ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บทเรียนจากคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย

16
กุมภาพันธ์
2564

เหตุแห่งความผิดพลาดของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน มี 2 ประเภทคือ

ประเภท 1 เหตุแห่งความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง

ประเภท 2 เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ

1. เหตุแห่งความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการฯ

ทุกคณะพรรคการเมืองที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้นก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในคณะพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นจึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลายได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วนหรือสลายไปทั้งคณะพรรค

ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้นก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างบนนั้น

ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น แสดงตัวอย่างที่มีคณะบุคคลซึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธ ต่อสู้ผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยาซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว (Egoism) ขนาดหนักนั้นใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนเดียวเป็นศูนย์กลางแห่งกิจการทั้งหลาย (Egocentrism)

ประวัติศาสตร์แสดงตัวอย่างด้วยว่าคณะพรรคหรือขบวนการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าสมบัติ (Bourgeois Democracy) โดยการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) นั้น ภายหลังที่ขบวนการนั้นได้ชัยชนะต่อระบบเก่าแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างส่วนที่ก้าวหน้ากับส่วนที่ถอยหลังเข้าคลอง

ในประเทศจีน ขบวนการ “ไท้ผิง” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) แล้วสามารถต่อสู้ได้ชัยชนะต่อราชวงศ์แมนจูในดินแดนส่วนใต้ของจีน จึงได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่เมืองนานกิง แล้วในไม่ช้า “หงซิ่วฉวน” หัวหน้าขบวนไท้ผิงได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ของจีนและตั้งหัวหน้ารองๆ เป็นเจ้าตามลำดับ ครั้นแล้วในขบวนการไท้ผิงก็เกิดขัดแย้งกันเอง ในที่สุดราชวงศ์แมนจูกลับมีชัยชนะต่อขบวน การไท้ผิง ต่อมาขบวนอภิวัฒน์ภายใต้การนำของ “ซุนยัดเซ็น” ได้ชัยชนะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนสำเร็จใน ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ภายในขบวนอภิวัฒน์นั้นก็เกิดขัดแย้งกันและแตกแยกออกเป็นหลายส่วน

ต่อมาขบวนการปลดแอกของประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะ ฝ่ายก๊กมินตั๋งบนผืนแผ่นดินใหญ่จีนและได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ภายในขบวนการประชาชนจีนและภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คิดความขัดแย้ง เป็นเหตุให้มีการกวาดล้างในพรรคที่เดินตามแนวทางทุนนิยม และกวาดลงพวกที่เดินนอกแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในสหภาพโซเวียต และประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกก็มีปรากฏการณ์ที่แสดงความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงถึงขนาดมีการกวาดล้างบุคคลที่ดำเนินตามแนวทางขวาจัดกับซ้ายจัด

ส่วนคณะหรือขบวนการซึ่งทำการ “โต้อภิวัฒน์” (Counter- Revolution) ที่ได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์แล้ว ภายในคณะหรือขบวนการนั้นๆ เกิดขัดแย้งกันขึ้น เช่น ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยฝรั่งเศสทำการโต้อภิวัฒน์ได้ชัยชนะแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดขัดแย้งระหว่างกันเองในการแย่งชิงการสืบราชสันตติวงศ์

ขบวนการฟาสซิสม์อิตาเลียนและขบวนการนาซีเยอรมันซึ่งได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของตนแล้ว ขบวนการดังกล่าวก็เกิดขัดแย้งภายในซึ่งได้มีการกวาดล้างบุคคลที่มีทรรศนะต่างกับผู้นำของประเทศนั้นๆ

ทุกๆ คณะพรรค ทุกๆ ขบวนการก็มีคำขวัญเรียกร้องให้สมาชิกของตนมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าภายในขบวนการใด สมาชิกจะมีความสามัคคีกลมเกลียวกันได้ตลอด ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปตามกฏธรรมชาติแห่งความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในกลุ่มและสังคมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องยึดยาวลึกซึ้งควรแก่การศึกษา

การที่มีความขัดแย้งภายในคณะพรรคหรือขบวนการซึ่งมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนระบบสังคมเก่ามาเป็นระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้านั้น ก็เพราะเหตุสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

(1) คณะพรรคหรือขบวนการดังกล่าว ย่อมจุติขึ้นในสังคมเก่านั้นเอง เพราะเมื่อยังไม่มีระบบสังคมใหม่ก็จะมีการจุติคณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์นั้นในสังคมใหม่ที่ยังมิได้เกิดขึ้นอย่างไร เมธีท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบเป็นใจความว่า “การจุติของการอภิวัฒน์นั้นเปรียบเหมือนมนุษย์” ก่อนจะเป็นตัวตนก็ต้องเริ่มจุติขึ้นจาก “มดลูก (Womb) ของมารดา” หมายความว่าสังคมเก่านั้นเองเป็นที่จุติของการอภิวัฒน์เพื่อสังคมใหม่

(2) ดังนั้นคณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์เพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่นั้นจึงประกอบด้วยบุคคลที่กำเนิดในสังคมเก่านั้นเอง แต่เป็นบุคคลส่วนที่ก้าวหน้า ซึ่งสละจุดยืนในระบบเก่ามาพลีชีพเพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้า

แต่โดยที่บุคคลส่วนที่ก้าวหน้านั้นเกิดมา และเคยมีความเป็นอยู่ในสังคมเก่า จึงย่อมมี ซากทรรศนะ และ ความเคยชินของสังคมเก่าติดตัวอยู่ ซึ่งสละซากเก่าๆ ได้ต่างๆ กัน คือ

ประเภทที่ 1 สละซากทรรศนะและความเคยชินของสังคมเก่าได้มากตลอดไป เพื่อรับใช้สังคมใหม่ที่สถาปนาขึ้นนั้นให้พัฒนาก้าวหน้าเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น

ประเภทที่ 2 สละเพียงเท่าที่ได้สถาปนาระบบสังคมใหม่ขึ้นแล้วพอใจเพียงแค่นั้น

ประเภทที่ 3 สละสิ่งดังกล่าวจนถึงสถาปนาระบบสังคมใหม่ ครั้นแล้วก็ฟื้นซากทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินามาจนกลายป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะพรรคหรือขบวนการได้กระทำ บุคคลดังกล่าวนี้จึงขัดแย้งกับส่วนที่เป็น “อภิวัฒน์” ภายในคณะพรรคหรือขบวนการนั้น

2. เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ

ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์ดังกล่าวในข้อ 1 นั้น จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นซากทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินาซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution) ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่านคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, และพระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แค่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติตต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง

ประการที่ 4 การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

สรุป

ผมขอเสนอเรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” พอสังเขปเพียงเท่าที่ได้กล่าวมานั้น โดยขอยืนยันว่าคณะราษฎรส่วนรวมมีอุดมการณ์และปณิธานอย่างบริสุทธิ์เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่การปฏิบัติเพื่ออุดมการณ์และปณิธานนั้นมีความผิดพลาดบกพร่องที่ทำให้การสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้นต้องล่าช้ามาจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

แม้ในระหว่างทางดำเนินนั้น คณะราษฎรส่วนรวมต้องประสบแก่การโต้อภิวัฒน์ภายในคณะและจากภายนอกคณะ แต่คณะราษฎรส่วนรวมก็ได้พัฒนาชาติไทยให้สำเร็จตามหลัก 6 ประการดังที่ผมเสนอไว้แล้วนั้น

ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตว่า ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ได้ล้มระบอบปกครองตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมาจนถึง 24 มิถุนายน 2525 ก็เป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลานตลอดมา

เกจิอาจารย์บางพวกที่แสดงว่าก้าวหน้าก็ไม่เกื้อกูลชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจเหตุแท้จริงที่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาประชาธิปไตย หากท่านเหล่านั้นมุ่งหน้าที่จะขุดเอาคณะราษฎรที่ล้มสลายไปแล้วนั้นขึ้นมาต่อสู้ด้วยการเสาะหาเรื่องที่เป็นคำบอก (Hearsay) เป็นหลักวิชาการใส่ความคณะราษฎร ดังที่ผมได้กล่าวถึงบางประการแล้วนั้น และชัดเจนว่าคณะราษฎรไม่ทำให้ราษฎรเข้าใจรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ราษฏรจึงเข้าใจว่า “รัฐธรรมนูญ คือ ลูกพระยาพหลฯ” ท่านที่มีสติปัญญาก็ย่อมสังเกตเห็นตรารัฐธรรมนูญซึ่งมีพานประดิษฐานคัมภีร์รัฐธรรมนูญซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้นั้นได้ทำขึ้นตั้งแต่คณะราษฎรยังมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ราษฎรไทยจึงไม่อาจเข้าใจผิดว่า “รัฐธรรมนูญ คือ ลูกพระยาพหลฯ”

ส่วนใจความสำคัญตามรัฐธรรมนูญนั้น เกจิอาจารย์บางจำพวกก็ไม่ควรดูหมิ่นคณะสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาจากรัฐบาลคณะราษฎร พอสั่งให้วัดทุกวัดชี้แจงแก่ราษฎร และไม่ควรดูหมิ่นหัวหน้าอิสลาม, หัวหน้าคริสต์ศาสนิก, เจ้าหน้าที่จังหวัด, อำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ที่มีสติปัญญาพอชี้แจงให้ราษฎรทราบใจความรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ผมจึงขอให้ประชาชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาเป้าหมายและวิธีการให้ถูกต้อง จึงจะต้องให้บังเกิดระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประเทศไทยขึ้นมาได้ โดยใช้เวลาไม่เนิ่นนานกว่าที่คณะราษฎรส่วนรวมได้รับใช้ชาติและราษฎรมาแล้ว

ก่อนจบสุนทรพจน์นี้ ผมขอขอบคุณท่านประธานฯ และท่านกรรมการทุกท่านแห่งงาน “กึ่งศตวรรประชาธิปไตย” อีกครั้งหนึ่งในความปรารถนาดีอันเป็นวัตถุ ประสงค์ 5 ประการของท่าน และผมขออวยพรให้ท่านทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยที่มีใจเป็นธรรม ประสบสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และประสบความสำเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎรให้บรรลุถึงงประชาธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ.

ชานกรุงปารีส
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525

 

ที่มา : วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ (บรรณาธิการ), “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ใน “แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์”, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), หน้า 43-46.

หมายเหตุ : ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย, จัดรูปแบบประโยค โดยบรรณาธิการ