บทสัมภาษณ์ครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2548
ช่วงปีพ.ศ.2490 ประเทศไทยยุคเผด็จการครองเมือง เหตุผลทางการเมืองหลายครั้งหลายคราทำให้คนในครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกให้ร้ายป้ายสี และรังแก จนจำต้องเดินทางออกนอกประเทศ ลี้ภัยไปพำนักยังดินแดนไกลบ้าน
ปลายปี พ.ศ.2495 ขณะที่ครอบครัวนายปรีดี ฯ อยู่ในระหว่าง ‘บ้านแตกแต่สาแหรกไม่ขาด’ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และบุตรชาย ปาล พนมยงค์ ถูกจับกุมในข้อหา ‘กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร’ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงถูกคุมขังไว้ที่กองสันติบาลหลังจากนั้นเป็นเวลา 84 วัน ส่วนบุตรชายถูกลิดรอนเสรีภาพอยู่ในเรือนจำลหุโทษและบางขวางต่อมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี
หลังจากได้รับอิสรภาพ ความอดทนจึงดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด ท่านผู้หญิง พร้อมด้วยลูกเล็กๆ ดุษฎี และวาณี ก็เดินทางไปสมทบกับนายปรีดี ณ จุดหมายปลายทางของการ ‘หนีร้อนไปพึ่งเย็น’ .....ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน.....
ธันวาคม พ.ศ.2496 จีนแดงก็ได้กลายเป็น‘บ้าน’ อีกหลังหนึ่งของครอบครัวเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2512 รวมเวลา 16 ปี
แม้ว่าวันนี้ลูกหลานไทยยุคใหม่จะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามหรือเรื่องราวของพวกท่าน แต่คนรุ่นเก่าไม่มีใครลืมเคราะห์กรรมแห่งชีวิตที่ครอบครัวหนึ่งต้องเผชิญอย่างแสนสาหัสครั้งแล้วครั้งเล่า บนผืนแผ่นดินที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ทว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุข และลูกๆ ได้รื้อฟื้นความทรงจำของชีวิตเสี้ยวหนึ่งที่ ‘บ้าน’ ในเมืองจีน เรื่องราวของพวกท่านกลับเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและความอบอุ่นอันน่าชื่นใจ.....
อยากจะให้ท่านผู้หญิงกรุณาเล่าถึงการเดินทางไปประเทศจีนในสมัยนั้นคะ
ท่านผู้หญิง : ไปประเทศจีนถึงเมื่อเดือนธันวาคม 2496 การเดินทางไปนี้แสนลำบาก เพราะเราไม่มีสัมพันธ์กันนะ ฉันต้องไปฝรั่งเศสก่อน จากฝรั่งเศสก็ไปสวีเดน ฝรั่งเศสก็ยังไม่มีทูตจีนตอนนั้น จะไปพบทูตจีนก็ต้องไปที่สต๊อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้ไปพบทูตจีนนะคะ และจากสต๊อคโฮล์มก็ไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ทูตจีนที่สตอคโฮล์มก็เป็นทูตที่เฮลซิงกิด้วย เขาก็ต้อนรับดี และจากเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ก็ขึ้นเครื่องบินไปมอสโคว์ อยู่ซักอาทิตย์นะ หน้าหนาวอากาศหนาวจัด จากมอสโคว์นั่งรถไฟสายเทรนไซบีเรียไปอีก 7 วัน 7 คืน จึงถึงชายแดนเมืองแมนจูลี ระหว่างทางผ่านไซบีเรียเห็นแต่หิมะขาวโพลนไปหมด ไปถึงเมืองแมนจูลีนายปรีดีก็มารับ เพราะได้นัดแนะกันไว้ก่อนแล้ว พักอยู่ที่แมนจูลีอยู่คืนเดียวก็เดินทางต่อไปปักกิ่ง
คนในรัฐบาลจีนที่มาให้ความช่วยเหลือคือใครคะ
ท่านผู้หญิง : ท่านทูตบอกว่า นายกโจวเอินไหลเป็นคนที่ช่วยเหลือให้เราได้ไปประเทศจีน พร้อมชี้ให้ดูรูปถ่ายที่ติดอยู่ในสถานทูต ว่าคนนี้แหละ
นายกฯโจวเอินไหลในความทรงจำของท่านเป็นคนอย่างไรคะ
ท่านผู้หญิง : เป็นสุภาพบุรุษที่มีน้ำใจดี ยินดีต้อนรับเรา ให้เกียรติเราทุกอย่าง ต้อนรับเราด้วยชีวปัจจัย ให้ที่อยู่นะคะ ให้อาหาร ให้เครื่องนุ่มห่ม แล้วก็ให้การรักษาพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ประจำตัวพร้อมทั้งคนขับให้อีก ให้บ้านอยู่ พร้อมทั้งหมด
ปรีดี พนมยงค์ กับนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล
เรียนถามทุกท่านเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองจีนสมัยนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ
ท่านผู้หญิง : เราอยู่อย่างสบาย เกรงใจเจ้าของบ้านเหลือเกิน รู้สึกไม่สบายใจว่าอยู่สบายกว่าคนจีนทั่วไป เขาเป็นผู้เสียภาษีอากร เป็นเจ้าของประเทศ ส่วนเราลี้ภัยไปอาศัยเขาอยู่ แต่กลับมีความเป็นอยู่อย่างดี จะไปโรงพยาบาลก็พิเศษ จับจ่ายซื้อของก็พิเศษ อะไรก็พิเศษไปหมด ไม่ต้องรอเข้าแถว พวกนี้ (ชี้ไปทางลูกๆ) รู้สึกอายเวลานั่งรถเก๋ง ลูกๆอายที่มีความเป็นอยู่พิเศษกว่าคนจีน
อ.ดุษฎี : ชีวิตความเป็นอยู่ต่างจากชาวบ้าน อยู่บ้านอย่างดี มีรถยนต์ มีพ่อครัว มีคนช่วยทำงานบ้าน มีคนขับรถ ชีวิตความเป็นอยู่เทียบเท่ากับระดับรัฐมนตรี เหมือนเป็นอภิสิทธิ์ชน ในขณะที่คนจีนสมัยนั้น ซื้ออะไรก็ต้องเข้าคิว อาหารทุกอย่างก็ต้องปันส่วนหมด ค่อนข้างอัตคัดขัดสน
ท่านผู้หญิง : ลูกได้เรียนฟรีหมด คือเขาไม่เก็บค่าเรียนเพราะเป็นนักเรียนต่างชาติ ลูกๆ ไม่ได้ใช้ชื่อไทย นี่ซาหนี ( อ.ดุษฎี 沙妮 ) นี่หวาหนี ( อ.วาณี 华妮 ) ของฉันนี่ เพ่ยซู ( 佩淑 ) นายปรีดี ชื่อปี๋หลี่ (比里 ) (หัวเราะอย่างเป็นสุข)
อ.ดุษฎี : ที่เมืองจีนมีร้านค้าพิเศษที่ขายสินค้าให้เฉพาะคนระดับรัฐมนตรี และคนใหญ่คนโตของจีนรวมทั้งชาวต่างชาติที่เป็นแขกของรัฐบาลจีน เราได้ใช้สิทธิ์นี้จับจ่ายซื้อของในร้านนี้เป็นประจำ
เมื่อย้ายจากปักกิ่งมาอยู่กว่างโจว ทางการจีนได้ให้พักบ้านที่เคยเป็นสถานกงสุลฝรั่งเศส เป็นบ้านตึกแบบฝรั่ง มีสนามและสวนดอกไม้หลังบ้าน ตั้งอยู่บนเกาะ ซาเมี่ยน (沙面) ซึ่งก่อนปลดแอก เกาะนี้เป็นเขตพำนักของชาวต่างชาติเท่านั้น
วันหนึ่ง ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ไปเยี่ยมคุณพ่อที่บ้าน พอไปถึงก็บอกว่าบ้านเล็กไม่สมฐานะ ให้ย้าย ซึ่งความจริงบ้านนั้นใหญ่พอสมควร มีสองชั้น 3 ห้องนอน มีห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องหนังสือคุณพ่อ ถ้าเป็นคนจีนก็อยู่ได้หลายครอบครัว
ท่านผู้หญิง : บ้านที่ย้ายไปใหม่เป็นอดีตสถานกงสุลอังกฤษ เป็นตึกใหญ่โตพร้อมสนามหญ้ากว้างขวาง นายปรีดีได้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกพืชผักสวนครัวที่นำเมล็ดพันธุ์มาจากเมืองไทย เช่นพวกพริกขี้หนู ตะไคร้ ใบโหระพา สะระแหน่ ฯลฯ หน้าบ้านมีทหาร (中国人民解放军 - จากกองทัพปลดแอก) เฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง
อ.ดุษฎี : ชีวิตในตอนนั้นสนุกสนานตามประสาวัยรุ่น แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น การใช้แรงงาน โชคดีของเราที่คุณพ่อเล็งเห็นว่า ลูกๆมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตติดดิน ก็เลยให้เราสองคน(อ.ดุษฎี และอ.วาณี)ไปใช้แรงงาน งานที่ทำมีหลายประเภท เช่น ไปขนถ่านหินลงจากรถไฟ กลับมาบ้านหน้าดำ ตัวดำเลย งานที่หนักที่สุด คือ ทำคันดินสำหรับปูทางรถไฟ ซึ่งต้องไปนอนค้างคืนที่ศาลเจ้าพร้อมนักเรียนจีน คืนหนึ่งตกดึกเนี่ย น้องวาณี (ตอนนั้นอายุประมาณ 15-16) ร้องไห้ลั่นเลย ช่วยกันเอาไฟฉายส่องดูปรากฏว่า เธอโดนตะขาบตัวเบ้อเริ่มกัด ขาบวม ต้องเอายาหม่องทาบรรเทาปวด จนรุ่งเช้าจึงได้ไปหาหมอ ส่วนการไปทำนา ไปหลายฤดูกาล ตั้งแต่ใส่ปุ๋ย เกลี่ยดิน ดำนา จนถึงการเก็บเกี่ยว ถึงเหนื่อยก็สนุกดี มีประสบการณ์หนึ่งก็คือ ถึงตอนใส่ปุ๋ยธรรมชาติ หรืออุจจาระ ปัสสาวะคนที่ต้องตักมาเกลี่ยใส่ท้องนา แล้วเอาเท้าเหยียบให้มิดเพื่อคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน กลางคืนกลับมาถึงที่พัก อาบน้ำล้างเท้าถูสบู่แล้วเล็บยังเหลืองอ๋อยอยู่เลย
คำโบราณเปรียบเปรยคนที่ฟุ้งเฟ้อ สำรวยว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ใช่มั๊ยคะ แต่นี่เราสองคนพี่น้องเหยียบขี้คนจนฝ่อเลยหละ (หัวเราะ)
อยากจะเรียนถามทุกท่านถึงความประทับใจที่มีต่อประเทศจีนคะ
ท่านผู้หญิง : ประทับใจมาก เพราะว่า เราหนีร้อนไปพึ่งเย็น เราก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วฉันเป็นพุทธศาสนิกชน สอนให้เราต้องมีความกตัญญูรู้คุณคนที่ทำคุณให้แก่เรา ฉันไม่เคยลืมประเทศจีน ไม่เคยลืมราษฎรจีน (น้ำเสียงสั่นเครือ) ราษฎรของเขาทั้งหลายที่เขาเสียสละให้เราได้รับความสุขสบาย แต่เราก็พยายามอยู่อย่างเรียบง่าย มัธยัสถ์เพื่อเราจะได้เข้ากับเขาได้
อ.ดุษฎี : ไม่เคยลืมบุญคุณครูอาจารย์จีน ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ได้ใช้เลี้ยงชีพอยู่จนทุกวันนี้ และประทับใจประเทศจีนสมัยโน้น สมัยที่เราอยู่ คนจีน ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง และก็ไม่มีอบายมุข สภาพของสังคม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อาจจะเพราะว่าเป็นสังคมนิยมก็ได้ และอีกอย่างหนึ่ง ประทับใจว่าคนจีนมีน้ำใจต่อกันและจริงใจ สังคมสมัยก่อนค่อนข้างสงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย สามารถออกไปเดินเล่นได้สบายตั้งแต่เช้ามืด เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว มีอันตรายรอบด้าน
อ.วาณี : ที่ประทับใจมากก็คือมิตรภาพ คำว่า ‘มิตรภาพ’ ‘โหย่วยี่’ (友谊) ตั้งแต่อยู่โรงเรียนมัธยม จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย เชื่อไหมคะ 40 ปี 50 ปี เพื่อนหลายคนยังติดต่อกันอยู่ บางคนอยู่ถึงซินเจียง บางคนอยู่ซ้านซี ก็ยังติดต่อกันอยู่ มิตรภาพที่ยังอยู่ยืนยงกันมา โหย่วยี่นี่ คือไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน มีแต่ความจริงใจความรักในเพื่อนฝูงด้วยกันอย่างบริสุทธิ์ใจ
ในวาระที่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนเวียนมาครบ 30 ปี ท่านมีความรู้สึกอย่างไร
อ.วาณี : ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนไม่ใช่เพิ่งจะมีตอนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นคนไปเปิดทางด้านการทูต ความสัมพันธ์นี้มันเหมือนกับสายธาร หรือสายน้ำที่สืบทอดกันมาระหว่างราษฎรจีนกับราษฎรไทย แต่สายสัมพันธ์นี้ถูกเหตุการณ์ทางด้านการเมืองมาบั่นทอน มาตัดสายธารนี้ ให้น้ำที่เคยไหลอย่างต่อเนื่องต้องหยุดไปบางช่วงบางตอน แต่ถึงกระนั้น ก่อนที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเปิดสัมพันธ์ไทยจีนก็ได้มีคณะ และบุคคลไทยต่างๆที่ได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 คณะศิลปินไทยโดยคุณสุวัฒน์ วรดิลก เป็นหัวหน้าคณะ ก็ไปเชื่อมสัมพันธไมตรี ซึ่งนายกโจวเอินไหลก็ให้การต้อนรับอย่างดีมาก แล้วหลังจากนั้นก็มี คณะนักกีฬาบาสเกตบอล และคนไทยอีกหลายคณะที่เปิดเผยบ้างและที่ไม่เปิดเผยบ้าง การเจริญสัมพันธ์ไทย-จีน ถ้าไม่มีการบุกเบิกโดยฝ่ายที่เรียกว่า 民间来往 (การไปมาหาสู่ระหว่างราษฎร) ก็อาจจะไม่มีวันนี้
อ.ดุษฎี : ไทย-จีนก็พี่น้องกันแหละ แยกกันไม่ออก แล้วก่อนที่ มรว.คึกฤทธิ์ได้ไปเปิดสัมพันธ์ จีนกับไทยมีการติดต่อกันมาตลอดโดยทางลับ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดเรื่องสัมพันธ์ไทย-จีน เราต้องไม่ลืมผู้บุกเบิก เช่น คุณสุวัฒน์ วรดิลก คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ครูบุญยงค์ เกตุคง พวกนักเขียน เช่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คณะนักกีฬาบาสเกตบอล นี่แหละ คนที่เชื่อมสัมพันธ์ตัวจริง เขาไปเชื่อมสัมพันธ์กันตั้งนานแล้ว ก่อนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตั้ง 20 ปี แต่ยุคนั้นเป็นรัฐบาลยุคตามก้นอเมริกันคัดค้านจีนใหม่ พวกเขากลับมาถูกจับหมดทุกคน ดังนั้น ขณะที่ระหว่างนี้เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็อย่าลืมบุคคลเหล่านั้นก็แล้วกัน
ภาษิตจีนมีว่า ดื่มน้ำแล้วอย่าลืมคนขุดบ่อน้ำฉันใด 饮水不忘挖井人 (หยินสุ่ยปู๋ว่างวาจิ่งเหริน) ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่พัฒนามาจนทุกวันนี้ก็ต้องไม่ลืมผู้บุกเบิกความสัมพันธ์ฉันนั้น
ท่านเคยกลับไปเยี่ยมประเทศจีนอีกหรือเปล่า
อ.ดุษฎี : ทางรัฐบาลจีนได้เชิญท่านผู้หญิงไป 2 ครั้ง ครั้งแรกพาคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาคุณจำกัดอดีตเสรีไทย ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ภารกิจกู้ชาติในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเสียชีวิต ณ เมืองจุงกิง (ฉงชิ่ง) ครั้งที่ 2 ไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หังโจวและกว่างโจว ไปเยี่ยมบ้านเก่าที่นายปรีดี และครอบครัวเคยพำนักอยู่ด้วย
ท่านผู้หญิง : ครั้งแรกไปจากปารีส ครั้งที่สองไปจากกรุงเทพฯ ไปหลายๆเมือง ได้รับการต้อนรับอย่างดี ไปเป็นแขกของเขา ต่อมาสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเขาก็ได้เชิญไปร่วมงาน ครบ 100 ปี ท่านโจวเอินไหลที่กรุงเทพฯ
อ.ดุษฎี : ทูตจีนคนแรกที่มาประจำประเทศไทย ท่านเคยมาเยี่ยมคุณแม่ที่บ้านสวนพลู ล่ามที่ติดตามท่านมาสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูต จางจิ่วหวน แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีการติดต่อกันแล้ว คุณแม่บอกว่า อยากจะกลับไปเยี่ยมเมืองจีนอีกเหมือนกัน แต่ก็จนปัญญาเพราะไม่มีคนเชิญเราไป เรากลายเป็นเพื่อนเก่าไปแล้ว ประเทศจีนเขามีเพื่อนใหม่มากมาย เพื่อนเก่าอย่างเราบางครั้งก็ไม่มีความสำคัญสำหรับเขาหรอกค่ะ
ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อประเทศจีนในวันนี้
ท่านผู้หญิง : ดีใจที่เห็นประเทศจีนเจริญก้าวหน้าพัฒนาไปกว่าเก่ามาก
อ.ดุษฎี : ครูดุษไปบ่อย เพราะได้รับเชิญไปเป็นกรรมการนานาชาติตัดสินประกวดร้องเพลง ที่เซี่ยงไฮ้ (上海亚洲音乐节) เกือบทุกปี ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่ประทับใจก็คือ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่อยู่ดีกินดี ต่างกับสมัยก่อนที่ยากจนมากไม่ค่อยจะมีกิน ชีวิตลำบาก แต่ปัจจุบันในชนบทก็ยังมีความยากจนอยู่ สำหรับประเทศที่มีพลเมืองพันสามร้อยล้านคน สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างนี้ เป็นความสามารถอย่างยิ่งของระดับผู้นำ ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วงว่า ประเทศใหญ่อย่างนี้ คนเยอะอย่างนี้แล้ว ถ้าการควบคุมดูแลไม่ดีมันจะมีปัญหาตามมาแน่ๆ เลย
โลกาภิวัตน์ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป จีนก็เปลี่ยนไป เป็นจีนใหม่ทันโลก เมื่อปลายปีที่แล้วไปเซี่ยงไฮ้กับพี่สาว โอ โห ...คนที่นี่มีอันจะกิน ตามร้านอาหารคนแน่นขนัด ใครใคร่กินก็กิน ใครใคร่แต่งตัวก็แต่ง ใครใคร่ซื้อของก็ซื้อ เงินสะพัดมาก ต่างกับสมัยก่อนอย่างยิ่ง แต่ว่ารู้สึกอึดอัด คือไปไหนมาไหนมีแต่คนเบียดเสียดกัน แย่งกันกินแย่งกันอยู่ รู้สึกว่ามันไม่มีที่หายใจแล้วหละ
กระแสทุนนิยมมันทำให้เศรษฐกิจพัฒนาใช่ไหม ขณะเดียวกันทุกสิ่งในโลกนี้มันมีสองด้าน 有白天有夜晚 ,有白有黑,有阴有阳 ( มีกลางวันมีก็กลางคืน มีสีขาวก็ต้องมีสีดำ มีขั้วบวกก็มีขั้วลบ ) ดังนั้นจึงมีทั้งข้อดีข้อเสีย อย่าหลงละเมอ วัตถุเจริญขึ้น จิตใจก็อาจเสื่อมลงได้
อ.วาณี : ติดตามเรื่องจีนก็จากรายการโทรทัศน์ ทำให้เห็นสังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมเปิดมากกว่าสมัยก่อน สมัยที่เราอยู่เป็นสังคมปิด แต่ปัจจุบันนี้ข่าวสารข้อมูลของเขาไวมาก ขอชมเชยนะคะ โดยเฉพาะข่าวต่างประเทศ CCTV ในการที่ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าชมเชย ส่วนข้ออื่นๆก็ทางด้านวัตถุเจริญมาก แต่ทางด้านจิตใจของคนลดถอยลงไป คนจีนรุ่นเดียวกันกับดิฉันเขาก็รู้สึกเช่นนี้ เวลาเขามาเมืองไทยเขาประทับใจคนไทย เขาบอก คนไทยเป็นพุทธศาสนิกชน มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อารีอารอบ แต่คนจีนเดี่ยวนี้จะคิดแต่ว่า จะทำอย่างไรที่จะแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวมากที่สุด
อ.ดุษฎี : ขอฝากเอาไว้สำหรับคนจีน คุณควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ ถ้าคุณคิดแต่เรื่องความร่ำรวย ไม่พัฒนาจิตใจ ในอนาคตคนจีนจะไม่มีความสุข เวลานี้คนจีนส่วนใหญ่มักจะมองเงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นพระเจ้า การให้การศึกษาด้านคุณธรรมจำเป็นสำหรับประเทศจีนในยุคนี้
อ.วาณี : แต่ก่อนนี้เน้นอุดมการณ์ ปัจจุบันนี้บางคนเริ่มหวนกลับมาทบทวนว่า ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว จะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาอะไรก็ตาม คิดว่ามีสิ่งยึดเหนี่ยวจะทำให้คนมีคุณธรรม
อ.ดุษฎี : ในโอกาสที่ไทย-จีน สร้างสัมพันธ์ทางการทูตครบ 30 ปี ในวาระที่จะถึงนี้ ครอบครัวนายปรีดีฯ โดยครูสุดา และ ครูดุษฎี จะร่วมแสดงดนตรีจีน กับศิลปินมือหนึ่งจากปักกิ่ง เพื่อมอบเงินสมทบทุนสภากาชาดไทย งานจัดที่เชียงใหม่ 1 รอบ วันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และกรุงเทพฯ 2 รอบ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขอเชิญท่านไปให้กำลังใจ....