ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

20
กันยายน
2564

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลปัจจุบัน) ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) เสด็จสวรรคตนั้น นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชสกุล “มหิดล” สืบสายมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

โดยก่อนที่จะมีการเฉลิมพระนามพระอัฐิ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2513 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ คือ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์นี้ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

คำถามจึงมีว่า ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งสืบสายมาจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชนั้น ขึ้นมาสืบราชสันตติวงศ์ครองสิริราชสมบัติได้อย่างไร?

 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร พ.ศ. 2468

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร พ.ศ. 2468

การสืบราชสันตติวงศ์

ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ที่ตราขึ้นในรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2467 นั้น กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสมมติท่านพระองค์ใดเป็นพระรัชทายาทแล้ว ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งควรจะสืบราชสันตติวงศ์นั้น ท่านให้เลือกสายตรงก่อน หากไม่สามารถเลือกได้ ให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและสนิทน้อย

อาศัยกฎเกณฑ์เช่นว่านี้ เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ราชบัลลังก์จึงตกแก่รัชกาลที่ 7 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (8) ของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ว่า “ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์”

นั่นคือ แม้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่มีพระชนมายุสูงกว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ แต่พระองค์ก็เป็นสมเด็จพระอนุชา ‘ต่างพระชนนี’ นั่นเอง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เมื่อเป็นนายเรือโท ราชนาวี พ.ศ. 2459

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เมื่อเป็นนายเรือโท ราชนาวี พ.ศ. 2459

ก่อนจะถึงรัชกาลที่ 7

เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว ในกลางดึกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เรียกประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศ์เรื่องการสืบราชสมบัติ  มีการอ่านพระราชพินัยกรรม ความตอนหนึ่งว่า “ถ้าพระกุมารในพระครรภ์พระนางเจ้าสุวัทนาประสูติออกมาเป็นพระราชธิดา ก็ใคร่ให้ราชสมบัติตกอยู่แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนี ซึ่งมีเหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล”

แม้ที่ประชุมจะเห็นชอบด้วยโดยดุษณีภาพ แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงขัดข้อง โดยให้เหตุผลว่า “พระองค์อ่อนพระชนมายุ และอ่อนความเคยชินแก่ราชการ ขอถอนพระองค์เพื่อเจ้านายที่ทรงมีพระชันษามากกว่า” ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นจึงทรงแถลงว่า “เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ราชสมบัติจะตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน  ส่วนที่ทรงหนักพระทัยว่า ขาดความรู้ความเคยชินแก่ราชการนั้น เจ้านายทุกพระองค์พร้อมที่จะเข้าช่วยประคับประคองให้ทรงครองแผ่นดินราบรื่นตลอดไป”

ดังนี้แล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาจึงทรงรับราชสมบัติ นับเป็นรัชกาลที่ 7  โดยคาดกันว่าเมื่อถึงคราวถัดไป พระองค์จะให้ราชสมบัติสืบไปทางสาย “บริพัตร”

 

รัชกาลที่ 7 มิได้ทรงสมมติพระรัชทายาท

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นพระบรมราชินี คู่ชีวิตของพระองค์เพียงพระองค์เดียว โดยมิได้ทรงมีพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินีพระองค์นั้น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ 7 ทรงรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มาเป็นพระราชโอรสบุญธรรม

อย่างไรก็ดี รัชกาลที่ 7 มิได้ทรงสมมติให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตเป็นพระรัชทายาทของพระองค์แต่ประการใด

 

พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต กับพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต กับพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

 

พลิกแผ่นดิน

เมื่อพระบรมราชจักรีวงศ์ปกครองแผ่นดินมาได้ 150 ปี ครั้นถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร และให้พระมหากษัตริย์ “ปกเกล้า แต่มิได้ทรงปกครอง” อีกต่อไป

โดยในวันที่ 30 มิถุนายน ศกนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย

เจ้าพระยามหิธร บันทึกไว้ว่า ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “เมื่อได้เห็นประกาศ [คณะราษฎร] ไม่อยากจะรับเป็นกษัตริย์ แต่โดยความรู้สึกดังกล่าวมาข้างต้น ว่าเทวดาสั่งเพื่อให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยราบคาบ จึงจะทรงอยู่ไปจนรัฐบาลใหม่เป็นปึกแผ่น  เมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะทรงลาออกจากกษัตริย์”

และมีพระราชปรารภถึงการสืบราชสันตติวงศ์สืบต่อจากพระองค์ว่า “อยากจะแนะนําเรื่องสืบสันตติวงศ์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า [รัชกาลที่ 4] และพระพุทธเจ้าหลวง [รัชกาลที่ 5] ได้เคยทรงพระราชดําริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน  ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปไม่ได้นาน  เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย  ทรงพระราชดําริเห็นว่า พระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้ว  ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์”

รัชกาลที่ 7 ครองราชย์สมบัติเรื่อยมาจนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2478 (ตามปฏิทินปัจจุบัน) จึงทรงสละราชสมบัติ

 

ท่านพระองค์ใด คือ รัชกาลที่ 8

เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ 2475 บัญญัติไว้ว่า “การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

กล่าวคือ เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะให้ความเห็นชอบท่านพระองค์ใดตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์สืบไป

ในเวลานั้น รัชกาลที่ 7 ไม่มีพระอนุชาร่วมพระชนนี เพราะพระองค์เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องแล้ว แต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชโอรสของสมเด็จพระเชษฐาร่วมพระราชชนนี ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ คือ

(1) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ 6

(2) พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก

แต่ท่านทั้ง 2 พระองค์นี้ ก็ ‘ถูกข้าม’ ด้วยเหตุผลต่างกัน ดังนี้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว แม้มาตรา 11 (4) แห่งกฎมณเฑียรบาล จะยกเว้นในกรณีผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าวเท่านั้น (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าว) แต่คณะรัฐมนตรีในเวลานั้น ตีความคำว่า ‘โดยนัย’ ในกฎมณเฑียรบาลว่า ย่อมนํามาใช้ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะสืบสันตติวงศ์มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช มีพระมารดาเป็นคนธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นหม่อมชั้นรองของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่ทรงมีพระชายาเป็นหม่อมเจ้าได้รับพระราชทานเสกสมรส แต่ไม่มีพระโอรส  ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ผ่านการพิจารณาพระองค์เจ้าวรานนท์ฯ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

 

เมื่อพิจารณามาถึงชั้นนี้แล้ว จะต้องตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 9 (11) คือ “ให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ”

เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์เดียวที่ทรงพระชนม์อยู่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่พระองค์ได้เสด็จไปประทับในต่างประเทศ คําขอร้องของคณะราษฎร คณะรัฐมนตรีจึงไม่พิจารณาถึงพระองค์ท่าน และพระโอรสของพระองค์ท่านที่มีอยู่หลายพระองค์

ดังนั้น จึงได้พิจารณาว่า พระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีท่านพระองค์ใดบ้าง ก็ได้ความว่า มีพระโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร และของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/วันที่ 6 มีนาคม 2477

จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/วันที่ 6 มีนาคม 2477

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/วันที่ 6 มีนาคม 2477

จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/วันที่ 6 มีนาคม 2477

 

จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/วันที่ 6 มีนาคม 2477

ในระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้ พระมารดาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงดํารงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมราชเทวี” ซึ่งทรงศักดิ์สูงกว่าพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฯ ที่เป็น “พระอรรคชายาเธอ”

แต่ในชั้นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าแต่ละพระองค์ดังกล่าวนั้น  พระโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฯ (ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฑัมพร, พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) มีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าหญิง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ส่วนพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล, พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช) มีพระมารดา คือ หม่อมสังวาลย์ (พระนามในขณะนั้น)  แม้เป็นสามัญชน แต่ก็ได้รับพระราชทานเสกสมรสเป็นสะใภ้หลวงโดยชอบแล้ว  และสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็ได้ทรงยกย่องให้เป็นพระชายาคนเดียวของพระองค์

เมื่อพิจารณามาถึงชั้นนี้แล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกไว้ในภายหลังอย่างชัดเจนว่า “โดยคํานึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทําคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บําเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งพระราชวงศ์จักรี สอดคล้องกับพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

ทั้งนี้ ให้ถือว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่วันและเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ คือ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2477 (ตามปฏิทินเดิม) เวลา 13.45 น. (เวลาในประเทศอังกฤษ) ตามหลักที่ว่า ราชบัลลังก์ไม่เคยว่างเว้นเลย ดังมีภาษิตว่า “THE KING IS DEAD, LONG LIVE THE KING” ซึ่งแปลว่า พระมหากษัตริย์สวรรคต ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงพระเจริญ

 

ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ และลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์

ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ และลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์

ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ และลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์

ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ
และลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์

 

นายปรีดี พนมยงค์, น.ร., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม.

นายปรีดี พนมยงค์, น.ร., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม.

คำขออภัยจากนายปรีดี พนมยงค์

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนคำประกาศคณะราษฎร ที่ประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันนำมาซึ่งความ “โทมนัส น้อยใจ และแค้นเคืองมาก”  ในภายหลัง นายปรีดีพร้อมด้วยคณะราษฎรได้ขอพระราชทานอภัยโทษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชวงศ์จักรี ถึง 2 ครั้ง คือ ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม 2475 ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว

นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรีไม่พิจารณาสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระราชโอรสนั้น นายปรีดีก็รู้สึกผิดเช่นกัน ดังที่ได้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น ข้าพเจ้ามิได้มีโอกาสขอพระราชทานอภัยโทษจากพระองค์โดยเฉพาะ จึงขอถือโอกาสที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ [บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2] บันทึกขอพระราชทานอภัยไว้ว่า การใดที่ข้าพเจ้ามีส่วนทําให้พระองค์ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินสยาม และทรงเสียสิทธิต่างๆ นั้น ขอให้พระองค์และพระโอรสกับพระธิดา อีกทั้งผู้สืบสายโดยตรงจากพระองค์ท่าน โปรดอภัยให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”

และกล่าวต่อไปว่า “อันที่จริง ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังตลอดมาว่า พระองค์เองก็ดี พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ก็ดี ไม่เคยรับสั่งประการใดๆ ที่แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือใส่ความข้าพเจ้าและคณะราษฎรเลย พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยสมเป็นปราชญ์และพุทธศาสนิกโดยแท้  ข้าพเจ้าจึงขอน้อมสักการะพระองค์ท่าน พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์ท่านทรงมีพระเกียรติยืนยงชั่วกาลนาน”

 

จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

 

ส่งท้าย

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งสืบสายมาจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ขึ้นมาสืบราชสันตติวงศ์ครองสิริราชสมบัติได้นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และราชสกุล “บริพัตร” ไม่ถูกพิจารณาอย่างที่มีการคาดหมายกันเหมือนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อย่างไรก็ดี หากเชื่อตามเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้ไว้ในภายหลัง ก็ต้องกล่าวต่อไปอีกว่า เหตุผลที่สำคัญ คือ “โดยคํานึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทําคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บําเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก” จึงทำให้คณะรัฐมนตรีในเวลานั้น โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เลือก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จากราชสกุล “มหิดล” ให้สืบราชสันตติวงศ์นั่นเอง

 

 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรการแพทย์ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2464

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร
เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรการแพทย์ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2464

 

ป.ล. พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ก็ยืนยันในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2477 ว่า “ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักกับพระบิดา คือ กรมหลวงสงขลาฯ ท่านพระองค์นี้เป็นผู้ที่รักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง  ในวันหนึ่งข้าพเจ้าได้ไปกินน้ำชาที่วังท่านในงานแต่งงานของเพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่ง  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเห็นท่านพูดกับคนใช้ก็ดี หรืออะไรก็ดี ไม่มีการใช้คลานหรืออะไรกัน และข้าพเจ้าได้ไปพูดกับท่านเอง 2 ต่อ 2 เช่นนี้  ถ้าจะได้ลูกของท่านซึ่งเหมือนกับพระราชบิดาแล้ว ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะยินดีอย่างยิ่งทีเดียว“

ที่มา

  • กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร , อัตตชีวประวัติ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3120, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 15 ธันวาคม 2517, น. 82-83.
  • เจ้าพระยามหิธร, บันทึกลับ, https://pridi.or.th/th/content/2020/06/305.
  • ปรีดี พนมยงค์, 75 ปี วันสันติภาพไทย: บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563, น. 64-75.
  • กาลเวลารำลึกแห่งความทรงจำ. อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน อัฐิ นายปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2529.
  • ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:147345. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ครบศตมาห ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.
  • พระประวัติและจริยาวัตรของ จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเอกสารที่ได้ทรงปฏิบัติราชการ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:170222. กองทัพเรือ พิมพ์สนองพระเดชพระคุณแสดงกตเวทีเป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์ท่าน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2455. วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2533

 

ที่มา: กษิดิศ อนันทนาธร. การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล” เผยแพร่เมื่อ 4 สิงหาคม 2020