ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ปรีดี-พูนศุข ตราบนานเท่านาน

13
กุมภาพันธ์
2564

“ภาพของชายอาวุโส มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกแขนหนึ่งควงคู่ไปกับสตรีสูงอายุ ผมสี ดอกเลา เดินเล่นอย่างสงบสุขในสวนสาธารณะ ชานกรุงปารีสในยามฟ้าใส เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง … ชีวิตบั้นปลายของดร. ปรีดี พนมยงค์ กับ คู่ชีวิต ดำรงชีวิตอยู่ด้วยบำนาญเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้านชานกรุงปารีส ซึ่งซื้อด้วยเงินที่ได้จากการขายสมบัติของตระกูล ณ ป้อมเพชร์ มีรายได้จากการเขียนบทความขายและดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ”[1]

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511
พูนศุข น้องรัก

วันนี้เป็นวันต้นเดือนพฤศจิกายนจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อส่งมาถึงน้องได้ในไม่ช้ากว่าวันที่ 16 พฤศจิกายน อันเป็นวันที่การสมรสของเราบรรจบครบ 40 ปี

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย

พี่ขอถือโอกาสนี้อวยพรให้น้องมีความศุข ปราศจากโรคาพยาธิ พ้นจากภยันตรายทั้งปวง ขอให้กุศลเจตนาที่เราบำเพ็ญเพื่อราษฎรไทยและมวลมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากจงบันดาลให้เราได้อยู่ร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้

ด้วยความรักและคิดถึงอย่างยิ่ง

ปรีดี

 

นายปรีดี พนมยงค์ เขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการสมรส
นายปรีดี พนมยงค์ เขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการสมรส

 

อยากทราบว่าท่านรู้จักท่านปรีดีได้อย่างไรคะ

ฉันรู้จักนายปรีดีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ที่รู้จักเพราะเป็นญาติห่างๆ กัน นายปรีดีเป็นลูกหลาน เข้ามาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ คือบิดาเอามาฝากไว้ที่บ้านคุณพ่อฉัน ตอนนั้นนายปรีดีอายุ 19 ปี สอบได้เนติบัณฑิต แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์อายุว่าต้องอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต่อมาอีกปี เมื่อได้เนติบัณฑิตแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้คัดเลือกให้ไปเรียนกฎหมายที่ต่างประเทศ สนามสอบในเวลานั้นคือระเบียงวัดพระแก้ว เสนาบดียุติธรรมและอธิบดีศาลก็ไปดู เห็นนายปรีดีมีท่าทีที่น่าจะสนับสนุนเพราะสอบได้ที่ 1 นายปรีดีได้ทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศส 7 ปี และเมื่อเรียนจนกลับมา ไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ เพราะเป็นชาวอยุธยา ก็ขอมาอยู่บ้านคุณพ่อฉันอีก ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม

ได้พบกันอีกครั้ง รู้สึกอย่างไรคะ

ไม่ได้รู้สึกอะไร

ท่านปรีดีคงถูกใจท่านก่อน

แน่สิคะ ก็เราเป็นผู้หญิง นายปรีดีคงจะถูกตาต้องใจในคุณสมบัติของฉัน คือฉันเป็นลูกที่รับใช้ใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่มาก แขกไปใครมาก็มานั่งที่ข้างๆ เก้าอี้ ท่านไปไหนก็ไปด้วย อย่างคุณแม่ (คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต ต.จ.) เข้าวัง ฉันก็ถือกระเป๋าหมากเดินตามหลังท่าน ได้รู้จักเจ้านายใหญ่โต ได้เรียนรู้พิเศษในความรู้ต่างๆ ที่ไม่มีในโรงเรียน

ท่านปรีดีเอ่ยปากสู่ขอว่าอย่างไรคะ

พอท่านกลับจากเมืองนอกได้ปีกว่า วันดีคืนดีบิดานายปรีดีมาสู่ขอ ก่อนหน้านั้นนายปรีดีได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ฉัน บรรยายความขอบคุณว่าได้รับการอุปการะมาตั้งแต่ต้น และบอกว่าบัดนี้อยากจะมีครอบครัว มีความอาลัยในคุณพูนศุข (สมัยก่อนหน้านี้ลูกพระยาจะเรียก ‘คุณ’ นำหน้า) เป็นเชิงวิงวอนคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อฉันเอาจดหมายมาให้ดูว่าจะว่าอย่างไร ผลสุดท้ายเราเห็นเขาดีก็ไม่ปฏิเสธ บิดานายปรีดีมาหมั้นด้วยแหวนเพชรวงเดียว ไม่ได้เรียกร้องอะไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเก็บอยู่ สักหนึ่งกะรัตครึ่งเท่านั้น เวลานั้นราคาไม่ถึงพันบาท นายปรีดีซื้อด้วยเงินเดือนของตัวเอง ไม่ได้ไปขอพ่อแม่ หลังหมั้นก็มีเวลาได้พบกันบ้าง ขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ไปชมภาพยนตร์บ้าง ไปรถยนต์มีคนขับ ไม่ใช่ไปกันลำพังสองคน

ท่านคงเชื่อมั่นในตัวท่านปรีดี

ใครๆ ก็รู้ว่านายปรีดีเป็นคนดี ประพฤติดี มีความสามารถ ในวันแต่งงานตอนรดน้ำ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งทักว่าคงจะได้เป็นเสนาบดีในอนาคต

ตอนนั้นท่านฟังแล้วรู้สึกอย่างไรคะ

ก็ไม่รู้สึกอะไร

 

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2471 เริ่มต้นชีวิตคู่ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์
วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2471
เริ่มต้นชีวิตคู่ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์

 

ตอนแต่งงานท่านอายุเพียง 17 ปี ห่างจากท่านปรีดี 11 ปี มีช่องว่างหรือปรับตัวเข้าหากันบ้างไหมคะ

ไม่ต้องปรับ เพราะว่าเราใช้ชีวิตกันอย่างเรียบๆ นอกจากรับราชการที่กรมร่างกฎหมายแล้ว นายปรีดียังเป็นครูสอนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายอาทิตย์ละสองครั้ง ฉันก็ช่วยจดเลกเชอร์ตามคำบอก ก่อนแต่งงานมีโรงพิมพ์อยู่สองคูหา อยู่ตรงศาลาแดง พิมพ์ตำรากฎหมาย ฉันมีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกพิสูจน์อักษร เย็บเสร็จเป็นเล่มแล้ว บางทีพิมพ์ไม่ค่อยเรียบร้อย ตัวหนังสือขาดเกิน ก็ต้องเอาปากกาคอยเติมหรือแก้

ในชีวิตสมรส สิ่งที่ท่านปรีดีทำให้ท่านผู้หญิงประทับใจที่สุดคือเรื่องอะไรคะ

คือการดูแลเอาใจใส่เราดี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ยกย่องเรา ไม่มีความลับ มีความลับครั้งเดียวก็ตอนเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475) ตั้งแต่งานแต่งมา เงินเดือนให้ฉันหมด ไม่มีเก็บเอาไว้เลย ท่านมีรายได้จากโรงพิมพ์ จากการขายหนังสือ รายได้ดีค่ะ

ในฐานะที่ท่านเป็นภรรยาท่านปรีดี แต่ว่าต้องแยกห่างกัน และก็ไม่ได้ติดต่อกันแม้กระทั่งทางจดหมาย อะไรที่คล้องใจท่านกับท่านปรีดีไว้ตลอดเวลา

เราเห็นว่าท่านเป็นคนดี ตั้งใจดี เป็นคนที่ทำเพื่อบ้านเมือง เราก็ต้องยกย่องคนอย่างนี้ คนอื่นๆ เขาก็ยังยกย่องเลย และตอนที่ตำรวจเอาเราไปสอบสวนก็บอกเราว่านายปรีดีนอกใจ เพื่อที่จะหลอกถาม เราก็ไม่เชื่อทั้งนั้น เรียกว่าต่างคนต่างเห็นซึ่งกันและกัน

มรสุมครั้งที่ 4 ในชีวิตของท่าน ถือได้ว่าร้ายแรงที่สุด ทราบว่าท่านถูกจับกุมในข้อหาเป็น ‘กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร’ หรือ ‘กบฏสันติภาพ’ และต้องถูกคุมขังในกองสันติบาล กรมตำรวจ 84 วัน อยากเรียนถามท่านว่าการที่เราต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น ท่านวางใจอย่างไรคะ

ธรรมดาที่สุด เวลาที่เขาสอบสวน ก็ไม่ได้สอบอะไร ได้แต่ถามว่า รู้ไหมนายปรีดีอยู่ที่ไหน บางทีก็บอกว่า รู้หรือเปล่านายปรีดีนอกใจ ฉันก็ไม่ทุกข์ ไม่เกรงกลัว และไม่เชื่อคำยุยงด้วย อิสรภาพทางกายไม่ แต่อิสรภาพทางใจมี “ไม่ว่านายปรีดีจะลี้ภัย อยู่ที่ใดสักแห่งในโลกนี้ ฉันรู้ว่าสองคนมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ใครจะมายุแหย่อย่างไรก็ไม่เชื่อ ต่างคนต่างเห็นใจกันและกัน” แรกๆ ก็คิดว่าคงถูกควบคุมตัว 2-3 วัน แต่ที่ไหนได้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 จนถึง วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นเวลา 84 วันเต็ม ครบกำหนดของการฝากขังต่อศาล จึงได้รับอิสรภาพ

ท่านทุกข์ที่สุดเกี่ยวกับท่านปรีดีด้วยเรื่องอะไรคะ

ทุกข์ที่สุดก็เรื่อง 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีลอบเข้ามาดำเนินการฟื้นระบอบประชาธิปไตย และประสบความล้มเหลว ไปหลบซ่อนอยู่ที่บ้านผู้รักความเป็นธรรมท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนที่สวนฝั่งธนฯ เกือบหกเดือน ประกาศหมายจับพร้อมรางวัลนำจับติดเต็มบ้านเต็มเมือง ฉันเป็นทุกข์มากที่ต้องเก็บความลับไว้คนเดียว วันรุ่งขึ้นที่นายปรีดีหลบอยู่ที่บ้านสวนฝั่งธนฯ ฉันได้ข้ามฟากไปเยี่ยม ขากลับเดินทางจากท่าน้ำสาทรกลับบ้านป้อมเพชร์ที่ถนนสีลม เดินผ่านป่าช้า ขณะนั้นฟ้ายังไม่สาง และไม่มีผู้คนบนท้องถนน ฉันนึกขอบคุณคุณพ่อที่เมื่อ 20 ปีก่อนท่านเคยพาเดินผ่านป่าช้า แต่ครั้งนี้ไม่มีคุณพ่อนำทาง ไม่มีพี่น้องร่วมทาง มีฉันเพียงคนเดียว วันนี้หวนกลับไปดูยังนึกไม่ออกเลยว่าฉันเดินมาได้อย่างไร

 

บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส พ.ศ. 2513-2526
บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส พ.ศ. 2513-2526

 

เคยคิดว่าสามีจะตายไหมคะกับเหตุการณ์นี้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ หรือที่เรียกว่า ‘กบฏหลวง’ มิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนของนายปรีดีถูกจับกุม บางคนถูกสังหารโหด อย่างเช่น สี่อดีตรัฐมนตรี และเสรีไทยหลายคน ทำให้นายปรีดีเสียใจ เศร้าสลด และท้อแท้มาก นายปรีดีคิดจะทำลายตัวเอง แต่ฉันบอกว่า “ทำไม่ได้นะ การทำลายตัวเองคือความพ่ายแพ้ เราต้องอยู่ต่อไป สู้ต่อไป” ก็ให้กำลังใจเรื่องนี้

 

ประเทศจีน พ.ศ. 2495-2501
ประเทศจีน พ.ศ. 2495-2501

 

50 ปีที่อยู่ด้วยกัน มีช่วงเวลาที่ต้องแยกกันอยู่นานไหมคะ

ครั้งแรกห้าปี ครั้งหลังที่เมืองจีนอีกสามปี รวมราวๆ แปดปีที่แยกกันอยู่คนละประเทศ คนละทวีป

ในบั้นปลายชีวิตท่านได้ใช้ชีวิตกับท่านปรีดีในประเทศจีนและประเทศฝรั่งเศสอย่างไรคะ

ในประเทศจีน มีขอบเขตการดำเนินชีวิต ไม่ค่อยอิสระเท่าไหร่ เวลาไปไหนมาไหน ก็ต้องมีคนติดตามให้การอารักขา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีคนดู ทางรัฐบาลจีนให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ลูกๆ ที่ติดตามไปอยู่ที่นั่นก็ได้รับการศึกษาที่ดีของจีน ส่วนที่ฝรั่งเศสเป็นดินแดนแห่งความหลัง เราเคยใช้ชีวิตที่นั่น มีเสรีภาพและอิสระ นอกจากอยู่กับลูกๆ หลานๆ แล้ว ก็มีนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ยุโรป และที่อื่นๆ แวะมาหา ขอความรู้ นายปรีดีได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ มีความสุขดี

 

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 นายปรีดี พนมยงค์ ละสังขารจากโลกนี้ไปตามกฎความเป็นอนิจจัง
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
นายปรีดี พนมยงค์ ละสังขารจากโลกนี้ไปตามกฎความเป็นอนิจจัง

 

ตอนที่ท่านปรีดีสิ้นใจ คำพูดสุดท้ายที่ท่านพูดคืออะไรคะ

พูดอะไรจำไม่ได้แล้ว นายปรีดีนั่งเขียนหนังสือ ฉันยืนอยู่ข้างโต๊ะ ตกใจเอะอะเรียกคนไปหยิบยาฉุกเฉินที่ข้างๆ ตัว แล้วเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมาภายในสิบนาที

แล้วตอนนั้นท่านเตรียมใจอย่างไรคะ

เป็นธรรมชาติ ต้องกลับสู่ธรรมชาติ นายปรีดีสั่งไว้ว่าเผาให้เป็นเถ้าถ่านแล้วเอาไปลอยทะเลให้หมด ไม่ให้เก็บอัฐิไว้เลย

 

ปรีดีกลับคืนสู่ธรรมชาติ 11 พฤษภาคม 2529 ณ อ่าวไทย
ปรีดีกลับคืนสู่ธรรมชาติ
11 พฤษภาคม 2529 ณ อ่าวไทย

 

แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน แต่ดูเหมือนว่าความทรงจำของท่านผู้หญิงยังคงแจ่มชัด โดยเฉพาะเมื่อรำลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ท่านอาจารย์ปรีดีทำเพื่อแผ่นดิน และ มวลราษฎรไทย และตัวท่านผู้หญิงก็ได้ต่อสู้เคียงข้างท่านอาจารย์ปรีดีมาโดยตลอด จากการถูกใส่ร้ายต่างๆ นานา … ต่อสู้แม้เมื่อท่านอาจารย์ล่วงลับไปแล้ว จนกระทั่งคิดว่ามีผู้เข้าใจท่านอาจารย์ปรีดีมากขึ้นจึงได้ยุติ!

“วันนี้ต้องดีกว่าวันวานเป็นธรรมดา…”

ท่านผู้หญิงพูนศุขรำพึงอย่างมั่นใจและสุขใจ...[2]

 

ปรีดี - พูนศุข พนมยงค์

 

“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คือภรรยาและเพื่อนที่ดีที่สุดของข้าพเจ้าตลอดเวลา แม้ในยามประสบเคราะห์กรรม!”

ปรีดี พนมยงค์

 

ปรีดี - พูนศุข ที่ประเทศจีน
ปรีดี - พูนศุข ที่ประเทศจีน

 

“เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ”

บางส่วนของจดหมายที่ปรีดี เขียนลงวันที่ 3 ก.ค. 2475

 

ที่มา :

  1. จากกองบรรณาธิการนิตยสาร 'สาวิกา', "ชีวิตดั่งตำนาน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์," ใน ฅน (กรุงเทพฯ: เสถียรธรรมสถาน), น. 273-293.
  2. ภาพประกอบ : คลังรูปภาพปรีดี-พูนศุข สถาบันปรีดี พนมยงค์

หมายเหตุ : คัดเลือกเนื้อหาและแก้ไขเล็กน้อยโดยบรรณาธิการ


[1] พูนศุข พนมยงค์, หวนอาลัย, หน้า 447,449

[2] พูนศุข พนมยงค์, ไม่ขอรับเกียรติใดๆ ทั้งสิ้น, หน้า 382