ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องนายปรีดี

17
ธันวาคม
2567

Focus

  • สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดทำโครงการบันทึกคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่รู้จักนายปรีดี เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนายปรีดีในความทรงจำ และเกร็ดความรู้ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง ในฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องนายปรีดี โดย ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน EP. 3 นี้ได้เล่าเรื่องราวของม.จ.ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตน  และนายปรีดี พนมยงค์ ร่วมสนทนาโดย คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาส คุณกษิดิศ อนันทนาธร และคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์

 


จดหมายของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ถึงนายปรีดี พนมยงค์

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ :

ป้าหน่อย ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตนซึ่งท่านเป็นธิดาของ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตน  หรือท่านชิ้น ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการเสรีไทยที่ช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม วันนี้จึงอยากให้ป้าหน่อยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ท่านชิ้นกับนายปรีดี และขบวนการเสรีไทย

 


นายปรีดี พนมยงค์

 


ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน:

ข้าพเจ้าได้มารู้จักเคารพรักใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในช่วง 10 ปี สุดท้ายของท่าน ระหว่างปี 2516 และปี 2526 ท่านย้ายจากประเทศจีนมาพักอยู่ที่อองโตนี ชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนอื่นข้าพเจ้าขออธิบาย เพราะอะไรท่านจึงเมตตาให้ความรักสนิทสนมกับข้าพเจ้า ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักข้าพเจ้าอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับพ่อของข้าพเจ้า ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตน หรือเป็นที่รู้จักเรียกกันว่าท่านชิ้น

ข้าพเจ้าได้ยินเกียรติศักดิ์ คุณความดีของอาจารย์ปรีดีจากพ่อมากมายว่า เป็นชายคนหนึ่งที่พ่อชื่นชม รักและนับถือมาก เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข เห็นอกเห็นใจกัน เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมกัน เมื่อประสบความสำเร็จก็สุขด้วยกัน เมื่อประสบหายนะก็ทุกข์ด้วยกัน แต่แรกเริ่มเดิมทีพ่อและอาจารย์ปรีดี อยู่ฝั่งตรงกันข้ามทางการเมือง พ่อเป็นข้ารับใช้สมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เป็นนายทหารรักษาพระองค์ในวัง ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนอาจารย์ปรีดี เป็นหัวหน้าคณะราษฎรผู้หนึ่งที่ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีประมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติในปี 2475 ต่อมามีข้อขัดแย้งหลายประการระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จไปรักษาพระองค์ที่อังกฤษ เอาพ่อตามเสด็จไปด้วย และในไม่ช้าก็ทรงสละราชสมบัติในปี 2478

ต่อมาในปี 2484 ญี่ปุ่นบุกขึ้นประเทศไทย รัฐบาลไทยนำเป็นนายกจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าข้างเป็นมิตรกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อาจารย์ปรีดีเริ่มขบวนการเสรีไทยในประเทศ ส่วนพ่อเป็นเสรีไทยจากอังกฤษ ทั้งสองคนเลิกความเป็นอริศัตรูแต่ปางก่อน เริ่มทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน และขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากแผ่นดินไทย เป็นการสู้รบร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เมื่อสงครามจบลงเพราะการปฏิบัติการของคณะเสรีไทย ประเทศไทยจึงไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น ในวันประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ประเทศไทยได้รับเอกราชอธิปไตยกลับคืนอย่างสมบูรณ์

เมื่องานเสรีไทยประสบความสำเร็จจบสิ้นลงแล้ว อาจารย์ปรีดีขอให้พ่ออยู่เมืองไทยต่อไปอีกสักพัก เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนในการฟื้นฟูระบบปกครองแบบประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมาเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะผู้แทนประเทศไทยใน UN สหประชาชาติ แต่แล้วทุกอย่างก็ล่มสลายในวันที่ 6 พฤจิกายน 2490 เกิดรัฐประหาร อาจารย์ปรีดีถูกขับไล่หลบหนีลี้ภัยไปต่างประเทศ ส่วนพ่อก็ถูกไล่ออกจาก UN ชีวิตที่มีไว้รับใช้ประเทศชาติของทั้งสองคนก็ยุติจบสิ้นลงเพียงเท่านี้ เมื่ออายุเพียง 47 ปี เท่านั้น

หลังจากนั้นตลอดชีวิตของพ่อ พ่อเป็นเจ้าเชื้อพระวงศ์คนเดียวที่ยังคงยืนปกป้องความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดีในกรณีสวรรคต ความสัมพันธ์อันสำคัญลึกซึ้งระหว่างอาจารย์ปรีดีกับพ่อทั้งนี้ ประวัติคุณความดีของอาจารย์ปรีดีที่พ่อเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง จึงทำให้อาจารย์ปรีดีเป็นคนสำคัญมากในชีวิตของข้าพเจ้าระหว่างที่ข้าพเจ้าเติบโตอยู่ที่อังกฤษตลอดมา

ฉะนั้น เมื่อได้ข่าวว่า อาจารย์ปรีดีตอบรับเชิญ มา Meeting คือ งานประจำปีสามัคคีสมาคมที่มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2516 ข้าพเจ้าตื่นเต้นมากและดีใจมากที่จะได้พบท่านด้วยตัวจริง รีบขึ้นรถไฟจากลอนดอนไปดองคัสเตอร์ และโชคดีอะไรเช่นนี้ เป็นรถไฟขบวนเดียวกันที่อาจารย์ปรีดีเดินทาง ข้าพเจ้าเดินตามหาท่านในรถไฟจนพบ เข้าไปกราบและแนะนำตัวเองว่าเป็นลูกใคร เท่านั้นทั้งอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ก้มลงโอบกอดข้าพเจ้าอย่างรักและเอ็นดู ท่านดีใจที่ข้าพเจ้าเข้าไปหาให้เรียกท่านว่า คุณลุงและคุณป้า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันเลอค่า ซึ่งคงอยู่จนกระทั่งท่านสิ้นชีวิต 10 กว่าปี ในภายหลัง หลังจากนั้นข้าพเจ้าจะได้พบท่านทุกครั้งที่ท่านมาร่วมงานสามัคคีสมาคมฯ ที่อังกฤษ และข้าพเจ้าเองก็ยังได้ไปกราบท่านที่บ้านชานกรุงปารีสหลายครั้ง โดยเฉพาะในวันคล้ายวันเกิดของท่าน วันที่ 11 พฤษภาคม

 

 

Meeting ปีแรกมีนักเรียนมาประชุมมากมายราว 300 ถึง 400 คน ท่านแสดงปาฐกถา และอนุญาตให้นักเรียซักถาม แน่ละจะต้องมีคำถามเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ท่านตอบแต่เพียงว่า ขณะนี้ยังพูดอะไรไม่ได้แต่สักวันหนึ่งความสัตย์จริงจะต้องปรากฏ ครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้จัดงาน Meeting โดยมีท่านเป็นประธาน ก็เป็นต้นเดือนกรกฎาคม 2520 ปีนั้นข้าพเจ้าเป้นสภานายก หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ระหว่างนั้น รัฐบาลเผด็จการของธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมมากกว่า 5 คน ในสถานที่ราชการ เราจึงต้องมาจัดงานที่ห้องประชุม Right throw ของ Imperial college มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนงานจะเริ่มมีการถ่ายภาพขององค์ปาฐกทั้งสองท่านในวันนั้นคืออาจารย์ปรีดี และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รูปทั้งสองท่านที่นั่งคู่กันบนเก้าอี้ไม้ข้างหน้า Right throw รูปนี้เป็นรูปประวัติศาสตร์ที่ผู้คนรู้จักกันมาก นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านทั้งสองได้มาปรากฏตัวใน Public

ปี 2526 ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปกราบท่านที่ปารีส ในวันที่ 11 พฤษภาคม อันเป็นวันเกิดของท่าน แต่แล้วยังไม่ทันเดินทาง ในวันที่ 2 พฤษภาคม ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่วัดจิตตวิเวกไม่ไกลจากลอนดอน กราบท่านเจ้าคุณปัญญานันท รัตนสงฆ์ ได้มีโทรศัพท์จากปารีส จากท่านผู้หญิงพูนศุขว่า อาจารย์ปรีดีถึงแก่กรรมโดยกระทันหันเมื่อเช้านี้ ขอนิมนท่านเจ้าคุณปัญญานันท ข้าพเจ้ารับอาสาจะจัดการทุกอย่างตั้งแต่ขอวีซ่าตลอดจนการเดินทางโดยเครื่องบิน เพื่อให้ท่านเจ้าคุณปัญญานันท ไปถึงปารีสให้ทันวันงานศพ การขอวีซ่าให้คนไทยไปปารีสจากลอนดอนนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ นัก เมื่อไปขอวีซ่าให้ท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในลอนดอน ทีแรกเขาปฏิเสธเพราะมีกฎอยู่ว่า คนไทยที่ต้องการจะไปฝรั่งเศสจะต้องขอวีซ่าที่กรุงเทพฯ มาขอที่ลอนดอนไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงต้องใช้ความสามารถเต็มที่พูด Speech อย่าง partners ว่า ท่านรู้ไหมว่าท่านปรีดีนี้คือใคร

ท่านเป็น Thai Leader ที่ต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดสงคราม ได้รับรางวัล…(เสียงเบา-กองบรรณาธิการ)และในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านก็เลือกมา Exile ที่ปารีส ฉะนั้นจะปฏิเสธได้อย่างไรไม่ให้ท่านผู้นี้ได้รับเท่านั้นเจ้าหน้าที่ก็กลับไปข้างในสักพัก เข้าใจว่า คงจะไปติดต่อกับกระทรวงต่างประเทศที่ในปารีส ไม่ช้าก็กลับออกมาบอกว่า  จึงได้พาท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุขึ้นเครื่องไปด้วยตัวเอง พอไปถึงสนามบินปารีส ข้าพเจ้าสถานทูตไทยในปารีส…ด้วยความเศร้าสลดเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

เรื่องท่านชิ้นอยากทราบว่า พบอาจารย์ปรีดีครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

 

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ครั้งสุดท้ายเห็นจะเป็น ท่านกลับเมืองไทยหลังจากกรณีพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล สวรรคต ท่านสวรรคตเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎา พ่อลาจากไปด้วยจิตใจเหียวแห้งเป็นที่สุด เพราะเห็นจะลาท่านอาจารย์ปรีดี ตอนนั้น ปี 2489 แต่หลังจากนั้นจะเขียนจดหมายติดต่อกันตลอดเวลา และท่านก็ไปประชุมที่ UN ที่นิวยอร์ก และท่านก็ได้เดินทางไปเยี่ยมสมเด็จพระราชชนนี พระเจ้าอยู่หัว ที่สวิตเซอร์แลนด์ และท่านก็จะมีจดหมายติดต่อกับอาจารย์ปรีดีตลอดเวลา เหตุการณ์การเมืองต่าง ๆ ที่ท่านทำไปมา และก็ไม่มี เป็นสิ่งที่ทำให้ท่าน Depress มาก ไม่เหมือนคุณลุงปรีดี ท่านไม่เคยแสดงอาการ Depress อย่างพ่อเลย

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

แล้วระหว่างอยู่ที่สวนเสมา เคยพูดถึงว่า อาจจารย์ปรีดี ยังอยู่เมืองจีน ท่านมีรำพึง

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ไม่เคยติดต่อกันไม่ได้ เพราะพ่อเองตายเร็วพอใช้ ตอนที่พ่อตายอาจารย์ปรีดี ยังอยู่ที่เมืองจีน จึงไม่ได้ติดต่อกันเลย

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

เพราะท่านสิ้นปี 2510

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ปี ค.ศ. 1967

 

กษิดิศ อนันทนาธร :

แง่มุมชีวิตธรรมดา มีแง่มุมอะไรที่น่ารักที่สัมผัสได้ไหม ที่ป้าหน่อยไปพบ ทำอาหารให้กิน พาไปดูหนังฟังเพลง พูดอะไรแบบมนุษย์ธรรมดา

 

ม.ร.ว. สายสวัสดี สวัสดิวัตน:

เป็นมนุษย์ธรรมดามาก แล้วก็ชวนทำอาหารเย็น หรือไม่ก็อาหารกลางวันทุกที และท่านก็จะอธิบายว่าอาหารใส่อะไรบ้าง เป็นต้นว่าครั้งหนึ่งท่านทำ S grill เนื้อ แล้วท่านก็อธิบาย ได้กลิ่นเบย์ลีฟไหม ใส่เบย์ลีฟเข้าไปใน S grill ได้กลิ่นไหม จำได้แค่นี้

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ :

แล้วตอนที่ป้าหน่อยว่า ท่านเสียชีวิตแล้ว และก็ท่านปัญญาท อยู่ที่อังกฤษพอดี และป้าหน่อยมีบทบาทในการจัดการให้ท่านมาฝรั่งเศสตรงนี้เป็นอย่างไร

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ท่านมาพักที่อังกฤษ ท่านได้รับเชิญจากหลวงพ่อสุเมโธ ให้มาพักที่วัดที่อังกฤษ ท่านมาพักอยู่แล้ว และท่านก็จะมาเยี่ยมอาาจารย์พ่อสุเมโธ ที่อังกฤษหลายครั้ง พะเอินปีที่อาจารย์ปรีดีถึงแแก่กรรมท่านอยู่ที่วัดที่อังกฤษพอดี และก็วันที่ได้ข่าวมาอาจารย์ปรีดีเสียชีวิตกระทันหัน ให้ท่านอาจารย์พระปัญญานันทไปโดยเร็ว ท่านคุณปัญญานันทเป็นคนบอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องกรณีสวรรคต พูดถึงความบริสุทของสามคนที่ถูกประหาร และท่านก็เล่าว่าพยานคนหนึ่งที่เป็นพยานเท็จนายตี๋ มาสารภาพกับท่านก่อนตายว่า ได้ให้การเป็นพยานเท็จ ซึ่งเป็นพยานคนสำคัญที่ทำให้ทั้งสามคนถูกประหารชีวิต ท่านเจ้าคุณปัญญานันทเป็นคนเล่าเองในวันนั้น ฉันก็พึ่งได้ยินในวันนั้น เรื่องนายตี๋ พยานเท็จ วันนั้นเราก็คุยกันเรื่องกรณีสวรรคตมากพอใช้ เพราะท่านเจ้าคุณปัญญานันท สนใจและก็รู้ถึงเรื่องนี้ดีมาก

 

อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาส :

มีคนโจมตีคณะราษฎรมากว่า ในช่วงนั้นไม่พร้อมก็ยังไม่ควรที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะว่าคนยังไม่มีการศึกษา ไม่ทราบว่า คุณป้าหน่อยได้มีโอกาสคุยเรื่องความไม่พร้อมของประเทศไทย ณ ขณะนั้นบ้างไหม

 

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ที่ได้คุณกับท่านก็นับเป็นเวลาช้านาน หลังจากเปลี่ยนการปกครองเพียง 20-30 ปี เราก็อดพูดไม่ได้ว่า ในเมื่อราษฎรยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลต่อ ๆ มา จนบัดนี้ก็ยังไม่พร้อมอยู่นั้น เพราะว่ารัฐบาลที่แล้วมา 30 ปี ไม่ได้ให้การศึกษาในทางระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แล้วถ้าเกิดไม่ให้การศึกษาในการปกครองระบบประชาธิปไตยก็ไม่มีวันพร้อมอยู่

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ :

จะพูดในแง่พร้อมไม่พร้อมก็คงไม่ได้ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีกระบวนการในการขัดขวางการพัฒนาตรงนี้ เราก็ต้องไปดูว่าเกิดจากอะไร

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ป้าก็นั่งทำ เรียนประวัติศาสตร์อยู่ตอนนี้ว่า ทำไมประชาธิปไตยจึง Fail เรามีมาตั้ง 80 กว่าปีแล้ว และทำไมก็ยัง Fail เรามีรัฐบาลประชาธิปไตยมากมาย ซึ่งโดนรัฐประหารนับไม่ถ้วนมากี่ราย และก็มีการถก Discussion ถ้าเกิดไม่มีรัฐประหารการปกครองจะอยู่รอดไหม ถ้าเกิดเราเรียนรู้จาก Missed จากความผิดที่ทำไป เราจะแก้ปัญหาได้ไหม โดยไม่ต้องมีรัฐประหาร

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ :

ปัญหาที่เราพูดกันว่าเกิดจากกลไกต่าง ๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ไม่ทำงาน คือ เรื่องกลไกก็ส่วนหนึ่ง แต่เราก็กลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน จิตสำนึกในประชาธิปไตย คือเรายังไม่มีการปลูกฝังกัน คนยังไม่ได้มีทัศนะที่เป็นประชาธิปไตย วัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ต้องสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ก่อน

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

ผมขอหนึ่งคำถาม คือ ในฐานะผมก็ศึกษาในพุทธศาสนา และก็ทำวิจัยเรื่องในพุทธศาสนา และก็เห็นป้าหน่อยเป็นคนที่สนใจพุทธศาสนา มีมุมมองต่อพุทธศาสนาในการช่วยพัฒนาประชาธิปไตย หรือเป็นอุปสรรคหรืออย่างไร

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

เรื่องนี้ลึกซึ้งมาก ฉันก็เคยคุยกับพระเหมือนกันเรื่องนี้ ที่พระสอนว่า ไม่ให้เรายึดติดอยู่กับความคิด Opinion อะไรทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราคิดได้แต่เราจำต้องไม่ติดไม่ยึด ท่านก็อธิบายให้อย่างนั้น

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

แล้วพุทธศาสนาเป็นปัญหาต่อระบบประชาธิปไตยบ้างไหม

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

คิดว่าไม่เป็น ถ้าเกิดเราู้ตัวว่านี้คือ Opinion ของเรา แล้วนี้เป็นความรู้สึกของเราในขณะนี้ แต่มันจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในภายหน้า ถ้างั้นเราจะต้องไม่ยึดอะไรว่าเป็นสิ่งแน่นอนที่สุด คุยกับพระคนหนึ่งแต่ท่านก็บอกอย่างี้ว่า การที่ป้าหน่อยมี Opinion เกี่ยวกับประชาธิปไตย ทำไมพุทธศาสนาบอกว่า ไม่ให้มี Opinion ซึ่งป้าหน่อยก็มีมาก มียึดติดความคิดความเห็นหลายอย่างมาก ท่านก็เลยเตือนว่า อย่ายึดติดอะไรทั้งสิ้น เพราะงั้นเราก็ต้องรู้ตัวเอาไว้เท่านั้น

 

อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ :

มีข่าวโจมตีกระแสแอบอ้างเข้ามา โจมตีอาจารย์ปรีดี ค่อนข้างเยอะ ในเรื่องของปรีดีทำร้ายรัชกาลที่ 7 คุณป้าจะอธิบายตรงนี้อย่างไร

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

ไม่เคยได้ยินเลยว่าอาจารย์ปรีดี ทำร้ายรัชกาลที่ 7

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

ในเรื่องของเค้าโครงการเศรษฐกิจกับพระบรมราชวินิจฉัยที่โต้กันครับ

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

เรื่องนั้นเป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่อาจารย์ปรีดี มีความเห็นอย่างรุนแรงมากว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่สามารถที่จะรู้เข้าอกเข้าใจ และก็แก้ปัญหาได้ นั้นจึงเป็นเหตุที่จะต้องเปลี่ยนการปกครอง เอาคนที่มีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ เข้ามาเป็นคน Opera ให้เป็นคนปกครองบ้านเมือง อันนี้แน่นอนท่านมี…(เสียงเบา-กองบรรณาธิการ) เกี่ยวกับรัฐบาลรัชกาลที่ 7 จะเรียกว่า โจมตีอะไรก็ได้ เพราะนี่เป็นเหตุผลที่ท่านเปลี่ยนการปกครอง แต่แล้วในทางส่วนตัวอาจารย์ปรีดีจะพูดอยู่เสมอว่า รักและเคารพนับถือรัชกาลที่ 7 อย่างไรบ้าง และคุณป้าพูนศุข ก็เคยไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี ที่อังกฤษหลังจากรัชกาลที่ 7 สวรรคตแล้ว ท่านจะมีความจงรักภักดีต่อทั้งรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารําไพฯ ตลอดมา ไม่เคยกล่าวว่าอะไรเลยในทางส่วนตัว

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

ทัศนคติพระนางเจ้ารําไพพรรณี กับท่านชิ้นค่อนข้างผูกพันกัน ตอนหลังมีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคิดเห็นประชาธิปไตยบ้างไหม

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

สมเด็จฯ ท่านไม่ค่อยสนใจการเมือง ขอให้ทุกคนอยู่อย่างสงบสุข และหลังจากที่ท่านรัชกาลที่ 7 สวรรคตแล้ว ท่านก็อยู่อังกฤษต่อไปอย่างสงบสุข จนกระทั่งวันหนึ่งจอมพล ป. มาเชิญท่านเสด็จกลับ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 7 แต่พ่อไม่กลับมาด้วย เพราะพ่อยังเจ็บใจการเมืองเมืองไทยไม่หาย

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

ตอนพระบรมอัฐิกลับมานั้น อาจารย์ปรีดีโดนรัฐประหารแล้ว

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัฒน :

พ่อเองอย่าลืมว่า พ่อตามเสด็จไปเมืองนอก ตามเสด็จรัชกาลที่ 7 ตามเสด็จพระนางเจ้ารําไพฯ ไป เพราะงั้นเมื่อเชิญกลับเมืองไทยกับพระบรมอัฐิ พ่อก็ควรจะตามเสด็จกลับมาด้วย แต่พ่อไม่ยอม เพราะเกลียดเมืองไทยมากตอนนั้น ล้มเหลวที่คุณลุงปรีดีถูกทำร้ายอย่างไรเช่นนี้ และพ่อเองก็โดนเช่นเดียวกัน ท่านจึงไม่ยอมกลับเมืองไทย จนกระทั้งภายหลังท่านไม่มีเงินที่จะอยู่เมืองนอกต่อได้แล้ว ท่านจึงต้องกลับเมืองไทยแต่ก็กลับไปอยู่ต่างจังหวัด สวนเสมา ไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ อีกเลย

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

ท่านเคยมีพูดถึงจำกัด พลางกูร ตอนที่ไปพบที่เมืองจีนบ้างไหม

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัฒน :

พูด รักมากนับถือมาก แล้วก็เพราะการพบกันครั้งนั้น จึงทำให้รัฐบาลอังกฤษรับอาจารย์ปรีดีเป็นผู้แทนประเทศไทย เรื่องเสรีไทย เป็นการพบที่สำคัญที่สุด คุณก็ทราบดีแล้ว

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ :

จุดเปลี่ยนจริง ๆ ที่ท่านชิ้นไม่มีความแค้นเคืองกับอาจารย์ปรีดี เพราะท่านชิ้นตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงกบฏบวรเดช จนหลาย ๆ อย่างก็เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมีความขัดแย้งกับคณะราษฎรค่อนข้างสูง ท่านอโหสิกรรมได้อย่างไร

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัฒน :

อภัยอโหสิกรรมมาก เพราะท่านรู้ดีว่าอาจารนบ์ปรีดีเป็นคนดีอย่างไรบ้าง เพราะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ท่านเชื่อแน่นอนว่าคนนี้เป็นคนดีคนหนึ่งคนประเทศไทย ถึงแม้การเมืองจะอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม แต่ท่านก็ยอมรับว่า เป็นการนำเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาสู่ประเทศไทย

ตอนที่พบกันเป็นครั้งแรก สิ่งที่พ่อแอบเข้ามาเมืองไทยเป็นเสรีไทย พ่อก็เล่าให้ฟังว่า วันนั้นท่านบอกอาจารย์ปรีดีว่า

ผมเข้ามาไม่มีอาวุธติดตัวมาเลย อาจารย์ปรีดีอยากจะยิงทิ้งเดี๋ยวนี้ก็ได้

ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะครั้งหนึ่งอาจารย์ปรีดีอยู่ในคณะรัฐบาลไทยที่ต้องการตัวท่านชิ้นมาขึ้นศาลคดีกบฏ ตามที่มาเห็นหน้าครั้งแรกท่านก็ถือว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นอริศัตรูกัน อาจารย์ปรีดีก็บอกว่า

ลืมซะได้แล้วความหลัง เรามาเริ่มต้นกันใหม่ทำงานกันเพื่อประโยชน์แห่งชาติ

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ :

อยากจะถามเรื่องจุดเปลี่ยนก็ดูเหมือนหลังจากสงครามโลกทุกคนทุกชนชั้น ทุกหมู่เหล่าก็เหมือนจะสามัคคีกัน ไปในทิศทางที่ดี อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้แตกออกไปอีก

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน :

จุดเปลี่ยนคือกรณีสวรรคต เพราะตอนนั้นเมืองไทยกำลังจะดำเนินตามประชาธิปไตยอย่างดีที่สุด สำหรับความคิดป้าหน่อยเองตอนนี้หันหลังกลับ ตรงกันข้ามเลยทุกอย่าง เพราะว่าฝ่ายที่เป็นศัตรูจึงได้เอาเรื่องกรณีสวรรคตมาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงกันข้าม คือทำลายอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในประเทศไทยที่สำคัญที่สุด น่าเสียดายอย่างที่สุดที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หรือว่าเป็นชะตากรรมของบ้านเมืองเรา เมื่อไหร่จะจบสิ้นชะตากรรมอันนี้ป้าหน่อยก็ไม่รู้ ตอนนั้นทุกอย่างก็กำลังไปดีหมดรัชกาลที่ 8 ก็กำลังเสด็จก่อนกลับประเทศไปสวิตเซอร์แลนด์ อาจารย์ปรีดีเรียกพ่อมาให้เป็นองครักษ์พิเศษที่จะตามเสด็จไปทุกประเทศก่อนกลับสวิตเซอร์แลนด์ แต่แล้วทุกอย่าก็พังทลายเมื่อเกิดกรณีสวรรคต

 

รับชมคลิปโครงการ“ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องนายปรีดี” ได้ที่ :

 

ที่มา : การบันทึกคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่รู้จักนายปรีดี เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนายปรีดีในความทรงจำ และเกร็ดความรู้ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.30-16.30 น.