ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ในแวดวงหนังสือ

23
กรกฎาคม
2563

แม้ศักราชประชาธิปไตยในบ้านเราเจริญวัยมาเลย 50 ขวบปีแล้ว แต่ก็ยังหาชนชั้นนําแห่งยุคสามัญชนเป็นใหญ่ โดยเฉพาะในระดับนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักปราชญ์ นักคิด นักขีดเขียนอะไรที่ลึกซึ้งได้น้อยเต็มที มิใยต้องเอ่ยถึงชนชั้นปกครองที่คิดเขียนเป็นปากเสียงให้กับฝ่ายราษฎร ซึ่งหาได้น้อยลงไปอีก เพราะส่วนใหญ่ชนชั้นนําของเราหากไม่เป็นทหารก็เป็นพ่อค้า หรือเป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกัน ซึ่งคนจําพวกนี้ไม่สนใจอะไรเลยนอกจากอํานาจและเงินตรา ที่มีท่าว่ามีฝีมือขีดเขียนอะไรที่ลึกซึ้งอยู่บ้างอย่าง  เช่น นายกฯ คนที่ 13 แต่เขาก็เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่าเป็นปากเสียงให้ราษฎร

ในบรรดาชนชั้นนําจํานวนน้อยนิดนั้น ปรีดี พนมยงค์นับว่าเป็นบุคคลโดดเด่นที่สุด เมื่อเอ่ยนามนี้ คนไทยส่วนมากคุ้นหู แต่น้อยคนที่จะรู้เรื่องราวอันถ่องแท้ของรัฐบุรุษอาวุโสคนเดียวของไทย ผู้มีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับยุคสมัยของเรานี่เอง 

เรื่องราวของเขาถูกกระทําให้เป็นดังหนึ่งตัวละครลี้ลับในนิยายอิงประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยยุคหลัง ซึ่ง “คำหลอกลวงอย่างตบตาที่สุด ถือกันว่าเชื่อได้ดี และข่าวลือที่ป่าเถื่อนที่สุดนั้น ถือกันว่าเป็นความจริง” 

เป็นเรื่องน่าพิศวงชวนเศร้าที่บ้านเมืองที่มีประวัติศาสตร์จนสืบกันมากว่า 700 ปี แต่คนรุ่นหลังกลับรู้เรื่องอดีตน้อยมาก เอาแค่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ นับย้อนไปเพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ  ยิ่งมีการทําลายเอกสารหลักฐานทางการเมืองในยุคอัศวินผยอง และมีการปลุกเสกประวัติศาสตร์ราชการหลัง พ.ศ. 2475 ขึ้นมาชุดหนึ่ง (ดังที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “ผลิตผลจากจุฬาฯ”) ด้วยแล้ว ชื่อและบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ก็กลายเป็นสิ่งที่อยู่ “นอก” สารบบประวัติศาสตร์ไทย 

ดังเมื่อคราวสมโภชกรุง ร.ศ. 200 จึงไม่มีการเอ่ยชื่อของคนผู้นี้ด้วยซ้ํา ทั้งที่หากไม่ได้สติปัญญาและความเสียสละอย่างสามารถของเขา ก็ยากที่บ้านเมืองของเราจะรอดปากเหยี่ยวปากกาจนได้มาฉลองกรุงกันอย่างเต็มภาคภูมิเช่นนั้น 

ถ้าหากจะมีการกล่าวถึงเขาอยู่บ้าง ก็คงในฐานะของพวก “โค่นต้นโพธิ์ต้นไทรลงแล้วปลูกตําแยแทน” หรือพวกนักเรียนนอกหัวรุนแรง “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่เลยเถิดไปกว่านั้น ก็โยนให้เขาเป็นแพะรับบาปในกรณีสวรรคตไปเสียเลย ดังนั้น ฐานะของปรีดี และ เหตุการณ์หลัง 2475 ตามความรับรู้ของคนรุ่นหลัง จึงเป็นเสมือนดังความรู้สึกของกวีร่วมสมัยผู้หนึ่งที่ว่า

มีก็เหมือนไม่มีประวัติศาสตร์
พลิกหน้าไหนก็ผิดพลาดเสียทั้งนั้น
เฉพาะตอนต้องกําหนดบทสําคัญ
ดําเป็นขาว, ขาวพลัน เป็นดําไป
ไม่รู้ใครต่อสู้กอบกู้ชาติ
ไม่รู้ใครขายเอกราชอันยิ่งใหญ่
ไม่รู้ใครรักประชาธิปไตย
ใครทําลายถวายให้เผด็จการ

ด้วยตระหนักดีถึงสภาพความเสื่อมโทรมของวิชาการไทยดังกล่าว ปรีดีในฐานะถูกเบียดขับให้ตกเป็น “จําเลย” ทางประวัติศาสตร์ จึงจําต้องเป็นทนายแก้ต่างให้ตัวเองด้วยการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นจากฝ่ายตนบ้าง และในเมื่อปรีดีนั้นมิใช่เนติ-ดุษฎีบัณฑิตที่สนใจเฉพาะตํารากฎหมายเท่านั้น เชื่อกันว่า เอกสารและหนังสือเก่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี นิรุกติศาสตร์ คัมภีร์ศาสนา และวรรณกรรมที่สําคัญล้วนผ่านสายตาของเขามาแล้วทั้งสิ้น จึงทําให้เขามีความแม่นยําและความสามารถในการใช้ภาษาหนังสือเพื่อสื่อความคิดได้เป็นอย่างดี ผลิตผลจากปากกาของเขาจึงเกิดขึ้นในบรรณพิภพโดยไม่ยากนัก 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมิใช่ว่า เขาจะสร้างงานเขียนออกมาเพื่อปกป้องเกียรติภูมิตามสิทธิ์อันชอบธรรมของตนประการเดียว หากเขาตั้งใจเขียนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาด้วยจิตสํานึกที่รับผิดชอบต่อความรับรู้ของอนุชนคนรุ่นหลัง และต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งเขาไม่เพียงแต่เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเท่านั้น หากมีบทบาทพัวพันอยู่ด้วยทุกช่วงตอน 

ปรีดีจึงเป็นกุญแจดอกสําคัญที่จะไขไปสู่เบื้องหลังอันลึกลับดํามืดของเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น อันจะช่วยให้ชนรุ่นหลังแลเห็นความคลี่คลายขยายตัวไม่เฉพาะแต่เหตุการณ์ทางการเมืองเท่านั้น หากรวมทั้งความคลี่คลายทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและมาตรฐานคุณค่าของสังคมที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และช่วยให้เข้าใจด้วยว่า ความคลี่คลายในทุก ๆ ด้านนั้นเป็นไปในทางถอยหลังเข้าคลองได้อย่างไร โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2490 เป็นต้นมา แต่ถึงอย่างไรก็ใช่ว่า ปรีดีจะสามารถตอบข้อสงสัยได้ทุกประเด็น แม้เขาเองปรารถนาจะทําเช่นนั้นก็ตาม ดังคําที่เขาปรารถนาฝากฝังชนรุ่นหลังไว้ว่า

“และก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้แต่เผอิญเข้าลักษณะของคําพังเพยโบราณว่า เป็นเรื่องที่พูดไม่ออก บอกไม่ได้ ผมก็ต้องผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อํานวยให้พูดออกมาได้  ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม  แต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือ ประวัติศาสตร์จะต้องดําเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น ผมขอฝากไว้แก่ท่านและชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย” 

น่าเสียดายที่บัดนี้ “โอกาส” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในอายุขัยของเขาเสียแล้ว คงเป็นเรื่องที่ชนรุ่นหลังผู้ใฝ่สัจจะต้องคว้าน้ำเหลวกันไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้

นอกจากไขข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ปรีดียังได้เสนอทัศนะของเขาในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่ยังมีจิตผูกพันต่อบ้านเกิดเมืองนอนอย่างลึกซึ้ง

เฉพาะงานเขียนชิ้นสําคัญของเขา ไม่นับ ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชน อันเป็นคําบรรยายประกอบการสอนที่เขาเขียนขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงฯ 2475 และไม่นับ คําประกาศคณะราษฎร, รัฐธรรมนูญ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 รวมทั้ง เค้าโครงเศรษฐกิจ และ บทภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก แล้ว งานเขียนส่วนใหญ่ของเขาล้วนเขียนขึ้นในระหว่างลี้ภัยอยู่ต่างแดน 

กล่าวคือ ช่วง 2492-2513 ระหว่างอยู่เมืองจีน 21 ปี เขาได้เขียนงานสําคัญอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ ความเป็นอนิจจังของสังคม, ปรัชญาคืออะไร และ สกุลพนมยงค์ นอกนั้นก็เป็นงานเขียนทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว ซึ่งเขาเขียนตอนช่วงที่อยู่ฝรั่งเศสเมื่ออายุมากแล้ว รวมกว่า 20 ชิ้น ได้แก่ Mavie mouvementee et mes 21 ans d' exil en Chine populaire (ชีวิตอันผันผวนและเวลา 21 ปีที่ข้าพเจ้าลี้ภัยในเมืองจีน), จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่, อนาคตของประเทศควรดําเนินในรูปแบบใด, มหาราชและกรุงรัตนโกสินทร์ และเล่มล่าสุดคือ ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น ทั้งนี้ไม่นับรวมคําสัมภาษณ์ และคําปราศรัยในโอกาสต่าง ๆ

ในที่นี้จึงขอแนะนําสั้น ๆ เฉพาะหนังสือที่เป็นงานเขียนงานพูดของปรีดีเองเป็นหลักและจะแนะนําจํากัดอยู่ในแวดวงหนังสือของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์แพร่หลายเมื่อเร็ว ๆ นี้

 

คําตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8
(ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)

 

หนังสือเล่มแรกที่ขอแนะนําให้อ่านและอ่านซ้ำ ก็คือ คําตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 โดยคําพิพากษาศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 5810/ 2522 ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองอายุ 80 ปีบริบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2523 และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน หนังสือเล่มนี้เหมาะสําหรับผู้ที่เชื่อหรือสงสัยว่า ปรีดีมีส่วนมัวหมองในกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 หากผู้อ่านไม่ทําความกระจ่างชัดในประเด็นนี้เป็นเบื้องต้นแล้ว ก็ป่วยการที่จะให้ผู้อ่านเชื่อถือต่อการกระทํา คําพูด และงานคิดงานเขียนของผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นอาชญกร 

เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยคําฟ้องของปรีดีที่มีต่อหนังสือชื่อ ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ซึ่งโน้มน้าวให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” เป็นที่ยืนยันแน่นอนว่า สํานวนฟ้องทุกถ้อย กระทงความนั้น ปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้นเอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทําไมจําเลย คือ นายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์และพวกต้องพ่ายแพ้อย่างไม่มีประตูสู้ เมื่อเผชิญกับชั้นเชิงของนักกฎหมายชั้นครู ผู้เคยว่าความชนะคดีซึ่งอัยการแผ่นดินเป็นโจทก์ เมื่อครั้งเป็นทนายความสมัครเล่นอายุได้ 19 ปีเท่านั้น 

ปรีดีไม่เพียงแต่สามารถพิสูจน์ต่อศาลโดยไม่ยากว่า ตนบริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต เขายังพิสูจน์ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับของศาลในปัจจุบันว่า คําพิพากษาคดีสวรรคตของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2497 ซึ่งตัดสินให้ประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ 3 คนในครั้งนั้นเป็นโมฆะด้วย 

หนังสือเล่มนี้แม้จะอ่านยากไปสักหน่อย เพราะเป็นสํานวนความที่ใช้กันในศาลซึ่งต้องอ้างหลักฐานข้อเท็จจริงมาสนับสนุนกันอย่างหนักแน่นทุกแง่ทุกมุม แต่ถ้าละเลยต่อสัจจะ เพียงเพราะเห็นว่าอ่านยากน่าปวดหัวแล้ว เราก็คงต้องยอมให้เขาล้างสมองด้วยข่าวลือ เพราะพงศาวดารกระซิบต่อกันไป

 

ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์
(ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)

 

ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ จัดพิมพ์โดยโครงการ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย สิงหาคม 2526  แม้จะเป็นงานที่ปรีดีเขียนเกี่ยวกับประวัติของตัวเอง แต่ก็เขียนขึ้นจากหลักฐานที่แท้จริง (Antherntic document) และที่มาแห่งวัตถุทางประวัติศาสตร์ (Sources of historical material) ซึ่งไปพ้นจากอคติของปุถุชน 

เหตุที่ต้องเรียบเรียงด้วยวิธีนี้ (ซึ่งทําให้หนังสือขาดความสนุกน่าอ่านไปมาก) ก็เพราะปรีดีเป็นทั้งนักนิติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการเอาสัจจะชนะอสัตย์ เอาวิทยาศาสตร์ชนะไสยศาสตร์ และเอาประวัติศาตร์ชนะนิยายอิงประวัติศาสตร์ (Hearsay) นั่นเอง 

 

ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
(ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)

 

เมื่ออ่านเล่มนี้แล้วก็ต้องอ่านอีกเล่มหนึ่งควบคู่กันไป คือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (พิมพ์โดยโครงการเดียวกัน) ประกอบด้วยบทบันทึกและคําสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดที่ ปรีดี พนมยงค์ ให้แก่ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (เมษายน 2525) 

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ส่วนมากก็เนื่องด้วยชีวประวัติของปรีดี แต่ต่างกับเล่มแรกตรงที่เป็นประวัติทางความคิดด้วย ประเป็นที่น่าสนใจที่สุด คือ เรื่องราวที่ปรีดีเล่าถึงสภาพสังคมสยามที่เขาเติบโตขึ้นมาก่อนไปเรียนเมืองนอก ซึ่งเป็นเสี้ยวชีวิตส่วนสําคัญที่ผลักดันให้เขามีจิตสํานึกทําการอภิวัฒน์ อันเป็นการลบล้างข้อกล่าวหาที่ว่า ปรีดีเอาความคิด “ชิงสุกก่อนห่าม” มาจากตะวันตก



ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์
(ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)

 

ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์สิงหาคม 2526 เนื้อหาสําคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ “คําอธิบายกฎหมายปกครอง” ปรีดีเป็นคนแรกที่นําเอากฎหมายมหาชนเข้ามาสอนในโรงเรียนกฎหมายไทย โดยที่ก่อนหน้านี้มีการสอนเฉพาะวิชากฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา อันเป็นประเภทกฎหมายเอกชนเท่านั้น “คําอธิบายกฎหมายปกครอง” เป็นเอกสารหลักฐานสําคัญชิ้นเดียวที่แสดงให้เห็นถึงเค้าความคิดของปรีดีก่อนการเปลี่ยนแปลงฯ 2475 

ใน “ข้อความเบื้องต้น” นั้นเขากล่าวถึงหลัก 3 ประการอันเป็นที่มาของกฎหมายปกครองคือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ 

ในภาคหนึ่งเขาก็ได้ให้คําจํากัดความของรัฐ รัฐบาล และเปรียบเทียบการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ราชาธิปไตย ประชาธิปไตย ไปจนถึงลิเบราลลิสม์ โซลิดาริสม์ และโซเชิลลิสม์ โดยแอบพาดพิงถึงคําว่าคอมมิวนิสต์ไว้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการกฎหมาย และแวดวงปัญญาชนทั่วไปในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

คําบรรยายกฎหมายของปรีดีชุดนี้ได้สร้างความตื่นตัวทางความคิดให้แก่คนรุ่นใหม่ของยุคนั้น ให้กล้าตั้งคําถามเกี่ยวกับรัฐและระบอบการปกครอง ซึ่งเคยถือกันว่าไม่ใช่กงการของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน นัยว่า ปรีดีได้อาศัยแนวการสอนของเขาเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดไปสู่การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475

ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ยังมีบรรณานุกรมงานเขียนของ ปรีดี พนมยงค์ และงานเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ของสํานักพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งสถาบันไทยคดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดทําขึ้นโดยละเอียดอันเป็นประโยชน์อย่างมากสําหรับผู้ต้องการค้นคว้าศึกษาชีวิตและงานของปรีดี พนมยงค์

หนังสือสําคัญอีกเล่มหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาด คือ ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการ “ปรีดี พนมยงค์ฯ” ร่วมกันจัดพิมพ์ (สิงหาคม 2526) หนังสือเล่มนี้บรรจุด้วยข้อเขียน 21 เรื่องซึ่งแสดงทรรศนะของปรีดีว่าด้วยแนวคิดพื้นฐานทางทฤษฎี, ว่าด้วยเอกราชอธิปไตยและความอยู่รอดของบ้านเมือง ซึ่งโยงไปถึงปัญหาสงครามรูปแบบต่าง ๆ อาวุธปรมาณูและการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน, ว่าด้วยความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดี ที่สะท้อนมาในรูปเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยมีภาคผนวกของพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ประกอบเทียบเคียงด้วย และว่าด้วยแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็นประเด็นทางความคิดที่คนรุ่นใหม่ต้องสําเหนียกไว้ตราบใดที่ปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทยยังเป็นเรื่องสําคัญอยู่ 

และเพื่อประกอบความสมบูรณ์ในเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ควรอ่าน มรดกปรีดี พนมยงค์ ของสํานักพิมพ์ “จิรวรรณนุสรณ์” ซึ่งได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของปรีดี จากหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศในช่วงปี 2514 - 2525 

เราจะพบว่า ปรีดีแม้อยู่ในวัยชรา แต่ยังสามารถแสดงแง่คิดทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้อย่างฉลาดปราดเปรื่องกว่าชนชั้นปกครองในกรุงเทพฯ มากนัก  ยิ่งข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง มหาราชและรัตนโกสินทร์ ซึ่ง โครงการ “ปรีดีฯ” จัดพิมพ์ในปีครบสองศตวรรษรัตนโกสินทร์ นั้น ย่อมแสดงว่าการที่คนอายุเกิน 80 แล้ว สามารถเขียนบทความทางวิชาการและประวัติศาสตร์ได้อย่างลุ่มลึกถึงเพียงนี้ โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่มีราชบัณฑิตที่มีมันสมองและความสุภาพพอที่จะตอบหนังสือความเห็นที่เขาเสนอมา ก็ส่อให้เห็นชัดถึงความอับจนทางสติปัญญาของชนชั้นปกครองไทยที่เป็นอยู่ในช่วงนี้

ขอแถมท้ายรายการแนะนําด้วยข่าวจากวงการหนังสือว่า สํานักพิมพ์เทียนวรรณกําลังเร่งงานแปลหนังสือชื่อ Marie mouvemetee et, mes 21 ans d'exil en Chine populaire จากพากษ์ภาษาฝรั่งเศสสู่พากษ์ภาษาไทย หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่ยาวที่สุดของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเขาตั้งใจจะแปลเองเลยทีเดียว หากล่วงลับไปเสียก่อน คาดว่าหนังสือนี้จะพิมพ์เสร็จทันงาน “รําลึกครบรอบ 84 ปีของปรีดี พนมยงค์” ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้แน่นอน

 

ที่มา: พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม 2527 สำหรับต้นฉบับของบทความนี้ คัดมาจากหนังสือ “วันปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, หน้า 86-93.