จริงๆ วันที่เราควรจะต้องรำลึกวันรัฐธรรมนูญนี่ไม่ใช่วันนี้ ควรจะเป็นวันที่ 27 มิถุนายน 2475 คือ 3 วันหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 เพราะว่าวันนั้นเป็นวันที่ประเทศไทยของเราได้สถาปนาหรือก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันมีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” หรือที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรียกสั้นๆ ว่า “ปฐมรัฐธรรมนูญ” โดยผมเห็นว่าเป็นการเรียกด้วยคำสั้นๆ ที่งดงามและแฝงไปด้วยอุดมการณ์ที่เราควรยึดถือ และควรมีการนำเสนอให้เป็นที่เรียกกันอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้วันที่ 24 มิถุนายน ก็ควรจะเป็นวันชาติไทย เราควรที่จะได้เฉลิมฉลอง หรือรำลึกถึงรัฐธรรมนูญของชาติไทยเช่นวันนี้ บรรยากาศของการรำลึกถึงคุณค่าหรืออุดมการณ์ที่ได้มีไว้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
เหตุที่ผมต้องเกริ่นนำแบบนี้ก็เพราะผมคิดว่า ในบ้านเรายังมีปัญหาในเรื่องการยึดกุมหรือการปกป้องความชอบธรรมของการอภิวัฒน์สยามกันพอควร จริงๆ เราอาจจะพูดถึงเรื่องนี้กันมามากต่อมากแล้ว แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยย้ำกันอยู่ดี เพราะหากเราไม่สามารถยึดกุมหรือปกป้องความเป็นธรรมของการอภิวัฒน์สยามได้แล้ว การเดินทางของประชาธิปไตยของเราก็ไม่สามารถเดินทางไปอย่างหนักแน่นและมั่นคงได้ เราก็จะถูกลดทอนและดิสเครดิตจากมายาคติทั้งหลาย ที่จะคอยทำลายความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของการอภิวัฒน์สยามอยู่ตลอดเวลา
ปฐมรัฐธรรมนูญเกิดจากการที่อาจารย์ปรีดีร่วมกับคณะราษฎรอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่อาจารย์ปรีดีได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เปลี่ยนการปกครองแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” เป็นการอภิวัฒน์หรือความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษณ์ คือ เป็นการเปลี่ยนระบอบอย่างเก่าที่ล้าหลังตามแนวทางกู้อิสรภาพของมนุษย์ที่ถูกกดขี่เบียดเบียนนั้น เป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้าซึ่งเป็นการเปลี่ยนอย่างวิเศษณ์ โดยให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
ปฐมรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจารย์ปรีดีได้ร่างขึ้นด้วยตนเอง รัฐธรรมนูญได้บรรจุไว้ซึ่งความคิดและความใฝ่ฝันของนักกฎหมายหนุ่มคนหนึ่งในขณะนั้น
ในปฐมรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 1 อย่างชัดเจน หนักแน่น และมั่นคง ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” บทบัญญัตินี้สื่อถึงว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมที่ทรงมีอำนาจเด็ดขาดล้นพ้น ไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจสูงสุดอีกต่อไป อำนาจสูงสุดและแท้จริงนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย พระมหากษัตริย์เป็นเพียงองค์กรทางรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
อาจารย์ปรีดีได้ชวนให้เรารำลึกถึงการก่อกำเนิดของปฐมรัฐธรรมนูญไว้ว่า “เป็นวันที่ระบอบรัฐธรรมนูญได้สถาปนาขึ้น เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเคารพในมนุษย์ว่าเป็นมนุษย์ เคารพในความเป็นไทยของชาวสยามว่าเป็นไทยไม่ใช่ทาส เป็นระบอบที่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเราเคารพสักการะ ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ”
จริงๆ ผมสันนิษฐานว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นฉบับชั่วคราว อาจารย์อาจจะต้องการให้ใช้ไประยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็ประมาณสิบปี จนกว่าสมาชิกจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือว่าการศึกษาของราษฎรในประเทศเกินครึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นประถมฯ แล้ว แต่คำว่า “ชั่วคราว” ได้ถูกเติมเข้ามาภายหลังโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งขอต่อรองและขอเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญที่อาจารย์ปรีดีทูลเกล้าถวายให้ลงพระนาม
ผมเห็นว่า การให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไปเป็นการประนีประนอมทางการเมืองอย่างสำคัญยิ่ง และมีความสำคัญอย่างมากต่อการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น เพราะต่อมา แม้อาจารย์ปรีดีจะเป็นได้รับมอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 และใช้เค้าโครงเดิมจากรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่อาจารย์ปรีดีก็ได้พูดถึงเงื่อนไขที่ไม่สามารถคงเค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ให้เหมือนกับฉบับแรกได้ เนื่องจากอาจารย์ปรีดีเป็นหนึ่งเดียวจากคณะราษฎร ที่เข้าร่วมกับอนุกรรมการ 9 คน ที่ร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวท่านเอง อายุเพียง 32 ปี และเป็นเพียงหนึ่งเดียว คงไม่สามารถชี้แจง ไขข้อข้องใจให้กับอนุกรรมการอื่นรวม 9 คน ที่มาจากระบอบเก่าให้เห็นด้วยกับอาจารย์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่า อนุกรรมการทั้ง 9 คนได้มีการติดต่อขอความเห็นจากรัชกาลที่ 7 อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ทำให้จากวันที่ 27 มิถุนายน ก็กลายเป็นวันที่ 10 ธันวาคม ที่เป็นวันเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ
ผมขอเล่าไปถึงวันงานวันฉลองรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม และจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2490 ในยุคของคณะราษฎร แต่งานวันฉลองรัฐธรรมนูญได้ซบเซาลงในยุคของการฟื้นฟูความนิยมเจ้า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490-2500 จนการฉลองรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2506 งานวันฉลองรัฐธรรมนูญก็เหลือเพียง วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม วันเดียวในรอบปี และคนในสังคมไทยมักจดจำกันเพียงเป็นวันรัฐธรรมนูญ เหลือแต่เพียงการวางพวงมาลาถวายรัชกาลที่ 7 ในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ ไม่มีแม้เพียงการรำลึกถึงคณะราษฎร ที่ได้ร่วมกันก่อกำเนิดระบอบประชาธิปไตยและระบอบรัฐธรรมนูญมาสู่สังคมไทยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ปฐมรัฐธรรมนูญสำหรับอาจารย์ปรีดีนั้น ท่านได้ให้ทัศนะไว้ว่า ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ หากเป็นเพียงการสร้างประชาธิปไตยขั้นที่ 1 เท่านั้น และสืบต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการสร้างประชาธิปไตยขั้นที่ 2 และในท้ายที่สุด นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ของอาจารย์ปรีดี ฉบับพุทธศักราช 2489
เหตุที่อาจารย์ปรีดีเรียกรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาอย่างถูกต้อง ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพของราษฎรอย่างบริบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือลัทธินิยมใดๆ ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้ให้ความสำคัญมาก สิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือลัทธินิยมใดๆ แทบจะไม่ปรากฏอีกเลยในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา
รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ของอาจารย์ปรีดี กำหนดให้สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎร และสมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมของราษฎร แม้ว่าในช่วงต้นจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่อาจารย์ก็ได้กล่าวว่า ผ่านไป 3 ปี ก็จะมีการเลือกพฤฒิสภาออกครึ่งหนึ่ง และจะถูกทดแทนด้วยพฤกษ์ที่สภาจากการเลือกตั้งของราษฎร และเมื่อผ่านไปอีก 3 ปี คือ 6 ปีจะมีสมาชิกพฤฒที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
จริงๆ อาจารย์ปรีดีนั้นไม่นิยมให้มีสองสภา ไม่ว่าจะเป็นพฤฒสภาหรือวุฒิสภา ความคิดที่จะให้มีพฤฒสภาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แท้จริงมาจากรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อย่างไรก็ตามสำหรับอาจารย์แล้ว มีพฤฒสภาก็ไม่เป็นไร ขอให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งก็พอ และมีอำนาจเพียงยับยั้งหรือกลั่นกรองร่างกฎหมายที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร ประดุจ “ห้ามล้อ” ไม่ใช่เป็นการ “ถ่วง” ความเป็นประชาธิปไตย
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ของอาจารย์ปรีดี กำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีจำนวนเพียง 80 คน ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังห้ามเป็นข้าราชการประจำ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ของอาจารย์ปรีดีจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร หากท่านอาจารย์ปรีดียังมีชีวิตอยู่ ผมมั่นใจเลยว่า ท่านจะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย ไม่มีทางที่อาจารย์ปรีดีจะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อย่างที่พวกเขาหลายคนได้หลอกลวงพวกเรา
ล่าสุดผมได้เห็นการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าแทนที่ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไป นี่จะไม่ให้อาจารย์ปรีดีเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย ได้อย่างไร แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ของอาจารย์ปรีดีได้ถูกฉีกทิ้ง ด้วยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งอาจารย์ปรีดีเห็นว่าเป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นถอยหลังเข้าคลอง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ได้ก่อกำเนิดรัฐถ้าธรรมนูญที่อาจารย์เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญโมฆะ เนื่องจากมีการลงนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ครบ และลงนามรับสนองโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ที่พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
การรัฐประหาร 2490 นี้ ถือเป็นต้นตอของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองและในทางประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อีกทั้งยังเป็นต้นตอรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยฉบับ 2492 และฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น ฉบับ 2517 เหตุที่อาจารย์ปรีดีเรียกรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และ 2517 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย ก็เพราะว่าสมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และลงนามรับสนองโดยประธานองคมนตรี รัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 82 และรัฐธรรมนูญ 2517 มาตรา 107
อาจารย์ปรีดีเรียกรัฐประหาร 2490 นี้ว่า “กบฏ” เป็นการกระทำพวกปฏิกิริยา (Counter Revolution) ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มกบฏบวรเดชที่ได้เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม พ.ศ. 2476 ดังนั้น ท่านจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเรียก ขบวนการเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ของท่านที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ว่าเป็นกบฏวังหลวง เพราะขบวนการนี้มิใช่ขบวนการที่เป็นกบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ดังนั้น ผมจึงขอเรียก ขบวนการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ของอาจารย์ปรีดีอย่างเต็มยศด้วยความเคารพเชิดชูว่า “ขบวนการฟื้นฟูรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ 26 กุมภาพันธ์ 2492” และจะขอเรียกรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ว่าเป็น “กบฏ” และเมื่อเป็นกบฏที่คณะรัฐประหารนำรัฐธรรมนูญไปซ่อนไว้ใต้ตุ่ม ผมจึงขอเรียกกบฏครั้งนี้ให้เต็มยศเช่นกันว่า “กบฏใต้ตุ่มล้มรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ 8 พฤศจิกายน 2490”
ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “การศึกษาปฐมรัฐธรรมนูญ 2475 รัฐธรรมนูญสยาม และรัฐธรรมนูญ 2489 และการช่วงชิงความชอบธรรมอันเป็นผลพวงจากรัฐประหาร 2490” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- ปฐมรัฐธรรมนูญ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- วิเชียร เพ่งพิศ
- PRIDI Talks 7
- รัฐธรรมนูญ
- ประชาธิปไตยสมบูรณ์
- อำมาตยาธิปไตย
- รัฐประหาร 2490
- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- คณะราษฎร
- วันรัฐธรรมนูญ
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- กบฏบวรเดช
- 27 มิถุนายน 2475
- ธรรมนูญชั่วคราว
- หลัก 6 ประการ
- ประกาศคณะราษฎร
- แนวความคิดรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์
- ประวัติศาสตร์การเมืองไทย