ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ชีวิต 84 ปี เท่าที่จำได้

4
มกราคม
2565
พูนศุข อายุ ๓๘ ปี ณ กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๙๔
พูนศุข อายุ ๓๘ ปี ณ กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๙๔

 

ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๕๕ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการริมน้ำ เยื้องพระสมุทรเจดีย์ เป็นบุตรมหาอำมาตย์ตรีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) และคุณหญิงเพ็ง (สกุลเดิม สุวรรณศร) คุณพ่อคุณแม่ได้พาเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะประทับแรมที่พลับพลาในบริเวณจวนผู้ว่าฯ เพื่อขอรับพระราชทานชื่อ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พูนศุข” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕)

 

วัยเยาว์

ในระหว่างที่คุณพ่ออยู่จังหวัดสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ตั้งกองเสือป่า และเวลาเย็นมีการฝึกพวกเสือป่ากันแทบทุกวันที่จวนผู้ว่าฯ นอกจากฝึกการใช้อาวุธแล้วยังมีการร้องเพลงปลุกใจอีกด้วย ตอนนั้นข้าพเจ้ายังจำความไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าข้าพเจ้าร้องเพลงเสือป่าได้ และได้รับรางวัลจากเจ้านายที่ไปประทับ ณ ที่นั้นบ่อยครั้ง

ต่อมาเมื่อคุณพ่อย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพมหานคร และเมื่อข้าพเจ้ามีอายุประมาณ ๖-๗ ขวบ ได้เข้าเฝ้าเป็นครั้งที่ ๒ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่พระราชวังพญาไท รับพระราชทานสลากเพื่อไปขึ้นเอาของเล่น รับพระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นด้วย

เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพฯ คุณพ่อได้รับพระราชทานบ้านอยู่ที่เหนือปากคลองสาน พี่สาวซึ่งแก่กว่า ๒ ปี ได้ถูกส่งไปเข้าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และพักอยู่ที่ “บ้านศาลาแดง” ซึ่งเป็นบ้านของท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ปัจจุบันเป็นโรงแรมดุสิตธานี เพราะใกล้โรงเรียน เนื่องจากบ้านที่อยู่ไม่สะดวกแก่การเดินทาง ต้องข้ามฟากมาขึ้นที่กรมเจ้าท่าและขึ้นรถต่อไปโรงเรียน พอพี่สาวเข้าเรียนได้ราว ๒ สับดาห์ กลับมาบ้านเล่าเรื่องโรงเรียนให้ฟัง ข้าพเจ้าจึงอยากจะไปเรียนบ้าง

คุณพ่อคุณแม่ก็เต็มใจ จึงเริ่มเข้าเรียนโดยเป็นนักเรียนไปมา พักอยู่ “บ้านศาลาแดง” วันเสาร์จึงกลับบ้าน เมื่อพักอยู่ “บ้านศาลาแดง” ได้ระยะหนึ่งเกิดคิดถึงบ้าน จึงกลับมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งการเดินทางลำบากมาก คือ ต้องนั่งเรือจ้างข้ามแม่น้ำไปขึ้นที่กรมเจ้าท่า แล้วขึ้นรถยนต์ต่อไปโรงเรียน หากฝนตกก็ไม่ได้ไปโรงเรียน คุณพ่อมาสร้างบ้านที่ถนนสีลม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๔ และให้ชื่อว่า “บ้านป้อมเพชร์” บ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน ถึงกระนั้นเราก็นั่งรถยนต์ไปเรียน และบางครั้งก็กลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน

ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนชั้นเดียวกับพี่สาวมีครูเป็นแม่ชี ในสมัยนั้นแม่ชีส่วนใหญ่เป็นฝรั่งจะมีแม่ชีที่เป็นคนเวียดนามไม่กี่คน ครั้งแรกเข้าชั้น Elementary แล้วเลื่อนเป็น Preparatory แล้วจึงขึ้นเป็น Standard ซึ่งครูจะใช้ภาษาต่างประเทศสอน ขณะนั้นทางโรงเรียนมี ๒ แผนกคือแผนกภาษาฝรั่งเศสและแผนกภาษาอังกฤษ ส่วนข้าพเจ้าได้เข้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษ การเรียนอยู่ในขั้นปานกลาง ในสมัยนั้นนักเรียนมีประมาณ ๒๐๐ คน จึงรู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ เรียนอยู่จนถึง Standard 7 จึงลาออกมาแต่งงาน นอกจากเรียนหนังสือแล้วยังได้เรียนเปียโนอีกด้วย ข้าพเจ้าได้แสดงเปียโนสี่มือ (Duet) คู่กับเพื่อนซึ่งเรียนชั้นเดียวกัน ๒ ครั้ง ในวันปิดเทอมมีพิธีแจกประกาศนียบัตร

ทางบ้านไม่ปล่อยให้ไปเที่ยวโดยลำพัง ให้ผู้ใหญ่พาไปดูหนังกลางวันบ้างเป็นครั้งคราว เมื่อมีงานฤดูหนาวก็ได้ไปเกือบทุกคืน ตั้งแต่มีงานที่สวนจิตรลดาจนถึงสวนสราญรมย์ งานฤดูหนาวนั้นอากาศหนาว ตอนเป็นเด็กก็ใส่เสื้อสเวตเตอร์ พอถึงวัยรุ่น คุณแม่ตัดเสื้อ Cloak[1] ให้ ในงานมีออกร้านขายของและขายอาหาร ที่ว่าไปเกือบทุกคืนคือ คุณพ่อเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงมีร้านของกรมฯ ขายสิ่งของฝีมือผู้ต้องหา บางทีได้ที่เหมาะพอที่จะตั้งโต๊ะขายอาหาร คุณแม่ขายอาหารราคาย่อมเยา ส่วนในงานมีร้านที่ขายของแพงทั้งนั้น

มีอยู่ปีหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตั้งร้านถ่ายรูป ครอบครัวเราได้ไปถ่ายรูป ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จหมู่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงถ่ายด้วยพระองค์เอง คิดอัตรา ๓ รูป ๑๐๐ บาท และเซ็นพระนาม “ราม ป.ร.” ไว้ใต้รูปด้วย สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๖

 

ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ งานฤดูหนาวพระราชวังสราญรมย์ พ.ศ.๒๔๖๖
ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
งานฤดูหนาวพระราชวังสราญรมย์ พ.ศ.๒๔๖๖

 

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิด ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๘ ขวบ คือพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่พลับพลาตำบลป้อมเพชร์ ซึ่งใกล้กับหมู่บ้านของบุพการีข้าพเจ้า คุณพ่อจึงนำลูกหลานในสกุล “ณ ป้อมเพชร์” เข้าเฝ้า และถวายหีบบุหรี่ไม้ปุ่มฝาหีบมีตรา “ณ ป้อมเพชร์” ทองลงยาฝังเพชรเล็ก ๑ เม็ด

ในบรรดาพี่น้อง ข้าพเจ้าเป็นลูกที่ติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปงานต่างๆ ที่มีในขณะนั้น เช่น งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และงานพระบรมศพพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีทุกสัปดาห์ พวกเรานั่งที่ปะรำข้างทูลละอองพระบาทฝ่ายในทางเสด็จพระราชดำเนินผ่าน จึงได้เห็นราชประเพณีหลายอย่างติดตามาจนทุกวันนี้

เรื่องการศึกษา ข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่ ร.ร. เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ๑๐ ปี เข้าเรียนเวลา ๘ .๓๐ น. เลิกเวลา ๑๖ น. ตั้งแต่วันจันทร์ อังคาร พุธ วันพฤหัสบดีหยุด และเปิดต่อวันศุกร์ เสาร์ หยุดวันอาทิตย์ เมื่อเข้าห้องเรียนจะมีการสวดเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาแม่ชีซึ่งสมัยนั้นเรียก “แม่ดำ” (คงจะเป็นเพราะแต่งชุดดำหรือเพี้ยนมาจาก Madame) จะอ่าน Gospel[2] ให้ฟัง และมีวิชา Catechism ซึ่งมีคำถามและตอบเป็นข้อๆ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ แล้วจึงเรียนวิชาสามัญตามตารางโดยสอนเป็นภาษาอังกฤษ ถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. หยุดพักรับประทานอาหารกลางวันและเล่น เช่น กระโดดเชือก หมากเก็บ ตักหอย ฯลฯ

พอเวลา ๑๓ น. เข้าเรียน ชั่วโมงแรกเรียนภาษาไทย ซึ่งเรียนไม่ตรงกับชั้นที่เรียนภาษาอังกฤษ และนักเรียนทั้ง ๒ ภาษาเรียนพร้อมกัน เช่น ข้าพเจ้าเรียนชั้น Standard สูงกว่าชั้นที่เรียนภาษาไทย ในขณะนั้นที่โรงเรียนมีตึกเพียง ๓ หลัง ต่อมาได้สร้างขึ้นอีก ๑ หลัง มีโบสถ์เล็กๆ (Chapel) ด้วย ซึ่งนักเรียนต้องไปโบสถ์ทุกวันศุกร์ต้นเดือน เมื่อสร้างตึกใหม่เสร็จ

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เสด็จไปทรงเปิด รับเสด็จโดยนักเรียนแสดงเปียโนและเต้นระบำถวาย นอกจากนั้นบางครั้งมีแขกผู้ใหญ่ เช่น ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมาเยี่ยม ทางโรงเรียนก็จัดงานต้อนรับโดยให้นักเรียนร้องเพลงหมู่ประสานเสียง นักเรียนประจำแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้น ๑ ชั้น ๒ และชั้น ๓ ซึ่งมักจะเป็นเด็กกำพร้าหรือไม่เสียเงินค่าเล่าเรียน และสอนวิชาตัดเสื้อให้เพื่อจะได้มีอาชีพต่อไป

 

ชีวิตครอบครัว

ข้าพเจ้าแต่งงานเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ ที่บ้านป้อมเพชร์ กับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติห่างๆ คือมีเชียด[3] คนเดียวกัน นายปรีดีมีอายุแก่กว่าข้าพเจ้า ๑๑ ปี เรียนกฎหมายสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต และได้รับเลือกให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส เรียนอยู่ ๗ ปี สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็นดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย Docteur en Droit ฝ่ายนิติศาสตร์ ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ (Diplome d'Etudes Superieures d' Economie Pottique) เมื่อต้นปี ๒๔๗๐

 

วันเริ่มต้นชีวิตคู่ ปรีดี-พูนศุข
วันเริ่มต้นชีวิตคู่ ปรีดี-พูนศุข

 

คุณพ่อปลูกเรือนหอให้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ซึ่งขณะนี้กลายเป็นถนนใหญ่ซึ่งตัดตรงจากช่องนนทรีไปจบที่ถนนสุรวงศ์ ขณะนั้นนายปรีดีรับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) และครูสอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นอกจากนั้นนายปรีดียังมีโรงพิมพ์ส่วนตัว พิมพ์หนังสือวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ชื่อ นิติสาส์น อีกด้วย

เราได้ร่วมกันทำงาน คือ ทางโรงพิมพ์ ข้าพเจ้ามีหน้าที่ช่วยตรวจปรู๊ฟ ส่วนการสอนที่โรงเรียนกฎหมายซึ่งสอนสัปดาห์ละ ๒ ครั้งก่อนไปเลกเชอร์ นายปรีดีได้ให้ข้าพเจ้าเขียนตามคำบอก ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเปิดสอนพิเศษแก่ผู้ประสงค์จะเรียนในเวลาค่ำที่บ้าน มีนักเรียนมาเรียนทั้งชายและหญิงประมาณ ๒๐ คน นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ข้าพเจ้า ยกเว้นค่าสอนซึ่งเอาไว้ใช้ส่วนตัว อาหารการกินขึ้นไปรับประทานร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

การใช้ชีวิตครอบครัว เมื่อถึงวันหยุดก็ไปชมภาพยนตร์บ้าง ไปจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยาซึ่งเป็นบ้านเกิดนายปรีดีบ้าง สมัยนั้นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมได้หยุด ๑ เดือน คือเดือนเมษายน ภายหลังแต่งงานเราได้ไปเที่ยวชายทะเลแถบตะวันออก โดยเรือภาณุรังษี ออกจากกรุงเทพฯ เที่ยงวันเสาร์แวะระยอง จันทบุรี เข้าเขตกัมพูชา แวะเมืองเรียม เมืองเด๊ป และเมืองซาเตียนซึ่งขึ้นกับเวียดนาม เรือเทียบท่าเฉพาะจันทบุรีและเมืองเรียม ใช้เวลา ๖ วัน ถึงกรุงเทพฯ เช้าวันพฤหัสบดี เสียค่าโดยสารคนละ ๖๐ บาท นับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า เพราะได้อากาศทะเล อาหารดีทั้งไทยและฝรั่ง ปีต่อๆ ไปได้ไปสงขลาและเลยไปเกาะปีนัง นับเป็นการออกไปต่างประเทศครั้งแรกของข้าพเจ้า และปีต่อไปก็ไปพักตากอากาศที่อำเภอหัวหินซึ่งเสียค่าเช่าบังกะโลเพียงวันละ ๔ บาท บางปีก็ไม่ได้ไปไหนเพราะมีลูกอ่อน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ไปอินโดจีนโดยรถยนต์ที่บรรทุกรถไฟจนถึงอรัญประเทศ จากนั้นนั่งรถยนต์เข้าเขตกัมพูชาที่ด่านคลองลึก ผ่านปอยเป็ต โพธิสัตว์ พระตะบอง ไซ่ง่อน (ปัจจุบันโฮจิมินห์ชิตี้) จากไช่ง่อนขึ้นเขาไปดาลัต เพื่อส่งน้องสาว ๒ คน คือนวลจันทร์และอุษา เข้าเรียนที่ Lycee Yersin

แม่[4] แต่งงานได้ ๑ ปีกับ ๔ เดือน จึงให้กำเนิดลูกหญิงคนแรก ซึ่งทูลหม่อมฟ้าหญิงฯ (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) ประทานชื่อว่า “ลลิตา” ต่อมาอีก ๑ ปี ๔ เดือน ได้ลูกชายให้ชื่อว่า “ปาน” เพราะเมื่อเกิดมีปานแดงอยู่ที่หน้าผาก ต่อมาคุณยายตัดผมให้ด้วยกรรไกรไปสะกิดที่ปานมีเลือดออก ปานแดงจึงหายไป เราจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น “ปาล”

ต้นปี ๒๔๗๕ ราวต้นเดือนมิถุนายน พ่อบอกกับแม่ว่าจะขออนุญาตไปบวช แม่ก็ตอบเต็มใจ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ่อบอกแม่ว่าจะไปลาคุณปู่ซึ่งอยู่ที่นา อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา ตอนเช้าพ่อไปทำงานตามปกติ เย็นก็กลับมาบ้านเพื่อเตรียมเดินทาง แม่จึงติดรถพาลูกไปส่งที่สถานีหัวลำโพง ในคืนวันนั้นเวลาสองยามเศษปาลซึ่งมีอายุ ๖ เดือนร้องไห้โดยไม่มีอะไรผิดปกติเป็นเวลานาน จนคุณตาซึ่งอยู่บนตึกใหญ่ได้ยินจึงให้คนใช้มาถามว่าเป็นอะไร แต่ไม่ทราบสาเหตุ ได้อุ้มปาลไปลงเปลที่ตึกหลังบ้านจึงสงบ แม่นึกสังหรณ์เกรงว่าพ่อจะเป็นอันตราย เพราะการเดินทางไปอำเภอวังน้อยไม่สะดวกต้องนั่งเรือจากอยุธยาไม่เหมือนทุกวันนี้ซึ่งมีความเจริญมาก

พอรุ่งเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน พาปาลลงไปถ่ายรูปในสนามหญ้าหน้าบ้าน ฝนตกหยิมๆ ไม่มากนัก ท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้มาที่บ้าน บอกว่าเกิดเหตุใหญ่ คือ คนเรือของท่านที่จอดอยู่หน้าบ้านวัดสามพระยามารายงานว่า มีทหารกลุ่มหนึ่งพร้อมทั้งรถถังมาจับทูลหม่อมชายไป (สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ท่านเจ้าพระยายมราชมาถามดูเผื่อว่าทางบ้านเราพอจะรู้อะไรบ้าง เมื่อยังไม่ได้ความ พอดีมีเพื่อนคุณตามาที่บ้าน ในขณะนั้น ท่านจึงขอให้คุณตาและเจ้าคุณคนนั้นออกไปสืบหาความจริง และท่านยังกำชับไม่ให้นั่งรถเก๋งเพราะเกรงว่าจะเป็นที่ขวางหูขวางตา จึงไปกับรถเจ้าคุณคนนั้นซึ่งเป็นรถประทุน

ส่วนทางบ้านก็เป็นห่วงเจ้านายที่ถูกเชิญตัวไป จนบ่ายคุณตากับเพื่อนกลับมา ได้ความว่ามีพันเอกพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้ายึดอำนาจการปกครอง แต่ไม่ทราบรายละเอียด ขณะนั้นคนงานที่โรงพิมพ์นิติสาส์นได้มารายงานว่ามีทหารมา ๑ คันรถ สั่งให้พิมพ์ใบปลิว ซึ่งเข้าใจว่าเรียงพิมพ์ไว้แล้ว ท่านผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในขณะนั้นบอกว่าให้ทำตามเขาเถิด ต่อมามีเพื่อนคุณตามาที่บ้านพูดทำนองว่า พ่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ แต่เห็นทางบ้านเราไม่รู้อะไรจึงกลับไป พอเวลาค่ำประมาณ ๓ ทุ่ม ได้มีชายผู้หนึ่งกับผู้ติดตาม ๒ คนมาที่ประตูบ้านซึ่งปิดแล้ว บอกว่าชื่อ ซิม วีระไวทยะ มาขอรับเครื่องแต่งตัวพ่อเพื่อประชุมเสนาบดีในวันพรุ่งนี้ พร้อมทั้งขอเสบียงอาหารด้วย เพราะตั้งแต่เช้ายังไม่ได้รับประทานอาหาร คุณตาไมให้เปิดประตูเพราะไม่รู้จัก แต่เผอิญญาติแม่ซึ่งเป็นผู้พิพากษาและอยู่ในบ้านรู้จัก จึงได้จัดของให้ไปและทราบทันทีว่าพ่อมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์วันนี้ แม่ขอเพิ่มเติมว่าประตูบ้านป้อมเพชร์ เป็นประตูเหล็กเป็นซี่ๆ โปร่งมองเห็นกัน

ตั้งแต่เย็นวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ่อไม่ได้กลับบ้านเลยจนวันที่ ๓ กรกฎาคม พ่อได้เขียนจดหมายถึงแม่จากพระที่นั่งอนันตสมาคม ขอโทษที่ไม่ได้พูดความจริง เพราะเกรงเรื่องจะแตก และว่าเจ้าหน้าที่สืบทราบและจะจับพ่อในวันที่ ๒๔ บอกว่าที่ทำไปเพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎร ๑๔ ล้าน (ในขณะนั้น) ได้บุญยิ่งกว่าไปบวช คิดถึงลูก แต่ขณะนี้ควรอยู่กับทหารดีกว่า ฯลฯ ระหว่างนั้นพ่อได้ให้นายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมแม่แทนตัว จนถึงเดือนกรกฎาคม จึงย้ายมาทำงานที่วังปารุสกวัน ซึ่งทางการจัดให้อยู่ที่ตึกหลังเล็กๆ ในบริเวณเดียวกัน

ต่อมาปลายเดือนกรกฎาคม แม่จึงพาลลิตากับคนเลี้ยงไปอยู่ด้วย พ่อทำงานหนักมาก ต้องจัดระเบียบราชการตั้งแต่เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนฯ จัดงานเกี่ยวกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ต่อมาทางรัฐบาลได้มอบให้พ่อร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจตามที่ได้มีการแถลงไว้ในประกาศของคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แต่เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่ารัฐมนตรีส่วนมากไม่เห็นชอบด้วย

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์ฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกันนั้นได้ออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖” และออกแถลงการณ์ประณามพ่อว่า “เป็นคอมมิวนิสต์” อีกทั้งบังคับให้พ่อออกจากประเทศไทย พ่อได้เลือกไปประเทศฝรั่งเศส และพาแม่ไปด้วย เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการไปยุโรปครั้งแรกของแม่

ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส พ่อได้ทำงานศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมโดยไปหอสมุดแห่งชาติเกือบทุกวัน ส่วนแม่ก็ไปเรียนภาษา ได้มีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจด้วยการไปชมการแสดงและดูภาพยนตร์ดูกระทั่งละครสัตว์ ลืมเล่าไปว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ เราโดยสารเรือของบริษัท B.I. ในวันเดินทางที่ท่าเรือ B.I. มีผู้คนไปส่งล้นหลาม จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดประตู เอนจิเนียร์ของเรือสนใจพ่อและขึ้นมาคุยด้วย เมื่อเราไปถึงฝรั่งเศสสมาชิกสภาอังกฤษพรรค Independent Labour ชื่อ Mr.Maxton ได้เชิญให้พ่อไป House of Commons เพื่อฟังการประชุมสภา

เราพำนักอยู่ในปารีสจนถึงเดือนมิถุนายน ก็ได้ข่าวว่าทางกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลง คือ เจ้าคุณพหลฯ ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประสงค์ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเจ้าคุณพหลฯ จัดตั้งรัฐบาลแล้ว ได้เรียกพ่อให้กลับเพื่อมาช่วยงานเราได้ออกเดินทางจากฝรั่งเศสมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนกันยายน

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ พ่อแม่ก็แยกกันอยู่คือ พ่อตรงไปวังปารุสกวันทันที ส่วนแม่กลับมาอยู่บ้านคุณตาคุณยาย ภายหลังที่เรากลับมาไม่นานนัก ก็เกิดขบถบวรเดช ซึ่งขณะนั้นแม่ไปพักผ่อนที่บ้านคุณป้าเล็ก (สารี) ที่จังหวัดสมุทรปราการ ทางบ้านในกรุงเทพฯ ได้ส่งคนมารับแม่กลับกรุงเทพฯ สมัยนั้นถนนยังไม่ถึงปากน้ำ เราเดินทางไปและกลับด้วยรถรางไฟฟ้า พวกขบถเริ่มก่อตัวจากจังหวัดนครราชสีมา และรุกเรื่อยมาจนถึงดอนเมือง หลักสี่ พอตกเย็นได้ยินเสียงปืนดังถึงบ้านเรา

ครอบครัวเราได้ย้ายไปอยู่บ้านซึ่งคุณตาให้ที่ดิน ๓๖๐ ตารางวา แต่เราปลูกบ้านเองจากเงินค่าขายหนังสือประชุมกฎหมายไทย ทุกวันเสาร์เย็นลูกๆ คุณตาที่ออกเรือนแล้วจะไปรับประทานข้าวร่วมกันที่บ้านป้อมเพชร์ บ้านที่เราย้ายไปให้ชื่อว่า “พูนศุข” เลขที่ ๑๓๖ ส่วนบ้าน ป้อมเพชร์เลขที่ ๑๔๘ ซึ่งอยู่ฝั่งคลองสีลมห่างกันไม่ไกลนัก

กลับถึงบ้านแล้วไม่กี่เดือนแม่ได้ให้กำเนิดลูกผู้หญิงเมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๔๗๖ (๒๔๗๗) [5] และต่อมาไม่กี่วันพ่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ่อได้ทำงานหลายอย่างที่กระทรวงนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าว แต่ที่จะพูดถึงคือในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ พ่อได้เดินทางไปยุโรป ที่อังกฤษพ่อได้เจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่สมัยรัชกาลที่ ๖ กู้มาเพื่อบำรุงสาธารณูปโภคจาก ๖% ทำให้ประเทศได้ประหยัดเงินไม่ใช่น้อย ส่วนประเทศต่างๆ ในยุโรปได้เจรจาทาบทามบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเดินทางกลับผ่านอเมริกาและญี่ปุ่น ในระหว่างที่พ่อไม่อยู่ แม่ได้ให้กำเนิดลูกคนที่ ๔ เป็นชาย และเมื่อพ่อถึงญี่ปุ่น แม่ได้เดินทางไปพบเพื่อกลับเมืองไทยพร้อมกัน แม่ได้เห็นหิมะครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ขณะนั้นค่าครองชีพถูกมาก แม่จึงซื้อเปียโนเล็กมาเป็นของฝากลูกทุกคน ซึ่งแป๋วก็ได้เริ่มหัดจากเปียโนอันนี้ การไปญี่ปุ่น แม่เดินทางโดยเรือสินค้าชวนศิษย์พ่อคนหนึ่งไปด้วย พร้อมทั้งคนรับใช้ ๑ คน ค่าโดยสารถูกมาก เสียคนละ ๙๐ บาทเท่านั้น การเดินทางโดนคลื่นลมอย่างแรง แม่ไม่เมาคลื่นแต่กินอาหารญี่ปุ่นไม่ได้เลย กว่าจะถึงโกเบ น้ำหนักลดไปหลายกิโล จากโกเบนั่งรถไฟไปโตเกียว ซึ่งพ่อถึงก่อนและรอรับอยู่ ได้ท่องเที่ยวเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองเป็นเวลา ๑๒ วัน จึงเดินทางกลับ พ่อได้เข้าเฝ้าพระจักรพรรดิญี่ปุ่น และได้รับตรา Rising Sun ชั้นที่ ๑ (สายสะพาย)

ต่อมาพ่อได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเริ่มเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่ซึ่งรัฐบาลได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ในด้านการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ ระยะเจรจานี้ เราไปงานเลี้ยงรับรอง และเราก็เลี้ยงพวกทูตานุทูตบ่อยครั้งเหมือนกัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่ประเทศฝรั่งเศสมีงาน Exposition Internationale เพื่อให้ผู้คนไปชมงานนี้ ทางการได้ลดราคาค่าโดยสารเรือเดินสมุทร ลดค่ารถไฟและโรงแรม แม่เห็นเป็นโอกาสที่จะไปทัศนาจรด้วยราคาเยา จึงไปพร้อมทั้งแป๋ว ซึ่งมีอายุเพียง ๓ ขวบครึ่ง และมีน้านิด[6] ร่วมเดินทางไปเรียนต่อ ระหว่างพักที่ปารีสแม่ได้มีโอกาสเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ ๘ และองค์ปัจจุบัน พร้อมทั้งสมเด็จพระพี่นางและพระราชชนนี ซึ่งเสด็จจากสวิสมาปารีส และในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ ๗ แม่ก็ได้ไปเฝ้าถวายพระพรด้วย แม่พักอยู่ปารีสเป็นเวลา ๓ เดือน ได้ส่งแป๋วเข้า ร.ร. อนุบาล ส่วนตัวแม่ก็ไปเรียนภาษาอีก การเดินทางกลับเรากลับเพียง ๒ คนแม่ลูก โดยขึ้นรถไฟจากปารีสไปเยนัว และลงเรืออิตาเลียนซึ่งใช้เวลาเร็วกว่าเรือบริษัทอื่น คือสองสัปดาห์ก็ถึงสิงคโปร์ ที่สิงคโปร์ลุงเอียด[7] คอยมารับและขึ้นรถไฟไปปีนังพัก ๑ คืน เดินทางจากสถานีไปถึงกรุงเทพฯ

 

พูนศุข (อายุ ๒๕ ปี) กับแป๋ว (สุดา) กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๘๐
พูนศุข (อายุ ๒๕ ปี) กับแป๋ว (สุดา) กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๘๐

 

Pavillion du Siam (ศาลาสยาม) งานมหกรรมนานาชาติ กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับกลาง พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟัากัลยาณิวัฒนาฯ และพระราชชนนี(พูนศุข นั่งที่ ๓ จากซ้าย)
Pavillion du Siam (ศาลาสยาม) งานมหกรรมนานาชาติ กรุงปารีส พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับกลาง
พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟัากัลยาณิวัฒนาฯ และพระราชชนนี (พูนศุข นั่งที่ ๓ จากซ้าย)

 

ในขณะที่พ่ออยู่กระทรวงต่างประเทศ เวลามีเลี้ยงใหญ่ได้จัดให้นักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. รุ่น ๑ แต่งชุดสมุทรเสนามาช่วยบริการแขก น่าเอ็นดูมาก นอกจากนี้พ่อยังไปตรวจชายแดนทั้งภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งแม่ไม่ได้ไปด้วยเลย ในต้นปี ๒๔๘๒ แม่ได้ให้กำเนิดลูกหญิงคือ ดุษฎี ที่ให้ชื่อดุษฎีเพราะพ่อได้รับ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นความชอบที่แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศให้เสมอภาค

ต่อมาพ่อย้ายมาอยู่กระทรวงการคลัง พ่อได้สร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังให้กับชาติไทยหลายด้านที่สำคัญ อาทิ เช่น ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ ยกเลิกอากรค่านา ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมสถาปนา “ประมวลรัษฎากร” เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย และการโอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษ อเมริกัน เป็นของรัฐบาลสำเร็จ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยึดไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากนี้จัดเรื่องเงินทุนสำรอง และเสนอจัดตั้งธนาคารชาติไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

ในระหว่างนั้นสถานการณ์ในยุโรปมีแนวโน้มที่จะเกิดสงคราม พ่อได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพูดภาษาอังกฤษ เพื่อโน้มน้าวให้เกิดสันติภาพ โดยชักชวนเพื่อนฝูงที่มีความรู้ด้านเทคนิคมาช่วย ส่วนผู้แสดงนั้นได้เลือกผู้ที่มีเลือดผสมไทยกับชาวตะวันตกเป็นตัวแสดงสำคัญ ส่วนตัวแสดงรองๆ ก็เชิญผู้สูงอายุหลายท่านมาร่วม เช่นคุณทวดและคุณปู่ของเทียน (ชัยวัฒน์ บุนนาค) สำหรับทหารทั้งสองฝ่ายก็ใช้นักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และครูพละศึกษา การถ่ายทำฉากภายในได้เช่าบริษัทไทยฟิล์มซึ่งตั้งอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ (ปัจจุบันกองดุริยางค์ทหารอากาศ) ฉากรบก็ใช้ทุ่งนาใกล้โรงถ่าย (ปัจจุบันสมาคมธรรมศาสตร์และที่ทำการทหารเรือ)

การถ่ายทำนั้นเฉพาะวันหยุดราชการและบางครั้งก็ถ่ายทำในเวลากลางคืน ตัวแสดงที่รำละครก็ขอจากกรมศิลปากร ต่างคนต่างช่วยกันทำงาน แม่มีหน้าที่เลี้ยงผู้แสดง และบางทีก็ช่วยแต่งหน้าผู้แสดงหญิงบ้าง นอกจากนี้ยังได้ยกกองถ่ายไปจังหวัดแพร่ ในฉากคล้องช้าง ซึ่งมี ส.ส. จังหวัดแพร่ (เจ้าวงศ์ แสนสิริพันธ์) ช่วยหาช้างมาถ่ายทำหลายสิบเชือก และยังจัดหาเครื่องแต่งกายของนักแสดง ด้วยเหตุสถานการณ์สงครามในภูมิภาคตึงเครียด จึงทำให้เรื่องที่ตั้งใจจะฉายเผยแพร่ก็เลยเป็นอันไม่สำเร็จ

ต่อมาแม่ได้ให้กำเนิดลูกคนเล็กเป็นหญิง ก่อนหน้านี้เกิดมีกรณีพิพาทอินโดจีน ตามบ้านต้องพรางไฟ ป้องกันการทิ้งระเบิด เมื่อลูกอายุได้ ๕ เดือน เกิดสงครามเอเชียบูรพา คือในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกหลายจุดในประเทศไทย พ่อถูกเรียกไปประชุมรัฐมนตรีในตอนดึกของวันที่ ๗ ในคืนวันที่ ๖ พ่อแม่ไปงานเลี้ยงนักฟุตบอลที่ธรรมศาสตร์ เสร็จการเลี้ยงแล้วแวะเยี่ยมเจ้าคุณพลางกูรฯ ที่ ร.พ. จุฬาฯ เนื่องจากท่านไปหมดสติที่สนามฟุตบอล ทราบจากแพทย์ว่าเส้นโลหิตในสมองแตก พอกลับถึงบ้านคนที่บ้าน (พูน พุกกะรัตน์) รายงานว่าพันเอกโมรียาโทรศัพท์มาว่าจะขอพบแม่ พอทราบดังนั้นพ่อจึงให้โทรเชิญตัวมาพบในคืนนั้นเอง พันเอกโมรียาเคยเป็นทูตทหารประจำเมืองไทยและคุ้นเคยกับครอบครัวเรา เพราะเขาพูดภาษาฝรั่งเศส

เมื่อมาพบพ่อเรา บอกว่าเขามีเรื่องด่วน แต่ก็ไม่บอกว่าเรื่องอะไร ในคืนวันที่พ่อถูกเชิญไปประชุม เมื่อถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งอยู่ใกล้กับวังสวนกุหลาบและทราบว่าอะไรเป็นอะไร ได้ให้รถกลับมาบ้านและสั่งคนมาบอกแม่ว่าให้พาลูกๆ ลงมาอยู่ชั้นล่าง แม่พอเดาเหตุการณ์ได้จึงเปิดวิทยุรับฟังข่าวจากต่างประเทศ จึงทราบว่าญี่ปุ่นได้เปิดฉากสงครามแล้วโดยบุกขึ้นหลายจุดในภาคใต้ของประเทศไทย และที่ใกล้กรุงเทพฯ คือบางปู

พ่อกลับจากการประชุมรุ่งขึ้นตอนบ่าย หน้าตาทรุดโทรมมากได้เชิญผู้ที่ใกล้ชิดมาปรึกษาเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมาในวันที่การทิ้งระเบิดบ่อยครั้ง ๑๖ ธันวาคม สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้งพ่อให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ทราบมาว่าญี่ปุ่นไม่พอใจพ่อ แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรที่รุนแรง เครื่องบินสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดครั้งแรกใกล้บ้านเราคือที่สุขศาลาบางรัก (ปัจจุบันคือ ร.พ. เลิดสิน) ได้รับการเสียหายและมีผู้เสียชีวิตด้วย ต่อมามีการทิ้งระเบิดบ่อยครั้งขึ้น แม่จึงอพยพไปพักที่คุ้มขุนแผน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพาลูกๆ ไปหมด คือ ลูกชาย ๒ คน จาก ร.ร. วชิราวุธ ลูกผู้หญิงจากเซนต์โยเซฟฯ และลูกๆ ที่ยังไม่เข้าเรียน ส่วนพ่อนั้นยังอยู่ในกรุงเทพฯ

ที่อยุธยาแม่ได้จัดหาครูมาสอนหนังสือลูกๆ ต่อมาทางการได้จัดบ้านที่สมเกียรติ คือ ทำเนียบท่าช้างให้อยู่ เมื่อแม่กลับจากอพยพก็เข้าอยู่ในบ้านแห่งนี้และได้จัดครูมาสอนลูกอีก มีลูกๆ เจ้าคุณพหลฯ และลูกนายควงมาร่วมเรียนด้วย ในระหว่างสงคราม ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ไหนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ไหนจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้แม่ในฐานะแม่บ้านซึ่งรับผิดชอบดูแลคนในบ้านและความกังวลใจเรื่องที่พ่อทำงานใต้ดินต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตย เครื่องบินสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดถี่ขึ้น จากมาในเวลาเดือนหงาย ต่อมาในเวลากลางวัน พ่อในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไปประทับแรมที่อยุธยา ครอบครัวเราก็อพยพไปอยุธยาเป็นครั้งที่สอง ต่อมาเมื่อสงครามเข้มข้นขึ้น จึงได้เชิญเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ครอบครัวเราก็ตามเสด็จไปพักในบริเวณพระราชวัง แม่ได้ตั้งโรงเรียนสำหรับลูกและผู้ที่อพยพในบริเวณใกล้เคียงคือโรงหลังคาจาก ๒ หลัง ซึ่งเดิม ร.ร. วชิราวุธ เคยอพยพไป และขออนุญาตเป็นสาขาของ ร.ร. อยุธยานุสรณ์ โดยให้ผู้ที่อพยพไปด้วยเป็นครู เช่น น้านิด[8] คุณฉลบ[9] สมวงศ์[10] ต่อมามีนักเรียนเพิ่มขึ้น จึงยืมครูจาก ต.ม.ธ.ก.[11] มาช่วยอีก ๒ คน

ตอนหลังๆ การสู้รบเข้มข้น จนถึงเดือนสิงหาคมสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่นจึงยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขทางประเทศไทยก็ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ

 

สวนสนามเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนิน ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ปรีดีหรือ “รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ยืนอยู่หน้าสุด
สวนสนามเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนิน
๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘
ปรีดีหรือ “รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ยืนอยู่หน้าสุด

 

หมายเหตุ: บทความนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขบันทึกด้วยลายมือ เล่าโดยย่อ ชีวิต ๘๔ ปีของท่านให้ลูกหลานฟัง แบ่งเป็น ๒ หัวข้อคือ “วัยเยาว์” กับ “ชีวิตครอบครัว” ท่านบันทึกไว้จนถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘

 

ที่มา : ลลิตา สุดา ศุขปรีดา วาณี. ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จำได้, ใน, ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๗๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: ตถาตา พับลิเคชั่น), หน้า ๒๖-๔๗

 

หนังสือชุด "ชีวประวัติท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์"

ประกอบไปด้วย

1. หนังสือ "หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์" ราคา 500 บาท

2. "ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์" ราคา 300 บาท

.

?ราคาเต็ม 800 บาท พิเศษเหลือเพียง 560 บาท

? ฟรี!!! หนังสือ “ใจคนึง ตำนาน 100 ปี ชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

? ฟรี!!! ที่คั่นหนังสือลาย “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” และลาย “ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”

? ฟรี!!! ค่าจัดส่ง

.

? สั่งซื้อได้ที่ https://m.me/pridibanomyonginstitute

? ระยะเวลาโปรโมชั่น: วันนี้ - 31 มกราคม 2565

 


[1] เสื้อ Cloak เป็นเสื้อคลุมชนิดหนึ่ง

[2]Gospel : เป็นหนึ่งใน ๔ บท คัมภีร์คริสต์ศาสนาที่เรียบเรียงใหม่

[3] เชียด หรือ เทียด เป็นพ่อหรือแม่ของทวด

[4] พุนศุขได้ใช้สรรพนาม “แม่” แทน “ข้าพเจ้า” ที่ได้ใช้ในตอนต้นของบทความนี้, “พ่อ” แทน “ปรีดี” ส่วน “คุณยาย” นั้น หมายถึง “คุณหญิงเพ็งชัยวิชิตฯ” และ “คุณตา” หมายถึง “พระยาชัยวิชิตฯ” “คุณปู่” หมายถึง “นายเสียง พนมยงค์”

[5] สมัยนั้น วันที่ ๑ เมษายนขึ้นจุลศักราชใหม่

[6] นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์

[7] เข็ม ณ ป้อมเพชร์

[8] อาจารย์นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์

[9] ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร

[10]ครูสมวงศ์ ปทุมรส

[11] โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.)