ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ขุนพลภูพาน ขุมกำลังเสรีไทยอีสาน” - เตียง ศิริขันธ์

23
กรกฎาคม
2563

“ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คน บนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา”

“ขุนพลภูพาน ขุมกำลังเสรีไทยอีสาน”
เตียง ศิริขันธ์

ภารกิจของกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง “พลพรรคเสรีไทย” สามารถบรรลุความสําเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ก็ด้วยความร่วมมืออย่างเอาชีวิตเข้าแลกของบรรดาผู้แทนราษฎรที่มีความรักชาติและมีความศรัทธาในตัวนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย โดยรับคําสั่งและนโยบายไปปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพ ผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยส่วนใหญ่เป็นส.ส.จากภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นปึกแผ่นของพลพรรค มีการจัดสร้างสนามบินลับเพื่อรับส่งบุคลากร ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร

สมญานามขุนพลภูพาน

นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครเป็นเสรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดผู้หนึ่งจนกระทั่งได้รับสมญาว่า “ขุนพลภูพาน”

 

นายเตียง ศิริขันธ์ (2452 – 2495) “ขุนพลภูพาน” ผู้นำเสรีไทยภาคอีสานชื่อรหัสว่า “พลูโต”
นายเตียง ศิริขันธ์ (2452 – 2495) “ขุนพลภูพาน” ผู้นำเสรีไทยภาคอีสานชื่อรหัสว่า “พลูโต”

 

นายเตียงเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ไปพบนายปรีดี พนมยงค์ที่บ้านถนนสีลม ในตอนค่ําของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากญี่ปุ่นบุกประเทศไทยและคณะรัฐมนตรีมีมติยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีมลายูและพม่าเมืองขึ้นของอังกฤษ การประชุมในคืนนั้นทุกคนได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ขึ้น และมอบให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ตัดสินใจส่งนายจํากัด พลางกูรเป็นผู้แทนขององค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยเล็ดลอดเดินทางไปนครจุงกิ่ง (ฉงชิ่ง) เพื่อติดต่อประสานงานกับรัฐบาลประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร อันได้แก่ จีน อังกฤษและสหรัฐฯ นั้น หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้นายเตียง ศิริขันธ์เป็นผู้พานายจำกัดไปยังจังหวัดนครพนมเพื่อลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งท่าแขก ประเทศลาว นายเตียงรู้จักคุ้นเคยกับนายจํากัด พลางกูรมาก่อนแล้ว ได้ถอดแหวนนามสกุลที่สวมอยู่ให้นายจํากัดเพื่อเอาไว้ขายในยามที่ต้องการเงิน นอกจากนั้นยังขอยืมกําไลและสร้อยล็อกเกตฝังเพชรของนางนิวาศน์ ผู้เป็นภรรยาให้นายจํากัดนําติดตัวไปด้วย

กลางปีต่อมาเมื่อกองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่อินเดียและลังกาได้แล้ว ทางฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศโดยทิ้งร่มลงมาจากเครื่องบิน

พลพรรคเสรีไทยสายอีสาน

นายเตียง ศิริขันธ์รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยให้เป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยทางภาคอีสาน ทํางานร่วมกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล โดยนายเตียงซึ่งใช้รหัสลับว่า “พลูโต” เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด

นายเตียงได้จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยหน่วยแรกขึ้นที่บ้านโนนหอม อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยอื่น ๆ ขึ้นที่บ้านเต่างอย บ้านโนนหอม และบ้านตาดภูวง ฯลฯ นอกจากนั้นนายเตียงยังร่วมกับนายจําลอง ดาวเรือง หัวหน้าหน่วยเสรีไทยจังหวัดมหาสารคาม จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยขึ้นที่บริเวณป่าเชิงเทือกเขาภูพานใกล้ ๆ บ้านนาคู อําเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาได้สร้างสนามบินลับขึ้นที่บ้านนาคูเพื่อใช้สําหรับการขึ้นลงของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร

 

(ซ้าย) พ.ต.เดวิด สไมเลย์ แห่งกองกำลัง 136 (กลาง) นายเตียง ศิริขันธ์ (ขวา) ส.อ. “กันเนอร์” คอลลินส์ พนักงานวิทยุของสไมเลย์
(ซ้าย) พ.ต.เดวิด สไมเลย์ แห่งกองกำลัง 136
(กลาง) นายเตียง ศิริขันธ์
(ขวา) ส.อ. “กันเนอร์” คอลลินส์ พนักงานวิทยุของสไมเลย์

 

การจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยดังกล่าวนี้ นายเตียง ศิริขันธ์ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้านและครูประชาบาล ตลอดจนข้าราชการในพื้นที่ ผู้ที่ร่วมงานกับนายเตียงในภารกิจของเสรีไทยได้แก่ กำนันละเอียด อภิวาทนะสิริ, นายเสรี นวลมณี, นายครอง จันดาวงศ์, นายสุรสีห์ ทองเสนา, นายสหัส กาญจนพังคะ, นายเรวัต ชื่นสำราญ, นายอาคม พรหมสาขา ณ สกลนคร, นายอินทรีย์ นามโคตร, นายดิลก บุญเสริม, นายดิลก มะลิมาศ, นายมาบ ภูมาศ, นายอ้วน นาครทรรพ, นายเพ่ง โพธิจินดา, นายมี ศรีทองสุก, นายจันทร วชิระภักดิ์, นายจวง กลัดณรงค์, นายเสถียร วัชรินชัย, นายเปรื่อง พรมประกาย, นายเพชร จันทราช, นายสวัสดิ์ ตราชู และนายสนิท ประสิทธิพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนายกระจ่าง ตุลารักษ์อีกผู้หนึ่ง ซึ่งเมื่อเดินทางกลับจากการไปปฏิบัติภารกิจที่เมืองจีนกับคณะของนายสงวน ตุลารักษ์แล้วก็ได้มาร่วมงานกับนายเตียง ศิริขันธ์ ในการจัดตั้งสถานีวิทยุที่บ้านโพนก้างปลา จังหวัดสกลนคร

นายทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและอเมริกาหลายนายได้มาปฏิบัติงานร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ อาทิ ร.อ.กฤษณ์ โตษยานนท์, ร.อ.ฉลอง บึงตระกูล และร.อ.อํานวย พูนพิพัฒน์ เป็นต้น

จากพ่อพิมพ์ของชาติสู่ผู้แทนฯชาวสกลนคร

 

(ซ้าย) บ่าวสาวในงานมงคลสมรส พ.ศ. 2482 (ขวา) เตียงกับ นิวาศน์ ภรรยา
(ซ้าย) บ่าวสาวในงานมงคลสมรส พ.ศ. 2482 (ขวา) เตียงกับ นิวาศน์ ภรรยา

 

นายเตียง ศิริขันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2452 ที่บ้านคุ้มวัดศรีษะเกษ ถนนมรรคาลัย ตําบลธาตุเชิงชุม อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของนายบุดดีกับนางอ้ม ศิริขันธ์ นายบุดดีเป็นหัวหน้ากองคาราวานรับซื้อควายและของป่าในภาคอีสานไปขายที่มะละแหม่งและเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า จึงเรียกกันว่า “นายฮ้อยบุดดี " บิดาของนายเตียงมีฐานะดีมากในจังหวัดสกลนคร ถึงแม้จะไม่ได้รับราชการ แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งจากทางการให้เป็นขุนนิเทศพานิช

นายเตียงได้รับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล และจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แล้วมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศเมื่อ พ.ศ. 2470 จากนั้นได้เข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกในระดับประโยคครูมัธยม (ป.ม.) เพราะยังไม่เปิดสอนถึงระดับปริญญา

พ.ศ.2473 เมื่อนายเตียง ศิริขันธ์ได้รับประกาศนียบัตรครู ป.ม.แล้ว จึงเริ่มไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีและโรงเรียนฝึกหัดครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากนั้นในปี 2477 ย้ายมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของนายเตียง โดยมี ม.ล.มานิจ ชุมสาย เป็นอาจารย์ใหญ่  โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลเป็นโรงเรียนแรกในภาคอีสานที่มีการสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 8

นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร 5 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส. โดยตรงครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 จนถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 รวมระยะเวลา 15 ปี

นายเตียง ศิริขันธ์ ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี 3 สมัยด้วยกัน ครั้งแรกในรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ ( 31 สิงหาคม - 17 กันยายน พ.ศ. 2488) ครั้งต่อมารัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (17 กันยายน พ.ศ. 2488 - 24 มกราคม พ.ศ. 2489) และครั้งสุดท้าย รัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (23 สิงหาคม พ.ศ.ิ2489 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490) นายเตียงลาออกเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2490 เพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจาประนีประนอมระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

บ่ายสองโมง วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ขณะที่นายเตียง ศิริขันธ์กําลังประชุมกรรมการนิติบัญญัตินัดพิเศษอยู่ที่บ้านมนังคศิลา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตํารวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ตํารวจมาเชิญตัวไปพบ จากนั้นนายเตียง ศิริขันธ์ก็หายสาบสูญไป เช่นเดียวกับ นายชาญ บุนนาค, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ ซึ่งหายไปอย่างลึกลับในช่วงเวลาเดียวกัน

หลายปีต่อมา หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามและพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ความจริงจึงปรากฏขึ้นมาว่า บุคคลทั้ง 5 ถูกตํารวจหลายนายร่วมกันสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ แล้วนําศพทั้งหมดไปเผาและฝังในป่าเชิงเขาโล้นจังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากทางแยกถนนลาดหญ้าที่กิโล เมตรที่ 9 ประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อทําลายหลักฐาน

นายเตียง ศิริขันธ์ “ขุนพลภูพาน” ผู้ใช้รหัสลับว่า “พลูโต” ในการปฏิบัติงานเสรีไทย เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้เพียง 43 ปี

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน : วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 791-796.