ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ กับ พุทธศาสนา

26
พฤษภาคม
2564

สามัญชนที่แข็งแกร่ง

ชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ นับว่าเป็นชีวิตแห่งการต่อสู้ และตัวอย่างแห่งความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง เข้าทำนองความทุกข์ยากบ่มเพาะให้เกิดความแข็งแกร่ง เหมือนเหล็กกล้าที่ผ่านความร้อนสูง

ด้วยความที่เป็นลูกชายชาวนา (คุณพ่อเสียง-คุณแม่ลูกจันทร์ พนมยงค์) แห่งเมืองกรุงเก่า ทำให้ท่านได้ลิ้มชิมรสความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนาทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ราคาพืชผลในตลาด และดอกเบี้ยของนายทุน แต่เนื่องจากมีคุณพ่อผู้ประเสริฐเห็นการณ์ไกล ห่วงใยในอนาคตการศึกษาของลูกๆ แม้ฐานะช่วงหลังจะไม่มั่นคงนักก็ตาม ท่านปรีดีจึงได้เข้าศึกษาในระบบโรงเรียนตามลำดับ จนมีความเจริญก้าวหน้าสอบได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของชั้นเรียน อย่างไรก็ดี เมื่อจบประโยคชั้น ม. 6 อายุราว 15 ปี ท่านได้หยุดการศึกษาไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำนาที่อำเภอวังน้อย อยุธยา ถึงสองปี

เชื่อว่าประสบการณ์ในชีวิตจริงของลูกชาวนา นอกจากจะทำให้ท่านซาบซึ้งตรึงใจในพระคุณของบิดามารดาที่ลงแรงเหนื่อยยากเพื่ออนาคตของลูกแล้ว ยังทำให้ท่านได้รับรู้ถึงรสชาติแห่งความเสียเปรียบ ทุกข์ทนหม่นหมองของประชาชนชาวสยามที่ได้รับความอยุติธรรม และน่าจะเป็นแรงกระตุ้นจุดบันดาลใจให้ท่านคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศนี้ ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และมั่นคงอย่างยิ่ง

ความทุกข์ของคนไทยในสังคมประเทศนี้ มิใช่จะเรียนรู้กันได้ด้วยตัวหนังสือหรือคำพูด ตราบใดที่นักการเมืองและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่เคยประสบสิ่งนั้นมาด้วยตนเองแล้ว พวกเขาคงจะทำงานการเมืองได้เพียงเป็นผักชีโรยหน้า ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เท่านั้น และอาจเพราะเหตุนี้ บ้านเราจึงมีแต่นักเลือกตั้งเต็มบ้านเต็มเมือง แต่หารัฐบุรุษผู้อาชาไนยเหมือนท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ยากมาก

ชีวิตเยาว์วัยใกล้วัด

ถิ่นฐานเดิมของตระกูลพนมยงค์นั้น ตั้งอยู่ใกล้วัดพนมยงค์ พระนครศรีอยุธยา บรรพบุรุษของตระกูลได้บวชเรียนเขียนอ่านพระธรรมวินัยอยู่ในวัดกันคนละเป็นปีและหลายๆ ปี คุณทวดเกริ่นได้บวชเรียนอยู่เกิน 10 พรรษา พอมาถึงยุคคุณพ่อเสียง พนมยงค์ ก็ได้อุปสมบทศึกษาพระศาสนาอยู่ถึงสามพรรษา

ชีวิตของคนกรุงเก่าสมัยโน้นคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเพียงใด แม้ยุคของท่านปรีดีจะจืดจางไปบ้าง เพราะเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบตะวันตก ท่านปรีดีเองก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นและมัธยมทั้งในอยุธยาและกรุงเทพมหานคร แต่คาดว่าวิถีชีวิตชาวบ้านที่มีวัดเป็นศูนย์กลางในทุกๆ ด้าน ก็ยังคงแข็งแรงอยู่พอสมควร

ต่อประเด็นนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“นายปรีดีเป็นเด็กแก่วัด ชอบติดสอยห้อยตามยายไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัดหน้าเรือนแพอาศัย คือวัดพนมยงค์ ท่านเลื่อมใสบรรยากาศในวัดถึงกับขอบวชเณรตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ แม้จะบวชเพียงไม่กี่วัน แต่เอาใจใส่ท่องสวดมนต์ จนปรากฏว่าแม้เข้าสู่วัยชรา ท่านยังสามารถท่องเจ็ดตำนานได้”

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจและบุคลิกของท่านปรีดี ก็น่าจะเป็นแบบอย่างของนักสู้ชีวิตผู้แข็งแกร่งที่สุดอย่างคุณพ่อเสียง พนมยงค์ ผู้ปฏิเสธอาชีพข้าราชการด้วยรักในอิสระของอาชีพชาวนากระดูกสันหลังของชาติ นายเสียงได้ทำนาสู้กับความแห้งแล้ง น้ำหลาก และฝูงช้างป่า สุดท้ายต้องเป็นหนี้ที่กู้มาจ่ายให้บริษัทขุดคลองคูนาสยามเป็นค่าขุดคลองผ่าน ที่ต้องอดทนเป็นหนี้เป็นสินอยู่หลายปี แต่ท่านก็สู้ เข้าทำนองว่า เกิดเป็นชายต้องอดทน พากเพียรเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง

ดังนั้นแม้ชีวิตโดยทั่วไปของท่านปรีดีจะไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยและเคร่งครัดในศีลาจาระอันเป็นรูปแบบภายนอกก็ตาม แต่ในชีวิตจริง ท่านปรีดีได้ปฏิบัติธรรมหรือใช้ธรรมะยิ่งกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนใดของประเทศนี้นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ที่กล่าวดังนี้ คงไม่เกินเลยความจริงนัก ถ้าพวกเราสังเกตดูประวัติชีวิตและผลงานของท่านอย่างใจเป็นธรรมก็จะเห็นว่าชีวิตของท่านช่างสมถะ เรียบง่าย อดทนต่อความทุกข์ยากและเจ็บปวดอย่างน่าสรรเสริญ ดังคำของคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ผู้ใกล้ชิดท่านมากผู้หนึ่ง ที่กล่าวอ้างถ้อยคำของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของท่านปรีดีไว้ว่า

ตอนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น ท่านมีโรงพิมพ์เล็กๆ ของท่านเอง โดยท่านพิมพ์หนังสือ นิติสาส์น ออกขาย ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า คนในบ้านสนุกกับการห่อหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตามที่คนสั่งจองมา เรียกว่ามีเงินมีทองของตัวเองพอกินพอใช้ทีเดียว ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านกลับไม่มีสมบัติเหลือเลย ลูกเต้าก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนลูกของเพื่อน แต่ท่านก็ยอมรับสภาพต่างๆ อย่างอาจหาญและแสนที่จะอดทน อุตส่าห์ประคับประคองหัวใจที่ยับเยินแหลกลาญของท่านให้คงเป็นรูปร่างเท่าที่พอจะทำได้ ท่านยังรักเมืองไทย ยังอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่เสียดายที่ท่านอยู่ไม่ถึง

เพื่อให้เห็นตัวอย่างการปฏิบัติธรรมในชีวิตของท่านปรีดี ผู้เขียนขออ้างคำของพระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ ปัญญานันทภิกขุ ซึ่งเป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่ครอบครัวพนมยงค์เคารพนับถือมาก และท่านเองก็รู้จักชีวิตและผลงานของท่านปรีดีอย่างลึกซึ้ง หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ กล่าวว่า

“ท่านมีปรกติคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นเป็นตัวอย่างของคนอื่น จึงเป็นคนไม่ค่อยจะมีทรัพย์สมบัติอะไรมากมาย เวลาไปอยู่ต่างประเทศก็เขียนหนังสือขายไปตามเรื่องตามราว ได้อาศัยเงินเดือนที่ค้าง เบี้ยบำนาญค้าง พอได้ซื้อบ้านหลังเล็กๆ อยู่ชานกรุงปารีส ไม่ใช่บ้านใหญ่โตอะไร คนสมัยหลังๆ ไปซื้อบ้านกรุงลอนดอน ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก บ้านใหญ่โตกว่านั้น กว้างขวางกว่านั้น แต่ว่าที่ท่านซื้ออยู่นั้นเรียกว่าอยู่อย่างธรรมดา ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าอะไร อยู่อย่างมักน้อย อยู่อย่างสันโดษ แต่ว่าใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่ทำงานราชการ แต่ก็ทำงานเหมือนกับข้าราชการ ทำงานเช้า แปดโมงครึ่งเช้า

…เป็นคนรักงาน ถืออุดมการณ์ว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเพราะทำงาน มีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ เป็นคน เป็นพระ”

คำสุดท้ายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า “เป็นคน เป็นพระ” นี่สำคัญมาก คงจะพอกล่าวได้ว่าแม้ท่านปรีดีมิได้อยู่ในรูปแบบแห่งชาวพุทธผู้เคร่งครัด แต่ท่านเป็นชาวพุทธโดยเนื้อหาสาระ ท่านมิได้พร่ำแต่หัวข้อธรรมหรือพระคัมภีร์อันเป็นบัญญัติธรรม แต่ท่านเสพสภาวะแก่นสารอันเป็นส่วนปรมัตถ์เลยทีเดียว”

กิจกรรมเนื่องด้วยพระศาสนา

กิจกรรมเนื่องด้วยพระศาสนาของท่านปรีดีนั้น ถ้าใช้ศัพท์ของท่านเองก็จะต้องใช้คำว่า “อภิวัฒน์” คงใช้ปฏิรูปหรือปฏิวัติไม่ถูกแน่ (เช่นเดียวกับนามของประเทศที่ควรเรียกว่า “สยาม-SIAM” มิใช่ “ประเทศไทย-THAILAND”)

โดยธรรมชาตินิสัยของท่านปรีดีแล้ว ท่านเป็นนักคิดทางก้าวหน้า คิดแล้วก็พยายามดำเนินไปตามความคิดนั้น ท่านเป็นปราชญ์ผู้เกิดมาเพื่อสร้างสรรค์สังคม ดังที่กล่าวกันว่า “ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน”

ในส่วนทางบ้านเมืองนั้น เมื่อยังศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ก่อตั้ง “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” (ส-ย-า-ม)

ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “สหภาพแรงงาน” และได้เรียกร้องให้เอกอัครราชทูตสยามเพิ่มเงินค่าใช้จ่ายแก่นักเรียนต่างประเทศ จากจุดนี้ได้ขยายไปเป็นการร่วมกับเพื่อนๆ อีกหกคน (รวมท่านปรีดีด้วยเป็นเจ็ด) ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้นในกรุงปารีส (2470) ความเป็นจริงแล้ว ตอนนั้นท่านก็จะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายอยู่แล้ว การเรียกร้องเพิ่มเงินทุนการศึกษาก็เพื่อเพื่อนๆ และนักศึกษาอนุชนรุ่นหลัง แม้การก่อตั้งคณะราษฎรและนำไปสู่การอภิวัฒน์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2575 ถ้าท่านจะนิ่งเฉยเสีย ท่านก็อาจอยู่สุขสบายได้ทั้งชาติ แต่วิสัยของท่านมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เข้าทำนองว่า

“บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมคิดการเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คิดการเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น คิดการเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว”

ประเด็นนี้จะชัดยิ่งขึ้นเมื่อหันมาพิจารณางานสร้างสรรค์ประโยชน์เกื้อกูลแก่ประชาชนและประเทศชาติของท่านขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านปรีดีได้ริเริ่มการวางระบบเทศบาลเพื่อให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง เมื่อย้ายมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทยกับต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม เมื่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ (ส่วย) จากราษฎร วางระบบภาษีอากรใหม่และวางรากฐานให้เกิดธนาคารชาติ ต่อมาท่านก็ได้ประศาสน์การ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ขึ้น เพื่อวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยสืบมาถึงปัจจุบัน และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทย ท่านปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ก็ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษและอเมริกาอย่างลับ ๆ ยังผลให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม คงความเป็นอิสระและเอกราชของประเทศไว้ได้

แม้ท่านจะมีภารกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนมากมายเพียงไร ในส่วนลึกแห่งจิตใจของท่านก็ยังผูกพันและห่วงใยพระศาสนาและวงการสงฆ์อยู่ตลอดเวลา ดังคำของพระเดชพระคุณพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม ว่า

“ในความรู้สึกของอาตมา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา ในการปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย ท่านพอใจในกิจการของสวนโมกข์ จนถึงกับได้ขอร้องให้อาตมามาแสวงหาที่เพื่อจะจัดสวนโมกข์ขึ้นในจังหวัดอยุธยา”

แต่ปรากฏว่าท่านอาจารย์พุทธทาสหาที่เหมาะๆ สำหรับตั้งสวนโมกข์ที่อยุธยาไม่ได้ สวนโมกข์ก็เลยคงมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือที่ไชยาจนถึงปัจจุบัน

ความสนใจในพระพุทธศาสนาของท่านปรีดี พึงสังเกตเพิ่มเติมได้อีกจากกรณีตัวอย่างสี่ห้าประการ ดังนี้

เมื่อคิดก่อตั้งสถาบันให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อเสริมสร้างรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ท่านได้เลือกตั้งชื่อสถานศึกษานั้นว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”

คำว่า “ธรรมศาสตร์” นี่สำคัญ (น่าจะเขียนเป็นโรมันว่า “Dharrma Sastra” แทน “Thammasat” ในปัจจุบันด้วย เพราะมองไม่เห็นรากศัพท์ ทำให้ไม่มีความหมายเชิงภาษาศาสตร์) ความหมายเดิมของคำนี้หมายถึงกฎทางศีลธรรมของชาวฮินดู (Code & Hendu Law) ดังกล่าวอยู่ใน มานวธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกฎหรือหน้าที่ของวรรณะทั้งสี่ ซึ่งเรียก วรรณธรรม ต่อมาจึงมีความหมายไปถึงวิชา กฎหมาย ด้วย คำว่า “มานวธรรมศาสตร์” บางครั้งก็เรียกว่า “มนูธรรมศาสตร์” ซึ่งสอดคล้องกับราชทินนามของท่าน คือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

ชื่อ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” บอกชัดว่า สถาบันการศึกษานี้เน้นวิชากฎหมายและการปกครอง (นิติศาสตร์+รัฐศาสตร์) โดยเฉพาะการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ท่านผู้ประศาสน์การได้อุทิศชีวิตสถาปนาไว้

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุบอกง่ายๆ ว่า “ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้เป็นบุคคลที่สนใจธรรมะ จึงเอาธรรมะขึ้นหน้าแล้วเอาการเมืองไว้ข้างหลัง แสดงว่าคนจะเป็นนักการเมืองต้องมีคุณธรรม…”

คติพจน์ของผู้ประศาสน์การยังบอกถึงความสนใจในธรรมะได้อีกด้วย เพราะท่านปรีดีเขียนคติพจน์ของท่านไว้เป็นภาษามคธหรือบาลี ว่า

“อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ”
ผลของการที่ได้ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย

ถ้าคนไม่ใฝ่ใจในพระศาสนาและภาษาบาลีจริงๆ แล้ว คติพจน์ข้อนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน ดูได้จากบรรดานักการเมืองและผู้ได้รับสมมุติว่าเป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ในยุคปัจจุบันนี้ พอหาได้ไหมที่ซาบซึ้งในภาษาบันทึกธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเยี่ยงท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้

เมื่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสเขียนหนังสือว่าด้วยการพัฒนาของสังคม ท่านตั้งชื่อว่า “ความเป็นอนิจจังของสังคม” กล่าวคือท่านได้นำหลัก “อนิจจัง” หนึ่งในไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา) มาเป็นเกณฑ์ในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยจัดระดับของสังคมเป็น สังคมปฐมสหการ (สังคมปฐมกาล), สังคมทาส, สังคมศักดินา, สังคมธนานุภาพ และ สังคมกิจ (สังคมนิยม)

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเคยแสดงปาฐกถาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากรีกกับอภิธรรม” ท่านยืนยันว่าความรู้เรื่องพระอภิธรรมของพุทธ คงต้องเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ ณ บริเวณประเทศกรีกอย่างแน่นอน ดังนั้น Dialektike (Dialectic Materialism) กับธรรมัสรากัจฉาเป็นสิ่งเดียวกัน

ในหนังสือเล่มดังกล่าวยังพูดถึงคำว่า “ยุคมิคสัญญี” และ “ยุคศรีอารยเมตไตรย” คำสองคำนี้นัยว่าท่านได้ยินมาจากพระภิกษุและผู้เฒ่าเล่าให้ฟังตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ นอกจากนี้คำว่า “พุทธทำนาย” และ “ยุคพระศรีอารยเมตไตรย” ยังเป็นศัพท์เฉพาะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาด้วย

ตอนท้ายท่านยังกล่าวอนุโมทนาขอบคุณพระภิกษุสงฆ์ที่พยายามสั่งสอนให้มนุษย์มีศีลธรรมอันดี แต่ปุถุชนก็ยังเบียดเบียนข่มเหงผู้อื่นอยู่ ฟังธรรมเทศนาเป็นเพียงพิธีโดยมิได้ปฏิบัติตาม จบลงด้วยการขอบพระคุณพระอรรถกถาจารย์ผู้อธิบายการวิวัฒนาการของสังคม

เกี่ยวกับการสนับสนุนงานฟื้นฟูพุทธของสำนักสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุนั้น มีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมว่า คราวหนึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านปรีดีได้ส่งคุณวุฒิ สุวรรณรัตน์ ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปอาราธนาท่านพุทธทาสขึ้นมาคุยกันหน่อย แต่พอมาจริงๆ คุยกันอยู่สามวัน เริ่มแต่บ่ายโมงถึงสี่ห้าทุ่มทุกวัน คงคุยกันหลายเรื่องมาก มีเรื่องใหญ่ๆ อยู่เรื่องหนึ่ง คือ ขอให้ท่านพุทธทาสช่วยตั้งสวนโมกข์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังสนองงานนี้ไม่สำเร็จ ชะรอยจะเกิดสงครามโลกขึ้นก่อน ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“สำหรับอาตมาได้รับคำขอร้องจากท่านผู้นี้ให้ทำทุกอย่างเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทันสมัย อาตมาก็ได้สนองความประสงค์อันนี้ พยายามทำหนังสือหนังหาทุกแง่ทุกมุมที่จะสนองความประสงค์อันนั้นเท่าที่เห็นๆ กันอยู่แล้วในบัดนี้”

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุทำไม่ได้ตามคำอาราธนาก็คือ การแต่งเพลงให้พุทธบริษัทร้องเหมือนศาสนิกของศาสนาอื่นๆ เรื่องนี้ท่านยอมรับว่าจนปัญญา

รัฐบุรุษอาวุโสกับการปฏิรูปคณะสงฆ์

จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เรื่องท่านปรีดีกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเองก็ดี กับตัวท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุก็ดี กรณีหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (……….) กับท่านปรีดีก็ดี นัยว่ามีการสั่งสนทนากันนานๆ นับเป็นวันๆ ย่อมแสดงถึงความสนใจในกิจการของคณะสงฆ์ผู้มีภารกิจในการให้การศึกษาและเผยแผ่พระธรรม

แต่ใครจะทราบบ้างว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มพระสงฆ์ที่เรียกว่า “คณะปฏิสังขรณ์” ประกอบด้วยคณะสงฆ์กลุ่มหนุ่มผู้มีการศึกษาพัฒนามาดี จนถึงการผลักให้มีการเปลี่ยน พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับ ร.ศ. 121 (2445) มาใช้ พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2484 มีท่านปรีดีเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่อย่างใกล้ชิด ดังท่านได้เล่าถวายหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เมื่อปี 2522 ว่า

“ผมได้วางแผนไว้แล้วด้วยการออกกฎหมายพระราชบัญญัติปี 2484 ตัวเลขไม่แน่นอน ดูมันราวนั้น ก็ให้มีสังฆสภาให้มีสังฆมนตรี บอกว่าให้มีสังฆสภานี้มิใช่เพื่ออะไร เพื่อให้พระหนุ่มได้มีโอกาสทำงาน เพราะได้เอามาร่วมชุมนุมกัน ได้ปรึกษาหารือกันในการที่จะจัดการอะไรๆ ให้มันก้าวหน้า…

พ.ร.บ. สองฉบับนั้นแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะประเด็นการกระจายอำนาจ การกระจายงานความรับผิดชอบ ฉบับแรก (ร.ศ. 121) จะรวมศูนย์ไว้ที่มหาเถรสมาคมทำหน้าที่คล้ายองคมนตรี มีหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน ฉบับหลัง (2484) กระจายอำนาจ มีสังฆมนตรีดูแลงานบริหาร มีสี่องค์การคือ ปกครอง ศึกษา เผยแผ่ และสาธารณูปการ มีสังฆสภาดูแลเรื่องการออกนิติบัญญัติ และคณะพระวินัยธร พิจารณาตัดสินอธิกรณ์ (คดีของสงฆ์) ต่าง ๆ

ท่านอาจารย์ปรีดีจึงเปรียบเหมือนผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการของสงฆ์ จนเกิดมี พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2484 ขึ้น เรื่องนี้สังคมสงฆ์แทบจะไม่มีใครทราบเลย แม้แต่ตัวข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงบทความนี้ นอกจากนี้ท่านยังติดตามห่วงใยกิจการของคณะสงฆ์ แม้ไม่นานนักก่อนท่านจะถึงแก่อนิจกรรมก็ยังพูดฝากหลวงพ่อปัญญา-นันทภิกขุไว้ว่า

“ท่านเจ้าคุณไปหาวิธีที่จะกู้อันนี้ (พ.ร.บ. สงฆ์ 2484) ขึ้นมาใหม่ ไปหาวิธีพูดจาให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจ ให้พระตื่นตัว เพื่อจะได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงานไปให้เป็นประโยชน์ขึ้น”

จากข้อความดังกล่าวนี้คงจะบอกให้เราทราบแล้วว่าท่านปรีดีมีทั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล จริงใจ และมีความห่วงใยต่อสถาบันสงฆ์-พระศาสนาอย่างถูกต้องตรงประเด็นเพียงไร แม้ไม่มีโอกาสจะได้ทำเอง เพราะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปอยู่เสียต่างแดน ทั้งด้วยวัยวุฒิที่มากเข้าแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายจะปรารภฝากทอดมายังพระมหาเถระหรือบุคคลที่น่าจะเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมไทย

บัดนี้ ความประสงค์ของท่านปรีดีก็เริ่มฉายแววเปล่งประกายใกล้เป็นจริงเข้ามาแล้ว เมื่อสถาบันสงฆ์ไทย โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม ได้ถูกทดสอบและท้าทายอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนหน้านี้เลย

เริ่มตั้งแต่กรณี ยันตระ อมโรภิกขุ แล้วก็มาถึงกรณีธัมมชโยภิกขุแห่งสำนักวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี กรณีหลังนี้นับว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองสงฆ์ไทย พระมหาเถรานุเถระผู้เกี่ยวข้องต่างถูกตรวจสอบซักถามท้าทายและขับไล่ (จนบางครั้งก็ดูขาดสังฆคารวตามากๆ เหมือนกัน) ความเชื่อถือและความมั่นใจต่อองค์กรสงฆ์ดูลดต่ำที่สุดเมื่อคณะพระวินัยธรศาลชั้นต้นร่วมกันตีความว่า ฆราวาสไม่มีสิทธิกล่าวหา-ฟ้องร้องพระภิกษุ ตัดสินว่าคำฟ้องร้องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นอันสิ้นสุด สุดท้ายนำไปสู่การปลดเจ้าคณะภาค 1 วัดยานนาวา ออกจากตำแหน่ง

เสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองสงฆ์ดังมากขึ้น ๆ จนมีการตั้งกรรมการและอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อการนี้ ส่วนฉากสุดท้ายจะจบลงอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันแบบตาไม่กะพริบต่อไป

บทสรุป

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ชีวิตของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ นั้น นับแต่อุบัติขึ้น ดำเนินไป จนแม้จะจากไปแล้ว ก็ยังดำรงตนเป็นผู้ให้แก่สังคมไทยตลอดเวลา แม้ท่านจะกำเนิดจากตระกูลชาวนาสามัญ แต่ก็ได้ก้าวขึ้นถึงฐานะตำแหน่งสูงสุดในหลายๆ ด้าน ทางการศึกษาก็เรียนจบเนติ-บัณฑิตไทย ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากต่างประเทศ จบแล้วก็ได้คิดทำสิ่งดีๆ แก่อนุชนชาวไทยทั้งมวล โดยได้เข้าร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ก่อการอภิวัฒน์ นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับนับถือสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันมาสู่ประชาชนคนไทยทั้งมวล

เมื่อเข้าสู่วงการเมือง แม้ตนเองจะไม่ประสงค์ตำแหน่งแห่งที่ใด เพื่อนฝูงซึ่งตระหนักถึงความรู้ ความสามารถ และความเป็นปราชญ์ที่แท้จริงของท่าน ทางด้านการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ก็ได้ขอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ สุดท้ายก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสามวาระ ทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของพระราชอาณาจักรสยาม จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติดูแลทุกข์สุขของราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณด้วยดีตลอดมา

ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสประสบความสำเร็จสูงสุดเช่นนี้ ตอบตามหลักพระศาสนาก็ต้องว่าบุญเก่า ปุพเพกตปุญญตา และความพากเพียรในปัจจุบัน พวกเราทั้งหลายที่ทำอะไรได้ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สำเร็จสมบูรณ์ คงต้องสำรวจดูคุณธรรมสองประการนี้ว่ามีย่อมีหย่อนกันอยู่ตรงไหน

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีบุญเก่าดีให้ได้มาเกิดในปฏิรูปประเทศ เกิดในตระกูลที่มีบรรพบุรุษและบิดามารดาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นคนเคร่งครัดในศีลธรรม อดทนต่อสู้ ท่านเกิดที่บ้านหน้าวัดพนมยงค์ คุณยายและพ่อแม่นำไปสู่พระศาสนา ได้บรรพชาเป็นสามเณรในช่วงสั้นๆ ซึบซับคุณค่าพระศาสนา ความจริง ความดี และความงามไปจากวัด ทั้งยังได้หล่อหลอมบุคลิกความเป็นคนอดทน คนสู้ชีวิต และแกล้วกล้าอาจหาญจากคุณพ่อเสียง สายเลือดของคนอยุธยาเมืองเก่า

ท่านปรีดีจึงเป็นชาวพุทธโดยเนื้อหาสาระ มิใช่ชาวพุทธตามพิธีกรรม เป็นคนดีมีศีลโดยไม่ต้องรับศีลบ่อยๆ เป็นคนมีธรรมโดยไม่ต้องท่องบ่นชื่อหมวดธรรมเนืองๆ ความเป็นคนดีคนเก่งและคนกล้าของท่านนำไปสู่การสมาคมกับเพื่อนฝูงผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน เมื่อศึกษาอยู่ก็เรียนอย่างจริงจัง รู้แจ้งแทงตลอดศาสตร์นั้นๆ จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ เมื่อมาทำงานรับผิดชอบด้านใดก็ครุ่นคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แก่หน่วยงานนั้นโดยไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศชาติประชาชนได้รับผลประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ของท่านมากมาย

แม้ชีวิตครึ่งหนึ่งของท่านปรีดีจะต้องเผชิญกับผลแห่งกรรมเก่าของตน และการสร้างกรรมใหม่ของคนบางคน-บางกลุ่ม ที่มากด้วยความโลภ โกรธ หลง และอิจฉาริษยา แต่ท่านก็ดำรงชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย เคร่งครัด มัธยัสถ์ ประหยัด เฝ้าติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองด้วยความรักและห่วงใยสม่ำเสมอ บางครั้งก็ค้นคว้าเขียนบทความและหนังสือชี้แจงความเข้าใจผิดของสังคมและชี้แนะรัฐบาลและสังคมไทยในทางที่ถูกที่ควรอยู่เป็นประจำ

ถ้าสังคมไทยไม่อคติต่อท่านเกินไป หรือมีความคิดเห็นพร่ามัวเกี่ยวกับท่านเกินไป ก็น่าจะได้นำวิสัยทัศน์ ความรู้ ประสบการณ์ของท่าน ทั้งที่ปรากฏอยู่แล้วในรูปตำรับตำรา บทความ บทสัมภาษณ์ หรือคำบอกเล่าต่างๆ ก็น่าจะได้นำมาพิจารณาเพื่อประยุกต์ใช้กับสังคมไทย จะเป็นการยังประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมไม่น้อยเลย กล่าวเฉพาะวงการพระศาสนาและคณะสงฆ์ ในเรื่องการปรับปรุง-ปฏิรูปการปกครองสงฆ์ให้สมสมัยกับสังคมที่เปลี่ยนไป

ท่านปรีดีก็ได้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ จากฉบับ ร.ศ. 121 (2445) มาเป็น พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2484 ทำให้การปกครองสงฆ์เป็นประชาธิปไตย อนุวัตรคล้อยตามการปกครองของบ้านเมืองไปด้วย แต่ พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2484 ใช้ได้เพียง 20 ปี ก็มีเหตุการณ์ไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในสังฆมณฑลอย่างจงใจ จนนำคณะสงฆ์กลับไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการโดยคณะเดียว ภายใต้ พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2505

ท่านปรีดียังคงห่วงใยเรื่องการพระศาสนาและคณะสงฆ์อยู่เสมอมา ท่านต้องการให้พระสงฆ์พัฒนาตนให้ก้าวหน้าสมสมัย แต่อยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ดังที่ท่านเลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ อยากให้เกิดสวนโมกข์ขึ้นอีกแห่งในอยุธยา และสุดท้ายก่อนถึงแก่อนิจกรรมเพียงสามสี่ปี ท่านก็ยังฝากเรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองคณะสงฆ์ไทยไว้ให้พวกเราดูแลต่อไปด้วย

นี่คือชีวิตของมหาบุรุษ-รัฐบุรุษแท้ ที่เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เป็นชีวิตเพื่อให้ มิใช่เพื่อกอบโกยเพื่อตนเองและพวกพ้องอย่างไม่รู้พอไม่รู้อิ่มดังนักการเมืองหลายๆ คนในเมืองไทยปัจจุบัน เข้าใจว่าคนเหล่านั้นคงไม่ได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือถ้าศึกษาก็อาจจะไม่จบ หรือจบก็เป็นพวกศิษย์ชั้นเลวๆ ที่ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์

ด้วยชีวิตและผลงานดังกล่าวนี้เอง ในมงคลวาระครบศตวรรษแห่งชาตกาลของท่านปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม 2543) องค์การศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ยกย่องท่านปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นปูชนียบุคคลของโลกตามข้อเสนอของรัฐบาลไทย

และในวาระสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตามความนิยมของโลก นิตยสาร เอเชียวีค (ฉบับ 31 ธ.ค.-7 ม.ค. 43) ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในทวีปเอเชีย ก็ได้ยกย่องท่านปรีดีให้เป็น 1 ใน 18 บุคคลของเอเชีย (ซึ่งรวมทั้งท่านมหาตมาคานธีแห่งอินเดียด้วย) โดยได้กล่าวสดุดีไว้ว่า

นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นผู้ก่อการยึดอำนาจรัฐเหมือนอย่างที่มีกันดกดื่นในไทยในห้วงเวลาต่อมา หากแต่เป็นผู้ใฝ่ฝันแสวงหาและดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งประเทศชาติที่ทันสมัยและยืนอยู่บนรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย…”

ขอกล่าวย้ำอีกครั้งในตอนสุดท้ายนี้ว่า ท่านปรีดีมิใช่เป็นผู้ใฝ่ฝันแสวงหาแต่ความทันสมัยของประเทศหรือระบอบการปกครองของอาณาจักรเท่านั้น ท่านยังใฝ่ฝันเช่นเดียวกันนี้กับพุทธจักร-คณะสงฆ์ด้วย บัดนี้ ฝ่ายบ้านเมืองได้ดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปหลายส่วนแล้ว (จะถูกผิดอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง) ไม่ว่าการเมืองการปกครอง การศึกษา สื่อสารมวลชน เศรษฐกิจ-สังคม ควรหรือที่การคณะสงฆ์จะยังคงยืนอยู่ในระบบแข็งทื่อเป็นไม้สูงต้านลมแรงอยู่เยี่ยงนี้ ปัญหานี้มิใช่เป็นการบ้านเฉพาะของพระมหาเถรานุเถระคณะสงฆ์ แต่เป็นปัญหาร่วมกันของประชาชนในบ้านนี้เมืองนี้

คงต้องขอจบด้วยถ้อยคำเทียบเคียงคำของท่านรัฐบุรุษอาวุโสว่า

“เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ระบบการปกครอง-บริหารจัดการของคณะสงฆ์จำต้องเปลี่ยนไปตาม มิฉะนั้นจะเกิดความขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจและสังคมบ้านเมืองที่เป็นรากฐาน และก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางศีลธรรมและจิตวิญญาณของราษฎรทั้งหมดของสยามประเทศนี้”

 

 

หมายเหตุ: 

  • บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-buddhism/ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 โดย พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) สมณศักดิ์ขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงสมณศักดิ์ พระราชปัญญาเมธี (สมชัย กุสลจิตฺโต ป.ธ.๙, รศ.ดร.)