ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติภาพชายแดนใต้: ระหว่างความหวัง ศีลธรรม และเสียงที่กำลังถูกปิด

5
พฤษภาคม
2568

Focus

  • สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยึดหลักการเช่นเดียวกับนายปรีดี ในประเด็นสันติภาพและทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคือ การเปิดพื้นที่เจรจา แต่ควรจะสร้างระบบในการรับฟังเสียงของทุกฝ่าย โดยยึดหลักศีลธรรม เพราะหากเงียบต่อเหตุการณ์ที่กำลังขึ้นสันติภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

ในช่วงต้นปี 2568 เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาสั่นสะเทือนสังคมไทยอีกครั้ง การลอบยิง การโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้นำศาสนา เกิดขึ้นถี่ขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง การสูญเสียไม่เพียงสร้างความเศร้า แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพอย่างลึกซึ้ง

ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และพรรคการเมืองบางกลุ่มพยายามทวงคืนพื้นที่ให้กับแนวทาง “สันติวิธี“ ยืนยันว่าการเจรจาคือเครื่องมือเดียวที่จะยุติวังวนของความเกลียดชัง แต่สิ่งที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ การที่กลุ่มเหล่านี้ถูกโจมตี ถูกแปะป้ายว่าเป็น “แนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ” เพียงเพราะเสนอให้ใช้การพูดคุยแทนการใช้ปืน

ขบวนการสุดโต่งบางกลุ่มยังได้ใช้ปฏิบัติการ IO อย่างเป็นระบบ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ปั่นกระแส และสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เพียงบั่นทอนความพยายามของผู้ทำงานด้านสันติภาพ แต่ยังมุ่งหวังผลทางการเมืองที่ผู้รักในสันติธรรมและประชาธิปไตยควรจับตาอย่างใกล้ชิด

แถลงการณ์ของพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ความรุนแรงต่อพลเรือนไม่เพียงละเมิดหลักศาสนาและสิทธิมนุษยชน แต่ยังบ่อนทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยอาวุธ ในขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่อาจนิ่งเฉย ปล่อยให้โต๊ะเจรจาหยุดชะงักโดยไม่มีทิศทาง

ในท่ามกลางกระแสสุดโต่งที่กำลังปั่นกระแสโจมตีผู้เสนอแนวทางสันติภาพ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เปิดเวทีเสวนา PRIDI Talks #30 หัวข้อ “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ: เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และความพยายามปิดปาก แต่สิ่งที่สถาบันทำคือการยืนหยัดในหลักการเดียวกับที่ปรีดี พนมยงค์ เคยยืนยันไว้

ศีลธรรมและสันติภาพในความคิดของปรีดี พนมยงค์

ย้อนกลับไปปี 2480 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์และจัดพิมพ์เอกสาร “ประเทศสยามผู้รักความสงบ” ซึ่งวางหลักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องตั้งอยู่บน “ธรรมะ” และเปรียบรัฐเสมือนบุคคลที่ต้องมีศีลธรรม ไม่ใช่คำนึงแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว

ท่านเชื่อว่าความยุติธรรมและการฟังเสียงประชาชนเท่านั้นที่จะสร้างความชอบธรรมในสายตานานาชาติและประชาชนของตนเอง

นอกจากนี้ ในงานเขียน “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ปรีดีได้เสนอวิสัยทัศน์สันติภาพแบบพุทธ ด้วยการอธิบายว่าสังคมที่กดขี่ เบียดเบียน ไม่ยึดธรรมะ จะเสื่อมและล่มสลายในที่สุด ส่วนสังคมที่มีเมตตา ภราดรภาพ และความเสมอภาคจะกลายเป็นรากฐานของยุคใหม่ — ยุคที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็น “ยุคศรีอารยเมตไตรย”

และในข้อเขียน “เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย” ปรีดีได้ย้ำว่า เอกภาพของชาติที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในรัฐนั้น ด้วยสิทธิ เสียง และความเป็นธรรม ท่านชี้ให้เห็นว่า การกดทับอัตลักษณ์ การละเลยความเหลื่อมล้ำ และการเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนจะผลักให้ “ความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องถิ่น” กลายเป็นแรงต้านรัฐส่วนกลาง

“เอกภาพที่ไม่มีประชาธิปไตยรองรับ ก็ลอยเคว้งอยู่ในอากาศ อาจหล่นลงหรือหายไปจากพื้นแผ่นดินได้ทุกเมื่อ”

สันติภาพในวันนี้ ต้องเริ่มจากการหยุดปิดปาก

บทเรียนจากปรีดี สะท้อนให้เห็นชัดว่า สันติภาพไม่ใช่เรื่องของการสงบแบบไร้เสียง แต่คือการสร้างระบบที่ฟังเสียงทุกฝ่ายโดยยึดหลักศีลธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ พื้นที่ซึ่งเปิดให้พูดเรื่องนี้จะถูกโจมตีมากที่สุด

เราต้องยืนยันว่า

  • การพูดถึงการเจรจา ไม่ใช่การทรยศชาติ
  • การวิจารณ์รัฐ ไม่ใช่การเข้าข้างผู้ก่อความไม่สงบ
  • การเรียกร้องให้ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่การบ่อนทำลายความมั่นคง

สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรา “เงียบ” แต่เกิดขึ้นเมื่อทุกฝ่ายกล้าพูด และกล้าฟังกันด้วยความเคารพ

นี่คือสิ่งที่นายปรีดีเคยยืนหยัด และนี่คือสิ่งที่เราต้องยืนหยัดเช่นกัน