ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงของพระบรมวงศานุวงศ์ หลังเหตุการณ์ “ขบถบวรเดช”

18
ตุลาคม
2564

เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ฐานะของพระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่ยกย่องเทิดทูนอย่างสูงส่ง เนื่องจากท่านเหล่านั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขในราชตระกูลผู้ซึ่งเคยปกป้องแผ่นดินไทยมาในบางยุคบางสมัย บุญคุณอันนั้นจึงมีให้คนไทยสำนึกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ท่านเหล่านั้นทรงเป็นอภิสิทธิ์ชนโดยกำเนิด หากทรงกระทำผิดกฎหมายอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องขึ้นศาลธรรมดาแต่ทรงขึ้นศาลของกระทรวงวัง แม้ว่าจะมีความผิดอย่างฉกรรจ์ก็เพียงแต่กักบริเวณ และเอาโซ่ตรวนใส่พานวางไว้หน้าห้องเท่านั้นเอง

แม้ในการปกครองบ้านเมืองก็ทรงกระทำการไปตามลำพังโดยไม่ฟังเสียงของราษฎรผู้เป็นขี้ข้าและไพร่ (ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน) ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าก็อยู่ในมือของพวกเจ้าเท่านั้น ดังคำประกาศของคณะราษฎรในวันปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ตอนหนึ่งว่า

“ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชาการ ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขฟื้นขึ้นได้….”

“รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาษ เรียกว่า ไพร่บ้าง ข้าบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการ หรือภาษีใด ถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็จะยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้….”

นั่นคือประกาศของคณะราษฎรที่ประกาศให้ประชาชนทราบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยนั้นที่ราษฎรจะต้องเสียภาษีเพื่อให้พวกเจ้ามีเงินปีใช้สอยกันอย่างฟุ่มเฟือย แต่ละพระองค์นอกจากมีพระราชทรัพย์จาก “เงินปี” แล้วยังมีมรดกอันเป็นที่ดินอย่างมากมายมหาศาล บางพระองค์ถึงกับต้องมีสำนักงานจัดผลประโยชน์ เช่น สำนักงานจัดผลประโยชน์บริพัตร, สำนักงานจัดผลประโยชน์รังสิต เป็นต้น แต่ละพระองค์มีที่ดินที่นาเป็นพันไร่หมื่นไร่ มีความเป็นอยู่อย่างที่เรียกกันว่า “อยู่อย่างราชา” แตกต่างจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไป

แม้ว่าต่อมาได้มีราษฎรสามัญได้มีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนที่ต่างประเทศ พวกเจ้าก็ยังไปแสดงความเป็นอภิสิทธิ์ชน หรือความไม่เสมอภาคกันอีกดังบันทึกของคนร่วมสมัย เช่น ‘ม.ล.มานิจ ชุมสาย’ ได้เขียนไว้ในหนังสืออัตตชีวประวัติชื่อ ‘ปาร์ ลุย แมม’ ดังความตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระบบชนชั้นในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อสมัยที่ท่านไปเรียนที่ประเทศอังกฤษว่า

“การสมาคมกับนักเรียนไทยในสมัยนั้น ผิดกับเดี๋ยวนี้มาก มีการแบ่งชั้นวรรณะลูกเจ้าหลานใคร นักเรียนไทยขณะนั้นมีประมาณเพียง ๒๐๐ เศษๆ ทุนเล่าเรียนมีน้อย นอกจากทุนเล่าเรียนหลวง ก็ทุนของกรมรถไฟ และต่อมาก็มีทุนของกระทรวงศึกษาธิการมีทั้งหมดไม่กี่คน จัดอยู่ในประเภทคนชั้นต่ำ เพราะนอกนั้นเขาเป็นแต่ลูกเจ้า ลูกขุนนางใหญ่ๆ โตๆ ทั้งสิ้น

การคบหาสมาคมกับนักเรียนไทยด้วยกันจึงต้องระวัง เพราะพ่อของเขามีอำนาจมากและเขาถือตัวกันมาก ใช้จ่ายกันอย่างฟุ้งเฟ้อเพราะพ่อแม่มีสตางค์ ส่งเงินไปให้ เจ้าขณะนั้นมีหลายองค์ด้วยกันบางองค์ข้าพเจ้ารู้จักดี เพราะบังเอิญข้าพเจ้าก็ได้ไปเรียนร่วมสำนักเจ้า เลยคุ้นเคยกัน แต่ก็อย่างถือๆ ตัวตามเคย

บางคนถามข้าพเจ้าดื้อๆ ว่า พ่อเป็นเจ้าพระยาอะไร กระทรวงไหน พอทราบว่าไม่ใช่ลูกเจ้าพระยาก็เบือน เวลานั้นล้วนแต่พ่อเป็นใหญ่เป็นโตกันทั้งนั้น ข้าพเจ้าจึงมีแต่เพื่อนที่ถือว่าเป็นคนชั้นไพร่ด้วยกัน แต่ลูกเจ้านายก็หนีไม่พ้นอยู่ดี เพราะโรงเรียนที่ข้าพเจ้าไปอยู่ที่วินเซอร์นี้ มีลูกเจ้าพระยาอยู่คนหนึ่งชื่อ นายมาลา เวลาเมื่อไปเรียนด้วยกันก็คบกันได้ แต่การแบ่งชั้นวรรณะก็ต้องมีอยู่เพราะเป็นสมัยเจ้านาย...ฯลฯ…”[1]

“ในบรรดาพวกเจ้าก็ยังมีสองชั้นอีก คือ เจ้าชั้นพระองค์เจ้า และ เจ้าชั้นหม่อมเจ้า พวกพระองค์เจ้าถือว่าเป็นคนละชั้นไม่ลงมาคลุกคลีด้วย ถือตัวอยู่ต่างหาก ไปคบได้แต่ฝรั่งเพราะไม่เสียเกียรติ ส่วนพวกหม่อมเจ้า เมื่อพวกพระองค์เจ้าเขาไม่คบก็เลยต้องมาคบกับไพร่เช่นข้าพเจ้า”[2]

เมื่อ ‘ท่านปรีดี พนมยงค์’ และคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว การแบ่งชั้นวรรณะและการทนงตัวของพวกศักดินาก็ลดลงมาตามลำดับ การทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนเริ่มจะน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้เป็นเพราะระบอบการปกครองชนิดใหม่ และกฎหมายใหม่ที่บัญญัติให้พวกเจ้าต้องมาขึ้นศาลเหมือนกับราษฎรสามัญ

(เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ‘นายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร’ อดีตเสนาบดี กระทรวงกลาโหมไม่พอพระทัยในการบริหารบ้านเมืองของคณะราษฎรจึงได้ร่วมกับขุนนางเก่าหลายท่านได้จัดทัพและยกมาจากนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เพื่อปราบปรามคณะราษฎร แต่เนื่องจากมีอาวุธล้าสมัยกว่ากองกำลังผสมของรัฐบาล ในที่สุดก็พ่ายแพ้ไป

องค์แม่ทัพและนายทหารของพระองค์ได้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศเวียดนามและเขมรถึง ๑๖ ปี การรบพุ่งระหว่างคนไทยต่อคนไทยด้วยกันในครั้งนั้นทำให้มีผู้คนล้มตายและทรัพย์สินเสียหายไม่ใช่น้อย เสร็จจากปราบกบฏแล้ว ทางรัฐบาลมีการปูนบำเหน็จความชอบให้แก่ทหารผู้ปราบกบฏอย่างมาก ‘หลวงพิบูลสงคราม’ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก มีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชื่อ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” มอบให้แก่กัน มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏไว้ที่บางเขน ในระหว่างเกิดการสู้รบกันนั้นรัฐบาลในกรุงเทพฯ ได้อ้างทุกคำพูดว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”[3]

หลังจากปราบกบฏเสร็จแล้ว ผู้ที่ถูกจับมาได้ถูกศาลพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง มีการจับขังคุกบางขวางแล้วเนรเทศไปปล่อยที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่า ไปเสียชีวิตเสียก็หลายคน นักโทษในครั้งนั้นมีเจ้านายรวมอยู่ด้วย อาทิเช่น ‘หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร’ พระอนุชาของพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นต้น

ทางรัฐบาลสมัยนั้น ได้กระทำให้คนไทยทั่วไปเกลียดสถาบันเจ้า รัฐบาลจะจับกุมแม้กระทั่ง ‘หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ’ พระเชษฐาของ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี’ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ สมัยนั้น เจ้านายที่สำคัญๆ ได้เสด็จออกไปประทับยังต่างประเทศ เนื่องจากกรณีขบถบวรเดช ทำให้ต้องถูกระแวงจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามกัน ไปทั่ว

‘พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม’ ได้เขียนไว้ในหนังสือชีวประวัติ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ผู้เป็นบิดามีข้อความตอนหนึ่งว่า “ดังนั้นแทนที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะได้รับคำตอบดังที่คิดหวังไว้ จึงถูกถวายกระสุนปืนใหญ่เป็นคำตอบ เสียงปืนใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลดังสนั่นหนักแน่น เด็ดขาด และก้องกัมปนาทไปทางทิศเหนือสู่แนวรบของพระองค์เจ้าบวรเดชที่บางเขน แล้วก็ดังสะท้อนกลับมาทางทิศใต้ผ่านกรุงเทพมหานคร เลยไปไกลจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เรือยนต์เร็วลำหนึ่งชื่อ “ศรวรุณ” พร้อมด้วย เสบียงสุราอาหารครบบริบูรณ์ ภายใต้บังคับการของ ‘เรือเอก หลวงประดิยัตนาวายุทธ’ อดีตรองพระเอกในภาพยนตร์เรื่องเลือดทหารไทยต้องออกจากพระราชวังไกลกังวลที่หัวหินอย่างกะทันหันเมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๖ รอนแรมไปในทะเลหลวงเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่าคลื่นฝืนพายุแล่นไปจนถึงจังหวัดสงขลา ในเรือ “ศรวรุณ” ลำนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประทับยืนด้วยพระอาการท้อแท้ ข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งที่ตามเสด็จมีอาการกระสับกระส่าย คล้ายได้ประกอบกรรมทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดไว้[4]

หลังจากการปราบขบถบวรเดชเสร็จแล้ว หลวงพิบูลสงครามได้มีอำนาจทางการเมืองขึ้นตามลำดับ ในยุคสมัยของท่านผู้นี้ได้มีการแสดงออกให้เกลียดชังสถาบันเจ้าหลายประการ สมัยนั้นใครจงรักภักดีต่อพวกเจ้ามากมายจะมีศัพท์เรียกกันว่า “พวกรอแยลลิสม์” รัฐบาลชุดของหลวงพิบูลสงครามมีแนวโน้มอันเป็นอคติต่อพวกเจ้ามากทีเดียว แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปทรงลี้ภัยการเมือง เมื่อเกิดกรณีขบถบวรเดชไปยังจังหวัดสงขลา ผู้ที่ให้ความจงรักภักดีโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ถูกรัฐบาลเอาความผิด “เมื่อเสด็จกลับแล้ว ข้าราชการทางสงขลาที่รับเสด็จถูกสอบสวน และปลดออกจากราชการหลายคน เป็นต้นว่า ‘หลวงณรงค์วังษา’ (จำรัส บุนนาค) นายอำเภอหาดใหญ่”[5]

หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์ของไทย ได้ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ บางคนถึงกับเขียนโจมตีในหน้าหนังสือพิมพ์ “ตำหนิติเตียนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าว่าทรงเป็นผู้ทำให้เสียดินแดนไปในสมัย ร.ศ. ๑๑๒ และหนักมือถึงกับจ้วงจาบหยาบหยามมาถึงสมเด็จ”[6] และในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั่นเอง ได้มีการจับกุมคุมขังและตั้งศาลพิเศษขึ้นปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองเป็นจำนวนมาก

ในจำนวนผู้ต้องสงสัยนั้นมี ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย เจ้านายพระองค์นี้ถูกจับหลังจากเสด็จกลับจากเชียงใหม่ “เมื่อได้พระองค์มาถึงกรุงเทพฯ แล้วในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ ทางการก็ส่งไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวังในห้องขังผู้ต้องขังทั้งหลาย ข่าวนี้กระเทือนขวัญผู้คนมากเพราะสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ทรงมีพันธะสนิทกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เป็นส่วนพระองค์พิเศษต่างไปจากพระบรมวงศ์พระองค์อื่นด้วย”

ที่นำเรื่องราวเก่าๆ จากหลักฐานต่างๆ ที่มีผู้เขียนไว้มาแสดงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นนี้เพื่อ จะพิสูจน์ให้เห็นการกระทำของรัฐบาล หลังกรณีขบถบวรเดชใหม่ๆ และกระทำหนักมือขึ้นเมื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่ ‘คุณสมภพ จันทรประภา’  ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ ‘สมเด็จพระศรีสวรินทิรา’ ว่า

“การดำเนินงานรุดหน้าไปไกลถึงกับให้ถือวันเกิดของท่านผู้นำ (คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นวันหยุดราชการ และยกเลิกวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ๒๓ ตุลาคม มิต้องเป็นวันหยุดทางราชการต่อไป เพลงสรรเสริญพระบารมีได้รับการพิจารณาว่ายาวเกินสมควร ได้มีการย่อให้สั้นลง บรรเลงได้จบในเวลาไม่ถึงอึดใจ ราชาศัพท์ก็ได้รับการพิจารณาปรับปรุงในครั้งนั้น คำแรกที่ถูกปรับปรุงคือคำ “เฉลิมพระชนม์พรรษา” โดยปรับปรุงเป็น “วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระบรมวงศ์ถูกปลดออกจากสถานที่ราชการ ผู้เขียนได้เห็นกับตาที่คนงานปลดพระบรมรูปในตึกอักษรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมาเก็บไว้ในโรงเก็บของหน้าตึกที่เรียกกันว่า “โรงทึม”[7]

ข้อความที่นำมาอ้างอิงนี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันกษัตริย์สมัยนั้น จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดหลังจากที่ปราบขบถบวรเดชได้กระทำการรุนแรงต่อระบบเจ้าอย่างมาก เจ้านายที่เคยมีฐานะสูงส่งก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ บางองค์ถึงกับเป็นนักโทษถูกถอดพระอิสริยยศ ถูกถอดฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ออกไปสิ้น

แต่การกระทำที่รุนแรงต่างๆ นั้นมีขึ้นในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม แทบทั้งนั้น ไม่ได้มีในสมัยของรัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์ เลย การที่เชื้อพระวงศ์บางองค์มีความโกรธแค้นท่านปรีดีนั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เมื่อปักชนักเรื่องการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ใส่ท่านปรีดีได้สำเร็จ ทำลายชื่อเสียงของท่านปรีดีที่ก่อตั้งเสรีไทยช่วยกู้ชาติเรียบร้อยแล้วก็เริ่มยึดเอาสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวยกย่องเทิดทูนอย่างไม่มีวี่แววว่าในอดีตเคยทำกรรมอะไรต่อสถาบันนี้ไว้บ้าง

ในอดีตนั้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เคยบีบคั้นพระบรมวงศานุวงศ์ เคยบีบบังคับให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้พระราชทานยศจอมพลให้แก่ตนเอง และข่มขู่ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตกอยู่ภายใต้อำนาจดังที่ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา’ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๘๘ เป็นหลักฐานว่า

“เมื่อตอนที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อให้เป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็มี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ ตอนที่ตั้งจอมพล ป. เป็นจอมพลนั้น ‘นายประยูร ภมรมนตรี’ มาหาถามว่าเมื่อนายกมีความชอบมากมายเช่นนี้จะตั้งเป็นอะไร ข้าพเจ้าบอกว่า เมื่อเป็นพลตรีอยู่ก็ตั้งเป็นโท นายประยูรบอกว่าไม่ได้ทางกองทัพไม่ยอมต้องเป็นจอมพลและต้องให้สายสะพายนพรัตน์ด้วย ข้าพเจ้าจึงว่าเมื่อกองทัพต้องการอย่างนั้นก็ตามใจ ผลสุดท้ายจึงแต่งตั้งให้จอมพล ป. เป็นจอมพล ให้สายสะพายนพรัตน์ตามที่กองทัพต้องการ การใช้อำนาจกองทัพมาขู่ข้าพเจ้านี้ใช้บ่อยเหลือเกิน เช่น เมื่อคราวจะให้พระยาพหลฯ ออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น ก็มี หลวงพรหมโยธี ขุนนิรันดรชัย ขุนปลดปรปักษ์ หลวงสังวรยุทธกิจ หลวงกาจสงคราม นายอุทัย แสงมณี ไปหาข้าพเจ้าในเวลาค่ำคืน หลวงพรหมฯ เป็นคนพูดว่าถ้าไม่เอาพระยาพหลฯ ออก เพื่อตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นนายกแล้ว จะเกิดยุ่งกันใหญ่ถึงกูเดตา คนอื่นๆ ไม่มีใครพูดอะไรนอกจากหลวงกาจฯ พยักหน้าและว่าถ้าจะเกิดเรื่องใหญ่...ฯลฯ....

“ตอนที่จอมพล ป. นำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้นขุนนิรันดรชัย ได้มาทาบทามข้าพเจ้าจะได้มีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยมีผู้ที่มีสายสะพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งจอมพล ป. คนเดียวที่ได้สายสะพายนั้น

เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสะพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสะพายผู้ชายและให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้กล้องสายสะพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า จอมพล ป.ฯ นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเองแล้ว ภรรยาของจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียบวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือ ตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้โทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องพระสำอางของพระเจ้าแผ่นดิน และของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้….ฯลฯ

คำให้การของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ไปสอดคล้องกับคำของพระยาฤทธิอัคเนย์ หนึ่งในสี่ทหารเสือปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าหลวงพิบูลสงครามนั้นเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ในสมัยของจอมพล ป. นั้นฐานะของพระบรมวงศานุวงศ์กระทบกระเทือนมากถึงกับมีการดำเนินการให้ริบเครื่องราชอิศริยาภรณ์และพระราชทรัพย์ของ ร.๓ ทีเดียว

"ท่านปรีดี พนมยงค์" นั้น ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้พระบรมวงศานุวงศ์หลังการปฏิวัติแล้ว ท่านได้ปกป้องไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้ยกย่องเทิดทูนพระเกียรติยศของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและคืนพระอิสริยยศให้กรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งจอมพล ป. ขังลืมเอาไว้ ท่านดีต่อพระบรมวงศานุวงศ์ถึงเพียงนี้แล้วยังมีผู้บิดเบือนประวัติศาสตร์กล่าวร้ายใส่ท่าน ผู้บิดเบือนนับว่าเป็นผู้ขาด หิริ (ความละอายแก่ใจ) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อย่างแท้จริง.

 

[1] หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย, ปาร์ ลุย แมม, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓.

[2]  หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย, ปาร์ ลุย แมม, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓.

[3] อ.ก. รุ่งแสง (นามแฝง), พ. ๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ, กรุงเทพมหานคร,โรงพิมพ์ไทยเขษม (ไม่มีปีที่พิมพ์)

[4] อ.พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม หน้า ๑๘๘ กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. ๒๕๑๘. จากข้อเขียนนี้ทำให้มองเห็นทรรศนะของจอมพล ป. ว่าจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์แค่ไหน

[5] สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ หน้า ๒๕๖, กรุงเทพมหานคร. พ.ศ. ๒๕๒๐.

[6] สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทราฯ หน้า ๒๙๘๖, กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. ๒๕๒๐.

[7] สมภพ จันทรประภา,สมเด็จพระศรีสวรินทราฯ หน้า ๒๘๖, กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. ๒๕๒๐.

 

ที่มา: อรุณ เวชสุวรรณ. ความเปลี่ยนแปลงของพระบรมวงศานุวงศ์หลังเหตุการณ์ "ขบถบวรเดช", ใน, รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: เอ.พี.กราฟฟิคดีไซน์และการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2541)

หมายเหตุ: 

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว