“หัวเมืองไม่ได้รับการบำรุงอย่างใดเลย ปล่อยตามธรรมชาติ แต่มองดูมณฑลชั้นในโดยเฉพาะจังหวัดพระนคร จะเห็นว่าถูกบำรุงอย่างฟุ่มเฟือย ในเมื่อเทียบกันข้อนี้ชาวหัวเมืองได้พร่ำร้องมานานนักหนาแล้ว”
พลพรรคเสรีไทยอุบลราชธานี - ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ในช่วง พ.ศ. 2476-2492 น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก “4 รัฐมนตรีอีสาน” หนึ่งในนั้น คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เลือดเนื้อเชื้อไขของชาวอุบลราชธานี เป็นนักการเมืองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตั้งแต่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และมีส่วนร่วมอย่างมากในการรับใช้ชาติระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเขตอุบลราชธานี
นักการเมืองสายเลือดชาวอุบลราชธานี
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นบุตรของนายชูกับนางหอม ภูริพัฒน์ เกิดที่บ้านหนองยาง อําเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2449 หลังจากจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช แล้วนายทองอินทร์มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2467 และได้วุฒิประโยคครู (ป.ม.) ในปีต่อมา แล้วกลับไปรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และเรียนกฎหมายทางไปรษณีย์ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมไปพร้อมกัน
ในปี พ.ศ. 2471 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้เลื่อนตําแหน่งเป็นครูใหญ่ และได้รับพระราชทานยศเป็นรองอํามาตย์ตรี นายทองอินทร์สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยามในปี พ.ศ. 2473 จึงโอนสังกัดไปอยู่กระทรวงมหาดไทยและได้เป็นเลขานุการมณฑลนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 ต่อมาย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้รั้งนายอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นย้ายไปดํารงตําแหน่งเป็นนายอําเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และนายอําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อพ.ศ. 2476
เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทยในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จึงลาออกจากราชการไปลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.อุบลราชธานี นายทองอินทร์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีต่อเนื่องกันทุกคราวที่มีการเลือกตั้ง (พ.ศ. 2476. 2480,2481 และ 2489) จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รวมเวลาที่เป็นส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี 14 ปี
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม - 17 กันยายน 2488) และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (17 กันยายน 2488 - 24 มกราคม 2489) หลังจากนั้นได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ (11 มิถุนายน - 23 สิงหาคม 2489) และรัฐบาลของพล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (23 สิงหาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490) โดยดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตลอด ยกเว้นระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ - 30 พฤษภาคม 2490 ซึ่งย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ดาวสภาฝีปากกล้า
ในฐานะ ส.ส. จากที่ราบสูง นายทองอินทร์จัดเป็นปัญญาชนอีสานที่มีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาคอีสานกำลังก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการปรับปรุงพัฒนาประเทศ ให้ทันสมัยซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ท่านจึงเป็นตัวแทนในการสะท้อนปัญหาร่วมสมัยในขณะนั้น เช่น ปัญหาข้าราชการจากกรุงเทพฯ ซึ่งถูกส่งมาประจำในภาคอีสานมักดูถูกคนอีสานว่า “คนลาวขี้เกียจ สกปรก กินปลาร้า ไม่ชอบเรียนหนังสือ” ปัญหาเรื่องเรื่องระบบการเก็บภาษีอากรแบบใหม่ในรูปเงินตราแทนการส่งส่วยหรือเกณฑ์แรงงานเช่นในอดีต ซึ่งสร้างภาระให้กับชาวอีสานจำนวนมาก
การสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ กับเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสานยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของคนอีสานจำนวนมาก ทำให้ชีวิตชาวนาอีสานต้องเปลี่ยนไปจากที่เคยผลิตข้าวเจ้าเพื่อขาย การเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของพ่อค้าจีน การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา ชาวเมืองและชาวชนบทซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับตัวภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยใหม่ จากเงื่อนไขนี้เองทำให้บรรดาผู้นำอีสานที่มีภูมิหลังเป็นเด็กชนบทรู้สึกยินดีกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และต่างมุ่งมั่นว่าจะใช้การเป็น ส.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาในบ้านเกิดของตน
“หัวเมืองไม่ได้รับการบำรุงอย่างใดเลย ปล่อยตามธรรมชาติ แต่มองดูมณฑลชั้นในโดยเฉพาะจังหวัดพระนคร จะเห็นว่าถูกบำรุงอย่างฟุ่มเฟือยในเมื่อเทียบกันข้อนี้ชาวหัวเมืองได้พร่ำร้องมานานนักหนาแล้ว”
ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายทองอินทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ดาวสภา” เนื่องจากเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านฝีปากกล้าที่คอยเสนอปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร และอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลร่วมกับส.ส. อีสานร่วมอุดมการณ์อีก 3 คน จนได้รับการขนานนามว่า “สี่รัฐมนตรีอีสาน” เพราะเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริต กล้าหาญ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ยากไร้ในชนบททั่วประเทศ
ในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน นายทองอินทร์ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อกระจายลงสู่ภูมิภาคและกระตุ้นให้มีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจ นายทองอินทร์ยังพยายามผลักดันให้รัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองอิสระ สามารถถ่วงดุลอำนาจกับสถาบันอื่น ๆ ตามหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุล
ปฏิบัติการเสรีไทยในเขตอุบลราชธานี
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในระบบราชการมากกว่าจะเป็นราษฎรชาวบ้านธรรมดา โดยคัดเลือกข้าราชการทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายศึกษา และฝ่ายสาธารณสุขที่ไว้วางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการครูเพราะนายทองอินทร์เป็นครูมาแต่เดิม จึงมีความคุ้นเคยข้าราชการครูเป็นพิเศษ พลพรรคเสรีไทยเหล่านี้ได้รับการฝึกอาวุธที่ทางฝ่ายสัมพันธมิตรลําเลียงส่งมาให้ทางเครื่องบิน
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นอยู่โดยทั่วไป และเป็นที่รวมของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่ญี่ปุ่นได้กักกันไว้ นั้นปฏิบัติการฝึกพลพรรคเสรีไทยจึงต้องกระทําด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ค่ายพลพรรคเสรีไทยแห่งแรกตั้งอยู่ที่บ้านขาม อําเภอเมือง ต่อมาก็มีค่ายฝึกที่บ้านสวนงัว อําเภอม่วงสามสิบ และสุดท้ายได้ย้ายไปอยู่ที่ค่ายโรงเรียนบ้านพนา อําเภอพนา
นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่ร่วมงานกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการฝึกพลพรรคและ การสร้างสนามบินลับ คือ ร.อ.การุณ เก่งระดมยิง นายทหารเสรีไทยผู้นี้ได้เดินเท้าเข้ามาในประเทศไทยจากศูนย์ปฏิบัติการที่ซือเหมาทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2487 แล้วกลับไปเมืองจีนตอนปลายปีพร้อมกับคณะของนายถวิล อุดล ปลายเดือนเมษายนปีต่อมาก็กลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งโดยเครื่องบินทะเล และไปปฏิบัติงานร่วมกับนาย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ที่หน่วยเสรีไทยจังหวัดอุบลราชธานี
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกตํารวจในยุคที่มี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตํารวจ สังหารอย่างโหดเหี้ยมพร้อมกับนายจําลอง ดาวเรือง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ์ และนายถวิล อุดล รวมเป็นอดีตรัฐมนตรี 4 คน ในคืนวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 14 - 15 บางเขน ถนนพหลโยธิน ขณะที่มีอายุเพียง 43 ปี
แหล่งอ้างอิง
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 797-800.
- วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล. 2549. กว่าจะเป็น...คณะละครหุ่นละครฮักแพง บทเรียนและประสบการณ์จากโครงการเชิดชูบรรพชนคนการเมืองและเสรีไทย : ทองอินทร์ ภูริพัฒน์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. หน้า 1-13.
- พีรยา คูวัฒนะศิริ. 2533. แนวคิดและบทบาททางการเมืองของทองอินทร์ ภูริพัฒน์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.เข้าถึงได้จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/32049
- ขบวนการเสรีไทย
- วันสันติภาพไทย
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- จังหวัดอุบลราชธานี
- ผู้แทนราษฎร
- รัฐประหาร 2490
- ทวี บุณยเกตุ
- ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
- ปรีดี พนมยงค์
- พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์
- ดาวสภา
- สี่รัฐมนตรีอีสาน
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ฝ่ายสัมพันธมิตร
- พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองเปลว ชลภูมิ์
- ถวิล อุดล
- กษิดิศ พรมรัตน์
- ตำนานเสรีไทย
- นิทรรศการขบวนการเสรีไทย