ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ครูเปียโน สุดา พนมยงค์

30
สิงหาคม
2563

นางสาวสุดา พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  เป็นบุตรีคนที่ 3 ของนายปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

เธอเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขเล่นเปียโนเพลงคลาสสิคได้ จึงให้เรียนกับเพื่อนสนิทของท่าน และแม่ชีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ

 

(แถวหลัง) ท่านผู้หญิงพูนศุข-นายปรีดี พนมยงค์ (แถวหน้า) สุดา, ลลิตา, ปาล, ศุขปรีดา
(แถวหลัง) ท่านผู้หญิงพูนศุข-นายปรีดี พนมยงค์
(แถวหน้า) สุดา, ลลิตา, ปาล, ศุขปรีดา

 

แม้ชีวิตของเธอจะผกผันไปตามชะตากรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ผู้บิดา  แต่เธอก็ภูมิใจที่มีคุณพ่อเป็นคนมีอุดมการณ์อันมุ่งประโยชน์เพื่อประเทศชาติและราษฎรตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

หลังรัฐประหาร 2490 ภัยจากเผด็จการทหารเบียดเบียนบีฑาครอบครัวของนายปรีดีอยู่ไม่น้อย เมื่อสุดาเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ และเซนต์โยเซฟคอนเวนต์จนจบมัธยมแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงส่งสุดาไปเรียนเปียโนต่อที่สถาบันดนตรี ประเทศฝรั่งเศส จนได้ประกาศนียบัตรมาเป็นเครื่องประกันความสามารถ นอกจากนี้เธอยังไปสอบได้ใบประกาศนียบัตรจากประเทศอังกฤษมาด้วย

จนถึงกึ่งพุทธกาล สุดาเตรียมเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนกลับ ตั้งใจไปเยี่ยมคุณพ่อที่ประเทศจีน และพักอยู่ด้วยประมาณ 1-2 เดือน แต่ก็เกิดเรื่องจนได้ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจและมีนโยบายต่อต้านประเทศจีน คนไทยซึ่งเดินทางไปประเทศจีนจึงถูกออกหมายจับ สุดาเป็นหนึ่งในนั้น จึงไม่อาจเดินทางกลับไทยได้ดังหวัง คงพำนักกับคุณพ่อคุณแม่ที่เมืองจีนต่อไป

นายปรีดีไม่อยากให้เวลาสูญเปล่าไป จึงพาสุดาไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ให้รู้จักอารยธรรมจีน และติดต่อให้เข้าเรียนดนตรีที่สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง เวลานั้นเธอไม่รู้ภาษาจีน จึงจัดให้ดุษฎี น้องสาวซึ่งคล่องภาษาจีนแล้ว เป็นล่ามให้สุดาในการเรียน

เมื่อนายปรีดีพำนักในประเทศจีนได้สองทศวรรษ จึงย้ายไปพำนักที่ฝรั่งเศส จากความเอื้อเฟื้อของเจ้าหน้าที่จีนและฝรั่งเศส  ก่อนที่นายปรีดีจะย้ายไปนั้น ได้ส่งท่านผู้หญิงพูนศุขและสุดาไปก่อน คราวนี้สุดาได้เรียนด้านครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยที่นั่น  และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางอักษรศาสตร์

ด้านหน้าที่การงาน สุดาเป็นครูสอนภาษาไทยในสถาบันภาษาตะวันออก เพราะมีใจรักด้านการสอน อาจเป็นอิทธิพลจากผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งชอบสอนคนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องรากศัพท์ และการใช้ศัพท์บัญญัติ  นอกจากนี้สุดายังสอนเปียโนตามบ้านของลูกศิษย์ควบคู่กันไปด้วย

แม้จะไม่ถึงกับแต่งตำราไว้ แต่สุดาก็มีเอกสารประกอบการสอนอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งตำราสอนภาษาไทยเหล่านั้น ภายหลัง ในการเรียนการสอนที่ปารีส ก็มีครูบางคนได้อ้างอิงตำราที่สุดาสอนได้ไว้  สุดาเล่าว่า การที่ได้เรียนดนตรีมาก่อนช่วยให้การสอนภาษา โดยเฉพาะการออกเสียงวรรณยุกต์ง่ายขึ้น เพราะสามารถใช้วิธีการออกเสียงมาช่วยได้

สุดาสอนหนังสืออยู่ที่ปารีสเป็นเวลา 17 ปี มีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อย บ้างเป็นนักการทูตก็มี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยคนหนึ่งบอกว่าไม่ได้รู้จักเธอในฐานะครูสอนเปียโน แต่รู้จักในฐานะครูสอนภาษาไทยต่างหาก

แต่เมื่อย้ายกลับมาพำนักในประเทศไทย หลังการถึงแก่อสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ผู้บิดา แล้ว สุดาก็สอนเปียโนเป็นหลัก ทั้งในฐานะอาจารย์พิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฯลฯ  จนปัจจุบันนี้ เธอก็ยังสอนเปียโนอยู่ที่สตูดิโอส่วนตัว มีลูกศิษย์ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ 

ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ ถึงสุดาในหนังสือ ดนตรีคลาสสิก: บุคคลสำคัญและผลงาน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550) หน้า 174 ว่า 

สุดา พนมยงค์ (19334 - ) นักเปียโนและครูเปียโน จบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส เป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง มีผลงานแสดงเปียโนอย่างสม่ำเสมอ เชี่ยวชาญการสอนด้านความเป็นดนตรี รวมถึงโสตทักษะ”

โดยในปี 2561 สุดาได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส ตระกูล Palmes Academiques (ด้านการศึกษา) ชั้น 2 (Offcier) ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยอีกด้วย

 

สุดา พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้าง ในงานรำลึก 100 ปี จำกัด พลางกูร (30 ตุลาคม 2557) ภาพจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระ
สุดา พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้าง ในงานรำลึก 100 ปี จำกัด พลางกูร (30 ตุลาคม 2557)
ภาพจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

 

และในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2563 เวลา 19.00 น. ณ โรงละครอักษรา คิงพาวเวอร์คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ  ขอเชิญชมการแสดงบทเพลงคลาสสิก โดยวงดุริยางค์ราชนาวี ควบคุมวงโดย พลเรือตรี ณรงค์ แสงบุศย์

การแสดงครั้งนี้ นอกเหนือจากบทเพลงที่ไพเราะต่าง ๆ ที่จะบรรเลงโดยวงออร์เคสตราแล้ว ครูสุดา พนมยงค์ จะบรรเลงเปียโน ในบทเพลงที่ประพันธ์โดยคีตกวี César Franck ในชื่อ Variations symphoniques (M.46) ร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี  และมีนายพลศิษฎ์ โสภณสิริ ร่วมเดี่ยวไวโอลินกับวง ในบทเพลงที่เป็นที่รู้จักและคุ้นหู คือ Zigeunerweisen ของคีตกวี Pablo de Sarasate  นอกจากนี้ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูจะร่วมขับร้องในบทเพลง Va pensiero จากอุปรากร Nabucco ของ Giuseppe Verdi และ Habanera จากอุปรากร Carmen ของ George Bizet

คอนเสิร์ตครั้งนี้ปิดรับลงทะเบียนแล้ว