‘ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน’ ทายาทของ ‘หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน’
หัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ
เล่าถึงพ่อ: หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านชิ้น)
พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
(23 สิงหาคม พ.ศ. 2443 - 22 เมษายน พ.ศ. 2510)
“เสรีไทยสายอังกฤษ” คนแรกที่ข้าพเจ้าจะพูดถึง ก็คือพ่อของข้าพเจ้า ‘หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน’ ที่เรียกกันว่า “ท่านชิ้น” ผู้ซึ่งภายหลังได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษ เนื่องจากผลงานที่สำคัญของท่าน ทันทีที่ท่านได้ข่าวในวันที่ 8 ธันวาคม 1941 เมื่อญี่ปุ่นได้ยกทัพขึ้นประเทศไทย และรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย พ่อได้เขียนหนังสือถึง ‘วินสตัน เชอร์ชิล’ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขอรับอาสาเข้าร่วมมือทำการสู้รบกับญี่ปุ่น
พ่อเป็นทหารจบจากนักเรียนนายร้อยอังกฤษ ขณะนั้นมียศเป็นนายพันตรี เชอร์ชิลตอบจดหมายว่า ยินดีที่จะรับพ่อเข้าร่วมมือ ขอให้ท่านช่วยทำการในกองเสนาธิการกองทัพอังกฤษการแผนที่ประเทศไทยและรวบรวมข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อพ่อทราบข่าวว่า ‘หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช’ จัดตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในสหรัฐฯ ท่านได้เขียนหนังสือขอสมัครเข้าร่วมด้วย แต่ไม่ได้รับคำตอบ ในอังกฤษนั้น คณะเสรีไทยไม่ได้ตั้งขึ้นเพราะอัครราชทูตอังกฤษนั้นเห็นด้วย
ในเดือนมีนาคม นักเรียนอังกฤษ 2 คน ‘เสนาะ ตันบุญยืน’ และ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ มาพบท่านที่บ้าน มีนักเรียนอีกหลายคนอยากจะทำการช่วยเหลือประเทศชาติในการต่อต้านญี่ปุ่น พ่อตอบว่ายินดีที่จะหาลู่ทางให้เขาทำการให้เป็นผลสำเร็จ พ่อเขียนจดหมายถึงเชอร์ชิลเสนอว่า นักเรียน คนไทยในอังกฤษและตัวท่านต้องการจะร่วมมือกันตั้งเป็นกองทหารน้อยๆ ในกองทัพอังกฤษ เพื่อแยกกันเข้าไปทำการสู้รบญี่ปุ่นในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอแผนการไปด้วยว่า เขาจะจัดการวิธีการต่อสู้ได้อย่างไร ด้วยจำนวนคนอันน้อยนี้ นายกตอบว่าไม่ขัดข้อง และได้ส่งเรื่องไปให้กรมเสนาธิการพิจารณารายละเอียดกับพ่อ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน
แต่แล้วนักเรียนไทยในอังกฤษก็ไม่ยอมรับพ่อเป็นหัวหน้า เพราะความใกล้ชิดที่ท่านมีกับ ‘สมเด็จพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7’ พ่อเป็นพี่ชายของ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี’ และพ่อก็เป็นผู้จงรักภักดีติดตามพระเจ้าอยู่หัวไปสละราชสมบัติและลี้ภัยที่อังกฤษ คนไทยในอังกฤษไม่ไว้ใจท่าน เกรงว่าท่านจะฟื้นฟูระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนสู่ประเทศไทย
เมื่อเสร็จงานแล้ว หม่อมราชวงศ์เสนีย์ก็ไม่ยอมร่วมมือกับท่านด้วยเหตุผลอันเดียวกัน แต่อันที่จริงแล้วพ่อไม่เคยคิดฝันเลยที่จะฟื้นฟูระบบนี้ขึ้นในประเทศไทย ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว พ่อยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เมื่อปฎิเสธไม่ยอมรับพ่อเป็นผู้นำแล้ว นักเรียนจึงไทยได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ส่ง ‘นายมณี สาณะเสน’ มารวบรวมชื่อคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษ เข้าเป็นขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ พ่อได้ไปพบนายมณีและชี้แจงว่าได้ดำเนินการไปแล้วแค่ไหน กระทรวงกลาโหมอังกฤษพร้อมแล้วที่จะรับคนไทยเข้าเป็นทหารอังกฤษ แผนการที่เสนอไปเหล่านี้เป็นความลับ ไม่สามารถบอกคนอื่นได้ คนทั้งหลายจึงมิได้เคยรู้ว่าท่านมีส่วนในการดำเนินการนี้อย่างไร นอกจากนายมณี
วันที่ 7 สิงหาคม 1942 นักเรียนไทยอาสามัครเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นทหารอังกฤษ เป็นพลทหาร และหลังจากรับการฝึกหัดรับใช้อยู่ในกองทหาร Pioneer Corps เป็นเวลา 5 เดือน นักเรียนไทยเสรีไทยเหล่านี้ก็ได้เดินทางโดยเรือจากเมืองลิเวอร์พูลในวันที่ 18 มกราคมไปอินเดีย เพื่อรับการฝึกฝนต่อไป
“กองทหาร Force 136” ที่ได้รับตั้งขึ้นใหม่ในอินเดีย ส่วนตัวท่านชิ้นเองนั้นได้รับคำสั่งให้เดินทางไปอินเดียโดยเครื่องบิน ลงที่เบรุต ซึ่งเป็นออฟฟิศใหญ่ของ Force 136 ให้ไปรับการอบรมฝึกหัดกลยุทธ์แบบกองโจรเช่นเดียวกับทหารเสรีไทยคนอื่นๆ ปลายเดือนเมษายน 1943
เดินทางสู่จุงกิงเพื่อพบกับจำกัด พลางกูร
ต่อมาท่านได้ข่าวจากจุงกิงว่า ‘จำกัด พลางกูร’ ได้เดินทางจากเมืองไทยไปถึงที่นั่น เป็นการบ่งชัดว่า ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ ‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นหัวหน้าคณะต่อต้านในประเทศไทย แน่นอน...ท่านจะต้องไปพบจำกัดให้จงได้
ต้นเดือนสิงหาคมจึงได้รับอนุญาตให้ไปพบจำกัดที่จุงกิง ทั้งสองคนได้ปรับความเข้าใจกันเป็นอย่างดี รับรองในการร่วมมืออย่างเต็มที่ ก่อนนั้นทูตอังกฤษในจุงกิงไม่ยอมพบจำกัด เพราะไม่เชื่อว่าจำกัดเป็นเสรีไทยจากคณะต่อต้านในประเทศไทย พ่อได้ทำการชี้แจงและขอร้องทูตอังกฤษเพื่อให้ได้เข้าพบกับพบจำกัด
ในวันที่ 6 สิงหาคม จำกัดได้ไปพบทูตอังกฤษต่อหน้าพ่อ ให้พ่อบันทึกการสนทนาครั้งนั้นเป็นหลักฐานส่งให้กระทรวงต่างประเทศ การพบกันระหว่างจำกัดกับทูตอังกฤษครั้งนี้ สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้รัฐบาลอังกฤษ แน่ใจว่ามีขบวนการต่อสู้ต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย นำโดยผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน
พ่อต้องการให้จำกัดทางไปอเมริกา เพื่อพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และให้มีการประชุมระหว่างอังกฤษ อเมริกา จีน และไทย ถึงหลักการใหญ่ๆ ในการจัดตั้งคณะต่อต้านญี่ปุ่น แต่แล้วทุกอย่างก็จบสิ้นลงโดยที่จำกัด พลางกูรเสียชีวิตที่จุงกิงราวเดือนตุลาคม 1943
ท่านชิ้นได้ร้องขอกับกองบัญชาการว่าทหารเสรีไทยทุกคน เมื่อได้รับการได้ฝึกหัดอบรมดีแล้วควรจะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตรในกองทัพอังกฤษเท่าเทียมกับคนอังกฤษทุกประการ ทหารเสรีไทยได้รับยศเป็นนายร้อยตรี เมื่อตุลาคม 1943
เดินทางกลับสู่ประเทศไทยและได้พบกับนายปรีดี พนมยงค์
กลางปี 2488 Colin Mackenzie หัวหน้า Force 136 ติดต่อไปยังอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ว่าจะขัดข้องไหม ที่จะส่งท่านชิ้นเข้าไปทำการในประเทศไทย อาจารย์ปรีดีตอบว่ายินดีต้อนรับท่านชิ้น ความแตกต่างและขัดแย้งในอดีตจบสิ้นแล้ว เหลือแต่ความปรารถนาเดียวกันที่จะรับใช้ประเทศชาติ
ท่านชิ้นถามอาจารย์ปรีดีว่าจะทำอย่างไรดีกับนักโทษการเมือง รวมทั้ง นายกรมชัยนาท (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) อาจารย์ปรีดีบอกว่าจะจัดการปล่อยทั้งสิ้น พร้อมด้วยนิรโทษกรรมให้ด้วย ขณะนั้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ลาออกจากรัฐบาลแล้ว และ ‘ควง อภัยวงศ์’ เป็นนายกซึ่งมีความเป็นมิตรต่อขบวนการต่อต้าน
ท่านชิ้นเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2488 ด้วยเครื่องบินทะเล ได้พบอาจารย์ปรีดีในค่ำวันนั้น ทั้งสองทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างดีมาก และเห็นพ้องว่าสามารถร่วมมือกันได้ การที่ท่านชิ้นเข้าไปทำงานในเมืองไทยคือการจัดตั้งและฝึกหัดอบรบกองพลพรรคที่ ณ ตำบลแม่สอด สุโขทัย ตาก สุพรรณบุรี นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช แต่แล้วญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 กองพลพรรคไทยจึงไม่มีโอกาสกาสแสดงฝีมือ ท่านชิ้นกลับมากรุงเทพฯ มาทำงานร่วมมือกับอาจารย์ปรีดีอย่างใกล้ชิดสร้างสรรค์ความสามัคคีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในประเทศไทย
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ
ทีนี้อยากจะเล่าถึงบทบาทของคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษ ในอังกฤษอัครราชทูตไทยไม่ได้ตั้งคณะต่อต้านหรือเสรีไทยเหมือนหม่อมเสนีย์ ปราโมช ในวอชิงตัน มีการแลกเปลี่ยนโดยอัครราชทูตเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับคนไทยที่ต้องการกลับ มีประกาศด้วยว่าผู้ใดที่ไม่กลับจะสูญเสียสัญชาติไทยเท่ากับเป็นกบฏ และมีข้าราชการสถานทูตไทยและนักเรียนไทยราว 50 กว่าคนที่ตัดสินใจจะไม่กลับ มีจุดประสงค์จะก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในอังกฤษเหมือนที่อเมริกา และหลังจากปฏิเสธไม่รับท่านชิ้นเป็นหัวหน้า กลุ่มนักเรียนไทยก็ติดต่อไปหาหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขอความร่วมมือและช่วยเหลือ
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ส่งนายมณี สาณะเสน มาตั้งออฟฟิศอยู่ลอนดอน ประกาศสมัครรายชื่อผู้ที่ต้องการร่วมคณะเสรีไทยทั้งผู้ที่จะเข้าเป็นทหาร และผู้ที่ไม่ได้เป็นทหาร รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี, อาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน เป็นต้น
เสรีไทยที่สมัครเป็นทหารมี 37 คน มี ป๋วย อึ๊งภากรณ์, เปรม บุรีดี, กำแหง พลางกูร, หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เป็นต้น อาจารย์ป๋วยพูดว่า “พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษไม่ใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษแต่ต้องการรับใช้ชาติไทยโดยใช้อังกฤษร่วมมือ”
วันที่ 7 สิงหาคม 1942 ข้าราชการไทยและนักเรียนไทย 37 คน สมัครเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ เป็นพลทหารเข้าหน่วย Pioneer Corps ซึ่งเป็นหน่วยโยธาหรือหน่วยกุลี (Coolie) ต้องฝึกหัดทหารและทำงานกุลีหนักอย่างแสนสาหัส เช่น ขุดมันฝรั่ง ล้างส้วม ทำความสะอาดที่พัก โรงอาหาร อยู่ยาม หลับนอนรวมกันในเต๊นท์ใหญ่บน canvas ปูบนพื้นดิน ทั้งชื้นทั้งหนาวหรืออยู่ในโรงรถ ใช้ส้วมอันแสนสกปรก เป็นกลุ่ม 37 คน ที่มีวิทยะฐานะสูงมาก มีปริญญาและประกาศนียบัตรประมาณ 30 ปริญญา มีคุณหลวง 2 คนอายุเกิน 40 มีบุตรเสนาบดี เศรษฐี มีเชื้อพระวงศ์เป็นหม่อมเจ้า 4 คน ทั้งนี้ก็เพื่อจะทดลองว่ากลุ่มนี้มีความเข้มแข็งแน่วแน่อดทนเพียงใด ต้องทนยากลำบากยากแค้นเช่นนี้ อยู่จน 5 เดือน
จุดประสงค์ของคณะโดดร่ม ถึงพื้นถึงดินแล้วให้หาที่ซ่อนในป่าสูง รักษาตัวให้รอด หาทางติดต่อขบวนการต่อต้านในไทย ติดต่อวิทยุกับฐานทัพ Force136 เพื่อที่จะรับคณะที่จะกระโดดร่มเข้ามาภายหลัง
เรื่องเคสของป๋วยนี้จะต้องมอบสารจาก ‘ลอร์ด หลุยส์ เมาต์แบตเตน’ ผู้บัญชาการกองทหารสูงสุดให้กับอาจารย์ปรีดี หัวหน้าคณะต่อต้านในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นไปต่างคนก็ต่างจะเรียกกันด้วยนามแฝง ป๋วยชื่อว่า “เข้ม” ท่านชิ้นได้นามแฝงว่า “อรุณ”แต่ทุกคนเรียกท่านว่า “ตาโก้ะ” เพราะท่านชิ้นอายุมากกว่าหนุ่มๆ เหล่านี้ 20 กว่าปี แต่ท่านไม่ถือตัว พูดเล่นเข้ากันได้เหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ป๋วย, ประธาน และเปรม ขึ้นเครื่องบินไปโดดร่ม เมื่อไปถึงที่ก่อนที่จะกระโดดลง เห็นแสงจากพื้นดินไม่ใช่ป่าทึบ แต่เมื่อมีคำสั่งให้โดดลง ก็ต้องทำตามลงถึงพื้นดินแล้ว ชักสงสัยว่าผิดที่เสียแล้ว เป็นที่ที่ห่างจากจุดหมายถึง 25 หรือ 30 กิโลเมตร ใกล้หมู่บ้านจนเกินไป รีบเดินหาร่ม อาหารเครื่องมือ แจกร่มให้กัน ร่มหนึ่งหายไปตกในหมู่บ้าน ขณะนั้นเป็นเวลาเช้ามืดราวตี 4 มีหีบห่อหลายหีบ จะขุดหลุมฝังก็ยาก เห็นชาวนา 4 - 5 เดินมา ก็เห็นคณะแล้ว ข้อเท้าป๋วยแพลงต้องเดินอย่างยากลำบากเข้าป่า 4 - 5 ชั่วโมง พยายามติดต่อกองบัญชาการด้วยวิทยุหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ
วันต่อมาดีและแดงไปส่งวิทยุ ป๋วยอยู่ยามคนเดียว เห็นหลายคนเดินผ่าน สะกิดใจ คนจำนวนมากโผล่ขึ้นมาล้อม ชูปืนหลายกระบอก ป๋วยทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ตะเบ็งร้อง “ยอมแพ้ จับไปเถิด” เพื่อให้แดงและดีได้ยินจะได้หนีไป ภายใน 1 วินาทีที่คนจะเข้าถึงตัว ใน สมองป๋วยเต็มไปด้วยความคิดเห็นหลายอย่างหลายประการ คิดถึงคู่รักในลอนดอน คิดถึงญาติมิตรในกรุงเทพฯ คิดถึงสารจากกองบัญชาการถึงอาจารย์ปรีดี คิดถึงเพื่อนในพุ่มไม้ใกล้ตัว คิดถึงยาพิษในกระเป๋าหน้าอก จะกลืนยาพิษเข้าไปดีไหม หรือควรจะยอมให้จับเป็น อย่าเลย ถูกจับเป็นดีกว่า
ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ยังมีความหวัง เมื่อป๋วยถูกมัดมือไขว้หลัง บางคนที่มาดูก็หาความสนุกด้วยการตบตีป๋วย ชาวบ้านนำป๋วยมาล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาวเยี่ยงนักโทษ เจ้าหน้าที่บอกชาวบ้านว่าเขาเป็นกบฏอำมหิต แต่ป๋วยรู้สึกว่าเขามีความเป็นธรรม รุ่งเช้าป๋วยนั่งมาสถานีตำรวจ บ่ายวันรุ่งขึ้นถูกล่ามโซอยู่ ชาวบ้านก็พากันขึ้นมาบนศาลาดูพลร่ม แต่ป๋วยรู้สึกว่าเขามีความกรุณา
รุ่งเช้าป๋วยนั่งเกวียนมาที่สถานีตำรวจวัดสิงห์ ถูกจับขังรวมกับนักโทษอื่นในกรงขังของสถานีตำรวจจังหวัดชัยนาท บ่ายวันรุ่งขึ้นถูกล่ามโซ่เดินทางไปชัยนาท ถูกขังอยู่ที่เรือนจำชัยนาทหลายวัน ก่อนที่จะถูกส่งตัวลงเรือยนต์ท่องลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาพักที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 มีนาคม 1944 ที่นั่นปรากฏว่าแดงและดีได้มาถึงแล้วเมื่อวันก่อน ได้พบและคุยกัน ได้ความว่า เมื่อแดงและดีได้ยินเสียงคนมาจับป๋วยก็วิ่งหนี ก็ไปซ่อนอยู่ในป่าจนกระทั่งกลางคืน เดินต่อไปยังอุทัยธานี ในไม่ช้าก็ถูกจับระหว่างกินข้าวอยู่ในตลาดเพราะไม่ได้สวมหมวก นักโทษสงครามในกองสันติบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนจีน 2 คนที่รอดตายจากคณะโดดร่มที่นครปฐม
เดือนต่อไปคณะของ สำราญ วรรณพฤกษ์, รจิตบุรี ธนาโปษยานนท์ จีนอีก 2 คน จากเรือดำน้ำทางภาคใต้ เสรีไทยจากอเมริกา เสรีไทยอังกฤษ สวัสดิ์ ศรีสุข จุ้นเค็ง (พัฒนพงศ์) รินทกุล จากเรือดำน้ำก็เข้ามาอยู่ในกองสันติบาลทั้งนั้น 2 คนหลังนี้ไม่ถูกจับ เขาเดินทางเข้าประเทศไทยพร้อมๆ กับป๋วยด้วยเรือดำน้ำ แต่ไม่มีคนมารับ เดินทางเข้าฝั่งด้วยเรือผ้าใบ ถูกทำการเจาะเรือผ้าใบให้จมน้ำแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง
ขณะที่ถูกคุมขังที่สันติบาลได้รับความคุ้มครองจากอธิบดีกรมตำรวจ ‘พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส’ ถึงแม้ว่าขณะนั้นท่านยังไม่ได้ร่วมมือกับอาจารย์ปรีดีเป็นเสรีไทย โดยให้ความสะดวกในการส่งวิทยุ และในการไปพบอาจารย์ปรีดี เพื่อเสนอสารจากผู้บัญชาการสูงสุด หรือลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตแตน
ตอนที่ญี่ปุ่นขอตัวป๋วยไปสอบสวน ญี่ปุ่นคนที่สอบสวนนั้นเป็นเพื่อนอัสสัมชัญด้วยกัน ป๋วยพยายามอย่างลำบากยากเข็ญจะติดต่อทางวิทยุกับกองบัญชาการในอินเดียอยู่หลายเดือน ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเสียที จนกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม 1944 คืนนั้นป๋วยนอนไม่หลับ ปิติยินดีเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ถือว่าเป็นช่องทางช่องแรกในการติดต่อระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศกับกองทัพสัมพันธมิตร ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษสามารถเล็ดรอดเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยสะดวกขึ้นและปลอดภัย
ในเดือนกันยายน “กลุ่มช้างเผือก” (กลุ่มช้างเผือก คือ ผู้ฝึกการรบอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเข้าปฏิบัติการลับในประเทศไทย) ที่เหลือก็เริ่มทยอยเข้าสู่ประเทศไทยภายในเดือนพฤษภาคม และทำการแยกหน่วยไปยังที่ต่างๆ ในประเทศ เช่น ปราณบุรี สกลนคร ขอนแก่น ตาก ลำปาง เป็นต้น มีหน้าที่ส่งข่าวกรองไปให้กองบัญชาการ และฝึกพลพรรคในประเทศ อบรมกลยุทธ์กองโจร เตรียมกองโจรไว้รังควาญและทำลายเส้นทางคมนาคมของญี่ปุ่น รับอาวุธที่ส่งเข้ามา รับทหารอังกฤษเข้าร่วมปฎิบัติงาน พลพรรคเสรีไทยจึงเป็นกองทัพสัมพันธมิตร พร้อมที่จะลุกฮือขึ้นต่อสู้ญี่ปุ่นทันทีที่สัมพันธมิตรยกทัพขึ้นบกที่มาเลเซียและประเทศไทย
ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราช” เสวนาเรื่อง เล่าเรื่องของคุณพ่อ กับคุณจำกัด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ โดย ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน