ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นิทานเสรีไทย

11
สิงหาคม
2563

กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านผู้มีเกียรติที่รักและเคารพ

กระผมขอขอบพระคุณที่ได้รับเกียรติให้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทย โดยที่กระผมเป็นเสรีไทยชั้นผู้น้อยร่วมขบวนการเสรีไทยเมื่อ พ.ศ. 2485 มีอายุเพียง 22 ปี เท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะเล่าอะไรต่าง ๆ ให้ครบถ้วนทุกกระบวนความได้ โดยเฉพาะก็มีท่านผู้มีเกียรติได้เล่ามามากพอสมควรแล้ว 

กระผมขอกล่าวอารัมภบทว่า วิกฤตการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นเหยียบผืนแผ่นดินไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กระผมจําได้ไม่มีวันลืมว่า วันนั้นกระผมเดินจากบ้านบางลําภูไปสวนกุหลาบเพราะเป็นวันปิดเกี่ยวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ  ได้ยินเสียงวิทยุประกาศบอกว่า ขณะนี้กองทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบนแผ่นดินไทยทางภาคใต้และยกขึ้นบกที่บางปูแล้ว  กระผมตัดสินใจในบัดนั้นว่า เกิดมาเป็นลูกผู้ชายเราจําเป็นต้องกู้แผ่นดินเกิด ต่อต้านอริราชศัตรู แล้วกระผมมาคิดว่า ความเห็นเช่นนี้ก็คงจะมีอยู่ในหัวใจลูกไทย 17 ล้านคนของเมืองไทยขณะนั้นเช่นเดียวกัน  บุคคลซึ่งมีจิตใจตรงกันในการที่จะต่อต้านอริราชศัตรูจึงได้ก่อหวอดกันขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ เป็นคณะ ๆ  ในชั้นแรกแต่ละคณะไม่มีโอกาสได้รู้เรื่องกันเลย

นักเรียนไทยและคนไทยในสหรัฐอเมริกาประกาศการจัดตั้งองค์การเสรีไทยขึ้นนอกประเทศ  ส่วนนักเรียนไทยและคนไทยที่อังกฤษมีการประกาศตั้งขบวนการ “ไทยอิสระ”  นอกจากนั้นกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในเมืองไทย หลายกลุ่มก็ใช้ชื่อแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มของคุณจํากัด พลางกูร ตั้งชื่อว่า “คณะกู้ชาติ” โดยเฉพาะนักศึกษารุ่นหนุ่ม ๆ  พวกกระผมนั้นตั้งชื่อกลุ่มเรียกว่า “ไทยเสรี”  อย่างนี้เป็นต้น 

สรุปแล้วบุคคลที่มีจิตใจตรงกันในการที่จะกอบกู้เอกราชของชาติมีมากมายหลายกลุ่มเหลือเกิน  กล่าวได้ว่า โดยวุฒิความสามารถและคุณสมบัติอันเป็นอัจฉริยะของท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ จึงสามารถจะหล่อหลอมน้ำใจผู้รักชาติทุกหมู่ ทุกกลุ่ม ทุกเหล่า ไม่ว่านอกประเทศ ในประเทศ รวมตัวกันขึ้น  จนกระทั่งกลายเป็น ขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีสมาชิกอยู่ในทะเบียนประมาณ 50,000 คน สามารถที่จะระดมเพื่อทํางานอันเดียวกันนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 คน

เรื่องนี้กระผมจึงอยากจะกราบเรียนท่านที่เคารพทั้งหลายเป็นเบื้องต้นว่า ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นหัวหน้าเสรีไทยก็โดยอัจฉริยะ โดยสมรรถภาพ โดยบุคลิกส่วนตัวเป็นพิเศษของท่าน จึงสามารถที่จะกุมนน้ำใจของบุคคลซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกันทั้งทางด้านการเมือง ด้านผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างหล่อหลอมให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขึ้นได้ 

กระผมขอกราบเรียนกล่าวสรุปเพียงเล็กน้อย เพราะว่ามีเวลาจํากัด  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเสรีไทยซึ่งพอจะแยกได้เป็น 2 ประการ  

ประการที่ 1 เราพยายามจะรวบรวมพลพรรคเป็นกําลังต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อแสดงสมรรถภาพให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เห็นว่าเราร่วมเป็นร่วมตายกับเขา เป็นกองกําลังสู้รบ 

ประการที่ 2 จะพยายามทําให้สถานการณ์ซึ่งเราเสียเปรียบ เพราะได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้สามารถพลิกกลับไม่ให้เลวร้ายลงจนเกินไป  หากฐานะของเรากลายเป็นฝ่ายผู้แพ้สงครามโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะต้องถูกลงโทษหนักบังเกิดภัยอันมหันต์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง 

ในประการแรก ให้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป ทั้งพวกแรงงาน กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา แม้กระทั่งกําลังทหารซึ่งตอนนั้น พล.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัส ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ร่วมมือด้วย ทางฝ่ายทหารเรือ ทหารอากาศ และตํารวจ ก็ผนึกกําลัง เข้าร่วมกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้การทํางานของขบวนการเสรีไทยจะถือว่าเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือว่าเป็น  ของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ได้ เพราะว่าเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของคนทั้งชาติ โดยมอบความเป็นผู้นําให้ท่านปรีดี พนมยงค์ เพื่อทําการกู้ชาติ 

กระผมขออนุญาตเปิดเผยรายละเอียดสักเล็กน้อยว่า ในการทํางานที่กระผมพอจะกราบเรียนท่านที่เคารพทั้งหลายได้ ก็เป็นการบังเอิญ เนื่องจากกระผมได้มีส่วนเข้าไปอยู่ในกองกลางของขบวนการเสรีไทย ในขบวนการนี้บุคคลซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดหรือว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ ก็คือ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์  นอกจากนั้นยังมีคณะทํางานซึ่งอาจจะไม่เคยได้มีการเปิดเผย ณ ที่อื่น  กระผมต้องขอประทานโทษที่ต้องเอ่ยนามบางท่านไว้ด้วย 

การทํางานของท่านปรีดี พนมยงค์นั้น ท่านตัดตอน คือ ไม่ให้ทุกสายรู้เรื่องกัน แต่ทว่ามีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งถือเป็น working group เป็นคณะทํางานซึ่งรับนโยบายมาจากท่านโดยตรง ท่านมอบหมายมาให้เฉพาะบางเรื่องบางราวเท่านั้น บุคคลคณะนี้ได้ใช้ห้องแคบ ๆ เล็ก ๆ ใต้โดมธรรมศาสตร์เป็นสถานที่นัดพบรับประทานอาหารกลางวันกันทุก ๆ วัน 

ในระยะเริ่มแรกมีสมาชิกเข้าร่วมโต๊ะอาหารเพื่อทํางานสนองนโยบายของท่านผู้ประศาสน์การปรีดีฯ ก็คือ 

1.ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค ซึ่งสมัยนั้นท่านเป็นคณบดี ม.ธ.ก. 

2.ท่านศาสตราจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นเลขาธิการ ม.ธ.ก. 

3. ท่านศาสตราจารย์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล 

4.ท่านอาจารย์ ดร.ทวี ตะเวทิกุล 

สําหรับตัวกระผมนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ  ตามที่ท่านอาจารย์วิจิตรบอกเล่าว่า วันหนึ่งไปพบท่านผู้ประศาสน์การ ท่านปรารภว่า ทํางานอย่างนี้ ถ้าผู้ใหญ่ไปเคลื่อนไหววิ่งเต้นแล้วเขาก็ต้องจับตามอง ควรจะหาเด็ก ๆ  ท่านปรีดีฯ จึงสั่งให้ท่านอาจารย์วิจิตรตรวจสอบเปิดทะเบียนดูว่านักศึกษาที่จบจาก ม.ธ.ก. ผู้ใดมีผลการเรียนเป็นพิเศษบ้าง พอมาพลิกดูทะเบียนบังเอิญกระผมก็ออกจะฟลุ๊ค คือ มีผลการสอบแอทพาสท์ โดยสอบผ่านตลอดไม่เคยสอบไล่ตก ทั้งชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท 

เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์วิจิตร จึงให้คุณสวาสดิ์ อินทรสุขศรี มาคอยดักชี้ตัวผม ปกติผมสอนอยู่สวนกุหลาบ บ่าย 3 โมงเลิกงานจึงได้มาพบปะเพื่อนฝูงใน ม.ธ.ก. เมื่อถูกชี้ตัวแล้ว ท่านก็เรียกกระผมขึ้นไปตึกโดม ใช้เวลาโอ้โลมปฏิโลมเกลี้ยกล่อม ทดสอบน้ำใจหลายครั้ง จึงทราบว่า กระผมกับพวกก็กําลังดําเนินงานเพื่อกู้ชาติอยู่เช่นกัน 

ต่อมาได้พาเข้าพบท่านปรีดีฯ ถูกท่านสัพยอกบอกว่า เอ! คุณวิจิตรสั่งให้ไปหาม้าวิ่งทําไมถึงได้ช้างมา (เพราะตัวโต) กลายเป็นอย่างนั้น โดยเหตุนี้ พรรคพวกเพื่อนฝูงในขบวนการเสรีไทยจึงมักจะล้อเลียน เรียกกระผมว่า ช้างวิ่ง  

ในฐานะเป็นช้างวิ่งก็ได้เข้าร่วมโต๊ะรับประทานอาหารดังกล่าวแล้ว เวลาท่านสั่งการอะไรต่าง ๆ เราก็เอามาวิเคราะห์ดีเบทปัญหากัน แล้วสนองนโยบายตามที่ท่านสั่งมาเฉพาะเรื่องเฉพาะราว 

กระผมพอที่จะสรุปกราบเรียนท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายได้บ้างเล็กน้อย เรื่องนี้กระผมไม่เคยพูดที่ไหนเลย การทํางานคราวนี้ ท่านผู้ประศาสน์การเคยกับกระผม 2 คํา คําหนึ่ง security คําที่ 2 top secret แล้วท่านก็บอกว่า การทํางานคราวนี้ ขอให้ทําเพื่อบุญบูชาธรรม เมื่อทําไปไม่พึงเปิดเผยbแต่บัดนี้ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว 

กระผมได้รับเชิญไปพูดในวันจัดงานรําลึกอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีของท่านปรีดีฯ ที่อยุธยา รู้สึกอึดอัดใจเหมือนกันในการที่จะต้องเปิดเผย แต่เมื่อได้รับเกียรติจากท่านที่เคารพทั้งหลายก็ขอเล่าบางส่วนให้ปรากฏเป็นเพียงนิทานไว้เท่านั้น  งานที่พวกเราได้กระทําไปเท่าที่กระผมรู้เห็นอยู่ภายใต้หอโดมในโต๊ะอาหารมีขาประจํา 5 คนนั้น  ก็คือ มีการติดต่อกับบรรดาเสรีไทยจากต่างประเทศ 

เสรีไทยกลุ่มแรกที่ติดต่อ ได้แก่ กลุ่มของท่านอาจารย์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งประกาศตัวเป็นขบวนการเสรีไทยสหรัฐอเมริกาโดยตรง มีคุณพระพิศาลสุขุมวิท เป็นหัวหน้า แล้วส่งพันโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร กับคณะเดินทางมาอินเดียและต่อไปจุงกิง ได้ส่งพลพรรคเดินทางบุกป่าฝ่าความยากลําบากทุรกันดารมา จนกระทั่งถูกตํารวจจับและฆ่าตายที่อําเภอเชียงคาน 2 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2487 กระผมจําได้แม่นยํา เพราะเป็นวันเกิดของกระผมเอง และพวกเสรีไทยได้มีการทําบุญที่โรงพยาบาลสงฆ์เพื่ออุทิศให้แก้วีรบุรุษคู่นี้ทุก ๆ ปี 

ทางสายอังกฤษมีการก่อตั้งหน่วยไทยอิสระขึ้นโดยมีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยคณะนักเรียนไทย ซึ่งมีคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นํา แล้วก็ได้ทําการฝึกอบรมตามหลักสูตรนายหทารหน่วยสื่อสารและหน่วยคอมมานโด อยู่ที่มืองปูนาใกล้ ๆ นครบอมเบย์ ประเทศอินเดีย 

ต่อมาเราได้ส่งพวกนักเรียนไทย ซึ่งเรียนจบจากสถาบันต่าง ๆ ไปฝึกอบรมเพื่อจะให้มาเป็นพลพรรคเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายต่าง ๆ  ในชุดแรกก็คัดเลือกผู้เรียนจบชั้นปริญญาโท ซึ่งมีผลการสอบดีเด่น คือ คุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ เป็นหัวหน้าไปทางน้ำ รุ่นที่ 2 มีคุณวงศ์ พลนิกร ซึ่งจบมหาบัณฑิต เป็นหัวหน้าไปทางทะเลเหมือนกัน

นอกจากนั้น เราก็พยายามที่จะส่งม้าอุปกรณ์เดินทางออกจากประเทศไทยไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เราตระหนักว่า การทํางานของเราจะใช้กําลังอย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะกองมหาจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นได้ เพราะฉะนั้นจึงจําเป็นที่จะต้องเดินแต้มทางการเมือง ซึ่งจะต้องติดต่อกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ชุดแรกที่ได้เดินทางไป ก็คือ คุณจํากัด พลางกูร ต่อมาก็มีชุดท่านอดีตเอกอัครราชทูตสงวน ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้า ในทีมนี้ก็ขออนุญาตกล่าวไว้ให้ปรากฏนิดหน่อย คือ ขบวนการเสรีไทยได้ติดต่อทาบทามท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อให้เดินทางออกไปเหมือนกัน แต่ก็มีอุปสรรค ในที่สุดเราเอาคุณแดง คุณะดิลก เดินทางไปแทน ชุดที่ 3 ได้แก่คณะของ คุณถวิล อุดล มีคุณมาโนช วุฒาทิตย์ ติดตามไปด้วยโดยไปทางประเทศจีน 

ตอนนั้นมหาอํานาจผู้มีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประเทศไทยมี 3 ประเทศด้วยกัน คือ 1. จีน 2. อังกฤษ 3. สหรัฐฯ 

เฉพาะคณะที่ไปติดต่อกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง มีคุณพระพิศาลสุขุมวิท เป็นหัวหน้า ท่านอาจารย์กนต์ธีร์ ศุภมลคล ก็เดินทางร่วมไปด้วยเพื่อเจรจาปัญหาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ 

การติดต่อเพื่อให้ทางฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับนั้นเป็นการยากที่กระผมไม่รู้จะหาถ้อยคําอย่างไรมาอธิบายให้ท่านที่เคารพตระหนักได้ พวกเราต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เอาชีวิต เข้าแลก เช่น คุณจํากัด พลางกูร คุณการะเวก ศรีวิจารณ์ คุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์ ได้อุทิศเป็นชาติพลีไปแล้ว  

การทํางานทีแรกมีความมืดมนเหมือนกัน ขณะนั้นกระผมเป็นเด็กไปร่วมรับประทานอาหารอยู่กับท่านผู้ใหญ่ที่โต๊ะอาหารภายใต้หอโดม ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ความหวังของพวกเราเจิดจ้าขึ้นเป็นครั้งแรกที่สุดก็โดยที่คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กระโดดร่มลงมาในดินแดนจังหวัดอุทัยธานีเมื่อกระโดดร่มลงมาแล้วในที่สุดก็ถูกจับ 

พวกที่กระโดดร่มลงมาก็ดีหรือสายหม่อมหลวงขาบฯ ที่เดินทางมาจากยูนนาน มาจากเมืองซื้อเหมา เมืองเซล์ก็ดี ได้ถูกจับหมด มีเหลือคุณบุญมาก เทศบุตร ไม่ถูกจับ แต่ทว่าไม่ได้นําเอกสารสําคัญมา ส่วนคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์นั้น ยังมีเอกสารสําคัญจากหลอดหลุยส์  เมานท์แบทเทน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเซาท์อีสเอเชีย คอมมานด์ เพื่อที่จะนํามามอบให้แก่ ฯพณฯ ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ เผอิญจดหมายอันนั้นถูกตํารวจยึดเอาไป ก็ไม่รู้จะทําอย่างไร มีเหลือแต่เครื่องวิทยุ 

ทีนี้บังเอิญมีพันตํารวจโท สําเริง เนตรายน ผู้ที่รู้จักกับท่านอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ มากระซิบบอกว่า พวกที่ถูกจับเขามีเอกสารสําคัญมีเรื่องจะมาเล่าให้ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดีฯ ได้ทราบ ตกลงก็เลยนัดหมายให้ตํารวจสันติบาลพาเอาตัวผู้ต้องหาออกมา ทําทีว่าจะไปพักผ่อน  หย่อนใจเพราะมีความเครียดเหลือเกิน โดยจะพาไปดอนเมืองเสร็จแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็รับเอาผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ไปรออยู่ที่บ้านท่านอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ 

ในคราวนั้น ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ จึงมีโอกาสได้พบ คุณป๋วยฯ เป็นเหตุให้มีความมั่นใจได้ว่า การทํางานของพวกเรานั้นไม่เสียหลาย อย่างน้อยกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรของเซาท์อีสเอเชีย คอมมานด์ ก็ยอมรับว่า ขบวนการของเราเกิดขึ้นแล้ว และก็ต้องการความร่วมมือของพวกเราด้วย แต่ขาดเอกสารสําคัญ 

พอต่อมามีการกระโดดร่มลงที่หัวหิน ในหน่วยของคุณชาญ บุนนาค มีคุณประเสริฐ ปทุมมานนท์ และเสรีไทยอีกคนหนึ่ง พอจําได้ว่ามาจากทางสหรัฐอเมริกา  การกระโดดร่มลงมาคราวนี้สมบูรณ์แบบ คือ มีทั้งเครื่องรับส่งวิทยุ มีทั้งเอกสารของลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน เพราะว่าตอนที่คุณป๋วยกระโดดลงมานั้น ข่าวคราวขาดตอนหายไปแล้ว การที่คุณป๋วยได้นําข่าวมาบอกเล่าก่อนและทางคุณประเสริฐ ปทุมมานนท์ ได้นําเอกสารมานี้ เพิ่มกําลังใจให้แก่พวกเราในการที่จะผนึกกําลังร่วมกัน จึงนําความอันนี้ไปบอกเล่าต่อผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองได้ทราบ                 

กระผมพอจะกราบเรียนได้ว่าบรรดานายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจํากระทรวงต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้น แทบทุกคนได้มีส่วนร่วมในขบวนการเสรีไทยด้วยกันทั้งนั้น กระผมอยากจะกราบเรียนให้ปรากฏไว้ว่า แม้กระทั่งพันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็มีส่วนรู้เห็น มีส่วนร่วม ทําไมกระผมจึงยืนยันอย่างนี้ เพราะเวลาที่กระผมจะกราบลา ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ไปทํางานร่วมกับขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศนั้น มีบุคคลอยู่กับท่านผู้ประศาสน์การ 2 ท่านคือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. หลวงอดุลเดชจรัส บัญชาการทหารบก นั่งควบคู่กันอยู่ด้วย  กระผมยังจําติดตาว่า ท่านควงฯ มีผ้าขนหนูเล็ก ๆ พาดคอเป็น ภาพประทับความทรงจํา วันนั้นท่านผู้ประศาสน์การได้ถามย้ำกับกระผมว่า คุณจารุบุตรทํางานคราวนี้เป็นการทํางานเพื่อใคร กระผมได้กราบเรียนท่านว่า กระผมขอทํางานเพื่อใช้หนี้กู้แผ่นดินเกิด ทั้งสองท่านได้นั่งเป็นพยานอยู่ 

นอกจากนั้นก็ยังมีบุคคลสําคัญอีกหลายท่าน เป็นต้นว่า การที่ขบวนการเสรีไทยจะเติบใหญ่ขึ้นมาในทางสายมหาดไทยก็เพราะหลวงศุภชลาศัย ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงสามารถนําเอาบุคคลากรในสายมหาดไทยของท่านมาร่วมขบวนการนี้  ทางสายพวกครูก็มี คุณทวี บุณยเกตุ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นจึงสามารถรวบรวมพลพรรคได้ทั้งสายมหาดไทย ทั้งสายพวกครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะพวกครูประชาบาลตามท้องถิ่นต่าง ๆ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วยเป็นจํานวนมาก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว ภาระสําคัญที่สุดมาตกหนักอยู่ในเรื่องที่จะใช้ยุทธวิธีอย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเป็นผู้แพ้สงคราม  ประเด็นนี้เป็นเรื่องซึ่งเราครุ่นคิดกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผมอยากจะขอกราบเรียนเพื่อให้ปรากฏไว้บ้าง ผมนั่งฟังเมื่อกี้นี้ อาจารย์วิกรม เมาลานนท์ ท่านว่าไม่อยากจะให้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียด บางทีมันอาจจะเป็นการกระทบกระเทือนกัน แต่ทว่าเรื่องสัจธรรมเป็นเรื่องของความจริงซึ่งคนไทยน่าจะรับทราบไว้พอสมควร

เมื่อเสร็จสงครามใหม่ ๆ สถานการณ์ของประเทศไทยมีอันเป็นไปที่เกือบที่จะถูกหั่นหรือถูกแบ่งแยกให้เป็นสองส่วน  ครั้งนี้เพื่อชาวอเมริกันซึ่งร่วมกับพวกเราได้นำความลับมาแจ้งต่อท่านผู้ประศาสน์การว่า ทางฝ่ายจุงกิงมีแผนจะยกเอาข้อตกลงเดิมของฝ่ายพันธมิตรที่กําหนดว่า เหนือเส้นขนานที่ 16 เป็นเขตสมรภูมิในความรับผิดชอบของฝ่ายจีน เมื่อเสร็จสงครามฝ่ายจุงกิงก็ยกขึ้นอ้างว่า อ้างว่า การยึดครองดินแดนจากญี่ปุ่นส่วนนี้จะต้องให้กองทัพจีนกองพลที่ 93 ยกลงมาถึงเส้นขนานที่ 16 ตั้งแต่อําเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ไปจนกระทั่งถึงอําเภอวังทอง อําเภอหนองบัวแดง ไปออกทางภาคอีสานตามข้อตกลง โดยที่ ฯพณฯ ผู้ประศาสน์การรับทราบข่าวสารล่วงหน้าจากพันธมิตรของเราชาวอเมริกัน เราจึงเตรียมการปรึกษาหารือกันไว้ก่อน พอทราบข่าวแว่วมาเราก็สามารถติดต่อกับกองทัพอเมริกันได้ทันที โดยให้ฝ่ายอเมริกันเห็นชอบ และขอร้องให้กองทัพอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด ท่านปรีดีฯ ได้โทรเลขด่วนไปถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วอเมริกันก็รีบติดต่อกับทางเซาท์อีสเอเชีย คอมมานด์เป็นงานด่วน ในที่สุดทหารกุรข่า กองทัพอังกฤษ โฟทีน อาร์ม ก็ได้รีบรุดมาทําการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ในดินแดนประเทศไทย  กองพล 93 ยกลงมาไม่ทัน ทําให้ฝ่ายจีนผิดหวังมาก จึงเกิดกรณีเลียะผะขึ้นที่เยาวราช  หากไม่ช่วงชิง ดังนี้แล้วเมืองไทยก็จะกลายเป็นเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เป็นเยอรมนีตะวันตก เยอรมนีตะวันออก  ประเทศฝ่ายผู้แพ้สงครามถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองเป็นเวลานาน แม้กระทั่งเกาะโอกินาวาก็ถูกยึดครองกว่าจะเป็นอิสระได้เป็นเวลาหลายสิบปี ถ้าปล่อยให้ฝ่ายจุงกิงยกกองทหารลงมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นถึงเส้นขนานที่ 16 แล้ว ต่อมาเมื่อฝ่ายเมาเซตุง ยึดอํานาจในประเทศจีนได้ก็จะใช้ระบอบของเขาปกครองถึงตอนเหนือของประเทศไทยด้วย 

อันนี้แหละเป็นผลงานที่เกิดจากมันสมองอันอัจฉริยะของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในการที่จะไม่ให้ผืนแผ่นดินไทยถูกแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน 

ขบวนการเสรีไทยส่งมิชชั่นไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลายครั้ง คณะแรกไปก่อนสงครามจะเสร็จสิ้นลง ทางกองอํานวยการเสรีไทยได้ส่งผู้ใหญ่ โดยเฉพาะท่านศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนามไปกับคณะทหารเท่าที่กระผมพอนึกได้ดูเหมือนจะเป็นหลวงชาตินักรบท่านเป็นเสนาธิการทหารบกสมัยนั้น และพอจะจําได้อีกว่ามีคุณถนัด คอมันตร์ ร่วมด้วย ตอนนั้นมีความประสงค์อยากจะไปขออาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อที่จะเอามาติดอาวุธให้แก่กองทัพไทย แต่ทว่าได้รับการปฏิเสธ เพราะว่าเราประกาศสงครามกับเขา 

ขอประทานโทษผมตกไปนิดหนึ่ง เหตุผลที่ฝ่ายจุงกิงเขายกขึ้นอ้างว่าจะมายึดดินแดนไทยตั้งแต่เส้นขนานที่ 16 ขึ้นไปก็เนื่องจากประเทศไทยได้มีการประกาศรับรองรัฐบาลจีนที่นานกิง

พอเสร็จสงครามแล้วทางฝ่ายสัมพันธมิตร เซาท์อีสเอเชีย คอมมานด์ ก็ให้คณะของเรา ผมพยายามที่จะรวบรัดที่สุด ส่งมิชชั่นไปเจรจาระงับสงครามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เป็นคณะที่ 2  คณะใหญ่ไปหลังสงคราม มีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นหัวหน้า มีท่านอาจารย์เสริม วินิจฉัยกุล และพระยาอภัยสงคราม รวมทั้งคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ร่วมไปในคณะด้วย ในตอนแรกทางฝ่ายอังกฤษได้ร่างข้อสัญญามาให้ดู แล้วก็กําชับกับคณะที่ไปว่าไม่ให้แก้แม้แต่คําเดียว อย่าว่าแต่จะแก้เลย เพียงคอมม่ายังไม่ให้แก้ อันนี้แหละจึงเป็นที่มาของสัญญา 21 ข้อหรือดีมานด์ของฝ่ายอังกฤษ ถ้าหากเรายอมรับแล้ว ก็เสมือนกับเมืองไทยตกเป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้นของอังกฤษ 

พอรับทราบเช่นนั้น ทางคณะก็ได้รายงานถึง ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พร้อมกันนั้นก็ได้มีการติดต่อกับทางฝ่ายอเมริกาทันที เราได้ดําเนินการทางการทูตทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้อเมริกันใช้อิทธิพลระงับยับยั้งไม่ให้อังกฤษกระทําการบีบบังคับแก่ประเทศไทย โดยอ้างว่า การที่ประเทศไทยทําสงครามคราวนี้เป็นการทําสงครามกับสัมพันธมิตร ซึ่งมีทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ เมื่อเลิกสงครามฝ่ายอังกฤษจะมาทำความตกลงบีบบังคับแก่ประเทศไทยฝ่ายเดียวไม่ได้  เหตุผลข้อนี้เกิดจากมันสมองความดําริของ ฯพณฯปรีดี พนมยงค์ โดยความช่วยเหลือของบรรดาเพื่อนชาวอเมริกันซึ่งร่วมทํางานในขบวนการเสรีไทย จึงสามารถจะพลิกสถานการณ์กลับขึ้นมาได้โดยยกข้ออ้างดังกล่าวขอให้อเมริกันไปยับยั้งเพื่อรอการทําสัญญาไว้ก่อน

ดังนั้น คณะแรกที่ไปจึงได้ทําสัญญาเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทหารเท่านั้น ซึ่งมีเพียง 5-6  ข้อสําหรับด้านเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า อังกฤษจะมาควบคุมสินค้าอันเป็นเส้นชีวิตของไทย 4 ประเภท คือ ข้าว ยาง ดีบุก ไม้สัก ให้เจรจารายละเอียดภายหลัง ซึ่งทางประเทศไทยจะส่งคณะใหญ่เพิ่มเติมไปอีก มีการเจรจาต่อรองกันมาช้านานจนกระทั่งลอร์ด  หลุยส์ เมานท์แบทเทน ได้ย้ายกองบัญชาการเซาท์อีสเอเชีย คอมมานด์ ไปอยู่ที่สิงคโปร์  การเจรจาที่สิงคโปร์ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐมาก มีการเจรจาต่อรองกันยืดยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องอ้างเอกสารต่าง ๆ หลายฉบับ แม้กระนั้นเรื่องที่ท่านปรีดีฯ ได้ประกาศว่าการประกาศสงครามของประเทศไทยเป็นโมฆะ อันนี้ก็ไม่ใช่พวกเราคิดขึ้นเองเพราะฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษให้คําแนะนําแก่เราล่วงหน้า อังกฤษเคยแจ้งว่ามีความพอใจเมื่อเห็นผลงานของขบวนการเสรีไทยมีกําลัง 45,000-50,000 คน และยังสามารถระดมได้อีกรวมทั้งหมดประมาณ 150,000 คน นอกจากนั้นยังมีฝ่ายจีน 60  สมาคม ซึ่งเขามีกําลังคนและอาวุธพร้อมที่จะร่วมต่อต้านญี่ปุ่นด้วย เราได้อ้างหนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งยอมรับบทบาทการกระทําของขบวนการเสรีไทย แล้วก็ยกเรื่องเกี่ยวกับการทํางานของเสรีไทยขึ้นมาอ้าง ตามที่ฝ่ายอังกฤษเป็นคนแนะนําให้แก่เราไว้ก่อนแล้ว 

มหาอํานาจที่มีผลประโยชน์ในเมืองไทยขณะนั้นมี 3 ประเทศ คือ 1. จีน มีผลประโยชน์มาก  2. อังกฤษ มีผลประโยชน์มาก  3. สหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยมีผลประโยชน์อะไร เขาหวังอยากจะทําบุญทําคุณกับเราเขาก็ช่วยเหลือเราได้เต็มไม้เต็มมือเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราจึงสามารถที่จะนําเอาผลการทํางานของเสรีไทยซึ่งได้รับการยอมรับได้รับคํายืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทยยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการเจรจา ดังนั้นแทนที่เราจะถูกทางฝ่ายอังกฤษบังคับให้เซ็นสัญญา 21 ข้อ ในที่สุดก็สามารถจะพลิกสถานการณ์กลับผ่อนคลายความสูญเสียลงได้มาก ทีแรกเขาจะคุมทั้งข้าว ทั้งยาง ทั้งไม้สัก ทั้งดีบุก แม้กระทั่งภาษีทุกอย่างที่จะส่งสินค้าออกไปนอกประเทศ เขาจะเข้าควบคุมหมด ถ้าท่านที่เคารพอยากจะทราบรายละเอียดโปรดดูสัญญา 21 ข้อนั้น 

 

เลี้ยงต้อนรับ เลดี้เมานท์แบทเทน ที่พระที่นั่งบรมพิมาน พ.ศ. 2488 ขณะที่นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เลี้ยงต้อนรับ เลดี้เมานท์แบทเทน ที่พระที่นั่งบรมพิมาน พ.ศ. 2488 ขณะที่นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ในที่สุดท่านวิวัฒน์ได้เดินทางกลับมาปรึกษากับรัฐบาลไทย แล้วกลับไปลงนามทําสัญญากันที่นครสิงคโปร์ จึงเรียกชื่อว่าสัญญาสมบูรณ์แบบ  หากว่าเราไม่มีขบวนการเสรีไทยแล้ว ทางฝ่ายอังกฤษเขาจะใช้คําว่า treaty คือ สัญญาระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ แต่ทว่าเมื่อเราได้นำเหตุผลต่าง ๆ มาหว่านล้อม ยกเอาเอกสารทุกสิ่งทุกอย่างมาอ้างจนกระทั่งพลิกสถานการณ์ได้ จึงสามารถเปลี่ยนคําว่า treaty ให้กลายเป็นคําว่า agreement คือเป็นเพียงข้อตกลงเท่านั้น  เหตุที่มีศัพท์คํานี้ขึ้นก็โดยที่ ฯพณฯ ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ขอให้ใช้  

ถึงแม้ตอนแรกเราจําเป็นจะต้องให้ข้าวเขาทั้งหมด 1,500,000 ตัน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย ก็เพราะทางฝ่ายอังกฤษ โดยมิสเตอร์เคนนิ่ง เขาบอกว่าเรามี bumper crop ในปีนั้นมีข้าว surplus คือ ข้าวเหลือกินเหลือใช้ 1,500,000 ตัน เราก็ยอมรับในชั้นแรก แต่ทว่าเป็นเพียงชั่วคราว ปีต่อมาเราอ้างเหตุผลบอกว่าฝนแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง รถไฟขนมาไม่ได้บ้าง ในที่สุดก็ไม่สามารถจะรวบรวมส่งข้าวให้แก่สัมพันธมิตรได้ ชั้นแรกมีข้อตกลงหรือ agreement ให้เรา “donate” คล้าย ๆ กับว่าให้เราอุทิศเสียสละข้าวเพื่อเลี้ยงพลโลกซึ่งประสบภัยมหาสงคราม คนตายไปหลายล้านคนเมืองไทยไม่ได้เป็นสนามรบควร donate (บริจาค) ต่อไปอีกไม่ไหว แทนที่จะให้เปล่า 1,500,000 ตัน รัฐบาล ฯพณฯ ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์พลิกกลับจนกระทั่งฝ่ายอังกฤษจะต้องซื้อข้าวจากเราจํานวน 1,200,000 ตัน

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นในเวลาอันจํากัด ต่อไปก็คงมีท่านที่เคารพได้มาพูดเพิ่มเติมอีก กระผมขอประทานโทษ เพราะคิดว่าจะพูดสัก 20 นาที นี่ว่าเข้าไปเกือบ 40 นาทีแล้ว ขอขอบพระคุณครับผม 

 

ที่มา: หนังสือ คือผู้อภิวัฒน์...ถึงรัฐมนตรีอีสานฯ, อุบลราชธานี: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2543, น. 43-48.  แต่ไม่ปรากฏในต้นฉบับเดิมว่า เป็นการกล่าวในงานใด