ถึงที่สุดสายน้ำแห่งการสาธารณสุขไทย 2 สาย ทั้งในเชิงป้องกันและการรักษาโรค ต่างมาบรรจบกันสำเร็จตรงกลางทศวรรษ 2480 รัฐบาลคณะราษฎร พร้อมๆ กับการตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี 2485 ยิ่งกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงนั้นยังเกิดขึ้นในระดับวิถีชีวิตของประชาชน
เห็นได้จากการเผยแพร่หลักบริโภคศาสตร์ในทศวรรษ 2480 ได้บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและยังมีการรณรงค์ผ่านสื่อวิทยุการจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ การจัดประกวดการทำอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนหันมากินอาหารตามหลักโภชนาการใหม่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกองส่งเสริมอาหาร
เนื่องจากปัญหาของประชาชนไทยในยุคสมัยนี้ คือการบริโภคคาโบไฮเดรตมากกว่าโปรตีน จนกระทั่งคณะราษฎรถึงกับผลักดัน “ลัทธิโปรตีน” ขึ้นมาเป็นแนวทางหลักในการรณรงค์ ผลที่ตามมาทางอ้อมคือมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหารให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลานี้ ‘ชาติชาย มุกสง’ พบว่า รัฐบาลคณะราษฎรในยุคสมัยที่ยังรวมกลุ่มการเมือง (2475-2490) ได้พยายามปรับปรุงเศรษฐกิจของประชาชนด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารในครัวเรือน ผ่านการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวอย่างจริงจัง มีการตรากฎหมาย ออกคำสั่งให้ข้าราชการทำตัวเป็นแบบอย่างทางการสาธารณสุข การประชาสัมพันธ์ที่แพร่หลาย ก็ผลิดอกผลออกมา เสมือนการตระเตรียมเสบียงให้ประชาชนเมื่อประเทศต้องเผชิญสงครามในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ในภาวะข้าวยากหมากแพง แก้ปัญหาอย่างไร
ในสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อีกทั้งผลผลิตจำนวนมากต้องส่งป้อนให้แก่กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานที่มั่นในประเทศไทย หนึ่งในเมนูที่ประยุกต์ขึ้นมาจากอาหารของคนจีนโดยความตั้งใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นคือ “ก๋วยเตี๋ยว” นับเป็นความพยายามหาสูตรอาหารที่อุดมไปด้วยโภชนาการและสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจของประชาชนด้วย
ดังคำปราศรัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2485 ได้ชักชวนให้คนไทยหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยวด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ มากกว่านั้นยังชี้ให้เห็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากการหมุนเวียนของเงินตรา เป็นการบูรณาการเกษตรกร ผู้ผลิตเครื่องปรุง ผู้ค้าขาย ผู้บริโภคให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ปรากฏในคำสั่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2485 ให้กระทรวงมหาดไทยสั่งไปยังทุกอำเภอให้ “ขายก๋วยเตี๋ยวเกิดในทุกตำบล ตำบลละ 1 หาบ จะดีมาก” ซึ่งยังรวมไปถึงของหวานจำนวนหนึ่งที่เสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงได้
อีกตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นความต่อเนื่องจากนโยบายของคณะราษฎรในทศวรรษ 2480 คือการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งระบบบริหารจัดการ บุคลากร อุปกรณ์ สถานที่ และแนวคิดทางการแพทย์สมัยใหม่ และเห็นผลจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหนังสือ อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข ครบ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๐ บรรยายช่วงรอยต่อที่สำคัญของบ้านเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ใจความสำคัญ คือ แม้ว่าจะเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ฯลฯ เมื่อสงครามยุติลงในปี 2488 เจ้าหน้าที่มีเวลาและเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถควบคุมโรคระบาด 2 ชนิดได้ดีขึ้น คือโรคไข้มาลาเรียและโรคคุดทะราด
นโยบายด้านการสาธารณสุขและโภชนาของรัฐบาลคณะราษฎรจึงแยกไม่ออกจากนโยบายเศรษฐกิจ และสิ่งนี้เองส่งผลอย่างสำคัญต่อนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทยของสหรัฐในทศวรรษ 2490 เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลคณะราษฎรสูญเสียฐานะการนำไปแล้ว
หลักคิดสาธารณสุขยังอยู่ ท่ามกลางหลายสิ่งที่หายไป
หลังการรัฐประหารรัฐบาล ‘พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยผู้นำในการก่อการคือ ‘พลโท ผิน ชุณหะวัณ’ ก่อนจะมีการเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมานั้น บทบาททางการเมืองของคณะราษฎรในช่วงเวลานี้ต้องพิจารณาใหม่ในฐานะกลุ่มการเมืองที่แตกต่างจาก 15 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
แม้ว่า “มรดกคณะราษฎร” หลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่นั่นคือ “แนวทางการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่” ความสัมพันธ์ใหม่ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับสหรัฐอเมริกา คือแบบแผนความสัมพันธ์ที่เชื่อมเอาความรู้ทางวิชาการจากสหรัฐ และนานาชาติเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานสาธาณสุขไทยที่ถูกปูไว้ก่อนทศวรรษ 2490
ประกอบกับที่ไทยเข้าร่วมกับสหประชาชาติหลังประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้วิทยาการเทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างมาก ประเทศไทยจึงไม่บาดเจ็บจากไฟสงครามมากเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีทั้งหมด 4 ด้านคือ 1. ทางการทหาร ส.ร.อ. 2. ทางธนาคารโลก 3. ทางสหประชาชาติ ซึ่งแยกเป็นสาขาต่างๆ เช่น F.A.O. UNESCO ฯลฯ และ 4. โครงการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการของสหรัฐอเมริกา
เมื่อการแพทย์กลับคืนสู่สภาพที่ดีมากขึ้น นอกจากการขจัดโรคระบาดให้หมดไปแล้ว รัฐบาลในทศวรรษ 2490 ยังมีการวางแผนส่งเสริมกิจการสงเคราะห์มารดาและเด็กสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2491 ในช่วงเวลานี้ไทยได้จัดตั้ง สถานสงเคราะห์แม่และเด็ก กรุงเทพฯ มีการปรับปรุงโรงเรียนผดุงครรภ์ มีการสร้างแผนควบคุมและป้องกันวัณโรคโดยวิธีการฉีดวัคซีน และการผลิตวัคซีน โดยกองวิทยาศาสตร์สภากาชาดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ฯลฯ
จากการศึกษาของ ‘ธันวา วงศ์เสงี่ยม’ เสนอไว้ว่า การดำเนินนโยบายด้านการสาธารณสุข ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เน้นการขยายบริการด้านการแพทย์และสุขภาพไปยังหัวเมือง โดยมีเป้าหมายในการสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดในทศวรรษนี้ การดำเนินงานด้านการสาธารณสุขอีกด้านหนึ่งที่มีเป้าหมายชัดเจนในการป้องกันและการกำจัดโรค โดยที่ไทยได้รับการสนับสนุนวิธีการ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์จากสหรัฐอเมริการวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เช่น โครงการควบคุมโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้างด้วยการฉีด ดี.ดี.ที กำจัดยุงตามบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ระบาดทั่วประเทศ การควบคุมโรคคุดทะราช โรคเรื้อน รวมทั้งโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในแม่และเด็ก เช่น วัณโรค การปลูกฝี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่ออาศัยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แนวทางการสาธารณสุขในช่วงทศวรรษ 2490 จึงแสดงให้เห็นการสานต่อแนวคิดของคณะราษฎร แม้อิทธิพลของคณะราษฎรจะลดลงแล้ว
ท่ามกลางหลายสิ่งที่หายไป แต่แนวคิดการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่ที่รัฐบาลคณะราษฎรได้ปูพื้นฐานยังคงเชื่อมต่อกับระเบียบโลกใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่การยกระดับการสาธารณสุขจะเกิดขึ้นได้ทันทีแม้ประเทศไทยจะเพิ่งผ่านสงครามโลกมาไม่นาน
เอกสารอ้างอิง
- ชาติชาย มุกสง, รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, 2556)
- ธันวา วงศ์เสงี่ยม, รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ.2475-2500, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, 2553)
- บําราศนราดูร, พระ. บรรณาธิการ, อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข. (กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์, 2510)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง