ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สร้างชาติด้วยการแพทย์ (ตอนที่ 2): ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ตาย

9
กรกฎาคม
2564
ที่มา: หนังสือ “อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข”
ที่มา: หนังสือ “อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข”

 

แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะนำมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการปกครองสูงสุดของประเทศ แต่เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ภารกิจในการสร้างรัฐเวชกรรม ตามเป้าประสงค์ตั้งต้นของคณะราษฎร ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตั้งแต่แรก เนื่องจากรัฐบาล ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ (อันเป็นผลมาจากการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรและฝ่ายเจ้าเดิม) 

รัฐบาลแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังมิได้ริเริ่มโครงการทางด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง ภารกิจส่วนใหญ่ที่รัฐบาลนี้สนใจจึงเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) 2475 

ดังนั้น เราจะเห็นจากตอนที่แล้วว่าการตรากฎหมายหลายฉบับเพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุข มาเกิดขึ้นในรัฐบาลของ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ หนึ่งในผู้ก่อการอภิวัฒน์ 2475 สืบเนื่องมาถึงรัฐบาล ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ จนเมื่อเริ่มขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังได้ ทัศนะใหม่ที่ว่าด้วยการแพทย์และการสาธารณสุขจึงปรากฏขึ้นอย่างจริงจัง 

“ทัศนะใหม่” ที่ว่าหมายถึง การทำให้การสาธารณสุขเป็นสิทธิของราษฎรที่จะต้องเข้าถึงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร กล่าวให้ชัดกว่านั้นก็คือ การที่ทำนโยบายด้านการสาธารณสุขอย่างเป็นระบบนั้น ให้เกิดขึ้นหลังจากการปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 

‘หมอยงค์’ ยุคคณะราษฎร กับ ดร.ตั้ว ผลักดันโภชนาการใหม่ 

จากการค้นคว้าประวัติศาสตร์การสาธารณสุขในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย ‘ชาติชาย มุกสง’ พบว่า คณะราษฎรให้ความสนใจกับการสร้างคุณภาพของประชากรเป็นอย่างมาก ในฐานะที่ราษฎรเป็นกำลังสำคัญในระบอบการปกครองใหม่ ทั้งยังได้มีการสร้างระบบสาธารณสุขในเชิงป้องกันเพื่อลดภาวะเจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่ประชากร กรณีนี้ชาติชายเอง เรียกว่า “การปฏิวัติด้านอาหารการกินของประชาชนหลังจากปฏิวัติทางการเมืองการปกครองสําเร็จแล้ว”

เหตุผลหลักในการให้ความสำคัญด้านการสาธาณสุขของคณะราษฎร  คือ การมองว่าความเจริญของประเทศในแผนการปกครองใหม่ต้องการกําลังคนที่แข็งแรงจากการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ความคิดนี้เช่นนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของความคิดการแพทย์แบบตะวันตก ตามนโยบายรัฐเวชกรรม ที่คณะราษฎรริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2477 และในปีเดียวกันนั้น คณะราษฎรยังได้เริ่มงานโภชนาการ อันมีผลทำให้การแพทย์และการสาธารณสุขขยายตัวและกลายเป็นสถาบันทางสังคมและสถาบันผลิตความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและเข้ามามีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตประจําวันของคนไทยในเวลาต่อมา

หนึ่งในรูปธรรมนั้นคือการขับเคลื่อนโภชนาการใหม่ด้วยกองส่งเสริมอาหาร ซึ่งชาติชาย ได้เล่าถึงคนสำคัญที่มีบทบาทสูงในช่วงเวลานี้ ไว้ 2 คน คนแรกคือ ‘นายแพทย์ยงค์ ชุติมา’ ข้าราชการที่ขับเคลื่อนระบบภายใต้นโยบายการสาธารณสุขของรัฐบาลคณะราษฎร

 

ดร.ตั้ว ลพานุกรม
ดร.ตั้ว ลพานุกรม 

 

คนที่สองคือ ‘ดร. ตั้ว ลพานุกรม’ หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่ง ดร. ตั้วเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการและทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กรรมการราษฎร รัฐมนตรี

สำหรับนายแพทย์ยงค์ กล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้มีบทบาทริเริ่มสําคัญในงานด้านโภชนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนว่าด้วยความรู้เรื่องการกินที่มีต่อสุขภาพ ในปี 2482 บางช่วงบางตอนของข้อเขียนนายแพทย์ยงค์ เช่น 

“กินอย่างไรจึ่งจะดีนี้ ความรู้ในเรื่องนี้ชั้นเดิมคับแคบมากเพิ่งจะมาแพร่หลายกว้างขวางขึ้นก็เมื่อไม่ถึง ๒๐ ปีมานี้เองและเพิ่งจะมาตื่นตัวขึ้นในประเทศไทยก็ในยุคนี้”

ข้อเขียนนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับพลิกหน้ามือ โดยจากประสบการณ์ ทํางานตรงของนายแพทย์ยงค์ ที่เป็นผู้ริเริ่มงานส่งเสริมอาหารขึ้นขณะดํารงตําแหน่งนายแพทย์ตรวจการสาธารณสุขได้เล่าถึงความพยายามบุกเบิกงานด้านอาหารขึ้นอีกแขนง โดยมาจากการเริ่มติดต่อพูดคุยกับ ดร. ตั้ว ลพานุกรม มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งต่อมา ดร. ตั้ว กลายเป็นคนสําคัญในคณะราษฎรที่ให้ความสนับสนุนนงานด้านโภชนาการของกรมสาธารณสุขมาตั้งแต่ต้น

บทบาทสำคัญของ ดร.ตั้ว คือ การติดต่อกับองค์การอนามัยแห่งสันนิบาติชาติ (The League of Nations) เพื่อดําเนินการการสาธารณสุขของสยามให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ของอารยประเทศ

อย่างไรก็ตามยังพบว่าในระยะแรกการดําเนินงานมีอุปสรรคให้ล่าช้าบ้าง ก่อนที่ถึงที่สุดการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการผ่านทางวิทยุเน้นให้ประชาชนเห็นความสําคัญของการกินเพื่อให้มีสุขภาพดีก็แพร่หลาย

ตัวอย่างเช่น ในปี 2479 มีบทความรณรงค์เกี่ยวการกินที่ถูกต้องแพร่กระจายมากมายตาม “อนามันแผนใหม่แบบสร้างสม” เช่น การบริโภคอาหารดีถูกส่วนครบธาตุ การชูคำขวัญกินกับมากๆ กินข้าวมากพอควร แทนคติโบราณที่มักจะสอนว่าให้ กินข้าวมากๆ กินกับน้อยๆ ซึ่งส่งผลต่อร่างกายที่สารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งนับว่าเป็นการแพทย์เชิงป้องกันที่ช่วยลดภาระของโรงพยาบาลที่ได้มีการทยอยเปิดให้บริการแก่ราษฎร

วางโครงสร้างพื้นฐานก่อนตั้งกระทรวงสาธารณสุข

นับตั้งแต่ ปี 2477-2585 ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการกินตามหลักบริโภคศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาโภชนาการอย่างจริงจังจนถึงปี พ.ศ. 2481 ได้มีการตั้งองค์การส่งเสริมอาหารขึ้นเป็นพิเศษในกรมสาธารณสุขโดยมีนายแพทย์ยงค์ ชุติมาเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ ก่อนจะดําเนินการเสนอตั้งหน่วยงานขึ้นมาทําหน้าที่ในการดูแลและแนะนําการกินของประชาชนให้ถูกต้องตามหลักการแพทย์และการสาธารณสุขเป็นการเฉพาะตามหลักบริหารราชการ เนื่องจากปัญหาว่าด้วยการกินที่ทําให้เกิดโรคขาดสารอาหารมีความรุนแรงมาก ดังปรากฏในคํา “ปรารภ” ถึงเหตุผลในการตั้ง กองส่งเสริมอาหาร (Division of Nutrition) ที่ว่า

“เนื่องจากความอ่อนแอของพลเมือง และความไม่เติบโตสูงใหญ่ให้สมส่วนของพลเมืองหนุ่ม ก็มีการบกพร่องธาตุสําคัญแห่งอาหารเป็นสาเหตุ ฉะนั้นกิจการแพทย์และการสาธารณสุขแผนปัจจุบัน จึ่งต้องอาศัยวิชาอาหารการบริโภคเป็นรากเป็นฐาน”

การรณรงค์ให้ราษฎรมีความรู้ตามหลักบริโภคศาสตร์ ได้ดำเนินคู่ขนานมากับความพยายามสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดในทุกๆ จังหวัด โดยระหว่างปี 2475-2490 คณะราษฎรสามารถยกระดับสุขศาลาชั้น 1 เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ครบทุกจังหวัด มีการกระจายบุคลากรการแพทย์สมัยใหม่ไปประจำในต่างจังหวัด มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ปลูกฝี การบริบาลมารดา สุขาภิบาล

จนกระทั่งแนวทาง 2 สายก็มาบรรจบกันภายใต้ชายคาหลังใหม่ รัฐบาลคณะราษฎรได้ยกระดับกรมสาธารณสุขเพื่อแยกออกจากกระทรวงมหาดไทย และสถาปนาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ประกอบด้วยหน่วยงาน คือ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี สำนักปลัดกระทรวง กรมการแพทย์ กรมประชาสงเคราะห์ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสาธารณสุข 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ชาติชาย มุกสง, รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, 2556)
  • บําราศนราดูร, พระ. บรรณาธิการ, อนุสรณ์สาธารณสุข ครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข. (กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์, 2510).