ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บังคับให้สูญหาย สมชาย นีละไพจิตร: ความเลวร้ายในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

3
กันยายน
2564

“สิ่งที่ได้ประจักษ์แก่ชีวิตดิฉันเสมอมา คือ สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมไม่มีพรมแดน ในความเป็นมนุษย์เราทุกคนต่างเท่าเทียมกันและไม่มีใครเล็กกว่าใครในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เกือบ 20 ปีของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดิฉันได้เห็นถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งที่เป็นความถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ คุณค่าของประชาธิปไตยซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิมนุษยชนอย่างไม่อาจแยกจากกันได้”

อังคณา นีละไพจิตร



การบังคับให้บุคคลสูญหายโดยรัฐไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมการเมืองไทย การหายตัวไปอย่างคลุมเครือของเหยื่อจึงส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างรัฐและประชาชนเสมอมา 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องราวของบุคคลหลายคนซึ่งเป็นที่รักและยกย่องของผู้คนมากมายได้ถูกเก็บรักษาไว้ในความทรงจำของสังคมเสมอ ทั้งกรณี เตียง ศิริขันธ์, พร มะลิทอง, ฮัจยีสุรง อับดุลกาเดร์, ทนง โพธิ์อ่าน รวมถึงผู้สูญหายในช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในจังหวัดพัทลุง ผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือกรณีผู้สูญหายช่วงสงครามยาเสพติดในภาคเหนือและภาคอีสานรวมถึงประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกอุ้มหายจากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การสูญหายของบุคคล คือ การสูญหายของความยุติธรรม

 

ภาพ: ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย
ภาพ: ทนายสมชาย นีละไพจิตร
นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย

 

เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยเริ่มมีการพูดในสาธารณะอย่างเปิดเผยและจริงจังเมื่อ 16 ปีที่ผ่านภายหลังการอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชน ‘สมชาย นีละไพจิตร’ โดยที่ก่อนหน้านี้แม้มีการบันทึกกรณีการอุ้มหายบุคคลสำคัญหลายคนในแวดวงการเมือง แรงงาน หรือการสูญหายของบุคคลหลายคนในช่วงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยกำลังอาวุธของรัฐบาลหลายสมัย แต่กลับไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการค้นหาตัว การนำคดีขึ้นสู่ศาลการเปิดเผยความจริง และการลงโทษผู้กระทำผิด

คดี ‘สมชาย นีละไพจิตร’ จึงเป็นคดีคนหายรายแรกของประเทศไทยที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม แม้จะพ่ายแพ้ และเจ็บปวด แต่เรื่องของสมชาย กลับนำมาสู่การเปิดโปงกระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในการทำให้คนที่คิดต่าง หรือคนที่คิดว่าเป็นศัตรูต้องหายไป และโฉมหน้าของผู้กระทำผิดได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในช่วงเวลา 16 ปีเศษที่ผ่านมา ดิฉันมิได้ยืนโดดเดี่ยวโดยลำพัง หากแต่มีบุคคลและกลุ่มบุคคลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกัลยาณมิตรมากมายที่ยืนเคียงข้างตลอดเส้นทางของการแสวงหาความยุติธรรม แม้จะยากลำบาก แต่เวลาที่ผ่านมาทำให้ปัญหาคนหายในประเทศไทยไม่อาจถูกปิดบังได้อีกต่อไป เราจึงได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการบังคับสูญหายโดยรัฐมากขึ้นทุกวัน ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และรัฐบาลจะไม่สามารถปิดบังความจริงได้เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

 

จุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 16 ปีที่แล้ว ดิฉันเป็นเพียงหญิงสามัญที่ไม่มีใครรู้จัก การทำงานของดิฉันซ่อนอยู่ข้างหลังทนายนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่ทุ่มเทการทำหน้าที่ในฐานะทนายความเพื่อปกป้องความยุติธรรม ครอบครัวมักถูกจัดความสำคัญลำดับสอง รองจากงานในชีวิตของเขาเสมอ แต่ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างไม่กลัวเพื่อปกป้องหลักกฎหมายและความยุติธรรม การทำหน้าที่ของทนายความเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจจะทำให้ สมชาย นีละไพจิตรทนายความสิทธิมนุษยชนคนนั้นต้องถูกทำให้หายไปจากชีวิตของคนหลายๆ คน

หลังสมชายหายไป บรรยากาศในบ้านเงียบเหงาและปกคลุมด้วยความกลัว คงยากที่จะอธิบายความรู้สึกในวันนั้น วันที่เพื่อนสนิทและญาติพี่น้องหลายคนต่างหายไปจากชีวิตเพียงเพราะความหวาดกลัว เหลือไว้แต่บ้านที่มีเพียงผู้หญิงและเด็กอยู่กันตามลำพัง วันที่ทำดิฉันต้องตั้งคำถามแก่ทุกคนว่าทำไม “การทำให้ใครสักคนหายไปทำให้เราหวาดกลัวได้มากขนาดนั้นเลยหรือ”

การหายไปของคนคนหนึ่ง ไม่ได้มีผลแต่กับตัวของเหยื่อ แต่มันทำให้ชีวิตของคนอีกหลายๆ คนเปลี่ยนไปด้วย ถ้าสมชายยังอยู่ เขาคงทำงานตามความเชื่อของเขาต่อไป ในขณะที่ดิฉันเองคงมีโอกาสได้ทำตามที่มุ่งมั่นตั้งใจ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีใครรู้จัก ทำงานเพื่อพอมีพอกินและพอแบ่งปัน และทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชีวิตไม่ไร้ค่า

หลังสมชายหายตัวไป ดิฉันใช้เวลา 1 ปีเต็มกับลูกๆ เพื่อพยายามดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ ทั้งที่ตระหนักดีว่าเมื่อชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่มีทางที่จะกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

ปีแรกหลังการหายตัวไปของสมชาย ดิฉันเริ่มตั้งคำถามกับลูกๆ ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป เรามีทางเลือกในการรับความช่วยเหลือจากใครบางคนที่เสนอให้ ลูกๆ อาจได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ดำเนินชีวิตอย่างคนทั่วไป พยายามลืมและไม่พูดถึงอดีตอีกต่อไป หรือ .. มีชีวิตอยู่เพื่อค้นหาความจริง เพื่อต่อต้านกับความไม่เป็นธรรม ในขณะที่เราไม่อาจรู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

คนที่อุ้มฆ่าสมชายไม่ใช่แค่คนหรือกลุ่มคน หากแต่มันคือระบบโครงสร้างอำนาจที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงต่อทุกคนที่ลุกขึ้นมาท้าทาย เราอาจต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่มีความมั่นคงปลอดภัย เราอาจต้องสูญเสียญาติพี่น้องหรือมิตรสหายที่มิอาจทนต่อความหวาดกลัวและอำนาจที่มองไม่เห็นได้

 

ครอบครัว อังคณา นีละไพจิตร

 

หลังจากอธิบายให้ลูกๆ ทุกคนเข้าใจ ในที่สุดทุกคนในครอบครัวเห็นพ้องกันว่า เราจะต้องไม่ยอมให้พ่อถูกทำให้หายไปโดยเราไม่ทำอะไรเลย เราคงไม่มีความสุขกับการรับความช่วยเหลือ ที่มีผู้เสนอให้มากมายโดยต้องแลกกับความเจ็บปวดของคนที่เรารัก เมื่อลูกๆ เข้าใจ ดิฉันจึงเริ่มคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างนอกจากการต่อสู้คดีในชั้นศาล เจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจคิดว่า “ปัญหาจะหายไป หากคนบางคนถูกทำให้หายไป”

การบังคับสูญหาย ‘สมชาย นีละไพจิตร’ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ได้เปลี่ยนเรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก เหยื่อไม่ต้องหลบซ่อนตัวอย่างหวาดกลัวอีกต่อไป และเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปิดเผยกระบวนการอุ้มฆ่าโดยรัฐอย่างไม่มีใครปกปิดได้

ดิฉันเองไม่อาจละเลยที่จะยกย่องความกล้าหาญของผู้หญิงอีกหลายคนจากครอบครัวที่ถูกบังคับสูญหายซึ่งโดยมากพวกเธอคือหญิงสามัญที่ไม่มีใครรู้จัก ทำงานหนักเพื่ออยู่รอด แต่เธอกลับกล้าหาญที่จะพูดความจริง ในขณะที่รัฐพยายามปกปิดมัน

สำหรับครอบครัว การถูกอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความจริง”  แม่ๆ หลายคนพูดว่า “เขาเอาลูกเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้ลูกคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี” เพราะความต้องการรู้ความจริง การต่อสู้ของผู้หญิงเหล่านี้จึงยังคงอยู่ ในขณะที่รัฐไม่เคยใส่ใจและให้ความสำคัญในความรู้สึกปวดร้าว ตรงกันข้ามรัฐกลับอ้างกฎหมาย เพื่อปิดปากพวกเธอ พวกแม่ๆ และเมียต่างหวังที่จะเจอลูกๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต

 

สังคมแบบไหนที่ปล่อยให้เกิดการบังคับสูญหาย เพราะไม่ดีจึงสมควรหายไป

ดิฉันมักตั้งคำถามว่า “สังคมแบบไหนกันที่ปล่อยให้เกิดการบังคับสูญหาย” และสังคมแบบไหนกันที่เราปล่อยให้เหยื่อต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐและอิทธิพลที่มองไม่เห็นโดยลำพัง เราต่างทนมองหน้าผู้หญิงและเด็กๆ ที่อยู่กับความหวาดกลัวตามลำพังได้อย่างไร หรือเราหลับตา หรืออาจเมินหน้าหนีเพื่อไม่ต้องรับรู้หรือได้ยินเสียงร้องของพวกเขา เสียงของเหยื่อเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยหากแต่เป็นเสียงร้องของผู้คนทั่วโลกที่มีชีวิตภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ไม่เคยรับฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง โดยปล่อยเจ้าหน้าที่บางคนใช้อำนาจตามอำเภอใจตามที่พวกเขาเชื่อว่า “ปัญหาจะหายไปหากคนบางคนหายไป”

ประสบการณ์ส่วนตัวทำให้ดิฉันทราบว่าการที่ใครบางคนถูกทำให้หายไปโดยรัฐ นอกจากรัฐจะปฏิเสธความรับผิดชอบและปฏิเสธการให้ความเป็นธรรมแล้ว ยังมีความพยายามที่จะทำให้สังคมเชื่อว่าคนที่สูญหายเป็นคนไม่ดีเป็นภัยสังคม เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย ซึ่งมีผลให้สังคมรู้สึกว่าน่าจะดีแล้วที่คนไม่ดีจะหายไป

เราจึงได้ยินเจ้าหน้าที่บางคนพูดถึงผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างเย้ยหยันและตีตรา เช่น เป็นพวกคอมมิวนิสต์ หรือ การกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นพวกต่อต้านรัฐบาล เป็นผู้ต้องหาหนีคดี เป็นโจรก่อการร้าย รวมถึงนักค้ายาเสพติด หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่บุกรุกป่า หรือเป็นทนายโจร เป็นต้น

การสร้างภาพจำลักษณะนี้เองที่ทำให้สังคมไม่รู้สึกผิดหากคนคนหนึ่ง หรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งต้องหายไป ในขณะที่ญาติไม่กล้าแต่จะเปล่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

การทำให้เหยื่อกลายเป็นคนไม่ดี ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้สังคมไม่เกิดความรู้สึกผิด หรือรู้สึกเสียใจหากบุคคลเหล่านั้นจะหายไป มายาคตินี้เกิดขึ้นมานานแค่ไหน ดิฉันไม่อาจทราบ จนเมื่อได้ประสบกับตัวเองในวันที่ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ถูกทำให้หายไปและชื่อของเขาถูกกล่าวถึงในฐานะของ “ทนายโจร”

ดิฉันอยากให้ท่านทั้งหลายลองนึกถึงภาพลูกๆ 5 คนของสมชาย นีละไพจิตรที่ต้องเดินผ่านร้านขายหนังสือพิมพ์ที่ทุกฉบับพาดหัวข่าวด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เหมือนกันว่า “อุ้มทนายโจร” ดิฉันคงไม่สามารถบอกเล่าถึงความปวดร้าวที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้ท่านทั้งหลายเข้าใจได้ และความเจ็บปวดนี้ยังรวมถึงความมืดมนในการมองไม่เห็นหนทางของการเยียวยาจิตใจเด็กๆ

การสร้างภาพลวงต่อสังคมเพื่อให้ไม่ต้องรู้สึกผิด หากคนคนหนึ่งต้องหายไป อาจทำให้ผู้กระทำผิดคิดว่าเป็นชัยชนะ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าการกล่าวหาเช่นนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ อย่างมาก เด็กๆ หลายคนที่ต้องเผชิญภาวะเช่นนี้มักต้องแอบซ่อนตัว ไม่กล้าออกมาทวงถามความเป็นธรรมเพื่อคนที่เขารัก เนื่องจากไม่อาจทนต่อการถูกตีตราจากสังคมได้ เด็กหลายคนปฏิเสธการไปโรงเรียนเนื่องจากถูกเพื่อนล้อเลียน หรือบางคนเติบโตเป็นคนที่ต่อต้านสังคม ...การสูญหายของคนคนหนึ่งจึงหมายถึงความสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่ไม่อาจประเมินได้

 

ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Montesquieu)

ในการพูดถึงคดี ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ดิฉันขอหยิบยกคำกล่าวของ Montesquieu นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”[1]

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 20.30 น. สมชายถูกคนกลุ่มหนึ่งบังคับนำตัวขึ้นรถ บนถนนรามคำแหง ต่อหน้าผู้คนมากมาย ขณะที่ สมชาย นีละไพจิตร กำลังขับรถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค สีเขียว มาตามถนนรามคำแหง หลังเดินทางไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีนา ในซอยมหาดไทย รามคำแหง แต่เพื่อนไม่มาตามนัด เขาไม่รู้ตัวเลยว่าระหว่างเดินทางออกจากโรงแรม มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ขับรถยนต์สะกดรอยติดตามมาอย่างกระชั้นชิด และชนท้ายรถของเชา เมื่อเขาลงจากรถเพื่อมาพูดคุย ชายกลุ่มนั้นได้ทำร้ายร่างกายและผลักสมชายเข้าไปในรถคันนั้นก่อนจะขับหายไปในความมืดและสมชายไม่ได้กลับบ้านตั้งแต่วันนั้น

 

ภาพ: ถ่าย ณ สถานที่ และเวลาเดียวกับที่สมชายถูกบังคับเอาตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่มา: Luke Duggleby- For Those Who Die Trying
ภาพ: ถ่าย ณ สถานที่ และเวลาเดียวกับที่สมชายถูกบังคับเอาตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
ที่มา: Luke Duggleby- For Those Who Die Trying

 

หลังสมชายไม่กลับบ้าน ดิฉันได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ แต่ไม่สามารถแจ้งความได้เพราะตามกฎหมายต้องรอให้ครบ 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดีด้วยการผลักดันของหลายฝ่ายทำให้รัฐบาลรีบเร่งสอบสวน จนมีการจับกุมตำรวจ 5 นาย และได้ส่งฟ้องคดีต่อศาลในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาความผิดฐานบังคับสูญหายได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในฐานความผิดดังกล่าว

การต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นมีอัยการเป็นโจทก์ในขณะที่ศาลอนุญาตให้ครอบครัวได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ซึ่งทำให้ดิฉันสามารถนำส่งพยานหลักฐานและเอกสารสำคัญเพื่อให้ศาลพิจารณาได้ ศาลชั้นต้นเริ่มการพิจารณาคดีสมชายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 โดยใช้เวลาพิจารณาคดีบังคับสูญหายทนายสมชายเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนเศษ จนวันที่ 12 มกราคม 2549 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกนายตำรวจที่เป็นจำเลยที่หนึ่งในคดีเป็นเวลา 3 ปี ในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือ ไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เหลือให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ

 

ภาพ: วันฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี
ภาพ: วันฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี

 

ดิฉันอุทธรณ์ ระหว่างอุทธรณ์มีข่าวจำเลยที่ 1 หายตัวไป ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ให้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้วให้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ระหว่างฎีกา ส่วนจำเลยอื่นพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น และไม่อนุญาตให้ครอบครัวเป็นโจทก์ร่วมในคดี …. ดิฉันฎีกา

จนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ยกฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายและตัดสิทธิครอบครัวในการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี[2]

ด้วยความเคารพต่อศาล แต่ดิฉันมิอาจเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาว่า “ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า สมชาย นีละไพจิตรถูกคนกลุ่มหนึ่งบังคับขึ้นรถนำตัวไป” แม้มีผู้เห็นเหตุการณ์มากมาย แต่ประจักษ์พยานต่างถูกคุกคามจนไม่กล้ายืนยันผู้ต้องหาในชั้นศาล พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ชั้นสอบสวนยืนยันว่ามีหลักฐานมากมาย แต่กลับไม่ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นศาล และสุดท้ายแม้คำพิพากษาของศาลจะยืนยันเป็นที่ยุติว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเอาตัวสมชายไป แต่กฎหมายกลับทำอะไรไม่ได้เลย กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองเหยื่อของอาชญากรรมโดยรัฐในลักษณะนี้ได้เลย

ความจริงที่เจ็บปวด คือ .. ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ในขณะที่เหยื่อตกอยู่ในภาวะของ “การไม่มีอยู่” และครอบครัวต้องเผชิญกับความยากลำบาก และ สภาวะการถูกคุกคามไม่มีที่สิ้นสุด

 

ภาพ: การพิจารณาคดีในศาล ที่มา: Asian Human Rights Commission-AHRC
ภาพ: การพิจารณาคดีในศาล
ที่มา: Asian Human Rights Commission-AHRC

 

เมื่อสมชายไม่กลับมา และไม่มีใครพบศพของเขา ก็เท่ากับว่าดิฉันมิอาจพิสูจน์ได้ว่าสมชายบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ครอบครัวจึงไม่สามารถเป็นผู้เสียหายแทนสมชายได้อีกต่อไป ในขณะที่ศาลฎีกาได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของคดีการบังคับสูญหาย คือ ทำให้คดีบังคับสูญหายเป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหายไป ผู้เสียหายไม่มีอยู่ และหากอัยการในฐานะทนายแผ่นดินซึ่งมีอำนาจฟ้องแทนไม่ดำเนินการ การบังคับสูญหายใครต่อใครในประเทศไทยก็คงจบลง และเรื่องราวการสูญหายของประชาชนก็คงเป็นแค่เรื่องเล่ากันปากต่อปากในสังคมเป็นโศกนาฏกรรมส่วนตัวที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบและไม่มีใครต้องเสียใจ

แม้จะพ่ายแพ้ แต่อย่างน้อยการนั่งฟังการพิจารณาคดีในศาลทุกนัดก็ทำให้ดิฉันได้ทราบความจริงบางส่วนผ่านคำเบิกความของพยานหลายคน ได้ทราบว่าหลังคนกลุ่มหนึ่งผลักสมชายขึ้นรถในเวลา 20.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2547 สมชายถูกนำตัวไปที่ไหน และชีวิตเขาจบลงที่ใด

ดิฉันและผู้สังเกตการณ์คดีในศาล ต่างรับทราบจากพยานที่มาเบิกความ ว่า ณ จังหวัดหนึ่ง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีคนคนหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหาได้เดินทางไปที่นั่น มีคนที่ไปซื้อน้ำมันเบนซินในช่วงเวลาเกือบเที่ยงคืน และหลังจากนั้นไม่นาน ... ทุกอย่างก็เงียบสนิท

ดิฉันยอมรับว่าการรู้ความจริงสร้างความปวดร้าวอย่างมาก แต่การได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น และรู้ว่าใครมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้จะเกิดความขมขื่นจากความไม่เป็นธรรม แต่อย่างน้อยมันได้ทำให้ดิฉันและลูกๆ พ้นจากพันธนาการของความคลุมเครือ และพร้อมยืนท้าทายต่อความไม่ธรรมโดยรัฐ

ผ่านมา 16 ปี ลูกๆ ดิฉันต่างเติบโตขึ้นอย่างไม่กลัว และกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับความจริง ทุกคนมีชีวิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนรอบข้างแต่ไม่ประนีประนอมและไม่ก้มหัวให้ความไม่เป็นธรรม แต่ใครจะทราบว่า ยังมีครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายอีกมากมายที่ผู้หญิงและเด็กๆ ยังคงประสบปัญหาการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ

เด็กส่วนมากไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อจึงไม่กลับบ้าน ในขณะที่มีข่าวลือว่าพ่อของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จึงทำให้ต้องหลบหนีไป เด็กๆ ต้องเผชิญกับคำถามจากเพื่อนๆ หรือครูที่โรงเรียน ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน และเนื่องจากผู้หญิงในครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายต้องมีชีวิตอยู่กับความทรงจำอันขมขื่นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ที่การบังคับสูญหายมีผลต่อการดำเนินชีวิตที่ผูกพันกับความเชื่อทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งผลให้เด็กๆ เติบโตมากับแม่ที่มีความเครียดเรื้อรัง จากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมโดยขาดการเหลียวแลและเยียวยาจากรัฐ

 

เพราะกลัว จึงต้องทำให้หายไป

ปัญหาของรัฐบาลเผด็จการ คือ ความกลัว แต่ในขณะที่กลัว รัฐก็มีอำนาจและมีอาวุธต่างๆ มากมาย มีปืน มีคุก และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็ไม่เคยกลัวที่จะใช้มันกับคนที่บังอาจท้าทายอำนาจของพวกเขา แน่นอนว่าประชาชนต่างรู้สึกกลัว แต่ความกลัวที่ถึงที่สุดสามารถกลับกลายเป็นความกล้าในการเผชิญหน้าอย่างไม่กลัวอีกต่อไป และประชาชนได้บันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเองผ่านการรักษาความทรงจำที่ไม่มีอำนาจใดมาลบเลือนได้ เรื่องเล่าและความทรงจำเหล่านี้แม้ขมขื่น ปวดร้าว และพ่ายแพ้ แต่มันจะถูกบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้จักสิ้นสุด

ดิฉันได้เคยกล่าวไว้ว่า เจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่า “ปัญหาจะหายไปหากคนบางคนถูกทำให้หายไป” ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการสูญหายของสมชาย นีละไพจิตร และอีกหลายๆ คน ทำให้เรื่องราวการอุ้มฆ่าในประเทศไทยถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เหยื่อหลายคนได้เปิดเผยใบหน้าเพื่อลุกขึ้นทวงถามความจริง และความยุติธรรมจากรัฐ และรัฐไม่อาจหลบซ่อน และปิดบังความจริงได้อีกต่อไป

 

บทสุดท้าย

หลัง ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ถูกทำให้หายไป หลายคนยกย่องว่าดิฉันมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กรณีบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวงกว้าง และเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหายไม่เงียบงันอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ไม่เคยละอายเลยที่จะพูดต่อหน้าท่านทั้งหลายว่าระหว่าง 16 ปีของการทวงถามความยุติธรรม ดิฉันแพ้อย่างราบคาบมาโดยตลอด ถ้าสมชายไม่ถูกอุ้มหาย ดิฉันก็คงเป็นหญิงสามัญคนหนึ่งที่มีบุคลิกเก็บตัวไม่ชอบออกสังคม รักความเป็นส่วนตัว พูดน้อย ถ่อมตน และใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่เหมือนพระผู้เป็นเจ้ากำหนด ดิฉันถูกเลือกให้ทำภารกิจบางประการที่ไม่มีใครอยากทำ

ส่วนตัว ดิฉันเกิดและเติบโตในครอบครัวคนชั้นกลาง พ่อแม่ประกอบอาชีพรับจ้าง เราไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง จำได้ว่าชีวิตวัยเด็กต้องย้ายบ้านบ่อย แต่พ่อยังคงเลือกบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียนเพื่อดิฉันและน้องๆ จะได้สะดวกเวลาไปโรงเรียน ครอบครัวเราไม่มีเงินเก็บ หลายครั้งดิฉันจะเห็นแม่ต้องนั่งเย็บผ้าจนดึกเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน เพื่อนๆ พ่อมักถามว่าทำไมพ่อจึงส่งลูกๆ เรียนโรงเรียนฝรั่ง ทั้งที่เราไม่มีเงินทองมากมาย ซึ่งพ่อมักตอบว่าถึงเราไม่มีเงินแต่การศึกษาจะทำให้เราสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างทัดเทียมกับผู้อื่น และช่วยเหลือผู้อื่นได้ตามสมควร

ดิฉันเป็นคนคิดเชิงบวก พ่อสอนให้ถ่อมตัวไม่เย่อหยิ่ง ในขณะที่แม่สอนให้อดออมและแบ่งปัน สถาบันการศึกษาสอนให้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และคิดถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นภารกิจ ลูกๆ ทุกคนสอนให้ดิฉันเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของเด็กๆ และเยาวชน และพร้อมสนับสนุนการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวันข้างหน้าของพวกเขา .. ทั้งหมดคือสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนผู้หญิงที่ยืนอยู่ต่อหน้าท่านทั้งหลายในขณะนี้

แม้เรื่องเล่าของดิฉันอาจฟังดูเป็นการมองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังทุกข์ระทม ซึ่งดิฉันก็ต้องขอโทษทุกท่านด้วย ดิฉันพยายามมองโลกมองชีวิตอย่างเป็นจริง ไม่เสแสร้ง ด้วยหวังว่าบทเรียนต่างๆ จากความเสียหายในอดีตจะนำพาเราไปสู่การร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตด้วยสติและอหิงสาธรรม ไม่ใช่เพื่อแก้แค้น แต่เพื่อเรียนรู้ และจดจำ บาดแผลภายนอกอาจลบเลือนลงได้ด้วยกาลเวลา

หากแต่บาดแผลในใจของผู้คนมากมายที่ถูกข่มเหงรังแกจากความอหังการของรัฐยังคงถูกจดจำและรอวันแก้ไข วันที่ประชาธิปไตยจะกลับคืนมา วันที่เราทุกคนจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก วันที่อาชญากรรมโดยรัฐจะหมดไป และเหยื่ออธรรมจะได้รับการชดใช้และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพื่อนหลายคนมักถามดิฉันว่า ดิฉันเยียวยาหัวใจตัวเองอย่างไรทำอย่างไรจึงสงบนิ่ง แม้ต้องเผชิญการคุกคามและการเย้ยหยันมากมาย หลายคนเสนอตัวช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูจิตใจ อันที่จริงผู้หญิงหลายคนมีวิธีเยียวยารักษาตนเองแตกต่างกัน สำหรับดิฉัน ความเป็นลูกสาวช่างเย็บผ้าทำให้เติบโตมากับเศษผ้า เส้นด้าย และปลายเข็ม หลายท่านอาจไม่เชื่อว่าในทุกๆ ฝีเข็มเราที่ปักลงไปมันหมายถึงสติ และสมาธิ มันทำให้เราช้าลงและจดจ่อกับสิ่งที่ทำ โดยโลกภายนอกที่โหดร้ายไม่อาจแทรกเข้ามาได้

 

ภาพ: อังคณา นีละไพจิตร ที่มา: Protection International (PI) - Art of Resistance
ภาพ: อังคณา นีละไพจิตร
ที่มา: Protection International (PI) - Art of Resistance

 

การปักผ้า เย็บผ้าของดิฉันและผู้หญิงอีกหลายๆ คนจึงเป็นการปลดปล่อยความแค้นเคือง และอารมณ์ที่เศร้าหมองผ่านงานผ้าที่ร้อยเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นแม้อาจดูเป็นสิ่งเล็กๆ แต่มันบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทุกฝีเข็มจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงผ่านผ้าปักเหล่านี้

แม้อาจไม่สมบูรณ์ไม่งดงาม บางฝีเข็มอาจมีคราบน้ำตา มีความทรงจำที่ฝังไว้ซึ่งเสมือนสิ่งที่เตือนใจเราว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข มันคือความทรงจำที่เราอยากเก็บไว้เพื่อเตือนตัวเองและคนรอบข้าง และเพื่อบอกคนที่คิดร้ายกับเราว่าเราไม่กลัว และชีวิตก็สามารถเยียวยา ซ่อมแซม แก้ไข เพื่อให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งด้วยตัวของเราเอง

ท้ายนี้ ไม่ว่าที่สุดแล้วผลการคลี่คลายการหายตัวไปของ สมชาย นีละไพจิตร พอละจี รักจงเจริญ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จะจบลงอย่างไร ดิฉันยังเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและกองทัพ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน และประชาชนจะสามารถวางรากฐานของหลักนิติธรรมได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย

ดิฉันเชื่อว่าสังคมที่เราอาศัยอยู่จะหนักแน่นอดทนกับความจริงที่เกิดขึ้นจะโอบกอดผู้ถูกกดขี่ และจะก้าวทันรูปแบบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องไม่มีไว้เพื่อข่มเหงคุกคามผู้ยากไร้และผู้เห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ยอมนิ่งเฉยให้คนดีถูกข่มเหงรังแกโดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ดิฉันเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของดิฉัน และผู้หญิงอีกหลายๆ คน อาจเป็นแบบอย่างให้แก่บรรดาผู้เสียหาย และผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียนรู้และเป็นแนวทางในการหาความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม แม้จะพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่สำหรับดิฉันแล้วไม่ว่าที่สุดเรื่องราวการบังคับสูญหายของ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ จะจบลงเช่นไร ดิฉันเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผย ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อนตัว และความยุติธรรมจะกลับคืนมาแต่สำหรับตัวเองแล้ว คงกล่าวได้เพียงว่า ชีวิตที่ผ่านมาดิฉันได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้วจริงๆ

 

ภาพ: รำลึก 17 ปี ทนายสมชาย นีละไพจิตร
ภาพ: รำลึก 17 ปี ทนายสมชาย นีละไพจิตร

 

ที่มา: อังคณา นีละไพจิตร. สิทธิมนุษยชนที่สูญหาย การไม่มีอยู่ และวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ, ปาฐกถา 14 ตุลาคม 2543. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2563)

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
  • คัดเลือกเนื้อหาบางส่วนและตั้งชื่อบทความโดยบรรณาธิการ

สามารถสั่งซื้อหนังสือ สิทธิมนุษยชนที่สูญหาย การไม่มีอยู่ และวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ ได้ที่ มูลนิธิ 14 ตุลา โทรศัพท์ 0-2622-1014-5

 


[1] "There is no greater tyranny than that which is perpetrated under the shield of the law and in the name of justice." The Spirit of the Laws, published in 1748 by Charles de Secondat, Baron de Montesquieu.

[2] สิบปีอันไร้ซึ่งความจริง : สมชาย นีละไพจิตร และการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย