
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ขออนุญาตมาที่คุณอังคณาครับ คุณอังคณาในฐานะที่เป็น ส.ว. ด้วย จริง ๆ แล้วที่เราพูดเรื่องหะยีสุหลงนั้น คุณสมชายก็เป็นกรณีเดียวกัน ซึ่งเราจะต้องสร้างความเป็นธรรม สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย ในฐานะที่คุณอังคณาเน้นไปเรื่องของการสร้างความเป็นธรรม สร้างสันติภาพ ผมคิดว่าความน่าสนใจในกรณีไม่ว่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มันมีคำหนึ่งที่มันผุดขึ้นมา เมื่อสักครู่หลายท่านได้พูดคือคำว่า “ชาตินิยม” คำว่า “ชาตินิยม” นี้อาจจะเป็นสิ่งที่ปิดกั้นหรือปิดบังแล้วทำให้เราสร้างความรุนแรงขึ้นมา เรียกพรรคประชาชนว่าเป็นพรรคประชาชนเพื่อพม่า เป็นการไปกล่าวหาคนอื่น อาจจะทำเป็นขบวนการหรืออาจจะทำขึ้นมาเป็นออร์แกนิก แต่มันอยู่ในใจเราว่านี่คือประเทศไทยนะ ทำอย่างไรเราจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ครับ ความคิดว่าด้วยสันติภาพและชาตินิยม มันเป็นความท้าทายในอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อสันติภาพหรือไม่ครับ เรียนเชิญคุณอังคณาครับ
อังคณา นีละไพจิตร
ค่ะ ขอบคุณมาก ๆ นะคะ ก็ถ้าพูดสั้น ๆ คือ ก้าวยากมาก ดิฉันอยากจะเรียนแบบนี้นะคะว่า ในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดิฉันคิดว่าแนวคิดปรีดีเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน เพราะว่าปรีดีเป็นคนที่เชื่อมั่นในความยุติธรรม เชื่อมั่นในหลักของความเสมอภาค เท่าเทียม ความเป็นพี่น้อง การรู้สึกที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่ท่านปรีดีแสดงออกมาโดยตลอด ถ้าเราลองศึกษางานของปรีดี พนมยงค์ เราจะเห็นว่า ปรีดีจะมองว่าสังคมที่เป็นธรรมจะต้องไม่มีการกดขี่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ จะต้องมีเมตตาต่อกัน เสียงทุกเสียงของคนทุกกลุ่มต้องถูกผนวกเข้ามารวมอยู่ในการกำหนดนโยบาย หรือความเป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เลยนะคะ และปรีดีก็ยังเชื่อว่า เอกภาพของชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าประชาชนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของแผ่นดินนั้นนะคะ ไม่ถูกมองว่าเป็นคนอื่น หรือไม่ถูกทำให้ต้องเป็นอื่น หรือถูกทำให้กลายเป็นศัตรู ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะทำให้เรารู้สึกที่จะรักท้องถิ่น เรารู้สึกที่จะรักประเทศชาติ แล้วเรารู้สึกที่จะรักเพื่อนมนุษย์ด้วย ดิฉันคิดว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดของปรีดีซึ่งดิฉันเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้วก็สันติภาพ ยึดมั่นถือมั่นในแนวทางนี้มาโดยตลอด
ที่นี้ถ้าพูดถึงเรื่องของความเป็นรัฐชาติหรือชาตินิยม ส่วนตัวดิฉันเองวันนี้ก็อยู่ในสถานะของคนที่พิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ดิฉันคิดว่า ประเทศไทยถดถอยมากเลยนะคะ ถดถอยที่จะกลับไปเป็นรัฐที่ยึดมั่นในรัฐชาติหรือว่าชาตินิยมมากขึ้น ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาจากความพยายามที่จะให้มีกฎหมายบางอย่าง เช่น พรรคประชาชาติวันนี้ก็พยายามที่จะเสนอกฎหมายหมิ่นศาสนา ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเกิดว่ามีใครวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอะไรต่าง ๆ ทุกคนสามารถที่จะใช้กฎหมายนี้ฟ้องร้องกันได้เลย และดิฉันคิดว่าตรงนี้จะทำให้ความอดทนของคนเราลดน้อยลงมากในการที่จะรับฟังความเห็นต่าง หรือในความพยายามที่จะเผยแพร่สัจธรรมหรือว่าความเชื่อทางศาสนานะคะ
ล่าสุดนะคะ ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติชาติพันธุ์ ดิฉันยอมรับเลยว่า เป็นช่วงเวลาที่ดิฉันรู้สึกว่าอึดอัดมาก ๆ และดิฉันก็ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับฟังท่านกรรมาธิการที่หลายท่านก็มีความคิดเห็นเหมือนกับอยู่กันคนละโลกเลยนะคะ คือในขณะที่เรากำลังเขียนกฎหมายเพื่อที่จะคุ้มครองคนทุกคน คนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินนี้ ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ ศาสนา มีความเชื่อ มีวิถีชีวิตยังไงก็ตามนะคะ เรากำลังจะเขียนกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ในขณะเดียวกัน ในการร่างกฎหมายกลับมีการพูดถึงอยู่ตลอดเวลา แสดงออกถึงความกังวลว่าจะมีการเหนือกฎหมายอื่น (overrule) นะคะ มีความกังวลว่าคนเหล่านี้ยังคงไม่ใช่คนไทย คนเหล่านี้จะมาใช้ทรัพยากรของเราไหม เวลาที่เราร่างกฎหมายที่จะคุ้มครองหรือให้สิทธิกับคนกลุ่มนี้ ก็จะต้องมีการขอแทรกเข้ามาหนึ่งประโยคว่า “ทั้งนี้ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น” ซึ่งจริง ๆ แล้วคนทุกคนก็ไม่สิทธิ์ในการที่จะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นอยู่แล้ว ไม่มีใครไปนั่งเขียนในกฎหมายทุกบรรทัดหรือทุกมาตราอย่างนั้น แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันสะท้อนออกมาจากคนที่เป็นคนพิจารณากฎหมายแล้วก็เขียนกฎหมายด้วย กระทรวงการต่างประเทศกังวลอย่างมากเลยในคำพูดเช่นว่า การที่คนบางคนจะเรียกตัวเองว่า คนพื้นเมือง (Indigenous) กระทรวงการต่างประเทศอ่อนไหวมาก ๆ กับคำคำนี้นะคะ ในตอนที่ประเทศไทยไปรายงานสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการสหประชาชาติว่า “คณะกรรมการมีความกังวลต่อสิทธิของคนพื้นเมืองในการถือครองที่ดินของบรรพชน” เขาใช้คำว่า “ที่ดินของบรรพชน” ในขณะที่เราเองกลับเขียนกฎหมายเพื่อที่จะไม่ให้ใครเข้ามา เรามองเขาเป็นคนอื่น แล้วเรามองว่าเขาจะมาเอาที่ดินของเราไป
ที่อาจารย์ฟูอาดี้ (ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ) พูดเมื่อช่วงแรกว่า เวลาที่อธิบายให้คนไทยเข้าใจว่าคนพม่าเขามาเพื่อมาช่วย การอธิบายแบบนี้มันเป็นการอธิบายให้คนทั่วไปหรือคนไทยรู้สึกว่าคนพวกนั้นด้อยกว่า คนพวกนั้นเป็นคนที่อย่างน้อยก็อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเรา มาช่วยทำงานที่คนไทยเขาไม่ทำ มาทำงานบ้าน ไม่นานมานี้ดิฉันเคยเข้าไปนั่งอยู่ในวงของนักการทูต แล้วก็มีอยู่คนหนึ่งที่พูดออกมาแบบภาคภูมิใจมากเลยว่า “แรงงานพม่านี่ดีมากเลย ทำงานไม่มีวันหยุด” เราก็รู้สึก โอ้โห อันนี้แหละคือความคิดว่าการที่เราจะบอกว่าเขาดีก็คือ เขาทำงานโดยที่ไม่ต้องมีวันหยุด แบบนั้นหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอนที่ดิฉันเข้าไปปกป้องแรงงานพม่า ดิฉันก็ยังถูกฟ้องเลยนะคะ แล้วคดีก็ยังอยู่ในศาลอุทธรณ์ คนที่ไม่ใช่คนไทยหรือไม่ได้อยู่ในนิยามของความเป็นไทย ทุกคนถูกทำให้เป็นอื่นหมดเลย ดิฉันคิดว่าแนวคิดนี้เป็นความคิดที่อันตรายมากเลยนะคะ ไม่ต้องไปพูดถึงคนมาลายูปาตานีเลย คนไทยจะมองว่าคนเหล่านั้นไม่ได้พูดไทย หลายครั้งเลยแม้แต่ในสภา ดิฉันเคยเห็นเคยได้ยินว่ามีการถามว่า “ทำไมไม่พูดไทยล่ะ” ในวุฒิสภาเอง แม้แต่วุฒิสมาชิกรุ่นใหม่ ๆ ก็ยังมีความรู้สึกกังวลว่า ทำไมต้องมีโรงเรียนผิดกฎหมายที่สอนภาษาต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ภาษาแม่เป็นภาษาที่ทุกคนมีสิทธิ์และต้องสามารถที่จะเรียนรู้ภาษาแม่ได้ มนุษย์คนไหนที่เกิดมาแล้วพูดภาษาแม่ไม่ได้ ดิฉันคิดว่ามันเป็นความประหลาดมาก
แต่ในขณะเดียวกับที่ถ้าเราไปดูในพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ หลายพื้นที่เลยเขาทำเป็นเพิงเล็ก ๆ แล้วก็มานั่งเรียนภาษาแม่ เรากลับตีความว่าตรงนี้คือโรงเรียนผิดกฎหมาย แล้วถามว่าวันหนึ่งเมื่อเขาต้องกลับภูมิลำเนา เด็กพูดภาษาแม่ไม่ได้เลย เขาจะไปอยู่ในบ้านเขาได้ยังไง ในขณะเดียวกันกับที่บ้านเรา คนไทยก็ไม่ได้ต้อนรับเลยนะคะ ถึงจะทำ MOU อะไรต่อมิอะไร ว่าเด็กทุกคนที่เกิดในไทยจะได้รับการจดทะเบียนการเกิด แล้วสามารถที่จะมีสิทธิ์ในการเข้าเรียนในโรงเรียนชุมชน แต่ไม่ได้หมายถึงเด็กทุกคนนะคะ เด็กที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้าง พ่อแม่ต้องย้ายไปเรื่อย ๆ เด็กไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หรือแม้แต่เจ้าของกิจการเจ้าของบริษัทก็ไม่ได้อนุญาตให้เด็กทุกคนย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนราษฎร์ของตนเอง ตรงนี้ก็ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะไปโรงเรียนได้เช่นกัน
ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องของสันติภาพนะคะ ดิฉันคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังมองคนไม่เท่ากัน มันเป็นการยากมากที่เราจะเข้าใจถึงการที่เราจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน เราตระหนักอยู่เสมอถึงการอยู่ร่วมกันแบบไม่มีพรมแดน แต่ในขณะที่รัฐชาติสมัยใหม่ พรมแดนกลับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เมื่อปีที่แล้วดิฉันมีโอกาสได้ไปที่วอร์ซอ ก็ไปเยี่ยมครอบครัวของเชลยสงคราม ดิฉันอยากจะเรียนว่า ในทุกความขัดแย้ง สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดเฉพาะตัวของเหยื่อ แต่มันกระทบอย่างเป็นวงกว้างอย่างมากเลย ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อทุกคนที่รักเขาและเขารัก ความขัดแย้งมันไม่ใช่เป็นเหมือนว่าเราปาก้อนอิฐลงไปในน้ำ มันกระจายแล้วมันหายไป แต่ความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นหรือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในใจนั้น มันไม่ได้หายไปง่าย ๆ ค่ะ

อัครพงษ์ ค่ำคูณ
เพราะเราเน้นสันติภาพเราจึงแพ้ เพราะเราเน้นสันติภาพเราจึงไม่ได้อำนาจรัฐมาเลย ในขณะที่คนซึ่งเน้นความขัดแย้งการแก่งแย่งทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจมา เขาชนะตลอดเลย เราจะมองเรื่องนี้อย่างไรครับ เพื่อให้เป็นอนุสติในวาระ 125 ปีของอาจารย์ปรีดีครับ คุณอังคณาครับ
อังคณา นีละไพจิตร
ดิฉันไม่เคยรู้สึกว่าการใช้แนวทางสันติภาพเป็นความพ่ายแพ้ เพราะว่าอยากให้มองว่าเวลาที่เราเห็นคนที่เป็นเหยื่อ เราต้องไม่ลืมว่าการต่อสู้ของเหยื่อ ทำให้ได้มาเปลี่ยนแปลง ดังที่เราจะเห็นการมีกฎหมายดี ๆ อย่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ หรือ การผลักดันญาติของญาติคนหายที่เรียกร้องความยุติธรรม ทำให้ได้มาซึ่งกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย แม้มันจะดูไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่อย่างน้อยที่สุด การขับเคลื่อนของคนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนที่สร้างสันติภาพและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นแนวคิดและเป็นยุทธศาสตร์ เป็นวิธีการปฏิบัติของปรีดีมาโดยตลอด คือความเชื่อมั่นในการใช้สันติวิธี และการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย หรือว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมต่าง ๆ
ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และดิฉันไม่อยากให้ใครคิดว่า การที่ใครสักคนหนึ่งต้องอุทิศตนเองเพื่อทำอะไรตั้งเยอะแยะแล้วจะแพ้ ตอนที่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ติดคุก เขาติดคุกอยู่หลายปีมากเลย แต่ว่าต่อมาเนลสัน แมนเดลาเป็นคนที่ผลักดันให้เกิดการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลผู้ต้องขังที่เราเรียกว่า ข้อกำหนดแมนเดลา หรือ Mandela Rules นะคะ ซึ่งประเทศไทยเองก็ไปรับ ไปให้คำมั่นกับสหประชาชาติ แล้วก็นำมาปฏิบัติในการดูแลผู้ต้องขังในประเทศไทยเช่นกัน รวมถึงผู้ต้องขังหญิงด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าการต่อสู้ของคนเหล่านี้ มองในมิติหนึ่งเขาอาจแพ้ แต่ว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลง มันเป็นแรงกระแทกที่สำคัญเลยที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ แม้แต่เรื่องของอาจารย์ปรีดีเองก็ตาม สิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ทำมา ดิฉันคิดว่ามันเป็นแนวทางที่คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทำตาม แล้วมันก็เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยซึ่งไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เลย รวมถึงเรื่องของการยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมผ่านความรู้สึกของความเป็นพี่น้อง ความเป็นภราดรภาพ ดิฉันเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงนะคะ

แล้วก็ดิฉันอยากจะเรียนว่า วันนี้หลายคนได้พูดถึง อาจารย์ฟูอาดี้พูดถึงความรุนแรงที่มันอาจจะไม่ได้เป็นความรุนแรงทางกายภาพ วันนี้ดิฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียวนะคะ แต่ในอาเซียนต้องเผชิญก็คือ เรื่องของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งดิฉันคิดว่าทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างมากเลย การที่กองกำลังว้าอนุญาตให้มีการสร้างเขื่อนทำให้แม่น้ำกกเป็นพิษไปด้วย เรื่องของเหมืองโพแทชซึ่งทำให้เกิดการประท้วงอย่างมาก ทำให้ที่ดินทรัพยากรของชุมชนที่ชุมชนเคยมีส่วนในการใช้ร่วมกันกลายเป็นว่าชุมชนไม่สามารถที่จะใช้ได้อีก เพราะมันเป็นการสร้างมลพิษ ถึงแม้ว่าประเทศไทยมักจะไปรับอะไรดี ๆ จากสหประชาชาติมาเยอะมาก แต่ปัญหาของไทยคือ การนำมาสู่การปฏิบัติ วันนี้เรามีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ถามว่าแล้วในแผนนี้ที่พูดถึง 4 เรื่องสำคัญ เราทำอะไรบ้างหรือยัง เรื่องของแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน เรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดน เรื่องของป่าไม้ เรื่องสัตว์ เรื่องของทรัพยากร เรื่องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยอะไรแบบนี้ ดิฉันคิดว่าหลายเรื่องนะคะที่ประเทศไทยได้ทำหลายอย่างที่น่ายกย่อง แต่ว่าปัญหาก็คือแล้วเราจะทำให้มันเป็นจริงได้อย่างไร ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร
ในทางสิทธิมนุษยชนนะคะ เวลาที่เราจะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือการตรวจสอบ การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนก็คือเราต้องรู้ว่าใครละเมิดและใครถูกละเมิด แล้วจึงต้องให้มีการชดใช้เยียวยาความเสียหาย อย่างที่พี่สุธรรม (สุธรรม แสงประทุม) พูดถึงตากใบ การนำคดีตากใบขึ้นสู่ศาลมีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเผยความจริง และการเปิดเผยความจริงก็คือการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ เหยื่อจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนทำ มันเกิดขึ้นได้ยังไง และที่สำคัญก็คือจะสามารถทำให้เกิดการสร้างมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แต่ว่าก็น่าเสียดายนะคะที่มันก็ผ่านไปแล้ว แต่ดิฉันก็ยังคิดว่ามันมีความจำเป็นที่เราจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก
ในฐานะอดีตผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติที่มีโอกาสได้พบกับเหยื่อทั่วโลก คือดิฉันอยากจะเรียนตรง ๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกับครอบครัวเชลยสงคราม หรือเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือทุกคนไม่ได้มีความรู้สึกสักนิดเดียวเลยว่า อยากจะเอาปืนไปยิงคนที่มันทำ แต่ทุกคนอยากจะให้ประเทศของตัวเองมีมาตรการในการป้องกัน มีมาตรการในการเยียวยาการชดเชย การชดใช้ความเสียหาย การฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่สำหรับประเทศไทย เราก็มักจะคิดว่าการเยียวยาคือการจ่ายเงิน และการจ่ายเงินก็คือการทวงบุญคุณอีก ให้เงินไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่นะคะ การเยียวยาด้วยตัวเงินเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้เหยื่อสามารถมีชีวิตต่อไปได้ เช่น พ่อเขาถูกยิงตาย พรุ่งนี้ลูกจะเอาเงินที่ไหนไปโรงเรียน บ้านที่เขาอยู่พ่อที่เคยหาเลี้ยงคนเดียวถ้าพ่อไม่อยู่แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหนกัน การเยียวยาด้วยตัวเงินจึงเป็นการชดใช้ช่วยแบ่งเบาภาระเบื้องต้นเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ส่วนการที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้นมีมาตรการต่าง ๆ มากมายนะคะ นักสันติวิธีได้เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้มากมาย ซึ่งดิฉันเห็นว่าสำคัญ
สิ่งหนึ่งซึ่งดิฉันอยากจะพูดนะคะ แล้วก็ขอที่จะพูดเองก็คือเรื่องของผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง สหประชาชาติมีข้อมติ 1325 พูดเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง ทำไมผู้หญิงจึงมีความสำคัญในพื้นที่ความขัดแย้ง ลองสังเกตในประเทศไทยก็ได้ เวลาที่มีการประท้วงผู้หญิงจะเป็นคนที่อยู่ข้างหน้าสุด แต่เวลาที่มีการตั้งกรรมการเข้าไปนั่งเจรจามีแต่ผู้ชายหมดเลยนะคะ ในหลาย ๆ พื้นที่เช่นเดียวกัน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ ดิฉันคุยกับผู้หญิงหลายคน ผู้หญิงที่คนในครอบครัวออกไปก่อเหตุใช้ความรุนแรง ผู้หญิงหลายคนพยายามที่จะห้ามไม่ให้ออกไป ทำยังไงเราจะทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นมีอำนาจมากขึ้น อำนาจในการต่อรอง อำนาจในการที่เขาจะแสดงออกว่าเขาไม่เห็นด้วย ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงทั้ง ๆ ที่เขาไม่อยาก เขาไม่ต้องการ เขาอยากจะมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ทำยังไงผู้หญิงจะปฏิเสธได้ และในช่วงของความขัดแย้งหรือหลังความขัดแย้งที่มีการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ทำยังไงผู้หญิงจะมีส่วนเข้าไปร่างกฎหมายได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญและดิฉันเองช่วงหลังก็พยายามที่จะมาทำงานกับผู้หญิงมากขึ้นนะคะ ผู้หญิงในอัมบน อินโดนีเซีย ถึงขนาดว่าพี่น้องผู้หญิงจับมือกันเป็นวงแล้วไม่ให้ผู้ชายออกไปข้างนอก เพราะรู้ว่าเดี๋ยวจะไปก่อเหตุ ดิฉันคิดว่าเรื่องแบบนี้ ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นผู้หญิงที่มีศักยภาพมาก แต่ว่าทำยังไงเราถึงจะทำให้เสียงของผู้หญิงถูกรับฟังในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจต่าง ๆ ทำยังไงจะมีผู้หญิงที่เป็นผู้หญิงธรรมดาที่รู้ปัญหาดีได้เข้าไปสะท้อนปัญหาของเขาได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สำคัญนะคะ

ดิฉันมีข้อเสนอแนะ 2-3 ประการที่ดิฉันอยากจะฝากไว้นะคะ ข้อแรกดิฉันคิดว่าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องของการสร้างสันติภาพ ตอนที่ดิฉันเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นะคะ ดิฉันเสนอว่า ต้องมีการแก้ไขมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ และให้เพิ่มคำว่า “แต่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์” ดิฉันคิดว่าการใส่คำว่า “ประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์” มันคือการแสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม จะนำไปสู่การเคารพหรือการให้มีกฎหมายที่คุ้มครอง อย่างเช่น คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็สามารถที่จะขอให้มีศาลศาสนาได้ เพราะว่าเราสามารถที่จะอ้างรัฐธรรมนูญได้ ตอนที่ดิฉันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อนุกรรมการฯ ก็ทำหนังสือถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้แก้มาตรา 1 ให้เพิ่มถ้อยคำเดียวกัน ถ้ามีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดิฉันก็คงขอให้เพิ่มใหม่ ไม่รู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้การเสนอแบบนี้จะถูกกล่าวหามาตรา 116 หรือเปล่า แต่ดิฉันคิดว่ามันเป็นความจำเป็นนะ ถ้าเราไม่ยืนยันว่าประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีความเป็นพหุวัฒนธรรม และทุกเชื้อชาติทุกวัฒนธรรมจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันโดยการเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน ดิฉันคิดว่ามันจะทำให้เราก้าวข้ามการมองคนอื่นเป็นศัตรูหรือเป็นคนที่เห็นต่างไม่ได้เลยนะคะ
ข้อเสนอแนะประการที่ 2 นะคะ ดิฉันคิดว่าเราต้องยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ ถ้าหากว่าเรายังคงปล่อยให้คนผิดลอยนวล ลอยหน้าลอยตา ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม มีหน้าที่การงานดี ๆ เราจะมองหน้าเหยื่อได้ยังไง เรามีเหยื่ออยู่มากมายในประเทศนี้นะคะ คนผิดจะต้องไม่ได้รับการยกเว้นโทษอีกต่อไป แม้แต่การสำนึกผิดก็ถือว่าเป็นการที่จะทำให้เขารู้สึกที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน
ประการที่ 3 ดิฉันเชื่อว่าในการสร้างระบอบประชาธิปไตยเนี่ย อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องถ่วงดุลกันได้ค่ะ ต้องเป็นอิสระนะคะ ถ้าดูอย่างอเมริกา ประธานาธิบดีจะออกคำสั่งอะไรก็แล้วแต่ เขายังมีศาลที่จะถ่วงดุลอำนาจของประธานาธิบดีได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากนะคะ
แล้วก็ประการที่ 4 ยุทธศาสตร์สันติวิธีนะคะ วันนี้ดิฉันยังไม่เห็นเลยว่า กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลมียุทธศาสตร์อะไรในเรื่องของการสร้างสันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายด้วยนะคะ
สุดท้ายเนี่ยดิฉันอยากจะเสนอที่พี่ชลิดา (ชลิดา ทาเจริญศักดิ์) พูดไปในเรื่องบทบาทของอาเซียน ดิฉันคิดว่าประเทศในอาเซียนต้องมีส่วนในการที่จะร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหาของอาเซียน แก้กฎบัตรอาเซียนเสียเถิดเรื่องของการไม่แทรกแซง กรณีที่พี่สุธรรมบอกว่า คุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) ไม่อยากแทรกแซง จริง ๆ แล้วไม่ได้แทรกแซงนะคะ แต่อาเซียนในฐานะของมิตรประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องดูแลประชากรอาเซียนร่วมกัน ท่านทั้งหลายคงจำได้สมัยพี่สุรินทร์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านยังอยู่เนี่ย ตอนสมัยพายุนาร์กิส คนในพม่าตายกันเยอะมากเลย ศพลอยตามน้ำ น้ำกลายเป็นพิษไปหมด บริโภคไม่ได้ ตอนนั้นท่านเป็นคนที่เข้าไปเจรจาจนกระทั่งส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ แล้วหลังจากนั้นเราก็มีการพูดถึงของเรื่อง R2P Responsibility to Protect ความรับผิดชอบในการปกป้อง ทุกประเทศมีอธิปไตย แต่ถ้าประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถที่จะดูแลประชากรของตนเองได้ ก็ต้องยินดีที่จะรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ ที่ไม่ใช่การแทรกแซงนะคะ เป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดิฉันคิดว่าตรงนี้อาเซียนควรต้องคุยกัน
การประชุม BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ที่ผ่านมา ดิฉันเห็นบังกลาเทศนั่งอยู่ พม่าก็อยู่ แต่ว่าโรฮิงญาก็ไปอยู่กับบังกลาเทศตั้ง 2 ล้าน แล้วประเทศที่ฐานะไม่ได้ดีนัก ประชากรก็มาก แต่ต้องมาแบกรับภาระประชากรของประเทศอื่น ดิฉันคิดว่าตรงนี้สุดท้ายมันต้องจบที่การพูดคุย แต่ว่าก็ต้องกล้าหาญในการที่จะริเริ่มการพูดคุย ดิฉันเองยังเห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีบทบาทสำคัญ เพราะไทยเป็นประเทศทางผ่าน ไม่ว่าจะเป็นพม่าเราก็มีชายแดนติดกัน โรฮิงญาก็เหมือนกันนะคะ สำหรับผู้ลี้ภัยประเทศไทยก็เป็นประเทศทางผ่าน ไทยจึงควรเสนอตัวในการที่จะแก้ปัญหา แล้วพี่ชลิดาพูดถึง AICHR (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) หลายคนบอกว่า AICHR ไม่ใช่องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน AICHR คือ ASEAN Interparliamentarian on Human Rights เป็นองค์กรที่ตั้งโดยรัฐ ผู้แทนของรัฐเข้าไปนั่งคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชน นักสิทธิมนุษยชนหลายคนบอกว่า AICHR ไม่ใช่องค์กรที่ทำด้านสิทธิมนุษยชน เพราะจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่ค่ะ ขอบคุณค่ะ
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ขอบคุณครับ ขอเสียงปรบมือให้กับคุณอังคณา นีละไพจิตรครับ


รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/Q1HZDjbcsVA?si=JsQXXgQY5dbhwIWg
หมายเหตุ :
- ถอดความและเรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ
ที่มา : PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์