ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ยกระดับประกันสังคมและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง

7
พฤษภาคม
2564

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว เราต้องการที่จะยกระดับประกันสังคมให้เป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงรูปธรรม และ ดูว่าตัวข้อเสนอนี้จะสามารถครอบคลุมต่อคนกลุ่มไหนได้บ้าง แนวคิดของประกันก็เป็นหนึ่งในฐานแนวคิดหนึ่งของระบบสวัสดิการในระบบทุนนิยม

อย่างที่เราทราบกันว่าระบบทุนนิยมสามารถคงอยู่ได้ถ้าเราไม่มีสวัสดิการ แต่ว่า ถ้าคนสู้มากก็ได้มาก คนสู้น้อยก็ได้น้อย ถ้าเกิดชนชั้นนำมีอำนาจมากเราก็ได้แค่เศษเนื้อ ถ้าเราจะสามารถแบ่งตัวองค์สวัสดิการ ก็จะมีสวัสดิการแบบที่เน้นการใช้กลไกการตลาด ทำงาน หาเงิน ซื้อประกัน ตัวสวัสดิการแบบรัฐสวัสดิการที่เราพูดคุยกันมาโดยตลอด ก็คือได้ “สวัสดิการในฐานะสิทธิ” ส่วนตัวประกันสังคมนี้ ก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ก็คือเป็นสวัสดิการสำหรับคนทำงาน โดยหัวใจคืองานเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยจัดกระบวนการการต่อสู้ที่ผ่านมาจนถึงปี 2564

ฐานความคิดสำคัญที่เราใช้ คือ เน้นจัดสวัสดิการให้กับแรงงานที่มีรายได้ประจำ และมีนายจ้างเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเราวัดกันไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามาก เพราะว่าถ้าเราย้อนไปที่กระบวนการต่อสู้ก่อนหน้านั้น เราจะคิดฝันให้คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชนมีสิทธิสวัสดิการรักษา แม้กระทั่งมีสิทธิรับเงินบำนาญ ก็คงดูเป็นเรื่องที่ยากและเป็นไปไม่ได้

ประเด็นสำคัญ ณ เวลานี้ คือ เงื่อนไขประกันสังคม ชัยชนะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหมือนกลายเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ เหมือนเราจะต้องยกเครื่องแล้วคุยกันใหม่เรื่องสิทธิ และ สวัสดิการ

สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำว่าตั้งแต่ ปี 2540 การเติบโตของภาคบริการ แรงงานอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อยมีความเด่นชัดมากขึ้น พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากปี 2553 เป็นต้นมา กลุ่มแรงงานอิสระเพิ่มมากขึ้น แล้วก็มีการแทนระบบเศรษฐกิจแบบ Platform ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงแทนผู้ประกอบการ สิ่งที่น่าสนใจ มีงานวิจัยจำนวนมากได้ยืนยันให้เห็นว่า ชั่วโมงการทำงานของกลุ่มรายได้น้อยสูงมากขึ้น

ดังนั้นประเทศไทยจึงกลายเป็นสภาวะว่า คนที่ทำงานหนักที่สุดคือคนที่จนที่สุดและคนที่มีเงิน หรือ มีทุนมากก็สามารถที่จะ Outsource ความเสี่ยงต่างๆ ให้คนที่จนกว่าทำ และแบบนี้ก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย แม้ว่าเราจะมี AI มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา กลุ่มคนที่ทำงานหนักที่สุด ก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และจะมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานขึ้นมา เป็นแรงงานนอกระบบการจ้าง เป็นแรงงานอิสระรับงานกลับไปทำที่บ้าน

แรงงาน Platform แรงงาน Freelance กับสิทธิที่พึงจะได้

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง อย่างเช่น ที่เราเห็นว่ามีการนัดกันหยุดงานของแรงงาน Platform เขาเกิดอุบัติเหตุนิ้วขาด สิ่งที่บริษัทถามคือ “สินค้าเสียหายไหม” เขาแบกรับความเสี่ยงในชีวิตเขาเอง พร้อมกันกับการแบกรับความเสี่ยงในการใช้จ่าย ค่าน้ำมัน เสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ พร้อมกันนั้น

นอกจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำ ไม่สามารถหยุดงานประท้วงได้ ไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้ เพราะว่าต้องแบกรับความรู้สึกของผู้ประกอบการ ต้องแย่งหา แย่งงานกันทำ ต้องเตะตัดขากัน เป็นความคิดที่ระบบทุนนิยมทำให้ผู้คนคล้อยตาม ไม่สามารถที่จะรวมกันแชร์ทรัพยากรกันได้ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่า คนกลุ่มนี้ แรงงานเหล่านี้ แรงงาน Freelance ไม่ต้องการรวมเป็นสหภาพ

ผมคิดว่าคำกล่าวนี้ เป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างผิดเพี้ยนไปเกินจริง ถ้าเราทำให้การรวมตัวมันเกิดขึ้นได้โดยง่าย ไม่ทำให้การรวมตัวเป็นอุปสรรคทางกฎหมายที่ยุ่งยาก ทำไมคนงานไม่อยากที่จะรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทุน อำนาจรัฐ

การเกิดขึ้นของ Platform Economy ต่างๆ เริ่มจากขยายไปสู่ธุรกิจต่างๆ มากขึ้น จนเราน่าจะเชื่อได้ว่าจะมีการสูญเสียงานประจำมากขึ้น แต่คนที่จะคุ้มครองชีวิตของแรงงานได้หายไป ความรับผิดชอบต่อทุนต่อแรงงานหายไป กลายเป็นว่าแรงงานรับผิดชอบตัวเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ได้มีการรีวิวมาแล้วว่า “ระบบประกันสังคมควรจะเป็นอย่างไร”

ถ้าเราลองพิจารณาตามหลักง่ายๆ ประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบประกันสังคมจะเน้นไปที่ประกันการว่างงาน ทดแทนรายได้ และเป็นบำนาญส่วนเพิ่ม เพราะการประกันด้านอื่น ประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หรือ กลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ใช้แนวทางนี้ ก็จะมีสวัสดิการยืนพื้นอยู่แล้ว

ประกันสังคมก็จะเป็นปิ่นโตชั้นที่ 1 แต่เมื่อเทียบแล้ว ปิ่นโตชั้นแรกของเขาสูงมากๆ จนทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ประกันสังคมเป็นสิ่งที่ส่วนเพิ่ม ที่ทำให้คุณไปเที่ยวต่างประเทศได้เมื่อยามเกษียณ ให้คุณวางแผนการว่างงานได้มากขึ้น เยอรมันนีและก็ญี่ปุ่นก็เป็นต้นแบบที่ใช้ประกันสังคม เป็นตัวแบกหลักในการดูแลสวัสดิการ นั่นคือเน้นไปที่สวัสดิการที่ผ่านคนทำงานประจำ ซึ่งมันจะไปสอดรับกับ Social Policy ตัวนโยบายสาธารณะอื่นๆ ที่พยายามเน้นให้คนมีงานประจำ

เนื่องจากถ้าคนมีงานประจำ ก็จะตามมาสู่เรื่องระบบ Contribution การหักเงินเพื่อเข้าประกันสังคม และก็การดูแลต่างๆ ที่จะเป็นตัวโยงเข้ากับตัวประกันสังคม ส่วนสหรัฐอเมริกานี้ ระบบประกันสังคมไม่เข้มแข็งมากนัก สวัสดิการก็จะผูกติดกับบริษัทการลงทุนของปัจเจกชน บริษัทประกันในรูปแบบต่างๆ ก็จะมีความคล้ายไทยในหลายอย่าง

สิ่งที่นำไปสู่ข้อเสนอของกลุ่ม wefair ก็คือ เราจะปรับตัวประกันสังคมนี้อย่างไร ประกันสังคมแบบใดที่จะทำให้ประเทศไทยนำสู่การปฏิรูปที่ทำให้มันเป็นตัวเสริมรัฐสวัสดิการในการผลักดันของเรา

ด้านที่ 1 ก็คือ ความสอดคล้องกับลักษณะการผลิต ง่ายๆ คือว่าผู้ใช้แรงงานมากกว่า 60% ของเราเป็นแรงงานอิสระ เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบการจ้าง ประกันสังคมจำเป็นต้องขยายเพื่อครอบคลุมคนกลุ่มนี้

ด้านที่ 2 ต้องเป็นประกันสังคมที่เพิ่มความสามารถในการต่อรองทั้งในสถานประกอบการ และนอกสถานประกอบการ ต้องทำให้คนมีหลังพิงมากพอที่จะรู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิตของเขา ไม่ทำให้ประกันสังคมเป็นเพียงแค่สิทธิกันตายอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญก็คือ เราไม่สามารถมองแยกส่วน เรื่องประกันสังคมได้เหมือนกับเรื่องอื่นๆ บางคนบอกว่า อาจารย์อย่าพูด มันใหญ่ไป อาจารย์พูดเรื่องเด็กถ้วนหน้าดีกว่า พูดแต่เรื่องบำนาญอย่างเดียว แต่เราก็ทราบกันว่า นโยบายเหล่านี้จะสำเร็จ บำนาญถ้วนหน้าจะมีประสิทธิภาพ ก็เมื่อคนหนุ่มสาวมีชีวิตที่ปลอดภัย เด็กจะสามารถเติบโตได้ดี เงินเด็กถ้วนหน้าที่แจกไปให้ จะสามารถทำงานได้ดี ก็คือเมื่อพ่อแม่ของเขาได้รับการคุ้มครองชีวิตในสถานประกอบการที่ดี

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเดียวกัน การมีประกันสังคมที่ดีก็ต้องวางอยู่บนฐานการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้นแนวคิดที่เรานำสู่ข้อเสนอตัวนี้ก็คือ เรื่อง การยกระดับ ทั้งมิติทางแนวคิด มิติด้านสิทธิประโยชน์  คือ

เราต้องเอาแนวคิดด้านประกันสังคม คือเรื่องของแรงงานแบบ Credition หรือแรงงานโรงงาน แรงงานมีนายจ้างต้องเอากลไกนี้ออกไป ประการที่ 1 ก็คือ ทำไมต้องเอาออกไป? เพราะว่าถ้าเรายังนิยามความหมายแรงงานตามความหมายแคบแบบนี้ มันจะไม่สามารถทำให้คนกว่า 20 ล้านคน รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อตัวประกันสังคมนี้ได้

เงื่อนไขที่ 2 การยกระดับแนวคิด นั่นก็คือสำหรับแรงงานอิสระ ต้องเอาเงื่อนไขของคำว่า ภาคสมัครใจ ออก ต้องทำให้กลายเป็นภาคบังคับ แต่ว่าบังคับใคร เวลาเราพูดถึงบังคับ เราจะนึกถึงว่าไปบังคับประชาชน แต่ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่บังคับให้รัฐบาลส่งให้ประชาชนที่เป็นแรงงานอิสระ

นี่คือการยกระดับแนวคิด หัวใจตัวนี้เราจึงกลับมามองที่มาตรา 40 ก็คือบอกว่าเป็นกลไกของภาคสมัครใจ แต่สิ่งที่เราเห็นก็คืองานมาตรา 40 ที่เข้ามาอยู่ในระบบนี้มีปริมาณที่น้อยมาก หมายความว่าคนที่เป็นแรงงานอิสระแล้ว ตัดสินใจที่จะไม่เข้าสู่มาตรา 40 เพราะว่าเงื่อนไขการคุ้มครองน้อย ไม่จูงใจ คือประมาณว่าเขาไป ถ้าอ่านตอนนั้น ข่าวออนไลน์พาดหัว ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฮ รัฐบาลขึ้นค่าทำศพให้ โอเค รัฐบาลขึ้นค่าทำศพให้ มันก็น่าเฮ อะนะ แต่เขาไม่ได้อยากได้ตอนตาย แต่เขาอยากได้ตอนมีชีวิตอยู่ แบบว่าได้ใช้ แต่ว่ามันก็เป็นฐานวิธีการคิด ว่าให้ตอนตายจะได้เอาไปทำศพ ทำอะไรแบบนี้

แต่ว่าตรงนี้สำคัญมากก็คือ เราจะทำอย่างไร?  ในเบื้องต้นเราจะต้องทำให้มาตรา 40 เป็นเงื่อนไขบังคับ คือ รัฐบาลสมทบให้ทุกคน ซึ่งผมคิดว่าสามารถไปผูกกับเงื่อนไข Negative Income Tax สมมติว่าถ้าคุณยื่นภาษีแล้วปรากฏว่าคุณมีรายได้น้อยกว่า 3 แสนบาท หรือว่าเป็นคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี จะสมทบตัวนี้ให้ หรือในขณะเดียวกัน เกิดควบคู่กันไป คือ ทำให้ประกันสังคมนี้เป็นถ้วนหน้า ทำให้ทุกคนมี หมายความว่าคุณอายุเกิน 18 ปี ถึงอายุ 25 ปี รัฐบาลสมทบให้คุณตลอด คุณจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยอัตโนมัติ

พอคุณอายุเกิน 25 ปี ในเวลาที่เรากรอกภาษี เราสามารถติ๊กได้ว่าเราจะบริจาคเงินแก่พรรคการเมือง 500 บาท โดยที่คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม ตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่คุณไม่ต้องติ๊ก รัฐบาลทดไว้ในใจได้ สมมุติว่าคุณเสียภาษี 5,000 บาท เป็นที่รับรู้กันว่าพอคุณเสียภาษี 5,000 บาท 1,200 บาท มันเป็นมาตรา 40 ประกันตนให้คุณอัตโนมัติ แต่ถ้าคุณยื่นแล้ว ภาษีไม่ถึงรายได้ไม่ถึงอะไรต่างๆ ไม่ใช่ความผิดคุณ คุณมีรายได้น้อยเป็นความผิดคุณเหรอสำหรับประเทศนี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องย้ำว่าเป็นความผิดรัฐบาลที่ทำให้คุณมีรายได้น้อย เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ เพื่อที่จ่ายสมทบให้คุณ

ถ้าตามกลไกนี้ คนทั่วไป ผู้ประกันตนจะต้องไม่มาวุ่นวายกับการสมทบอีกต่อไป และเป็นสิทธิถ้วนหน้าในความหมายนี้หมายความว่าอย่างไร

ปัจจุบันถ้าเป็นผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 คุณประกันตน ม. 40 ไม่ได้ ถ้าคุณเคยประกัน ม. 40 พอคุณไปทำงาน คุณก็จะได้สิทธิ ม. 33 ไป แต่การยกระดับแนวคิดที่ว่านี้ก็คือ ให้มาตรา 40 ยืนพื้นตลอดทั้งชีวิตของคุณ ไม่ว่าคุณจะไปทำงาน ถูกเลิกจ้าง เปลี่ยนงาน แม้กระทั่งเป็นข้าราชการ ให้มาตรา 40 ตัวนี้เป็นหลังพิง ยืนพื้น พื้นฐานของทุกคน นี่คือกลไลที่เรายกระดับตัวเงื่อนไขส่วนนี้ขึ้นมา

ต่อมา จะต้องสมทบอย่างไร และ ถ้าคุณเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อยู่แล้วใครจะสมทบให้ ตรงนี้ที่ง่ายสุดก็คือให้นายจ้างเป็นผู้สมทบ ในเดือนละ 100 บาท โดยอัตโนมัติ แล้วก็พอหลังอายุ 60 ให้สิ้นสุดการสมทบโดยอัตโนมัติ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องทันที รามถึงประเด็นด้านชราภาพต่างๆ ซึ่งแนวคิดนี้มีโมเดลมาจากกลุ่มประเทศนอร์ดิก ก็คือมีส่วนที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่ว่าตัวนี้คือสิ่งที่ย้ำ ถ้าทุกท่านลองคิดภาพตามคือ ทุกคนมีมาตรา 40 ยืนพื้น ตั้งแต่คุณอายุ 18 จนเอายุ 60 พอคุณอายุ 60 คุณก็ไม่ต้องไปยุ่งกับการสมทบ ซึ่งคุณก็ไม่ได้ยุ่งกับมันมาทั้งชีวิต และให้คุณได้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องไปจนกระทั่งเสียชีวิต

สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ควรจะเป็นเท่าไหร่ ?

“สิ่งหนึ่งที่อยากชวนทุกท่านคิดเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุด”

มาตรา 40 มีหลาย Criteria (เกณฑ์) มาก อย่างเช่น ส่งเงินสมทบ 300 บาท/เดือน ถ้าเราทำเป็นแบบระบบถ้วนหน้า 100 บาท/เดือน คุณจ่ายตอนคุณยื่นภาษี และรัฐบาลก็หักมาจากภาษีที่คุณเสีย ถ้าคุณรายได้ไม่ถึง รัฐบาลก็สมทบให้คุณ จบ แค่นั้น

ปัจจุบันนี้ ชดเชยรายได้เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล มาตรา 40 ยังมีอยู่ ถ้าใครเป็นผู้ประกันตนมาตรานี้ ถ้าคุณเป็นผู้ประกันตนแล้วคุณแอ็ดมิท ได้ชดเชยวันละ 300 บาท เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งสำหรับ wefair เราก็คูณ 2 ด้วยตรรกะง่ายๆ คือ การเจ็บป่วยมันก็จำเป็นต้องมีการดูแลที่มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คุณได้รับ และก็ปรับไปที่ 600 บาท/วัน เป็นเวลา 180 วัน เท่ากันกับประกันสังคมมาตรา 33 นี่คือการชดเชยรายได้ ถ้าคุณเข้าโรงพยาบาล

ปัจจุบันนี้ชดเชยรายได้ตามคำสั่งแพทย์คือ ไปหาหมอแล้ว หมอบอกให้หยุดอยู่บ้าน ไม่ได้แอ็ดมิท ปัจจุบันได้ 200 บาท 90 วัน อันนี้เราก็หยุดอยู่บ้าน 400 บาท 90 วัน ปัจจุบันมีเดินทางพบแพทย์ แต่ว่าให้ 50 บาท 3 วัน แต่วิธีการค่อนข้างยุ่งยากมาก

สมมติว่าคุณไปหาหมอ แล้วคุณต้องไปกรอกเอกสารมากมาย ก็เดินทางไปประกันสังคมเพื่อที่จะขอรับเงิน 50 บาท ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ ซึ่งจำนวนเงินนั้น คือค่าเดินทาง แต่ข้อเสนอใหม่คือ 100 บาท/7 วัน ซึ่งต้องออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้วิธีการไม่ซับซ้อนและง่ายขึ้น

ภาพที่จะสามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือ หนังสารคดีหนึ่งถ่ายทำโดยนักข่าวอเมริกา เขาไปทำสารคดีเกี่ยวกับสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ ซึ่งรัฐสวัสดิการที่นั่นรักษาฟรี นักข่าวก็ไม่เชื่อ เมื่อเดินทางไปถึง นักข่าวเกิดคำถามเมื่อเห็นแคชเชียร์ว่า ถ้ารักษาฟรีจริงมีแคชเชียร์ไว้ทำไม ปรากฏว่าแคชเชียร์ที่อังกฤษมีไว้จ่ายเงินให้คนไข้ แคชเชียร์โรงพยาบาล แคชเชียร์ศูนย์อนามัยที่ประเทศอังกฤษ หรือ ประเทศรัฐสวัสดิการทั่วไป มีเอาไว้เพื่อจ่ายเงินให้กับคนที่มาหาหมอ ถ้าเราทำให้ระบบมันง่ายแบบนี้และถ้วนหน้า คุณไปหาหมอ คุณได้รับค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาต่างๆ ให้คนไม่ต้องติดลบ

ในส่วนของ “ชราภาพ” ฐานความคิดสำคัญของมาตรา 40 คือ การออม คือเงินของเราถูกหักไป พร้อมกับเงินของรัฐบาลที่ช่วย ซึ่งพอคิดออกมาเล็กน้อยทำให้ฐานเงินบำนาญที่มาตรา 40 จะได้สูงสุดก็คือ 150 บาทต่อเดือน เป็นจำนวนที่น้อยมาก “คุณสมทบตั้งหลายปี และ สุดท้ายคุณได้เงินบำนาญคืนมา 150 บาท”

เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องเปลี่ยนฐานความคิดคือ การทำให้มาตรา 40 มีฐานเงินเดือน ก็คือคุณสมทบ 100 ก็จริง แต่รัฐก็ต้องสมทบในส่วนที่จะเป็นบำนาญชราภาพให้ด้วย ทำไมมาตรา 39 มีบำนาญ มาตรา 33 มีเงินบํานาญคือมีฐานเงินเดือนที่คำนวณจากบำนาญ เพราะฉะนั้นตามที่เรา wefair จะได้คำนวณมาสิ่งที่พอจะมีโดยพื้นฐาน คือ เราต้องมีฐานเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000 บาท

ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ พอเวลาผ่านไปฐานเงินเดือนต้องขยับๆ วิธีการจ่ายเงินบำนาญล้อกับมาตรา 33 แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าทุกท่านจำได้มาตรา 40 ถ้าเป็นแบบที่ wefair เสนอนั่นก็คือ คุณจะสมทบตั้งแต่อายุ 18 ไล่มาจนกระทั่งถึงอายุ 60 จะไม่เคยมีการขาดช่วงใดๆ ทั้งสิ้นเพราะว่ารัฐบาลจะทำหลังบ้านมาให้คุณโดยตลอด จะไม่มีว่าคุณลืมส่งแล้วหมดสิทธิ ดังนั้นจะทำให้เงินบำนาญจากประกันสังคมมาตรา 40 คือ 5,000 บาทต่อเดือน สำหรับคนที่อายุ 60 ขึ้นไปได้จนกระทั่งเสียชีวิต

นี่คือตามค่าเงินปัจจุบัน ถ้าพ่วงกับข้อเสนอบำนาญถ้วนหน้าอีก 3,000 บาท นั่นหมายความว่าจะทำให้คนวัยเกษียณมีเงินบำนาญทั้งหมด 8,000 บาท ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะทำให้เรามีเงินบำนาญ 8,000 บาทผ่านระบบตัวนี้

“การเลี้ยงดูบุตร” ก็ต้องเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเช่นเดียวกัน เป็นส่วน top up จากที่เรามีให้ในรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว ประกันสังคมมาตรา 40 ก็ต้องมีให้ไม่น้อยกว่ามาตรา 33 ในปัจจุบันให้ 600 บาท ก็ต้องได้เท่ากัน ถ้ามาตรา 33 ขยับก็ต้องได้เท่ากัน

ที่สำคัญมากที่เราเพิ่มขึ้นมา ก็คือ “การลาพักร้อน” ว่าแต่แรงงานอิสระสามารถหยุดงานได้ไหม คำถามสำคัญคือ มันไม่มีวันหยุด คุณก็ต้องทำงานเก็บเงินอยู่ตลอดเวลา แล้วบิลค่าน้ำค่าไฟก็มาตลอดเวลาไม่เคยหยุด เพราะฉะนั้น ส่วนนี้ก็จะเป็นฐานคิดเรื่อง UBI (Universal Basic Income - รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า)  ได้หรือไม่

อีกด้านหนึ่ง คือ ถ้ามีมาตรา 40 ทุกอย่างทำในระบบแอพลิเคชั่นหรือว่าระบบอะไรที่มันง่ายมากขึ้น คุณสามารถบอกว่าวันนี้คุณพักคุณกดใน App ประกันสังคม และเช้าขึ้นมาเงินโอนเข้าบัญชีของคุณ 350 บาท 1 เดือน ลาพักร้อน 1 วัน ได้ชดเชยในอัตรา 350 บาท ลา 12 วัน/1 ปี ก็จะเป็นจำนวนเงิน 350*12 = 4,200 บาท

นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็น ควรจะเกิดขึ้น และให้ควบคู่ไปกับพ.ร.บ.แรงงานต่างๆ เรื่องการเพิ่มวันหยุด อย่างน้อยที่สุดให้คนมีวันหยุด ถามว่าเรื่องเหล่านี้นายทุนเข้าใจไหม ผมอยากบอกว่า “นายทุนเข้าใจมาก” เพราะเราเห็นโฆษณาประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันชดเชย เขารู้ว่าคนไทยไม่มีสิ่งนี้ แต่เขาไม่ทำแต่เขาผลักให้เราไปซื้อประกัน นี่คือสิ่งที่กำลังเกิด

ส่วนเรื่อง “การออมโดยสมัครใจ” ประชาชนคนในประเทศไทยเป็นคนชอบออม ซึ่งมีหลาย Option ให้เราเลือกอยู่แล้ว

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ “การลาคลอด และ รายได้ระหว่างการเลี้ยงบุตร” ถ้าคุณเป็นแรงงานอิสระ คุณลาคลอดไม่ได้ แม้แต่พยาบาลอัตราจ้างในโรงพยาบาลยังต้องอุ้มท้องโย้ เพื่อที่จะมาคุมวอร์ดเข้ามาดูงานผู้ป่วย เพราะไม่สามารถที่จะลาได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ในมาตรา 40 การลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตร ให้เพิ่มตัวนี้เข้าไป ก็จะเป็นเงินชดเชยรายเดือน 90 วันแรกคือ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้าคุณคลอด ถ้าคุณท้อง ในช่วง 90 วันนี้ 90 วันแรก และ 90 วันหลังคุณก็รับเงินให้เปล่าไปเลยเดือนละ 10,000 บาท บางคนบอกว่าเยอะแต่ผมยืนยันว่าไม่เยอะหรอก แรงงานอิสระไม่มีตัวนี้ ควรจะต้องเพิ่มเข้าไปให้

ส่วนตัวนี้เราเพิ่มขึ้นมาใน ช่วงโควิด คือเรามีปัญหาเหมือนกันเวลาที่รัฐบาลสั่งปิดสถานประกอบการ ประกาศ lockdown ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลก็ต้องมาร่างระเบียบอะไรใหม่ เราเพิ่มไว้ในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 ก็คือ “การรับเงินทดแทนรายได้ในช่วงสภาวะฉุกเฉินตามประกาศของรัฐ” ถ้ารัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งประเทศนี้ประกาศบ่อยมากอยู่แล้ว แรงงานอิสระไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าเงื่อนไขอะไรก็รับวันละ 150 บาท

นี่คือสิ่งที่เราได้ลองนำเสนองบประมาณที่ใช้ ถ้าเราจะทำให้ผู้ประกันตนมีฐานรายได้อยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่าฐานการคำนวณสิทธิประโยชน์ คุณต้องใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่าเยอะ แต่ว่าถ้าเทียบแล้วก็ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี คือ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้นถ้าเป็น “รัฐสวัสดิการ” ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทแรก หรือ เงินบาทสุดท้าย แต่ถ้าเป็น “รัฐเผด็จการ” เงินก็จะไปอยู่ที่เรือดำน้ำ

กลุ่มแรงงานในระบบ

ขณะเดียวกัน “กลุ่มแรงงานในระบบ” ถ้าเราสามารถปลดล็อคให้เป็นระบบถ้วนหน้าได้ ผมคิดว่าตัวนี้ก็จะทำให้กลุ่มแรงงานในระบบ จะมองว่าตัวนี้ก็เป็นส่วนเสริมในชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน และทำให้เขามี Option ในการเปลี่ยนงานได้ง่ายมากขึ้น

ตามข้อเสนอ wefair มีไอเดียของประเทศเดนมาร์กที่เราพูดกันเยอะ คือคำว่า Flexicurity: flexibility + security เมื่อคนมีชีวิตที่ปลอดภัย คนจะสามารถคิดอะไรนอกกรอบได้ การเปลี่ยนงาน การย้ายงาน การเปลี่ยนสายงานจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ซึ่งก็จะรวมถึงกลุ่มข้าราชการที่เรารู้สึกว่า การได้ระบบสวัสดิการต่างๆ ในระบบราชการ เป็นระบบที่จูงใจให้คนสามารถที่อยู่ในระบบราชการ แต่ถ้าเรายกระดับประกันสังคมถ้วนหน้าให้เห็นว่า สวัสดิการมันไม่ใช่เป็นของอภิสิทธิ์ชน เป็นของคนธรรมดา มันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราชการ เช่น งบสวัสดิการของราชการก็จะลดลงมาเพิ่มส่วนนี้ได้ และในขณะเดียวกัน คนอาจจะมีแรงจูงใจในการที่มาทำงานราชการด้วยเหตุผลอื่น ไม่ใช่เหตุผลเพียงแค่เรื่องสวัสดิการ

สิ่งที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจ และแน่นอนที่สุด ผมไม่สามารถที่จะทำนายถึงตัวเลขว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาได้ แต่ว่าสิ่งที่ผมอยากย้ำให้ทุกท่านเห็น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้เวลา 10 ปี ก่อนที่จะยืนยันเห็นว่า คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เมื่อคุณไม่ต้องกังวลว่าพ่อแม่ของคุณจะเป็นมะเร็ง เมื่อคุณไม่ต้องกังวลว่าพอคุณเจ็บป่วย คุณจะเป็นอย่างไร ก็ทำให้คุณสามารถเอาเงินไปใช้ในทางอื่นได้มากขึ้น

ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่า Equality Multiplier ของการยกระดับประกันสังคมตัวนี้ จะมากมายเท่าไหร่บอกไม่ได้จริงๆ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราสามารถยืนยันได้ เมื่อคนมีชีวิตที่ปลอดภัยกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อมันผูกติดอยู่กับบัตรประชาชน ผูกติดอยู่กับสิ่งพื้นฐานที่เขาได้รับ มันจะทำให้การกระจายตัวของแรงงานที่คุณไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญ คือ ผลทางสังคม ก็คือคำว่า “Trust” หรือ “ความเชื่อใจ” เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีงานวิจัยว่าเขาเรียกว่า “ปรากฎการณ์แพะรับบาป” ก็คือ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะพยายามชี้นิ้วหาว่า “ใครคือต้นเหตุวิกฤตของเศรษฐกิจ  และคนที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำที่สุดก็จะถูกชี้เป็นประจำ” แต่ว่าถ้ามีระบบแบบนี้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนได้รับ นอกระบบ ในระบบ ราชการ เกษตรกร ทุกคนได้รับเหมือนกันหมด จะไม่เกิดการพยายามหาแพะรับบาป ภายใต้เงื่อนไขส่วนนี้ นี่คือทั้งหมดของ ประกันสังคม

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยถ้าพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการต่างๆ ทั้งหมดมันเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เกิดการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งคือพวกเรา  ประเทศนี้มีผู้ประกอบการอยู่แค่ 900,000 คนเอง ที่เหลือก็คือแรงงาน ไม่ว่าคุณจะเงินเดือนเท่าไหร่ คุณก็คือชนชั้นกรรมาชีพ แต่ว่าด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่มันมีอยู่นี้ มันทำให้การรวมตัวกันต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก ทางทีมงานก็พยายามที่จะมองว่าถ้าจะทำให้เกิดการผลักดันให้ IOO 8798 มันสามารถเกิดขึ้นได้จริง มี พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์หลายฉบับที่กำลังถูกพิจารณาอยู่ ก็เป็นข้อเสนอซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อต่อที่สำคัญสำหรับการเกิดรัฐสวัสดิการ ก็คือการสร้างสำนึกแรงงาน ผลประโยชน์ของการรวมตัว การขยายขบวนการคนรุ่นใหม่ให้เป็นพันธมิตรต่อขบวนการแรงงาน สิ่งเหล่านี้ที่ผมย้ำก็คือ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ว่าเขาไปอ่านหนังสือเล่มไหนหรือไปฟังใครบรรยาย แต่เพราะว่าเขารู้สึกว่าประเทศนี้มันแย่สำหรับเขา ไม่ใช่ว่าเขาไปอ่านหนังสือของนักวิชาการฝ่ายซ้ายมา แล้วรู้สึกว่ารัฐสวัสดิการมันสำคัญ ไม่ใช่ เขารู้สึกว่าประเทศนี้มันแย่สำหรับเขา แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปคือการรวมตัวกันของผู้ที่ถูกกดขี่ทั้งหมด การที่เราต้องแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์หลายจุด เพื่อให้การรวมตัวกันเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะมีร่างตั้งแต่รัฐธรรมนูญมาที่กฎกระทรวง และ สิ่งที่อยากย้ำก็คือ การต่อสู้ การรวมตัวเพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์

ความสัมพันธ์กับภาครัฐ ซึ่งทางทีมงานได้พูดถึงบทบาทของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งอันนี้จะเป็นทางเทคนิคมากๆ แต่ว่าคือเป็นตัวกลางที่ใช้เกี่ยวกับการพิจารณาเบื้องต้น เพื่อที่ว่าจะได้มีคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ทำตามข้อเรียกร้อง หรือว่ามีข้อปฏิบัติใดที่ขัด ซึ่งทางทีมงานเราได้ได้พิจารณาดูว่าสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีมากกว่าการปฏิรูป

คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ก็คือการสร้าง “สหภาพแรงงานแห่งชาติ” หรือว่าอะไรก็แล้วแต่สภาพแรงงานกลางที่ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้ ผมคิดว่าตัวนี้เป็นทั้งหมดที่ผมย้ำมาเรื่องประกันสังคมรวมถึงเรื่องตัวกฎหมายแรงงานที่มีความเกี่ยวข้องที่จะเสริมให้เกิดการต่อสู้ได้ 

 

ที่มา: ตัดตอนมาจาก เวทีวิชาการการนำเสนองานวิจัยและบทความ “จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า” ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคม และ สุขภาวะ หัวข้อ “ประกันสังคมและกฎหมายแรงงาน” โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

เผยแพร่ที่ Facebook Page : We Fair. "ถ่ายทอดสด เวทีวิชาการ การนำเสนองานวิจัยและบทความ "จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า” ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ" เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564

หมายเหตุ: 

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้จาก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นที่เรียบร้อย
  • เรียบเรียง และ ปรับปรุง โดย บรรณาธิการ