ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

วิจิตร ลุลิตานนท์: ผู้บุกเบิกวิทยาการคลัง และเลขาธิการเสรีไทย

29
ธันวาคม
2563

คุณวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นบุคคลหนึ่งในแวดวงเศรษฐกิจการคลังที่น่าสนใจในฐานะผู้บุกเบิกวิทยาการคลังของประเทศไทย นอกจากนี้ คุณวิจิตรยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย

ชีวิตครอบครัวและการศึกษา

คุณวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นบุตรชายของหลวงวิจารณ์สุขกรรม (ติ๊ด ลุลิตานนท์) กับนางทรัพย์ เกิดที่บ้าน “ลุลิตานนท์” ถนนสีลม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2449  ในด้านการศึกษา คุณวิจิตรเข้าศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนประถมศึกษาเล็กๆ ในตรอกโรงภาษีชื่อว่า โรงเรียนครูสี ก่อนจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนผดุงดรุณี และจากนั้นจึงย้ายมาเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนจบชั้นมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2467 แล้วเข้าศึกษาต่อโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทยในปี พ.ศ. 2470

การเข้าทำงานรับราชการในกระทรวงยุติธรรม

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตไทย ในปีเดียวกันนั้น คุณวิจิตรได้เข้าทำงานในกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งเสมียนฝึกหัด ซึ่งเป็นความนิยมในสมัยนั้นหากต้องการเจริญก้าวหน้าในการเรียนกฎหมายสำเร็จและสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้โดยง่าย จะต้องได้ฝึกงานในสำนักงานทนายความหรือในกรมร่างกฎหมาย

เมื่อทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดในกรมร่างกฎหมายได้ 2 ปี  โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งในขณะนั้นมีผู้บรรยายส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส เช่น นายหลุยส์ ดูปลาตร์  นายอังรี เอกูต์  และนายเอมิล ริโวด์ เป็นต้น เปิดรับสมัครล่ามภาษาฝรั่งเศสเพื่อมาช่วยแปลภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย คุณวิจิตรจึงได้เข้ามาทำงานนี้

โดยก่อนหน้าคุณวิจิตรจะเข้ามารับตำแหน่งนี้ คุณเสริม วินิจฉัยกุล ได้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสอยู่ก่อนแล้ว (โปรดดู เสริม วินิจฉัยกุล: ผู้ช่วยจัดทำตำรา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)  ทว่า ในปี พ.ศ. 2472 คุณเสริมจำเป็นต้องเข้ารับราชการทหาร เป็นเหตุให้โรงเรียนกฎหมายต้องหาผู้รับหน้าที่ล่ามแปลภาษาฝรั่งเศสแทนคุณเสริมชั่วคราว ความยากลำบากในการทำงานเป็นล่ามแปลภาษาฝรั่งเศสในเวลานั้นมีค่อนข้างมาก เนื่องจากในสมัยนั้นไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฝรั่งเศสมากนัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 คุณวิจิตรได้สอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาฝึกหัด กระทรวงยุติธรรม และได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรมเรื่อยมาในตำแหน่งผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2475 และผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2476 จนในเวลาต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 ได้จัดตั้งคณะกรรมกฤษฎีกา ให้มาขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทำหน้าที่คล้ายกับสภาแห่งรัฐ (Conseil d'État) ของประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่ร่างกฎหมายและวินิจฉัยคดีปกครอง และให้โอนกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม มาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีผลให้คุณวิจิตรได้โอนย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2477 คุณวิจิตรได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกในกองกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา

คุณวิจิตรกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการ ซึ่งประการหนึ่งคือ การจะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร อันนำไปสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งคุณวิจิตรได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยจัดทำตำราของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่จดบันทึกคำบรรยายเพื่อเอามาเรียบเรียงเป็นตำราและคำสอนสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

คุณวิจิตรได้มีบทบาทในการจัดทำตำราหลายเล่ม ซึ่งเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ อย่างเช่น ตำรากฎหมายลักษณะพยานและจิตตวิทยา: คำสอนชั้นปริญญาตรี (พ.ศ. 2477) ซึ่งเป็นคำบรรยายของศาสตราจารย์ หลุยส์ ดูปลาตร์ (L. DUPLATRE) โดยมีความสำคัญในฐานะตำรากฎหมายพยานที่ทันสมัยตามหลักการของกฎหมายพยานสากล

คุณวิจิตรรับราชการในอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นระยะเวลาหลายปี ทั้งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย เช่น ผู้ช่วยเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เลขาธิการมหาวิทยาลัยณ และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฯ เป็นต้น และได้แต่งตำรากฎหมายไว้เป็นจำนวนมากครอบคลุมทั้งกฎหมายการคลัง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน

ในช่วงที่คุณวิจิตรรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นได้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงเป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นผู้บริหารโดยตรงของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันนี้ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีแล้ว กลายมาเป็นตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ แทน

คุณวิจิตรไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่เป็นข้าราชการในสังกัดของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกลายมาเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการวางแผนของขบวนการเสรีไทย ซึ่งแรกเริ่มนั้นขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นจากการนัดแนะประชุมกันในห้องเล็กๆ ใต้ตึกโดมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีสมาชิกเป็นคณะทำงานชุดแรก คือ  ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค  ศาสตราจารย์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล  คุณทวี ตะเวทิกุล  และคุณวิจิตร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย คอยรับนโยบายจากนายปรีดี พนมยงค์

คุณวิจิตรมีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะเลขาธิการเสรีไทยคอยเป็นผู้ประสานงานภายในขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คุณวิจิตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขบวนการเสรีไทยจากคำบอกเล่าของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าได้มอบให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทำหน้าที่เลขาธิการองค์การต่อต้านซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า ‘ขบวนการเสรีไทย’ นั้น เป็นหัวหน้าพนักงานฝ่ายความเป็นอยู่ของผู้ถูกกักกันเท่านั้น”[1] หรือจากคำบอกเล่าของนายไสว สุทธิพิทักษ์ว่า “...วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นหัวหน้าศูนย์บัญชาการของขบวนการเสรีไทย ซึ่งจะเรียกว่า ท่านเป็นเสนาธิการของกองบัญชาการก็ว่าได้ ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยในประเทศ”[2]

บทบาทสำคัญประการหนึ่งที่ได้บันทึกเอาไว้ คือ ในตอนที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ามาทำภารกิจส่งสารจากคนสำคัญในรัฐบาลอังกฤษถึงนายปรีดี พนมยงค์นั้น ซึ่งในตอนนั้นคุณวิจิตรได้ประสานให้นายป๋วยได้พบและส่งมอบสารให้กับนายปรีดี ณ บ้านพักของคุณวิจิตรย่านบางเขนอย่างลับๆ (บ้านหลังนี้ต่อมาเป็นร้านอาหารชื่อดัง “บ้านขวัญจิตร” ก่อนที่จะปลาสนาการไป) และในขณะเดียวกันคุณวิจิตรก็ได้ไปปรึกษาและวางแผนการร่วมกับผู้นำขบวนการเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้างสม่ำเสมอ

นายปรีดีกับคุณวิจิตรมีความสัมพันธ์อันดีที่ใกล้ชิดกันจนถึงขนาดถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งใน 4 ทหารเสือของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งภายหลังจากนายปรีดีและพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง คุณวิจิตรในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ถูกฝ่ายตรงข้ามนายปรีดีคุกคาม

 

ภาพคุณวิจิตร (กลาง) กับมารดาและพี่น้องครอบครัวลุลิตานนท์ ที่มา: บันทึกการบรรยายวิชาวิทยาการคลัง และกฎหมายการคลัง, ฐานข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพอิเล็กทรอนิกส์วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพคุณวิจิตร (กลาง) กับมารดาและพี่น้องครอบครัวลุลิตานนท์
ที่มา: บันทึกการบรรยายวิชาวิทยาการคลัง และกฎหมายการคลัง, ฐานข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพอิเล็กทรอนิกส์วัดบวรนิเวศวิหาร

 

คุณวิจิตรกับการบุกเบิกวิทยาการคลัง

บทบาทสำคัญในฐานะผู้บรรยายของคุณวิจิตร คือ การเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายการคลังร่วมกับหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งเป็นวิชาบรรยายเริ่มแรกในระดับชั้นปริญญาตรีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา

วิทยาการคลังเป็นวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการรัฐยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และไม่เป็นที่ศึกษาอย่างแพร่หลาย เนื่องจากในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่มีความจำเป็นที่ราษฎรจะต้องเข้าใจวิทยาการคลัง เพราะราษฎรไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมบริหารประเทศ แต่เมื่อมีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วราษฎรใช้อำนาจควบคุมการคลังผ่านทางนิติบัญญัติในรูปของการให้ความเห็นชอบกฎหมายงบประมาณ และกฎหมายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาสาระของวิทยาการคลังนั้นมีความยากในตัวเอง ดังกล่าวไว้ในคำบรรยายวิชากฎหมายการคลังของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ และคุณวิจิตรว่า “การคลังเป็นส่วนหนึ่งของโภคศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับทฤษฎีการเงิน เครดิต และธนาคาร และยังจะต้องอาศัยสถิติเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ การคลังจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะในทางบัญชีหรือเป็นปัญหาในทางจำนวนเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องในทางนโยบายเป็นสำคัญ ทั้งยังต้องเข้าใจบริบทของต่างประเทศประกอบด้วย”[3]

ภายหลังจากคุณวิจิตรได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น คุณวิจิตรได้มีโอกาสกลับมาบรรยายวิชาวิทยาการคลังและกฎหมายการคลังในระดับปริญญาโทให้กับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคุณูปการสำคัญของคุณวิจิตรประการหนึ่ง เนื่องจากการคลังนั้นหากไม่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้ปฏิบัติจริงก็คงไม่อาจเข้าใจถึงวิธีการหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างชัดแจ้ง

 

ภาพครอบครัวลุลิตานนท์ ถ่ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2491 วันคล้ายวันเกิดหลวงวิจารณ์สุขกรรม ครบรอบปีที่ 70 ในรูปคุณวิจิตรจะอยู่แถวหลังคนที่ 4 นับจากซ้ายมือ ที่มา: บันทึกการบรรยายวิชาวิทยาการคลัง และกฎหมายการคลัง, ฐานข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพอิเล็กทรอนิกส์วัดบวรนิเวศวิหาร.
ภาพครอบครัวลุลิตานนท์ ถ่ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2491 วันคล้ายวันเกิดหลวงวิจารณ์สุขกรรม
ครบรอบปีที่ 70 ในรูปคุณวิจิตรจะอยู่แถวหลังคนที่ 4 นับจากซ้ายมือ
ที่มา: บันทึกการบรรยายวิชาวิทยาการคลัง และกฎหมายการคลัง, ฐานข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพอิเล็กทรอนิกส์วัดบวรนิเวศวิหาร.

 

คุณวิจิตรกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในการทำงานทางการเมืองคุณวิจิตรมีโอกาสได้ทำงานทางการเมืองในหลายบทบาททั้งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2488 สมาชิกพฤฒสภา (วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489) และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐมนตรีหลายชุดด้วยกัน เช่น ในคณะรัฐมนตรีของนายทวี บุณยเกตุ  หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช  นายปรีดี พนมยงค์  และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ช่วงเวลาที่คุณวิจิตรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเงินเฟ้อ (โปรดดู ภาวะเงินเฟ้อกับชีวิตคนไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้รัฐบาลตัดสินใจขายทองคำที่เป็นทุนสำรองของประเทศโดยคาดหมายว่าจะทำให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นและราคาสินค้าบริการจะถูกลง  อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อภายหลังสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายลำพังไม่สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งทำโดยลำพังจะสำเร็จได้

นอกจากนี้ บทบาทในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สำคัญของคุณวิจิตรอีกประการหนึ่ง คือ เป็นผู้ไปรื้อเอาเรื่องที่ญี่ปุ่นเป็นหนี้รัฐบาลไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นทองคำที่ต้องชำระหนี้มีมูลค่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงที่คุณวิจิตรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไปสำเร็จภายหลังจากได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว[4]

ผลงานสำคัญอีกประการหนึ่งของคุณวิจิตรในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ การผลักดันให้เกิดบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ขึ้นมา เนื่องจากก่อนปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังต้องรับภาระจ่ายค่าเบี้ยประภัยเป็นจำนวนมากต่อปี คุณวิจิตรจึงมีดำริจะจัดตั้งบริษัทประกันภัยของรัฐบาลขึ้นมา โดยได้แจ้งนโยบายพิเศษให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2561) จัดตั้งบริษัทประกันภัยขึ้น เจตนารมณ์ที่แจ้งเป็นวัตถุประสงค์ไว้ในการประชุม “คณะกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ครั้งที่ 9/2489 วันที่ 16 กันยายน 2489 ว่า “เพื่อรัฐบาลจะได้ประกันภัยองค์การของรัฐบาลไว้กับบริษัทนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งขององค์การรัฐบาล ก็จะเป็นการช่วยรายจ่ายของรัฐบาลได้อย่างมากส่วนหนึ่ง”[5] และในวันที่ 14 ตุลาคม 2489 คุณวิจิตร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการจัดตั้งบริษัทประกันภัยตามนโยบายพิเศษที่ได้ให้ไว้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้แล้ว และให้การรับรองชื่อบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ตามที่นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคผู้เสนอ ซึ่งในช่วงแรกบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด[6]

ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณวิจิตรได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการสอนหนังสือให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนเกษียณอายุราชการ และเป็นศาสตราจารย์พิเศษสืบมา ซึ่งในบรรดาผู้คนรอบตัวของนายปรีดีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ คุณวิจิตรเป็นคนหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจและมีผลงานเป็นคุณแก่ประเทศนี้อยู่มาก น่าเสียดายที่ผลงานและเรื่องราวเกี่ยวกับคุณวิจิตรได้รับการบันทึกไว้ไม่มากนัก

บรรณานุกรม

  • จารุบุตร เรืองสุวรรณ. “นิทานเสรีไทย.” 24 ธันวาคม 2563, https://pridi.or.th/th/content/2020/08/377.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.” 24 ธันวาคม 2563, http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-thammasat/.
  • วิจิตร ลุลิตานนท์. คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคต้น (พระนคร: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2487).
  • วิจิตร ลุลิตานนท์. บันทึกการบรรยายวิชาวิทยาการคลัง และกฎหมายการคลัง (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2503).
  • สกลวรรณากร วรวรรณ และวิจิตร ลุลิตานนท์. กฎหมายการคลัง (พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2477).
  • ศิลปวัฒนธรรม. “ทำเนียบท่าช้าง “บ้านพัก” ของ 3 บรรพบุรุษประชาธิปไตย.” 24 ธันวาคม 2563, https://www.silpa-mag.com/history/article_54666.
  • สมภพ โหตระกิตย์. “40 ปี ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.” 24 ธันวาคม 2563, http://web.krisdika.go.th/activityDetail.jsp?actType=I&actCode=2&head=4&item=n5
  • หลุยส์ ดูปลาตร์ และวิจิตร ลุลิตานนท์. กฎหมายลักษณะพะยานและจิตตวิทยา (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2561.)
  • อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. นายกราชบัณฑิตยสถาน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2528
  • รายงานการประชุมพฤฒสภา ครั้งที่ 9/2490 (สามัญ) ชุดที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2490 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร, “วิจิตร ลุลิตานนท์ : เลขาธิการเสรีไทย,” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563, จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=วิจิตร_ลุลิตานนท์.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] สกลวรรณากร วรวรรณ และวิจิตร ลุลิตานนท์, กฎหมายการคลัง, (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477), 4.

[4] นรนิติ เศรษฐบุตร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1.

[5] เทเวศประกันภัย, “ประวัติบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน),” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563, จาก https://www.deves.co.th/th/about-us/company-profile/.

[6] นอกจากนี้ คุณวิจิตรยังมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการจัดตั้งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บริษัทประกันต่างชาติได้ปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทประกันส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นบริษัทประกันของคู่สงคราม ทำให้คนไทยและข้าราชการไทยชั้นผู้ใหญ่ได้ร่วมกันลงทุนเปิดกิจการบริษัทประกันซึ่งหนึ่งในนั้นคือคุณวิจิตร.