ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พระอาจารย์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา “สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)”

29
มีนาคม
2568

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องของสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรในการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังการเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาให้เป็นประชาธิปไตย ผ่านหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระไตรปิฎก และภาพถ่ายที่หาชมได้ยากอย่างยิ่ง

 


พระภิกษุพหลโยธี

 

ยุคสมัยบ้านเมืองปกครองด้วยผู้นำคณะราษฎรระหว่าง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475-16 กันยายน พ.ศ. 2500 ผลงานทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับการจดจำอันดับต้น ๆ ได้แก่ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝากฝั่งมหานิกายสำเร็จเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นไปถึง 80 ปี นับจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พ.ศ. 2333 - 2396) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของกรุงรัตนโกสินทร์ แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ต่อเนื่องจากนั้นอีกเพียงสามปีต่อมา รัฐบาลของคณะราษฎรก็สามารถตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งรวมถึงความพยายามหลอมรวมสองนิกาย คือ มหานิกาย และ ธรรมยุต เข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านงานอุปสมบทของหัวหน้าคณะผู้ก่อการ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน พ.ศ. 2430-2490) เมื่อเข้าพรรษา พ.ศ. 2484 วันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งก่อนพิธีการครั้งสำคัญนั้น รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการจัดแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยจนเกิดมรรคผลสำเร็จเป็นชุด 80 เล่มในอีก 17 ปีถัดมาทันเฉลิมฉลองในงาน 25 พุทธศตวรรษ ช่วงวันวิสาขบูชาของ พ.ศ. 2500 อันเป็นปีแห่งการสิ้นสุดอำนาจของผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้าย คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 


คำนำ พระไตรปิฎกแปลไทยชุดแรกของประเทศไทย โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีปี 2499

 

ด้านปัจเจกบุคคล สามผู้นำคณะราษฎรล้วนมีภาพจำที่แสดงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ดังกรณีพระยาพหลฯ เคยใช้วิธีการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจตั้งมั่นก่อนการลงมือปฏิบัติการเมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยให้สัมภาษณ์กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไว้ว่า

“ถือหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ...ภายหลังที่ได้รับอาหารเย็นทุกวัน เว้นเสียแต่ในวันที่มีกิจธุระเป็นพิเศษ ท่านได้ลงไปในสวนและนั่งลงภายใต้ร่มไม้ แล้วก็กระทำสมาธิเพ่งเล็งอยู่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว...ได้ปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิอยู่หลายเดือน จิตต์ใจก็แน่วแน่อยู่แต่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว และกำลังใจก็ได้แก่กล้าขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในเวลาตีสี่ของวันที่ 24 มิถุนายน”[1] ภายหลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เจ้าคุณพหลฯได้อุปสมบทในพิธี “หลอมนิกาย” เมื่อพรรษา พ.ศ. 2484[2] ณ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน[3]

ด้านอาจารย์ปรีดีถึงแม้ว่าจะไม่เคยเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่มันสมองคณะราษฎรระหว่างมีอำนาจเลือกประยุกต์พุทธศาสนาเพื่อการเมืองการปกครอง นับแต่การผูกมิตรร่วมงานกับพระหัวก้าวหน้าอย่างพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถร พ.ศ. 2446-2532 สมณศักดิ์สุดท้ายคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์) หรืออารธนาพระมหาเงื่อม (พุทธทาส) เข้าพระนครเพื่อหารือเรื่องการคณะสงฆ์[4]  อีกทั้งมีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ส่วนร่วมสำคัญต่อการปรับปรุงโครงสร้างคณะสงฆ์ จนรัฐบาลสามารถตราพระราชาบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้สำเร็จรวมถึงการใช้พุทธศาสนาในการผูกสัมพันธ์กับต่างประเทศ ดังกรณีแสดงตนเป็นพุทธมามกะที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2479[5] เป็นต้น

ด้านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อสูญสิ้นอำนาจแล้ว ระหว่างลี้ภัยอยู่ประเทศญี่ปุ่น จนเมื่อกลางปี พ.ศ. 2503 เลือกเดินทางไปอุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย อันเป็นอีกหนึ่งพุทธสถานสำคัญที่ริเริ่มก่อสร้างโดยท่านผู้นำนี้ โดยแสดงความจำนงแบบเรียบง่ายว่า “พ่ออยากจะบวชกับพระไทย พระพม่า พระญวน พระลาว พระฝรั่งเศส ฯลฯ เป็น International Ordination...ทางรัฐบาลอินเดียเขาให้ความสะดวกดี พ่อได้รับจดหมายของท่านนายกรัฐมนตรีเนห์รูหนึ่งฉบับแสดงมิตรไมตรีดีต่อพ่อ”[6] ครั้นเมื่อพระธรรมธีรราชมหามุนี (ต่อมาคือสมเด็จพระธีรญาณมุนี ธีร์ ปุณฺณโก) เสนอจะนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นมาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้จอมพลผู้นิราศยังประเทศอินเดีย กลับได้รับคำปฏิเสธว่า “เกรงใจ”[7]

สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่เดิมสมเด็จธีร์ว่าเคยคิดจะนิมนต์มาบวชให้จอมพล ป. ที่อินเดียนี้ ก็คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ พ.ศ. 2432-2505) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อธิบดีสงฆ์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้มีบทบาททั้งด้านการเมืองปกครอง และการศึกษาอย่างสูงในสมัยเรืองอำนาจของผู้นำคณะราษฎร

 

วังกับวัดระหว่างหมุดคณะราษฎร “วังปารุสกวัน” และ “วัดเบญจมบพิตร”

 


ภิกษุพหลโยธีฉายร่วมกับพระนิสสยาจารย์ ภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

 

ภายหลังผลัดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับผู้นำคณะราษฎรรุ่นหนุ่มกว่าคือ หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. ในเวลาต่อมา) เมื่อปลายปี พ.ศ.2481 แล้ว ในพรรษา พ.ศ.2484 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พระยาพหลพลพยุหเสนาได้แสดงความศรัทธาที่มีต่อพระบวรพุทธศาสนาด้วยการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในงานบวชครั้งประวัติศาสตร์ที่จัดขึ้นในวัดสร้างใหม่ที่เดิมตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน” แทนเมื่อได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2483

การอุปสมบทนี้ยังนับเป็นพิธีกรรมประเดิมวัดครั้งแรก ก่อนการเปิดอย่างเป็นทางการในวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ทั้งนับเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมต่อความพยายามหลอมรวมพระสงฆ์ไทยทั้งสองนิกายคือ “มหานิกาย” และ “ธรรมยุต” เข้าไว้ในสังฆกรรมเดียวกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ซึ่งเป็นพระมหาเถระจากฝั่งมหานิกายรูปแรกในรอบ 80 ปีที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และมีพระนิสสยาจารย์ คือ “พระพรหมมุนี (ปลด)” อดีตสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยครูปแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 และ รูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (สา) องค์ที่ 9 และต่อมาพระพรหมุนีนี้ได้เลื่อนชั้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระวันรัต” และเจริญรอยตามสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรก ด้วยการขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดด้วยการดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันในเวลาต่อมา

 


ภิกษุพหลโยธี กับ พระนิสสยาจารย์ “พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโภณ)

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าพิธีอุปสมบทที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ครั้งนั้นที่วัดสร้างใหม่ย่านบางเขน แต่สังฆสถานแห่งนี้ก็ยังคงใหม่เกินกว่าจะจำพรรษาได้ พระนวกะผู้ได้รับฉายาพระว่า “พหลโยธี” จึงเลือกจำพรรษา ณ วัดเบญจมบพิตร วัดที่เดินเท้าไม่ไกลจากวังปารุสกวันที่ท่านอาศัยอยู่ และโดยภูมิศาสตร์มีลานพระบรมรูปทรงม้าที่เพิ่งได้ปักหมุดคณะราษฎร 5 ปีก่อนหน้างานบวชนั้นอยู่คั่นกลาง[8]

สมภารวัดแห่งนี้คือพระมหาเถระผู้ทรงคุณูปการ ผู้ทำหน้าที่เป็น “พระนิสสยาจารย์” แก่พระภิกษุพหลโยธี ท่านคือผู้นำสงฆ์ผู้ครองบทบาทนำในยุคเรืองรองของเหล่าผู้นำรัฐบาลจากคณะก่อการ 2475 ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นสู่อำนาจตลอดระยะเวลา 25 ปี ระหว่าง พุทธศักราช 2475-2500

ในบทความรำลึก 137 ปีชาตกาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงขอแนะนำชีวประวัติและผลงานของพระมหาเถระรูปนี้ไว้ในวาระโอกาสสำคัญนี้

 

พุทธจักรสยามยุคระบอบใหม่

ก่อนอื่น เพื่อให้พอเห็นภาพบริบทของพุทธจักรสยามเมื่อคราวพลิกแผ่นดิน การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้ก่อเกิดแรงกระเพื่อมถึงคณะสงฆ์จากฝ่ายมหานิกายซึ่งรู้สึกถูกกดทับในระบอบเก่ามานาน กลุ่มพระหนุ่มมหานิกายกว่า 300 รูปจึงรวมตัวกันก่อตั้ง “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” เริ่มต้นด้วยการประชุมที่บ้าน “ภัทรวิธม” เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2477 และออกแถลงการณ์ลงหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ประกาศเป้าหมาย “...เพื่อความเสมอภาคในการปกครองคณะสงฆ์ และการรวมนิกายสงฆ์ให้มีสังวาสเสมอกัน คือมีอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน...”[9]

คณะนี้เคยส่งตัวแทนเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีนายถวัติ ฤทธิเดช มันสมองของคณะราษฎรเป็นผู้แนะนำ ท่านปรีดีให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์เล่าว่า “...ไปบ้านป้อมเพชร ท่านปรีดีนุ่งกางเกงแพรดำ ใส่เสื้อป่านกุยเฮงสีขาว ลงมารับหน้าตึก แล้วจุดบุหรี่ให้ภิกษุทุกองค์ จากนั้นกล่าวว่า ‘เรื่องของพระคุณนั้นผมทราบโดยตลอด เพราะสันติบาลรายงานมา ผมเห็นด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไข โดยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสภา และจะให้ขุนสมาหารหิตคดีมาแนะนำ’...”[10]

ความเคลื่อนไหวนี้เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อ ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ส.ส.จังหวัดปราจีนบุรี (อดีตสมาชิกคณะ ร.ศ. 130) ยกขึ้นเป็นกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2479 นายทองอยู่ พุฒิพัฒน์ ส.ส.จังหวัดธนบุรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรวมนิกายสงฆ์ แม้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคยาวนานกว่า 5 ปี ในที่สุดร่างนี้ก็สำเร็จลุล่วงเป็น “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484” ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 ท่าน คือ อาทิตย์ทิพอาภา และ พล.อ.พิชเยนทรโยธิน ลงนามเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2484 อนึ่งเพียงสามเดือนก่อนหน้านั้น ทั้งสองท่านนี้ยังได้เข้าร่วมงานอุปสมบทพระยาพหลฯ อีกด้วย

 

“บรรพชิต” ฉายา พหลโยธี 6 กรกฎาคม–30 ตุลาคม พ.ศ. 2484

พ.ศ. 2484 ณ ตำบลกูบแดง อำเภอบางเขน วัดพระศรีมหาธาตุ (เดิมตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย”) ได้รับการเนรมิตขึ้นจากงบประมาณของรัฐและการเรี่ยไรในสมัยหลวงพิบูลสงคราม ตามดำริของพระยาพหลฯ ผู้ปรารภว่า

“...ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้วควรจะทำบุญอะไรสักอย่าง มีความเห็นว่าควรสร้างวัดสักแห่งหนึ่ง...”

พระยาพหลฯ ยังมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบวัด พร้อมกับคุณหญิงบุญหลง ร่วมบริจาคเงิน 400 บาท เพื่อก่อสร้างวัดแห่งนี้

 


พระพรหมมุนี (ปลด) สรงน้ำให้นาคพระยาพหลฯ ก่อนเข้าพิธีอุปสมบท

 

วัดพระศรีฯ ถือเป็นนิมิตใหม่แห่งการ “หลอมนิกาย” ในพุทธศาสนาไทย หลังถูกแบ่งแยกยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (แต่ยังไม่ได้ผูกสีมา) จากนั้นเพียงครึ่งเดือน งานอุปสมบทซึ่งกลายเป็นตำนานก็เกิดขึ้นในบ่ายวันที่ 6 กรกฎาคม “นาคพระยาพหลพลพยุหเสนา” ชายวัยกลางคน สูง 1.63 เมตร ผิวคล้ำ ร่างท้วม สวมชุดขาวบริสุทธิ์ ก้าวลงจากรถและขึ้นไปกราบพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากอินเดีย บรรจุอยู่ในพระเจดีย์รายล้อมด้วยช่องอัฐิ 112 ช่อง ที่จัดเตรียมไว้สำหรับผู้สร้างคุณูปการแก่ชาติ ตามแนวคิด Panthéon ของฝรั่งเศส

จากองค์พระเจดีย์ สู่พระอุโบสถ มีปะรำพิธีเชื่อมต่ออย่างสง่างาม เพื่อรับขบวนของนาค พระอุโบสถในวันนั้นยังอบอวลด้วยกลิ่นสี บางส่วนมีนั่งร้านปรากฏอยู่ ภายในประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของสยาม (ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2491 ได้ย้ายกลับไปประดิษฐานยังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์) พระเจดีย์อันมีเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ยังพบการจำลองแบบสร้างไว้อีกหนึ่งแห่งที่วัดศาลาทอง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

การอุปสมบทครั้งนี้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีเป็นแม่งาน รายชื่อพระภิกษุผู้เข้าร่วม “รวม 2 นิกาย” มีจำนวน 52 รูป ประกอบพิธีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีฯ นับเป็นปรากฏการณ์ “สมานสังวาส” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นคือ  “แพ ติสฺสเทโว” วัดสุทัศน์ (องค์ที่ 12 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2481-2487, มหานิกาย ) นั่งเป็นประธานในสถานะ “พระอุปัชฌายะ”  โดยมีเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร คือ พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ)  ทำหน้าที่เป็นพระนิสสยาจารย์  พระมหาเถระผู้ทรงคุณสมณศักดิ์ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จพระราชาคณะ) คราวนั้น ก่อนหน้านั้นก็คือสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังเป็นสามเณร 9 ประโยครูปแรกและรูปเดียวแห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 และต่อมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ระหว่าง พ.ศ. 2503-2505

 

พระสงฆ์ผู้มีบทบาทสำคัญสมัยผู้นำคณะราษฎร

“เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระพรหมมุนี ได้เป็นอาจารย์และพระพี่เลี้ยงของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อคราวอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ใน พ.ศ. 2484”

 

ประสูติ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิติโสภโณมหาเถระ) วัด เบญจมบพิตร ประสูติที่บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบูรณะ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู พ.ศ. 2432 เวลา 10 ทุ่ม (04.00 น.) ในรัชกาลที่ 5 บิดาคือ ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) เป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 5 เรียกกันเป็นสามัญว่าเจ้ากรมล้ำ มารดาชื่อปลั่ง

สมเด็จฯ เมื่อเป็นเด็กชายปลด ได้ศึกษาอักขรสมัยกับตา พออ่านออกเขียนได้แล้ว ตาก็พาไปเรียนภาษาบาลีตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ จนถึง พ.ศ. 2443 อายุย่างเข้า 12 ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของพระสาธุศีลสังวร (บัว) ในวัดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารและศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมา

 

การศึกษาและสมณศักดิ์

 


สามเณรปลด ขณะยังเป็นมหาเปรียญ 8 ประโยค ได้รับพระราชทานย่าม “จ.ป.ร.” คราวเสด็จนิวัตจากยุโรป

 

สามเณรปลดบรรพชาได้ 3 เดือน ก็เข้าแปลปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปลายปี พ.ศ. 2443 ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ทรงเป็นอธิบดีในการสอบไล่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงฟังการแปลในวันนั้นด้วย ในปีนั้นเป็นปีแรกที่โปรดให้นิมนต์พระภิกษุสามเณรจากวัดมหาธาตุไปอยู่ประจำในวัดเบญจมบพิตร ภายหลังแรกสร้างได้ 1 ปี เมื่อสามเณรปลดจับแปลประโยค 1 นั้น เป็นวันเดียวกับพระวัดเบญจมบพิตรเข้าแปลเป็นปีแรกด้วย ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดเข้าแปลได้ประโยค 1 ก็ทรงมีรับสั่งว่า “เณรเล็ก ๆ ก็แปลได้” ครั้นทรงทราบว่าเป็นลูกชายเจ้ากรมล้ำ ก็ทรงพระเมตตา โปรดให้ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันนั้น ครั้นในปีรุ่งขึ้นก็เข้าแปลประโยค 2-3 ได้ ได้เป็นสามเณรเปรียญ 3 ประโยคในปีนั้น

 


สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) สังฆนายก กำลังแสดงธรรมเทศนาในงาน 25 พุทธศตวรรษ

 

เมื่อมาอยู่ในวัดเบญจมบพิตรแล้ว ก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมประโยคสูงต่อไปกับสมเด็จพระวันรัต (จ่าย) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรบ้าง กับสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นผู้กำกับการวัดเบญจมบพิตรบ้าง และศึกษากับอาจารย์อื่น ๆ เช่น พระยาปริย์ติธรรมธาดา ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น กับทั้งได้ศึกษาเป็นประจำกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

สามเณรปลดเข้าสอบพระปริยัติธรรมจนได้ประโยคสูงสุดระดับเปรียญ 9 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 อายุย่าง 20 ปี นับเป็นอัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากในวงการศึกษาพระปริยัติธรรมของเมืองไทย แต่ก่อนมาก็มีแต่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เท่านั้นที่ทรงสอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ 9 ประโยคแต่ยังเป็นสามเณรในรัชกาลที่ 3

ครั้น พ.ศ. 2452 อายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง

เมื่ออุปสมบทมาได้ 6 ปี มีอายุ 26 ปี พรรษา 6 ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 และต่อมามีความเจริญก้าวหน้าด้านสมณศักดิ์ดังนี้

พ.ศ. 2466 เป็น พระราชเวที

พ.ศ. 2469 เป็น พระเทพเวที

พ.ศ. 2473 เป็น พระธรรมโกศาจารย์

พ.ศ. 2482 เป็น พระพรหมมุนี (ร่วมงานบวชพระยาพหลฯ พ.ศ.2484)

พ.ศ. 2490 เป็น สมเด็จพระวันรัต

พ.ศ. 2503 ได้รับสถาปนาเป็นพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

ในชั้นต้นเมื่อได้เป็นพระราชาคณะแล้ว ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร และในระหว่างที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีวิสุทธิวงศ์อยู่นั้น ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งในสังคมชั้นสูงตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ลงมาจนในหมู่ประชาชน เป็นอันมาก ว่าเป็นพระเถระหนุ่มที่แสดงธรรมมีโวหารไพเราะทันสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยว่า “เป็นเทศนาที่เหมาะใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก เพราะพระศรีวิสุทธิวงศ์ได้เก็บคดีธรรมผสมกับคดีโลกอย่างสนิทสนมกลมกล่อม และใช้สำนวนโวหารอันเข้าใจง่ายสำหรับบุคคลไม่เลือกว่าชั้นใด

ภายหลังการมรณภาพของปฐมอธิบดีวัดเบญจมบพิตร สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต พ.ศ. 2400-2471) เมื่อ พ.ศ. 2471 ขณะยังครองสมณศักดิ์พระเทพเวที จึงได้เลื่อนขึ้นครองตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหารนี้ จนถึงวันสิ้นพระชนม์ในตำแหน่งสูงสุด ที่สมเด็จพระสังฆราช จนถึงบัดนี้นับเป็นสังฆราชาองค์แรกและองค์เดียวของวัดสำคัญของมหานิกายแห่งนี้

 

การปกครอง กับ ผลงานด้านการศึกษา

 


ปกใน พระไตรปิฎกภาษาไทย ชุดแรกของประเทศไทย เล่มที่ 10 จากทั้งหมด 80 เล่มชุด

 

ตลอดชีวิตสมณเพศ ท่านเป็นกำลังสำคัญในการอำนวยการศึกษา ทั้งในระดับวัด ระดับแขวง มณฑล และระดับประเทศ ทรงดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี โดยเฉพาะกับภารกิจสำคัญที่สุด เมื่อขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะรองที่ “พระพรหมมุนี” นั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมาธิการ แปลบาลีพระไตรปิฎกภาษาไทย และเป็นกรรมาธิการแปลฝ่ายพระสูตร จนสำเร็จจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยเรียบร้อยจบถ้วนพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรกในงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

 

การเมืองสงฆ์หลังสงคราม

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการหลอมรวมนิกายในสมัยผู้นำคณะราษฎรในที่สุดก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายธรรมยุติกนิกายในการล้มล้าง พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2484 ก็เริ่มขยับขึ้นตามมาทันที การเปิดเกมรุกโดยการยื่นเรื่องเข้าสภาเมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2488 ตลอดจนการล่ารายชื่อพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตจำนวน 22  นามเมื่อ พ.ศ. 2490 นำโดยสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ด้วยการอ้างเหตุผลเรื่องเสรีภาพรัฐธรรมนูญและอื่น ๆ หลายประการ เพื่อหลีกเลี่ยงการหลอมรวมนิกายตามกำหนดเวลาที่งวดขมวดเข้ามาทุกที ประจวบท้ายปีเดียวกันนั้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงฯ) อันมีปรีดี พนมยงค์ หนุนหลัง โดยกลุ่มทหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจกลุ่มพลเรือนของผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 อย่างเป็นทางการ (ปรีดีลี้ภัยครั้งแรก ก่อนพยายามกลับมาช่วงชิงอำนาจคืนในอีกปีเศษถัดมา แต่ก็ล้มเหลวและถูกเรียกขานว่า “กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492” เป็นเหตุลี้ภัยครั้งที่ 2 อย่างถาวร จนมิได้กลับมาแผ่นดินแม่อีกตราบวันอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2526)

ภายหลังการขึ้นมามีอำนาจชั่วคราวของนายควง อภัยวงศ์ ต่อเนื่องจนถึงการเถลิงอำนาจยุคสองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกกว่า 10 ปี (พ.ศ. 2491-2500) ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อรวมนิกายจากฝ่ายธรรมยุตถูกจับตาโดยตลอด เหตุปัจจัยนี้ยังผลให้ทางมหานิกายระหว่าง พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งสำนักอบรมครูวัดสามพระยา (ส.อ.ส.) นำโดยพระปริยัติโสภณ (ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “สมเด็จฟื้น”) เพื่อดำเนินบทบาทสกัดการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนลับ ๆ จาก พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา และ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) วัดมหาธาตุ สังฆนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ[11]

ในฝ่ายอาณาจักรเมื่อเริ่มเข้ายุคครองอำนาจสมัยที่สองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่จำร่วมจับมือกับเหล่าขุนทหารและฝ่ายอนุรักษนิยม กลไกลการทำงานของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 แม้นยังคงดำเนินงานไปได้ด้วยดี จะขาดก็แต่เพียงประเด็นการหลอมนิกายจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 8 ปีนับจากการเริ่มใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใหม่นี้ ซึ่งดูเหมือนจะค่อย ๆ สร่างซาระงับไปเงียบ ๆ  หรือว่ากันโดยพฤตินัยก็ถือว่าหยุดชะงักลงอย่างถาวร

ระหว่างทศวรรษแห่งการครองอำนาจของจอมพล ป. นี้เอง การไม่เสมอกันแห่งความเห็นในหมู่สงฆ์ก็เริ่มกลับมาปรากฏชัดอีกครั้งภายหลังการมรณกรรมของสังฆนายกองค์ที่ 2 คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2494 และมีความพยายามของฝั่งธรรมยุติกนิกายที่จะคงยื้อยุดตำแหน่งนี้ไว้ต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ผู้ครองตำแหน่งสังฆนายกทั้ง 2 รูปคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ล้วนมาจากธรรมยุติกนิกาย ครองตำแหน่งนี้รวมกันทั้งสิ้น 3 วาระนับแต่ที่เริ่มใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ นี้ครบหนึ่งทศวรรษพอดี ด้วยการแต่งตั้งให้พระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี พ.ศ. 2440-2514) ขึ้นดำรงสถานะดังกล่าวแทน

ทว่าครั้งนี้กลับถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากฝ่ายมหานิกายซึ่งมองว่าถึงลำดับของพระมหาเถระฝ่ายตนเองที่มีความชอบธรรมมากกว่าคือ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ผู้มีทั้งสมณศักดิ์ที่สูงกว่า คือเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ขณะที่ด้านสมณศักดิ์พระศาสนโศภน เป็นเพียง “รองสมเด็จ” หรือพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของสมเด็จพระวันรัตก็ดูจะเหมาะสมกว่า จึงนำมาซึ่งการล่ารายชื่อพระเพื่อถอดถอนพระศาสนโศภนจนเป็นผลสำเร็จ  ส่งผลให้ สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ได้ขึ้นครองตำแหน่งสังฆนายก อันนับเป็นองค์แรกและองค์เดียวจากฝ่ายมหานิกายที่ได้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้

ทั้งนี้ ภายหลังกรณีพิพาทนี้ต่อมาอีก 9 ปี เมื่อสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อวาระฉัตรมงคล พ.ศ. 2503 แล้ว ตำแหน่งสังฆนายกนี้จึงได้สืบทอดต่อไปยังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) หรืออดีตพระศาสนโสภณ ผู้เคยโดนล่าลายชื่อถอดถอนไปในวาระก่อนหน้านั้นนี้เอง

 

ผลงานด้านการศึกษาชิ้นสำคัญ “พระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ชุดแรกของประเทศไทย”

แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในยุคคณะราษฎรจะมีอายุใช้งานเพียง 21 ปี ก่อนถูกยกเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2505

แต่อีกหนึ่งมรดกสำคัญของวงการสงฆ์จากยุคผู้นำคณะราษฎร ซึ่งยังคงดำรงและได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือความสำเร็จในการจัดพิมพ์และเผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับแปลไทยจากภาษาบาลีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 ในสมัยที่หลวงพิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุคแรก ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น “จอมพล ป.” ในปีถัดมา ซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 เดือนเดียวกับพิธีอุปสมบท “บวชหลอมนิกาย” ของพระยาพหลพลพยุหเสนา อันถือเป็นช่วงเรืองรองของคณะราษฎร และยังอยู่ในบริบทเดียวกับที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่อย่างเข้มข้น สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ทรงปรารภถึงความสำคัญของพระไตรปิฎกว่าเป็นแหล่งรวมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันจัดเป็นหนึ่งในไตรรัตนะ คือ “ธรรมรัตนะ” แม้พระไตรปิฎกฉบับบาลีจะมีอรรถพยัญชนะสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากเป็นภาษาบาลี ผู้ใคร่ศึกษาจึงจำต้องมีความรู้ในภาษานั้น ทว่าการแปลที่มีอยู่กลับแปลเพียงบางตอน ไม่ปรากฏว่ามีการแปลตลอดทั้งเรื่อง

สมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นว่า หากสามารถแปลพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาไทยได้โดยสมบูรณ์ ก็จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อพุทธบริษัทไทย เป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ และเป็นเกียรติของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทว่าด้วยภารกิจอันใหญ่หลวงนี้ไม่อาจสำเร็จได้โดยเอกชน จึงโปรดให้แจ้งความดำริไปยังกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย โปรดให้รับงานแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน ทรงพระราชทานอำนาจในการแต่งตั้งพระเถรานุเถระเป็นกรรมการจัดแปล และมอบหมายให้กรมธรรมการ (ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ ดำเนินการพิมพ์พระไตรปิฎกทั้งในรูปแบบสมุดพิมพ์และใบลาน

โครงการงานแปลพระไตรปิฎกนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การแปลโดยอรรถตามเนื้อหาจากพระไตรปิฎกบาลี เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย” พิมพ์เป็นสมุดเล่ม
  2. การแปลแบบสำนวนเทศนา พิมพ์ลงใบลาน เรียกว่า “พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง”

การแปลเริ่มต้นในปลายปี พ.ศ. 2483 โดยในปีถัดมา กรมการศาสนาได้นำบางส่วนที่แปลเสร็จขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2484 ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก อย่างละ 1 เล่ม รวม 3 เล่ม พร้อมด้วยตำนานพระไตรปิฎกอีก 1 เล่ม อย่างไรก็ดี สงครามโลกครั้งที่สองทำให้วัตถุดิบในการพิมพ์มีราคาแพงและขาดแคลน งานพิมพ์จึงต้องหยุดชั่วคราว แต่การแปลยังดำเนินต่อไป

ในด้าน “พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง” ได้รับการเรียบเรียงตามสำนวนเทศนา แบ่งออกเป็น 1,250 กัณฑ์ ตามจำนวนพระอรหันต์ในคราวจาตุรงคสันนิบาต ประกอบด้วย พระวินัยปิฎก 182 กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก 1,054 กัณฑ์ และพระอภิธรรมปิฎก 14 กัณฑ์ กรมการศาสนาเริ่มจัดพิมพ์ลงใบลานตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แล้วเสร็จครั้งแรกใน พ.ศ. 2492

 

บทบาทของสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ในโครงการแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยครั้งแรก

เมื่อพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวงใกล้เสร็จใน พ.ศ. 2492 สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาการแปล จึงเร่งผลักดันงานพระไตรปิฎกภาษาไทยให้ดำเนินต่อ และแต่งตั้งกรรมาธิการเพิ่มเติมเพื่อทดแทนผู้ที่พ้นหน้าที่ ได้แก่

พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย เขมโก สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระเทพวิสุทธิเมธี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ดูแลส่วน พระวินัยปิฎก

พระเทพเวที ( ฟื้น ชุตินฺธโร สมณศักด์สุดท้ายคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) วัดสามพระยา ดูแลส่วน พระสุตตันตปิฎก

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ สมณศักดิ์สุดท้ายคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์) วัดมหาธาตุ ดูแลส่วน พระอภิธรรมปิฎก

จำนวนเล่มที่พิมพ์กำหนดไว้ 80 เล่มจบ เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า และจำนวนจัดพิมพ์ 2,500 จบ เพื่อเป็นอนุสรณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาทสนับสนุน

งานพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยดำเนินไปด้วยดี และสามารถจัดพิมพ์บางส่วนได้ทันงานพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ[12]

พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยชุดแรก จำนวน 80 เล่ม ซึ่งใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 17 ปี ตลอดยุคของผู้นำคณะราษฎร นับจากปี พ.ศ. 2483 จนทันได้เฉลิมฉลองทันงาน 25 พุทธศตวรรษในช่วงวันวิสาขบูชาปีนั้น ซึ่งเป็นยุคของรัฐประจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เขียนคำนำยกย่องคุณูปการของสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ซึ่งขณะนั้นยังครองสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต และยังดำรงตำแหน่ง “สังฆนายก” ไว้ดังต่อไปนี้

 

คำนำ

ในการที่ทางคณะสงฆ์ อันมีพระคุณเจ้าสมเด็จพระวันรัต สังฆนายก พร้อมด้วยพระเถรานุเถระ คณะกรรมการได้รับศาสนภาระอันสำคัญยิ่ง ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนกระบวนความ อันอาจถือได้ว่า เป็นฉบับแปลบาลีพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ฉบับแรกในประเทศไทย ข้าพเจ้า รู้สึกว่า เป็นบุญกุศลและบุญลาภของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่ได้มีคำแปลพระไตรปิฎกที่รวบรวมขึ้นพิมพ์เป็นเล่มในงาน ฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้

เป็นที่น่าชื่นชมว่า งานแปลพระไตรปิฎกเพื่อให้เป็นรูปสมบูรณ์อย่างนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ได้สำเร็จบริบูรณ์ทันงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. 2500 นับว่าเป็นนิมิตแห่งความสำเร็จผลอันมีค่ายิ่งในประวัติศาสตร์การพระพุทธ ศาสนาของประเทศไทย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ จะเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่สัมมาปฏิบัติ และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาราษฎร์ผู้มีกุศลจิตประพฤติปฏิบัติตาม

ข้าพเจ้าในนามแห่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ขอขอบพระคุณคณะกรรมการจัดแปลพระไตรปิฎก อันมีพระคุณเจ้าสมเด็จพระวันรัต สังฆนายก เป็นประธานไว้อย่างสูง ณ ที่นี้

กุศลผลบุญใด ๆ ที่ทางการคณะสงฆ์ได้รับหน้าที่จัดแปลและรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณ  เพื่อใช้จ่ายในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกแปลฉบับสมบูรณ์นี้ และงบประมาณดังกล่าวก็เป็นทุนทรัพย์ที่ได้มาจากประชาชน ฉะนั้นทั้งทางการคณะสงฆ์ตลอดจนรัฐบาลและประชาชนจึงได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมกันบำเพ็ญกุศลเป็นพุทธาภิบูชาในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ขอกุศลผลบุญนั้น ๆ จงสำเร็จเป็นอิฐวิบุลมนุญผล อำนวยความสุขสถาพรแด่ประชาชนชาวไทยทั่วรัฐสีมาอาณาจักร และขอสันติสุขจงปกแผ่ไปทั่วทุกทิศสถาน ขอประชาชาวโลกทั้งปวงจงมีส่วนแห่งบุญกุศลนี้ และประสบแต่ความเกษมสำราญโดยทั่วกัน ตลอดกาลนิรันดร.

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

(ป. พิบูลสงคราม)

นายกรัฐมนตรี

 

สิ้นพระชนม์

 


พระฉายาลักษณ์ครั้งสุดท้าย สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ขณะทรงประทานพรด้วยน้ำพระพุทธมนต์ ในงานวันเกิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2505 เวลาราวเที่ยงวัน

 

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้เพียง 2 ปี 1 เดือน กับ 12 วัน แวดวงพุทธจักรก็มีเหตุให้สะเทือนใจต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 หลังได้รับการนิมนต์เป็นประธานสงฆ์ในงานวันเกิดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  บ่ายวันนั้นเมื่อกลับมาถึงกุฏิวัดเบญจมบพิตรแล้ว ขณะเข้าห้องน้ำมีพระอาการอาพาธเส้นเลือดในสมองแตกจนทรงสิ้นพระชนม์ลงแบบกระทันหัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ณ ตำหนักในวัดเบญจมบพิตร สิริพระชนมายุได้ 73 พรรษา กับ 21 วัน

เหตุการณ์นี้บังเกิดขึ้นภายหลังการจับกุมพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ สมณศักดิ์สุดท้ายคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ. 2446-2532) ผ่านพ้นไปได้ไม่ถึง 2 เดือน  ปลายปีเดียวกันนั้นภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ของคณะราษฎรที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นสังฆาธิปไตยมากที่สุด

ครั้งหนึ่งอดีตพระพิมลธรรม (อาจ) ได้ยึดถือพระราชบัญญัติฉบับนี้มากและแนะนำชักชวนคณะสงฆ์ให้ดำรงไว้ เพราะเป็น พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่มุ่งสังฆสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยที่สุด[13] "แต่" แล้ว "จอมพลสฤษดิ์ก็" ย้อนกลับไปดึงกฎหมายคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 สมัยรัชกาลที่ 5 กลับมาปรับใช้ ขนานนามใหม่ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 พร้อมทั้งเลื่อนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่  ญาโณทโย พ.ศ. 2417-2508) แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ขณะพระชันษาย่าง 90 สมดั่งคำร่ำลือที่ว่า พระสังฆราชพระองค์ผู้เลื่องชื่อในวิชาโหราศาสตร์ท่านนี้เคยดูดวงตัวเองแล้วตรัสไว้ว่า “ฉันยังไม่ตายหรอก ต้องเป็นสังฆราชเสียก่อน”[14] ทั้ง ๆ ที่ญาติโยมล้วนมองว่าอายุท่านมากเกินกว่าสังฆราช (ปลด) อยู่ถึง 15 ปี และดูไม่น่ามีความเป็นไปได้แต่อย่างใด! ในอีกสถานะ สังฆราชอยู่ยังนับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่สอบได้เปรียญ 9 ประโยคแห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

 

สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) พระอุปัชฌาย์ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

 


นาคพระยาพหลฯ กับ พระอุปัชฌาย์ “สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)”

 

แม้สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) จะดำรงตำแหน่งเพียงระยะเวลาไม่นาน กระนั้นก็เป็นจังหวะสำคัญที่วงการสงฆ์ได้บังเกิดสามเณรเหล่ากอแห่งสมณะรูปสำคัญพร้อมกันถึง 2 ท่านในเวลา 2 ปีนี้ ทำให้พระองค์ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับ “นาคหลวง” ระดับตำนานทั้ง 2 รูปนี้คือ

หนึ่ง คือ สามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยครูปแรกในรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่อมาได้ลาสิกขา คือ ราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคสำเร็จ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเป็นระบบข้อเขียน โดยก่อนหน้านั้น เคยมีสามเณรสอบได้เพียงสองรูปเท่านั้นในประวัติศาสตร์ไทย คือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ในรัชกาลที่ 3 และสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ในพีธีนี้ เมื่อสามเณรเสฐียรพงษ์สอบได้ใน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดให้จัดพิธีอุปสมบทภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันสูงยิ่ง และพิธีนั้นก็กลายเป็นต้นแบบของราชประเพณีในเวลาต่อมา

เพียงหนึ่งปีถัดมา ใน พ.ศ. 2504 ปรากฏว่ามีสามเณรอีกรูปหนึ่งสามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคเช่นกัน สามเณรรูปนั้นก็คือพระมหาประยุทธ์ อารยางกูร ผู้ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในฉายาอันคุ้นเคยปัจจุบัน “ป.อ. ปยุตฺโต” และเป็นเจ้าของผลงานอันทรงคุณค่าคือหนังสือพุทธธรรม ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวพุทธ

จึงนับเป็นเรื่องน่าประทับใจอย่างยิ่งที่ สามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค รูปที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) องค์ที่ 14 ได้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่ สามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค รูปที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้กลายมาเป็นพระมหาเถระนักปราชญ์สำคัญที่สุดรูปหนึ่งแห่งยุคสมัยของพุทธศาสนาไทย

 

อนุสรณ์งานศพพระยาพหลพลพยุหเสนา จัดพิมพ์พิเศษโดย พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ)

 


ปกอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาพหลพลพยุหเสนา พิมพ์โดยสหธรรมิกร่วมสมัยในวัดเบญจมบพิตร ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2490

 

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษถึงแก่อสัญกรรม วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 สิริอายุ 58 ปี 10 เดือน 17 วัน

งานฌาปนกิจของหัวหน้าผู้ก่อการ “คณะราษฎร” ถูกจัดขึ้น ณ วัดที่ท่านได้เคยจำพรรษาขณะบวช ได้มีการตีพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ 2 เล่ม หนึ่งในนั้น “สหธรรมิกร่วมสมัยในวัดเบญจมบพิตร” มีกัลยาณจิตต์พิมพ์ “พระธรรมเทศนา อบรมนักเรียนนายร้อยทหารบก ณ อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2484” เมื่อครั้งเจ้าคุณพหลอาศัยใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในพรรษานั้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ในขณะเขียนคำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานศพจัดสร้างโดยวัดเบญจมพิตรนี้ ยังคงดำรงสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเป็นพระนิสสยาจารย์ให้ท่านเจ้าคุณพหลฯ ในงานบวชเมื่อ พ.ศ. 2484 หรือ 6 ปีก่อนหน้านั้น ท่านเจ้าปลดได้เขียนคำอุทิศให้ผู้วายชนม์ ดังยกมาพอสะท้อนให้เห็นมุมมองของพระอาจารย์ที่มีต่อจริยวัตรของพระภิกษุ พหลโยธี ในระยะเวลานั้นไว้ดังต่อไปนี้:

“ในการ พระราชทานเพลิงศพ ท่านพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เชฏฐบุรุษแห่งไทย ข้าพเจ้าผู้เป็นนิสสยาจารย์ และอุเทศาจารย์ และสหธรรมิกผู้ร่วมสมัย กับท่าน ในเวลาที่ท่านอุปสมบท และจำพรรษาอยู่ ณะวัดเบ็ญจมบพิตร ต่างมีฉันทะร่วมกัน ว่าควรจะพิมพ์หนังสือที่ท่านได้เรียบเรียงขึ้นในสมัยที่ท่านเป็นภิกษุ ช่วยแจกในงานสักเรื่องหนึ่ง แม้อย่างน้อยก็จักเป็นอนุสสรณีย์ ที่ให้ระลึกถึงท่านด้วยน้ำใจอันงาม ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาสัยทำจริงในกิจที่จะพึงทำ แม้จะดำรงอยู่ในสถานะไรๆทั้งในความเป็นคฤหัสถ์ ทั้งในความเป็นบรรพชิต...ในสถานะที่ท่านเป็นบรรพชิต ท่านอุปสมบท เมื่อมีอายุถึงมัชฌิมวัยแล้วย่างเข้า 53 โดยปี ก็มุ่งทำกิจแห่งบรรพชิตเป็นอย่างดี มิได้บกพร่อง แม้เพียงกิจวัตรประจำวันทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นก็ไม่เคยมีเว้นมีขาด ท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาจริงๆ มีวีริยะอุตสาหะในการศึกษาและในการปฏิบัติเป็นอย่างดี เป็นผู้หนักในพระวินัย คำโอวาทอนุศาสน์ใดๆที่ได้ให้ ท่านรับไว้โดยเบื้องขวา คือ เคารพรับด้วยความตั้งใจดี อาจารย์ที่ได้ศิษย์เช่นนี้ ถึงมีมากก็ไม่หนัก เพราะประกอบด้วยคุณลักษณะเป็น สุวโจ ผู้ว่าง่าย เมื่อถึงคราวที่สำนักจะสอบความรู้พระนวกะ ทางสำนักพิจารณาเห็นว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่และมีความรู้ในนวกภูมิเป็นพิเศษ สมควรให้ท่านเป็นกรรมการผู้ออกข้อสอบ ๆ พระนวกะและทำเฉลยด้วย...ขอท่านสาธุชนผู้ได้อ่านพระธรรมเทศนานี้ จงสำรวมจิตต์อุทิศส่วนกุศลแก่ท่านเชฏฐบุรุษแห่งไทย ผู้ได้ทำประโยชน์ไว้แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญด้วยเจตนาดี ให้จำรูญด้วยความสุขในสัมปรายภพเทอญ.ฯ”

 

หมายเหตุ:

  • รูปแบบอ้างอิงคงไว้ตามต้นฉบับ

 


[1] กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียบเรียง, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475,พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2490, (สำนักพิมพ์จำลองสาร), น.197-200.

[2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, บัพพ์ที่ 5 “หลอมนิกาย” มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484 ใน ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน, พ.ศ.2564, (สำนักพิมพ์มติชน), น.317-363.

[3] ดูภาพเคลื่อนไหว หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี นิมนต์พระพรหมมุนี (ปลด) และ พระพหลโยธี (พจน์) มางานวันเกิดเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2484 ก่อนจะได้อวยยศเป็น “จอมพล” ในปลายเดือนนั้น ดูภาพเคลื่อนไหวจากหอภาพยนตร์ https://www.youtube.com/watch?v=uMMPwezU7oU&t=20s (นาทีที่ 1.14).

[4] สถาบันปรีดี พนมยงค์, ข่าวสาร แนะนำหนังสือ : ปรีดี-พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ” ดู https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1516

[5] กิม หงศ์ลดารมภ์, วิสาขะรำลึก 2479 พุทธธรรมสมาคม, (โรงพิมพ์คณะช่าง). 

[6] อนันต์ พิบูลสงคราม, จดหมายถึงลูก จากพุทธคยา อินเดีย Darjeeling 17 มิถุนายน 2503,จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 5, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519, (ศูนย์การพิมพ์), น. 683.

[7] สมเด็จฯ คิด-เขียน-พูด-เทศน์” พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล ในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) 22 ธันวาคม พ.ศ. 2527, (เจริญรัฐการพิมพ์), น.94.

[8] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พิธีฝังหมุดคณะราษฎร กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ข้างหลังภาพ ดู https://pridi.or.th/th/content/2022/11/1333

[9] คนึงนิตย์ จันทบุตร, “การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2484” พิมพ์ครั้งที่ 1 เม.ย. 2528, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), น. 73.

[10] สัมภาษณ์นายประหยัด ไพทีกุล 2 พฤษภาคม 2525 ใน คนึงนิตย์ จันทบุตร, น. 118.

[11] แสวง อุดมศรี, การปกครองคณะสงฆ์ไทย, (โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย), น. 213.

[12] ทินกร กองเสวต (มหาลออ ทองเสวต), พระมหากษัตริย์ไทย กับ พระพุทธศาสนา, อนุสรณ์ เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ทินกร กองเสวต (มหาลออ ทองเสวต) ณ เมรุวัดหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร เมื่อ วันเสาร์ ที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2519, (โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ปราณบุรี), น. 62-65.

[13] สิริวัฒน์ คำวันสา และ ทองพรรษ์ ราชภักดิ์, “สงฆ์ไทยใน 200 ปี” (เล่ม2), (รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2525), น. 173.

[14]เสงี่ยม คุมพวาส, สมเด็จพระสังฆราช สมัยจักรีวงศ์, (บำรุงสาสน์, 2508), น. 547.