ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ปรีดี พนมยงค์ กับ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2)

24
มิถุนายน
2563

 

ข้อ 8.

ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน: ขอเรียนถามว่า ท่านมีความเห็นอย่างไร ต่อความคิดของหลายคนที่เขียนบทความบ้าง เขียนเป็นหนังสือเล่มบ้าง พูดปรารภกันบ้างว่า อยากให้มีระบบปกครองที่รัฐบาลมีอํานาจเด็ดขาดอย่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปราบปรามโจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันที่ชุกชุมนั้นให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นไป 

ปรีดี พนมยงค์: ผมมีความเห็นต่อเรื่องที่คุณถามนั้น ดังต่อไปนี้

1. ผมเห็นใจผู้ที่ปรารถนาให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันลดน้อย หรือหมดสิ้นไปในประเทศไทย ส่วนวิธีที่จะทําให้เรื่องเหล่านั้นลดน้อยหรือหมดสิ้นไปนั้น ก็ต้องวินิจฉัยว่า เรื่องเหล่านั้นเกิดจากสมุฏฐานใด ให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาถึงวิธีที่จะแก้ให้เรื่องชั่วร้ายเหล่านั้นลดน้อยลงหรือเสื่อมสลายไปในที่สุดได้

ผมขอให้สหภาพฯ เปรียบเทียบว่า โรคภัยต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น ต้องใช้วิธีแก้ไข 2 ทางประกอบกัน คือ วิธีที่หนึ่ง “ป้องกัน” เพื่อมิให้โรคนั้นเกิดขึ้น และวิธีที่สองคือ “รักษา” เมื่อโรคนั้นเกิดขึ้น

ส่วนวิธีรักษาโรคนั้น ผู้ป่วยเจ็บก็ต้องขอให้แพทย์รักษา ผู้ป่วยจะกําหนดเอาเองไม่ได้ว่า ขอให้แพทย์ผ่าตัดอวัยวะของตน แพทย์ที่ดีก็จะไม่ยอมทําตามใจผู้ป่วย หากแพทย์ต้องตรวจอาการคนป่วยให้รู้สมุฎฐานถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงใช้วิธีรักษาตามสมุฏฐานนั้น ซึ่งอาจใช้วิธีรักษาทางยาหรือวิธีรักษาทางศัลยกรรม หรือผ่าตัดตามสภาพความเหมาะสมแก่สมุฏฐานของโรค มิใช่ศัลยแพทย์ใช้วิธีผ่าตัดเสมอไป  เพราะโรคหลายชนิดไม่อาจรักษาให้หายได้โดยวิธีผ่าตัด หากต้องรักษาทางยาฉันใดก็ดี  โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกัน ซึ่งเป็นโรคร้ายของสังคมนั้น ก็ไม่อาจรักษาให้หายได้โดยวิธีจับคนที่ถูกสงสัยว่า กระทําความผิดมาประหารชีวิต แต่จะต้องใช้วิธีที่เหมาะสมแก่สมุฏฐานที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมนั้น ๆ

2. ก่อนที่ผมจะชี้แจงว่า การใช้อํานาจเด็ดขาดของจอมพล สฤษดิ์ฯ ขัดแย้งต่อระบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงไรหรือไม่  ผมขอให้สหภาพฯ พิจารณาสถิติที่พิสูจน์ได้ว่า แม้จอมพล สฤษดิ์ฯ ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตบุคคลที่สงสัยว่า เป็นผู้วางเพลิงที่ห้องแถวในตําบลตลาดพลูนั้น แต่การวางเพลิงก็หาได้ลดน้อยลงไม่,  การสั่งประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ และนายรวม วงศ์พันธ์ ที่ต้องหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ก็มิได้ทําให้ขบวนการคอมมิวนิสต์มีสมาชิกลดน้อยลงในการต่อสู้กับกําลังของฝ่ายรัฐบาล หากขบวนการคอมมิวนิสต์ได้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น,  การใช้อํานาจเด็ดขาดประหารชีวิตผู้ค้า “เฮโรอิน” หลายราย ก็ไม่ทําให้การค้าเฮโรอินลดน้อยลง หากมีการเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย ทําให้คนไทยติดเฮโรอินเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนบัดนี้มีประมาณหลายแสนคน เป็นที่น่าวิตกถึงอนาคตของชาติไทยจะเสื่อมไปอย่างไร หรือไม่ 

ส่วนโจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมนั้น ผมขอให้สหภาพฯ ช่วยสอบถามสํานักนายกรัฐมนตรีว่า จอมพล สฤษดิ์ฯ สั่งประหารชีวิตหรือจําคุกแก่โจรหรือผู้ร้ายรายใดบ้าง และสอบถามสถิติของกรมตํารวจว่า อาชญากรรมได้ลดน้อยลงเพียงใดบ้าง และโปรดศึกษาค้นคว้าด้วยว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงที่หลายคนเรียกทับศัพท์อังกฤษว่า “คอรัปชั่น” ที่เป็นยอดของโจรกรรม คือ การเอาทรัพย์สินส่วนรวมของชาติเป็นจํานวนหลายแสนหลายล้านหรือหลายพันล้านบาทนั้น ได้ลดน้อยลงหรือทวีขึ้นเป็นประวัติการณ์

อนึ่ง จอมพล สฤษดิ์ฯ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ซึ่งไม่มีทางที่จะฟื้นคืนชีพได้ ฉะนั้น สําหรับผู้ที่ต้องการระบบปกครองที่รัฐบาลมีอํานาจเด็ดขาดอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯ นั้น ก็ควรพิจารณาถึงบุคคลที่เป็นผู้ใช้อํานาจเด็ดขาดต่อจากจอมพล สฤษดิ์ฯ และผู้ใช้อํานาจเด็ดขาดอีกหลายท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้  คือ

(1) เมื่อจอมพล สฤษดิ์ฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว  ครั้นถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2506 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก (ยศขณะนั้น) ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี  ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อํานาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2502 นั้น ต่อไปจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อันเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 ปีในการร่างนั้น

ก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น จอมพล ถนอมฯ ก็ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจําคุกตลอดชีวิต ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดหลายราย โดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา ฉะนั้น ผู้ใดคิดว่า การใช้อํานาจเด็ดขาดดังกล่าวทําให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงได้ไซร้  ผู้ต้องการระบบเด็ดขาดเช่นนั้นก็อาจจะสนับสนุนจอมพล ถนอมฯ ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของจอมพล สฤษดิ์ฯ และเคยใช้อํานาจเด็ดขาดมาแล้วอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯ ให้กลับมาปกครองประเทศต่อไป

(2) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิ.ย. 2511 แล้ว ครั้นถึงวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพล ถนอมฯ ที่เป็นผู้ลงนามรับสนองรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้นเอง ก็ได้ทําการยึดอํานาจปกครองประเทศ โดยล้มระบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้น แล้วปกครองประเทศโดยคําสั่งคณะปฏิวัติเหมือนจอมพล สฤษดิ์ฯ และต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515 ซึ่งให้อํานาจนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่จอมพล สฤษดิ์ฯ และจอมพล ถนอมฯ เคยมีอํานาจเด็ดขาดตามธรรมนูญนั้นมาแล้ว

จอมพลถนอมฯ ยังมีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ ผู้ต้องการระบบปกครองที่รัฐบาลมีอํานาจเด็ดขาดนั้นจึงอาจคิดถึงจอมพล ถนอมฯ เพื่อหวังเชิญท่านใช้อํานาจเด็ดขาดอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯ

(3) เมื่อ พ.ศ. 2519 พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับที่จอมพล สฤษดิ์ฯ และจอมพล ถนอมฯ ได้ปฏิบัติมาตามที่ผมได้กล่าวแล้ว ฉะนั้น ถ้าผู้ใดเห็นว่า การใช้อํานาจเด็ดขาดทําให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไปแล้ว ผู้นั้นก็อาจขอให้ พล.ร.อ. สงัดฯ กลับมาใช้อํานาจเด็ดขาดอีก

(4) เมื่อ พ.ศ. 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ใช้อํานาจเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2519 โดยสั่งประหารชีวิตและจําคุกผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดหลายราย โดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา  ถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อํานาจเด็ดขาดนั้นทําให้โจรกรรมและการ ประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไปและนายธานินทร์ฯ ก็ยังมีชีวิตอยู่ ผู้นั้นก็อาจจะเรียกร้องให้นายธานินทร์ฯ กลับมาใช้อํานาจเด็ดขาดอีก

(5) เมื่อ พ.ศ. 2520 พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ซึ่งเปลี่ยนสภาพจากการเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปนั้นมาเป็น “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” ได้ทำการยึดอํานาจปกครองประเทศและได้ใช้อํานาจเด็ดขาดปกครองประเทศเช่นเดียวกับจอมพล สฤษดิ์ฯ และจอมพล ถนอมฯ และนายธานินทร์ฯ และพล.ร.อ. สงัดฯ นั้นเองได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ถ้าผู้ใดเห็นว่า การใช้อํานาจเด็ดขาดนั้น ทําให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไป ผู้นั้นก็อาจขอร้องให้ พล.ร.อ. สงัดฯ กลับมาใช้อํานาจเด็ดขาดอีก

(6) พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เคยใช้อํานาจเด็ดขาดตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ฉบับ 9 พ.ย. 2520 ที่ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับจอมพล สฤษดิ์ฯ  และบุคคลหลายคนที่เคยมีอํานาจเด็ดขาดตามที่ผมได้กล่าวแล้วนั้น ถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อํานาจเด็ดขาดนั้นทําให้โจรกรรมและการประทุษร้ายในสังคม ลดน้อยลงไป และ พล.อ. เกรียงศักดิ์ฯ ก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้ต้องการระบบปกครองที่มีอํานาจเด็ดขาดนั้นก็ อาจเรียกร้องให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ฯ กลับมาใช้อํานาจเด็ดขาดอีก

3. ระบบปกครองของจอมพล สฤษดิ์ฯ ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ก็ดี และระบบปกครองที่ให้อํานาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้าคณะรัฐบาลใด ๆ ก็ดีนั้น มิเพียงแต่เป็นระบบที่ผิดต่อระบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น หากยังเป็นระบบที่ผิดต่อ “ราชธรรม” แห่งระบบพระมหากษัตริย์ด้วย

(1) นักเรียนและประชาชนไทยจํานวนไม่น้อยทราบแล้วว่า ระบบประชาธิปไตยนั้นแบ่งอํานาจรัฐออกเป็น 3 ส่วน คือ อํานาจนิติบัญญัติ, อํานาจบริหาร, อํานาจตุลาการ

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงทรงใช้อํานาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา, ทรงใช้อํานาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี, ทรงใช้อํานาจตุลาการทางศาล

ฉะนั้น ระบบของจอมพล สฤษดิ์ฯ ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ก็ดี และระบบที่ให้อํานาจเด็ดขาดของหัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้ารัฐบาลใด ๆ ที่เป็นเพียงฝ่ายบริหารนั้น ประหารชีวิตหรือจําคุกผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดได้ โดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษานั้น จึงเป็นระบบที่ผิดต่อระบบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง และเป็นการละเมิดต่อพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ แม้มุสโสลินี จอมเผด็จการฟาสซิสต์ หรือเผด็จการของคณะนายพลญี่ปุ่น (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ไม่เคยบังอาจล่วงล้ําพระราชอํานาจแห่งพระมหากษัตริย์ของตน

(2) เมื่อ พ.ศ. 2474 (ก่อนเปลี่ยนการปกครอง) สภานิติศึกษาได้มอบให้ผมเป็นผู้สอนกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมนั้น ผมได้กล่าวถึงทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร, ราชจรรยานุวัตร, ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ครั้งยังดํารงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้เคยถวายวิสัชนาในงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก ร.ศ. 112 และผมได้กล่าวถึงพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 5) ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ แจกเมื่อ พ.ศ. 2470 นั้น มีพระราชดํารัสของรัชกาลที่ 5 ตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นสมควรว่า ราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกําหนดตามแบบเดิม  แต่ในข้อนี้เป็นข้อจริงอย่างไร คือ เหมือนหนึ่งไม่กําหนดตามคําพูดอันนอกแบบเช่น เรียกพระนามว่า เจ้าชีวิต ซึ่งเป็นที่หมายว่า มีอํานาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่มีผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทําได้ แต่ไม่เคยทําเลยนั้น ก็จะเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว” (ขณะมีพระราชดํารัสนั้นเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว)

ทั้งนี้ความปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลังนั้น ไม่เคยทรงสั่งประหารชีวิตผู้ใดเลย ถ้าบุคคลใดต้องหาว่ากระทําความผิด อัยการก็ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาพิพากษาตามกระบวนความ  ถ้าศาลยุติธรรมได้ตัดสินคดีถึงที่สุดแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนจอมพล สฤษดิ์ฯ และบุคคลอื่น ๆ ที่มีอํานาจเด็ดขาดดังกล่าวมาแล้วในคําตอบข้อ 7 นั้น เมื่อได้สั่งประหารชีวิตบุคคลใดแล้ วก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ทําการประหารชีวิตบุคคลนั้น ๆ โดยไม่ชักช้า จึงไม่มีการพิจารณาอภัยโทษเช่นที่เคยปฏิบัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จอมพล สฤษดิ์ฯ และบุคคลอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้นจึงมีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย และมีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์แห่งระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลังนั้น  ถ้าจะเรียกอํานาจที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นศัพท์ไทยก็ควรได้แก่ “อภิสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่ถ้าจะพิจารณาธาตุแท้ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมไซร้สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” และอํานาจเด็ดขาดของฝ่ายบริหารที่สั่ง ประหารชีวิตบุคคลใดนั้น ก็คือ “ระบบเผด็จการทาส” (Slave dictatorship) ดึกดําบรรพ์ ซึ่งประมุขสังคมทาสมีอํานาจเด็ดขาดที่จะประหารชีวิตมนุษย์ในสังคมได้โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินว่า ผู้ต้องหากระทําความผิดจริงหรือไม่

(3) ตามธรรมนิยมของอารยประเทศ ซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ อดีตอธิบดีศาลฎีกา และอดีตประมุขตุลาการสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคําพิพากษาฎีกาที่ 326/2455 ว่า

“...ในคดีที่เป็นอุกฤษฏโทษถึงตาย ถ้าการพิจารณามิกระจ่างจะฟัเอาพิรุธนายถมยา ลงโทษถึงตายนี้ยังหมิ่นเหม่มิบังควรและธรรมภาษิตว่าไว้ว่า ปล่อยคนทําผิดเสีย 10 คน ก็ยังดีกว่าลงโทษคนที่หาผิดมิได้คนหนึ่ง ดังนี้”

ประเทศอารยะยอมรับความจริงว่า แม้ศาลยุติธรรมที่เป็นคณะประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคนนั้นก็อาจตัดสินผิดข้อเท็จจริงได้ ฉะนั้น จึงได้บัญญัติให้ผู้ที่ถูกศาลตัดสินผิดนั้น แต่ต่อมาได้หลักฐานใหม่แสดงความบริสุทธิ์ของตน ก็มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งบัญญัติในสมัย รัชกาลที่ 5 แล้วใช้อยู่จนถึง พ.ศ. 2499 นั้นก็มีบทลงโทษพยานเท็จ อันเป็นเหตุให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาผิดข้อเท็จ

ดังนั้น ถ้าผู้เผด็จการคนเดียวมีอํานาจตัดสินลงโทษบุคคลไซร้ ก็อาจตัดสินผิดข้อเท็จจริงได้มากกว่าศาลที่ประกอบเป็นคณะผู้พิพากษาหลายคน

ผมขอให้ผู้ที่ต้องการระบบเผด็จการทาสดังกล่าวโปรดคิดถึงอกท่านเองว่า ถ้าท่านหรือบิดามารดาบุตรหลานของท่าน ถูกเผด็จการตัดสินประหารชีวิตผิดข้อเท็จจริงไซร้ ท่านจะมีความรู้สึกอย่างไร

(4) ผมขอให้สหภาพฯ สังเกตว่า ชาติไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมากในการรักษาไว้ซึ่งระบบเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ฯ คือ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ฯ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วปรากฏว่า ท่านได้นําเงินของรัฐไปใช้ส่วนตัวกว่า 2,000 ล้านบาท และยังต้องเสียความเป็นพรหมจารีของหญิงสาวอีกหลายสิบคนให้เป็นอนุภรรยาของท่านผู้นี้

สําหรับจอมพล ถนอมฯ นั้น ชาติไทยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงในการรักษาไว้ซึ่งอํานาจเด็ดขาดของท่าน จึงปรากฏว่า รัฐบาลสัญญาธรรมศักดิ์ได้มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สินจํานวนมากของจอมพล ถนอมฯ เป็นของรัฐ

(6) ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่า การทําให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นก็ต้องวิจัยสมุฏฐานให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงใช้วิธีป้องกันและวิธีแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมแก่สมุฏฐานนั้น ซึ่งมิใช่วิธีเผด็จการทาสที่ล้าสมัยหรือวิธีเผด็จการฟาสซิสต์นาซีซึ่งเป็นซากของเผด็จการทาส-ศักดินา

 

ข้อ 9. 

ผู้แทนสหภาพฯ: ผู้ที่อยากให้มีระบบเผด็จการอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯ พูดว่า แม้จอมพลสฤษดิ์ฯ เอาเงินรัฐไปใช้ส่วนตัว 2,000 ล้านบาทก็ยังน้อยไป เพราะจอมพล สฤษดิ์ ฯ มีความชอบมากที่ได้รักษาราชบัลลังก์และปราบปรามอาชญากรรมให้ลดน้อยลงได้ 

ป.พ.: 1. ที่มีผู้อ้างว่า จอมพล สฤษดิ์ฯ มีความชอบมากที่ได้รักษาราชบัลลังก์นั้น เป็นการดูหมิ่นปวงชนชาวไทย เพราะปวงชนชาวไทยเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ จอมพ] สฤษดิ์ฯ คนเดียวกับพวกไม่กี่คน ก็ไม่อาจรักษาราชบัลลังก์ได้

2. ผู้อ้างเช่นนั้นไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสนับสนุนให้จอมพล สฤษดิ์ฯ มีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย และยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลัง ดังที่ผมได้อ้างไว้ในคําตอบข้อ 8 แล้ว

3. ขอให้สหภาพฯ ตรวจสอบค่าของเงินบาทในขณะที่จอมพล สฤษดิ์ฯ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2506 นั้น ก็จะทราบได้ว่า ขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าปัจจุบันนี้หลายเท่า ราษฎรสามัญก็สามารถเทียบได้อย่างง่าย ๆ ว่า สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งราคาเท่าใด บัดนี้ราคาเท่าใด  ถ้าจะเทียบกับราคาทองคําก็จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าปัจจุบันนี้ไม่น้อยกว่า 10 เท่า ฉะนั้น ถ้าจะหาคนอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯมาปกครองประเทศไทย โดยใช้อํานาจเด็ดขาดอีกก็จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้เผด็จการอีกไม่น้อยกว่า 10 เท่า หรือประมาณไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ชาติไทยจะทรุดหนักลงขนาดไหน ขอให้ผู้รักชาติไทยโปรดตระหนักไว้ด้วย 

 

ข้อ 10.

ผู้แทนสหภาพฯ: ขอเรียนถามว่า มีประเทศใดในโลกปัจจุบันนี้ที่มีผู้เผด็จการใช้อํานาจเด็ดขาดอย่างจอมพล สฤษดิ์ฯ 

ป.พ.: เท่าที่ผมสังเกตนั้น ในบรรดาสมาชิกสหประชาชาติจํานวนกว่า 100 ประเทศนั้น มีจํานวนน้อยมากที่นายกรัฐมนตรีหรือประมุขรัฐมีอํานาจเผด็จการแบบที่ผู้แทนสหภาพฯ ถามนั้น

ในประเทศแอฟริกากลางซึ่งพลเมืองเป็นชาวนิโกรนั้น นายพลโบกาชาได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วสถาปนาตัวเองเป็นจอมพลและนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิโบกาชาที่ 1 นั้นได้ใช้อํานาจเด็ดขาดลงโทษผู้ต้องหาว่าทําโจรกรรม โดยสั่งประหารชีวิตบ้าง ตัดแขนตัดมือบ้าง เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชอํานาจเด็ดขาดแล้ว พระองค์ได้ทรงยักยอกเพชรของรัฐจํานวนมากไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ ชาวนิโกรผู้รักชาติได้ทําการอภิวัฒน์ปลดพระจักรพรรดิออกจากราชบัลลังก์ฐานมีความผิดต่อการใช้อํานาจเด็ดขาดนั้น ครั้นแล้วประเทศนั้นได้มีการสถาปนาระบบปกครองแบบประชาธิปไตย ชาวไทยหลายคน ปรารภว่า คนนิโกรรู้จักคุณค่าของประชาธิปไตยมากกว่าคนไทยหลายคนที่เป็นพวกปฏิกิริยา

ในบางประเทศแห่งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีรัฐบาลเผด็จการที่ยังไม่ถึงขนาดแบบเผด็จการที่เคยมีในประเทศไทย ราษฎรในประเทศนั้นก็ต่อสู้โดยวิธีทําศึกกลางเมืองหรือโดยวิธีรัฐประหารล้มระบบเผด็จการดังกล่าว

 

ข้อ 11.

ผู้แทนสหภาพฯ: ขอเรียนถามว่า ท่านวิจัยสมุฏฐานของการฉ้อราษฎร์บังหลวง (คอรัปชั่น) ในเมืองไทยว่ามีอย่างไรบ้าง และควรแก้ไขโดยวิธีใด 

ป.พ.: ผมได้แสดงปาฐกถาเรื่องสมุฏฐานแห่งอาชญากรรมไว้ที่สามัคยาจารย์เมื่อ พ.ศ. 2471 (ก่อนเปลี่ยนการปกครอง) ไว้ครั้ง 1 แล้ว ต่อมาเมื่อได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นแล้ว ผมได้ขอให้ศาสตราจารย์ “เอกูต์” สอนชั้นปริญญาโทซึ่งวิชา “อาชญาวิทยา” (Criminology) อันเป็นวิชาว่าด้วยการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบวิทยาศาสตร์ซึ่งสมุฏฐานแห่งอาชญากรรมและผู้กระทําผิดอาชญากรรม  แต่ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 แล้ว มหาวิทยาลัยนั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมิได้สอนวิชาอาชญาวิทยา ถ้าสหภาพฯ หรือผู้ใดสนใจที่จะศึกษาเรื่องนั้นก็อาจไปติดต่อที่ มธ. ขอคัดสําเนาคําสอนของ ศ.เอกูต์ และปาฐกถาของผมที่ให้ไว้แก่ มธ. นั้น

ณ ที่นี้ผมขอกล่าวโดยสังเขปว่าการแก้ไขอาชญากรรมนั้นต้องใช้ “วิธีป้องกันอาชญากรรม” และวิธีแก้ไขเมื่อได้เกิดอาชญากรรมขึ้นแล้ว ทั้ง 2 ด้านประกอบกัน โดยเฉพาะสมุฏฐานสําคัญของการฉ้อราษฎร์บังหลวง 2 ประการ คือ

1. รายได้ไม่พอรายจ่ายที่จําเป็นแก่การดํารงชีพของบุคคลและครอบครัวนั้น ซึ่งจะต้อง “ป้องกัน” อาชญากรรม โดยการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยซึ่งการผลิตปัจจัยในการดํารงชีพอุดมสมบูรณ์ในสังคม และแบ่งสันปันส่วนโดยชอบธรรมระหว่างผู้ใช้แรงงานทางกายกับแรงงานทางสมอง

2. “โลภะ” คือ ความอยากได้ไม่รู้จักพอ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นประการหนึ่งในสามประการของ อกุศลมูล แปลว่า “รากเง่าแห่งความชั่วร้าย” สมุฏฐานของ “โลภะ” นั้นคือ การยกเอาประโยชน์ส่วนตน (Egoism) เหนือประโยชน์ส่วนรวม (Altruism) ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยวิธีดังต่อไปนี้

(1) ผู้ที่ไม่โกงชาติต้องไม่สนับสนุนเชิดชูให้เกียรติคนโกงชาติ ทั้งนี้ เพื่อทําให้คนโกงชาติสํานึกว่า ประชาชนส่วนมากที่ไม่โกงชาตินั้นดูหมิ่นผู้โกงชาติ  ถ้าผู้ใดสนับสนุนเชิดชูเกียรติคนโกงชาติผู้นั้นก็ส่งเสริมให้มีการโกงชาติ ผู้นั้นจึงทําผิดอย่างร้ายแรงต่อชาติและประชาชน  อาจารย์ ต.ม.ธ.ก. ผู้หนึ่งได้นําภาษิตฝรั่งเศสบทหนึ่ง เขียนเป็นคําขวัญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ต.ม.ธ.ก. (รุ่น 3) ว่า “ผู้ที่สนับสนุนคนโกง คือคนโกง 2 เท่า” 

(2) บุคคลชั้นนําของประเทศต้องปฏิบัติตามด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการขั้นรอง ๆ ต่อ ๆ ไปปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติ

(3) วิธีของประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ อีกหลายอย่างในการแก้ไขการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งผมจะชี้แจงเมื่อถึงโอกาสสมควร 

 

ข้อ 12.

ผู้แทนสหภาพฯ: ได้มีผู้บันทึกเหตุการณ์ ตลอดจนวิเคราะห์วิจารย์คณะราษฎรในแง่มุมต่าง ๆ จึงอาจจะมีข้อคลาดเคลื่อนที่มักจะอ้างถึงกันบ่อย ๆ จนทุกวันนี้ขอความกรุณา ฯพณฯ ได้อธิบายเรื่องที่สําคัญ ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ เพื่อให้อนุชนได้เข้าใจข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องต่อไป 

ป.พ.: 1. โปรดระมัดระวังว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า “บันทึกเหตุการณ์” นั้น มิใช่เรื่องที่ควรได้รับความเชื่อถือ เพราะเหตุที่เป็น “สิ่งพิมพ์” 

โปรดสังเกตว่า ผู้เขียนผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ หลายเรื่องที่เป็นบทความบ้าง และที่เป็นหนังสือเล่มบ้างนั้นได้เขียนฝ่าฝืนความจริง ทําให้เสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม ๆ ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้เขียนผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและให้ทําลายสิ่งพิมพ์นั้นหลายราย

ส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเกี่ยวกับคณะราษฎรและเกี่ยวกับผมด้วยนั้น ก็มีสิ่งพิมพ์หลายรายที่เขียนฝ่าฝืนความจริงทําให้ผู้อ่านหลงเข้าใจผิด บางกระทรวงและบางสถาบันได้ยอมให้เป็น หนังสือเรียนในสถาบันการศึกษาบ้าง และให้รางวัลชมเชยว่าเป็นสารคดีบ้าง ซึ่งเป็นการจูงใจให้ผู้อ่านหลงเชื่อสิ่งพิมพ์ที่เขียนฝ่าฝืนความจริงนั้น  ฉะนั้น ผมจึงได้ฟ้องผู้กระทําผิดหลายรายต่อศาลยุติธรรมขอให้พิจารณาพิพากษา เพิกถอนหรือทําลายสิ่งพิมพ์ดังกล่าวนั้น สหภาพฯ ย่อมทราบจากประกาศคําพิพากษาศาลแพ่งหลายคราวแก่มหาชน ในหนังสือพิมพ์รายวันนั้นแล้ว

นอกจากนั้นยังมีสิ่งพิมพ์อีกบางฉบับบางเล่มซึ่งผมเตรียมที่จะขอความเป็นธรรมต่อ ศาลยุติธรรมให้พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้เขียนฝ่าฝืนความจริง

2. เนื่องจากสิ่งพิมพ์ดังกล่าวนั้นมีมากมาย และที่ฝ่ายปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรได้ทําติดต่อกันอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น ผมจึงขอให้สหภาพฯ ช่วยชี้แจงแก่ผู้อ่านและอนุชนพิเคราะห์วิจารณ์สิ่งพิมพ์เหล่านั้นโดยวิธีดังต่อ

(1) ใช้จิตใจวิทยาศาสตร์ (Scientific spirits) 6 ประการดังที่ผมกล่าวไว้ในบทความของผมชื่อ “ปรัชญาคืออะไร” นั้น เป็นหลักวิจารณ์สิ่งพิมพ์ว่า เชื่อได้และไม่ได้เพียงใด  จิตใจ 6 ประการนั้น คือ จิตใจสังเกต, จิตใจมาตรการ, จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยาที่ตั้งต้นจากสามัญสํานึก (Common sense) อันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชาติ, จิตใจพิเคราะห์วิจารณ์, จิตใจปราศจากอคติ, จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

(2) ต้องจําแนกว่าสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า “บันทึกเหตุการณ์” นั้นเป็นบันทึกของเอกชนหรือเป็นเอกสารหลักฐานของทางราชการ (official authentic documents) ซึ่งก็ต้องวิจารณ์ว่า เป็นของทางราชการสมัยใด ซึ่งบันทึกไว้ตามความจริงหรือบิดเบือน

ส่วนบันทึกของเอกชนนั้นก็จะต้องวิจารณ์ว่าผู้ใดบันทึก, บันทึกเมื่อใดภายหลังเหตุการณ์แล้วเป็นเวลาเท่าใด, และบันทึกจากคําบอกเล่า (Hearsay) หรือจากที่ตนประสบเหตุการณ์แท้จริงซึ่งมีหลักฐานอื่นประกอบ  และหลักฐานหลายประการที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความชื่อ “บันทึกข้อสังเกตและตอบคําถามนิสิตนักศึกษา ที่ประสงค์เรียบเรียงวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับรัฐบาลบางสมัยของประเทศไทย” (บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือจุลสารพิเศษฉบับวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 27 มิถุนายน 2519)

(3) การพิเคราะห์วิจารณ์คณะราษฎรในแง่มุมต่าง ๆ นั้น ถ้าผู้วิจารณ์กระทําโดยสุจริตเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยอาศัยเอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง มิใช่วิจารณ์โดยอคติที่จะทําให้คณะราษฎรหรือสมาชิกคนหนึ่งคนใดของคณะราษฎรเสียหายโดยไม่เป็นธรรม ผู้พิเคราะห์วิจารณ์ก็คงได้รับความสรรเสริญ

ความลําเอียงหรืออคติของผู้วิจารณ์นั้น อาจเห็นได้จากคําวิจารณ์นั่นเองและจากการเปรียบเทียบกับคณะอื่นหรือบุคคลอื่นที่ใช้อํานาจนอกวิถีทางประชาธิปไตยหรือเผด็จการที่เห็นได้ชัดแจ้ง แต่ผู้วิจารณ์ไม่กล้าวิจารณ์คณะอื่นหรือบุคคลอื่นนั้น จึงเข้าลักษณะอคติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างคือ ฉันทา (ความหลงรัก), โทสา (ความหลงโกรธแค้นขุ่นเคือง), ภยา (ความเกรงกลัว), โมหา (ความลุ่มหลงงมงาย)

(4) เรื่องสําคัญที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีผู้นําไปปลุกปั้นให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจผิดนั้น ผมได้ตอบชี้แจง ไว้หลายเรื่องในบันทึกข้อสังเกตและตอบคําถามนิสิตนักศึกษาฯ ที่ผมอ้างถึงท้ายข้อ (2) ข้างบนนั้น และต่อมาได้มีคําชี้แจงอื่น ๆ ที่พิมพ์เป็นบทความของผมอีก

นอกจากนั้นมีเรื่องสําคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมเพิ่งทราบเมื่อ 5 พ.ค. 2523 (ยังไม่ถึง 1 ปี) จากหนังสือของอาจารย์สนธิ เดชานันท์ ชื่อ “แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469-2475)” (หนังสือเล่มนั้นได้รับการช่วยเหลือในการโฆษณาเผยแพร่)

ในหน้า (ฉ)-(ซ) แห่งหนังสือเล่มนั้นมีความตอนหนึ่งว่า 

“ข้อที่น่าสังเกต ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับนั้นได้ผ่านการพิจารณาหลายขั้หลายตอน และในตอนสุดท้ายร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ไปติดอยู่ที่กรมร่างกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2473 จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475  กรมร่างกฎหมายในขณะนั้นมีบุคคลสําคัญคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร์เป็นเลขานุการ บุคคลผู้นี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ดังนั้น อาจเป็นได้ว่า คณะราษฎร์ได้รู้แนวทางพระราชดําริทางการเมืองดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง  หรืออย่างน้อยที่สุดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้ซึ่งดำรงตําแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ก็ต้องรู้เห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้  ปัญหาที่ตามมา ก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้เป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้คณะราษฎร์รีบเร่งที่จะทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะคณะราษฎร์ทราบดีว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกําลังจะทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล คณะราษฎร์จึงต้องรีบทําการเสียก่อน แต่ถ้าคณะราษฎร์ไม่ทราบถึงเรื่องดังกล่าวก็มีปัญหาที่น่าคิดอีกประการหนึ่ง คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ปิดบังสมาชิกคณะราษฎร์คนอื่น ๆ มิให้ทราบถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีการล้มแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ คําถามทั้งสองประการนี้ผู้รวบรวมใคร่ขอให้ผู้ทําการศึกษาเป็นผู้วินิจฉัยด้วยตนเอง”

ถ้าผมนําเรื่องที่อาจารย์สนธิ เดชานันท์ เขียนไว้ดังกล่าวนั้นเสนอศาลยุติธรรมวินิจฉัยแล้ว ศาลยุติธรรมก็จะเห็นได้ดังต่อไปนี้

(1) ข้อเขียนนั้นในทางกฎหมายเรียกว่า “คําถามนำ” (leading Question) คือ ทําให้ผู้อ่านเห็นว่า ผมในฐานะผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะประกาศใช้ พ.ร.บ.เทศบาล แล้ว ผมเร่งให้คณะราษฎรทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน  หรือผมรู้เรื่องนั้นแล้วปิดบังสมาชิกคนอื่น ๆ ของคณะราษฎร เพราะถ้าคณะฯ รู้เข้าก็จะแซ่ซ้องสาธุการใน พ.ร.บ.เทศบาลนั้น ถึงกับไม่กระทําการเปลี่ยนปกครอง

(2) ผมพิสูจน์ต่อศาลได้ว่า นักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของอาจารย์และคณบดีนั้น และสามัญชนผู้อ่านหนังสือนั้นที่มิได้ค้นคว้าให้ถี่ถ้วนก็ต้องหลงเชื่อตาม “คําถามนํา” นั้นทําความเสียหายแก่เกียรติคุณและชื่อเสียงว่า เป็นคนชิงความดีของพระมหากษัตริย์และเป็นคนไม่ชื่อต่อคณะฯ

ผมอาจขอให้ศาลพิจารณาความผิดของอาจารย์สนธิ เดชานันท์ กับผู้ร่วมกระทําผิดนั้นอย่างน้อยที่สุดในทางแพ่งว่าด้วย “ละเมิด” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 ซึ่งมีความว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทํามาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้” 

(3) ผมพิสูจน์ต่อศาลได้ว่า ในฐานะอาจารย์คณะสังคมศาสตร์นั้น อาจารย์สนธิฯ ควรทราบดังต่อไปนี้

(ก) ร่างพ.ร.บ.เทศบาล ฉบับนั้นมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน หากเป็นเพียงกฎหมายปกครองท้องถิ่น (Local administration) ที่ให้สิทธิเฉพาะ “ผู้มีเงิน” โดยไม่เลือกว่า เป็นคนไทยหรือต่างด้าวก็มีสิทธิในการปกครองเทศบาล

(ข) ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้น ถ้าตราขึ้นแล้วจะทําให้เสียหายแก่พระมหากษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยได้ทรงมีความเห็นคัดค้านไว้ตามหนังสือที่ ก. 456/18,921 - ถึงราชเลขาธิการขอให้นําความกราบบังคมทูล มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศที่จะคัดค้านหลักการบางแห่งในร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้ คือ เทศบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัตินั้น มีสภามนตรีซึ่งบุคคลที่พํานักอยู่ในเขตนั้น ๆ เลือกตั้งเป็นผู้ควบคุม และไม่มีบทบังคับจํากัดสิทธิในการเลือกหรือเป็นเทศมนตรีให้แก่เฉพาะคนพื้นเมือง ไม่ว่าบุคคลใดสักแต่ว่าได้ตั้งภูมิลําเนาอยู่ในกรุงสยามไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีทรัพย์อันมีค่าที่จะเก็บจังกอบของเทศบาลได้ ฯลฯ ตามความในมาตรา 8 และ 20 แล้ว เป็นผู้เลือกและเป็นเทศมนตรีได้ทั้งนั้น หลักการนี้ประเทศที่เป็นเอกราชย่อมไม่ใช้กันเลย ทั้งเป็นภัยแก่กรุงสยามโดยเฉพาะ  ด้วยสิทธิทางการเมืองนั้นรัฐบาลย่อมไม่ให้แก่ใครนอกจากคนพื้นเมือง ในกรุงสยามตามจังหวัดและเมืองมีบุคคลที่เป็นจีนอยู่เป็นจํานวนมาก และในจํานวนนี้คงจะมีจีนหลายคนที่จะเป็นผู้เลือกและเป็นเทศมนตรีได้ ตามเกณฑ์ที่มีทรัพย์ และมีภูมิลําเนาในกรุงสยามไม่น้อยกว่า 15 ปี ตามบทบังคับในมาตรา 19 และ 20 แห่งร่างพระราชบัญญัติ ผลที่จะได้รับ ก็คือ อนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งมีความสวามิภักดิ์ต่อประเทศอื่นมามีอํานาจใหญ่ในกิจการของเทศบาลกรุงสยาม บางแห่งอาจมีอํานาจควบคุมกิจการเทศบาลอย่างสมบูรณ์ เช่นกับที่มณฑลภูเก็ตเป็นต้น ซึ่งมีคนต่างด้าวตั้งภูมิลําเนาอยู่เป็นจํานวนมาก ในปรัตยุบันนี้ จีนมีภูมิลําเนาอยู่ในกรุงสยามเป็นจํานวนมาก ทั้งอํานาจทางเศรษฐกิจกอยู่ในมือเขาเกือบทั้งหมดแล้ว ฉะนั้น ถ้าฝ่ายเราจะออกพระราชบัญญัติตามหลักการที่กล่าวข้างบนนี้ ก็เท่ากับเราให้อํานาจในการเมืองแก่จีนด้วย

“เท่าที่กระทรวงการต่างประเทศทราบ ดูเหมือนมีน้อยรายที่อนุญาตให้คนต่างด้าว และคนพื้นเมืองมีสิทธิในการเลือก จะมีอยู่ก็แต่เทศบาลของเมืองขึ้น เช่นกับฮ่องกง พม่า, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ และมนิลา เป็นต้น แต่ลักษณะการของเมืองเหล่านี้ผิดกับที่เป็นอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก”

(6) อาจารย์สนธิฯ ทราบดีว่า ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้นได้มีข่าวแพร่หลายไปทั่วพระนครแล้ว ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ฉบับ 26 พ.ค. 2474 ได้ลงพิมพ์ไว้ซึ่งแสดงคัดค้าน ดังต่อไปนี้

“ถ้าใช้เทศบาลไม่รัฐบาลก็พลเมืองจะแย่ 

“จึงลือกันหนาหูว่าเทศบาลออกไม่ได้แน่ 

“เกี่ยวด้วยเศรษฐกิจตกต่ําและกําลังพลเมืองที่จะเสียภาษี 

“ตามข่าวที่เราได้นํามาลงแล้วถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งผู้แทนของเราได้เรียนถามพระยาราชนุกูลฯ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย และได้คําจากเลขานุการของพระยาราชนุกูลว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัยต่อไปนานแล้ว และซึ่งพอเรานําลงพิมพ์ รุ่งขึ้นก็ได้รับจดหมายว่า ความนั้นคลาดเคลื่อน คือ เลขานุการพระยาราชนุกูลมิได้บอกยืดยาวเช่นนั้น บอกเพียงว่า ได้ส่งพ้นกระทรวงมหาดไทยไปแล้วนั้น

“เรามีความยินดีที่จะยืนยันข่าวเรื่องนี้ของเราอีกครั้งหนึ่งว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการ (ซึ่งเปลี่ยนฐานะนามเป็นกระทรวงมุรธาธรแล้ว) เป็นเวลานานหนักหนาแล้ว และกรมราชเลขาธิการได้นําทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงราชวินิจฉัยแล้ว ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างไปยังกรมร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาเทียบเคียงหลักกฎหมายชนิดนี้ซึ่งมีอยู่ ณ นานาประเทศชั้นหนึ่งก่อน

“เราได้ทราบว่า กรมร่างกฎหมายได้ตรวจร่างเทศบาลเรียบร้อย และได้ส่งกลับคืนไปยังกระทรวงมุรธาธรประมาณสักเดือนหนึ่งได้แล้ว แต่ต่อจากนั้นจะไปอยู่ที่ใด ข่าวยังเงียบอยู่

“อย่างไรก็ดี มีข่าวลือกันหนาหูเต็มทีว่า อย่างไรเสียพระราชบัญญัติเทศบาลจะออกไม่ ได้เป็นเด็ดขาด ในระหว่างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจนี้ เพราะรายได้จากผู้เสียภาษีแก่เทศบาลจะกระทบกระเทือนไปถึงรัฐบาลอย่างน่าวิตกทีเดียว” 

ผมจึงไม่มีเหตุใดที่จะปิดบังเพื่อนในคณะราษฎรถึงพระราชดําริที่ให้มี พ.ร.บ.เทศบาลฉบับนี้ ซึ่งมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

(ง) อาจารย์สนธิฯ และผู้ร่วมกระทําผิดควรรู้ว่า การใช้กําลังยึดอํานาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนระบบปกครองนั้น มิใช่เรื่องทําได้ตามใจนึก (อัตตะวิสัย: Subjectivism) เช่น เมื่อผมกับคณะฯ นึกว่าจะเร่งทําการก็สามารถทําได้ดังใจนึก เอกสารหลักฐานของพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิฯ, และของผมที่พิมพ์เปิดเผยแล้วนั้น ก็แสดงว่า คณะราษฎรได้เตรียมการมาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้วก่อนลงมือทําการนั้น

(4) อาจารย์สนธิฯ ควรรู้ข้อความในบันทึกเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เป็นผู้จดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ซึ่งได้มีผู้นํามาลงพิมพ์เปิดเผยแล้ว มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับพระราชดําริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

“บันทึกลับ

“เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.15 น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์, พระยาศรีวิสารฯ, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลฯ, กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าที่วังสุโขทัย มีพระราชดํารัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติ ทรงนึกว่า ถูกเลือกทําไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทําอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

“1. คงต้องการให้ลบล้างกิจการที่รัชกาลที่ 6 ทําไว้ จึงได้ทรงพยายามใช้หนี้และแก้ไขให้ฐานะการเงินเฟื่องฟูขึ้น ครั้นเสด็จไปอเมริกากลับมา การเงินเพลียลง ทรงรู้สึกว่าไม่ ใช่โทษผิดของพระองค์ เป็นเพราะเหตุการณ์ภายนอก แต่ก็ทรงรู้สึกว่า ได้แก้ไขช้าไปบ้างและอ่อนไปบ้าง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรู้สึกว่า จะดันทุรังก็ไม่ใคร่ได้ ด้วยมีผู้ใหญ่ที่ชำนาญการห้อมล้อมอยู่

“2. อีกอย่างหนึ่ง ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่า เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ  ครั้นเมื่อพระยากัลยา (F.B.Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี  ในส่วนพระราชดําริในชั้นต้นอยากจะทําเป็น 2 ทาง ทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสนองราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐ์ฯ ทราบอยู่แล้ว แต่การก็ช้าไป  ในส่วนข้างบนได้ทรงตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้น เพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้นหวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา 

“ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่า จะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่า จะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ๆ กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยผู้หนึ่งก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์  เมื่อพระยาศรีวิสารและนายสตีเวนส์ขัดข้องเสียดังนี้ ก็เลยเหลวอีก  

“ต่อมาได้เตรียมว่า จะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร 150 ปีแล้ว เพราะจะเป็นที่ขลาด รอว่า พองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่าเป็นเวลาโภคกิจตกต่ํา ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดําริที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา Interpellate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าแต่ละอย่าง ๆ จะเป็นได้ ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่า จะเห็นด้วยว่า พระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ทําการมานานตั้ง 20 ปีก่อนพระองค์

“แปลนที่ 2 คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร preside เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจํานวนกรรมการขององคมนตรี ทําหน้าที่อย่างรัฐสภา 

“ได้ทรงเตรียมไว้ 2 แปลนใหญ่นี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทํา memo บันทึกเสนอเสนาบดีสภา ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ก็ปรากฏช้าไปอีก ที่คณะราษฎรพาไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่า คงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทําความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก  ในวันนั้นได้ทรงฟังประกาศของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย” 

ขอให้สหภาพฯ โปรดพิจารณาว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงรับสั่งว่า “ที่คณะราษฎรทําไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน”

แต่อาจารย์สนธิกับผู้ร่วมกระทําผิดได้เขียน “คําถามนํา” เพื่อจูงใจให้นิสิตนักศึกษาและผู้อ่านหลงเข้าใจผิดว่า ผมกับคณะราษฎรรู้เรื่องที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญ) นั้น จึงรีบชิงยึดอํานาจทําการสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญเสียก่อน 

 

ข้อ 13.

ผู้แทนสหภาพฯ: ขอเรียนถามว่า คณะราษฎรได้รู้สึกตนว่า ได้กล่าวล่วงเกินพระมหากษัตริย์หรือไม่ 

ป.พ.: คณะราษฎรรู้สึกตนว่า ได้กล่าวล่วงเกินพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ฉะนั้น จึงได้ขอพระราชทานขมาโทษเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2475 ก็ได้ทําพิธีขอพระราชทานขมาโทษอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 หน้า 3108 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2475 มีความดังต่อไปนี้

“ข่าวในราชสํานัก 

“สวนจิตรลดา 

“วันพุธที่ 7 ธันวาคม

“วันนี้เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังมีรายนามต่อไปนี้ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน ขอพระราชทานขมาโทษ”

(รายนามผู้ก่อการฯ ที่ไปเฝ้าขอพระราชทานขมาโทษ)

“คํากราบบังคมทูลขอพระราชทานขมาโทษ 

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทพระปกเกล้าปกกระหม่อม

“การที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เริ่มทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ ก็ด้วยมุ่ง หวังประโยชน์แก่ชาติ โดยเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ทุกประเทศที่เป็นเอกราชก็มีรัฐธรรมนูญการปกครองกันทั่วไปแล้ว หากประเทศสยามได้มีกับเขาบ้าง ก็จะได้เป็นโอกาสให้ราษฎรเป็นจํานวนมากได้มีส่วนช่วยเหลือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในราชการแผ่นดิน เต็มกําลังความสามารถจริง ๆ  การได้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง ก็เนื่องด้วยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อประชาชนชาวสยามและทรงพระกรุณาช่วยเหลือส่งเสริมทุกประการ ตลอดจนพระราชทานอภัยโทษแก่พวกข้าพระพุทธเจ้า โดยพระราชทานพระราชกําหนดนิรโทษกรรมนั้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ย่อมตระหนักอยู่แก่ใจพวกข้าพระพุทธเจ้าแล้ว

“การที่พวกข้าพระพุทธเจ้าได้ประกาศข่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคําอันรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ด้วยมุ่งถึงผลสําเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่  สมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมราชวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้ทรงมีส่วนนําความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัย บัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่งเป็นคํารบสอง ในถ้อยคําที่ได้ประกาศไป

“การจะควรประการใด สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านคํากราบบังคมทูลจบแล้ว ได้นําดอกไม้ธูปเทียนใส่พานทองขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ทรงรับแล้ว ได้มีพระราชดํารัสตอบความดังนี้

“ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ได้ทําพิธีขอขมาต่อตัวข้าพเจ้า และพระราชวงศ์จักรีในวันนี้  การกระทําของท่านในวันนี้ทําให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่ยินดีที่ท่านขอขมาแก่ตัวข้าพเจ้าโดยเฉพาะ เพราะข้าพเจ้าเองก็ให้อภัยโทษแก่ท่านทั้งหลายมานานแล้ว เพราะเข้าใจในความประสงค์ของท่าน ท่านกระทําการคราวนี้ก็เพื่อหวังประโยชน์ต่อชาติจริง ๆ ข้าพเจ้าได้ตั้งใจช่วยเหลือท่านให้ทําการเป็นผลสําเร็จเรียบร้อยดีอย่างที่สุดที่จะเป็นได้  โดยข้าพเจ้ามีความเห็นใจในความคิดของท่าน  ข้อที่ข้าพเจ้าดีใจมากนั้นคือ ในคําขอขมานั้น ท่านได้กล่าวถึงสมเด็จพระมหากษัตราธิราชและเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีว่า ได้ทรงมีส่วนในการนําความเจริญมาสู่ประเทศสยามหลายพระองค์ด้วยกัน ซึ่งความจริงในคําประกาศวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ข้อความที่ทําให้ข้าพเจ้าเองและสมาชิกของพระราชวงศ์จักรี รู้สึกโทมนัสอย่างยิ่ง คือ ในข้อที่ทําให้เข้าใจว่า พระราชวงศ์จักรีไม่ได้ทําประโยชน์ให้ประเทศสยามอย่างหนึ่งอย่างใดเลย  ข้อนี้ทําให้สมาชิกในพระราชวงศ์จักรีโดยทั่วไปโทมนัส น้อยใจ และแค้นเคืองมาก  เมื่อท่านได้กล่าวแก้ไขในวันนี้แล้ว ข้าพเจ้าหวังว่า จะมีผลสมานไมตรีระหว่างพระราชวงศ์จักรีกับพวกท่านและราษฎรทั่วไปให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

“อันที่จริง เจ้านายพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยที่จะทรงทําอะไรให้เป็น ประโยชน์แก่บ้านเมือง จึงทรงรับราชการในกระทรวงต่าง ๆ ทุกพระองค์ ตามแต่จะทําได้ แต่ตามวิสัยธรรมดาของคนและตระกูลอันใหญ่ ก็ย่อมจะมีสมาชิกมีความสามารถยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นธรรมดา และย่อมมีการพลาดพลั้งบ้าง  ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าเจ้านายจะได้ทําการพลาดพลั้งไปบ้าง ก็มิใช่โดยอคติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านได้กล่าวแก้ไขในวันนี้และท่านมีความรู้สึกว่า พระราชวงศ์จักรีได้ทําประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเรา เช่นนี้ก็ย่อมจะล้างความโทมนัสทั้งหลายทั้งปวงของข้าพเจ้าและพระราชวงศ์จักรีได้สิ้น  นอกจากนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทําพิธีขอขมาในวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้ร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดเลย การที่ท่านทําเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่า มีธรรมะในใจและเป็นคนสุจริตและเป็นคนใจนักเลง คือ เมื่อท่านรู้สึกว่า ได้ทําอะไรที่เกินไปบ้าง พลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับว่าผิดโดยดีและโดยเปิดเผย  การกระทําเช่นนี้เป็นของที่ทําได้ด้วยยาก และต้องใจเป็นนักเลงจริง ๆ จึงจะทําได้  เมื่อท่านได้ทําพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่า การใด ๆ ที่ท่านทําไปนั้น ท่านได้ทําไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศอย่างแท้จริง  ท่านได้แสดงว่า ท่านเป็นผู้มีน้ําใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิดเมื่อรู้สึกว่า ตนได้กระทําการพลาดพลั้งไปดังนี้ เป็นการที่ทําให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจในตัวท่านยิ่งขึ้นเป็นอันมากในข้อนี้ ทําให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมาก

“เพราะฉะนั้น ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอให้พรแก่ท่านทั้งหลาย ขอจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณทุกประการ มีกําลังกาย กําลังน้ําใจ เพื่อจะสามารถทําการงานให้ เป็นประโยชน์แก่ประเทศสืบไป”

 

ที่มา: สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2523 ที่เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

* โคทม อารียา เป็นผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สัมภาษณ์นายปรีดี.