ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดตัวหนังสือ ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”

21
พฤษภาคม
2566

กษิดิศ อนันทนาธร : สำหรับบทสนทนาแรกในการจัดพิมพ์หนังสือ ครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษ ซึ่งสำนักพิมพ์สุขภาพใจได้ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่องเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ กับ พุทธทาสภิกขุ คำถามแรกที่จะถามผู้จัดพิมพ์ คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ว่า สำนำพิมพ์สุขภาพใจปกติพิมพ์แต่งานท่านอาจารย์พุทธทาส หรือว่าพิมพ์งานอาจารย์ปรีดีมาแล้วเหมือนกัน แล้วครั้งนี้นำมารวมกันได้อย่างไร

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ : วันนี้ต้องชวนคุณพ่อ คือ คุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ถามว่ามารวมกันได้อย่างไร เพราะว่าเป็นโอกาสที่งดงาม พิเศษ ตั้งแต่วาระ 123 ปี ชาตกาล ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ 30 ปี การจากไปของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และรวมถึง 12 ปี ที่ครบรอบกลุ่มสวนโมกข์กรุงเทพฯ ที่นำธรรมจากสวนโมกข์ไชยา หรือธรรมจากธรรมชาติใดๆ ก็ตาม สู่คนรุ่นใหม่ที่กรุงเทพฯ ฉะนั้น 3 วาระพิเศษนี้ทำให้รู้สึกอยากจะทำอะไรขึ้นเป็นพิเศษ จึงมีโอกาสได้ไปคุยกับคุณหมอบัญชา พงษ์พงนิช และ คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ สุขภาพใจต้องขอบคุณโอกาสที่ได้ทำหน้าที่นี้อีกครั้งในการเผยแพร่แนวคิด และความเชื่อ

ในชีวิตของตัวมี่เอง มีผู้ชายอยู่ 3 คน ที่ทำให้รู้สึกว่าเรายังคงต้องทำหน้าที่ที่เราเชื่อมั่นต่อไป คนที่หนึ่ง คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพราะท่านอาวุโสที่สุด การมีโอกาสเป็นลูกแม่โดม การได้มาสัมผัสแนวคิดสิ่งต่างๆ ในรั้วธรรมศาสตร์ ได้บ่มเพาะเราตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเพราะมาทำกิจกรรมอยู่ที่ตึกกิจฯ ตั้งแต่ช่วงมัธยมแล้ว เลยทำให้เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราต้องยืนหยัดคือความถูกต้อง

เมื่อเรามีบทบาทเข้ามาทำหน้าที่ที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ โดยมีคุณพ่อบัญชาเป็นผู้ก่อตั้ง ท่านที่สอง คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ซึ่งสิ่งที่เราสัมผัสตั้งแต่เด็กนั้นไม่ได้สัมผัสธรรมที่ค่อนข้างยาก หรือไม่รู้เรื่อง หรือว่าต้องใช้ความเข้าใจ แต่ว่าสัมผัสถึงธรรมชาติ ความสนุก และความเข้าถึงได้ง่ายของสวนโมกข์ไชยาตั้งแต่เด็กที่เราได้ไป ประทับใจมาตั้งแต่วันนั้น

พอเติบโตขึ้นมาช่วง 100 ปี ชาตกาล UNESCO ประกาศรางวัลบุคคลสำคัญของโลก ก็มีการจัดกิจกรรมหลากหลาย หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ ตามรอยเมธี 100 ปีพุทธทาส ประมาณ 10 กว่าทริป เพื่อให้เป็นธรรม experience ตอนนั้นมีประมาณทริปละ 60 คน มีทั้งเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ครอบครัว หรือคนที่สนใจ ทำให้เรายิ่งเข้าถึงลึกซึ้งมากขึ้น

ส่วนคนสุดท้ายซึ่งเป็นคนแรกของชีวิตก็คือคุณพ่อบัญชา ที่ทำให้สำนักพิมพ์ได้ชื่อว่า “สุขภาพใจ” เพราะว่าเดิมสำนักพิมพ์ชื่อ “สุขภาพ” แล้วท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าเติมคำว่า “ใจ” เข้าไปสิ จะได้พิมพ์หนังสือธรรมได้อย่างกว้างขวาง ก็เลยตั้งชื่อว่า “สำนักพิมพ์สุขภาพใจ” ตั้งแต่นั้นมา แล้วสิ่งที่เราสัมผัสจากคนคนนี้ตั้งแต่เด็กคือ รอบบ้านเราจะมีคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสติดอยู่ทุกๆ ที่ โดยที่เราไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นมาแล้วเห็นทั้งสิ่งที่ผู้คนปฏิบัติ ทั้งมองผู้คนต่างๆ จึงพบว่ามันเป็นจริงตามนั้น

เพราะฉะนั้นต้องขอขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ธรรมศาสตร์ และสวนโมกข์กรุงเทพฯ รวมถึงผู้ใหญ่ที่สวนโมกข์ไชยา ที่ทำให้สุขภาพใจได้มีโอกาสช่วยเผยแพร่แนวคิด แนวทาง ของรัฐบุรุษทั้งสองคน หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่เพียงหนังสือ แต่จริงๆ คือ ปรัชญาที่จะนำทางชีวิตให้กับคนอีกหลายๆ คน ต้องขอบคุณจริงๆ ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในเชิงประวัติศาสตร์ ทั้ง คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ คุณกษิดิศ อนันทนาธร รวมถึงบรรณาธิการ คุณวรุตม์ ทองเชื้อ คุณณภัทร ปัญกาญจน์ และอีกหลายๆ คน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีหนังสือเล่มนี้

ในมุมของสำนักพิมพ์สุขภาพใจกำลังจะจัดกิจกรรมตามรอยเมธีไปสวนโมกข์อีกครั้งหนึ่งในปลายเดือนนี้ ซึ่งเป็นวาระวันล้ออายุ 27 พฤษภาคม จะพาน้องๆ คนรุ่นใหม่และคนที่สนใจจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา ที่ต้องการไปกับเรา ถ้าใครสนใจก็ลองมาพูดคุย ไปศึกษาธรรมผ่านประวัติท่านอาจารย์พุทธทาสจากสถานที่จริง เรามีอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ไปด้วย หวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ก็มีความตั้งใจว่าเราไม่รีบ แต่เราไม่หยุด เราทำไปตามกำลังของบทบาทหน้าที่ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

กษิดิศ อนันทนาธร : ขอบคุณมากนะครับ สำหรับสุขภาพใจนอกจากจัดพิมพ์หนังสือปรีดี-พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ” แล้ว จริงๆ ยังช่วยจัดปฏิทินป๋วยใน 2 ปีที่ผ่านมาด้วย นอกจากเรื่องจัดพิมพ์หนังสือ มาที่เนื้อหาข้างนจะเห็นว่านอกจากบทความซึ่งเคยตีพิมพ์ในวาระสำคัญต่างๆ มาแล้ว ยังมีเอกสารชั้นต้นจำนวนมากเช่นไดอารี่ของท่านพุทธทาส หรือว่าพิมพ์ดีดที่เป็นต้นฉบับงานเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านศาสนาของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือของท่านอาจารย์ปรีดีที่มีการส่งโต้ตอบสนทนากันค่อนข้างเยอะ คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เป็นผู้เขียนบทเกริ่นนำสำหรับงานชิ้นนี้ อยากชวนคุยว่าความสัมพันธ์ของท่านอาจารย์ปรีดีกับท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหนังสือเล่มนี้สะท้อนอะไร มีความน่าสนใจอย่างไรบ้างสำหรับแวดวงคนที่สนใจด้านการเมืองและการคณะสงฆ์

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ : เมื่อสักครู่นี้ฟังเรื่องดุลอำนาจที่บอกว่ามี monarchy military และ monetary ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญมากๆ ของสังคมไทยอีกหนึ่ง m คือ monastery มันเป็น power อันหนึ่งที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรื่องของความเป็นสงฆ์ ความเป็นพระเป็น soft power ที่บางทีมาบั่นทอนประชาธิปไตย แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะรู้สึกว่าเรื่องของคนดีหรือศีลธรรม ที่เข้ามาต่อระบอบความชอบธรรมในอำนาจตามระบอบการเลือกตั้ง ผมพบว่าหลายปีนี้เรื่องของท่านพุทธทาส ถ้าใครใช้โซเชียลปรากฏว่ามักจะยกโควทของท่านเพื่อจะ depreciate หรือลดทอน ด้อยค่าระบอบประชาธิปไตยบ่อยมาก

ถ้าเราศึกษางานของท่านพุทธทาสในแนวที่ลึกพอสมควร หลายปีนี้เนื่องจากผมได้วิจัยงานร่วมกับสหายต่างประเทศ ทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส ไปรื้อค้นเอกสารชั้นต้นต่างๆ เราสามารถที่จะแบ่งงานของพุทธทาสหลักๆ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะประมาณ 3 ชิ้น แต่คนจะพูดถึงเฉพาะ 2 ชิ้นหลังที่ผมคิดว่าสำคัญ ในแง่ที่ค่อนข้างคล้อยไปทางช่วงปัจฉิมวัยหรือว่าช่วงที่ท่านอายุเยอะ คือเรื่องธรรมิกสังคมนิยมซึ่งค่อนข้างตีความคลุมเครือกันพอสมควร คือตีความเข้าขวาก็ได้ ตีความเข้าซ้ายก็ได้ เป็นเผด็จการโดยธรรม ถ้าเกิดไม่มีศีลธรรมเรื่องความวิบัติของความเป็นประชาธิปไตยมักจะถูกมาตีความผ่านธรรมิกสังคมนิยม ซึ่งคำเทศนาหรือปาฐกถาจะเกิดในช่วง 14 ตุลาฯ - 6 ตุลาฯ ปาฐกถาที่ลดลงมาอีกช่วงหนึ่งก็คือตอนประมาณปี 2490 ซึ่งเป็นซีรีส์พุทธธรรมต่างๆ เป็นซีรีส์สุดท้ายที่อาจารย์ปรีดีได้พบกับท่านพุทธทาส คือซีรีส์พุทธธรรมกับเจตจำนงประชาธิปไตย ก่อนอาจารย์ปรีดีถูกรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ตอนนั้นเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างอาจารย์ปรีดีกับท่านพุทธทาส ราวเดือนมกราคม 2490

หนังสือเล่มนี้สำคัญอย่างไร นี่เป็นครั้งแรกซึ่งผมคิดว่าจะไม่มีใครเคยพูดถึงงานชิ้นนี้ของท่านพุทธทาสเลย คือเมื่อครั้งท่านพุทธทาสสนับสนุนคณะราษฎรอย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของการนำต้นฉบับและหลักฐานชั้นต้นมาพิมพ์ ผมเขียนงานชิ้นนี้ตั้งแต่ปีที่แล้วลงใน The101.World ไปก่อน แล้วผมเห็นว่าสถาบันปรีดี พนมยงค์ สนใจ ผมเลยนำปาฐกถาชิ้นสำคัญของท่านพุทธทาสชื่อว่า “รัฐธรรมนูญของเรา” เมื่อเดือนธันวาคม 2481 ตอนที่หลวงพิบูลสงคราม ตอนนั้นยังไม่เป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราจะเห็นเอกสารชั้นต้นจำนวนมากที่ท่านพุทธทาสสนับสนุนคณะราษฎรอย่างจริงจัง

ยังไม่ต้องพูดถึงอาจารย์ปรีดี เพียงตอนที่ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษหัวหน้าคณะผู้ก่อการ 2475 ได้เดินทางลงไปภาคใต้ ตอนนั้นท่านพุทธทาสแต่งบาลีอวยพรพระยาพหลฯ ที่ได้มาเยี่ยมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2 ที่สำคัญคือตอนที่ว่าท่านพุทธทาสแต่งกลอนสนับสนุนรัฐนิยมเพื่อสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2482 นี่ก็ถือเป็นกลอนสำคัญมากๆ ที่แสดงตัวตนของท่านพุทธทาส และหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่สำคัญมากๆ คือ รัฐธรรมนูญของเรา ซึ่งถ้าใครได้อ่านธรรมิกสังคมนิยมนั่นจะเป็นงานตอนหลังซึ่งท่านอายุ 60 กว่าแล้ว แต่งานชิ้นนี้ที่นำมาพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ คือตอนประมาณ ปี 2481 ตอนนั้นท่านอายุประมาณ 31 -32 ปี แล้วหลักฐานความเป็นประชาธิปไตยของท่านในครั้งนั้นชัดเจนมาก คือการวิพากษ์ระบอบเก่าและการชื่นชมระบอบใหม่ เราจะเห็นในปาฐกถาจำนวน 9 หน้านี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่ยังไม่มีใครเอาหลักฐานชิ้นนี้ขึ้นมาพูดคุยเลย จะมีแต่พูดถึงเรื่องของช่วงปัจฉิมวัย

ตอนสถาบันปรีดี พนมยงค์ บอกว่าอยากจะพิมพ์งานชิ้นนี้ ผมบอกว่าผมยินดีที่จะมาเขียนคำเกริ่นนำให้ พร้อมด้วยบทความประกอบยาวๆ อีก 2 ชิ้นข้างใน เท่ากับว่าข้างในผมจะเขียนถึงเรื่องตอนพุทธทาสวัยหนุ่มที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างเข้มข้นถึง 3 ชิ้น แล้วหลังจากนั้นหลักฐานที่อาจจะมีคนเอามาพูดมากแล้ว คือไดอารี่ของอาจารย์พุทธทาสครั้งแรก ซึ่งเป็นไดอารี่ 365 วันครั้งแรกของท่านเมื่อปี 2485 ซึ่งเป็นไดอารี่ที่สำคัญมากๆ เพราะว่าเป็นไดอารี่ที่ท่านพุทธทาสเล่าประสบการณ์ที่ได้รับการนิมนต์จากผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งอยู่ในช่วงสงคราม

หนึ่ง เราจะเห็นปัจจัยง่ายๆ ตอนที่ท่านพุทธทาสสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี สอง ตอนอาจารย์ปรีดีนิมนต์ท่านขึ้นมาพบกันช่วงวันชาติ คือครบรอบ 10 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2485 ตอนนั้นท่านพุทธทาสอายุ 36 ปี อาจารย์ปรีดีอายุ 42 ปี เพื่อที่จะมาพูดคุยกันเป็นเวลา 3 วัน วันละ 3 ชั่วโมง เหตุการณ์คืออาจารย์ปรีดีอยากจะให้ท่านพุทธทาสนำธรรมมาแต่งเป็นเพลง ตอนที่ว่าอัฐิท่านปรีดีกลับมาเมื่อปี 2529 ท่านพุทธทาสยังบอกเลยว่า “อาจารย์ปรีดีบอกให้อาตมาแต่งเพลง แต่อาตมาเสียใจจริงๆ เพราะแต่งไม่ได้” พูดง่ายๆ คืออยากจะใช้พุทธศาสนาในการที่จะนำพาประเทศข้ามไปสู่ในระบอบใหม่และพุทธศาสนาแบบใหม่ เราต้องเข้าใจว่าท่านพุทธทาสถ้าอยู่ในระบอบเก่าท่านเป็นแค่เปรียญ 3 ประโยค ที่ว่าอยู่เป็นพระอยู่ในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ในระบอบเก่า เราสามารถมองท่านพุทธทาสเป็นผลผลิตของระบอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ที่ให้โอกาสพระเพียงเปรียญธรรม 3 ประโยค ที่กลับไปที่ต่างจังหวัดบุกเบิกพุทธศาสนาแบบใหม่ อาจารย์ปรีดีสนใจโมเดลนี้มาก เลยนิมนต์ท่านพุทธทาสมาคุยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะเอาโมเดลนี้ขจรขจายไปในหลายๆ ที่ โดยเริ่มที่พระนครศรีอยุธยา

หนังสือเล่มนี้ต้องขอบคุณหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เราไปได้โปรเจกต์นี้มา ผมจึงนำต้นฉบับโปรเจกต์นี้ซึ่งสุดท้ายล้มเลิกไปก็จะมีเอกสารชิ้นนี้ด้วย อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ หลังสงครามสิ้นสุดแล้วในหลวงรัชกาลที่ 8 นิวัตกลับประเทศวันที่ 5 ธันวาคม 2588 ช่วงปลายปี ปรากฏว่าปี 2489 มีจดหมายฉบับหนึ่งที่แสดงพระราชประสงค์เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ปรากฏว่าท่านพุทธทาสส่งนิตยสารพุทธศาสนาปีที่ 1 - 11 เข้ามาทั้งหมด 5 ห่อ ผ่านอาจารย์ปรีดีเพื่อเอาไปมอบให้รัชกาล 8 หนังสือพิมพ์พุทธศาสนาเกิดขึ้นตอนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2476

การมองท่านพุทธทาสกับอาจารย์ปรีดีจึงเป็นเส้นขนานที่คู่กันไป สวนโมกข์ตั้งเมื่อวันวิสาขบูชาปี 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 1 เดือน หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมาเมื่อทุกอย่างตั้งต้นได้ดีแล้ว คือปี 2485 ทั้งคู่จึงได้มาพบกันที่พระนคร หลังจากนั้นก็ได้ร่วมงานกันจนในท้ายที่สุดก็ต้องจากกันเมื่ออาจารย์ปรีดีถูกรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกัน ท่านพุทธทาสก็ส่งหนังสือตอนที่อาจารย์ปรีดีมาพำนักอยู่กรุงปารีสเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ผมเลยคิดว่าเป็นครั้งแรกที่เรานำเอกสารชั้นต้นในวัยหนุ่ม ซึ่งทัศนคติของท่านพุทธทาสเฉียบแหลมมาก ไม่ต้องตีความธรรมิกสังคมอะไรให้มากความ คือการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ถ้าคนสนใจเรื่องของระบอบประชาธิปไตยและการตั้งไข่ตอนหลัง 2475 ใหม่ๆ ผมคิดว่ามันสามารถที่จะสะท้อนผ่านงานปาฐกถาชิ้นนี้ของท่านพุทธทาสประมาณ 10 หน้าพระภิกษุเพียงเปรียญธรรม 3 ประโยคที่พยายามไปบุกเบิกและเทศนาสนับสนุนระบอบใหม่ให้ประชาชนและราษฎรที่ต่างจังหวัดฟัง ทุกอย่างจะรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้

นอกจากนี้สิ่งที่เสริมเข้าไป คือ การพยายามที่จะหลอมรวมนิกาย และการพยายามสร้างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เมื่อปี 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ที่พยายามปฏิรูปวงการสงฆ์ นี่เป็น power ที่สำคัญ ถึงแม้เราอาจจะมองว่าคณะราษฎรไม่มีความคิดที่จะทำเป็น secular state แต่อย่างน้อยเขาพยายามที่จะเข้าไปปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้มีความร่วมสมัยและทันสมัยมากขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมา แล้วเกิดคดีมากมายโดยเฉพาะกรณีพระพิมลธรรมเมื่อปี 2505 ในปีนั้นเอง จอมพล สฤษดิ์ ก็ฉีก พ.ร.บ. นี้ทิ้ง ฉะนั้นเท่ากับว่าไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างมา นี่คือมิติของศาสนจักร ในเล่มนี้ถ้าคุณอ่านคุณจะได้มิติของพุทธจักรและอาณาจักรของสังคมไทยในช่วง 2475

เบื้องต้นผมต้องขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ และสำนักพิมพ์สุขภาพใจที่ให้ความสำคัญ นี่ถือเป็นงานชิ้นใหม่ ขอบคุณมากครับ

กษิดิศ อนันทนาธร : เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ต่อเนื่องจากที่คุณนริศพูดไปว่านอกจากตั้งต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมกับตั้งต้นสวนโมกข์ 2475 และถ้าเกิดใครเคยอ่านประวัติศาสตร์ของอาจารย์ปรีดีจะทราบว่าวันที่ท่านอสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 หนังสือที่ติดอยู่ในกระเป๋าก็ยังเป็นกฎบัตรพุทธบริษัทของท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ นี่ก็ยังเป็นความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนาน

ขอกลับไปที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ว่าอยากให้ฝากถึงนักอ่านซึ่งอาจจะเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์สุขภาพใจอยู่แล้ว หรือนักอ่านที่จะไปเห็นหนังสือเล่มนี้วางตามชั้นหนังสือในร้านหนังสือทั่วไป หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ให้ฝากทิ้งท้ายไว้หน่อยครับ

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ : หนังสือทุกเล่มเลือกคนอ่าน คนอ่านเองก็เลือกหนังสือ เพราะฉะนั้นแล้วอยู่ที่ตัวเราว่าต้องการอาหารอะไรใส่เข้ามาในชีวิต อาหารอะไรใส่เข้ามาในสมอง มีคนเคยถามท่านอาจารย์พุทธทาสตอนนั้นท่านก็อายุเยอะแล้วว่า “ท่านทำงานเยอะแยะท่านทำไปทำไม ทำแล้วเมื่อไหร่จะหมด” คำตอบของท่านง่ายๆ สั้นๆ เลยคือ “เราทำเสร็จทุกวัน แล้วก็จบทุกวัน” สิ่งที่ได้ทำเอาไว้ก็เหมือนเป็นการปรุง มีวัตถุดิบต่างๆ ปรุงอาหารเอาไว้จะเป็นรสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด หรือจืด เหมาะกับคนในแต่ละเรื่องแต่ละสิ่งที่เขาอาจจะต้องการมาเป็นโภชนาการของตัวเอง ธรรมก็เช่นเดียวกัน

วันนี้สำนักพิมพ์สุขภาพใจเชื่อมั่นว่า เมื่อเราเรียนรู้อดีต เราเรียนรู้เพื่อเข้าใจปัจจุบัน เมื่อเราเข้าใจปัจจุบันเราเห็นทั้งกระแสแล้วเราจะรู้ว่าอนาคตเราจะเดินไปอย่างไร เพื่อสร้างสมดุลของตัวเองเราเอง สมดุลระหว่างเรากับสังคม และสมดุลระหว่างสังคมกับสังคม หวังว่าเราจะมีหนังสือดีๆ ที่ออกมาจากแต่ละหน่วยงานด้วยความตั้งใจ และลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อลองดูภาพประวัติศาสตร์ดีๆ มากมาย ต้องขอบคุณพี่ๆ โดยเฉพาะคุณนริศที่ทำให้สิ่งต่างๆ ยังคงหมุนและก้าวต่อไปในวัฏจักร

กษิดิศ อนันทนาธร : ถ้าเปิดดูจะเห็นภาพสีจำนวนมาก เอกสารชั้นต้นก็เป็นภาพสีหมด ภาพของอาจารย์พุทธทาสก็เป็นภาพสีซึ่งเข้าใจว่าหายาก แทบจะไม่เคยเผยแพร่มาก่อนเป็นจำนวนมาก ทิ้งท้ายที่คุณนริศสำหรับคนที่สนใจหนังสือในทางการเมือง ประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่การไปประดับชั้นหนังสือ ประดับสติปัญญาอย่างไรบ้าง

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ : ท่านพุทธทาสท่านมีชีวิตถึง 87 ปี เพราะฉะนั้นชีวิตของคนคนหนึ่งที่ยาวนานขนาดนี้ แล้วถือเป็นนักอภิวัฒน์ ผมจึงตั้งชื่อในบทเกริ่นนำว่า “คือผู้อภิวัฒน์แห่งทวิจักร” คนหนึ่งในทางอาณาจักรคืออาจารย์ปรีดี คนหนึ่งในทางศาสนจักรคือท่านพุทธทาส การมองของท่านพุทธทาสสุดท้ายเรื่องพุทธศาสนากลายเป็นว่าคนเรามักจะเอาพุทธศาสนานำประชาธิปไตย ซึ่งผมมองว่าเมื่อเรามีประชาธิปไตย เราถึงมีโอกาสที่จะเลือกนับถือศาสนา เพราะฉะนั้นงานท่านพุทธทาสจึงมีลักษณะของพลวัตของชีวิตคนคนหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปในระบอบการเมืองเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนไป เราจะเห็นพลวัตทางความคิดของท่าน ผมเลยมองว่างานของท่านถูกละเลยไปมากคือในช่วงปี 2475 ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญมากๆ สำหรับคนที่ศึกษาท่านพุทธทาส

ผมมั่นใจว่าผมทำ literature review มาพอสมควร คือเรื่องของทบทวนวรรณกรรม งานชิ้นนี้ของท่านพุทธทาสไม่ได้รับการกล่าวอ้างเลยไม่ว่าจะเป็น งานของ Peter A. Jackson หรือว่างานของใครก็ตาม ก็เลยคิดว่ามุมนี้มีลักษณะเจาะลึกเข้าไปได้อีกมาก งานในสมัยช่วง 2475 ที่คณะราษฎรมีอำนาจระหว่างปี 2475 - 2490 ยังมีอีกหลากหลายมิติมากๆ ซึ่งผมก็พยายามที่จะค้นคว้าเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อย เราอาจจะมองว่าท่านพุทธทาสก็คือสามัญชนคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าสภาวะสังคมตอนนั้นมันผ่านงานของท่าน เราอ่านสังคมผ่านงานชีวิตของบรรพชิตที่สำคัญมากๆ รูปหนึ่ง ก่อนที่ท่านเข้าไปวงการตุลาการ ได้รู้จักคนมากขึ้น ผมคิดว่าความคิดของท่านก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่อย่างไรส่วนตัวผมก็รู้สึกชื่นชมในปาฐกถาเรื่อง “รัฐธรรมนูญของเรา” เมื่อปี 2481 ผมคิดว่าเป็นปาฐกถาที่คมมาก ชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย ขอบคุณครับ

กษิดิศ อนันทนาธร : ผมขอทิ้งท้ายด้วยโควทคำพูดของท่านพุทธทาสบอกว่า “...ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นเกียรติยศ และรู้สึกปลื้มใจอย่างยิ่งในการที่ได้มาเป็นผู้กล่าวคำสดุดีหรือพรรณนาพระคุณของรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้…” อันนี้เป็น motto หนึ่งที่เอามาไว้ในปกหนังสือนะครับ

 

ที่มา : งานเปิดตัวหนังสือปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ” . การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

คลิกอ่านรายละเอียดหนังสือได้ที่แนะนำหนังสือ : ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”

สั่งซื้อหนังสือได้ที่https://shop.pridi.or.th/th/product/981329/product-981329 หรือเลือกโปรโมชันได้ที่ : https://shop.pridi.or.th