6 ตุลา 2519 ตัวอย่างบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
วันนี้เป็นวันที่เรามาร่วมรำลึกในเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง ซึ่งเราก็หวังตลอดเวลาว่า การใช้ความรุนแรงนี้ เมื่อไหร่จะหยุดลงเสียที หัวข้อที่ผมได้รับมอบหมายให้มาพูดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในวันนี้คือ 6 ตุลา 2519 ที่เป็นเหตุการณ์ “การล้อมปราบนักศึกษา ประชาชน อย่างบ้าคลั่ง”
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สถานการณ์ต่อเนื่องมาจาก 14 ตุลาคม 2516 ห่างกันเป็นเวลา 3 ปี สถานที่ในขณะนั้นคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินตรงข้ามสนามมวย และหลังจากเหตุการณ์วันนั้นจนมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลานี้ ผมคิดว่าเรายังไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจัง
เหตุการณ์เกิดขึ้นมา 45 ปี เรายังไม่ทำประวัติศาสตร์ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องนี้ไว้ ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และ 14 ตุลา 2516 หลายคนมีความลืมเลือนทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสูญเสียครั้งสำคัญ
เราต้องยอมรับว่าในขณะนั้นเชื่อว่ามีกลอุบายบางอย่างในการเกิด 6 ตุลา ที่นำบุคคลที่ลี้ภัยไปในช่วงปี 2516 คือ ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ และ ‘จอมพล ประภาส จารุเสถียร’ กลับเข้ามาเมืองไทย ทั้งที่รู้ว่ากลับเข้ามาจะเป็นเหตุให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ แต่ก็มีกระบวนการที่สื่อประกาศและสร้างความขัดแย้ง คือ บอกตำรวจ ทหารทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ว่าทุกคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจอมพลถนอม และ จอมพลประภาสที่จะกลับเข้ามานั้นคือ คอมมิวนิสต์ และรังใหญ่ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถมมีญวน เข้ามาสมทบ มีอุโมงค์ลับ มีอาวุธ จึงได้ไปปลุกเร้าทหาร ตำรวจ แม้กระทั่งนักเรียนในโรงเรียนเหล่าทัพทหารอย่าง โรงเรียนนายร้อยจปร. ที่ผมพูดข้างต้นก็มีความรู้สึกอยากจะไปสังหารญวน
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นรังใหญ่กลายเป็นศัตรูของชาติ วิทยุยานเกราะของทหาร ก็ถือว่าที่นี่เป็นเป้าหมาย เป็นศัตรู ยกประชาชนเสรีชนเป็นศัตรู แต่ทุกวันนี้เราไม่เขียนประวัติศาสตร์ ก็จะมีคำถามว่า คนที่บงการให้มีการฆ่าคนจำนวนมาก เขาทำอะไรอยู่? เขายังอยู่ดีอยู่ไหม? สร้างความแตกแยกให้กับสังคม สร้างความเกลียดชัง แล้วเขายังอยู่หรือไม่? เรายังไม่มีเครื่องมือที่เอื้อมไปถึง และที่สำคัญก็อยากจะฝากถามว่า อุโมงค์และอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหรือไม่? การสังหารคนจำนวนมาก เราถูกปล่อยให้ลืมไปจนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นสิ่งที่เจ็บปวดของประชาชนที่ต้องการมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ไม่เคยนำมาเป็นบทเรียนที่ต้องไม่ซ้ำรุ่นต่อๆ ไป เพราะ “คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต แต่จะฉลาดกว่าถ้าเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น” ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ผมคิดว่าประเทศชาติที่เจริญแล้ว เขาเอาบาดแผลและเอาเรื่องในอดีตมาเป็นบทเรียน ประวัติศาสตร์ คือ บทเรียนที่สำคัญ ปัจจุบันและอนาคต คือ ความรับผิดชอบ เราจะต้องมีความรับผิดชอบมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่ที่ไหนได้ เราเอาประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียนเพื่อจะเข่นฆ่ากันว่าครั้งนั้นใครพลาด ครั้งนั้นรัฐพลาดอย่างไร? แล้วเอาความผิดพลาดมาพัฒนายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีเพื่อใช้ความรุนแรงยิ่งขึ้นเพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งก็นำมาพัฒนาจนเกิดเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535 เหตุการณ์สังหารคนในเมืองหลวง 99 ศพ เมื่อปี 2553 และวันนี้มาสู่การรัฐประหารปี 2557 และคดีต่างๆ ก็ถูกเป่าทิ้งเกลี้ยงไปทั้งหมดเพราะยังอยู่ในอำนาจ สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่อยากจะเรียนว่า มันอาจจะไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพราะกฎหมายเรามีเขียนไว้ดีอยู่แล้ว ปัญหาคือ การต้องการอำนาจ ต้องการตำแหน่ง ต้องการผลประโยชน์ ต้องการจะสืบทอดอำนาจ
การปฏิรูปตำรวจที่ไม่ปฏิรูป ?
“การปฏิรูปตำรวจ” นั้น ต้องเรียนอย่างหนึ่งว่า ตำรวจเรามีมานานแล้วตั้งแต่หลังปี 2475 มา เขาเรียกว่า “ตำรวจยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ในยุคต้นๆ นั้น ตำรวจเราถูกทหารเอามาเป็นผู้นำ ถ้าย้อนไปดูประวัติคือ ‘พันตรีหลวงอดุลยเดชจรัส’ ที่ถูกโอนจากพันตรีภายหลังมาเป็นพลเอก ต่อมาไปปราบ “กบฏนายสิบ” ที่กลุ่มนายสิบนำโดย ‘ส.อ.สวัสดิ์ มะหะหมัด’ กับพวกรวม 13 นาย วางแผนลอบสังหาร ‘หลวงพิบูลสงคราม’ ซึ่งศาลตัดสินประหารชีวิตภายหลัง
แต่เมื่อมาถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของประเทศอย่างแท้จริง คือ การรัฐประหารเมื่อปี 2490 ที่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม, พลโท ผิน ชุณหะวัณ และ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ทำการยึดอำนาจ จากนั้นมา วังวนในการยึดอำนาจรัฐประหารเกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทย ตำรวจได้กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ อย่างเหตุการณ์สำคัญวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้ปราบ “กบฏวังหลวง” จัดการ ‘ท่านปรีดี พนมยงค์’ และฝ่ายประชาธิปไตยถูกสร้างเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจเป็นภัยของความมั่นคง โดยจัดการนักการเมืองอย่างรุนแรงเด็ดขาด อย่าง นายทองเปลว ชลภูมิ, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกสังหารในท้องที่บางเขน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2492 จนในปีพ.ศ. 2494 ย้าย ‘หลวงชาติตระการโกศล’ เป็นอธิบดีกรมศุลกากร และพล.ต.อ.เผ่า เป็นอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมกับคำขวัญที่ว่า “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”
เหตุการณ์สังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองยังมีต่อเนื่อง แม้แต่ภาคใต้ ท่านหะยีสุหรง พร้อมบุตรชายคนโตและเพื่อนรวม 4 คน บังคับให้สูญหายที่ทะเลสาบสงขลา เมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เป็นต้น
กรมตำรวจได้แปลงสภาพเป็นกองทัพตำรวจที่ท้าทายกองทัพบก ซึ่งมี พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ ต่อมาได้ทำการยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2500 จากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นที่อยู่ในฐานะ “ขี่หลังเสือ 2 ตัว” ในช่วงแรก พล.ต.อ.ไสว ไสวแสนยากร เป็นอธิบดีกรมตำรวจอยู่ไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ (28 มกราคม 2502) จนถึงอสัญกรรม
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้พัฒนาตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชนอย่างยุคก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะในยุคนั้น ปรัชญาถูกนำมาจากต่างประเทศอย่างในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และ 5 ว่า “ตำรวจ คือ ประชาชน ประชาชน คือตำรวจ” แต่ตอนนี้ตำรวจคือกองทัพ ตำรวจจึงเป็นวิวัฒนาการเกิดขึ้นมาจนเมื่อ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้เข้ารักษาการอธิบดีกรมตำรวจ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2515 - 14 ตุลาคม 2516 ที่มีเหตุการณ์สำคัญ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิต นักศึกษาและประชาชน จนเกิดการนองเลือดในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลประภาส ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
สิ่งที่ตำรวจต้องอับอายที่สุด ในฐานะผมก็เคยสวมเครื่องแบบตำรวจนั้น คือ เป็นอาชีพที่ถูกทำลายมากโดยเผด็จการ หากย้อนดูหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ 17 ตุลาคม 2516 ได้ระบุว่า คืนวันที่ 16 ตุลาคม ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้แถลงการณ์ทางโทรทัศน์ความว่า
“1. ต่อไปนี้หากผู้ใดมีเรื่องจะแจ้งความกับตำรวจให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง จะแจ้งความทางโทรศัพท์ไม่ได้ หากไม่มีตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจก็ให้แจ้งความแก่นิสิตนักศึกษา
2. ในการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น จะต้องมีนักศึกษากำกับไปด้วย
3. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้อาวุธนั้น นิสิตนักศึกษาต้องยินยอมเสียก่อนจึงจะใช้ได้”
ทำให้เห็นว่าอาชีพตำรวจไม่เป็นที่ไว้ใจ ประชาชนไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรง เหตุการณ์ภายหลังจาก จอมพลถนอม จอมพลประภาส ลี้ภัยไปต่างประเทศ อธิบดีกรมตำรวจคนต่อมา คือ พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ก็ได้โอนมาจากทหาร และคนต่อมา คือ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีการรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดการนองเลือดแต่ก็มีจิตใจไม่ดีที่จะใช้ช่วงจังหวะนี้ชิงอำนาจกลับมาเพื่อจะล้อมปราบประชาชน
เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงมีมาตลอดในสังคมไทย รัฐมองเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคง ประชาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์ต่อตำแหน่งอำนาจ ของผู้มีอำนาจ สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐจึงต้องใช้ตำรวจซึ่งถูกพัฒนาเป็นกองทัพตำรวจไปแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดโครงสร้างของตำรวจเป็นกองทัพ ทุกวันนี้ตำรวจยังซื้อเครื่องบินเลย
ปัญหาที่ตามมาคือ เราหวังว่าจะใช้กฎหมายในการปฏิรูปตำรวจ แต่ท่านลองดูกฎหมายที่รัฐบาลร่างมาคือ ตำรวจของประชาชนที่จะเป็นตำรวจของประชาชน จะต้องเป็นตำรวจประชาธิปไตย ความมั่นคงของประชาชน คือ ความมั่นคงที่ประชาชนสามารถใช้สติปัญญาโดยเสรีภาพ และใช้สติปัญญาในศักยภาพของสติปัญญาได้อย่างเสรี เมื่อสติปัญญารวมๆ กันที่เห็นร่วมกันของปวงชน สิ่งนั้นคือประชาธิปไตย
แต่วันนี้การกำหนดนิยามคำว่าความมั่นคงกลับเป็นความมั่นคงของผู้มีอำนาจ พยายามอ้างความเป็นรัฐชาติ ทั้งที่คำว่าชาติควรจะหมายถึงราษฎร พลเมืองของประเทศ ดังนั้น เมื่อตำรวจกลายเป็นกองทัพ เมื่อจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ ก็กลายเป็นว่าให้คนที่สืบทอดเผด็จการ คนฝักใฝ่การสืบทอดอำนาจ คือคนเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ซึ่งเมื่อผ่านร่างมาแล้วเราก็พยายามตรวจสอบแล้วว่า “ประชาชนได้ประโยชน์อะไร?”
โครงสร้างปัจจุบันได้พัฒนาตำรวจให้กลายเป็นทหาร และเป็นทหารสายผู้บังคับบัญชาสูงมาก ทั้งที่ งานตำรวจและทหารต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างที่ผมเคยศึกษา งานของตำรวจนั้นใช้วิจารณญาณ ใช้การปฏิบัติตามลำพัง อย่างเมื่อเจอผู้ต้องสงสัย เจอเหตุการณ์ต่างๆ เขาก็ใช้วิจารณญาณว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่โดยตรงข้าม ทหารจะสั่งการกองทัพ ใช้กำลัง และอย่างที่สองนี้ ตำรวจจะต้องริเริ่มจากสายสืบ สายตรวจ หรือตำรวจจราจร แล้วค่อยรายงานมาตามลำดับชั้น มิใช่ริเริ่มจากข้างบนลงมา และที่สำคัญตำรวจต้องติดตามสัมพันธ์กับประชาชน 24 ชั่วโมง/ 1 วัน 7 วัน/ 1 สัปดาห์ แม้จะออกเวรแล้วก็ต้องสัมพันธ์กับประชาชน แต่วันนี้เราจัดโครงสร้างตำรวจใหม่กลายเป็นกองทัพตำรวจ
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ปัญหาหลักวันนี้ที่อยากจะกราบเรียน คือ ผมอยากให้เราจดจำตั้งวันที่ 6 ตุลา ที่พี่น้องเราต้องเสียเลือดเนื้อ เสรีชนที่เดินทางมาต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ต้องการเรียกร้องความเสมอภาค ยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องในอนาคตที่ดี ผมคิดว่าเมื่อตำรวจจะปฏิรูปทั้งที
เมื่อพ.ร.บ.นี้ออกมาในสมัยประชุม ถ้าไม่มียุบสภาเสียก่อน ก็จะออกมาไม่ต่างอะไรกับพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งก็พอใช้ได้ แต่ปัจจุบันได้ถูกแก้ไขเนื้อหาโดยประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมกันจำนวน 7 ฉบับ โดยเฉพาะมาตรา 44 ทำให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ถูกทำลาย และรวมอำนาจ แต่งตั้งคนของตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มคนอาวุโสสุดท้ายเสียหมด ซึ่งกลุ่มคนที่เติบโตมาด้วยสติปัญญาความรู้ ประสบการณ์นั้น ท่านไม่ไว้ใจ กฎหมายไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่ป้องกันการใช้ความรุนแรงจากตำรวจได้เลย ซึ่งในหลักการจัดทำกฎหมายจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ
1. สภาพภายนอกองค์กรตำรวจ หรือวัฒนธรรมย่อยตำรวจ ได้แก่ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมาย ผมในฐานะกรรมาธิการเอง ทุกคนถามเสมอว่า “มาตรานี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไร?” หรือตำรวจได้ประโยชน์กันเอง ทุกวันนี้งบประมาณตำรวจก็เป็นแสนล้านจากภาษีอากรของประชาชน
อย่างที่ผมได้เรียนไปว่าเมื่อ 17 ตุลาคม 2516 ก็จะคล้ายๆ ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษาเมื่อเขาขับไล่ผู้นำไปได้ แต่ก็ยังเรียกร้องประเด็นทางตำรวจเช่นกัน วันนี้เราก็เห็นว่าตำรวจนั้นใช้กฎหมายพระราชกำหนดใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมการเรียกร้องในประชาธิปไตยอันเป็นทางตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนการหรือตัวแทนที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องแรกที่หากผ่านไปก็ต้องพยายามสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนในเรื่องสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม กระบวนการยุติธรรมอื่นๆ และปัญหาความต้องการในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไม่มีการกล่าวถึงเลย
2. สภาพภายในองค์กรตำรวจ โครงสร้างองค์กรตำรวจตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอ มีข้อสังเกตความไม่เหมาะสม คือ การจะเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ เดิมถูกกำหนดขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะผ่านส่วนสมาชิกวุฒิสภาไหม ประการที่สอง คือ อิทธิพล อำนาจต่างๆ ที่ครอบงำนั้นเป็นเผด็จการ
ผมคิดว่าเราถึงเวลาที่จะต้องกระจายอำนาจตำรวจไปอยู่ในจังหวัดและชุมชนให้มีอำนาจส่วนเล็กๆ วันนี้เรามีตำรวจส่วนกลาง กองบัญชาการมากมาย ทั้งที่งานตำรวจนั้นจบที่สถานีตำรวจ ไม่มีงานอะไรอื่นๆ หรือหากจะมากไปกว่านั้นก็มีกองบังคับการอยู่ อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้บัญชาการ กองบัญชาการต่างๆ
หัวใจสำคัญคือตำรวจจำนวน 70-80% คือ ตำรวจที่เป็นกระดูกสันหลังอย่างตำรวจสายตรวจ ตำรวจที่เป็นสายเลือดของตำรวจ คือ ตำรวจสืบสวน ตำรวจจราจรที่บริการประชาชน คนกลุ่มนี้ไม่ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปเลย วันนี้เราก็พยายามอยากจะเรียกร้อง ที่ผ่านมานอกจากคนเหล่านี้อย่างเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่เขาจะต้องเติบโตและให้ความยุติธรรมกับคน ก็ไปทุบสายทิ้ง และพอไปแต่งตั้งก็เหมือนทำลายองค์กรตำรวจไป ทั้งที่ผมเชื่อมั่นว่าการเป็นข้าราชการตำรวจนั้น ทุกคนก็มีเจตนาดี เพราะฉะนั้นเราก็น่าจะถึงเวลาที่จะมาจัดระเบียบกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะมาจัดระเบียบตำรวจกันเสียที
ที่สำคัญต่อมา คือ ภาวะความเป็นผู้นำตำรวจ ซึ่งก็เกิดมาจากการแต่งตั้ง จึงเป็นเรื่องของบุญคุณก็ต้องทดแทน บุญคุณกับความถูกต้อง หรือ ผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม การขึ้นตำแหน่งของตำรวจและสารวัตร เดี๋ยวนี้ก็มักมีการวิ่งเต้นกันหมด ระบบมันก็แย่ เห็นได้จากข่าวมากมาย จุดนี้ก็ทำให้เป็นตำรวจของประชาชนได้ยาก ซึ่งจดหมายฉบับนี้ก็คงไม่ทัน
ถ้าท่านดูดีๆ ในกฎหมายฉบับนี้เราพูดถึงเรื่อง “ตั๋วช้าง” ก็ยังมีมาตรา 80 วรรคสุดท้ายที่เขียนว่า “ในกรณีจำเป็น เพื่อผลประโยชน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจจะมีมติเสียงเป็นเอกฉันท์เพื่อแต่งตั้งบุคคลใดๆ ดำรงตำแหน่งตำรวจแตกต่างจากหลักเกณฑ์และวิธีการได้” คณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ท่านมีชัย หรือท่านนายกฯ ส่งมานี้ เป็นคณะฯ ที่อยู่ในอาณัติของนายกฯ หมด ถึงอย่างนี้ก็ต้องยอมรับว่าคนที่สั่งสมประสบการณ์มา เช่น เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน เขามีวิชาชีพของเขา ซึ่งต่างกับอาชีพ เพราะมันต้องมีศีลธรรม จรรยาบรรณ ต้องมีวัฒนธรรมที่เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล ดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต นี่คือวิชาชีพ คุณถูกทำลายด้วยระบบแต่งตั้งที่ต้องหาผลประโยชน์ เสียเงินเสียทอง อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ
อีกประการหนึ่ง คือ “พระราชบัญญัติทรมาน” ประเด็นที่ผมอยากจะฝากให้การปฏิรูปไว้ว่า ประเด็นแรก ไม่ใช่เพียงตำรวจมองประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ยังมองสิทธิมนุษยชนเป็นภัยต่อความมั่นคง มองประชาธิปไตยเป็นภัยต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับ 6 ตุลา
ประเด็นที่สอง คือ การไม่เอาจริงเอาจังกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกฎหมาย หรือมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพราะคนที่เป็นผู้นำจำนวนมากก็ไม่เอาจริงเอาจัง ต้องขอประทานโทษ แต่ด้วยความเคารพ เราจะเห็นคดีมากมาย เช่น เรื่องนาฬิกา มันชัดเจน ซึ่งพอเรามีตัวแบบจากผู้นำทำนองว่า คุณจงทำในสิ่งที่ฉันพูด แต่ฉันไม่เคยทำในสิ่งที่ฉันพูด แบบนี้จึงเป็นเรื่องลำบากครับ
ประเด็นที่สาม ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ที่พี่อังคณาอาจช่วยขยายคือ ตำรวจเรามีการจับกุมคุมขังเพื่อเจตนาคือมุ่งไปสู่ความยุติธรรม ไม่ให้มีการหลบหนี ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน แต่วันนี้เรามีการจับกุมคุมขังเพื่อมุ่งไปสู่การขยายผลในการสืบสวนด้วยพ.ร.บ.ทรมานต่างๆ ที่สำคัญคือมุ่งไปเพื่อขจัดไม่ให้มาเรียกร้องสิ่งที่จะกระทบกระเทือนสิ่งที่ผู้มีอำนาจจะสืบทอด คือคุณไปใช้ตำรวจทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะผมเองก็เคยตำหนิท่านนายกรัฐมนตรีในสภา ที่ท่านคุมตำรวจ ท่านมีคดีความผิดอันยอมความได้คือคดีหมิ่นประมาท ท่านไม่ควรจะไปใช้บริการตำรวจ เพราะถ้าให้เขาดำเนินการ เขาก็จับทุกคนถึงผิดไม่ผิด เพราะเขากลัวท่าน ถ้าท่านจำเป็นต้องใช้ ท่านก็ไปฟ้องศาลในกระบวนการยุติธรรมสิครับ เพราะคดีพวกนี้ คนเหล่านี้ต้องไปพิมพ์มือ ต้องไปประกันตัว แต่ท่านเหมือนใช้กฎหมายปิดปาก
ประเด็นที่สี่ ที่อยากจะฝากไว้ก็คือ ความล่าช้าและแรงจูงใจ หากใครเป็นคนยากจน คนยากไร้ ไม่มีปากเสียงก็จะถูกบังคับด้วยกฎหมายเต็มที่ รวดเร็ว แต่คนที่มีฐานะร่ำรวย ตำแหน่งสูงจะล่าช้า หรือบางทีมาสถานีตำรวจถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็จะเข้าห้องขังเลย แต่ถ้าเป็นคนกลุ่มนี้น่าจะนั่งรออยู่ด้านหน้าหรือที่รับรองที่ปลอดภัย
ท้ายที่สุดที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การเห็นประโยชน์ การเห็นว่าบุญคุณ การเห็นแก่พรรคพวกของผู้มีอำนาจต้องลดลงให้ได้ ต้องทำยังไงให้พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ที่เราทำแค่โครงสร้าง แค่การแต่งตั้ง แต่เรายังไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมคือประชาชน ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพวกเขา ความยุติธรรมก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ความยุติธรรมที่จะให้เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าการแก้เพียงกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ตั้งกฎหมายฝักใฝ่ต่อการรัฐประหาร เพราะเขาถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรัฐประหารและยิ่งพอมีเรื่องอะไรก็คิดว่าจะไปสร้าง ‘รัฐซ้อนรัฐ’ เพราะว่าไม่ไว้ใจองค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น จะตรวจสอบตำรวจก็ไปสร้างในกฎหมาย ทำไมมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่แล้ว ไม่ทุ่มงบประมาณไว้ให้ป.ป.ช. ดำเนินการ ทำไมมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อยู่แล้ว มีศาลทุจริตคอรัปชั่นอยู่แล้วแล้วไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ตรงนั้นแทน ต้องให้องค์กรที่อยู่ในองค์กรเดียวกันมาตรวจสอบกันอย่างนั้นหรือ เป็นต้น
ผมอยากจะฝากว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นเหตุการณ์ที่จัดเอาบทเรียนมาใช้พัฒนาเพื่อสกัดประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ครบรอบ 10 ปี ภาคใต้ ก็ยังใช้เหตุการณ์นี้ อยากจะกลับเรียนทุกท่านว่าผมเองไม่ได้ตำหนิใครเพราะทุกคนก็ถูกพัฒนามา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความยากลำบากประเทศไทย และรวมถึงข้าราชการที่ผมประสบมา คือ การตัดสินใจใช้สันติวิธี การตัดสินใจแก้ปัญหาโดยสันติภาพ มันมีความยากกว่าการตัดสินใจโดยใช้อาวุธในมุมมองของรัฐ
เราถูกบอกว่าเราเป็นคนอ่อนแอ วันนี้เรามีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในภาคใต้เป็นหมื่นๆ พอตัดสินใจที่จะมาพูดคุยเรื่องสันติภาพกลับถูกกดดันมาก ทั้งที่ทุกคนเป็นพลเมืองของประเทศ เขาก็ต้องมีสิทธิ์เป็นเจ้าของประเทศ เขาต้องมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกได้
วันนี้ได้ขยายตัวมาในกรุงเทพฯ และขยายตัวไปทุกแห่ง ใครก็ตามที่ออกมาต่อสู้ ผมก็ขอให้กำลังใจ อย่างน้อยที่สุด วีรชนที่เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลา 19 วีรชนที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่เขาเดินมาอย่างไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย เขาแค่ต้องการอนาคตที่ดี ผมอยากให้มีเรื่องเหล่านี้ในการเรียนการสอน และไม่ปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลที่เราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ความผิดเรื่องการทรมานถูกนำมารับโทษ
หากมองย้อนกลับไปไกลอีก ให้ย้อนไปถึงการกระทำที่มาฆ่าประชาชนกลางเมืองหลวงหรือทุกแห่ง ถ้าเราสามารถหยุดยั้งการนิรโทษกรรมคนที่กระทำผิดสังหาร และสามารถใช้กฎหมายสำหรับผู้กระทำผิดได้ ก็จะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก แม้ดูว่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หลายคนก็น่าจะตั้งข้อสังเกตเหมือนผม แต่ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือความคิดของผู้นำ ถ้าท่านยังไม่ไว้ใจประชาชน และมองว่าผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามนั้นก็ยากที่จะแก้ปัญหา
ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ และ ความคืบหน้า พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564
- ทวี สอดส่อง
- PRIDI Talks 13
- 6 ตุลา 2519
- การใช้ความรุนแรงของภาครัฐ
- จอมพล ถนอม กิตติขจร
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- การปฏิรูปตำรวจ
- จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
- พลโทผิน ชุณหะวัณ
- พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
- ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้
- ทองเปลว ชลภูมิ
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- หะยีสุหลง
- จอมพล ประภาส จารุเสถียร
- ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
- ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
- ตั๋วช้าง