ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อ่านความคิดปรีดี: ทรรศนะต่อการมีหลักประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

15
เมษายน
2564

หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความคิดริเริ่มที่จะบรรเทาความไม่แน่นอนของชีวิตนั้น ได้ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นสำคัญที่สะท้อนแนวคิดทางเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ คือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในส่วนของหลักประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

ที่มาแห่งการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

การจะทำความเข้าใจถึงแนวคิดการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้นจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาบริบทของสยามในเวลานั้น อาชีพของชาวสยามส่วนใหญ่ในเวลานั้นคือ การทำเกษรตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นชาวนา และอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวสยามนิยมเป็นคือการรับราชการ ซึ่งอาชีพทั้งสองนั้นได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสยามในเวลานั้น

สยามในช่วงปี พ.ศ. 2472 – 2475 นั้น ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งการที่สยามได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 ทำให้เศรษฐกิจของสยามเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบพึ่งพามาเป็นเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก

ระบบเศรษฐกิจของสยามในขณะนั้น จึงผูกติดอยู่กับระบบเศรษฐกิจของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสยามในเวลานั้น

เมื่อเศรษฐกิจของยุโรปตกต่ำลง เพราะผลของสงคราม ก็ส่งผลให้ข้าว ไม้สัก ดีบุก และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของสยามราคาตกต่ำลง และขายในตลาดต่างประเทศไม่ได้ราคา จึงทำให้สยามมีรายได้ลดลง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุให้รัฐบาลสยามในปี พ.ศ. 2473 ตัดสินใจตัดทอนรายจ่ายเพื่อให้งบประมาณไม่ขาดดุลด้วยการลดค่าตอบแทนข้าราชการและลดงบประมาณทางทหารลง

สำหรับอาชีพเกษตรกรรมนั้น ชาวนาสยามอาจจะถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ทำงานหนักที่สุด แต่ได้รับผลตอบแทนน้อยที่สุด จากการสำรวจของคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carl C. Zimmerman) ได้พบว่า แม้ชาวสยามส่วนใหญ่จะมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนา แต่โดยส่วนก็ไม่มีที่นาเป็นของตนเองและอาศัยวิธีการเช่านาจากเจ้าของที่ดิน โดยคิดสัดส่วนการเช่าที่ดินได้ราวๆ เกือบร้อยละ 50 ของพื้นที่ทำเกษตรกรรมของประเทศในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในพื้นที่จังหวัดธัญบุรี (ซึ่งปัจจุบันได้ยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี)

ชาวนาส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ดินเกือบร้อยละ 85[1] ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่นั้นเจ้าของที่ดินนั้นเป็นบริษัทที่เข้ามาพัฒนาขุดคลองและพัฒนาที่ดินเพื่อทำการเกษตรในขณะนั้น ประกอบกับการทำการเกษตรในเวลานั้นเน้นพึ่งพาธรรมชาติเสียมากกว่าการพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อทำการเกษตร การเพาะปลูกจึงเป็นไปแบบเดิม กล่าวคือ ชาวนาต้องใช้เงินลงทุนมากๆ และได้ดอกผลเพียงเล็กน้อย[2] เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานที่ได้ลงไป และในส่วนของเงินทุนที่ได้ลงไปนั้นมักจะมาจากการกู้ยืมเงิน ซึ่งภายหลังจากการทำนาเสร็จแต่ละครั้งชาวนาต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเช่านา ภาษีโคกระบือ อากรค่านา และเงินรัชชูปการ เป็นต้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดทอนรายได้ของชาวนาไทย

สถาวการณ์ดังกล่าวนั้น ในทรรศนะของปรีดีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ ปรีดีได้อธิบายเรื่องความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจนี้เอาไว้ในงานเขียนหลายชิ้น เช่น เค้าโครงการเศรษฐกิจ และ ความเป็นอนิจจังของสังคม เป็นต้น

ซึ่งความไม่เที่ยงแท้ทางเศรษฐกิจนั้น แท้จริงแล้วก็คือ สภาพความไม่แน่นอนตามธรรมชาติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจ และในแง่ของสังขาร ซี่งทั้งสองส่วนสัมพันธ์กันอยู่ เพราะการทำมาหาได้ของคนๆ หนึ่งนั้น ก็ขึ้นอยู่กำลังทางกายของบุคคลนั้น เมื่อสังขารของบุคคลร่วงโรยลงเพราะด้วยอายุหรือด้วยความพิการ ในส่วนของความสามารถในการทำงานของเขาก็จะลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน

ทรัพย์สินเองก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเจ็บป่วยทรัพย์สินที่หามาได้ก็ต้องใช้จ่ายไปและเมื่อเจ็บป่วยทรัพย์สินที่จะหามาได้ก็ลดลง  ฉะนั้น ทรัพย์สินจึงไม่อาจประกันความเที่ยงแท้แน่นอนได้ ความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนยากจนเท่านั้น คนชนชั้นกลาง ตลอดจนถึงผู้มั่งมีก็สามารถประสบกับความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น[3]

หลักการการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

การแก้ไขปัญหาความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจในทรรศนะของปรีดีคือ จะต้องจัดให้มีการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Sociale) โดยให้รัฐเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ โดยการให้หลักประกันกับราษฎรนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีพ และ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชราทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่อยู่อาศัย อันเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต[4]

หลักการการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น ปรีดีได้นำเสนอเอาไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยการจะดำเนินการให้มีประกันเช่นว่าได้นั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะด้วยลักษณะของประกันเช่นนี้ ไม่มีเอกชนคนใดจะทำได้ หรือถ้าเอกชนคนใดจะทำได้ ก็จะต้องดำเนินการโดยมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันที่แพงมากเกินกว่าราษฎรทุกคนจะได้รับประกันในลักษณะดังกล่าวได้

ดังนั้น ในทรรศนะของปรีดีเมื่อให้รัฐบาลเป็นผู้จัดให้มีประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น รัฐบาลอาจจัดหาสิ่งอื่นแทนเบี้ยประกันภัยได้[5] เช่น การจ่ายเบี้ยประกันด้วยแรงงานผ่านการรับราชการ หรือจ่ายภาษีอากรโดยอ้อมเป็นจำนวนคนหนึ่งวันละเล็กน้อยในระดับที่ราษฎรไม่รู้สึกถึงภาระค่าเบี้ยประกันที่จ่าย เป็นต้น

ในส่วนของการดำเนินการเพื่อให้มีประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้นจะดำเนินการด้วยกฎหมายว่าด้วยประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิของประชาชนทุกคนมีสถานะเสมือนเป็น “ข้าราชการ” เพื่อที่จะให้มีสิทธิได้รับเงินเดือนเป็นจำนวนแน่นอนตามช่วงอายุและความสามารถของราษฎรแต่ละคน ซึ่งสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้แยกต่างหากจากเงินเดือนที่จะได้รับในตำแหน่งราชการ

ตารางแสดงอัตราช่วงอายุที่จะได้รับเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินเท่าใดจะถูกกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาอีกทีหนึ่ง

ลำดับ ช่วงอายุ จำนวนเงิน/เดือน
1. บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เดือนละ…………………………บาท
2. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 5 ปี เดือนละ………………………...บาท
3. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 – 10 ปี เดือนละ…………………………บาท
4. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 11 – 15 ปี เดือนละ………………………...บาท
5. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 – 18 ปี เดือนละ…………………………บาท
6. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 19 – 55 ปี เดือนละ…………………………บาท
7. บุคคลที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เดือนละ…………………………บาท

ที่มา: เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร.

 

แนวคิดของการจ่ายเงินให้กับราษฎรทุกคนนั้น จะช่วยแก้ไขสถานะทางเศรษฐกิจของราษฎรจากสถานะทางเศรษฐกิจที่เคยอยู่บนปัญหาความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ โดยให้ราษฎรได้รับเงินเพียงพอแก่การดำรงชีพ แม้ว่าแนวคิดเรื่องการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น จะไม่ได้มีลักษณะเช่นเดียวกับสวัสดิการสังคมของรัฐสมัยใหม่เสียทีเดียว แต่เจตนารมณ์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความมั่นคงนั้นเป็นปณิธานที่หาญมุ่งและควรได้รับการสืบสานต่อไป


[1] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), น. 19.

[2] เพิ่งอ้าง, น. 20.

[3] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2552), น. 26.

[4] เพิ่งอ้าง, น. 27.

[5] เพิ่งอ้าง, น. 27.