ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ปรีดี พนมยงค์ กับ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (1)

17
มิถุนายน
2563

 

ข้อ 1.

ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน: วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่มีความสําคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย  เหตุการณ์สําคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 48 ปีก่อนนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยปัจจุบันหรือยุคสมัยแห่งประชาธิปไตย ตลอดเวลา 48 ปีที่ผ่านมานี้ได้มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองต่าง ๆ นานา และมีบ่อยครั้งเหลือเกินที่เจตนารมณ์ที่จะให้ “อํานาจการปกครองเป็นของปวงชน” นั้นได้ถูกทอดทิ้งไป  ในวาระครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จึงเป็นโอกาสอันควรที่จะน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนไตร่ตรองถึงปณิธานของคณะราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศตนและชักนําอุดมการแห่งประชาธิปไตยมาเผยแพร่และปฏิบัติในประเทศไทย

48 ปีนั้นเทียบเป็นเวลาได้ราวสองชั่วรุ่นของคน  รุ่นที่เริ่มมีบทบาทเป็นผู้นําของประเทศในขณะนี้ หลายคนก็ยังไม่เกิดเมื่อปี 2475  หลายคนก็ยังมีอายุน้อยอยู่ในขณะนั้น จึงอาจจะไม่ทราบเรื่องราวโดยละเอียดและถ่องแท้  ดังนั้น ในโอกาสนี้ใคร่ขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าสายพลเรือนของคณะราษฎร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นเพื่อให้อนุชนได้รับทราบและจารึกไว้ต่อไป

นายปรีดี พนมยงค์: ผมขอขอบคุณสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้ระลึกถึงวันสําคัญแห่งประวัติศาสตร์ไทย ผมยินดีตอบคําถามสัมภาษณ์ของสหภาพฯ โดยเขียนคําตอบพอสังเขปเพื่อนําไปเสนอผู้รักชาติรักประชาธิปไตยรับไว้ประกอบการพิจารณา  ผมขอให้นักศึกษาผู้หนึ่งอ่านคําตอบแทนตัวผมด้วย

 

ข้อ 2.

ผู้แทนสหภาพฯ: ก่อนอื่นใคร่ขอเรียนถามถึงปณิธานของคณะราษฎรในปี 2475

ป.พ.: ความมุ่งหมายหรือปณิธานของคณะราษฎรปรากฏตามคําแถลงของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเอกสารหลักฐานหลายฉบับของทางราชการและทางรัฐสภาที่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบ ในระหว่างเวลา 14 ปีเศษ นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

สาระสําคัญ คือ

1. เปลี่ยนการปกครองแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอํานาจเหนือกฎหมาย (เรียกตามศัพท์ไทยว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”) นั้น มาสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

2. พัฒนาประเทศตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ

(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

(3) จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน

(5) จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

(6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

คุณจะเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายหรือปณิธานของคณะราษฎรนั้นตรงกับหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน (Human rights)

 

ข้อ 3.

ผู้แทนสหภาพฯ: มาบัดนี้เหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาแล้ว 48 ปี ฯพณฯ พอจะประมาณได้ไหมครับว่า  ประเทศไทยได้พัฒนาสมตามความมุ่งหมายหรือปณิธานของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากน้อยเพียงใด

ป.พ.: ก่อนอื่นผมขอให้คุณและสหภาพฯ โปรดสังเกตว่า ระหว่างเวลา 48 ปีตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมานั้น สยามหรือประเทศไทยได้มีระบบปกครองหลายระบบที่แตกต่างกัน จึงมิได้มีแต่เพียงคณะราษฎรเท่านั้นซึ่งมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หากมีคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น ๆ อีกหลายคณะหลายกลุ่มซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามระบบที่แตกต่างกับคณะราษฎร

คณะบุคคลหรือบุคคลอื่น ๆ นอกจากคณะราษฎรนั้นก็มีชื่อของคณะบุคคลปรากฏแจ้งอยู่แล้ว อาทิ

(1) คณะรัฐประหาร (8 พ.ย. 2490)

(2) คณะบริหารประเทศชั่วคราว (29 พ.ย. 2494)

(3) คณะทหาร (16 ก.ย. 2500)

(4) คณะปฏิวัติ (20 ต.ค. 2501)

(5) คณะปฏิวัติ (17 พ.ย. 2514)

(6) สมัชชาแห่งชาติ (10 ธ.ค. 2516)

(7) คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (6 ต.ศ. 2519)

(8) คณะปฏิวัติ (20 ต.ค. 2520)

(9) รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามระบบต่าง ๆ ซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

คุณและสหภาพฯ ย่อมสังเกตได้ว่า ในระหว่างเวลา 33 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 จนถึงปัจจุบันนี้ ภายในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบปกครองและเปลี่ยนรัฐบาลโดยวิธีที่มิใช่วิถีทางรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมากมายหลายครั้ง  จนเหลือวิสัยของสามัญชนที่จะนับให้ครบถ้วนได้  แม้ว่าประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่เคยชนะประวัติการณ์มาก่อนประเทศไทยว่า มีสถิติสูงในการยึดอํานาจรัฐเปลี่ยนระบบปกครองและรัฐบาลนั้น แต่ก็สู้ประเทศไทยไม่ได้ที่ในระยะเวลาเท่ากัน คือ 33 ปีนั้น มีสถิติสูงสุดยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในการยึดอํานาจรัฐเปลี่ยนระบบและเปลี่ยนรัฐบาลที่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตย

ฉะนั้น ผมขอให้คุณและสหภาพฯ จําแนกคําถามสัมภาษณ์ออกเป็น 2 ตอน คือ

ตอนที่หนึ่ง การพัฒนาประเทศไทยตามปณิธานของคณะราษฎรระหว่างเวลา 14 ปีเศษที่คณะราษฎรมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

ตอนที่สอง การพัฒนาประเทศไทยภายหลังที่คณะราษฎรพ้นจากหน้าที่บริหารหรือควบคุมบริหารราชการแผ่นดินแล้ว

 

ข้อ 4.

ผู้แทนสหภาพฯ: ขอเรียนถามว่า ในตอนที่คณะราษฎรมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินนั้น คณะราษฎรได้ปฏิบัติให้สําเร็จตามความมุ่งหมายหรือปณิธานของคณะราษฎรในการสถาปนาระบบประชาธิปไตยอย่างไร

ป.พ.: ในระหว่างเวลา 14 ปีเศษตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น คณะราษฎรได้ดําเนินการเป็นขั้น ๆ ไปในการสถาปนาระบบปกครองประชาธิปไตยดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 ระบบประชาธิปไตยตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งตราขึ้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย  เพราะธรรมนูญฉบับนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานในขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งทรงเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ที่จะทรงปฏิบัติการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่มีตําแหน่งโดยชอบด้วยกฎหมายลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

โปรดสังเกตด้วยว่าพระราชกําหนดนิรโทษกรรมฉบับ 26 มิถุนายน 2475 นั้น ได้ตราขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย เพราะขณะลงพระปรมาภิไธยพระราชทานนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งทรงเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยตามเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างบนนั้น

ขั้นที่ 2 ระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 มิใช่บัญญัติขึ้นโดยพลการของคณะราษฎร ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 จึงถูกต้องสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ส่วนบทเฉพาะกาลนั้นที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นจํานวนกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นเรื่องของระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมที่สําคัญในระยะ 10 ปี ต่อมาแก้ไขเป็น 20 ปี แต่เมื่อใช้มาเพียง 14 ปี ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 แล้วบทเฉพาะกาลดังกล่าวนั้นก็ยกเลิกไป

ผมขอให้ข้อสังเกตไว้ในที่นี้ว่า ภายหลัง 3 เดือนที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แล้วนั้น ครั้นถึงวันที่ 1 เมษายน 2476 (ตามปฏิทินสมัยนั้น) พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีจํานวนหนึ่งได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ต่อมาอีก 2 เดือนเศษคือ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาหัวหน้าคณะราษฎร ได้นําทหารบก, ทหารเรือ, พลเรือน, ยึดอํานาจการปกครองอีกครั้งหนึ่งแล้วกราบบังคมทูลขอให้ทรงเปิดสภาฯ

ขั้นที่ 3 ระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จึงถูกต้องสมบูรณ์และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แม้ว่าจะได้มีบทเฉพาะกาลกําหนดไว้เฉพาะวาระเริ่มแรกให้มีการตั้งสมาชิกพฤฒิสภาโดยองค์การเลือกตั้ง แต่องค์การเลือกตั้งประกอบด้วยผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อครบวาระแรกแล้วผู้ที่ราษฎรเลือกก็เป็นสมาชิกพฤฒิสภาตามที่นิยมกันในประเทศประชาธิปไตย

ระบบปกครองรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นประชาธิปไตยถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

อนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ดังปรากฏความดังต่อไปนี้

มาตรา 13 บุคคลย่อมมีเสรีภาพสมบูรณ์ในการถือศาสนา หรือลัทธินิยมใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา 14 บุคคลย่อมมีเสรีภาพสมบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การ อาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย

มาตรา 15 บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ระบบปกครองแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญที่อ้างข้างบนนั้น จึงตรงกับหลักการว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน”

ผมขอให้คุณและสหภาพฯ โปรดเปรียบเทียบว่าระบบปกครองต่าง ๆ ตั้งแต่รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้นเป็นประชาธิปไตยและถูกต้องตามหลักการว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน” เพียงใดหรือไม่

 

ข้อ 5.

ผู้แทนสหภาพฯ : ขอเรียนถามว่า คณะราษฎรได้ปฏิบัติตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรสําเร็จไปในระหว่างเวลาที่คณะราษฎรมีอํานาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินนั้นเพียงใดบ้าง

ป.พ.: คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และต่อสู้การโต้อภิวัฒน์จากภาย ในคณะและจากภายนอกคณะมาหลายครั้งหลายหน แต่สมาชิกส่วนมากของคณะราษฎรก็ได้ปฏิบัติตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร สําเร็จไปก่อนวันที่ 9 พ.ค. 2489 (อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์) คือ

(1) หลักประการที่ 1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

ผมขอให้คุณและสหภาพฯ โปรดระลึกถึงฐานะของสยามหรือประเทศไทยก่อน 24 มิถุนายน 2475 ว่า สมัยนั้นประเทศไทยไม่มีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เพราะจําต้องทําสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศทุนนิยมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า จักรวรรดินิยม (Imperialism) หลายประเทศ ที่มีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทําผิดในดินแดนประเทศไทย แต่ศาลไทยก็ไม่มีอํานาจตัดสินชําระลงโทษคนทําผิดเหล่านั้น หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทําผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชําระคดี

แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษและฝรั่งเศสยอมผ่อนผันให้มีศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทย และที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็ตาม แต่ในสนธิสัญญาก็ได้กําหนดไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยกับที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปขัดแย้งกัน ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปเป็นใหญ่กว่าความเห็นของผู้พิพากษาไทย โดยไม่ต้องคํานึงว่า ผู้พิพากษาไทยมีจํานวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป  แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กําหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอํานาจที่จะถอนคดีไปชําระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ 

สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสําหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่า “สภาพนอกอาณาเขต” (Extraterritoriality)

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวก็มีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้ตามที่สนธิสัญญากําหนดไว้คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาให้ประเทศไทยได้สิทธิมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกําหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษโดยได้ สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินเรือ ฯลฯ และมีอํานาจกับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย

ต่อมาใน พ.ศ. 2480 รัฐบาลซึ่งพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมหลายประเทศดังกล่าวแล้ว ได้มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่ ที่ประเทศไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการการ

ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกราน และรัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพลพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามและก่อสถานะสงครามแก่หลายประเทศสัมพันธมิตร ขบวนการเสรีไทยก็ได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อันเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทย ดังปรากฏตามเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งผมได้นําลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของผมว่าด้วย “จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา”

หลักประการที่ 2 จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

ผมหวังว่าคุณและสหภาพฯ สามารถเปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายต่อกันสมัยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับภายหลัง 24 มิถุนายน ปีนั้นว่าจํานวนการประทุษร้ายภายหลัง 24 มิถุนายน นั้นได้ลดน้อยลงมากเพียงใด และขอให้เปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายภายหลังวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นวันล้มระบบ ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่าการประทุษร้ายต่อกันได้เพิ่มขึ้นมากขนาดไหน

หลักประการที่ 3 จะต้องบํารุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

ผมหวังว่าคุณก็ทราบแล้วว่าผมในนามของสมาชิกคณะราษฎรส่วนมาก ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามหลักประการที่ 3 นั้น แต่ก็เกิดอุปสรรคขัดขวางที่ไม่อาจวางโครงการตามเค้าโครงการที่ผมได้เสนอนั้นได้ แม้กระนั้นคณะราษฎรก็ได้พยายามที่จะบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยหางานให้ราษฎรจํานวนมากได้ทํา จึงไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ขอให้ท่านที่มีความปรารถนาดีโปรดพิจารณาสถิติการโจรกรรม อันเนื่องจากความอดอยากของราษฎรนั้น ในสมัยก่อน 24 มิถุนายน 2475 กับภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 และภายหลัง 8 พ.ย. 2490 เป็นต้นมาตามที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในเวลานี้

หลักประการที่ 4 จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน

ผมขอให้คุณและสหภาพฯ ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งความไม่เสมอภาคระหว่างคนไทยนั้นก็ย่อมทราบแล้วว่า ก่อน 24 มิถุนายน 2475 พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปมีสิทธิพิเศษกว่าสามัญชนหลายประการ อาทิ ในทางการศาลที่ท่านเหล่านั้นต้องหาเป็นจําเลยในคดีอาญาก็ไม่ต้องขึ้นศาลอาญา หากพระองค์ทรงขึ้นต่อศาลกระทรวงวังเป็นพิเศษ ฯลฯ

ต่อมาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ได้สถาปนาสิทธิเสมอภาคกันของราษฎรไทยทั้งหลายอันเป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 และ 9 พ.ค. 2489

หลักประการที่ 5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

ผมหวังว่าคุณและสหภาพฯ ย่อมเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อก่อน 24 มิถุนายน 2475 นั้น ราษฎรมีเสรีภาพสมบูรณ์อย่างใดบ้างเมื่อเทียบกับหลัง 24 มิถุนายน นั้น และเทียบกับภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 อันเป็นวันล้มระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นั้นว่า แม้แต่จะได้มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ แต่ในทางปฏิบัติได้มีการหลีกเลี่ยงโดยวิธีประกาศภาวะฉุกเฉินและประกาศกฎอัยการศึก เกินกว่าความจําเป็นเพียงใดบ้าง

หลักประการที่ 6 จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ผมหวังว่าคุณและสหภาพฯ ย่อมเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น การศึกษาได้ถูกจํากัดอย่างไรและภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ราษฎรได้มีสิทธิศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด และภายหลัง 8 พ.ย. 2490 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ราษฎรต้องถูกจํากัดการศึกษาอย่างใดบ้าง

 

ข้อ 6.

ผู้แทนสหภาพฯ : ขอเรียนถามว่า ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 แล้วระบบประชาธิปไตยได้ดําเนินไปอย่างใดบ้าง

ป.พ. : (1) ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับนั้นแล้ว คณะราษฎรก็พ้นจากหน้าที่บริหารและหมดหน้าที่ในการมีส่วนควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคําเสนอของรัฐบาล ฉะนั้น ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ในสภาฯ นั้นจึงหมดหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนและพฤฒสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร

ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎรจึงแยกย้ายกันไปประกอบธุรกิจของตน คือ ส่วนหนึ่งไปประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อีกส่วนหนึ่งสมัครใจรับใช้ชาติทางการเมืองโดยสังกัดพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามทรรศนะคติของแต่ละคน อาทิ นายควง อภัยวงศ์ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ, นายสงวน ตุลารักษ์ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคสหชีพ ฯลฯ ส่วนผมมิได้สังกัดพรรคใด ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง 9 พ.ค. 2489 จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

ฉะนั้น บุคคลใดในสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคใด แต่ถ้าเป็นรัฐบาลภายหลังวันดังกล่าวนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นต่อการบริหารของตน อาทิ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2489 ผมก็รับผิดชอบในนามของผมเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น  พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 29 ส.ค. 2489 ถึง 8 พ.ย. 2490 ก็รับผิดชอบในนามของตนเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎรที่สลายไปแล้ว ฉะนั้น จึงไม่เป็นธรรมที่จะให้นายควงฯ หรือผู้ก่อการฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดังกล่าวรับผิดชอบด้วย

(2) ระบบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยมีระบบปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตยซึ่ งบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบปกครองชนิดดังกล่าวนั้น รวมทั้งผู้นิยมชมชอบด้วยต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

 

ข้อ 7.

ผู้แทนสหภาพฯ : โปรดกรุณาชี้แจงว่า ระบบประชาธิปไตยหยุดชะงักลงตั้งแต่ 8 พ.ย. 2490 จนถึงปัจจุบันนี้อย่างใดบ้าง

ป.พ. : เอกสารหลักฐานทางราชการและทางรัฐสภาปรากฏชัดแจ้งแล้วซึ่งผมขอสรุปดังต่อไปนี้

(1) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอํานาจปกครองประเทศไทย โดยล้มระบบประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 ที่ได้บัญญัติไว้โดยถูกต้องตามวิธีการของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทาน

ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนาระบบการปกครองใหม่โดยพลการ คือ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งได้บัญญัติให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกได้รับการแต่งตั้ง มิใช่ด้วยการเลือกตั้งจากราษฎร  ฉะนั้น จึงเป็นการดึงให้ประเทศไทยเดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่ สมบูรณ์  ระบบของคณะรัฐประหารนั้นเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และเป็นแม่บทให้แก่ระบบปกครองต่อ ๆ มาอีกหลายระบบ ซึ่งบางครั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและบางครั้งไม่มีวุฒิสภา แต่ได้เอาวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่เลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 นั้นกลับมาใช้อีก

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(2) แม้ว่าระบบปกครองประเทศไทยได้ดําเนินตามแม่บทของคณะรัฐประหารเป็นเวลารวมได้ 12 ปีเศษ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะบุคคลอีกคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” โดยจอมพล สฤษดิ์ฯ เป็นหัวหน้าได้ทําการยึดอํานาจการปกครองประเทศ และใช้อํานาจเด็ดขาดโดยสิ่งที่เรียกว่า “คําสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติมีอํานาจเด็ดขาดสั่งจําคุกและสั่งประหารชีวิตบุคคลที่ต้องหาว่ากระทําผิดนั้นได้ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดนั้นให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2502 ได้ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตามมาตรา 17 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรี (จอมพล สฤษดิ์ฯ) โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งหรือกระทําการใดๆ ได้ ซึ่งหมายถึงอํานาจเด็ดขาดสั่งจําคุกและสั่งประหารชีวิตตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรในการปราบปราม การบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์หรือการบ่อนทําลายความสงบที่เกิดภายในหรือภาย นอกราชอาณาจักร

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(3) ในคําปรารภแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับดังกล่าวใน (2) นั้นกล่าวไว้ใจความว่า ธรรมนูญฉบับนั้นใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ฉะนั้น ในวันที่ 3 ก.พ. 2502 นั้นจึงได้มีประกาศแต่งตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 240 คน

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 ปีจึงร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมตามความประสงค์นั้นสําเร็จ ผมขอให้สหภาพฯ กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ในโลกนี้ที่ไม่เคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดเลยที่ใช้เวลานานถึง 9 ปีในการร่างรัฐธรรมนูญ และผมขอให้สหภาพฯ โปรดสํารวจด้วยว่าใน ระหว่างเวลา 9 ปีนั้น ชาติไทยต้องเสียเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นจํานวนเท่าใด

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบเผด็จการนั้นรวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบบเผด็จการนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

(4) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการร่างนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ใช้ต่อมาได้เพียง 3 ปี 5 เดือนเท่านั้น ครั้นถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 นั้นก็ได้ทําการยึดอํานาจปกครองประเทศโดยล้มระบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้น แล้วปกครองประเทศโดย “คําสั่งคณะปฏิวัติ” ได้เหมือนดังที่กล่าวใน (2) และต่อมาได้มีประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515” ซึ่งให้อํานาจนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่กล่าวใน (2) นั้น

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้อีกว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบเผด็จการนั้นรวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบบเผด็จการนั้นต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(5) ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลจอมพล ถนอมฯ พ้นจากตําแหน่งแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อมานั้นได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง แล้วได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สภาฯ นั้นพิจารณาเห็นชอบให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกได้รับแต่งตั้งจากราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เมื่อวัน ที่ 7 ตุลาคม 2517 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้น แต่ได้พระราชทานพระราชดําริกับข้อสังเกตบางประการที่ทรงค้านว่า ขัดต่อหลักปกครองประชาธิปไตย ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิกโดยเปลี่ยนจากประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ เช่นเดียวกับวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของคณะรัฐประหารและของฉบับ พ.ศ. 2492 ซึ่งมีผู้โฆษณาให้คนหลงเข้าใจผิดว่า เป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น แทนที่จะให้ราษฎรเป็นผู้เลือกทั้งวุฒิสมาชิก สภานิติบัญญัติเห็นชอบด้วยตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้วรัฐบาลนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้า ฯ ลงนามพระปรมาภิไธยให้ใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2518” เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2518

ระบบปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎรที่ต้องรับผิดชอบ

(6) เมื่อได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2518 ดังกล่าวใน (6) ข้างบนนั้น ได้ประมาณ 1 ปีเศษก็มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ได้ทําการยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินล้มระบบปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวใน (5) นั้นเมื่อ พ.ศ. 2519 และได้ปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คําสั่งคณะปฏิรูป” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปมีอํานาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับจอมพล สฤษดิ์ฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2501 และจอมพล ถนอมฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 17 พ.ย. 2514 ที่ได้มีอํานาจดังกล่าวนั้นมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2519 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กําหนดไว้ในมาตรา 29 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีใช้อํานาจเด็ดขาดดังกล่าวนั้นด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทํานองเดียวกับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับพ.ศ. 2502 ที่ให้อํานาจเด็ดชายแก่รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ฯ และฉบับพ.ศ. 2514 ให้อํานาจเด็ดขาดแก่จอมพลถนอมฯ ดังที่ได้กล่าวแล้วใน (2) และ (4) นั้น

อนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจําคุกผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(7) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 ก็ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” ภายใต้การนําของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้ทําการยึดอํานาจปกครองประเทศและได้ใช้อํานาจเด็ดขาดปกครองประเทศ โดยสิ่งที่เรียกว่า คําสั่งคณะปฏิวัติ ทํานองเดียวกับที่จอมพล สฤษดิ์ฯ และจอมพล ถนอมฯ และพล.ร.อ. สงัดฯ นั่นเองได้เคยใช้อํานาจเด็ดขาดมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2520 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ซึ่งได้กําหนดไว้ในมาตรา 27 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีใช้อํานาจเด็ดขาดโดยความเห็นขอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ ทํานองเดียวกันที่ได้กล่าวใน (2), (4), (6), นั้น

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดสั่งลงโทษผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(8) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติหลายประการที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ซึ่งสาระสําคัญ สืบจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ กําหนดให้มีรัฐสภา คือ สภาผู้แทน ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ระบบปกครองดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

 

(ยังมีต่อ…)

 

ที่มา: สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2523 ที่เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส

 

* โคทม อารียา เป็นผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สัมภาษณ์นายปรีดี.