ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

Q&A ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย 

26
สิงหาคม
2564

 

Q&A ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย 

 



ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ: การทำให้ชาติพ้นภัยต้องใช้กำลังใจกำลังกายจากหลายสาย  ไม่แม้แต่เฉพาะสายอังกฤษ สายอเมริกาหรือสายไทยกันเอง ถ้าทุกท่านที่อยู่ในไลฟ์นี้ติดตามตั้งแต่ตอนต้น เรามีวิดีทัศน์เรื่องการเดินสวนสนามของขบวนการเสรีไทย มีทั้งธงจากขอนแก่น มีทั้งธงจากทางอีสาน เพราะฉะนั้น ในวันนี้ 16 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2564 ครบรอบ 76 ปี เราได้คุยกันถึงเสรีไทยหลายสาย 

ช่วงต่อไปผมขออนุญาตเชิญวิทายากรทุกท่านเข้ามาในไลฟ์ วันนี้เรามีแขกรับเชิญพิเศษอีกท่านหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นทายาทเสรีไทยตัวจริงเสียงจริง เป็นทายาทคณะราษฎรด้วย นั่นก็คือ ‘อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล’ และ ผู้ดำเนินรายการร่วม ขอต้อนรับ ‘คุณกษิดิศ อนันทนาธร’ ครับ

กษิดิศ อนันทนาธร: ผมคงมีคำถามที่ประมวลมาจากทางบ้านที่ถามมาในแชทใน Facebook คำถามหลักใหญ่ใจความ คือ เมื่อสักครู่เราพูดถึง ‘จำกัด พลางกูร' วิทยากรหลายท่านกล่าวถึงความสำคัญของคุณจำกัดที่เดินทางจากประเทศไทยออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจีน ไปเจอ ‘เจียง ไคเช็ก’ เพื่อจะติดต่อว่าเรามีสัมพันธมิตรอยู่ในประเทศ มีเสรีไทยอยู่ในประเทศ เพื่อที่จะเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อจะต่อต้านญี่ปุ่น ก็มีคนบอกว่าเร็วๆ นี้มีนักวิชาการท่านไปศึกษามา แล้วก็บอกว่าเอกสารจดหมายเหตุทางจีนเขาบอกว่าเจียง ไคเช็ก รับรองสถานะเอกราชของไทยหลังสงครามไว้ก่อนแล้ว ก่อนที่จำกัดจะเดินทางไปถึงเมืองจีนอีก ก็เลยสงสัยว่าเอาจริงแล้ว งานของคุณจํากัดเป็นงานที่สำคัญจริงหรือไม่ ในเมื่อเจียง ไคเช็ก เขาก็ประกาศว่าเขาก็จะรับรองเอกราชให้ไทยแล้ว ไม่แน่ใจมีท่านใด อยากขยายความในประเด็นนี้ไหมครับ

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ:  ขอขยายความนิดหนึ่ง ท่านผู้ฟังที่อาจจะไม่ตามโลกโซเชียล ผมขออธิบายนิดหนึ่งถึงงานวิจัยของท่าน ‘อาจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์’ มีการเอาไปทำคลิปใน YouTube ซึ่ง ‘คุณจอห์น วิญญู’ ก็อธิบายง่าย ๆ ว่า เจียง ไคเช็ก เขาประกาศรับรองรัฐไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ว่าฟากคุณจำกัด พลางกูร จะไปถึงเมืองจีน ท่านบอกว่ากว่าจะได้พบเจียง ไคเช็ก ก็พฤษภาคมแล้วครับอาจารย์ อธิบายเรื่องนี้อย่างไรดี แต่ว่าสำหรับผมเองสั้นๆ ง่ายๆ เลยว่า จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผลของการที่คุณจำกัด พลางกูรไปถึงเมืองจีน ก็ทำให้สร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ว่าเฉพาะว่าเป็นการยอมรับฝ่ายเดียว แต่ว่าได้ไปแสดงตัวว่าฝ่ายไทยของเรามีบุคคลผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นด้วยจึงทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น 

ดร.ผุสดี ตามไท: ดิฉันคิดว่า ถึงแม้เอกสารจะพูดถึงเรื่องของการที่เจียง ไคเช็กมีการพูดจาว่าเลือกรับรองอธิปไตยของไทยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น งานของคุณจำกัดจะสำคัญไหม? 

ดิฉันคิดว่ามันไม่ใช่เฉพาะจีน เพราะเวลาคุณจำกัดเดินทางไป ไปในฐานะตัวแทนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะจีน แต่ยังมีอังกฤษ มีอเมริกาอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้วที่จุงกิงหรือที่จีนในตอนนั้น คือ สถานทูตของอังกฤษและอเมริกาก็อยู่ เพราะฉะนั้นการเดินทางของคุณจำกัดไปนั้น ไม่ใช่เป็นการเสียเปล่า และไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่จะไม่มีความสำคัญเลย 

ตรงกันข้าม ดิฉันกลับคิดว่ามีความสำคัญยิ่งยวดเพราะเหตุใดคะ? สมมติว่าเจียง ไคเช็ก รับรองอธิปไตยแล้ว นี่ลองคิดเอง และแบ่งปันความคิดนะคะ ว่าด้วยเหตุผลกลใด คุณจำกัดไม่ได้เดินทางง่ายนะคะ หลังจากประเทศจีนไปแล้วก็จะพบกับการที่อาจจะต้องถูกกีดกันบ้าง ซึ่งมันก็ไม่ได้แปลว่าคุณจำกัดนั้นจะเดินทางสะดวกง่ายดาย เหมือนกับที่เราฟังว่าทางประเทศจีน หรือ เจียง ไคเช็กได้รับรองแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คงไม่มีปัญหาอะไรกับทางจีนในแง่ของความสะดวกสบาย แต่อย่างไรก็ตามการที่ต้องไปส่งสาสน์ให้กับสัมพันธมิตรทั้งฝ่ายอเมริกาและฝ่ายอังกฤษให้ทราบก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ: ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ผุสดีเลยครับ ผมคิดว่าเราน่าจะกลับไปในอุดมการณ์ของเสรีไทย วิทยากรทุกท่านพูดชัดเจนเลยว่า เสรีไทย คือ ไม่เอาหน้า ถึงแม้ชื่อจะไม่ออกก็ไม่เป็นไร หรือ ถึงแม้ในวีดีโอใน Social Media จะบอกว่าอาจารย์ปรีดีเข้ามาให้ highjacked ขบวนการเสรีไทย 

ผมคิดว่า ถึงแม้จะพูดอย่างนั้นอาจารย์ปรีดีก็ไม่โกรธ อาจารย์ปรีดีก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไรล่ะ เพราะว่าพูดกันชัดเจนเลยว่าเราทำเพื่อชาติ อย่างเช่นที่คุณหญิงหน่อย พูดว่า เราจะต้องทำเพื่อชาติ ถึงแม้ว่าชื่อของเราจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ก็ตาม ถ้าจะมาตีความว่าท่านคนนี้ไป คนนั้นไม่มีความหมาย ผมคิดว่า mission accomplished  แล้ว  ผลงานของเสรีไทยเป็นที่ประจักษ์ จะตีความว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนเกิดขึ้นหลัง ไม่เป็นไร แต่ว่าชาติเราได้พ้นภัย แล้วก็เสรีไทยไม่เคยคิดทั้งจากเอกสาร จากคำบอกเล่าทุกอย่างชี้ไปที่ประเด็นที่ว่าเสรีไทยไม่ได้อยากเอาความดีความชอบ เสรีไทยทำเพื่อชาติ คิดว่าอันนี้คืออุดมการณ์ที่แสนวิเศษที่เกิดขึ้นครับ

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ: มีคำถามถึง ‘ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน’ จาก ‘อาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ’ ถามว่า “สยามประกาศสงครามต่อ USA และ UK และทำไมสยามไม่ต้องมี peace treaty (สนธิสัญญาสงบศึกหรือสนธิสัญญาสันติภาพ)” 

ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน: พูดถึง peace treaty ผมนึกถึง peace treaty 2 ฉบับที่มีความสำคัญมาก ฉบับหนึ่ง คือ peace treaty ของ westphalia ปี 1848 ตอนนั้นเป็นสนธิสัญญาระหว่างคู่สงคราม คือ ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นคู่สงครามกันเสียก่อนถึงจะเป็น peace treaty ได้ ก่อนนั้นมีสงคราม 30 ปี และสนธิสัญญา westphalia นี้เป็นการทำสนธิสัญญายุติ ยุติสงคราม 30 ปี ดังกล่าว เป็นการต่อสู้ทางศาสนาเสียส่วนใหญ่

อีกฉบับหนึ่งที่จะพูดถึง คือ สนธิสัญญาแวร์ซายปี 1919 กล่าวถึงสถานะของเยอรมัน หลังจากที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือ 1914-1918 มีการทำสนธิสัญญาดังกล่าวในปี 1919 กำหนดให้เยอรมันเสียค่าปฏิกรรมสงครามมากมายเหลือเกิน และก็ได้มีการยึดครองดินแดนของเยอรมันด้วย เป็นเหตุผลประการหนึ่งซึ่งให้เกิดสงรามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำไป

ทีนี้ ที่ถามมาว่า “ทำไมถึงไม่ทำสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าวนั้น” เหตุเพราะว่า ไทยเราไม่เป็นรัฐที่เป็นปรปักษ์ ไม่ใช่เป็นรัฐที่เป็นคู่กรณี เราต้องการที่จะให้การประกาศสงครามของเราเป็นโมฆะ นี่คือความสามารถพิเศษของเสรีไทยในตอนนั้น 

ลองคิดให้ดีว่าถ้าทำสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว สถานะของไทยเราจะเป็นอย่างไร ก็เท่ากับว่าเรายอมรับว่าสงครามนี้มันเกิดขึ้น เรายอมรับว่าเราเป็นคู่กรณีกับอังกฤษ กับอเมริกา แต่จริงๆ  แล้วมันไม่ใช่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ถือว่าไทยเราเป็นศัตรู แต่ทว่าเป็นดินแดนที่ศัตรูยึดครอง 

ส่วนอังกฤษ เขามีเมืองขึ้นมาก่อน จิตใจเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการเจรจาค่อนข้างจะมากมาย ในที่สุดแล้วไทยเราก็ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ถ้าไม่ได้ไปติดที่อังกฤษ เราคงจะเป็นสมาชิกสหประชาชาติตอนต้นๆ ด้วยซ้ำไป 

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล: พูดถึงขบวนการเสรีไทย ครูเกือบจะเกิดไม่ทันเหมือนกัน แต่ว่าพอโตขึ้นก็ได้ศึกษา ได้อ่านบ้าง คือดิฉันคิดว่าข้อมูลจะมีเยอะแยะเลย ทีนี้พอจะได้อ่านข้อมูล  ก็ควรจะใช้วิจารณญาณ หรือที่เราเรียกว่า “กาลามสูตร” อะไรที่สมควรเชื่อ อะไรที่ไม่สมควรเชื่อ เพราะฉะนั้นการที่มีบางคนอาจจะพูดถึงขบวนการเสรีไทยในทางที่ไม่ดี ดิฉันคิดว่า ดิฉันชอบคำพูดของคุณพ่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ท่านพูดไว้ประโยคหนึ่งว่า “การทำงานของขบวนการเสรีไทย คือการรับใช้ชาติ ไม่ใช่การกู้ชาติ” และยังมีอีกประโยคหนึ่ง คุณพ่อทำหนังภาพยนต์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก ประโยคสุดท้ายในคำนำเขียนว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” 

เพราะฉะนั้น เราทุกคนขณะนี้ โลกนี้ยังไม่มีสันติภาพ เราทุกคนควรจะร่วมมือกันช่วยใฝ่หาและสร้างสันติภาพ ทั้งในใจเราเองและในทางการกระทำ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ส่งเสริมสันติภาพ คิดว่าทุกคนสมควรที่จะทำ 

ดิฉันก็ประทับใจคำพูดของ ‘คุณทศ พันธุมเสน’ อดีตเสรีไทยสายอังกฤษท่านหนึ่ง ที่ท่านเคยพูดกับดิฉันว่า “การทำงานของขบวนการเสรีไทย ไม่ใช่ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระเดินอ้อมไปหลังองค์พระก็ยังเห็นแผ่นทองที่ปิดอยู่หลังองค์พระ แต่ว่าการทำงานของขบวนการเสรีไทย คือ การปิดทองใต้ฐานพระ” 

“ใต้ฐานพระ” คือ เป็นการอุปมาอุปไมยว่า ทุกอย่างที่ทำไป  ไม่ได้หวังอะไรเลย ไม่ได้หวังชื่อเสียง เงินทองไม่ได้หวังตำแหน่งหน้าที่ และปรีดีก็พูดบอกว่าไม่ใช่จัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเท่าที่ดิชั้นค้นคว้าก็รู้สึกว่า พลพรรคของขบวนการเสรีไทย หลังจากวันสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แล้ว   ปีกว่าก็เกิดรัฐประหารพฤศจิกา พ.ศ. 2490 หลังจากนั้นก็มีสมาชิกของขบวนการเสรีไทยถูกอุ้มฆ่า ถูกสังหารอย่างโหด ไม่ต่ำกว่า 30 ท่าน

ดิฉันไม่สามารถนำรายชื่อของท่านทั้งหลายมาเปิดได้ครบถ้วน ณ ที่นี้ ดิฉันคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ “ผู้ที่ปิดทองใต้ฐานพระ” ที่แท้จริงและท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ท่านที่เป็นทายาทของบรรดาเสรีไทยทั้งหลาย บรรพบุรุษของท่านก็เป็นผู้ปิดทองใต้ฐานพระอย่างแท้จริง

 

กษิดิศ อนันทนาธร: มีอีกคำถามจากทาง FB เช่นกันครับ “คนรุ่นหลังหลายคนมักจะพูดทำนองว่าการที่เราเสียเอกราชหรือเสียอธิปไตยไป มันไม่เห็นจะเสียหายอะไรเลย ถ้าสมมติต้องเสีย ประเทศที่แพ้สงครามอย่างเยอรมันหรือยังญี่ปุ่น เขาก็เจริญก้าวหน้าได้ ถ้าประเทศไทยแพ้สงครามบ้างอาจจะดีกว่าไม่แพ้สงครามก็ได้”

ผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์: ผมคิดว่าเรื่องปิดทองหลังพระมันชัดเจน คือ การดำเนินเพื่อประเทศชาติแล้วไม่ได้หวังที่จะคุยโอ้อวด  ผมมีปัญหากับรุ่นน้องๆ รุ่นหลังที่ว่าเวลาหารือกันว่าอยากจะฟังว่าคุณพ่อเล่าอะไรให้ฟังบ้าง เขาบอกว่าคุณพ่อไม่เคยเล่าอะไรให้ฟังเลย ก็เป็นปัญหานี้ว่าข้อมูลเกี่ยวเรื่องเสรีไทยในลักษณะนี้เลยหายไปกับเสรีไทยตัวจริง  

ผมขออนุญาตตอบคำถามที่ถามเมื่อสักครู่  ผมถามทุกคนว่าท่านพร้อมไหมที่จะเสียเอกราช และเป็นบุคคลชั้น 2 พอจะสละอันนั้นได้ไหมครับ ถ้าพอจะสละได้ก็น่าสนใจ อันที่ 2 ก็คือว่าผมคิดว่าเสรีภาพ เป็นเรื่องที่มีคุณค่าสูง การที่เราจะไปเป็นประเทศที่เสียเอกราช เป็นประเทศประชาชนชั้น 2  นั่นคือการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ถ้าทั่วไป ในคนที่มีความคิดปกติจะไม่ยอมรับอันที่ 2  ไม่ใช่ทุกประเทศที่เป็นเมืองขึ้นแล้วได้รับความเจริญ ถ้าจะดูแต่ญี่ปุ่นกับเยอรมันนี่อาจจะคิดว่าเจริญ ลองดูประเทศอื่นที่ตกเป็นเมืองขึ้น จริงๆ แล้วประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้เจริญ  

รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ: สั้นๆ ครับ มันอาจเป็นปัญหาในอนาคตที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น อย่างกรณีที่ถูกยึดครองอย่างเวียดนามที่ผมเอ่ย โอเคมันจบแค่นั้น แต่กว่ามันจะได้อธิปไตยคืนมาต้องเสียชีวิตไปอีก 3 ล้านคน ต่อสู้อีก 40 - 50 ปี มันทนทุกข์ทรมานอีกมากมายมหาศาล เยอรมันนีกว่าจะกลับมาได้ ก็ทนทุกข์ทรมานมหาศาลมาก กว่าจะกลับมาถึงจุดนี้ได้ ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน 

เพราะฉะนั้น มันมีมิติในเรื่องความวุ่นวายกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ความแตกแยกและการต่อสู้ อย่างเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกัน ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่จบถึงทุกวันนี้ คนเกาหลีเหนือที่อยู่ในนั้นก็ทนทุกข์ทรมานมาก เพราะฉะนั้น อธิปไตย เสรีภาพ  ประเทศไทยไม่เคยสูญเสียจึงไม่เข้าใจแต่ไปถามคนลาว คนเขมร คนเวียดนามพวกนี้จะตอบได้อย่างชัดเจนมาก

ดร.ผุสดี ตามไท: ความจริงแล้ว  ความกล้าหาญของประชาชนคนไทยที่ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีระดับการศึกษาสูง อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาหรือว่าที่อังกฤษ แต่ว่าที่บ้านเราเองใน 39 จังหวัดที่มีรายงานไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ และทั้งหญิงทั้งชาย ผู้หญิงเสียดายไม่มีเวลาเล่า แต่อยากจะบอกว่าทุกๆ คน มีความกล้าหาญ นั่นคือเหตุผลที่ฉันคิดว่าท่านปรีดีถึงบอกว่า เป็นเรื่องของคนไทยทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะขบวนการเสรีไทย ดิฉันอยากจะให้ทุกท่านได้นึกถึงและรู้คุณค่าจริงๆ ว่ารากเหง้า ที่มีเอกราช ที่เราเป็นประชาชนชั้น 1 มันไม่มีอะไรแลกได้เลยค่ะ

ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน: สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องการศึกษา ก็อยากจะช่วยให้พวกเราช่วยผลักดันเรื่องนี้ต่อไป เพื่อที่นักเรียนนักศึกษารุ่นหลังจะได้ทราบประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ของประเทศไทยครับผม 

รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ: ผมอยากให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันที่คนไทยทั้งชาตินึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกินกว่า 76 ปีมาแล้วที่คนไทยปรองดองกันสามัคคีกัน ร่วมอุดมการณ์กันเพื่อความคงอยู่ของชาติไทยเราและอธิปไตย

ผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์: ผมอยากจะฝากว่าเราพูดถึงคำว่า รักชาติ กรุณาอย่าใช้คำว่ารักชาติในทางที่ผิด จะบอกว่า Thailand First Thailand Only  โดยดูจากประเทศอื่น การรักชาติก็คือเราต้องเข้าใจเขา เข้าใจเรานี่มีใจที่เปิดกว้างที่จะเข้าใจคนอื่นในประเทศเรา คนอื่นในต่างประเทศเพื่อจะดำเนินการได้เหมาะสม ประเทศไทยต่อไปนี้ผมหวังว่าการดำเนินบริหารจัดการของเราจะดำเนินการและการบูรณาการ เรามีปัญหาเรื่องบูรณาการ แต่ละหน่วยงานนี่จะแยกกัน ทำงานส่วนของตน เน้นแต่ส่วนประโยชน์ของตน ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ใหญ่ในองค์กรไหนก็ตาม ท่านใช้องค์กรของท่านอยู่กับประเทศชาติ ไม่ใช่เพราะมีองค์กรของท่าน  อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะฝาก  

ครูดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล: เราควรที่จะเรียนรู้เรื่องราวในอดีต เพื่อที่จะพัฒนาอนาคต

กษิดิศ อนันทนาธร: ตั้งแต่พูดถึงขบวนการเสรีไทยในประเทศเอง การออกไปติดต่อกับต่างประเทศในประเทศสัมพันธมิตรต่างๆ  โดยเฉพาะงานของคุณจำกัด พลางกูร พูดถึงการก่อตั้งเสรีไทยในอเมริกาในอังกฤษ ที่เป็นกลุ่มของนักเรียนกลุ่มของราชการที่สถานทูต โยงมาถึงการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อการรักษาเอกราช เพื่ออิสรภาพของไทย 

แต่ละท่านก็ได้ให้ข้อคิด ให้ความเห็นหรือว่ามีเกร็ดในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ฟังจากที่อื่น อย่างกรณีของดร.อนุชาก็เล่าเรื่องเบื้องหลังให้เราฟังหลายต่อหลายเรื่องที่น่าสนใจมาก หรืออย่างของป้าหน่อย ม.ร.ว.สายสวัสดีก็อุตส่าห์เขียนเตรียมโพยไว้อย่างดี หลายหน้ากระดาษเอามาเรียบเรียงให้พวกเราฟัง  

อย่างงานของอาจารย์ป๋วยก็เป็นเรื่องที่สนุกตื่นเต้นแล้วก็สนใจ อย่างของท่านอาจารย์วรากรณ์พูดถึงคนอย่างการะเวก ศรีวิจารณ์ และคุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์ ซึ่งเราอาจจะลืมไปแล้ว  ถ้าเราไปดูในสุนทรพจน์ของรูทที่พูดในวันที่ 25 กันยายน 2488 ตอนที่สลายขบวนการเสรีไทย หลังจากมีการสวนสนามที่ถนนราชดำเนินกลาง  ท่านยังพูดถึงบุคคลอีกท่านหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย  คือ ‘พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต’ ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมของรัชกาลที่ 7  ท่านก็ไปสมัครเป็นทหารอังกฤษที่บังคับเครื่องบินไป ไปเสียชีวิตที่นั่น  

ในสุนทรพจน์ของอาจารย์ปรีดียังกล่าวถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตไว้ด้วยว่าเป็นคนหนึ่งที่สละชีวิตไปในคราวนั้น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าก็เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นได้ว่าขบวนการเสรีไทยเองมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่คนในระดับเจ้านายมา ในระดับนักเรียน ในระดับปัญญาชน ข้าราชการ เรื่อยลงมาถึงประชาชนในต่างจังหวัด คนเราไม่รู้จักชื่อแล้วต่างๆ นานา   

มีหลายท่านถามถึงเรื่องของชาวบ้านในขบวนการเสรีไทย ผมคิดว่าก็เป็นอีกพรหมแดนนึง ที่จะช่วยให้เราสามารถมีมิติใหม่ๆ ในการคุยเรื่องขบวนการเสรีไทยได้ แต่แน่นอนก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการสืบค้นสมควร ขนาดท่านที่เป็นข้าราชการระดับสูงหรือเป็นปัญญาชนแล้ว ยังเขียนน้อยพูดน้อยเลย การไปติดตามสืบค้นเรื่องของขบวนการเสรีไทยในระดับที่เป็นชาวบ้านหรือคนทั่วไปที่อยู่ตามต่างจังหวัดอาจจะเป็นเรื่องยากไปอีก 

แต่ว่าก็คิดว่าน่าจะเป็นโจทย์สำคัญในอนาคตที่ทำให้เห็นว่า ขบวนการเสรีไทยมีความหลากหลายมาก แล้วก็มีจำนวนที่กว้างขวางมาก ดีไม่ดีอาจจะสัมพันธ์กับผู้ฟังในรายการไลฟ์วันนี้หลายต่อหลายท่าน อาจจะมีบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์ร่วมในสถานที่หรือในจังหวัดของท่านเองด้วย  

ผมคิดว่านี่ก็เป็นวาระสำคัญที่นอกจากท่านจะได้รับหนังสือจากทางสถาบันปรีดีฯ ไปแล้ว  ที่ท่านสามารถขอมาได้ หนังสือ 76 ปีวันสันติภาพไทย ท่านอาจารย์ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือว่าแชร์ประสบการณ์ว่าในแต่ละท้องถิ่นของท่าน จังหวัดของท่านหรือครอบครัวของท่านเองมีประสบการณ์เรื่องขบวนการเสรีไทยอย่างไรบ้าง เผื่อว่าทางแอดหรือว่าทางเจ้าหน้าที่ของทางสถาบันปรีดีฯ  อาจจะได้ติดต่อไปขอทำคลิปหรือทำการเผยแพร่เรื่องราวต่อๆ ไป ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นประโยชน์ของการศึกษาเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยต่อไป  

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ: ขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูง ในโอกาสนี้ในนามของสถาบันปรีดี พนมยงค์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในโอกาสครบรอบ 76 ปีวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2564  ขอกราบขอบพระคุณวิทยากรทุกท่าน กราบขอบพระคุณหม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ครับ 

 

ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราช” เสวนา หัวข้อ ความสำคัญของหลักเอกราชกับการต่างประเทศ และข้อเท็จจริงเรื่องขบวนการเสรีไทย” จัดขึ้น ณ วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564