ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย กับวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิด

2
ตุลาคม
2564

กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ

ในขณะที่รัฐพยายามบอกประชาชนว่า “กฎหมายคือการคุ้มครองสิทธิ” แต่ความเป็นจริง คือ สิทธิมนุษยชน มีความหมายกว้างขวางกว่า “สิทธิ” ตามกฎหมาย (Human Rights Beyond Laws) นักกฎหมายโดยทั่วไปมักอธิบายว่า “สิทธิมนุษยชน” คือ สิทธิของพลเมืองที่กฎหมายรับรอง ซึ่งเป็นการตีความหลักกฎหมายในขอบเขตที่แคบ โดยจำกัดการตีความแค่สิทธิตามที่มีกฎหมายรับรองไว้ ดังนั้นจึงหมายความว่าหากกฎหมายไม่ได้เขียนรับรองไว้ก็ย่อมไม่มีการคุ้มครองสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิ

อันที่จริงมีสิทธิหลายประการที่ถือเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด และไม่มีผู้ใดจะพรากไปได้ เช่น กรณีผู้ยากไร้ที่ไม่มีอาหารเพียงพอแก่การยังชีพ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดของใครแต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐมีหน้าที่จัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นแก่การยังชีพให้เพียงพอกับการดำรงชีวิตของประชาชน และ จะต้องไม่มีใครตายเพราะความหิว รวมถึงเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติแต่วิญญูชนทุกคนต้องรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรง

การสูญหายของบุคคล คือ การสูญหายของความยุติธรรม

เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทย เริ่มมีการพูดในสาธารณะอย่างเปิดเผยและจริงจังเมื่อ 16 ปีที่ผ่านภายหลังการอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชน ‘สมชาย นีละไพจิตร’ โดยที่ก่อนหน้านี้ แม้มีการบันทึกกรณีการอุ้มหายบุคคลสำคัญหลายคนในแวดวงการเมือง แรงงาน หรือ การสูญหายของบุคคลหลายคนในช่วงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยกำลังอาวุธของรัฐบาลหลายสมัย แต่กลับไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการค้นหาตัว

การนำคดีขึ้นสู่ศาลการเปิดเผยความจริง และการลงโทษผู้กระทำผิด คดีสมชาย นีละไพจิตร จึงเป็นคดีคนหายรายแรกของประเทศไทยที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม แม้จะพ่ายแพ้ และเจ็บปวด แต่เรื่องของสมชาย กลับนำมาสู่การเปิดโปงกระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในการทำให้คนที่คิดต่าง หรือคนที่คิดว่าเป็นศัตรูต้องหายไป และโฉมหน้าของผู้กระทำผิดได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในช่วงเวลา 16 ปีเศษที่ผ่านมา ดิฉันมิได้ยืนโดดเดี่ยวโดยลำพัง หากแต่มีบุคคลและกลุ่มบุคคลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกัลยาณมิตรมากมายที่ยืนเคียงข้างตลอดเส้นทางของการแสวงหาความยุติธรรม แม้จะยากลำบาก แต่เวลาที่ผ่านมาทำให้ปัญหาคนหายในประเทศไทยไม่อาจถูกปิดบังได้อีกต่อไป

เราจึงได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการบังคับสูญหายโดยรัฐมากขึ้นทุกวันในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และรัฐบาลจะไม่สามารถปิดบังความจริงได้เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

จุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 16 ปีที่แล้ว ดิฉันเป็นเพียงหญิงสามัญที่ไม่มีใครรู้จัก การทำงานของดิฉันซ่อนอยู่ข้างหลังทนายนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่ทุ่มเทการทำหน้าที่ในฐานะทนายความเพื่อปกป้องความยุติธรรม ครอบครัวมักถูกจัดความสำคัญลำดับสองรองจากงานในชีวิตของเขาเสมอ แต่ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างไม่กลัวเพื่อปกป้องหลักกฎหมายและความยุติธรรม

การทำหน้าที่ของทนายความเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจจะทำให้ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนคนนั้นต้องถูกทำให้หายไปจากชีวิตของคนหลายๆ คนหลังสมชายหายไป บรรยากาศในบ้านเงียบเหงาและปกคลุมด้วยความกลัว คงยากที่จะอธิบายความรู้สึกในวันนั้น วันที่เพื่อนสนิทและญาติพี่น้องหลายคนต่างหายไปจากชีวิตเพียงเพราะความหวาดกลัว เหลือไว้แต่บ้านที่มีเพียงผู้หญิงและเด็กอยู่กันตามลำพัง วันที่ทำดิฉันต้องตั้งคำถามแก่ทุกคนว่าทำไม “การทำให้ใครสักคนหายไปทำให้เราหวาดกลัวได้มากขนาดนั้นเลยหรือ”

การหายไปของคนคนหนึ่ง ไม่ได้มีผลแต่กับตัวของเหยื่อ แต่มันทำให้ชีวิตของคนอีกหลายๆ คนเปลี่ยนไปด้วย ถ้าสมชายยังอยู่ เขาคงทำงานตามความเชื่อของเขาต่อไป ในขณะที่ดิฉันเองคงมีโอกาสได้ทำตามที่มุ่งมั่นตั้งใจใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีใครรู้จัก ทำงานเพื่อพอมีพอกินและพอแบ่งปัน และทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชีวิตไม่ไร้ค่า

เจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจคิดว่า “ปัญหาจะหายไป หากคนบางคนถูกทำให้หายไป” แต่การบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ได้เปลี่ยนเรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกและเหยื่อไม่ต้องหลบซ่อนตัวอย่างหวาดกลัวอีกต่อไป และเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปิดเผยกระบวนการอุ้มฆ่าโดยรัฐอย่างไม่มีใครปกปิดได้

ดิฉันเองไม่อาจละเลยที่จะยกย่องความกล้าหาญของผู้หญิงอีกหลายคนจากครอบครัวที่ถูกบังคับสูญหายซึ่งโดยมากพวกเธอคือหญิงสามัญที่ไม่มีใครรู้จัก ทำงานหนักเพื่ออยู่รอด แต่เธอกลับกล้าหาญที่จะพูดความจริง ในขณะที่รัฐพยายามปกปิดมัน

สำหรับครอบครัว การถูกอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความจริง” แม่ๆ หลายคนพูดว่า “เขาเอาลูกเราไปแบบมีชีวิตเราก็อยากได้ลูกคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี” เพราะความต้องการรู้ความจริง การต่อสู้ของผู้หญิงเหล่านี้จึงยังคงอยู่

ในขณะที่รัฐไม่เคยใส่ใจและให้ความสำคัญในความรู้สึกปวดร้าว ตรงกันข้ามรัฐกลับอ้างกฎหมายเพื่อปิดปากพวกเธอ พวกแม่ๆ และเมียต่างหวังที่จะเจอลูกๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต

ในการเริ่มต้นการต่อสู้กรณีการบังคับสูญหาย ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจจาก “กลุ่มแม่ และย่ายาย” จากอาร์เจนตินา[1] ซึ่งเป็นต้นแบบการต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะเหยื่อเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในการทำให้บุคคลในครอบครัวสูญหาย ดิฉันโชคดีที่มีโอกาสได้พบและสนทนากับผู้หญิงกลุ่มนี้ซึ่งเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ต่อครอบครัวคนหายทั่วโลก การต่อสู้ของพวกเธอเริ่มต้นภายหลังที่ลูกๆ หลานๆ ซึ่งเป็นนักศึกษา และเยาวชนถูกอุ้มหายในช่วงสงครามสกปรก (Dirty War) ในประเทศอาร์เจนตินา ในช่วงทศวรรษ 2500 ถึง 2510 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการ เกิดการรัฐประหารในประเทศอาร์เจนตินา มีการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม รวมถึงนักศึกษา และคนหนุ่มสาว คนที่สงสัยว่าจะใกล้ชิดกับฝ่ายซ้าย ซึ่งประมาณกันว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปีของการปราบปรามมีการอุ้มหายมากว่า 30,000 คน

 

ภาพ: บรรดาแม่ๆ ที่ลูกสูญหายต่างถือภาพลูกๆ ของเธอมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมที่จตุรัสเดอมาโย
ภาพ: บรรดาแม่ๆ ที่ลูกสูญหายต่างถือภาพลูกๆ ของเธอมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมที่จตุรัสเดอมาโย

 

เช้าวันหนึ่งซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี แม่คนหนึ่งได้มายืนที่จัตุรัสเดอมาโย (Plaza De Mayo) ในกรุงบัวโนส ไอเรส ซึ่งจัตุรัสดังกล่าวอยู่ตรงข้ามทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมกับภาพถ่ายลูกของเธอเพื่อร้องถามว่า “ลูกฉันอยู่ไหน” จากแม่คนเดียวต่อมาได้มีแม่อีกหลายคนตามมาสมทบที่จัตุรัสแห่งนี้

พวกเธอถูกเรียกว่า “หญิงบ้าแห่งจัตุรัสมาโย” หรือ Madres of plaza de Mayo แต่พวกเธอก็ไม่ย่อท้อ ยังคงมารวมตัวกันมากขึ้นทุกวันพฤหัส โดยมีผ้าโพกศีรษะสีขาวเป็นสัญลักษณ์ พวกแม่และยายเหล่านี้ พยายามร้องถามหาความจริงและความยุติธรรม โดยไม่ยอมให้การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาถูกลืมหรือได้รับการให้อภัยโดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

จากการเริ่มต้นของแม่คนเดียว กลายเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน และหมื่น จนมีประชาชนจำนวนนับแสนคนมาร่วมกับพวกเธอเพื่อร้องถามรัฐบาลของพวกเขาว่า “ลูกๆ ของพวกเราหายไปไหน” กลุ่มแม่ใช้เวลากว่าสามสิบปีที่พวกเธอได้ถือป้ายที่ทำเองด้วยมือซึ่งมีรูปขาว-ดำ เก่าคร่ำคร่าของลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา ผู้ซึ่งสูญหายแต่พวกเขาไม่เคยถูกลืม

 

จัตุรัสมาโย ในกรุงบัวโนสไอเรส ในปัจจุบัน (Plaza de Mayo)
จัตุรัสมาโย ในกรุงบัวโนสไอเรส ในปัจจุบัน (Plaza de Mayo)

 

คำว่า “หาย” มีต้นกำเนิดคำมาจากภาษาสเปน คือ “เดสแอปาเรชิโด” (desaparecido)[2] คำคำนี้ถูกประทับตราโดยทหารอาร์เจนตินาในการปฏิเสธการลักพาตัว การทรมาน หรือการฆาตกรรมพลเมืองนับพันคน โดยผู้บัญชาการกองทัพ “เดสแอปาเรซิโด (desaparecido)” จึงหมายถึงใครบางคนที่ “หายไปตลอดกาล” ผู้ซึ่ง “จุดหมายปลายทาง” เป็น “ปลาสนาการ” หรือพูดอย่างเป็นทางการ คือ desaparecido คือไม่เป็น ทั้งการมีชีวิตอยู่ หรือตาย ไม่อยู่ทั้งที่นี้หรือที่ไหน[3]

ผู้บังคับให้บุคคลสูญหายมักกล่าวอ้างว่า บุคคลนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีปรากฏ ไม่อยู่ในปัจจุบัน การทำให้คนหายไปจึงเป็นวิธีการในการหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ เพราะผู้กระทำเชื่อว่าญาติจะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้หากไม่พบศพของผู้สูญหาย เมื่อหาศพไม่พบ ก็ไม่มีการก่ออาชญากรรม และไม่มีใครต้องรับผิด

 

ที่มา: Amnesty International
ที่มา: Amnesty International

 

เดสแอปาเรซิโด (desaparecido) จึงเป็นที่มาของคำว่า “บังคับบุคคลสูญหาย” หรือภาษาอังกฤษ คือ enforced disappearance ซึ่งเป็นคำที่สหประชาติใช้ในการร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อยุติอาชญากรรมร้ายแรงนี้ในบรรดาอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

“อนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหาย” ถือเป็นอนุสัญญาที่ใช้เวลาร่างนานที่สุด แต่มีสมาชิกสหประชาชาติรับรองร่างจนมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับอื่นๆ

ตามนิยามของสหประชาชาติ “การบังคับสูญหาย”[4] หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

“การอุ้มฆ่า อุ้มหาย หรือ การบังคับสูญหาย” (enforced disappearance) จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดโดยรัฐที่เกิดขึ้นมายาวนาน ในหลายประเทศทั่วโลก การบังคับสูญหาย เป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้เป็นวิธีในการกำจัดคนที่เห็นต่าง เป็นเทคนิควิธีในการกำจัดศัตรูทางการเมืองและสร้างความสะพรึงกลัวต่อสังคมอย่างเป็นระบบ[5]

ตามกฎหมายสากลเมื่อการบังคับสูญหายได้กระทำอย่างเป็นระบบหรือกระทำอย่างกว้างขวางโดยนโยบายของรัฐที่กระทำต่อประชาชน ไม่ใช่การอุ้มหายเพียง 1-2 กรณี การกระทำดังกล่าวจะถูกยกระดับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ crime against humanity ซึ่งจะไม่มีอายุความเพราะถือเป็นหลักการของธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ที่กำหนดว่าความผิดที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจะไม่มีอายุความ และเมื่อเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติแล้วจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC)

 

ที่มา: อังคณา นีละไพจิตร. สิทธิมนุษยชนที่สูญหาย การไม่มีอยู่ และวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ, ปาฐกถา 14 ตุลาคม 2543. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2563)

 


[1] http://prachatai.com/journal/2012/04/40087

[2] Tyrell Hraberkorn, In the Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand, The University of Wisconsin Press, 2018.

[3] Marguerite Feitlowitz, A Lexicon of Terror: Argentina and the Legacies of Torture (Oxford University Press, 1998),57.

[4] http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/International_HR/2557/CED.pdf

[5] การใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ (systematically violence) ถูกนำมาใช้บรรยายลักษณะของอาชญากรรมที่ร้ายแรงประเภทต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอาชญากรรมที่จะถูกเรียกว่าเป็น ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ มีองค์ประกอบดังนี้ (1) เป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อเหยื่อจำนวนมากในคราวเดียวกัน ทั้งนี้จะกินอาณาบริเวณกว้างขวางหรือเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ได้ (2) เป็นการกระทำตามคำสั่งหรือนโยบายของรัฐใดรัฐหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยทั่วไปอาชญากรรมลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” อาทิเช่น การสังหารหมู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ประมวลศัพท์สิทธิมนุษยชน