ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ภาคผนวก: รวมเอกสารทางการทูต ตั้งแต่ปี 2486 (1943) ถึง 2488 (1945) ตอนที่ 2

8
มีนาคม
2568

Focus

  • รวมเอกสารทางการทูตในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2486 (1943) ถึง 2488 (1945) ตอนที่ 2 แสดงให้เห็นถึงการเจรจาลับทางการทูตต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดย 2 ประเทศนี้มีความเห็นต่างกัน คือ อังกฤษอาจต้องการให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มสนับสนุนไทยให้เป็นอิสระจากอิทธิพลของอังกฤษ

 

วิเคราะห์และสรุปเอกสารทางการทูต (มกราคม - มีนาคม 2488)

ช่วงเวลาระหว่าง มกราคม ถึง มีนาคม ปี 2488 (1945) เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานะประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มมีท่าทีสนับสนุนขบวนการเสรีไทยและบทบาทของปรีดี พนมยงค์ มากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่อังกฤษยังคงสงวนท่าที และพยายามกำหนดเงื่อนไขบางประการต่อไทยหลังสงคราม ในช่วงเวลานี้ มีเอกสารทางการทูตหลายฉบับที่สะท้อนให้เห็นถึงการเจรจาและยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่าง ๆ ต่อสถานะของประเทศไทย โดยเนื้อหาสำคัญมุ่งเน้นไปที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดตั้ง “รัฐบาลไทยอิสระชั่วคราว” หรือ “คณะกรรมการปลดแอกไทย” เพื่อสร้างหลักประกันว่าไทยจะไม่ถูกปฏิบัติเหมือนประเทศผู้แพ้สงคราม

บริบททางประวัติศาสตร์และสถานการณ์การทูต 

ในช่วงต้นปี 2488 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้ในแนวรบแปซิฟิก และฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มรุกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน ขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ ขยายบทบาทมากขึ้น โดยในประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ ทำงานร่วมกับขบวนการใต้ดิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปลดแอกไทยจากญี่ปุ่น ส่วนในต่างประเทศ นักการทูตไทยและตัวแทนขบวนการเสรีไทยพยายามเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น “ประเทศที่ถูกยึดครอง” ไม่ใช่ “ประเทศผู้รุกราน” ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าญี่ปุ่นอาจเข้าควบคุมรัฐบาลไทยโดยตรง ทำให้ฝ่ายไทยต้องหาทางออกทางการทูตอย่างเร่งด่วน

สหรัฐอเมริกาและจีนเริ่มมีท่าทีสนับสนุนไทย โดยมองว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับให้เข้าร่วมสงคราม และต้องได้รับโอกาสในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยหลังสงคราม ขณะที่ อังกฤษยังคงสงวนท่าทีและถือว่าไทยเป็นฝ่ายศัตรู โดยต้องการให้ไทยยอมรับความผิดและชดใช้ความเสียหายจากการร่วมมือกับญี่ปุ่น ซึ่งความแตกต่างของจุดยืนระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ และจีน ทำให้เกิดการเจรจาทางการทูตเกี่ยวกับสถานะของไทยอย่างเข้มข้น บันทึกทางการทูตในช่วงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทยหลังสงคราม ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการทูตในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยความตึงเครียด

สาระสำคัญของเอกสารทางการทูต

เอกสารทางการทูตของสหรัฐฯ ระบุว่า ปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งตัวแทนไปยังจีนเพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลไทยอิสระชั่วคราว โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก เจียง ไคเช็ค อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้แจ้งให้จีนทราบว่า ไม่ต้องการให้รับรองรัฐบาลไทยอิสระโดยไม่ปรึกษาอังกฤษและสหรัฐฯ ก่อน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายอังกฤษพยายามควบคุมไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและขัดขวางการรับรองขบวนการเสรีไทย ในขณะที่สหรัฐฯเอง ยังมีความลังเลในการรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของไทย และสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการเสรีไทย” (Free Thai Committee) ในต่างแดนแทน เพื่อเลี่ยงปัญหาทางการเมืองจากการมีรัฐบาลสองชุด

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษต่อประเทศไทย ฝ่ายสหรัฐฯ ยืนยันว่าไทยควรถูกปฏิบัติในฐานะประเทศที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองและสมควรได้รับเอกราชคืนหลังสงคราม ในทางกลับกัน อังกฤษยังคงมองว่าไทยเป็นประเทศศัตรูและต้องถูกควบคุมหลังสงคราม อังกฤษต้องการให้ไทยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกับญี่ปุ่น และพยายามชะลอการคืนเอกราชให้ไทย โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมสัมพันธมิตร เพื่อกำกับดูแลไทยหลังสงคราม การตัดสินใจของอังกฤษส่งผลให้เกิดความระแวงระหว่างสัมพันธมิตร และทำให้สหรัฐฯ และจีน ต้องเร่งหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อรักษาสถานะของไทย 

เมาท์แบ็ตเทน ได้รับคำสั่งให้จำกัดการหารือกับคณะทูตไทยให้อยู่ในขอบเขตของปฏิบัติการทางทหารเท่านั้น และหากฝ่ายไทยต้องการหารือเรื่องการเมือง ให้ปฏิเสธและเพียงแต่รายงานกลับไปยังรัฐบาลสัมพันธมิตร แม้รัฐบาลอังกฤษเริ่มแสดงท่าทีว่า ต้องการเห็นไทยกลับคืนสู่เอกราช แต่ก็เน้นว่าสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญได้แก่

1. บทบาทของไทยในการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศ–ไทยต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพันธมิตรที่แท้จริงของสัมพันธมิตร

2. การชดใช้ค่าเสียหาย–อังกฤษต้องการให้ไทยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น

3. การรับประกันความสัมพันธ์อันดีในอนาคต–ไทยต้องแสดงความจริงใจว่าหลังสงครามจะไม่เป็นภัยต่ออังกฤษหรือประเทศเพื่อนบ้าน

ในการหารือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของไทยหลังสงคราม สหรัฐฯ ตั้งคำถามว่าไทยจะยังคงมีนโยบายกีดกันชาวต่างชาติหรือไม่ คณะผู้แทนไทยตอบว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยจะอยู่บนพื้นฐานของ “การไม่แบ่งแยก” (Non-Discrimination) และยืนยันว่าชาวต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

แม้ว่าไทยจะต้องการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ก็เปิดรับแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการเป็นทางเลือก ซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเมืองของฝ่ายไทยในการเจรจา ในขณะที่การเมืองระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินแนวทางทางการทูตที่ชาญฉลาด โดยเสนอให้ ยกเลิกประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตร และคืนดินแดนที่ไทยได้รับจากญี่ปุ่นแก่พม่าและมลายูเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ข้อเสนอนี้ทำให้ไทยเริ่มได้รับความไว้วางใจมากขึ้น และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ไทยไม่ถูกปฏิบัติเหมือนประเทศผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้ ขบวนการเสรีไทยยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ (OSS) และสามารถให้ความร่วมมือด้านการข่าวและการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้ไทยมีบทบาทสำคัญในชัยชนะของสัมพันธมิตรในภูมิภาค

บัลแลนไทน์ เสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งข้อความให้กำลังใจปรีดี ผ่านวิทยุและผ่าน OSS โดยเนื้อหาของข้อความเน้นการสนับสนุนต่อความพยายามของปรีดีและเสรีไทยในการปลดปล่อยประเทศจากญี่ปุ่น และให้กำลังใจว่าสหรัฐฯ ตระหนักถึงบทบาทของไทยและเชื่อมั่นว่าความพยายามนี้จะไม่สูญเปล่า

ท้ายที่สุด ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน เห็นพ้องกันว่าการจัดตั้ง “คณะกรรมการปลดแอกไทยอิสระ” (A Free Thai Liberation Committee) เป็นทางออกที่ดีที่สุด คณะกรรมการนี้จะช่วยสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งให้กับขบวนการเสรีไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาเอกราชของตนได้หลังสงคราม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ลอนดอน และจุงกิง แนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนจากจอมพลเจียงไคเช็ค และช่วยป้องกันไม่ให้ไทยต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

บทสรุปสถานการณ์ช่วงนี้

ในช่วงต้นปี 2488 ไทยกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ญี่ปุ่นอ่อนแอลง ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มพิจารณาแนวทางสำหรับอนาคตของไทย โดยสหรัฐฯ และจีนสนับสนุนแนวทางที่ให้ไทยรักษาเอกราช แต่ อังกฤษยังคงพยายามควบคุมไทยหลังสงคราม ปรีดี พนมยงค์ ใช้ยุทธศาสตร์ทางการทูต สร้างแนวทางให้ไทยไม่ต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ผ่านขบวนการเสรีไทยและการจัดตั้งคณะกรรมการปลดแอกไทย สุดท้ายแล้ว แนวทางของสหรัฐฯ และจีนได้รับชัยชนะ และช่วยให้ไทยสามารถฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยได้หลังสงคราม อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างไทยและอังกฤษยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงต่อไป

 

เอกสารทางการทูต (มกราคม - มีนาคม 2488)

 


บันทึกของ The Director of the Office of Far Eastern Affairs

 

๗๔๐.๐๐๑๙ PW/1-2545

บันทึกของ The Director of the Office of Far Eastern Affairs

(มร.บัลแลนไทน์)[1]

(วอชิงตัน ดีซี) ๒๕ มกราคม ๑๙๔๕

นโยบายของอังกฤษ-อเมริกัน ต่อประเทศไทย

๑. ปัญหา

พยายามชักชวนให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อประเทศไทยให้

สอดคล้องกับนโยบายของเรา

๒. คำแนะนำ

ขอแนะนําว่า 

ก. กระทรวงควรแจ้งให้เสนาธิการทหารอเมริกัน (United States Joint Chiefs of Staff) ทราบถึงความเห็นอันแตกต่างกันระหว่างอเมริกาและอังกฤษในเรื่องของ ประเทศไทย และขอร้องให้เสนาธิการทหารใช้อิทธิพลต่อเสนาธิการทหารร่วม (Combined Chiefs of Staff) เพื่อกีดกันการใช้มาตรการใด ๆ ที่ไม่คล้องจองกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย ขอร้องให้เสนาธิการทหารส่งรายงานที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ซึ่งถือว่าจะไม่ทำให้ความปลอดภัยทางการทหารเสียไป และซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงในการเจรจาขั้นต่อไปกับรัฐบาลอังกฤษในปัญหาของประเทศไทยให้กระทรวง (ได้แนบบันทึก[2] เพื่อใช้งานของ Department’s Representative on the State-War-Navy Co-ordinating Committee มาด้วย)

ข. เราควรทาบทามรัฐบาลอังกฤษต่อไปอีก แนะนำโดยทั่ว ๆ ไปว่า ควรจะหาทางตกลงระหว่างรัฐบาลไทยด้านหนึ่ง และรัฐบาลอังกฤษ จีน และสหรัฐฯ อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดควรจะพิจารณาพื้นฐานขั้นต้นต่อไปนี้

๑. รัฐบาลไทยจะยินยอม

ก. ให้ความร่วมมือทางการทหารตามเวลาและในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ทหารที่เหมาะสมขอร้อง

ข. ยอมรับเขตแดนของประเทศไทยที่มีอยู่ตั้งแต่ มกราคม ๑๙๔๑ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการเจรจาสันติภาพเพื่อการปรับอาณาเขตและการโอนย้ายดินแดนในตอนต่อไป

ค. ยอมรับผิดชอบในฐานะของชาติที่มีอธิปไตยตามแบบขององค์การเพื่อความปลอดภัยระหว่างชาติ

๒. รัฐบาลอังกฤษ จีน และสหรัฐจะยินยอม

ก. เคารพอธิปไตยและเอกราชของประเทศไทย

ข. รับว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ได้รับการปลดปล่อย หรืออยู่ในระหว่างกรรมวิธีการปลดปล่อยจากฝ่ายศัตรู (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของไทยได้ประกาศว่า การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐฯ ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและดังนั้นจึงเป็นโมฆะ)

ค. จำกัดรัฐบาลทหารให้อยู่ภายในส่วนของเขตแดนที่มีการสู้รบ ซึ่งกองทัพพันธมิตรยึดครองอยู่และจะกอบกู้เขตแดนดังกล่าวให้กลับไปอยู่ในความครอบครองของรัฐบาลไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่ปฏิบัติการทางทหารจะอำนวยให้

๓. องค์ประกอบขั้นมูลฐาน

ก. ความเห็นของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ถือนโยบายในการปฏิบัติต่อประเทศไทยในฐานะประเทศที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายศัตรู และพอใจในการกอบกู้ให้ประเทศไทยมีฐานะเหมือนก่อนสงคราม เป็นรัฐที่มีอธิปไตยภายใต้รัฐบาลที่เป็นเอกราช

ข. ความเห็นของอังกฤษ

บริเตนใหญ่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู และพอใจที่จะยึดครองประเทศต่อไปอีกหลังจากการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น อังกฤษเห็นชอบที่จะจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมฝ่ายพันธมิตร (An Allied Control Commission) และการวางเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการทหารตามระบบสากลซึ่งอาจมีผลทำให้การปกครองของไทยเสียไปมาก

ค. ความรีบด่วนของปัญหา

ปัญหานี้รีบด่วน เนื่องมาจากสถานการณ์ทางทหารที่พัฒนาไปมากในพม่าและเนื่องจากการติดต่อประจำวันของฝ่ายสหรัฐฯ กับผู้สำเร็จราชการฯ ในกรุงเทพฯ ได้รายงานมาว่ากองทัพใต้ดิน (นำโดยผู้สำเร็จราชการฯ เอง) มีการจัดระบบที่ดีมากและคนไทยปรารถนาที่จะให้ความร่วมมือทางทหารกับประเทศในเครือสหประชาชาติในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นและปรารถนาที่จะได้รับการรับรองในฐานะพันธมิตร และเป็นชาติเอกราชที่มีอธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ไทยระดับสูงผู้เป็นตัวแทนของผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนี้อยู่ในจุงกิงตามคำเชิญของเจียงไคเช็คเพื่อปรึกษาหารือการจัดตั้งคณะกรรมการหรือรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในจุงกิง ซึ่งหากประเทศจีนรับรองก็จะได้หาทางให้บริเตนใหญ่และสหรัฐฯ รับรองต่อไป (ผู้สำเร็จราชการฯ รายงานว่า เชื่อว่าญี่ปุ่นกำลังจัดเตรียมการยึดครองรัฐบาลในประเทศไทย และด้วยเหตุนี้จึงต้องพิจารณาถึงการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นชั่วคราว) ผู้แทนอีกคนหนึ่งของผู้สำเร็จราชการฯ จะถูกพามาสหรัฐฯ ในไม่ช้านี้ และมีรายงานว่าผู้แทนคนที่สามจะถูกส่งไปลอนดอน

ง. สาเหตุของปัญหานี้

นายพลซัลแทนได้โทรเลขไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อขอนโยบายอย่างกว้าง ๆ ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับนายทหารอเมริกันในการตกลงกับอังกฤษ (สำหรับองค์ประกอบมูลฐานเพิ่มเติมอื่น ๆ ดูผนวก A, B และ C)

 


บันทึกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเอกอัครราชทูตในจีน

 

๘๙๒.๐๑/๑๒-๓๐๔๔ : โทรเลข

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. ซเตดตินิโอ)

ถึงเอกอัครราชทูตในจีน

(มร. เฮอร์ลีร์)

(วอชิงตัน) ๒๐ มกราคม ๑๙๔๕ ๑๓.๐๐ น.

104 Re Deptel 54., ๑๐ มกราคม

สถานทูตอังกฤษ ณ วอชิงตัน ได้แจ้งกระทรวงว่า สถานทูต ณ กรุงลอนดอนได้แจ้งสถานทูต ณ จุงกิง ให้แนะนำรัฐบาลจีนมิให้ให้การรับรองทางการเมืองแก่เจ้าหน้าที่ไทยในเมืองจีนโดยมิได้ปรึกษาบริเตนใหญ่และสหรัฐในเรื่องนี้เสียก่อนสถานทูต ณ กรุงวอชิงตันยังได้ขอร้องอีกด้วยว่า หากเราไตร่ตรองการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับปัญหาประเทศไทยดังกล่าวก็ขอให้ทางเราได้แจ้งให้เขาทั้งหลาย (อังกฤษ) ทราบด้วย

ข่าวที่อ้างว่าได้มาจากผู้สำเร็จฯ (ไทย) ประดิษฐ์ ณ กรุงเทพฯ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ไทย (ขณะนี้อยู่ในจีน) ได้ถูกส่งไปเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือคณะกรรมการในประเทศสัมพันธมิตร (Committee in Allied countries) โดยอาจจะมีทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันเป็นหัวหน้า ข่าวกระแสหนึ่งแจ้งว่าคนไทยได้เดินทางไปเมืองจีนโดยคำเชิญของจอมพลเจียงไคเช็ค ข่าวกล่าวต่อไปว่า จอมพลเจียงเต็มใจที่จะเห็นชอบแผนการของประดิษฐ์ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือกรรมการขึ้นกรุณาแจ้งให้เราทราบถึงพัฒนาการใด ๆ ที่พึงมี

ซเตดตินิโอ

 


โทรเลขเอกอัครราชทูตแห่งประเทศจีน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

๘๙๒.๐๑/๒-๒๔๔ : โทรเลข

เอกอัครราชทูตแห่งประเทศจีน

(มร. เฮอร์ลีร์)

ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. ซเตดตินิโอ)

จุงกิง ๒ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕ ๑๔.๐๐ น.

(ได้รับ ๒ กุมภาพันธ์ ๑๔.๔๗ น.)

160 Remostel 159 ๒ กุมภาพันธ์ ๑๑.๐๐ น.

ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับซุง[3] ซึ่งให้คำยืนยันว่าประเทศจีนไม่มีความปรารถนาที่ จะได้ดินแดนของประเทศไทย และปรารถนาที่จะเห็นพัฒนาการของขบวนการเสรีไทย เขาชี้ว่า รัฐบาลจีนพอใจการจัดตั้ง “รัฐบาลไทยอิสระชั่วคราว” ในจุงกิงนอกจากนี้ ซุงยังให้คำมั่นว่า คนจีนปรารถนาที่จะร่วมมือกับเราในทุก ๆ แง่ของปัญหานี้ และปรารถนาที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของเรา เขากล่าวด้วยว่า รัฐบาลของเขาเห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน[4] เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าว่า เราควรสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลไทยอิสระชั่วคราวขึ้นที่นี่ ข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจในคำกล่าวของ มร. อีเด็น (re Dept’s 54 ๑๐ มกราคม) ที่ว่าอังกฤษต้องการเห็นประเทศไทยหลังสงครามกลับสู่สภาพเอกราชเป็นรัฐอิสระที่มั่นคงข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้าเราไม่เริ่มดำเนินการก่อนในเรื่องนี้อังกฤษจะประสบความสำเร็จในการยุทธศาสตร์เหนือเราและคนจีนในการใช้มาตรการบางประการควบคุมประเทศไทย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าระลึกถึงคำสั่งของกระทรวงอยู่เสมอ และจะพยายามดำเนินการเพื่อให้การเดินทางไปวอชิงตันของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ตามที่ได้รับการเสนอมาเป็นไปโดยง่ายขึ้น

เฮอร์ลี

 


บันทึกผู้ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงอัครราชทูตในประเทศจีน

 

๘๙๒.๐๑/๒-๕๔๕ : โทรเลข

ผู้ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. กรู)

ถึงอัครราชทูตในประเทศจีน

(มร. เฮอร์ลี)

(วอชิงตัน) ๖ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕ ๒๒.๐๐ น.

๒๐๒ เราเชื่อว่าก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องตาม (เอกสาร) ๑๕๙ และ ๑๖๐ ของท่าน ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์[5] เราควรจะคอยการมาถึงของโฆษกไทยผู้ซึ่งคาดว่าจะมาถึงจากกรุงเทพฯ ในเร็ววันนี้ และเป็นบุคคลที่ผู้สำเร็จฯ ได้มอบอำนาจที่จะปรึกษาหารือเรื่องนี้กับเรา

โดยนัยแห่งรายงานที่ทราบขณะนี้ เราเชื่อว่ายังไม่เป็นการสมควรที่จะแนะนำสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในเวลานี้ (re Deptel 146 ๒๗ มกราคม)[6] สำหรับปัญหาของการที่คนไทยจะจัดตั้งคณะกรรมการไทยอิสระ (Free Thai Committee) ณ ที่ใดในประเทศสหประชาชาติ เราไม่มีข้อขัดแย้งในขณะนี้ ถ้าเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้นำไทยปรารถนาในเรื่องนี้ โดยเหตุผลหลายประการด้วยกัน เราชอบที่จะเห็นคณะกรรมการดังกล่าวจัดตั้งขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ดี การเลือกที่ตั้งของคณะกรรมการไทยอิสระ (Free Thai Committee or Committees) จะต้องรอคอยการปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ไทยผู้เกี่ยวข้องเสียก่อน เรายังรู้สึกอีกด้วยว่า น่าจะมีการหารือต่อไปกับทั้งคนจีนและคนอังกฤษ

เราได้แจ้งให้สถานทูตอังกฤษที่นี่ทราบอย่างไม่เป็นทางการถึงการเดินทางมาถึงในเร็ว ๆ นี้ ของผู้แทนของผู้สำเร็จราชการฯ และได้สัญญาว่าจะแจ้งให้สถานทูตอังกฤษทราบถึงพัฒนาการในตอนต่อไป

ท่านอาจแจ้งให้ซุงและจอมพล (เจียงไคเช็ค) ทราบเนื้อความของเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วตามดุลยพินิจของท่าน

เราจะแจ้งให้ท่านทราบถึงความคืบหน้าของการปรึกษาระหว่างเรากับผู้แทนของผู้สำเร็จราชการฯ ที่นี่

มร. กรู

 


บันทึกการสนทนา : ผู้บันทึก The Director of the Office of Eastern Affairs

 

๘๙๒.๐๑/๒-๒๑๕

บันทึกการสนทนา : ผู้บันทึก

The Director of the Office of Far Eastern Affairs

(มร. บัลแลนไทน์)

(วอชิงตัน) ๒๑ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕

ผู้ร่วมสนทนา : เซอร์ ยอร์ช แซนซอม อัครราชทูตอังกฤษ
                      มร. แลนดอน[7]
                      มร. บัลแลนไทน์

เซอร์ ยอร์ช แซนซอม ได้มาพบตามคำขอร้องของเขาเอง และยื่นรายงานซึ่งได้แนบสำเนามาด้วยแก่ข้าพเจ้า[8]  ให้รายละเอียดของคณะทูตไทยในซีลอนอันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันกับที่เราได้แลกเปลี่ยนรายละเอียดด้วยวาจากันก่อนแล้วข้าพเจ้าได้อ่านเอกสารและได้วิจารณ์ว่า ข้าพเจ้าสามารถเข้าใจได้ว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ต้องการให้หน่วยราชการอื่น ๆ ใด (ของรัฐบาล) นอกจากกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นเป็นผู้หารือปัญหาการเมืองกับผู้แทนไทย ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า เราจะศึกษารายงานนี้ และจะให้คำวิจารณ์ (ซึ่งอาจมี) แก่เขาในตอนหลัง เซอร์ ยอร์ช กล่าวว่า มร. เดนนิง[9] ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ในแคนดี (Kandy)[10] และอาจจะคุยกับคนไทยเพื่อสืบสวนเรื่องราว

เซอร์ ยอร์ช ได้ส่งเอกสาร[11] ให้ข้าพเจ้าอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเขากล่าวว่าเขาตั้งใจที่จะบอกข้าพเจ้าด้วยวาจาในเรื่องรัฐบาลอังกฤษได้ปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้แก่นายสาณะเสน[12] เดินทางไปแคนดี เพื่อร่วมประชุมกับคณะผู้แทนไทยที่นั่น

 


บันทึกสถานทูตอังกฤษถึงกระทรวงการต่างประเทศ

 

๘๙๒.๐๑/๒-๒๑๔๕

สถานทูตอังกฤษถึงกระทรวงการต่างประเทศ

(วอชิงตัน) ๒๑ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕

สถานทูตอังกฤษได้รับคำสั่งให้แจ้งเรื่องต่อไปนี้อันเกี่ยวกับการมาเยือน ซีลอนของคณะทูตไทยแก่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นรายงานลับสำหรับรัฐบาลสหรัฐ

๑. รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษได้สั่งจอมพลเรือเมานท์แบทเตน[13] ว่า ในการติดต่อกับคณะทูตนี้ ให้จอมพล เมานท์แบทเตนในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรจำกัดขอบเขตการเจรจาหารืออยู่แต่เพียงเรื่องการทหารแท้ ๆ ซึ่งจะมีผลต่อปฏิบัติการต่อสู่ญี่ปุ่นเท่านั้น หากคณะทูตไทยแสดงความปรารถนาที่จะยกปัญหาการเมืองขึ้นมาพูด ให้จอมพล เมานท์แบทเตนปฏิเสธที่จะหารือเรื่องนี้โดยกล่าวว่า เขาทำได้เพียงจะรายงานสิ่งที่คณะทูตกล่าวทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรพิจารณา

๒. อย่างไรก็ดี จอมพล เมานท์แบทเตนได้รับอำนาจให้เจรจากับคณะทูตตามข้อความต่อไปนี้

“เป็นความปรารถนาของรัฐบาลของพระเจ้ากรุงอังกฤษที่จะได้เห็นประเทศไทยกลับคืนสู่สภาพที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างอิสระและเป็นเอกราช และมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ฉันมิตรเก่าแก่ระหว่างบริเตนใหญ่และประเทศไทย แต่ทางที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนี้ไม่ราบเรียบ ส่วนใหญ่ย่อมขึ้นอยู่กับมาตรการที่ฝ่ายไทยจะนำมาใช้ในการมีส่วนช่วยขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากดินแดนไทย และทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงนอกจากนี้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศไทย

ก. ที่จะใช้คืนแก่รัฐบาลของพระเจ้ากรุงอังกฤษและสัมพันธมิตรในความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศเหล่านี้ อันเป็นผลตามมาของการที่ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น

ข. ที่จะประกันความปลอดภัยและสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านที่ดีงามในอนาคต ในขณะนี้ความสนใจของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (อังกฤษ) มุ่งอยู่ที่การขับไล่ญี่ปุ่นออกไป ข้อเสนอใด ๆ ที่เกินเลยสิ่งนี้ไปซึ่งคณะทูตอาจจะทำได้นั้น จำจะต้องรายงานต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพิจารณา และจะไม่สามารถหารือกับคณะทูตปัจจุบันได้โดยมิได้มีความเห็นสั่งมาจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

 


บันทึกของ The Director of the Office of Eastern Affairs

 

๘๙๒.๐๑/๒-๑๙๔๕

บันทึกโดย The Director of the Office of Far Eastern Affairs

(มร. บัลแลนไทน์)

ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. ดันน์)

(วอชิงตัน) ๒๒ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕

สิ่งที่ส่งมาด้วย : บันทึกของการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกับผู้แทนไทย[14] ในเรื่องที่คณะผู้แทนเสนอ (มีอยู่ในบันทึก ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์) จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และเพื่อขอการรับรองจากรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตร

การสนทนาไม่เป็นทางการและเป็นการหาลู่ทางโดยไม่มีการผูกพันใด เราตั้งคำถามในเรื่องที่ว่าคณะกรรมการอาจไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของคนไทยและการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นก็ได้ และได้ถามในเรื่องความถูกต้อง กฎหมายของการกระทำของรัฐบาลพลัดถิ่น และในเรื่องที่จะไม่มีสถานการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นอันอาจเป็นการยากที่จะอธิบายแก่คนไทยและมหาชนอเมริกัน หากจะมีรัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้นควบกันไปกับรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายในกรุงเทพฯ

คณะผู้แทนไทยกล่าวว่ารัฐบาลพลัดถิ่นจะปฏิบัติการโดยอาศัยพื้นฐานการรับรองของประเทศสหประชาชาติ มิใช่กฎหมายไทย และได้กล่าวว่าคณะผู้แทนไทยไม่ได้รับคำสั่งให้มาเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการ แต่ให้มาเสนอการจัดตั้งรัฐบาลในความคิดเห็นของเขาทั้งหลาย การจัดตั้งรัฐบาลจะอธิบายให้ประชาชนไทยเข้าใจได้ง่ายกว่าการจัดตั้งคณะกรรมการและเขาทั้งหลายปรารถนาที่จะมีรัฐบาลดังกล่าวเพื่อประกาศการเข้าร่วมกับสหประชาชาติของชาวไทย บุคคลเหล่านี้ได้กล่าวเสริมว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นจะดูไม่ถูกต้อง ทางปฏิบัติเขาก็จำต้องปรึกษากันเองต่อไปอีก และต้องขอคำปรึกษาต่อไปจากผู้สำเร็จฯ คนทั้งหลายได้แสดงความรู้สึกให้เราเห็นว่า หากจำเป็นเขาก็จะยอมรับคณะกรรมการ แทนที่จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล

เราตั้งปัญหาของการช่วยเหลือแบบให้ยืมเช่า (Lend-Lease aid) ซึ่งมีการอ้างไว้ในบันทึกของเขาทั้งหลาย และได้กล่าวว่า เนื่องจากเขาทั้งหลายต้องการได้อุปกรณ์ (supply) ทางทหารเพื่อใช้ต่อต้านศัตรู เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาทางการทหารซึ่งจะต้องตกลงกับเจ้าหน้าที่ทหาร

เรากล่าวถึงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก่อนสงคราม ซึ่งกีดกันชาวต่างด้าว และถามว่าจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ในระยะหลังสงคราม คณะผู้แทนไทยกล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามจะต้องมีพื้นฐานอยู่ในแนวความคิดของการไม่แบ่งแยก (non-discrimination) บรรดาชาวต่างชาติทั้งหลายจะได้รับไม่แต่เพียงการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์เท่านั้น แต่จะได้รับการปฏิบัติต่อระดับชาติ

คณะผู้แทนไทยได้กล่าวว่า เขาได้ไปเยี่ยมคารวะ เซอร์ ยอร์ช แซนซอมแล้ว แต่ยินดีที่จะปล่อยเป็นเรื่องทางเราที่จะเจรจากับเซอร์ ยอร์ชในเรื่องของคณะกรรมการและการสนทนาของเรา

หลังจากได้พิจารณาข้อโต้แย้งซึ่งคณะผู้แทนไทยเสนอมาอย่างละเอียดสนับสนุนความคิดการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแล้ว เรารู้สึกมั่นใจว่า ขณะนี้จะเป็นการดีที่จะเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการเป็นขั้นแรก ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการพิจารณาขั้นต่อไปในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

 


บันทึกของ The Director of the Office of Eastern Affairs

 

บันทึกของ The Director of the Office of Far Eastern Affairs

(มร. บัลแลนไทน์)

ถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. กรู)

และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(มร. ดันน์)

(วอชิงตัน) ๒๘ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕

สิ่งที่ส่งมาด้วย : บันทึก ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๕ จากผู้อำนวยการหน่วย โอ.เอส.เอส. สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ[15] ประกอบด้วยคําบรรยายถึงการปฏิบัติงานที่ประสบผลสำเร็จของหน่วย โอ.เอส.เอส. อย่างน่าสนใจ และพัฒนาการอื่น ๆ ในประเทศไทย อันจะมีคุณค่าโดยตรงต่อการปรึกษาหารือ ซึ่งขณะนี้ทางเรากำลังกระทำอยู่กับคณะผู้แทนไทย

โดยทั่ว ๆ ไป บันทึกของหน่วย โอ.เอส.เอส. ตรงในประเด็นสำคัญกับรายงานซึ่งคณะผู้แทนไทยเสนอไว้กับทางเรา อย่างไรก็ตามบันทึกของหน่วย โอ. เอส.เอส. แตกต่างออกไปในสองประการคือ (๑) คณะผู้แทนไทยได้ตั้งข้อสงสัยว่าผู้สำเร็จฯ จะพอใจกับสิ่งที่ด้อยไปกว่าการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นชั่วคราวหรือไม่ ในขณะที่หน่วย โอ.เอส.เอส. ได้รายงานมาว่า ผู้สำเร็จฯ ปรารถนาที่จะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือคณะกรรมการบริหาร (an executive committee) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ (๒) คณะผู้แทนไทยกล่าวว่า ผู้สำเร็จฯ ปรารถนาจะให้รัฐบาลชั่วคราวดังกล่าว ประกาศสงครามกับมหาอำนาจฝ่ายอักษะทันที ในขณะที่หน่วย โอ.เอส.เอส. รายงานมาว่า ผู้สำเร็จฯ เสนอว่าการประกาศสงครามจะมีขึ้นเมื่อรัฐบาลชั่วคราวเช่นว่าได้จัดตั้งขึ้นแล้วบนผืนดินไทย

เรารู้สึกว่าทั้งสองประการตามที่หน่วย โอ.เอส.เอส. ได้รายงานมาเกี่ยวกับท่าทีของผู้สำเร็จราชการฯ ดูจะสมเหตุสมผลตรงกับหลักความจริงของปัญหาเหล่านั้นมากกว่า

ในบันทึกของหน่วย โอ.เอส.เอส. ได้แนะว่า ควรส่งข่าวให้กำลังใจไปยังผู้สำเร็จฯ และผู้ร่วมงานของเขา นัยว่าเป็นคำแนะที่ดียิ่งในแง่ของการร่วมมือที่คนไทยในประเทศไทยได้ให้แก่เจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. การปรึกษาหารือที่เราได้กระทำกับผู้แทนไทยในปัจจุบันนี้ และกำลังของขบวนการต่อต้านฝ่ายไทยที่กำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ในเมืองไทย

ขอแนะนำว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควรส่งข่าวให้กำลังใจไปยังผู้สำเร็จราชการฯ โดยทางวิทยุ และด้วยวาจาในตอนหลัง โดยผ่านทางหน่วย โอ. เอส.เอส. ตามแนวข้อความข้างล่างนี้

“ความพยายามของท่านและผู้ร่วมงานของท่านในการที่จะปลดปล่อยประเทศชาติของท่านจากผู้รุกราน เป็นที่ทราบและรู้สึกซาบซึ้งกันดี และเชื่อแน่ว่าจะไม่ล้มเหลว ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านประสบความสำเร็จในความพยายามในทุกวิถีทาง เพื่อที่จะบรรลุที่จะถึงจุดหมายปลายทาง และขอแสดงความนับถือเป็นส่วนตัวอย่างจริงใจมายังท่าน”

โจเซฟ ดับเบิลยู บัลแลนไทน์

 


กระทรวงการต่างประเทศถึงสถานทูตอังกฤษบันทึกช่วยความทรงจำ

 

๘๙๒.๐๑/๓-๗๔๕

กระทรวงการต่างประเทศถึงสถานทูตอังกฤษ[16]

บันทึกช่วยความทรงจำ

(วอชิงตัน) ๑๕ มีนาคม ๑๙๔๕

อ้างถึงบันทึกช่วยความทรงจำของสถานทูตอังกฤษ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๑๙๔๕[17] เกี่ยวกับการสนทนาในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ระหว่าง The Political Adviser to the South East Asia Command และคณะผู้แทนไทยในซีลอน เป็นที่สังเกตได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้สังเกตเห็นความคลาดเคลื่อนในคำกล่าวของคณะทูตไทยในซีลอน และคำกล่าวของคณะทูตในกรุงวอชิงตัน ซึ่งให้ไว้กับกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของสถานทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตัน

โดยนัยแห่งบันทึกช่วยความทรงจำของสถานทูตฉบับนี้ ได้มีการพิจารณาทบทวนรายงานการสนทนาซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ทำกับผู้แทนไทยอย่างรอบคอบและอาจสรุปอย่างสั้น ๆ ได้ว่า ตามคำกล่าวของผู้แทนไทย ผู้สำเร็จราชการฯ ไทยปรารถนาที่จะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นและประเทศอักษะอื่น ๆ (คนไทยกล่าวว่าการประกาศสงครามของชาติของเขากับบริเตนใหญ่และสหรัฐ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้เป็นตัวแทนความรู้สึกของคนไทยอย่างแท้จริง) ผู้สำเร็จราชการฯ ไทยปรารถนาที่จะปฏิเสธสัญญาและข้อตกลงทั้งหมดที่ได้ทำไว้โดยอดีตนายกพิบูลฯ[18] นับตั้งแต่ ๘ ธันวาคม ๑๙๔๑ (เกี่ยวกับเรื่องนี้ คนไทยสัญญาที่จะคืนดินแดนที่ได้มาโดยความช่วยเหลือของญี่ปุ่นแก่พม่าและมลายูโดยปราศจากเงื่อนไข แต่ได้ขอร้องว่า ในระยะหลังสงครามควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ย อังกฤษ-อเมริกา (British American Arbitration Committee) เพื่อพิจารณาข้ออ้างสิทธิของคนไทยในดินแดนอินโดจีน) ผู้สำเร็จราชการฯ ปรารถนาที่จะให้คนไทยมั่นใจในความตั้งใจดีของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อจะรวมคนไทยเข้าด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง สนับสนุนความพยายามทางการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในไทยต่อต้านญี่ปุ่น และในประการสุดท้าย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลไทยอิสระชั่วคราวในต่างประเทศ ซึ่งจะสนองความต้องการปัจจุบันเป็นการชั่วคราวที่จะมีผู้นำประเทศอย่างแท้จริงภายในเมืองไทย และซึ่งจะสลายตัวไปทันทีที่ผู้สำเร็จราชการฯ ในเมืองไทยอยู่ในฐานะ (เชื่อว่าจะเป็นระยะเวลาตอนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าประเทศไทยพร้อมด้วยกำลังทหาร) ที่จะตั้งรัฐบาลใหม่ชั่วคราวขึ้นในแผ่นดินไทย ช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้มีการแนะนำไว้ในบันทึกช่วยความทรงจำของสถานทูตอังกฤษในหน้า ๒ ประโยคสุดท้าย[19]

โดยอาศัยข้อความในบันทึกช่วยความทรงจำของอังกฤษเป็นพื้นฐาน กระทรวงถือว่ามีสาระแตกต่างในข้อเสนอซึ่งที่ปรึกษาทางการเมืองของ HBM[20] เสนอขึ้น ณ เมืองแคนดี และข้อเสนอซึ่งคณะผู้แทนไทยในกรุงวอชิงตันเสนอต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมากไปกว่าที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแสดงด้วยวาจาที่ผิดแผกแตกต่างกันไปของคำสั่งอันเดียวกัน

กระทรวงได้สังเกตคำกล่าวของที่ปรึกษาทางการเมืองซึ่งได้กล่าวว่าเขา “ลงความเห็นว่าความปรารถนาที่จะร่วมกับเราเป็นการจริงใจอย่างปราศจากข้อสงสัย” กระทรวงก็ลงความเห็นสรุปเช่นเดียวกัน และรู้สึกประทับใจไม่ใช่แต่เพียงความปรารถนาซึ่งแสดงออกโดยผู้สำเร็จฯ และสมาชิกขบวนการต่อต้านไทย (Thai Resistance Movement) ที่จะร่วมแรงร่วมใจ แต่ในมาตรการจริงจังที่ได้ตั้งขึ้นและความตั้งใจที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ในการที่จะเร่งให้เกิดขบวนการซึ่งน่าจะมีคุณค่าแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับปฏิบัติการวางแผนขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย ก็เชื่อได้ว่ารัฐบาลอังกฤษ จีน และอเมริกา คงจะเห็นพ้องในขั้นแรกที่จะมองเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการปลดแอกไทยอิสระ (A Free Thai Liberation Committee) ขึ้น ขณะนี้ในต่างประเทศเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ยอมรับกันของขบวนการต่อต้านไทยอิสระ จอมพลเจียงไคเช็คได้แสดงความเต็มใจต่อเอกอัครราชทูตอเมริกันในจุงกิงที่จะสนับสนุนคณะกรรมการนี้ ซึ่งจะมีกรุงวอชิงตันเป็นที่ตั้ง คณะกรรมการดังกล่าวอาจจะรวมทั้งผู้แทนของผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งจะปฏิบัติการอยู่ ณ ลอนดอน จุงกิง และวอชิงตัน อันเป็นเมืองหลวงของประเทศที่สำคัญของ ๓ ประเทศสหประชาชาติที่ให้ความสนใจ กระทรวงมั่นใจว่า การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล ๓ ประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว จะมีคุณค่าอย่างแน่นอนในการเผด็จศึกในตะวันออกไกล และในการสนับสนุนอุดมการณ์ของสหประชาชาติ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

หมายเหตุ:

  • คงอักขระ การสะกดคำ เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง:

  • ปรีดี พนมยงค์, เรื่อง “ความสนใจของสหรัฐในปัญหาการรับรองขบวนการเสรีไทย”, เอกราชได้มาด้วยการต่อสู้, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543), น. 52-71.

 


[1] เห็นชอบโดย The Secretary's Staff Committee ในวันที่ ๓๑ มกราคมและส่งไปยัง State-War-Navy Co-ordinating Committee ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ แนบบันทึกความทรงจําโดย มร. บัลแลนไทน์ ลงวันที่ก่อนหน้านี้

[2] ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ไม่ได้พิมพ์

[3] ที วี ซุง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน

[4] ไม่ได้พิมพ์เป็นข้อความของจดหมาย ลงวันที่ ๙ กันยายน ๑๙๔๔ จากผู้สำเร็จราชการฯ ของประเทศไทยถึงจอมพลเจียงไค เช็ค ในจดหมายฉบับนี้ผู้สำเร็จราชการฯ กล่าวว่า เขากำลังส่งผู้แทนไปประเทศจีนเพื่อหาทางขอคำรับรองจากมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร และขออนุญาตจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือองค์การซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันในอาณาเขตของฝ่ายสัมพันธมิตร

[5] โทรเลข ๑๕๙ และ ๑๖๐ ไม่ได้พิมพ์ สําหรับบทย่อดูฟุตโน๊ต ๑๒๔ หน้า ๑๒๔๖ และ ๒๖ ข้างบน

[6] ไม่ได้พิมพ์ เป็นข้อความสำคัญของโน้ตที่ส่งให้แก่ทูตอังกฤษในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๑๙๔๔ (Foreign Relations, 1944 vol. V, P. 1313) และเป็นข้อความซ้ำของโทรเลข ๕๔ ไปยังจุงกิง ลงวันที่ ๑๐ มกราคม และโทรเลข ๑๐๔ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม หน้า ๑๒๔๑ และ ๑๒๔๔ ตามลำดับ

[7] เคนเนท พี แลนดอน Assistant Chief of the Division of Southwest Pacific Affairs

[8] infra

[9] เอ็ม อี เดนนิง Chief Political Adviser to the Supreme Allied Commander, Southeast Asia Command

[10] เมืองในศรีลังกา

[11] โน๊ตสำหรับการเจรจาด้วยวาจากับ มร. บัลแลนไทน์ ๒๑ กุมภาพันธ์ ไม่ได้พิมพ์

[12] มณี สาณะเสน เลขานุการสถานทูตไทย

[13] ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร Southeast Asia Command

[14] ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ไม่ได้พิมพ์ คณะผู้แทนพิเศษประกอบด้วยทูตไทย, สงวน ตุลารักษ์ ประธานคณะกรรมการเพื่อการปลดปล่อยประเทศสยาม (President of the Committee for Siamese National Liberation) และสุนีย์ เทพรักษา รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า กนต์ธีร์ ศุภมงคล แห่งกระทรวงการต่างประเทศไทย

[15] ไม่ได้พิมพ์

[16] ส่งให้เลขานุการโทของสถานทูตอังกฤษ (มร. เอเวอร์ชัน) โดย มร. บัลแลนไทน์ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม บทย่อของบันทึกช่วยความทรงจำนี้ถูกส่งไปให้อุปทูตในประเทศจีนตามโทรเลขของกระทรวง ๔๕๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๐.๐๐ น. เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีน (๘๙๒.๐๑/๓-๑๓๔๕)

ในโทรเลข ๑๗๑ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๙.๐๐ น. อุปทูตได้รายงานว่า ได้ปฏิบัติสิ่งนี้เรียบร้อยในวันก่อนหน้านี้ (๘๙๒.๐๑/๓-๒๑๔๕)

[17] ไม่ได้พิมพ์

[18] จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๑๙๔๔

[19] ของ section 2

[20] พระเจ้ากรุงอังกฤษ