ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประชาธิปไตย : ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนที่ 1)

15
กันยายน
2566

Focus

  • ความสลับซับซ้อนและความหมายของประชาธิปไตยในมุมมองของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมามีแตกต่างกัน โดยการปกครองเช่นนี้มิได้เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน แต่เรียกเป็นอื่น อาทิ การปกครองโดยใช้ “ปาลิเมนต์” หรือรัฐสภา ระบอบการปกครองแบบลีมิตเต็ดมอนากี้ (Limited Monarchy) “ประชาธิปตัย” “ปชาธิปไตย์” และ“ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ที่ใช้กันในช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
  • ในภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะต่อๆ มา นอกเหนือจากคำว่า “ประชาธิปไตย” (นำเสนอโดยกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ที่นิยมกันในปัจจุบันแล้ว ยังมีคำอื่นที่ควรพิจารณาด้วยคือ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” (ของนายปรีดี พนมยงค์) และ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ ” (อาทิ ประชาธิปไตยสุจริต ประชาธิปไตยแบบไทยๆ)

 

ในบรรดาคำศัพท์ทางการเมืองทั้งหลาย คำๆ หนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้จักก็คือ คำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นคำที่เห็นอยู่ทั่วไปตามหัวข้อข่าวการเมือง รวมถึงในหน้าสื่อออนไลน์ต่างๆ หากพิจารณาเพียงผิวเผินอาจจะดูเหมือนว่า คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นคำที่พูดแล้วคนมีความเข้าใจต้องตรงกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงคำว่า “ประชาธิปไตย” อาจจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่านี้ รวมถึงตัวนิยามไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉยๆ หากแต่มันมีบริบทของการเกิดขึ้นโดยเป็นเรื่องในทางการเมืองและการช่วงชิงความหมาย เพราะโดยเนื้อแท้การนิยามความหมายใดๆ ล้วนเป็นกิจกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่งและตัวผู้ให้คำนิยามก็มีเจตจำนงทางการเมืองอยู่เบื้องหลังเสมอ[1] ซึ่งเป็นสิ่งที่บทความนี้ต้องการจะนำเสนอและชวนทำความเข้าใจบริบทของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ

 

ก่อนหน้าจะมีคำว่า “ประชาธิปไตย”

ในอดีตก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยไม่ได้มีคำที่ใช้เรียกระบอบการปกครองแบบที่เข้าใจในปัจจุบันว่า “ประชาธิปไตย” มาก่อน ในเวลานั้นชนชั้นนำสยามหรือปัญญาชนหัวก้าวหน้าของสยามโดยส่วนใหญ่มักจะใช้คำอธิบายระบอบที่ต่อมาเรียกว่า ประชาธิปไตยไปในลักษณะต่างๆ[2] อาทิ

ใน คำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งปฏิบัติราชการอยู่ในทวีปยุโรปขณะนั้น ได้มีการจัดทำข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสนอให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยในข้อเสนอครั้งนั้นคำที่คณะเจ้านายและข้าราชการเสนอใช้เรียกระบอบประชาธิปไตยคือคำว่า “คอนสติตูชาแนลโมนากี” ซึ่งถูกอธิบายในเชิงว่าเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลทำการปกครองแทน[3] หรือ

ใน พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จ.ศ. 1247 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงอธิบายระบบการปกครองของประเทศไทยในเวลานั้นกับประเทศอังกฤษ และอธิบายถึงกระบวนการออกกฎหมายหรือกระบวนการนิติบัญญัติ (legislative) ของประเทศอังกฤษซึ่งมี “เฮาสออฟปาลียเมนต” (House of Parliament)[4] หรือรัฐสภาแบบที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ซึ่งพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นการอธิบายถึงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ โดยการอธิบายถึงองค์ประกอบที่ใช้อำนาจอธิปไตยในลักษณะต่างๆ โดยไม่ได้มีการเรียกชื่อระบอบการปกครอง

นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว มีปัญญาชนสยามอีกคนหนึ่งที่นำรัฐสภามาใช้อธิบายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คือ เทียนวรรณ (ต.ว.ส. วัณณาโภ) ในงานเขียนที่ชื่อว่า “ว่าด้วยฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ” (พ.ศ. 2447) เทียนวรรณ ได้พูดถึงข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศของตัวเองโดยพูดถึงในข้อที่ 28 ว่า “จะตั้งปาลิเมน อะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้, ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้นๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอะนุญาตไว้”[5]

การอธิบายเกี่ยวกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยไม่มีคำที่เรียกชื่อระบอบนี้อย่างเป็นทางการที่เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย แม้กระทั่งในช่วงใกล้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ตัวอย่างเช่น การเรียกระบอบการปกครองแบบลิมิเต็ดมอนากี้ (Limited Monarchy) โดยกลุ่มผู้กบฏ ร.ศ. 130[6]

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเค้าความคิดของรากฐานคำว่า “ประชาธิปไตย” จะไม่เคยปรากฏมาก่อน หากพิจารณาย้อนไปในอดีตได้ปรากฏการใช้คำว่า “ประชาธิปตัย” บ้างแล้วในประเทศไทยในงานเขียนของ ก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ในหนังสือพิมพ์สยามออปเซอร์เวอร์ในช่วง พ.ศ. 2437 โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ประดิษฐ์ใช้คำว่า “ประชาธิปตัย” และ “ปชาธิปไตย์” เพื่ออธิบายและเรียกรัฐบาลที่ไม่มีกษัตริย์ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ อาจจะประดิษฐ์คำนี้จากการถอดรากศัพท์จากคำว่า “Democracy” ในภาษาอังกฤษ[7] และปัญญาชนสยามอีกคนหนึ่งที่มีการนำคำนี้มาใช้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) โดยใช้คำว่า “ประชาธิปตัย” เพื่ออธิบายระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ[8]

แม้กระทั่งในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็มิได้มีการตั้งชื่อให้กับระบอบการปกครองที่ต่อมาถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตย” แต่อย่างใด หากแต่เป็นคณะราษฎรที่ได้ฉายภาพระบอบการปกครองใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา ส่วนการใช้คำว่าประชาธิปตัยยังคงถูกอธิบายในแง่ของการปกครองแบบสาธารณรัฐ ดังปรากฏในข้อความว่า

 

“...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้ขอเชิญกษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...”

 

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ระบอบการปกครองใหม่ที่คณะราษฎรได้สถาปนาขึ้นมานั้นยังไม่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตย”

ในแง่ของการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองจะพบว่า ในเอกสารของนายปรีดี พนมยงค์ บางส่วนได้มีการเรียกชื่อระบอบการปกครองใหม่นี้ว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นผลมาจากคณะราษฎรประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และคณะราษฎรได้ขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามที่คณะราษฎรได้ร่างถวาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยอมตามคำขอของคณะราษฎร[9]

 

คำว่าประชาธิปไตยมาจากไหน

ดังจะเห็นได้ว่าชนชั้นนำและปัญญาชนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่ในเวลาต่อมาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” การเข้าใจถึงระบอบการปกครองนี้ลึกซึ้งถึงขนาดว่ามีการต่อสู้กันทางความคิดในกลุ่มชนชั้นนำและปัญญาชนไทย อาทิ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ติเตียนความคิดเกี่ยวกับการปกครองโดยใช้ “ปาลิเมนต์” หรือ “รัฐสภา” โดยในบทความชื่อว่า “ปาลิเมนต์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวิพากษ์วิจารณ์ว่าระบบรัฐสภามีข้อเสียอย่างไรและรัฐบาลที่ไม่มีรัฐสภาจะมีข้อดีอย่างไร โดยเน้นไปในเชิงข้อเสียของระบบดังกล่าวว่าทำให้เกิดความเชื่องช้าไม่รวดเร็วเมื่อเปรียบกับรัฐบาลที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[10] พระบรมราชาธิบายดังกล่าวข้างต้นสะท้อนการต่อสู้และช่วงชิงอำนาจในการแสดงความเห็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในขณะเดียวกันปัญญาชนและชนชั้นนำสยามบางส่วนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ได้เริ่มมีภาพของการปกครองในระบอบที่ต่อมาจะเรียกว่าประชาธิปไตย ดังปรากฏในคำให้การของข้าราชการทหารที่เข้าร่วมแผนก่อการกบฏในปี ร.ศ. 130 ซึ่งให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมกบฏในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องให้มีที่ประชุมราษฎร[11] หรือก็คือ รัฐสภา

ดังนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงแรกการเข้ามาของสิ่งที่ต่อไปจะเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีภาพแทนเป็นการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญหรือที่ในเวลานั้นเรียกทับศัพท์ว่า “คอนสติตูชัน” และการมีรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นเรียกทับศัพท์ว่า “ปาลิเมนต์” โดยมีเพียง ก.ศ.ร. กุหลาบ และนายปรีดี พนมยงค์ที่พยายามจะให้ชื่อระบอบการปกครองนี้ แต่ชื่อทั้งสองยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย

คำว่า “ประชาธิปไตย” เริ่มต้นใช้อย่างเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกโดยนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญของไทยคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระนามเดิมหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็นนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญที่มีส่วนในการประดิษฐ์คำทางการเมืองไทยจำนวนมาก อาทิ รัฐธรรมนูญ[12]

สาเหตุที่การใช้คำของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมากกว่าบุคคลก่อนหน้านี้ ก็ด้วยกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นนักหนังสือพิมพ์ โดยเมื่อมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องมีคิดศัพท์ใหม่สำหรับระบอบการปกครองใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่มากขึ้น ดังได้ทรงแสดงเจตนารมณ์ในการตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติว่า

 

“เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องคิดศัพท์ใหม่ขึ้นใช้สำหรับศัพท์การเมือง คำเหล่านั้นและความหมายของคำเหล่านั้นจะได้ไปถึงประชาชนคนไทย ข้าพเจ้าก็ได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย โดยนำเอาคำที่คิดขึ้นนั้นมาใช้ด้วย[13]

“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 ฉันเห็นว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยทีเดียว ทำให้ฉันระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส ฉันจึงได้บัญญัติศัพท์ใหม่ คือคำว่า ปฏิวัติ พร้อมกันก็คิดออกหนังสือพิมพ์เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง...หนังสือพิมพ์ประชาชาติออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักมูลคือวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย พึงเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือที่เราเรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตย”[14]

“...ข้าพเจ้าเล็งเห็นความจำเป็น ที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรืออำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย…”[15]

 

การนำคำว่า “ประชาธิปไตย” ของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์มาใช้ในการอธิบายระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่ออธิบายระบอบการปกครองใหม่ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้แสดงให้เห็นบริบทของสังคมไทยที่มีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งการใช้กลไกของหนังสือพิมพ์จะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

ณ จุดนี้การใช้คำว่าประชาธิปไตยจึงได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และได้รับการยอมรับในการใช้อธิบายการปกครองในระบอบใหม่ แม้ในเวลาต่อมาคำว่า ประชาธิปไตยจะได้ถูกนำมาใช้ในบริบทอื่นๆ เพื่ออธิบายอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งหมาย อาทิ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ หรือใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองต่างๆ ดังปรากฏในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ อาทิ ประชาธิปไตยสุจริต ประชาธิปไตยแบบไทยๆ และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในตอนที่ 2 ของบทความนี้

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. (2562). ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
  • ขรรค์ชัย บุนปาน. (2544). ประดับไว้ในโลกา. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ. (2447). “ปาลิเมนต์,” ทวีปัญญา.
  • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และกษิดิศ อนันทนาธร. (2564). สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์ 2475. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2562). ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
  • ปรีดี พนมยงค์. (2526). ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์. (2561). “ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475: การก่อรูป, การประชันความหมายและการผสมผสาน,” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • หลวงประดิษฐมนูธรรม และพระสารสาสน์ประพันธ์. (2475). คำอธิบายกฎหมายปกครอง. ม.ป.ท.

สื่อออนไลน์


[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2562), น.18-19.

[2] คำว่า “Democratic” เริ่มต้นใช้ในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การใช้งานยังจำกัดเฉพาะในกลุ่มมิชชันนารี โดยเรียกทับศัพท์ว่า “เดะโมแกรติก” โดยปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุสยามไสมยของ ซามูเอล สมิธ (Samuel Smith) ดู เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์, “ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475: การก่อรูป, การประชันความหมายและการผสมผสาน,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), น.117.

[3] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และกษิดิศ อนันทนาธร, สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์ 2475, (กรุงเทพฯ บุ๊คสเคป, 2564), น.119.

[4] เรื่องเดียวกัน, น.131.

[5] เรื่องเดียวกัน, น.83.

[6] ดู เอกสารคำบรรยายของร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทัพษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เรื่อง ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ ใน เรื่องเดียวกัน, น. 65-67.

[7]เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์, “ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475: การก่อรูป, การประชันความหมายและการผสมผสาน,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), น.161-166.

[8] หลวงประดิษฐมนูธรรม และพระสารสาสน์ประพันธ์, คำอธิบายกฎหมายปกครอง (ม.ป.ท., 2475).

[9] ดู สุนทรพจน์เรื่อง คณะราษฎรกับการกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน: เอกสารถอดจากเทปบันทึกเสียง สุนทรพจน์งานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2525 ใน ปรีดี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), น.346. หมายเหตุ ในบทความชื่อเดียวกันที่ปรากฏในการตีพิมพ์ครั้งอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงคำโดยไปใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” แทน ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์.

[10] เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ, 2447, “ปาลิเมนต์,”ทวีปัญญา, 7(2), น.1-4.

[11] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.6 บ. 17/5 อ้างใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), น.304.

[12] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (27 มิถุนายน 2564), “รัฐธรรมนูญคืออะไร: ความหมายและที่มาของคำ,” [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566, สืบค้นจาก

[13] เสมียนอารีย์, ( 25 สิงหาคม 2565), “กรมหมื่นนราธิปฯ กับการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย และการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติ,” [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566,

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] ขรรค์ชัย บุญปาน, ประดับไว้ในโลกา, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2544), น.112.