การเมืองในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ [2531] ก็ไม่ได้แตกต่างกับช่วงไตรมาสของปีที่แล้ว [2530] มีความสับสนอึมครึมและไม่แน่นอนหลังจากที่ได้มีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านก็ได้เสนอญัตติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาลทั้งคณะ และประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้รับญัตติดังกล่าวและกําหนดให้มีการอภิปรายกันในวันที่ 6 พฤษภาคม เหตุการณ์เขม็งเกลียวเมื่อมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในวันที่ 28 เมษายน 2531 ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง จึงให้การยอมรับภายใต้การคัดค้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์กลุ่ม 10 มกรา เป็นเหตุให้ ครม. พรรคประชาธิปัตย์ได้ลาออกในวันรุ่งขึ้น ตามด้วยการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในค่ำวันที่ 28 เมษายน
ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย จนถึงขั้นยุบสภาฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 50 ปีที่แล้ว ในช่วงพลเอก เปรมเป็นนายกก็มีการยุบสภามาแล้วรวมครั้งนี้ 3 ครั้ง
สาเหตุสําคัญที่สุดของความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทยอยู่ที่ขาดปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนในทางการอย่างเต็มที่ การเมืองโดยทั่ว ๆ ไป แม้แต่การเลือกตั้งผู้แทนปวงชนก็เป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2528 ในกรุงเทพมหานครนี้เอง ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีไม่ถึงแม้แต่ 30 % ของประชากรผู้มีสิทธิ คาดกันว่า การเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งใหม่นี้ก็คงจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ความจําเป็นที่จะให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนในทางการเมืองเป็นเรื่องที่ตระหนักดี โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2475 บุคคลผู้นั้น ก็คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งหากมีชีวิตจนถึงขณะนี้ท่านก็จะมีอายุครบ 85 ปีในวันที่ 11 พฤษภาคม ศกนี้
เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของอาจารย์ปรีดีที่มีต่อประเทศชาติ และเพื่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดของอาจารย์ปรีดี ดังต่อไปนี้
อาจารย์ปรีดีเป็นตัวอย่างของนักคิดนักประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าของคนไทยธรรมดาทั้งหลาย ตั้งแต่ริเริ่มระบอบประชาธิปไตย ความคิดดังกล่าวได้ยืนหยัดตลอดมาแม้ในช่วงที่ต้องไปลี้ภัยยังต่างประเทศ
อาจารย์ปรีดี โดยการศึกษาเป็นนักกฎหมายที่ปราดเปรื่อง และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญอย่างสูง แต่ตระหนักและให้ความสําคัญแก่ปัจจัยทางสังคมเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อคณะราษฎรได้ประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 แล้ว อาจารย์ปรีดีก็ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อเป็นฐาน รองรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ในการศึกษาเค้าโครงเศรษฐกิจและร่างกฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ อย่างรอบคอบแล้ว ก็จะเห็นว่า เป้าหมายสําคัญที่สุดที่อาจารย์ปรีดีได้เสนอไปยังคณะราษฎร “คือการบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา” แน่นอนเป้าหมายดังกล่าวมุ่งที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎร อันเกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นเป้าหมายหลักที่จะสร้างสรรค์ความเจริญทางสังคมการเมืองให้แก่ประเทศไทย ในการที่จะนําให้เป้าหมายดังกล่าวไปปฏิบัติ อาจารย์ปรีดีเสนอให้ใช้หลักสหกรณ์ขึ้นในระดับตําบล ผู้ทําหน้าที่ในการผลิตการแลกเปลี่ยน และสินเชื่อ
เนื่องจากเป็นเค้าโครงย่ออาจารย์ปรีดียังไม่ได้มีโอกาสเขียนชี้แจงรายละเอียดทางคณะราษฎรตลอดจนผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีเวลาศึกษาอย่างเต็มที่ จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนเป็นผลให้อาจารย์ปรีดีต้องเดินทางไปต่างประเทศในปี 2476
เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ปรีดีเคยพูดกับนักเรียนไทยที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงที่ท่านได้ไปเยี่ยมเมื่อปี 2513 ว่า “แผนเศรษฐกิจที่ได้จัดทําขึ้นเมื่อปี 2475 นั้น จัดทําขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นไปได้โดยเหมาะสมแก่สภาพของประเทศที่เป็นอยู่ ในขณะนั้น เพราะตนเองเป็นคนเกิดในชนบท ได้พบเห็นภาระและความเป็นอยู่ของชาวนาซึ่งได้รับการบีบคั้นและเดือดร้อนเป็นอันมาก แต่เผอิญการจัดทําและเสนอแผนเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ทันมีโอกาสชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น”
กล่าวโดยสรุป เค้าโครงเศรษฐกิจและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในความคิดของอาจารย์ปรีดี เป็นฐานสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยซึ่ง เป็นไปตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเฉพาะนโยบาย “การบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ การให้ราษฎรมีสิทธิ เสมอภาค มีอิสระภาพ ได้รับการศึกษา และมีงานทํา”
ฉะนั้น เค้าโครงเศรษฐกิจและรายละเอียดของกฎหมายเป็นแกนกลางในการจัดสรรกําลังแรงงาน เทคโนโลยี การรวมตัวของแรงงานในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมในรูปสหกรณ์
ในการเสนอแนวคิดดังกล่าว อาจารย์ปรีดีคงตระหนักดีว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะก้าวหน้ามั่นคงได้ขึ้นอยู่กับประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษา มีการมีงานที่ให้รายได้ที่เหมาะสม มีความมั่นคงในการทํางานและการครองชีพ
เป็นที่น่าสนใจ ถ้าจะกล่าวถึงแนวคิดในทํานองเดียวกัน กล่าวคือ การใช้สิทธิต่าง ๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเลือกผู้แทนนั้น ประธานาธิบดีรูสเวลของสหรัฐในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ก็ได้เน้นอยู่เสมอว่า สิทธิทางการเมืองจะสามารถใช้ได้อย่างเต็มที่โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เหล่านั้นมีปัจจัย 4 ที่มั่นคงและเพียงพอ
ประสบการณ์ทางการเมืองของไทยที่มีการล้มลุกคลุกคลานมาในช่วง 5 ศตวรรษที่แล้วคงจะเป็นคําตอบที่ชัดแจ้งได้ดี เพราะจนถึงปัจจุบันนี้แม้คนไทยจํานวนไม่น้อยจะมีการศึกษาพอสมควร แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังยากจนขาดรายได้ที่เพียงพอในการครองชีพ ขาดปัจจัย 4 ที่เหมาะสม แรงงานในเมืองก็ยังประสบปัญหาค่าจ้าง สภาพการทํางานไม่ดี ประสบความเดือดร้อนในการหางานทํา ตกงานและว่างงาน ขาดหลักประกันทุกอย่าง มีชีวิตวันต่อวัน มีอะไรใกล้ก็พยายามไขว่คว้าไว้ ไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ด้วยสภาพทางจิตใจดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วง 10 ปีที่แล้วจึงเต็มไปด้วยการใช้เงินใช้ทองซื้อคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแม้ในกลางเมืองหลวง เพราะว่าราษฎรเหล่านี้ตระหนักดีว่า สิ่งใดที่มาเสนอเฉพาะหน้าสามารถแก้ปัญหาและความเดือดร้อนต่าง ๆ
ผลการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2528 ก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว มีการกล่าวหากันมากว่า การเลือกตั้งเกือบทุกจังหวัดมีการใช้เงินทองซื้อคะแนน ผู้เขียนก็ใคร่ขอยืนยันไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า แม้ในเขต 8 ใน กทม. ที่ผู้เขียนเป็นผู้สมัครคนหนึ่ง และที่พ่ายแพ้คะแนนไป 400 คะแนน ก็เพราะผู้เขียนยืนหยัดที่จะไม่ใช้เงิน ประจักษ์พยานอีกอันหนึ่ง ก็คือ สถาบันวิจัยสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้วิเคราะห์ผู้ได้รับเลือกตั้ง 354 ท่านในคราวนั้น ก็รายงานว่า เกือบ 60 % ของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้รูปร่างหน้าตาของนักการเมืองไทยเป็นอย่างนี้ และบรรยากาศประชาธิปไตยของเราเป็นอย่างนี้ คือ การมีอํานาจในบ้านในเมืองเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มีโอกาสก็เฉพาะไปลงคะแนนเลือกตั้ง และเมื่อเขาหิวก็จําเป็นต้องยอมรับอามิสสินจ้าง ซึ่งมีสภาวะทางการเมืองปัจจุบันเป็นสภาวะการเมืองซึ่งสามารถดําเนินอยู่ได้โดยอาศัยอํานาจเงินประกอบกับฐานกําลังทางทหาร ตราบใดอํานาจทั้งสองนี้ยังสามารถปรองดองกันได้ ประชาธิปไตยแบบไทยก็ยังคงอยู่ และเมื่อไหร่ ประโยชน์ขัดกันระบบรัฐสภาก็ย่อมสิ้นสุดลง
ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็อยากจะเชิญชวนคนไทยทั้งหลายระลึกถึงชีวิตและงานของท่านอาจารย์ปรีดีที่มีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมืองไม่นานนัก แต่ผลงานนั้นยิ่งใหญ่ยากที่จะมีใครเสมอเหมือน เริ่มเข้ารับราชการก็เป็นนักการศึกษาที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย เข้าสู่วงการเมืองตั้งแต่อายุยังหนุ่ม นําความรู้และแนวคิดมาสร้างสรรประชาธิปไตย และเป็นผู้สร้างรากฐานการปกครอง การเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศ และในท้ายสุดเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงบั้นปลายของชีวิตก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะเสนอแนวคิดเพื่อความเจริญก้าวหน้าความมั่นคงของชาติบ้านเมือง อาจารย์ปรีดีเป็นคนไทยที่รักชาติ รักประชาชน และใคร่ที่จะเห็นประเทศไทยมีการพัฒนาไปสู่สังคมที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยที่ให้โอกาสคนไทยธรรมดาส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
พิมพ์ครั้งแรก: วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 44-48.