ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพูนศุข

10
มกราคม
2564

ครั้งแรกที่รู้จักชื่อพูนศุข

ดิฉันได้รู้จักชื่อท่านผู้หญิงพูนศุข (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเอ่ยชื่อท่านว่า “คุณพูนศุข” ตามที่ท่านเคยขอร้องไว้) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 ตอนที่ท่านยังไม่ได้แต่งงาน ยังคงใช้ชื่อ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ อยู่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าดิฉันได้ไปเข้าเป็นนักเรียนประจำโรงเรียนราชินี และได้เป็นเพื่อนสนิทกับน้องสาว 3 คนของท่าน คือ คุณเพียงแข คุณนวลจันทร์ และคุณอุษา  เรานอนห้องนอนเดียวกันด้วย พวกนักเรียนประจำมักจะเล่าเรื่องพี่น้องครอบครัวของตนให้กันและกันฟังทุกแง่ทุกมุม ดังนั้น ดิฉันจึงรู้จักคุณพูนศุขดีพอใช้ ทั้งที่ยังไม่ได้เห็นตัวจริงของท่าน

พ.ศ. 2475 ขณะที่ดิฉันกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 8 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ (เป็นประมุข) ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดิฉันได้ทราบว่า คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน แน่นอนดิฉันได้ทราบมาก่อนแล้วว่า คุณพูนศุขแต่งงานกับคุณหลวงประดิษฐ์ เลยทำให้อยากเห็นตัวจริงของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่มีโอกาส

แรกพบ

พ.ศ. 2479 ขณะที่ดิฉันกำลังเรียนอักษรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์[1]นั้น สอบได้ทุน King's Scholarship ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ดิฉันไปตัดเสื้อผ้าสำหรับวันเดินทางกับคุณเจริญ ชูพันธุ์ ซึ่งเป็นพี่สาวของคุณบุญเหลือ ชูพันธุ์ ซึ่งจะเดินทางไปพร้อมกับดิฉันนั่นเอง  ระหว่างที่กำลังลองเสื้ออยู่นั้น มีเพื่อนหญิงของคุณเจริญคนหนึ่งมาหาและพูดคุยกันอย่างสนิทสนมมาก  พอผู้หญิงคนนั้นกลับไปแล้ว คุณเจริญบอกว่านั่นคือคุณพูนศุข พนมยงค์ เพื่อนรักที่สุดของเธอ  ดิฉันเสียใจมากที่พลาดโอกาสไม่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับท่าน แต่ก็ดีใจที่ได้เห็นตัวจริงแล้ว ต่อมาภายหลังเมื่อดิฉันรู้จักกับท่านดีแล้ว ท่านบอกว่า ตอนนั้นท่านก็รู้แล้วว่า ดิฉันเป็นใคร เพราะเคยเห็นรูปถ่ายของดิฉันที่ให้น้อง ๆ ของท่าน และเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ด้วย เพราะปีนั้นดิฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้ King's Scholarship

จำกัดเป็นผู้แนะนำให้ได้คุยกัน

พ.ศ. 2480 ดิฉันอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่ระหว่างปิดภาคเรียนได้ถูกส่งตัวไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่กรุงปารีส วันหนึ่งมีงานเลี้ยงที่สถานทูต จะเป็นเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันขึ้นปีใหม่ก็จำไม่ได้แล้ว ดิฉันได้พบคุณพูนศุขที่นั่น จำกัด พลางกูร ซึ่งตอนหลังได้แต่งงานกับดิฉัน ได้แนะนำดิฉันให้รู้จักกับท่านเป็นทางการ ท่านพูดคุยด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ไม่ได้แสดงท่าทีว่าเป็นผู้ใหญ่หรือคนสำคัญอะไรเลย  ท่านยังได้เล่าให้ดิฉันฟังว่า ท่านเคยเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศสที่ Alliance Française ที่กรุงเทพฯ อยู่ชั้นเดียวกับจำกัด และเอ่ยถึงเพื่อนร่วมชั้นที่ดิฉันรู้จักหลายคน เช่น คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล  ท่านคุยกับเราแบบที่ทำให้เราสบายใจ ไม่รู้สึกอึดอัดใจสักนิดเดียว ดิฉันยังจำความประทับใจในตอนนั้นได้ดีตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2482 ดิฉันกลับเมืองไทย และได้แต่งงานกับจำกัด ในวันที่ 11 มิถุนายน ในปีนั้น คุณหลวงประดิษฐ์ฯ และคุณพูนศุข ได้กรุณาสละเวลามาให้เกียรติรดน้ำแก่เราด้วย

พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย จำกัด พลางกูร สามีดิฉัน ผู้ซึ่งรักระบอบประชาธิปไตยเป็นชีวิตจิตใจ ไม่เห็นด้วยเลยที่รัฐบาล (เผด็จการ) ตอนนั้นยอมจำนน และร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ได้ไปหาคุณหลวงประดิษฐ์ (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเอ่ยถึงท่านในนาม นายปรีดี พนมยงค์ เพราะท่านได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์แล้ว)  จำกัดเคยรู้จักท่านปรีดี เมื่อตอนที่ท่านเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เขารู้แน่ว่าท่านจะต้องไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแน่ และก็จริงดังคาด ท่านปรีดีกำลังคิดจะจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น เขาเลยไปหาท่านแทบทุกวัน จะเว้นเสียบ้างก็เพื่อไม่ให้ดูผิดสังเกตเท่านั้น

ยิงทีเดียวได้นก 2 ตัว

อย่างไรก็ตาม พ.ศ.2485 คุณพูนศุขได้ส่งธิดาคนหัวปีของท่าน ชื่อ คุณลลิตา พนมยงค์ มาเป็นนักเรียนประจำโรงเรียนดิฉัน โดยส่งพี่เลี้ยงมาอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักแก่ดิฉันเกินไป เพราะคุณลลิตาเป็นเด็กที่ผิดปกติเล็กน้อย สมองต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กธรรมดา เนื่องจากการป่วยมากตอนที่อายุเพียง 3-4 เดือน

ดิฉันคิดว่า ท่านคงอยากจะช่วยด้านการเงินของเราด้วย เนื่องจากโรงเรียนต้องปิด ๆ เปิด ๆ ค่าเรียนเก็บได้ไม่เต็ม เป็นการยิงทีเดียวได้นก 2 ตัว นอกจากนี้ ระยะนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ ท่านได้ส่งเรือสำปั้นลำใหญ่มาให้เรา เพื่อให้พาคุณลลิตากลับไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่วันเว้นวัน  เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านปรีดีต้องการให้จำกัดไปพบท่านอย่างน้อยวันเว้นวันโดยไม่ให้ใครสงสัย เพราะเราพาคุณลลิตาไปเยี่ยมท่านจริง ๆ ยิงทีเดียวได้นก 2 ตัวอีก

ได้พบและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากคุณพูนศุขมาก

แน่นอน จำกัดไปพบและอยู่กับท่านปรีดีตลอดเวลา และดิฉันก็มีโอกาสได้พบคุณพูนศุขมากขึ้น ทีแรกเกรงว่าพบท่านบ่อย ๆ จะไม่มีเรื่องอะไรคุยกับท่าน แต่บังเอิญดิฉันรู้จักคนที่คุณพูนศุขรู้จักหลายพวก เช่น บรรดาเจ้านายทั้งหลายที่เป็นครูโรงเรียนราชินี พวก ส.ส. เพื่อนของจำกัดหลายคนที่เป็นรัฐมนตรีก็มี พวกนักหนังสือพิมพ์บ้าง พวกเพื่อนนักเรียนอังกฤษของเราก็หลายคน และในวงศ์วานว่านเครือของพวกสกุลพลางกูรอีกหลายคนด้วย ไหนยังจะเพื่อนนักเรียนราชินีของดิฉัน ซึ่งเป็นเพื่อนของน้อง ๆ ของท่านเหมือนกัน ในจำพวกหลังนี้หลายคน ท่านรู้จักบุพการีของเขาด้วย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณแม่ของจำกัดถึงแก่กรรม จำกัดและพวกน้อง ๆ ผู้ชายได้ถูกส่งตัวไปกราบฝากอยู่กับกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัต) และหม่อมประยูร (สุขุม) ซึ่งเป็นญาติลำดับน้าของคุณพูนศุข  ท่านจึงรู้จักเจ้านายในวังนี้ดี  ส่วนดิฉันได้ติดตามจำกัดไปเฝ้ากรมหมื่นฯ หลายครั้ง จึงพลอยรู้จักท่านเหล่านั้นด้วย

นี่แหละค่ะ ที่ช่วยให้ดิฉันหมดความหวาดเกรงที่เคยมีอยู่ก่อน และคุยกับท่านได้อย่างสบาย แต่แน่นอนสิ่งที่ดิฉันรู้พอจะคุยกับท่านได้นั้นเป็นเศษหนึ่งส่วนร้อยหรือส่วนพันในโลกของท่านเหล่านั้น

นอกจากจะรู้จัก และเรื่องของผู้คนมากมายแล้ว คุณพูนศุข ยังรู้เหตุการณ์ของบ้านเมือง ทั้งในและนอกประเทศอย่างกว้างขวาง ความจำของท่านดีเลิศ ด้านประวัติศาสตร์ เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเมื่อไร อะไรก่อนอะไรหลัง ท่านจะบอกได้ไม่ค่อยผิดพลาดเลย ความรู้รอบตัวของท่านมากจริง ๆ  การคุยกับท่านจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นเสมอไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่มากก็น้อย เรื่องนี้ดิฉันเป็นหนี้บุญคุณท่านอย่างพรรณนาไม่ถูกทีเดียว

ไปอยู่ทำเนียบท่าช้างวังหน้า

เมื่อจำกัดออกจากประเทศไทยไปเมืองจีนเพื่อทำงานเสรีไทยแล้ว โรงเรียนซึ่งปิด ๆ เบิด ๆ ตอนหลังต้องปิดตลอดไปตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาฯ เพราะว่าเครื่องบินของสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดบ่อยขึ้น ท่านปรีดีจึงให้คุณพูนศุขมารับดิฉันไปอยู่กับท่านทั้งสองเพื่อความปลอดภัย

กิจวัตรประจำวัน

คุณพูนศุขไม่เคยทิ้งดิฉันไว้คนเดียวเลย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ท่านจะต้องพาดิฉันไปด้วย  กิจวัตรประจำวันของท่าน ก็คือ หลังจากอาหารเช้าแล้ว จะไปหาคุณแม่ของท่าน (คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ) ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ที่นั่นจะได้พบกับพวกพี่ ๆ น้อง ๆ ของท่านเกือบทุกคนทุกวัน ดิฉันกลายเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวของท่าน วันไหนดิฉันไม่ได้ไป คุณหญิงท่านจะถามหา  ปกติทุกคนจะอยู่ที่นั่นจนใกล้เวลาเที่ยง จึงจะแยกย้ายกันกลับบ้าน  หลังจากอาหารกลางวัน ท่านปรีดีมีเวลาว่างนิดหน่อย ก็มักจะมีญาติพี่น้องทั้งฝ่ายท่านปรีดีและทางฝ่ายคุณพูนศุข (ซึ่งไม่ค่อยได้พบกัน) มาเยี่ยมเยียน บางทีก็เป็นพวกเพื่อนฝูง ท่านทั้งสองจะให้ดิฉันอยู่ร่วมด้วยเสมอ และแนะนำว่า ดิฉันเป็น “เพื่อน” ของท่าน

บางวันคุณพูนศุขทำงานอดิเรกที่ชอบมาก คือ เปิดตำราอาหาร (ฝรั่ง) และทำตามนั้น แต่ที่ทำได้ดีมาก คือ cake แบบต่าง ๆ  ดิฉันได้แต่นั่งเฝ้าดูและศึกษาวิธีการของท่าน จะเป็นแม้แต่ “ลูกมือ” ของท่านยังไม่ได้เลย แต่ก็ได้ความรู้หลายอย่าง

หลังจากกินน้ำชา (อาหารว่าง) แล้ว ต่างคนก็ถือโอกาสพักผ่อน แต่ดิฉันไม่เห็นท่านปรีดีพักผ่อนเลย โดยมากท่านจะไปวนอยู่ในห้องทำงานของท่าน  หลังจากอาหารเย็นไม่นาน ท่านปรีดีมักจะมีแขกสำคัญ ๆ ซึ่งบางทีอยู่จนดึก คงจะเป็นพรรคพวกที่กำลังร่วมงานใต้ดินนั่นเอง  ตอนนี้แหละที่คุณพูนศุข และดิฉันได้พูดคุยกันนานก่อนนอนนับเป็นชั่วโมง การศึกษาความรู้รอบตัวอันมีค่ายิ่งสำหรับดิฉัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ไปคอยฟังข่าวที่หัวหิน

ก่อนที่จำกัด (สามีดิฉัน) จะเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปประเทศจีนในเรื่องงานเสรีไทยนั้น ได้ไปกราบลาท่านปรีดี และท่านพูดกับเขาว่า ถ้าโชคดีอีก 45 วันคงจะได้พบกัน โดยหมายความว่า ถ้าไปถึงประเทศจีนได้สำเร็จ จะติดต่อขอให้ทางสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินทะเลมารับพวกเราออกนอกประเทศ ท่านได้สั่งให้คุณพูนศุขและดิฉันจัดเสื้อผ้า 1 ชุด เสื้อนอน 1 ตัวและแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ใส่กระเป๋าเล็กเตรียมพร้อมไว้

จำกัดออกจากบ้าน 28 กุมภาพันธ์ 2486 ถ้าคิดเวลา 45 วันก็ควรจะเป็นประมาณกลางเดือนเมษายน ฉะนั้นราว ๆ วันที่ 10 เมษายน (หรือราว ๆ นี้ จำไม่ได้แน่) คุณพูนศุขพาดิฉัน และญาติพี่น้องลูกหลานหลายคนไปหัวหิน ทำทีเหมือนไปตากอากาศอย่างธรรมดา  คนอื่น ๆ ไม่มีใครรู้ นอกจากเราสองคน  ที่หัวหินเราไปอยู่ในบริเวณวังไกลกังกล เพราะท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ถ้าไปหัวหินก็ควรจะต้องไปพักที่นั่น แต่ท่านปรีดีไม่ได้อยู่หัวหินด้วยตลอด เพียงแต่ไปเยี่ยมเท่านั้น เพราะมีงานเสรีไทยที่จะต้องพบใครต่อใครมากที่กรุงเทพฯ

ทุก ๆ วันใครจะไปเที่ยวไหนก็ตาม แต่คุณพูนศุขกับดิฉันจะนั่งคุยกันในที่ที่มองเห็นทะเลได้มากที่สุด เราจะคอยจ้องมองไปไกลในทะล ซึ่งเป็นจุดนัดแนะที่จะให้เขามารับ ไม่มีผู้ใดสงสัย เพราะเห็นเป็นของธรรมดา แต่อยู่ไปตั้งหลายวัน ก็ยังไม่มีวี่แววอะไรเลย

จนกระทั่งวันที่ 16 เมษายน คุณถวิล อุดล และพรรคพวกอีก 2-3 คนได้เอาวิทยุมาให้ 1 เครื่อง บอกว่า เมื่อคืนที่แล้ว (15 เม.ย.) ได้ฟังข่าวจากวิทยุเมืองจุงกิง ความว่า อาจาง กับอาลีได้มาถึงที่นั่นโดยปลอดภัยแล้ว ขอให้พี่น้องคนไทยหมดกังวลได้หรืออะไรทำนองนี้ และเขาบอกด้วยว่าจะแจ้งข่าวนี้ซ้ำอีกครั้งในคืนวันที่ 16 เม.ย. นั้น เราทุกคนฟังวิทยุด้วยกัน โดยไม่มีใครสงสัย เพราะคิดว่าคุณพูนศุขคุยกับแขกอย่างธรรมดาจึงไม่รบกวนเลย แล้วเราก็ได้ฟังข่าวนั้นจริง ๆ คุณถวิลและพวกกลับไปโดยทิ้งวิทยุไว้ให้เรา

เมื่อเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า เวลา 45 วันตามที่นัดหมายไว้ไม่สำเร็จผล ต่อจากนั้นอีก 2-3 วัน คุณพูนศุขก็พาพวกเราทั้งหมดกลับบ้าน ดิฉันได้รับความสบายใจที่จำกัดปลอดภัยไม่ถูกฆ่าตายในระหว่างการเดินทางตามที่ได้กลัวไว้เป็นหนักหนา ท่านปรีดีได้บอกไว้ด้วยว่า ถ้าโชคไม่ดี 2 ปีคงได้พบกัน คือ หมายถึงตอนสงครามสิ้นสุด จากนั้นดิฉันหมดความกลัว มีแต่ความหวังที่จะได้พบเขาตามกำหนดนี้

ขนของไปเก็บไว้ต่างจังหวัด

เมื่อโรงเรียนทั้งหมดต้องปิด (เพราะสงคราม) ดิฉันได้เก็บหนังสือของจำกัดซึ่งมีอยู่กว่า 1,000 เล่ม กับเอกสารสำคัญ ๆ พร้อมทั้งปริญญาบัตรและรูปต่าง ๆ ของเขาทั้งหมดบรรทุกเรือ เอาไปเก็บไว้ที่บ้านคุณพ่อที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเกรงว่า โรงเรียนอาจจะถูกระเบิดไฟไหม้หมด ทางต่างจังหวัดน่าจะปลอดภัยกว่า

ส่วนตัวดิฉันนั้นไปอยู่กับครอบครัวท่านปรีดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็กลับไปดูโรงเรียนบ้าง ซึ่งที่จริงไม่ต้องห่วง เพราะจำกัดเอาเด็กหนุ่ม หลานชายของคุณเตียง ศิริขันธ์ หลายคนมาอยู่ด้วย โดยเผื่อไว้ว่าอาจจะต้องเรียกใช้เป็นการด่วน (เรื่องงานใต้ดิน)

ไม่นานหลังจากนั้นเกิดเหตุร้ายที่ไม่เคยนึกฝันขึ้น คือ ไฟไหม้บ้านที่จังหวัดสมุทรสงครามหมดทั้งหลัง ได้ความว่า บ้านของเราอยู่ติดกับบ้านต้นเพลิง จึงขนของออกมาไม่ได้เท่าไร

ติฉันต้องไปช่วยคุณพ่อและนาย (ดิฉันเรียกคุณแม่ว่า “นาย”) จัดการเรื่องต่าง ๆ ทุกอย่าง และเมื่อพวกลูกโต ๆ ต้องกลับกรุงเทพฯ กันหมด เพราะมีงานต้องทำ ดิฉันก็เลยต้องอยู่เป็นเพื่อนคุณพ่อและนายต่อไป

ระยะนั้นพอดีกับที่เจ้าคุณพหลฯ อพยพครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ใกล้กับสมุทรสงคราม และรู้ว่าดิฉันไปอยู่ที่นั่น โดยท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลมให้ครอบครัวเราอยู่ในโรงเรียนนักธรรมทั้งหลัง ระหว่างที่เรากำลังสร้างบ้านชั่วคราวอยู่ ท่านเลยขอส่งลูก 5 คนมาอยู่เพื่อเรียนด้วย เพราะเด็ก ๆ ว่างไม่มีอะไรจะทำ แต่ก็อยู่เพียงระยะหนึ่ง พอท่านอพยพไปอยู่ที่อื่น ก็มารับกลับไป ดิฉันเห็นว่า ทางคุณพ่อนั้นอะไร ๆ เข้ารูปรอยพอสมควรแล้ว จึงกลับเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับครอบครัวท่านปรีดีตามเดิม

ทำงานที่ธนาคารเอเชีย

ท่านปรีดีไม่อยากให้ดิฉันอยู่ว่าง อยากให้งานทำเต็มมือ จะได้คลายความวิตกกังวลถึงจำกัด ก็พอดีกับเวลาที่คุณทิพยา ณ ป้อมเพชร พี่สะใภ้ของคุณพูนศุข ซึ่งเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีที่ธนาคารเอเชียขอลาไปคลอดบุตร และคิดว่าจะไม่กลับไปทำอีก ดิฉันจึงถูกส่งตัวไปทำแทน

ครอบครัวท่านปรีดี อพยพไปอยู่อยุธยา

ไม่นานหลังจากนั้น ทางรัฐบาล (แนะโดยท่านปรีดี) ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จโดยทางเรือไปประทับหลบภัยที่ จ.อยุธยา และท่านปรีดีซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการฯ มีหน้าที่รับผิดชอบงานถวายความปลอดภัยนี้โดยตรง ได้ให้คุณพูนศุขตามเสด็จไปด้วยพร้อมทั้งลูก ๆ ทั้งหมด

คุณพูนศุขจะพาลูกไปเฝ้าสมเด็จฯ ทุกเย็น และตัวท่านปรีดีเองกับผู้ติดตามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พระราชวังจะเดินทางโดยรถยนต์ไปเฝ้าสมเด็จฯ ทุกเช้าวันเสาร์ และกลับเย็นวันอาทิตย์

ดิฉันขอติดตามท่านไปทุกครั้ง ถ้าเสาร์ไหนที่ท่านติดราชการไปไม่ได้ ดิฉันก็จะไปเองโดยรถไฟ และกลับมาวันจันทร์แต่เช้าเพื่อมาทำงานที่ธนาคาร

การที่ดิฉันยังไปกับคุณพูนศุขไม่ได้ ก็เพราะทางธนาคารยังหาคนแทนไม่ได้ ท่านปรีดีได้คุณเที่ยง จินดาวัฒน์ ญาติทางคุณพูนศุขมาอยู่เป็นเพื่อน ระยะนั้นเศรษฐกิจปั่นปวน ดิฉันมีหน้าที่นำรายงานการเงินของธนาคารมาให้ท่านปรีดีดูทุกวัน

ลาออกจากธนาคารเอเชีย

เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ ตอนกลางวันถี่ขึ้น ท่านปรีดีกลัวว่า ดิฉันจะไม่ปลอดภัย เลยให้ลาออกจากธนาคาร และไปหลบภัยอยู่กับคุณพูนศุขที่อยุธยา

เปลี่ยนไปอยู่บางปะอิน

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ประทับอยู่ที่อยุธยาไม่นานนัก ปรากฏว่ามีเรื่องจะต้องซ่อมแชมที่ประทับเล็กน้อย หรืออะไรทำนองนี้ จึงกราบทูลเชิญเสด็จเปลี่ยนไปประทับในพระราชวังบางปะอิน ซึ่งมีตึกใหญ่น้อยหลายหลัง จึงมีเจ้านายตามเสด็จไปประทับอยู่เต็มไปหมดทุกตำหนัก และมีลูกเด็กเล็กแดงของพวกข้าหลวงไม่ใช่น้อย  ท่านปรีดีและคุณพูนศุขก็ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมมิได้ตกหล่น

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากส่วนต้นของบทความ “แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้มีพระคุณล้นเหลือ” ใน หวนอาลัย (2551), น. 147-156.


[1] คงการเขียนไว้ตามต้นฉบับของผู้เขียน.

 

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ) ประกอบไปด้วย

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ)

1. เสื้อยืด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” มูลค่า 350 บาท

2. หนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 300 บาท

3. หนังสือ “หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 500 บาท

สั่งซื้อได้ทาง https://shop.pridi.or.th/th