ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐธรรมนูญประชาชน: ทางออกจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน (ตอนจบ)

13
ธันวาคม
2563

ทุกสังคมล้วนเผชิญความไม่แน่นอน ความเสี่ยง ความผันผวน และวิกฤตการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่านได้เสมอ มากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศ บริบทของแต่ละสังคม แต่ละช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติและประเทศไทย

เราย่อมสามารถเก็บเกี่ยวบทเรียนและสามารถเรียนรู้ไม่เดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตได้เสมอ แต่มนุษย์มักเดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตบ่อยครั้ง เพราะสัญชาตญาณดิบของมนุษย์มักไม่เปลี่ยนแปลง

บัดนี้และในอนาคตอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เรากำลังจมอยู่กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจทรุดหนักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค Covid-19 การเมืองระบอบ คสช. และระบบยุติธรรมเจอกับวิกฤติศรัทธาของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ขบวนการของคนหนุ่มสาวกำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ขาดการศึกษารากเหง้าของสังคมให้ถ่องแท้ อาจไม่สามารถการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้

เวลานี้ ฐานะทางการคลังรัฐบาลมีความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ รัฐบาลเก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมาก และจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีกจำนวนมาก เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้กู้เงินเพิ่มไปแล้ว 2.14 แสนล้าน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ต้องถือว่ารัฐบาลยังไม่ได้ถังแตกตอนนี้ เพราะยังกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้อยู่  ปัญหา คือ มีการประมาณสถานการณ์เศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมาก และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนมากเกินคาด ความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองซึ่งมีมาตรการปิดเมืองและการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท การกู้เงินเพิ่มเพียง 2.14 แสนล้านนั้นจะไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศและการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

การแก้ไขวิกฤตการณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขอเสนอให้กู้เพิ่มไว้เลยอีกอย่างน้อย 3-5 แสนล้านบาทในช่วงปลายปี รัฐบาลสามารถกู้เงินในประเทศเพิ่มเติมได้  การก่อหนี้สาธารณะเพื่อดูแลเศรษฐกิจและการจ้างงานมีความจำเป็น แต่ต้องชะลอการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศทั้งหมด 100% นำงบมาพัฒนากำลังพลและจัดสรรงบให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศแทนเพื่อทดแทนการนำเข้าและมุ่งให้เกิดการจ้างงานในประเทศ การก่อหนี้เพิ่มต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า รัฐบาลต้องยกเลิกหรือชะลอหรือปรับลด โครงการและการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนทั้งหมดก่อน

รวมทั้งไม่ควรเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้จากฐานภาษีทรัพย์สินต่ำมาก ๆ และควรพิจารณาจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น การจัดเก็บภาษีเพิ่มค่าของทรัพย์สินอันเป็นผลจากการลงทุนของรัฐ (Betterment Tax) การจัดเก็บภาษีการเพิ่มค่า (Betterment Tax) เช่น ตอนซื้อทรัพย์สินมาในราคา 1 ล้านบาท ตอนขายไปราคาขึ้นไป 10 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน การขนส่งมวลชนระบบราง หรือมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ (เช่น สนามบิน ศูนย์ราชการ) ก็ต้องเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำเงินภาษีมาใช้พัฒนาประเทศต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนหรือธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนก่อนที่โครงการที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มลพิษทางกลิ่นจะมาจัดตั้ง นอกจากมี Betterment Tax แล้วก็ควรมี Worsening Subsidy ซึ่งอาจใช้เป็น ภาษี Betterment Tax ในอัตราติดลบได้

รัฐบาล คสช. รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กว่า 5-6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้การตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่มีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนนี้จะทำให้สถานการณ์การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนดีขึ้น การเป็นรัฐรวมศูนย์ทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมีความล่าช้า  ทางการต้องปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นภาคส่งออกและสินค้าเกษตร สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ในการช่วยพลิกฟื้นและก่อให้เกิดการขยายตัวของตลาดแรงงาน กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น  ปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบธนาคารว่า ระบบธนาคารไทยยังแข็งแกร่งด้วยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 19.2% ส่วนปัญหาหนี้เสียในที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริงที่ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดการลุกลามสู่ภาคการเงิน

การศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง พัฒนาการของระบบทุนนิยม กลุ่มทุนและผู้ใช้แรงงานในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ผมและท่านอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์ มีข้อค้นพบในงานวิจัย (Key Finding) ที่น่าสนใจหลายประการ  ยุคสมัยของรัชกาลที่ 7 ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับปัจจุบัน ความเป็นไปในช่วงเวลาดังกล่าวอาจนำมาเป็นบทเรียนเพื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันในระยะเปลี่ยนผ่านได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ข้อสรุปของการศึกษาจากรายงานทางวิชาการดังกล่าว มีดังนี้

ประการที่หนึ่ง การยกเลิกระบบทาสและระบบแรงงานเกณฑ์ของไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานรับจ้างเสรี การปฏิรูประบบการศึกษาและการจัดการศึกษาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมายังสมัยรัชกาลที่ 7 (โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระหว่างปี พ.ศ. 2475-2478) ทำให้แรงงานรับจ้างเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รับการศึกษาและมีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น เป็นผลดีต่อระบบการผลิตในระบบทุนนิยม การพัฒนาระบบเงินตรา ระบบกฎหมาย และระบบกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 7 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมในสยาม ทั้งยังเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของทุนนิยม ขณะที่ราชสำนักและเจ้านายเองก็ได้ทำกิจการธุรกิจต่าง ๆ ร่วมกับทุนต่างชาติและทุนไทยเชื้อสายจีน นอกจากนี้ ราชสำนักยังจัดตั้งแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) บริษัทปูนซิเมนต์ เป็นต้น แต่ผลประโยชน์จากระบบทุนนิยมในช่วงเวลาดังกล่าวไม่กระจายตัวมายังราษฎรส่วนใหญ่ และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้นำในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน 

ประการที่สอง ในส่วนของการศึกษาพัฒนาการของกลุ่มทุนนั้น รายงานศึกษาฉบับนี้ได้ศึกษาบทบาทของกลุ่มทุนจีน กลุ่มสยามเชื้อสายจีนต่อพัฒนาการของทุนนิยม สำรวจถึงการสะสมและการเติบโตที่อาศัยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ทุนสยามเชื้อสายจีนและกลุ่มทุนภาครัฐ (กรมพระคลังข้างที่ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) มีบทบาทต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมไทยเป็นอย่างยิ่ง การผลิตและการส่งออกข้าว การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงรัชกาลที่ 7 ล้วนมีผลต่อพัฒนาการและโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในระยะต่อมา พัฒนาการของทุนไทยต้องพิจารณาร่วมกับโครงสร้างการเมืองไทยด้วย กลุ่มทุนทั้งหมดก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยล้วนสะสมทุนผ่านการยึดโยงกับอำนาจของรัฐ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดในระดับเข้มข้น

ประการที่สาม บทบาทของของกลุ่มทุนที่มีผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ระบบเศรษฐกิจโดยรวมย่อมมีผลต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการวิจัยนี้มุ่งศึกษาต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคการคมนาคมในกรุงเทพฯ คือ รถรางและรถลาก และแรงงานขนส่งในการค้าข้าว เมื่อมีการเปิดประเทศ แรงงานท้องถิ่นมีไม่เพียงพอจึงมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพเพื่อหนีภัยสงคราม ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง

ประการที่สี่ เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อไทย สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การเป็นปัจจัยให้ระบบเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใช้เงินตรา ตัวอย่างที่ลงไปสัมพันธ์กับประชาชนในระดับรากหญ้าที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ คือ การเปลี่ยนค่าเงินต่ำสุดที่ใช้กันที่หน่วยเงินเป็นอัฐ (ยุคก่อนหน้านั้นขึ้นไป หน่วยเงินต่ำสุดเป็นเบี้ย ที่ทำมาจากเปลือกหอยที่สืบทอดมาจากยุคสมัยอยุธยา) มาเป็นหน่วยเงินสตางค์ ในกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น กล่าวได้ว่าเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราก็แผ่ขยายไปถึงวิถีชีวิตของประชาชนในทุกมุมของประเทศไทย

ประการที่ห้า ด้านโครงสร้างการผลิต ไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้นและมุ่งสนองความต้องการของตลาดโลก ได้แก่ ข้าว พื้นที่การเพาะปลูกเริ่มขยายตัวในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ จากโครงการขุดคลองใหม่ ๆ เพื่อเปิดพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและขยายพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อการค้าบางส่วนไปยังพื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ตามเส้นทางรถไฟสายอีสานและสายเหนือที่ขยายออกไป ที่จะมีทางเกวียนจากที่ต่างๆ เชื่อมมายังสถานีรถไฟเพื่อนำส่งสินค้าข้าวของป่ามาขาย และรับสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ ๆ ไปยังตลาดในชนบทที่ห่างไกล กล่าวได้ว่า เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตข้าวขายส่งมายังตลาดโรงสีในกรุงเทพฯ เพื่อการส่งออกที่สำคัญยิ่ง ไม้สักในพื้นที่ป่าทางภาคเหนือยังคงเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษจนถึงรัชสมัยนี้ ขณะที่ดีบุกก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในภาคใต้ของยุคสมัยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ขณะที่ทางรถไฟสายใต้ที่ไปถึงอำเภอสุไหงโก-ลก ชายแดนใต้ติดกับมาเลเซีย ก็เป็นเส้นทางของการเปิดพื้นที่ในการปลูกยางพาราในภาคใต้มากขึ้น 

ประการที่หก ด้านพัฒนาการของกลุ่มทุน ประเทศไทยยังมีลักษณะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 7 อันสัมพันธ์กับรากฐานระบอบการเมืองเศรษฐกิจที่ตกทอดมาจากยุคอดีตของพัฒนาการระบอบศักดินาและการมีสภาพเป็นรัฐกึ่งอาณานิคม อันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เป็นแม่แบบในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวกับประเทศอื่น ๆ อีกรวม 15 ประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ดังนั้น กลุ่มทุนที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนและดำเนินการด้านเศรษฐกิจการค้าจึงพัฒนามาจากกลุ่มทุนดั้งเดิมในสังคมไทย ได้แก่ กลุ่มทุนภาครัฐหรือกรมพระคลังข้างที่ ที่เป็นกลุ่มทุนที่ลงทุนบุกเบิกในกิจการใหม่ ๆ เช่น ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ในย่านกรุงเทพฯ การให้กลุ่มทุนอื่นกู้ยืม การลงทุนในกิจการธนาคารและลงทุนในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ในกิจการรถรางในกรุงเทพฯ กรมพระคลังข้างที่เป็นหุ้นสำคัญในกิจการและบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย และในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เพิ่มทุนและนำเอาบริษัทรถรางที่เป็นบริษัทสังกัดต่างชาติหรือกลุ่มทุนตะวันตก ให้เปลี่ยนย้ายมาเป็นบริษัทสัญชาติไทยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของชาติยุโรปที่จัดเก็บแพงขึ้น โดยที่กลุ่มทุนตะวันตกยังเป็นทุนใหญ่ในบริษัทรถราง แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองและร่วมทุนของกลุ่มทุนภาครัฐ

กลุ่มทุนที่สำคัญกลุ่มที่สองในภาคเศรษฐกิจของไทย คือ กลุ่มทุนสยามเชื้อสายจีน กลุ่มทุนเหล่านี้มักจะมีต้นตระกูลจากการเป็นจีนอพยพ เพียงแต่ไม่กี่ทศวรรษผ่านไป ก็กลายเป็นกลุ่มทุนที่แผ่ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจสาขาต่าง ๆ โดยทั่วไป กลุ่มทุนสยามเชื้อสายจีนตระกูลสำคัญ ๆ มักจะอยู่ในแวดวงธุรกิจการค้าข้าวและโรงสี โดยมักมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มเจ้านายสยามทั้งในด้านเงินทุนและความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานระหว่างลูกสาวกลุ่มสยามเชื้อสายจีนกับเจ้านายฝ่ายสยาม ก่อให้เกิดพลวัตด้านอำนาจและเงินทุนที่มีอิทธิพลในทางการเมืองและการลงทุน กลุ่มทุนที่สามคือกลุ่มทุนตะวันตก ทั้งทุนยุโรปและทุนอเมริกา เป็นกลุ่มทุนที่เข้ามายังไทยมากขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2468-2478 ไม่ปรากฏว่ามีการปรับปรุงเทคนิคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการลงทุนเพิ่มขึ้น สัดส่วนของทุนต่อแรงงานสยามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมิได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การสะสมทุนและการลงทุนจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระเหล่านี้ ไม่มีวิธีการผลิตแบบใหม่ ๆ ไม่มีการพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ ๆ สินค้าส่งออกในช่วงนี้จึงไม่ได้แตกต่างจากช่วงสี่ทศวรรษก่อนหน้าแต่อย่างใด เป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าประเภทของสินค้า การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ทุนเพื่อปรับปรุงเทคนิคการผลิตไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก การพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงยังไม่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจยังมีการผูกขาดสูง ผลประโยชน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กระจายไปยังราษฎรส่วนใหญ่  ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราและการค้าได้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการไหลบ่าเข้ามาของแรงงานและทุนจากต่างชาติ ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นทุนหรือแรงงานถูกจัดสรรไปยังธุรกิจการค้า และ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นส่วนใหญ่ ภาษีนำเข้าที่ต่ำและการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและบริการสาธารณะ ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ไม่เกิดขึ้นมากนัก  

ประการที่เจ็ด จากการศึกษาสามารถสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับแรงงานได้ว่า เมื่อแรงงานสยามได้ถูกปลดปล่อยออกจากระบบไพร่ทาสได้ไม่นานนัก ก็เริ่มมีการขยายเส้นทางคมนาคมไปยังท้องถิ่นต่างจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ความต้องการแรงงานของภาคส่วนต่างๆ ก็ได้แรงงานคนจีนอพยพเข้ามาเป็นแรงงานหลักในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาเป็นแบบทุนนิยมมากขึ้นตามลำดับ กรรมกรรถลากที่มีราว 3,000-6,000 คน ในกรุงเทพฯ สามารถรวมตัวกันประท้วงเพื่อต่อสู้กับราคาค่าเช่ารถที่จะเพิ่มสูงขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นบางครั้ง ส่วนกรรมกรขนข้าวโรงสีนั้นเป็นกลุ่มกรรมกรที่มีกว่า 3,000 คน หรือมากกว่านั้น กระจายอยู่ตามโรงสีในกรุงเทพฯธนบุรีและต่างจังหวัด ไม่ได้ถูกรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสื่อสาธารณะมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรรมกรรถลากเป็นแรงงานที่เปิดเผยในเมืองหลวงและสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองหลวง จึงมีการกล่าวถึงหลากด้านมากในสื่อสิ่งพิมพ์

ประการที่แปด พบว่ ากลุ่มทุนที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ กรมพระคลังข้างที่ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มทุนกรมพระคลังข้างที่เป็นทุนภาครัฐบุกเบิกการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า การขยายตัวของกรุงเทพและการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมพระคลังข้างที่เติบโตและเข้มแข็งขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนต่อกลุ่มทุนพระคลังข้างที่ให้ขยายบทบาททางธุรกิจท่ามกลางการขยายตัวของการผลิตและการค้าข้าวหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง รัฐศักดินารวมศูนย์ที่ก่อตัวมาตั้งแต่สมัย ร.4 และสมัย ร.5 ไม่ก่อให้เกิดโอกาสให้สะสมทุนและเกิดศูนย์กลางการค้าแบบในยุโรป ชนชั้นพ่อค้าต้องอิงอำนาจจากกษัตริย์และขุนนางในการประกอบกิจการตามขอบเขตที่รัฐกำหนด จึงไม่มีการพัฒนาการผลิตและเทคนิคการผลิต พ่อค้าเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็เป็นเพียง นายทุนนายหน้า (Compradore Capitalists) ให้กับทุนตะวันตก ทำหน้าที่ติดต่อกับชาวพื้นเมืองในการซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อส่งออก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ดีบุก ไม้สัก นายทุนนายหน้าเหล่านี้จึงมีบทบาทไม่มากนักในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในช่วง พ.ศ. 2468-2477

ประการที่เก้า ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนพ่อค้าและกลุ่มผู้ใช้แรงงานสยามในยุค พ.ศ. 2468-2477 นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยังคงไม่มีความเท่าเทียมกัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก แต่การเอารัดเอาเปรียบถูกกำกับด้วยความเห็นอกเห็นใจเนื่องจากกลุ่มนายทุนพ่อค้าสยามเชื้อสายจีนจำนวนมากล้วนเคยเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงานมาก่อน เป็นแรงงานอพยพที่ค่อย ๆ สะสมทุนจากการทำงาน เศรษฐกิจไทยนั้นขาดชนชั้นกระฎุมพีอิสระ (bourgeoisie)  ชนชั้นนี้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเจ้านายและขุนนางหรือข้าราชการในเวลาต่อมา ไม่มีอำนาจทางการเมืองและไม่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม การขาดพัฒนาการของชนชั้นนี้ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจสู่ระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยเป็นไปอย่างติดขัดในเวลาต่อมา ทุนนิยมไทยเป็นทุนนิยมที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐศักดินา เป็นทุนนิยมอาศัยอำนาจผูกขาดจากรัฐ เห็นได้ชัดจากระบบเจ้าภาษีนายอากรเอาเปรียบราษฎรในหมู่บ้านชนบท และรับเอาจิตสำนึกแบบรัฐศักดินา ที่ใช้อำนาจรีดเอาส่วนเกินทางเศรษฐกิจไปจากชาวบ้าน แทนที่จะใช้วิธีปรับปรุงการเกษตรกรรมและจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้า และแบ่งปันผลประโยชน์กับชาวบ้านในฐานะแรงงาน

ประการที่สิบ การศึกษายังพบอีกว่า กลุ่มทุนในสยามในช่วง พ.ศ. 2468-2477 นั้นอ่อนแอ จากการที่กลุ่มทุนส่วนใหญ่เป็นทุนการค้าจึงไม่ได้มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยได้ การพัฒนากิจการอุตสาหกรรมก็เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่มีทุนอุตสาหกรรมภายในที่เข้มแข็ง กิจการสำคัญ ๆ ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มทุนตะวันตก กลุ่มพ่อค้าและนายทุนจีนที่เติบโตภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลสยามจึงไม่อาจแข่งขันได้กับกลุ่มทุนตะวันตก อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำและการไม่มีอำนาจอธิปไตยทางศุลกากรอย่างเต็มที่ทำให้กิจการอุตสาหกรรมภายในไม่เติบโต 

ประการที่สิบเอ็ด ผู้วิจัยพบว่า  ในส่วนของผู้ใช้แรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานเสรี การยกเลิกระบบทาสและระบบแรงงานเกณฑ์ของไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานรับจ้างเสรี อุปสงค์ต่อแรงงงานขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังสยามเปิดประเทศ มีการให้สัมปทานทุนต่างชาติในกิจการต่าง ๆ เช่น สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ กิจการยาสูบ กิจการโรงสีข้าว กิจการน้ำตาล เป็นต้น ขณะที่อุปทานแรงงานไม่เพียงพอ จึงได้มีการเปิดให้แรงงานอพยพโดยเฉพาะจากจีนได้เข้ามาทำงานในสยาม ด้วยระบบการเมืองการปกครองที่มีการเปิดกว้างมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ใช้แรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานจึงได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 มีความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากขึ้น เปิดให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เสรีภาพในการรวมกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งเปิดให้มีเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง

ประการที่สิบสอง ผู้วิจัยยังเห็นว่า องค์กรผู้ใช้แรงงานยังห่างไกลต่อการพัฒนาไปสู่องค์กรที่เป็นสถาบันอันเข้มแข็งในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน หรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือสังคมในทศวรรษ 2470 ผู้วิจัยพบเพียงการเคลื่อนไหวและต่อสู้ในประเด็นค่าจ้างและการเรียกร้องสภาพการจ้างที่เป็นธรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น สภาพโดยรวมของขบวนการแรงงานสยามในยุคนี้ยังห่างไกลบทบาทในการเป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม     

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประชาธิปไตยแบบไทยไทยนั้นต้องสะดุดหยุดอยู่เป็นระยะ ๆ บางเวลาก็ถอยหลังไปมาก ทุก ๆ ครั้งก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ หากเราสามารถสถาปนาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ในอนาคตพร้อมกับความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน ย่อมทำให้ประเทศเดินหน้าได้เป็นอย่างดี เราควรใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการสร้างฉันทามติว่าต้องการระบบสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพอย่างไร หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ควรกำหนดให้มีกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น

ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสูงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากขึ้น มีสันติธรรม สังคมมีสันติสุข มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ในประเทศยุโรปเหนือโดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย หรืออย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออกได้อย่างหลากหลาย  รัฐธรรมนูญควรมีระบบและกลไกทำให้ความคิดเห็น ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนาที่แตกต่างสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นประโยชน์ รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษาและหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิที่ประชนชนชาวไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม 

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญประชาชน” นั้น ต้องอาศัยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนผู้กล้าหาญและเสียสละ และสิ่งนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นจากหยิบยื่นให้ของผู้อำนาจอย่างแน่นอน  การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เมื่อ 88 ปีที่แล้วโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กษัตริย์พระองค์แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายม พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร และเป็นผลแห่งการประนีประนอมกันระหว่าง “คณะเจ้านาย” และ “คณะราษฎร” เพื่อให้ “สยาม” เดินหน้าต่อไปได้ และเป็นทางออกจากวิกฤติแห่งความขัดแย้ง โดยมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กษัตริย์ผู้ยึดถือในแนวทางสันติวิธี และผู้นำของคณะราษฎร พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษ ผู้เสียสละกระทำการเพื่อประเทศชาติ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้ยึดถือแนวทาง “ภราดรภาพนิยม” และแกนนำคณะราษฎร 2475 ท่านอื่น ๆ ที่ได้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของราษฎร

การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก และเป็นการรำลึกถึงความเสียสละกล้าหาญของสี่ทหารเสือประชาธิปไตย และสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 102 คน ที่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือในปัจจุบัน เราเรียก ระบอบการปกครองของเราว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข”

ขอให้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญประชาชน” อันจะเป็นทางออกจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

* อนุสรณ์ ธรรมใจ: ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์, กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย Thai PBS    , อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง