บ้านซอยสวนพลู
วันที่ 10 กรกฎาคม 2542
ป็อม หลานรัก
จดหมายของป็อมทำให้ย่าดีใจมาก เมื่อรู้ว่าหลานได้เรียนในวิชาที่ตนรัก และแม้ว่าการเรียนจะหนัก ต้องแข่งขันกับเพื่อนๆ ชาวออสเตรเลีย และชาวต่างประเทศอื่นๆ ป็อมก็มิได้ย่อท้อ ด้วยความตั้งใจนี้เอง ย่าเชื่อว่า ป็อมต้องได้รับความสำเร็จในการแสวงหาความรู้สมดังปรารถนา
เมื่อ 56 ปีก่อน คุณปู่ของป็อม (ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส) เคยกล่าวถึงรากฐานของการศึกษา ซึ่งจะวางมาจากชั้นประถม โดยวางหลักไว้ 3 ประการ คือ ธรรมชาติ การงาน และสมาคม กับทั้งจะต้องหาวิถีทางที่จะฝึกเด็กตั้งแต่ชั้นประถม ให้ชอบค้นคว้า สอบสวนหาความรู้ตามกำลังสติปัญญาของตนมาแต่ต้น
หลักการทั้ง 3 ประการมิได้ล้าสมัยไปพร้อมกับกาลเวลาที่ผ่านไป และมิเฉพาะสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาเท่านั้น หากเหมาะสมสำหรับเยาวชนไทยทุกๆวัย รวมทั้งหลานป็อมด้วย
“ธรรมชาติ”
ถ้าโลกนี้ปราศจากธรรมชาติแล้วไซร้ มนุษย์เราคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ สายน้ำใสสะอาด ป่าเขาลำเนาไพรเขียวขจี สัตว์โลกที่น่ารัก ล้วนชะโลมใจและกายให้เราชุ่มชื่นมีชีวิตชีวา ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องปกป้องรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ดี เพื่อรุ่นลูก รุ่นหลาน และรุ่นเหลนโหลนของป็อม และของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก
“การงาน”
ชีวิตที่นั่งกินนอนกินไปวันหนึ่งๆ ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับตนและสังคม ช่างเป็นชีวิตที่จืดชืดไร้ค่า. คุณปู่ของป็อมได้อธิบายเพิ่มเติมว่า. การทำงานหรือแรงงานเป็นบ่อเกิดของความไพบูลย์. จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมอีกเช่นเดียวกัน ที่จะลงแรงร่วมใจกันก่อให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติและราษฎร โดยละเว้นการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์
“สมาคม”
ไม่มีใครที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในแคปซูลสูญญากาศอย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย ยิ่งสังคมไทยเราเป็นสังคมที่เอื้ออารีและอาทรต่อกันแล้ว การสมาคมบนพื้นฐานหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้สังคมไทยบังเกิดสันติภาพและสันติสุขอย่างแท้จริง
วันนี้ย่าขอเขียนถึงป็อมไว้เพียงแค่นี้ ถ้าหลานต้องการทราบว่า คุณปู่เคยกล่าวไว้อย่างไรอีกบ้าง ขอให้อ่านบทความเรื่อง ‘ ความเป็นอนิจจังของสังคม’ และ ‘ ปรัชญาคืออะไร’ ซึ่งคงจะให้ความกระจ่างแก่หลานป็อมได้ไม่น้อย
ขอเป็นกำลังใจให้หลานป็อมก้าวสู่อนาคตอันสดใส
จากย่า
พูนศุข พนมยงค์
อ่าน: ความเป็นอนิจจังของสังคม โดย ปรีดี พนมยงค์
อ่าน: ปรัชญาคืออะไร โดย ปรีดี พนมยงค์
หมายเหตุ: กองบรรณาธิการฯ ได้ทำการขออนุญาตในการเผยแพร่เนื้อความ และรูปภาพ ซึ่งเป็นที่มาของจดหมายเป็นที่เรียบร้อย