ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

Infographic : การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์

30
กรกฎาคม
2564

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญหาสำคัญหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วคือปัญหาในด้านเอกราช เนื่องจากเอกราชที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น ไม่ใช่เอกราชสมบูรณ์ สืบเนื่องจากในสมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น สยามถูกจักรวรรดินิยม (Imperialism) หลายประเทศบังคับให้จำต้องทำสัญญาไม่เสมอภาค โดยยอมให้หลายประเทศจักรวรรดินิยมมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนไทย แต่ศาลไทยไม่มีอำนาจตัดสิน หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษและฝรั่งเศส ยอมผ่อนผันให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็ตาม แต่ในสนธิสัญญาก็ได้กำหนดไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยขัดแย้งกับที่ปรึกษาชาวยุโรป ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปนั้นเป็นความเห็นใหญ่กว่าผู้พิพากษาไทยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้พิพากษาไทยมีจำนวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป แม้กระนั้นสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่าคดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกตามศัทพ์กฎหมายต่างประเทศว่า "สภาพนอกอาณาเขต" (Extraterritoriality) 

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวมีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เท่าที่สนธิสัญญากำหนดไว้ คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้แก้ไขสนธิสัญญาให้สยามมีสิทธิมากขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษอื่นๆอีก อาทิ ได้สัมปทานป่าไม้,เหมืองแร่,การเดินเรือ ฯลฯ และมีอำนาจกับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย

ปรีดี พนมยงค์ตระหนักถึงความยากลำบากในเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเจรจากับชาติมหาอำนาจ อันนำมาสู่การเดินทางครั้งสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้สำเร็จ โดยเมื่อปรีดี พนมยงค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระพหลฯ แล้ว พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ปฎิบัติการเพื่อเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศเพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ปรีดี พนมยงค์จึงใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมต่างๆนั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์นั้นแก่ประเทศจักรวรรดินิยมพิจารณา ซึ่งในการปฏิบัติภารกิจนี้จำเป็นต้องใช้ความอุตสาหะพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" ซึ่งทำให้จักรวรรดินิยมแต่ละประเทศนั้นๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ในที่สุดจักรวรรดินิยมทุกประเทศก็ได้ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งเอกราชในทางการเมือง และในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

'กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา' จัดทำ infographic ประกอบเส้นทางการเดินทางเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค อันนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาฉบับปรับปรุงใหม่ ภายหลังการเจรจา กับชาติมหาอำนาจ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม ญี่ปุ่น เยอรมัน และโปรตุเกส ตามลำดับเวลา ดังนี้

 

 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

1. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเนเธอร์แลนด์

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Thailand and The Netherlands (PDF)

2. สนธิสัญญาทางไมตรี และพาณิชย์กับสวิสเซอร์แลนด์

Treaty of friendship and Commerce between Siam and the Swiss Confederation (PDF)

3. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเดนมาร์ก

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Thailand and Denmark (PDF)

4. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศสวีเดน

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Thailand and Sweden (PDF)

5. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับสหรัฐอเมริกา

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Thailand and The United States of America (PDF)

6. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศนอร์เวย์

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Thailand and Norway (PDF)

7. สนธิสัญญาการพาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศอังกฤษ

Anglo-Thai Treaty of Commerce and Navigation (PDF)

8. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศอิตาลี

Treaty of friendship, Commerce and navigation between Thailand and Italy (PDF)

9. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศส

Traité d'amitié, de commerce et de navigation entre la Thaïlande et la France (PDF)

10. อนุสัญญาการตั้งถิ่นฐานกับประเทศเบลเยียม

Convention d'Etablissement entre la Thaïlande et le Belgique (PDF)

11. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศญี่ปุ่น

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between  Thailand and Japan (PDF)

12. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเยอรมนี

Treaty of friendship, Commerce and Navigation between Kingdom of Thailand and The German Reich (PDF)

13. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศโปรตุเกส

Traité d'amitié, de commerce et de Navigation entre la Thaïlande et la Portugal (PDF)