ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

โมฆสงคราม

22
สิงหาคม
2563

- 1 -

ในคํานําทั่วไปของหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ MA VIE MOUVEMENTEE ET MES 21 ANS D' EXIL EN CHINE POPULAIRE” ซึ่งในภาษาไทยจะมีชื่อว่า “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และการลี้ภัย 21 ปีในประเทศจีนของราษฎร” นั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในขณะที่หนังสือเล่มนี้กําลังจะสําเร็จลงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1973 ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างคู่ปรปักษ์ในเวียดนามและลาวได้ลงนามกันเป็นทางการแล้ว แต่สันติภาพยังมิได้มีขึ้นในสองประเทศนั้นและในประเทศอื่นแห่งย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ในกัมพูชา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยซึ่งก่อนนี้มีชื่อว่า “สยาม”

โดยปรารถนาให้มวลราษฎรไทยประสบสันติสุข ข้าพเจ้าจึงได้มอบบันทึกแก่คณะที่ได้รับความเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่มาขอให้ข้าพเจ้าเป็นคนกลางทาบทามเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม[1] เรื่องการอพยพชาวเวียดนามที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยกลับสู่ถิ่นฐานเดิมนั้น ให้นำไปแจ้งแก่รัฐบาลไทยสมัยนั้นว่า ผู้ที่ใช้สามัญสํานึกจากรูปธรรมที่ประจักษ์และผู้รู้กฎหมายระหว่างประเทศกับผู้ทํางานทางการทูต อีกทั้งผู้รับผิดชอบการเมืองของประเทศย่อมรู้จากรูปธรรมที่ประจักษ์ว่า ได้มี “ hostilité” อันเป็นสถานะสงครามโดยไม่ประกาศสงครามกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ทุกคนต้องยกประโยชน์สําคัญของชาติเหนือการค้าหากําไร โดยจะต้องช่วยกันหาทางเลิกสถานะสงครามโดยไม่ประกาศสงครามนั้น

ข้าพเจ้าได้บอกแก่เพื่อนไทยหลายคนว่า เราต้องระลึกถึงสุภาษิตของไทยที่สอนให้ “นึกถึงอกเขาอกเรา” และได้เล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เกิดที่กรุงศรีอยุธยาภายหลังที่กษัตริย์พม่าได้ทําลายกรุงนั้นแล้ว 133 ปี[2] แต่ชาวกรุงก็ยังไม่ลืมถึงการที่กรุงนั้นถูกทําลายย่อยยับ ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กพอจําความได้ ก็ได้ยินผู้ใหญ่และชาวบ้านเล่าให้ฟังด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจนานาประการที่บ้านเมืองและผู้คนถูกศัตรูทําลาย ความรู้สึกต่อพม่าเริ่มจางลงไปภายหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรพยายามชี้แจงว่าที่กรุงศรีอยุธยาถูกทําลายนั้น ไม่ใช่ความผิดของราษฎรพม่า แต่เป็นความผิดของกษัตริย์ที่มักใหญ่ใฝ่สูงแสวงการแผ่อํานาจ[3] ก็เมื่อฝ่ายไทยเรามีความรู้สึกต่อพม่าเช่นที่กล่าวนั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษ ราษฎรชาติอื่นที่บ้านเมืองถูกทําลายโดยเครื่องบินที่ไปจากฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยตามที่อเมริกันเองก็รับความจริงในข้อนี้นั้น จะมีความรู้สึกสักเพียงใด

ข้าพเจ้าชี้แจงแก่ผู้ที่มาพบว่า เราจะใช้วิธีนักเลงชั้นเลว บางคนที่ใช้วิธี “ตีหัวแล้ววิ่งเข้าบ้าน” นั้นไม่สําเร็จ เพราะเอกชนที่ถูกตีหัวก็อาจฟ้องร้องให้ลงโทษผู้ทําผิดและเรียกค่าเสียหายได้ ยิ่งเป็นเรื่องของประเทศต่อประเทศแล้วฝ่ายที่ถูกทําลายจะยอมให้เรื่องหายเข้ากลีบเมฆไปง่ายๆ ได้หรือ ข้าพเจ้าได้เตือนผู้มาพบว่า ให้ระลึกถึงตัวอย่างระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นได้ก่อสงครามโดยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และโดยไม่ประกาศสงครามกับจีนและฝรั่งเศส รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ก็ไม่ยอมปล่อยให้เรื่องหายเข้ากลีบเมฆง่ายๆ

"ขบวนการเสรีไทย" ได้ใช้ความพยายามทําให้อังกฤษและ ส.ร.อ.[4] รับรองว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยทําต่อสองประเทศนั้นเป็นโมฆะ ส่วนจีน ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตที่เป็นสัมพันธมิตรครั้งกระนั้น ก็ไม่ยอมเลิกสถานะสงครามหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ง่ายๆ  ขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลบางชุดภายหลังสงครามได้ใช้ความพยายามให้ประเทศเหล่านั้นยอมเลิกสถานะสงคราม ซึ่งเป็นทางให้ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ถ้าพิจารณาถึงท่าทีของ นายกรัฐมนตรีฟามวันดง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามตอบผ่านมาทางข้าพเจ้าว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐนั้น ตั้งจุดยืนหยัดจากรากฐานแห่งมิตรภาพอันเป็นประเพณีระหว่างราษฎรเวียดนามกับราษฎรไทยแล้ว

ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นท่าทีที่อะลุ่มอล่วยกว่าสัมพันธมิตรบางประเทศ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฝ่ายเวียดนามเหนือได้แยกราษฎรไทยส่วนมากที่บริสุทธิ์ออกจากคนจํานวนน้อยที่ร่วมมือกับจักรวรรดินิยมผู้รุกราน ดังนั้น ฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อชะตากรรมของชาติไทย ซึ่งยืนหยัดจริงในผลประโยชน์ของมวลราษฎรไทย ก็ควรถือโอกาสนี้ดําเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อเลิกสถานะสงครามโดยไม่ประกาศสงครามกับประเทศนั้นให้เสร็จไปโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ อันจะเป็นผลดีแก่ชาติและราษฎรไทย

ข้าพเจ้าเห็นว่านอกจากคนไทยจํานวนไม่กี่คนที่หวังประโยชน์ส่วนตัวในการประคองสถานะสงครามไว้นั้น มวลราษฎรที่รักชาติจำนวนมากย่อมเห็นได้ว่า ถ้า “สงครามโดยไม่ประกาศสงคราม” ดังกล่าวแล้วได้ขยายกว้างขึ้นมาสู่ดินแดนไทยแล้ว เราจะหวังพึ่งรัฐบาล ส.ร.อ. ให้ทุ่มเทกำลังคนและวัสดุกับการเงินมาช่วยประเทศไทยได้สักเพียงใด ตัวอย่างที่รัฐบาล ส.ร.อ. ถอนตัวจากเวียดนามใต้ก็ประจักษ์อยู่ และเราควรระลึกว่า เมื่อรัฐบาล ส.ร.อ. ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของเขาแล้ว เขาก็ต้องถือเอาประโยชน์แห่งชาติของเขาเองเป็นใหญ่กว่าที่จะทุ่มเทสรรพกําลังมาช่วยชาติอื่นโดยไม่อั้น

เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธุชนผู้รักชาติไทยที่ปรารถนาให้ชาติ และมวลราษฎรไทยบรรลุถึงซึ่งสันติภาพ ข้าพเจ้าจึงจัดทําหนังสือที่ให้ชื่อว่า “โมฆสงคราม” นี้ขึ้นโดยอาศัยหลักฐานเอกสารทางการของสัมพันธมิตรที่พิมพ์เปิดเผยขึ้นแล้วและหลักฐานของคนไทยผู้ที่เชื่อถือได้ว่าพูดตามสัจจะนั้น เป็นหลักประกอบด้วยหลักฐานความทรงจําของข้าพเจ้า

 

- 2 -

บางคนพูดว่า ไม่เห็นมีเยี่ยงอย่างที่ไหนซึ่งประเทศใดเคยทํามาก่อนแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ประเทศหนึ่งซึ่งประกาศสงครามกับอีกประเทศหนึ่ง เห็นท่าว่าตนจะแพ้แล้วก็ประกาศว่า การประกาศสงครามที่ฝ่ายตนเป็นผู้ทําก่อนนั้นเป็นโมฆะ จึงเหมือนกับตีหัวคนอื่นแล้ววิ่งเข้าบ้านนั่นเอง บางคนพูดเลยไปถึงว่า ที่ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามแทนองค์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประกาศว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทํากับ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่ว่าเป็นโมฆะนั้น ก็เสมือนสิ่งที่ผู้กล่าวนั้นพูดขึ้นเองว่า “Siamese Talk” แปลว่า “พูดอย่างไทยหรือชาวสยาม”

ข้าพเจ้ายอมรับเฉพาะข้อที่ว่า ไม่เคยมีประเทศใดทําเช่นนั้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก แต่เรามิได้ทําอย่างชนิดตีหัวคนอื่นแล้ววิ่งเข้าบ้าน และมิได้ทําอย่างที่ผู้กล่าวพูดเอาเองตามความข้างบนนั้น

ท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้จะพบหลักฐานจากเอกสารทางการที่รัฐบาล ส.ร.อ. ได้พิมพ์เปิดเผยแล้ว และรัฐบาลอังกฤษจะพิมพ์ขึ้นในไม่ช้าว่า การประกาศว่า ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่เป็นโมฆะนั้น มิใช่ข้าพเจ้าเห็นว่า สัมพันธมิตรชนะญี่ปุ่นที่ยอมจํานนแล้ว จึงประกาศโมฆะนั้น เพราะความจริงมีว่าผู้รักชาติภายในประเทศได้จัดขบวนต่อต้านญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นยกพลรุกล้ำเขตแดนไทย และนักเรียนไทยในอังกฤษกับใน ส.ร.อ. ก็จัดขบวนต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นเมื่อได้ทราบว่า ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งถูกญี่ปุ่นรุกราน

ครั้นแล้ว ผู้รักชาติทั้งภายในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศก็รวมเป็นขบวนการเดียวกันในชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งรับรองโดยสัมพันธมิตรสมัยนั้น รวม ทั้งรับรองโดยรัฐบาลจีนซึ่งพรรคโก๊ะมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนร่วมมือกัน ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของชาติจีน อีกทั้งได้รับการรับรองในที่ประชุมที่เมืองยาลตาเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 ซึ่งจอมพล สตาลิน หัวหน้าใหญ่ของคอมมิวนิสต์ทั่วโลก เข้าประชุมด้วย (จะมีก็แต่คอมมิวนิสต์นอกคอกบางคนที่ไม่รับรองขบวนเสรีไทยกล่าวอ้างว่า ตนได้นําราษฎรไทยต่อต้านญี่ปุ่น เพราะ ไม่รู้ว่าการทําสงครามที่แล้วมานั้น สัมพันธมิตรตกลงกันตั้งกองบัญชาการสูงสุดแห่งเอเซียอาคเนย์ ซึ่งขบวนการเสรีไทยเป็นพันธมิตรส่วนหนึ่งมีข้าพเจ้าบังคับบัญชานายทหารสัมพันธมิตรที่อยู่ในประเทศไทยด้วย)

ข้าพเจ้าเห็นว่า เพียงแต่สัมพันธมิตรรับรองขบวนการเสรีไทยเท่านั้นยังไม่พอ เพราะบริเตนใหญ่ยังคงถือว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นทําต่อเขาและประเทศในเครือจักรภพหลายประเทศได้ประกาศสงครามตอบแล้ว เขาจึงถือว่า ในทางนิตินัยการประกาศสงครามนั้นสมบูรณ์ แต่ก็จะลดหย่อนผ่อนปรนถ้าสัมพันธมิตรชนะ เพราะเห็นแก่คุณูปการที่ขบวนการขบวนการเสรีไทยเจรจาให้แก่สัมพันธมิตร ข้าพเจ้าจึงได้ส่งผู้แทนจากภายในประเทศ คือ นายจํากัด พลางกูร และคณะที่นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้า นําสารของข้าพเจ้าไปแจ้งแก่สัมพันธมิตรว่า การประกาศสงครามที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทําไปนั้นผิดเจตนารมณ์ของปวงชนไทยและข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นสมาชิกในคณะผู้สําเร็จราชการมิได้ลงนามด้วย โดยรัฐบาลเอาชื่อข้าพเจ้าไปประกาศเอง (เรื่องนี้นายทวี บุณยเกตุได้เขียนไว้ในบันทึกที่พิมพ์แพร่หลายแล้ว) อีกทั้งการประกาศสงครามนั้น มิได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก่อน เมื่อถึงโอกาสสมควรข้าพเจ้าจะประกาศว่า การประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ นอกจากนี้ก็ขอให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันและที่สต๊อกโฮล์มแจ้งความประสงค์นั้นของข้าพเจ้า ผลแห่งการเจรจาทําให้สัมพันธมิตรตกลงตามที่ข้าพเจ้าเสนอ แต่เขาให้รอการประกาศว่า การประกาศสงครามเป็นโมฆะนั้นไว้จนกว่าจะถึงโอกาสเหมาะสม

ฉะนั้น เมื่อญี่ปุ่นยอมจํานนต่อสัมพันธมิตร ข้าพเจ้าจึงแจ้งสัมพันธมิตรว่า โอกาสเหมาะสมแล้ว ข้าพเจ้าจะประกาศว่า การประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ สัมพันธมิตรเห็นชอบด้วย ส่วนลอร์ดเมานท์แบทแทนได้ส่งโทรเลขสวนทางมาแนะว่า ถึงเวลาแล้วให้ข้าพเจ้าประกาศว่า การประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ

ข้าพเจ้าขอนําประกาศสันติภาพเกี่ยวกับเรื่องประกาศสงครามโมฆะซึ่งปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ดังต่อไปนี้

 

โมฆสงคราม / ปรีดี พนมยงค์
โมฆสงคราม / ปรีดี พนมยงค์
โมฆสงคราม / ปรีดี พนมยงค์
โมฆสงคราม / ปรีดี พนมยงค์

 

"ขบวนการเสรีไทย" ไม่ยอมรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แม้แต่ 1 เซ็นต์ เรารักษาศักดิ์ศรีของเราไว้ ในระยะแรกๆ ผู้ใดรับหน้าที่อย่างไรก็ออกเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่าย แต่เมื่องานขยายกว้างขวางขึ้น เหลือกําลังที่แต่ละคนจะออกเงินส่วนตัวได้ จึงขอให้รัฐบาลอเมริกันถอนการยึดเงินของประเทศไทยที่ถูกยึดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนํามาใช้จ่ายในขบวนการเสรีไทย เงินของไทยใน ส.ร.อ. นี้ เป็นเงินที่ข้าพเจ้าเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โอนเงินของรัฐบาลส่วนหนึ่งที่เคยฝากไว้ในธนาคารอังกฤษไปฝากธนาคารในสหรัฐไว้ เคราะห์ดีที่โอนไปก่อนสงครามไม่นาน มิฉะนั้นจะต้องถูกอังกฤษยึดในฐานะที่เขาถือว่าเป็นศัตรู เพื่อเอามาชดใช้ค่าเสียหายของฝ่ายอังกฤษ และอีกส่วนหนึ่งได้เบิกจากงบประมาณช่วยประชาชนภายในประเทศ

 

ก.

เมื่อสงครามสงบแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของขบวนการเสรีไทย เราได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่ายทั้งภายในภายนอกประเทศ คณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณที่เที่ยงธรรม คือ

  1. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี อดีตอธิบดีศาลฎีกาและอดีตเสนาบดีกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  2. พระยานลราชสุวัจน์ อดีตตุลาการหลายตําแหน่งและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  3. พระยาวิกรมรัตนสุภาษ ขณะนั้นเป็นประธานศาลฎีกา
  4. พระยานิติศาสตร์ไพศาล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  5. นายพิชาญ บุลยง (เรอเน กียอง) ที่ปรึกษาคณะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ตามรายงานของคณะกรรมาธิการที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น ปรากฏจํานวนเงินที่ขบวนการเสรีไทยได้เบิกไปใช้จ่ายดังต่อไปนี้

  1. จ่ายแก่สถานทูต ณ กรุงวอชิงตัน 657,092.39 เหรียญสหรัฐ
  2. จ่ายแก่ โอ.เอส.เอส. สําหรับเสรีไทยนอกประเทศ 411,557.95 เหรียญสหรัฐ
  3. จ่ายแก่ โอ.เอส.เอส. สําหรับส่งทองไปเป็นค่าใช้จ่ายเสรีไทย 10 หน่วย กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จํานวนในเมืองไทย 63,124.18 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเลขาธิการขบวนเสรีไทยแลกเป็นเงินไทยได้ในอัตราขณะนั้นได้ 1,460,184.84 บาท
  4. จ่ายจากงบช่วยประชาชนสําหรับ 18 หน่วยเสรีไทยภายในประเทศ และค่าเชื้อเพลิงกับขนส่ง 8,867,989.87 บาท
  5. จ่ายจากงบช่วยประชาชนสําหรับหน่วยเสรีไทยภายในประเทศและค่าเชื้อเพลิงกับขนส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายสืบเนื่องเกี่ยวกับเสรีไทยภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมจํานน รวม 15,088,996.20 บาท

 

ข.

คณะกรรมาธิการวิสามัญได้รายงานไว้อีกว่า

“ขบวนการเสรีไทย หรืออีกอย่างหนึ่งว่าขบวนใต้ดินนี้ มีข้อเท็จจริงซึ่งตามกฎหมายได้ถือว่าได้ปฏิบัติการช่วยเหลือศัตรู ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 110 อาจมีโทษถึงตายก็เป็นได้ จึงเป็นผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติไทยในยามคับขัน เพราะมีอุดมคติตั้งใจจะกอบกู้ฐานะของประเทศมิให้เสียเอกราชฐานผู้แพ้สงคราม หรือ มิฉะนั้นก็เป็นประเทศเอกราชแต่ในนามตามสัญญาสงบศึก

ตามเอกสารหมาย ค. ซึ่งเป็นคําตอบของผู้รักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีสหรัฐอเมริกาถึงหัวหน้าขบวนการเสรีไทยให้คํารับรองว่า จะเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย

และตามเอกสารหมาย ต. นายเอช อาร์ เบิต ก็ได้กล่าวว่า ผลของขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นนั้นได้กระทําให้รัฐบาล อังกฤษแนะเสนอข้อตกลงอย่างเบาที่สุด และว่าถ้าเป็นรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว ข้อเสนอนั้นจะหนักต่างกันอย่างยิ่งเพราะจะถือว่าไทยเป็นศัตรูทํานองเดียวกับเยอรมันและญี่ปุ่น

ตามเอกสารหมาย ถ. เป็นสํานวนถ้อยแถลงของนายเบวิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2483 เกี่ยวกับเสรีไทยว่า รัฐบาลอังกฤษ รับรู้ในการที่ขบวนเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือ แต่จะลบล้างการที่ไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษซ้ํายังรับเอาดินแดนของอังกฤษไปจากมือญี่ปุ่น หรือไม่ประการใดนั้น ต้องดูเจตนารมณ์ของไทยต่อไปในการรับรองทหารฝ่ายอังกฤษที่จะเข้าไปในประเทศไทย

ตามเอกสารหมาย ท. เป็นถ้อยแถลงของนายโยสต์กล่าวตอบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2489 ใจความเกี่ยวกับเสรีไทยว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังจําได้อยู่เสมอ ด้วยความขอบคุณและชมเชยว่า ขบวนเสรีไทยใต้ดินได้ซื่อสัตย์ช่วยเหลือสัมพันธมิตร

ตามเอกสารหมาย บ. เป็นถ้อยแถลงของนายฮาริงต้นเกี่ยวกับเสรีไทยว่า ขบวนการเสรีไทยได้มีส่วนอย่างยิ่งที่ทําให้เชื่อแน่ว่าไทยเป็นมิตร จึงพร้อมที่จะช่วยเหลือทางการเงินเพื่อบูรณะการเศรษฐกิจของประเทศ

ตามเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ขบวนการเสรีไทยได้กอบกู้ฐานะของประเทศชาติ เนื่องจากสงครามคราวนี้ได้เป็นอย่างดี สมควรเป็นหนี้บุญคุณแก่ปวงชนชาวไทย และถ้ามีทางใดที่ประเทศชาติจะสมนาคุณแก่ผู้เสี่ยงชีวิตเข้ามาในการกอบกู้ฐานะของประเทศชาติเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นที่ยินดียิ่ง”

(ความตอนท้ายนี้ เป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญเอง)

 

ค.

ส่วนการที่มีผู้เสนอให้ผู้รับเงินจากกองบัญชาการไปจ่ายเพื่องานของแต่ละหน่วยนั้น ต้องเสนอหลักฐานรายจ่ายมาแสดงต่อคณะกรรมาธิการนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญมีความเห็นดั่งต่อไปนี้

คณะกรรมาธิการขอชี้ให้เห็นว่า ขบวนการกระทําอย่างลับๆ ชนิดนี้นั้น จะหวังให้มีบัญชีรายละเอียดและใบคู่จ่ายอย่างบัญชีงบดุลแห่งบริษัท หรือ สมาคมในยามสงบนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ผู้สอบถามน่าจะต้องพอใจเมื่อเห็นว่า เงินนั้นได้จ่ายไปเป็นการพิเศษ จําเป็นสําหรับความสําเร็จแห่งขบวนการกระทํานั้น ตามที่ปรากฏข้างบนนี้ คณะกรรมาธิการเห็นว่า โรงทหาร สนามบิน ค่าย กองบัญชาการ ฯลฯ ได้ก่อสร้างในอาการที่ลําบาก ด้วยสมรรถภาพที่น่าชมเชย และเป็นผลแสดงว่า เงินที่ใช้จ่ายไปแล้วนั้น สมควรแก่การงานที่กระทําไป นายพลเจ๊กส์ โดยเฉพาะ ได้กล่าวทักว่า สนามบินที่เสรีไทยได้ก่อสร้างทําไปนั้น ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว ก่อสร้างได้ถูกมาก ทั้งนี้ย่อมเป็นที่น่านับถือ (Credit) ในบุคคลที่รับผิดชอบการนี้

ย่อมเป็นการจําเป็นที่จะต้องใช้เงินในรายการที่นายพลเจ๊กส์ เรียกว่า จํานวนเงินงบบัญชีไม่ได้ (Unaccountable) เป็นต้นว่าจํานวนเงินที่ให้ไปแก่นักโดดร่มชูชีพในดินแดนศัตรู

ความจริงในเมื่อเกิดกรณีซ่อนเร้นและน่าอันตรายเช่นนั้น ต้องระวังกันอย่างกวดขัน อย่าให้เป็นภัยแก่ผู้มีส่วนในขบวนการกระทํานั้น ต้องปกปิดนามกัน เช่น หัวหน้าเสรีไทย ก็กระทําไปในนามแฝงว่า “รู้ธ” เอกสารโดยเฉพาะ เช่น เช็ค ใบคู่จ่าย ใบเสร็จ คําสั่ง ฯลฯ ย่อมจะเปิดเผยนามผู้รับ ผู้ใช้จ่ายไม่ได้ เพราะจะเกิดผลให้รู้ว่าใครเป็นใคร บุคคลที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเสี่ยงชีวิตเนือง ๆ ซึ่งถ้าข้าศึกได้ค้นพบเอกสารอันเป็นโทษเหล่านั้นเข้า จะเป็นภัยอย่างยิ่ง โค้ดลับเท่านั้นที่จะใช้เป็นอุบายป้องกันผลอันน่ากลัวมิให้บังเกิดขึ้น ในเวลาพลาดท่าพลาดทางลง

ข้อนี้มิใช่เป็นกรณีพิเศษสําหรับประเทศไทยเท่านั้น แม้เหตุการณ์เช่นเดียวกันบังเกิดขึ้นในประเทศอื่น ก็จักต้องปฏิบัติ เช่นเดียวกัน นายพันตรี ทอมป์สัน ก็ได้มาชี้แจงยังคณะกรรมาธิการว่า ขบวนต่อต้านในฝรั่งเศสก็ต้องรักษาความลับ ต้องเชื่อถือไว้วางใจกัน ไม่ควรเข้าใจผิด อย่างในประเทศไทย

นายนาวาตรี แมกโดแนลด์ ก็ได้ชี้แจงว่า ทาง โอ.เอส เอส ไม่ต้องการรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างไรเลย นายพลเจ๊กส์ หัวหน้าวัน.ธรี.ซิกซ์. ของอังกฤษ ได้อ้างถึงคําสั่งทั่วไปว่าไม่ให้เก็บเอกสาร ใบรับ หรือนามบุคคล โดยให้รักษาความลับอย่างที่สุด เพราะว่าอาจนําไปซึ่งการจับกุม กระทําให้เสียซึ่งโครงการถูกทําลายสิ้นไป และความจริงเพื่อหลักประกัน (Security) ทางเสรีไทยได้ถูกร้องขอโดย วัน.ธรี.ซิกซ์. ให้ทําลายบรรดาเอกสารทั้งสิ้น ที่อาจเป็นภัยในทางปฏิบัติย่อมถือเอาซึ่งการงานที่ได้รับมอบหมายไปกระทํา ส่วนรายละเอียดโดยเฉพาะย่อมต้องปิดบัง

ฉะนั้น คณะกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่า การที่กระทําไปในประเทศไทย ย่อมต้องเป็นไปเช่นเดียวกับที่กระทํากันในประเทศอื่น และในกรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดวิสัยและพ้นวิสัยที่จะขอร้องรายละเอียดแห่งรายการต่าง ๆ ที่กล่าวข้างบน

ในที่สุดคณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ในสุดท้ายขอให้ระวังอย่าให้เกิดการท้อถอยอิดหนาระอาใจจนไม่มีใครคิดริเริ่ม กระทําการสิ่งใดในเมื่อเกิดเหตุคับขันในอนาคต หากว่าบุคคลซึ่งริเริ่มกระทําการนั้นถูกไต่สวนในเรื่องการเงินอันพ้นวิสัยจะปฏิบัติได้ในกรณีเช่นนี้ ผลของงานย่อมสนองนโยบายและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายที่จะกอบกู้ฐานะของชาติย่อมจะต้องเชื่อถือกัน และหนทางที่เขากระทำไปเพื่อบำบัดความยุ่งยากก้ควรจะเชื่อถือด้วย

(ลงชื่อ) เทพวิทุร

(ลงชื่อ) นลราชสุวัจน์

(ลงชื่อ) วิกรมรัตนสุภาษ

(ลงชื่อ) นิติศาสตร์

(ลงชื่อ) พิชาญ บุลยง

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์, “คำปรารภ,” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558, หน้า 20-37.

 

สำหรับผู้ที่สนใจ:

 

หนังสือ “โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์”

ราคาปกติ 370 บาท

? พิเศษ!!! แถมฟรี DVD พระเจ้าช้างเผือก The King Of The White Elephant มูลค่า 300 บาท

? แถมฟรี!!! ที่คั่นหนังสือลาย “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” และลาย “ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”

? จัดส่งฟรี!!! จำนวนจำกัด

.ระยะเวลาโปรโมชั่น: วันนี้ - 31 สิงหาคม 2564

? สั่งซื้อได้ที่ https://m.me/pridibanomyonginstitute

 

โมฆสงคราม / ปรีดี พนมยงค์

 

[1] ปัจจุบัน คือ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม - กองบรรณาธิการ

[2] นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงในวันที่ 7 เมษายน 2310 เป็นเวลา 133 ปี - กองบรรณาธิการ

[3] แนวคิดเช่นนี้ของนายปรีดี ปรากฏอย่างชัดเจนในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”- กองบรรณาธิการ

[4]  สหรัฐอเมริกา - กองบรรณาธิการ