือคำขวัญปรัชญาหลักแห่งชาติของฝรั่งเศส “Liberté, Égalité, Fraternité”
สำหรับคำว่า “เสรีภาพ” และ “เสมอภาค” นั้นเรานึกออกว่าแปลว่าอะไรหรือหมายถึงอะไร แต่สำหรับ “ภราดรภาพ” นั้นเป็นคำที่ไม่คุ้นหูเอาเสียเลย
คำว่า Fraternité ถ้าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัว อาจจะมีคนใช้ว่า Fraternity หรือ Brotherhood ซึ่งหมายถึงความเป็นพี่น้อง แต่ถ้าในความหมายที่ตรงกับหลักการแล้ว “ภราดรภาพ” นั้นคือ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หรือ Solidarity ในภาษาอังกฤษ
มีคำอธิบายของนายปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือ “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ซึ่งเป็นการขยายความปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ถึงความสำคัญของคำว่า “ภราดรภาพ” ว่า เป็นเพราะ “...มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์คนอื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้น เพียงแต่มนุษย์มีความอิสระและมีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอ คือจำต้องมีการช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้องด้วย...”
ในหนังสือเล่มเดียวกัน ได้อธิบายคำนี้ไว้ว่า ...หากถามว่า ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) มีความหมายว่าอย่างไร สำหรับคนทั่วไปอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เมื่อกล่าวในแง่ของกฎหมายหรือหลักทางนิติศาสตร์ นักนิติศาสตร์จะคุ้นเคยกับหลักที่สำคัญประการหนึ่งกล่าวคือ หลักการในเรื่องหนี้ร่วม หรือการเป็นลูกหนี้ร่วมเจ้าหนี้ร่วมกัน เดิมในกฎหมายโรมันเรียกลักษณะการเป็นหนี้เช่นนี้ว่า in solidum กล่าวคือการที่บุคคลหลายคนมีฐานะเป็นลูกหนี้ในหนี้รายเดียวกัน เพราะฉะนั้น เขามีหน้าที่ที่จะชดใช้หนี้ และเมื่อลูกหนี้คนใดคนหนึ่งได้ทำการชดใช้หนี้ไป ก็นับเป็นการชดใช้แทนลูกหนี้รายอื่นทั้งหมด ลักษณะอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่า การกระทำของลูกหนี้คนหนึ่งกระทำการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ร่วมทุกคน... ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า ภราดรภาพนิยมจึงเป็นความคิดที่ค่อย พัฒนามาจากหลักทางนิติศาสตร์ เข้าสู่วิชาการทางสังคมศาสตร์ และเข้าสู่หลักการทางปรัชญาในที่สุด...
ภราดรภาพคือหลักการว่ามนุษย์เราทั้งหลายล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียว ภายใต้หลักการว่าการกระทำของเราแต่ละคนมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่น และในทางกลับกันความเสี่ยงภัยและความรับผิดชอบของเราจะต้องสูงขึ้นหากมีผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพราะนั่นเป็นไปได้ว่าความทุกข์ยากของเขานั้นอาจจะมีส่วนมาจากการกระทำของเราเช่นกัน
ความคิดเรื่องภราดรภาพนี้มิใช่ปรัชญา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นเพียงวาทกรรม หากหลักการนี้เชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์เราอย่างแท้จริง จากการศึกษาจิตวิทยาด้านวิวัฒนาการในระยะหลังได้ค้นพบว่ามนุษย์เรามีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและผูกพันกับคนอื่น ในทางชีววิทยาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนอื่น ออกซิโทซินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขจะหลั่งออกมา ส่งผลให้เราวิตกกังวลน้อยลงและมีสมาธิดีขึ้น การพูดคุยกับคนอื่นส่งผลดีต่อร่างกายโดยตรงด้วยผลของฮอร์โมนนั้น
น่าทึ่งกว่านั้นคือในสมองของเรา มีเซลส์ประสาทอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็นกลุ่มประสาทกระจกเงา (The Mirror Neuron)* ซึ่งจะเป็นประสาทที่รับรู้ถึงความรู้สึกและประสาทสัมผัสของผู้อื่นได้
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า เมื่อเราได้รับความเจ็บปวด เช่นถูกเข็มตำ เซลส์ประสาทในศูนย์ควบคุมความเจ็บปวดในสมองจะถูกกระตุ้น และหากมีการแสกนดูจะเห็นว่าเซลส์กลุ่มนั้นสว่างขึ้น
แต่เรื่องน่าแปลกคือ เมื่อใดก็ตามที่เราได้เห็นภาพของคนอีกคนหนึ่งได้รับความเจ็บปวด เช่นเห็นคนอื่นถูกเข็มตำ เซลส์ประสาทกลุ่มนี้ก็จะมีปฏิกิริยาสว่างวาบขึ้นมาราวกับเราถูกเข็มตำจริง ๆ ทั้งที่เราไม่ได้ถูกเข็มตำเอง นี่คือคำตอบว่า ทำไมเมื่อเราเห็นภาพอันหวาดเสียว เช่นคนประสบอุบัติเหตุในคลิปหรือในโทรทัศน์ ในบางครั้งเราจึงมีความรู้สึก “เจ็บ” ราวกับความเจ็บปวดในจอภาพนั้นถ่ายทอดออกมาได้จริง ๆ นี่คือผลของเซลส์ประสาทกระจกเงา ที่อาจจะเป็นสิ่งยืนยันว่ามนุษย์นั้นมี “ภราดรภาพ” เป็นธรรมชาติติดตัวเผ่าพันธุ์ของเรามาแล้วโดยกำเนิด
เรื่องที่ว่าที่แท้แล้วมนุษย์เราแท้แล้วมีความเชื่อมโยงถึงกันและต้องพึ่งพากัน ดังเป็นเนื้อเป็นกายและจิตเดียวกันนี้ได้รับการกล่าวถึงทั้งในคำสอนของศาสนา อยู่ในแทบทุกวัฒนธรรม ไปจนถึงหนังสือแนว How to และจิตวิทยาเชิงบวกยุคใหม่
ซึ่งยืนยันว่ามนุษย์นั้นมี “ภราดรภาพ” เป็นธรรมชาติติดตัวเผ่าพันธุ์ของเรามาแล้วโดยกำเนิด
* ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องของ “เซลส์ประสาทกระจกเงา” นี้ได้ในบทความ The Mirror Neuron Revolution: Explaining What Makes Humans Social จาก Scientific American
(https://www.scientificamerican.com/article/the-mirror-neuron-revolut/)