ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะนำหนังสือ : รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

21
มิถุนายน
2564

รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

  • ผู้เขียน : ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
  • พิมพ์ครั้งที่่ 1 : มิถุนายน 2564
  • พิมพ์ที่ : บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด
  • ปีที่พิมพ์ : 2564
  • จำนวนหน้า : 176 หน้า
  • ISBN : 978-616-92435-6-4

สารบัญ

  • ปรีดี พนมยงค์: จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้    
  • การผูกขาดความทรงจำ: การสืบทอดความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยหมดสิ้น    
  • ปฐมบทแห่งการต่อสู้: เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
  • รัฐประหาร: การก่อการที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศ    
  • ชนชั้นนำ: อุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมในปัจจุบัน
  • คนรุ่นใหม่: การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ    
  • ความสงสัยต่อรัฐสวัสดิการ: ปลายทางชีวิตที่ดีขึ้น    
  • ชวนคุยเรื่องรัฐสวัสดิการ ดำเนินรายการ โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
  • ประวัติผู้เขียน
  • ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
  • เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
  • เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ
  • ประวัติผู้เขียน 

 

ความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คือ “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม ถ้าประชาชนยังไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมืองก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญลำดับแรกที่ต้องทำภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเริ่มที่การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสังคมเสียก่อน โดยจัดวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอแนวคิด “รัฐสวัสดิการ”

เค้าโครงการเศรษฐกิจได้วางหลักการประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย หรือที่ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” เพราะด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนล้วนต้องประสบกับความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำเนินชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรได้รับการประกันจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย พิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับปัจจัยแห่งการดำรงชีพอย่างเพียงพอ รวมถึงมีเงินเดือนพื้นฐานและมีงานทำอย่างถ้วนหน้า ซึ่งการประกันเช่นนี้จะทำได้ก็โดยสวัสดิการที่มาจากรัฐเท่านั้น

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ เกิดขึ้นในบริบทที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีฐานะยากจน ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ จึงหมายถึงประชาชนมีสิทธิเสมอกันในการที่จะไม่อดตาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาช่วยดูแลจัดการเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน ไม่ใช่การไปริบเงินคนรวยแล้วมาแบ่งเท่าๆ กันแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการผลักดันเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ ต้องประสบกับแรงต้านทานมาโดยตลอด

หลังเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดที่การมีสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการดูแลเศรษฐกิจ ให้เกิดความเป็นธรรม และส่งมอบสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันขึ้นอีกครั้ง

ในวาระครบรอบ 121 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงได้เชิญ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มาเป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ด้วยอาจารย์ษัษฐรัมย์ เป็นทั้งนักวิชาการและตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ศึกษาและเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ษัษฐรัมย์เป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อ   ความทุกข์ยากของราษฎรเช่นเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์

หนังสือเล่มนี้จะเป็นประตูเชื่อมโยงแนวคิดด้านเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เข้ากับกระแสเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์ษัษฐรัมย์มองว่า ปรีดี พนมยงค์เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุด จิตวิญญาณของปรีดี พนมยงค์ คือ “จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ” ที่จะนำไปสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรอย่างแท้จริง ดังเจตนารมณ์ของผู้อภิวัฒน์การปกครอง 2475

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
บรรณาธิการบริหาร
มิถุนายน 2564

ดาวน์โหลด : https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/20210618-Pridi-Day-2564-2021.pdf

 


 

ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อหนังสือ "รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" ได้ที่ PRIDI Shop
https://shop.pridi.or.th/th/product/772720