ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี

17
พฤษภาคม
2567
บ้านอองโตนี เลขที่ 173 ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ภาพถ่ายศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยคุณอรุณ เวชสุวรรณ
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2524 หรือสองปีก่อนการอสัญกรรมของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี
ที่มา: เอกสารส่วนบุคคลนายปรีดี พนมยงค์

 

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ ผมเคยคิดเสมอว่าควรไปเปิดหูเปิดตา ไปดูศูนย์กลางแฟชั่นระดับโลกเสียที และสถานที่ที่จะไปจะได้มีโอกาสพบกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร. ปรีดี พนมยงค์ ด้วย

 

ที่นั่นคือนครปารีส

ปารีสเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่ครองความเป็นใหญ่ในวงการแฟชั่นมานับร้อยปี ปีแอร์การ์แดง, คริสเตียนดิออร์, ชาร์ลจูดอง, นีน่าริชชี่ ฯลฯ ล้วนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมานานแสนนาน

ปัจจุบันนี้การแต่งกายของคนไทย ต่างก็เลียนแบบมาจากฝรั่งทั้งสิ้น การแต่งกายแบบไทยเดิม คือการนุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อราชปะแตนและผู้หญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน นุ่งผ้าซิ่น ได้ถูกสั่งยกเลิกไป ในสมัยเผด็จการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปกครองประเทศ รัฐบาลสมัยนั้นได้บังคับให้ประชาชนแต่งตัวเหมือนฝรั่ง เพราะความเห็นดีเห็นชอบของผู้นำเพียงคนเดียว

 

และคนไทยก็ปฏิบัติตามมาจนถึงปัจจุบัน !

เมื่อจะต้องตามฝรั่งก็ต้องไปให้ถึงแหล่งศูนย์รวมของแฟชั่น...คือ นครปารีส ที่รวมของความฟุ่มเฟือยมาตั้งแต่โบราณกาล สมัยพระเจ้าหลุยส์ต่างๆ เรืองอำนาจ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ชาวปาริเซียงเหล่านั้นก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์แห่งความเป็นคนรักสวยรักงามเอาไว้โดยไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีพรรคสังคมนิยมมาเป็นรัฐบาล คนฝรั่งเศสก็ยังฟุ่มเฟือยอยู่นั่นเอง

ผมได้เดินทางออกจากประเทศไทยโดยสายการบินไทย เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ และเพิ่งจะขอวีซ่าจากสถานทูตฝรั่งเศสได้ในเวลาบ่าย ๓ โมงของวันที่ ๒ นั่นเอง การขอวีซ่าเข้า ประเทศฝรั่งเศสในระยะนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลฝรั่งเศสหาทางป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานและแย่งอาชีพคนในประเทศของเขา ฉะนั้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา สถานทูตฝรั่งเศสจึงห้ามออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวบางประเภทจากประเทศต่างๆ เข้าประเทศเขาโดยเด็ดขาด

สำหรับตัวผมเองได้รับความช่วยเหลือจาก คุณเนาวรัตน์ โขมพัตร แห่งโรงแรมมณเฑียร ซึ่งรู้จักคนในสถานทูตฝรั่งเศสเป็นอย่างดีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงแรมโอเรียนเต็ลได้จัดทำเอกสารบางอย่างให้ จึงขอวีซ่าได้ภายในเวลา ๔๘ ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งตามธรรมดาจะต้องใช้เวลาถึงเดือนครึ่ง จึงต้องขอขอบคุณผู้ช่วยเหลือทั้งสองรายการไว้ ณ ที่นี้ด้วย

สำหรับการเดินทางนั้น แม้ว่าผมเคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยทางเครื่องบินมาแล้ว แต่ยังไม่เคยใช้บริการของการบินไทยเลย ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งรู้จักกันดีให้ลองใช้บริการดูโดยให้ตั๋วไป - กลับ ไว้นานแล้ว และเมื่อถึงวันเดินทางเข้าจริงก็มีปัญหาเข้าจนได้ เพราะผมคิดว่างไม่มีใครนิยมใช้บริการของการบินไทยเท่าใดนัก ผู้โดยสารคงจะมีน้อยที่นั่งคงมีว่างเพราะข่าวคราวในทางด้านอกุศลได้เข้าหูผมเสมอ

 

ปรากฏว่าผิดคาดไปมาก !

ผู้โดยสารเที่ยวบิน ที.จี.๙๓๐ เวลาออกจากดอนเมือง ๒๓.๓๐ น. ผมไปถึงสนามบินดอนเมืองเวลา ๒๑.๓๐ น. ปรากฏว่าที่นั่งของผู้โดยสารเต็มหมด ผมมีตั๋วแบบ “ตั๋วเปิด” คือไม่ได้ระบุเที่ยวบินจึงขลุกขลักพอดู แต่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของการบินไทยผู้มีไมตรีจิตจึงขึ้นเครื่องบินไปได้โดยเรียบร้อย

การเดินทางไปฝรั่งเศสในครั้งนี้ ผมไปคนเดียว และตัดสินใจไปอย่างกระทันหัน แลกเงินฟรังซ์ติดตัวไปเพียงไม่กี่พันฟรังซ์ภาษาฝรั่งเศสผมก็ไม่รู้เรื่อง แต่ว่าผมมีเพื่อนมาก เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินก็รู้จักผมหลายคน เพื่อนที่ฝรั่งเศสก็พอจะมี และเมื่อเหยียบย่างลงบนพื้นแผ่นดินของชาวปาริเซียง ผมก็อดปลื้มใจไม่ได้ที่ได้รับน้ำใจไมตรีของคนไทยที่นั่นอย่างอบอุ่นที่สุด

คนไทยที่มาคอยรับผมที่โรงแรมในวันนั้นมี คุณสุพจน์ อ่อนบุญมี และ คุณเพิ่มยศ เพชรโยธิน หรือ คุณชาลี ทั้งสองคนทำงานที่ ห้างเบลลักซ์ ซึ่งเป็นห้างที่ขายพวกกระเป๋า น้ำหอม เสื้อผ้า ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้พบกับ คุณสัมฤทธิ์ - คุณนิตยา เสาวดี ซึ่งเปิดห้องอาหารไทยซื่อ นิตยา อยู่ที่นั่น โดยมี สมหมาย เพื่อนของผมซึ่งรู้จักกันมา ๘-๙ ปีแล้วเป็นผู้ควบคุมอยู่ ส่วนการพักผมก็พักโรงแรมเดียวกับพวกการบินไทยที่มีสัญญาเช่าพักอยู่ในฝรั่งเศส บางแห่งก็ไปเที่ยวกับพวกของการบินไทยนั่นเอง พอตกค่ำผมรับประทานน้ำพริกปลาร้าตามบ้านคนไทยในฝรั่งเศส ไม่ได้รับความเดือดร้อนแต่ประการใด

สำหรับการเดินทางนั้น เครื่องบิน ที.จี. ๙๓๐ ซึ่งเป็นเครื่องบินจัมโบ้ ๑ ใน ๕ ลำ ของบริษัทการบินไทยเครื่องที่โดยสารไปนั้นจุผู้โดยสารได้ถึง ๓๗๕ คน และเที่ยวบินนี้ก็นั่งกันไปเต็มอัตราศึกเลยทีเดียว ผมหลับไปตลอดทั้งคืนและไปตื่นเอาที่สนามบินของกรุงเอเธนส์ประเทศกรีซเครื่องบินจอดที่นั้น เพื่อส่งผู้โดยสารและเติมน้ำมัน ๔๕ นาที จากนั้นเครื่องก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสู่ประเทศฝรั่งเศส เครื่องบินร่อนลงสนามบินชาส์ล เดอโกล สนามบินทันสมัยที่สุดในฝรั่งเศส ผมเพิ่งจะทราบว่า สนามบินที่นั่นมีถึง ๔ แห่ง คือสนามบินออรี่หนือ สนามบินออรี่ใต้ สนามบินเลอบูเช่และสนามบินที่ผมกำลังจะลงไปคือ ซาส์ล เคอโกล สนามบินแห่งนี้ตั้งตามชื่อของ นายพลชาส์ล เดอโกล รัฐบุรุษของฝรั่งเศสซึ่งชาวโลกรู้จักกันดี

ผมลงจากเครื่องบินโดยไม่มีเพื่อนคนไทยเลยแม้แต่คนเดียว พวกลูกเรือของการบินไทยเขาก็ไปตามช่องทางของเขา คงมีผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นคนจีนมาเที่ยวในไทย พูดไทยได้แต่คำว่า “ผู้หญิงไทยสวยม้ากมาก” และ “ผู้หญิงไทยเก่งม้ากมาก” (ที่ว่าผู้หญิงไทยเก่งม้ากมาย เพราะว่าได้ไปเที่ยวอาบอบนวดที่เจ้าพระยามา ได้รับบริการจากผู้หญิงไทย จึงพูดให้ผมฟัง - ฟังแล้วอายไม่เบาที่เดียวละ) นอกจากนั้นยังพูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้อีกด้วย ซึ่งเป็นโชคดีของผมที่เคยเรียนภาษาแต้จิ๋วไว้บ้าง แต่ก็กระท่อนกระแท่นเต็มทน หมอคนนี้เขาบอกว่าเขาเป็นเพื่อนกับ คุณชิน โสภณพานิช มหาเศรษฐีของไทย เขามีภัตตาคารขายอาหารจีนในปารีส พร้อมทั้งเชิญให้ไปกินฟรีเสียอีกด้วย จากนั้นผมก็เหยียบย่างเข้าไปในบริเวณสนามบินซึ่งทำความตื่นเต้นให้พอสมควร เพระสนามบินที่นี้เขาไม่ต้องเดินให้เมื่อยตุ้ม พอออกจากประตูเครื่องบินแล้วจะเป็นรูหรือเป็นช่อง มีลิฟท์สายพานพาไปตามช่องซึ่งช่องหรือรูต่างๆ นี้มีมากมายเหลือเกิน รูแต่ละรูจะไปผุดตามที่ต่างๆ กัน และเป็นรูที่มุดไปตามใต้อาคารทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะประเทศนี้ชอบทำถนนใต้ดิน รถใต้ดินหรือรถเมโทรจึงมีมากมายเหลือเกิน

เพื่อนๆ ของผมที่ทำงานบนเครื่องบินเขาก็ลงจากเครื่องไปตามทางของเขา มีรถมารับไปส่งที่โรงแรมพร้อมสรรพ ส่วนผมต้องคอยให้เขาปั้มตราเข้าเมืองให้เสร็จเรียบร้อย และญาติคนที่ผมนั่งคุยกันนั้นได้นำรถมาส่งถึงโรงแรมโนโวเต็ล (NOVOTEL) ในปารีสอย่างเรียบร้อย

 

อาบน้ำเสร็จแล้วนอนงีบหนึ่ง ตกเย็นก็เริ่มท่องปารีส

ก็อย่างที่เล่าไว้แล้วข้างต้นว่า เที่ยวฝรั่งเศสครั้งนี้ผมไม่มีโปรแกรม จึงท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ กับ คุณสมบูรณ์ ชัยเดช เพื่อนรุ่นน้องซึ่งเขาเป็นพนักงานการบินไทยผู้มากับเที่ยวบินเที่ยวนี้ด้วย ผมเริ่มสัมผัสกับกลิ่นไอของปารีสในวันที่ ๔ สิงหาคมนี่เอง...คนที่นี้แต่งตัวกันสวยๆ แต่งตัวเรียบร้อย หาฝรั่งประเภทฮิบปี้ทำยายาก หรืออาจจะเป็นเพราะปัจจุบันนี้ฮิบปี้ที่นั่นสูญพันธ์ไปหมดแล้วก็เป็นได้ เราขึ้นรถเมโทร (METRO รถไฟใต้ดิน ใช้ย่อจากคำว่า METROPOLITAIN) มุดดินไปโผล่ตามย่านการค้าที่สำคัญๆ ต่างๆ ในนครปารีส

นครปารีสเป็นเมืองที่สวยงาม มีอายุหลายร้อยปี นับเป็นเมืองเก่าของยุโรป มหานครแห่งนี้ถ้าจะเรียกตามภาษาไทยแล้วเรียกได้ว่าเป็นเมืองอกแตก เหมือนพิษณุโลกของไทย เพราะมีแม่น้ำแซนไหลผ่านใจกลางเมือง แม่น้ำแซนนี้ได้แยกเมืองปารีสเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา รอบๆ แม่น้ำเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก ตกเย็นมีเรือนำนักทัศนาจรล่องชมทิวทัศน์ ๒ ฟากฝั่ง ณ สถานที่แห่งนี้สักประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว พวกโกลเผ่าหนึ่งรู้จักกันในนามพวกปาริสิ (Porisii) ได้สร้างหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นเป็นอาณาจักรน้อยๆ บนเกาะกลางแม่น้ำแซน สร้างป้อมปราการด้วยไม้เป็นค่ายคูประตูหอรบ คอยปิดกั้นเรือสินค้าที่ต้องการขึ้น - ล่องในแม่น้ำแซน พอเรือสินค้าต่างๆ ผ่านมา พวกปาริสิก็เรียกเก็บภาษีผ่านด่านจากเรือเหล่านั้น อาจจะเรียกเป็นเงิน เป็นสินค้า หรือทั้งสองอย่างก็ได้ อาณาจักรของพวกปาริสิกลางแม่น้ำแซนถูกต้องตามหลักยุทธภูมิทุกประการคือ มีแม่น้ำล้อมรอบเป็นด่านป้องกันศัตรูได้เป็นอย่างดีและยังเป็นจุดศูนย์กลางติดต่อระหว่างพวกยุโรปเหนือซึ่งอาศัยอยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวจัดกับพวกยุโรปใต้แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อากาศค่อนข้างอบอุ่น....พวกปาริสิอยู่มาได้ด้วยสันติสุขเป็นเวลานานจนกระทั่งโรมันขยายอำนาจเข้าปกครอง ต้องรับเอาศิลปะและวัฒนธรรมโรมันเข้าไว้ แต่มีลักษณะเฉพาะเป็นของชาวปาริสิหรือปาริเซียงในสมัยต่อมา

 

นั่นคือที่มาโดยย่อของนครปารีส!!

ปารีสเป็นศูนย์รวมของความเจริญทั้งทางด้านสมัยเก่า และสมัยใหม่….สถานที่น่าเที่ยวของเมืองนี้มีมากมาย ซึ่งถ้าท่านต้องการจะศึกษาในด้านความรู้ หรือเที่ยวดูสิ่งของให้ประเทืองปัญญาก็จะหาดูได้จากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พระราชวังแวร์ซายร์ ปราสาทนโปเลียน ฟองเตนโบล์ ฯลฯ ส่วนจะไปดูของสมัยใหม่ก็มีศูนย์รวมแฟชั่นต่างๆ หรือแม้แต่ความบันเทิงเริงรมย์แล้ว ปารีสไม่เคยแพ้เมืองไหนๆ ในโลกนี้เลย และถ้าจะว่ากันถึงสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยแล้ว คนไทยเรารู้จักฝรั่งเป็นชาติแรกก็คือฝรั่งเศสนี้เอง คำว่า “ฟรานซ์” ซึ่งเป็นชื่อประเทศฝรั่งเศสก็คือที่มาของคำว่า “ฝรั่ง” ในภาษาไทยนั่นเอง และถ้าจะเปิดดูประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาแล้วไทยเรากับฝรั่งเศสมีไมตรีกันมาอย่างสนิทแนบแน่นทีเดียว

วันนี้เขียนถึงปารีสเพียงโฉมหน้า วันพรุ่งนี้จะว่าต่ออีก ปารีสมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ นครหลวงเก่าแก่แห่งนี้เคยเป็นสถานศึกษาของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้พลิกประวัติศาสตร์การปกครองและการเมืองของไทย แล้ววันหลังข้อเขียนของผมก็จะมีความเกี่ยวโยงไปถึงตัวท่าน เพราะการเที่ยวปารีสของผมครั้งนี้จุดหมายของผมก็ต้องการที่จะแวะเยี่ยมเยือนและคารวะท่านด้วย ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญของไทย ผู้หยิบยื่นประชาธิปไตยมาให้กับคนไทยทั่วประเทศ วันหลังคอยพบกับคำสัมภาษณ์ระบบคำต่อคำ ซึ่งผมจะได้นำมาเสนอท่านผู้อ่านต่อไป

การท่องเที่ยวฝรั่งเศสในครั้งนี้ นอกจากจะชมแฟชั่น และพบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่นั่นแล้ว ผมยังมีความปรารถนาจะชมปราสาทราชฐานต่างๆ เช่นปราสาทฟองแตนโบว์ ของนโปเลียนมหาราช พระราชวังแวร์ซายร์ ตลอดทั้งต้องการชมรูปปั้นวีนัสและภาพเขียนโมนาลิซ่าอันลือลั่นนั้นด้วย แต่เวลามีเพียงน้อยนิดเหลือเกิน

วันที่ ๕ สิงหาคมผมได้ออกจากโรงแรมภายหลังอาหารเช้าแล้ว จากนั้นได้ไปซื้อของกับเพื่อนโดยมี คุณเพิ่มยศ เพชรโยธิน ผู้จัดการร้านเบลลักซ์ขับรถนำเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ตอนเที่ยงนำไปเลี้ยงอาหารจีนที่ภัตตาคารมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ขณะขับรถคุณเพิ่มยศเปรยขึ้นว่า

“ฝรั่งนี้เขาเป็นนักอนุรักษ์นิยม ตึกรามบ้านช่องที่มองเห็นนี้มีอายุนับเป็นร้อยๆ ปีทีเดียว ถ้าเป็นบ้านเราเขาจะทุบทิ้งหมดแล้ว แล้วจะสร้างขึ้นใหม่มาแทนที่ นับว่าน่าเสียดายของเก่าๆ ในบ้านเรามากทีเดียว”

“นั่น...ตึกประวัติศาสตร์ที่มีความหมายต่อคนไทยเรา หลังนี้ในอดีต นายปรีดี พนมยงค์ รต. แปลก ขีตะสังคะ นายประยูร ภมรมนตรี และนักเรียนไทยในฝรั่งเศสยุคนั้นมาประชุมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทย ซึ่งในสมัยโบราณเขาขายกาแฟ…เดี๋ยวนี้ก็ยังขายอยู่เลยครับ”

สำหรับวันที่ ๕ ตลอดทั้งวัน เราได้เดินไปซื้อของและชมสถานที่ต่างๆ กันตามลำพัง พอตกเย็น คุณเพิ่มยศ เพชรโยธิน ผู้จัดการร้านเบลลักซ์พาไปเยี่ยมบ้านและรับประทานอาหารเย็นที่บ้านพัก และที่นี้เอง ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้นั่งอยู่ในเมืองไทย ข้าวสวย, แกงไก่, แกงเลียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำพริกปลาทู” มีให้รับประทานพร้อมสรรพเหมือนในไทย ผักจิ้มน้ำพริกหาซื้อได้ในฝรั่งเศส แต่มีปัญหาว่าพริกขี้หนู มะเขือ พืชและผักเมืองร้อนอื่นๆ ปลูกในฝรั่งเศสได้เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้นพอย่างเข้าฤดูหนาวผักพวกนี้จะตายเกลี้ยง ส่วนของกินอื่นๆ อันเป็นอาหารไทยเช่นกะปิ ปลาร้า ปลาทู ส่วนมากส่งจากเมืองไทยแทบทั้งนั้น

“โอ้ย...อยู่ที่นี่คุณไม่ต้องห่วงหรอกครับ อย่าว่าแต่น้ำพริกกะปิเลย แม้แต่หมากพลูยังมีขายเลยครับ” คุณเพิ่มยศ เพชรโยธิน คุยให้ฟัง

ใช่...ที่นั่นมีพวกลาวอพยพไปอยู่กันมาก พวกลาวก็เหมือนๆ กับคนไทย กินหมากพลู ปลาร้า ปลาแดก ของพวกนี้จึงหารับประทานได้ไม่ยากนัก.... ส่วนที่ร้านอาหารไทยของ คุณนิตยา นั้นแล้วแต่คุณจะเลือกสั่งก็แล้วกัน ผัดพริกเนื้อ เกาเหลา ปลาเจี๋ยน ฯลฯ บรรยากาศในร้านก็มีแบบไทยๆ มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แขวนอยู่ ตอนเย็นๆ มีการเปิดเทปเพลงดนตรีไทยและเพลงไทยสากล ดูๆ แล้วไม่ผิดไปจากเมืองไทยเท่าใดนัก พอตกเย็นวันนั้น สมบูรณ์ ชัยเดช พร้อมทั้งพรรคพวกของเราก็จัดเลี้ยงพบปะสังสรรค์กันที่ร้านอาหารไทยของ คุณนิตยา นั่นเอง

เช้าวันที่ ๖ สิงหาคม กัปตันและลูกเรือของการบินไทยเที่ยวที่ไปฝรั่งเศสเที่ยวนี้ทุกคน ได้จัดทัวร์ไปเที่ยวกันที่ปราสาทฟองเตนโบว์ อันเป็นสถานที่เคยประทับของนโปเลียนมหาราช ซึ่งสถานที่แห่งนี้ห่างจากกรุงปารีสออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตรเศษ พวกเราเช่ารถบัสขนาดเล็ก โดยมีกัปตันเครื่องบินระดับอาวุโสนั่งควบคุมไปด้วย กัปตันที่ควบคุมไปเป็นผู้อาวุโสที่วงการนักบินของไทยเคารพนับถือมากคือ กัปตันจำรัส ค้ำคูณ ซึ่งกัปตันคนอื่นๆ จะต้องเรียก “ครู” กันแทบทุกคน เป็นที่นับถือของศิษย์ๆ และลูกเรือทุกๆ คน เป็นผู้ที่วางตัวได้เหมาะสม มีอัธยาศัยน่านับถือทีเดียว

นอกจากนั้นมี กัปตันสะอาด สบศรศาสตร์ ท่านผู้นี้รู้สึกจะเป็นผู้ที่ร่ำรวยด้วยอารมณ์ขันเป็นพิเศษ ได้สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ร่วมเดินทางตลอดระยะทางกว่า ๔๐ กิโลเมตร

ในการไปชมพระราชวังฟองเตนโบว์ในวันนั้นไม่เสียเทียวเลยเมื่อพวกเราไปถึง...สถานที่แห่งนั้นยังอยู่ในสภาพเดิมทุกอย่าง นาฬิกาตีบอกเวลาแบบสมัยโบราณยังคงตีบอกเวลาตามปกติ บรรยากาศในอดีตเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ยังรักษาไว้เหมือนเดิมเช่น ห้องบรรทม ห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องเสวยพระสุธารส เตียงบรรทมของนโปเลียนของพระราชินีโยเซฟิน ห้องรับรองพระราชอาคันตุกะ ห้องเต้นรำมีลวดลายวิจิตรตระการตายิ่งนัก ดูๆ แล้วทำให้ทราบว้าฝรั่งนั้นเป็นนักอนุรักษ์นิยมอย่างยอดเยี่ยมทีเดียว แม้แต่พระมาลา (หมวก) ของนโปเลียนมหาราชก็ยังเก็บรักษาอยู่ในตู้มีสภาพเรียบร้อยทุกอย่าง

เจ้าหน้าที่ได้เข้มงวดไม่ให้ใช้ไฟเฟร็ซถ่ายรูปเหมือนที่พิพิธภัณฑ์ลุฟร์ เข้าใจว่าเขาคงกลัวไฟเฟล็ซจะทำลายสีสรรอันสวยงามของเขาให้จืดจางไป....เขาอนุรักษ์กันถึงขนาดนี้

ฝรั่งเศสในสมัยปัจจุบันนี้ได้ชื่อว่าพรรคสังคมนิยม ปกครองประเทศ นายฟังชัวร์ มิสแตร์รอง หัวหน้าพรรคสังคมนิยมได้เป็นประธานาธิบดี มีตัวแทนจากพรรคคอมมูนิสต์ ๒ คนเข้าร่วมรัฐบาลด้วย ประเทศนี้ในปัจจุบันจึงมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่นเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพิ่มค่าแรงงาน จ่ายค่าประกันสังคมให้พนักงานของรัฐและบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งเขามีระเบียบว่า การทำงานในอาทิตย์หนึ่งๆ ต้องทำงาน ๓๕ ชั่วโมง อัตราแรงงานขั้นต่ำ ๑ ชั่วโมงเท่ากับ ๑๖.๘o ฟรังซ์ (ฟรังซ์หนึ่งตกราว ๔ บาท) ซึ่งเทียบกันไม่ให้เลยนะครับสำหรับเมืองไทยเรา และคงเป็นเพราะเหตุนี้เอง คนต่างชาติจึงอยากจะเข้าไปประกอบอาชีพที่ฝรั่งเศสกันมากนัก

ผมได้รับความช่วยเหลือจาก คุณสัมฤทธิ์ และ คุณนิตยา เสาวดี (แห่งห้องอาหารนิตยาที่ปารีส) พาไปพบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญที่โลกเกือบลืม ท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตเคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศส จบปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย และสำเร็จปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และเป็นหัวหน้าสำคัญฝ่ายพลเรือน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นแบบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ คือเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว และท่านผู้นี้ยังได้เป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย และเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตอนหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าประกาศแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ท่านผู้นี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล เช่นประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นผู้แพ้สงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามมากมาย แต่ด้วยความสามารถของท่านในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศไทยกลาย เป็นผู้ชนะสงครามไปได้ ซึ่งประวัติและผลงานของท่านมีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างเหลือคณานับทีเดียว

 

สรุปแล้วท่านเป็นบุคคลสำคัญของไทยว่างั้นเถอะ

ตอนหลังท่านได้ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่า พัวพันในกรณีสวรรคตของร.๘ และถูกทหารเข้ามากระทำรัฐประหารโค่นอำนาจ ต้องหนีจากประเทศไทยไปทำนักในฝรั่งเศสจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนเรื่องราวที่ใครกล่าวหาท่านว่าพัวพันในกรณีสวรรคต ท่านได้ตั้งทนายฟ้องร้องจนต้องขอขมาต่อท่านทุกรายไป

ผมได้รับความช่วยเหลือจาก คุณสัมฤทธิ์ และ คุณนิตยา ซึ่งรู้จักกับครอบครัวของ ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดี ทั้งสองคนได้พาผมไปพบในวันที่ ๗ สิงหาคมที่บ้านเล็กๆ หลังหนึ่งที่ชานกรุงปารีส สภาพบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นตึกหลังเล็กๆ กระทัดรัดมีกำแพงริ้วเหล็กล้อมรอบ ข้างๆ บ้านปลูกดอกกุหลาบและไม้ดอกอย่างสวยงาม ท่านพักอยู่กับบุตรสาวและหลานๆ และศรีภริยาของท่านคือ ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์

แม้ว่า ดร.ปรีดี จะชราภาพมาก แต่สุขภาพยังดี มีความจำแม่นยำมากคุยถึงเรื่องเก่าๆ ได้ดี ผมได้คุยกับท่านในวันนั้นราวชั่วโมงกว่า บุคลิกลักษณะของท่านสมกับที่เป็นรัฐบุรุษของไทยอย่างแท้จริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาเด็ดขาดแม้จะชรามากแล้ว แต่ก็ดูยังมีสง่า แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย สวมสูทสีฟ้า การสนทนาของเราในวันนั้นผมได้เขียนเป็นข่าวพาดหัวหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ ไทยแลนด์ไทม์ ไปแล้ว และในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญของไทยคนหนึ่ง ผมจะได้พยายามนำเรื่องของท่านมาเขียนติดต่อกันไป อีกในหนังสือฉบับนี้และนิตยสารอื่นๆ เท่าที่มีโอกาส

หลังจากพบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แล้ว รุ่งขึ้นอีกวันก็กำหนดกลับกรุงเทพฯ โดยเส้นทางใหม่ ผ่านประเทศรัสเซีย ประเทศโปแลนด์โดยมองเห็นกรุงมอสโคว์อยู่เบื้องล่าง มาพลบค่ำที่น่านฟ้าของประเทศอัฟกานิสถาน ผ่านประเทศอินเดีย และเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานกรุงเดลฮี ๔๕ นาที ถึงกรุงเทพฯ ๖ โมงเช้ากว่าๆ กัปตันจำรัส ค้ำคูณ ได้ชวนให้เข้าไปนั่งดูในห้องทำงานของนักบิน ตั้งแต่เครื่องจัมโบ้ทะยานจากสนามบินของอินเดียและให้ความรู้แก่ผมนับว่ามากมายทีเดียว ซึ่งผมจะต้องขอบคุณการบินไทยและเพื่อนๆ ในฝรั่งเศสทุกๆ คนไว้ ณ ที่นี้ด้วย คิดว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าถ้าโชคอำนวยผมคงได้ไปเยือนปารีสอีกเป็นแน่[1]

 

สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

บ้านอองโตนี เลขที่ 173 ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

บ้านอองโตนี เลขที่ 173 ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
บ้านอองโตนี เลขที่ 173 ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ที่มา: เอกสารส่วนบุคคลนายปรีดี พนมยงค์

 

การสัมภาษณ์ครั้งนี้มีขึ้น ณ บ้านเลขที่ ๑๗๓ VILLE ANTONY ARISTIDE-BRIAND ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. เศษ คณะผู้เข้าเยี่ยมเยียนประกอบด้วยคุณสัมฤทธิ์ คุณนิตยา เสาวดี คุณสมบูรณ์ ชัยเดช คุณลักษมี (แต๋ว) แห่งการบินไทย และผู้สัมภาษณ์ อรุณ เวชสุวรรณ[2]

อรุณ เวชสุวรรณ : สวัสดีครับท่าน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี : สวัสดี...สวัสดี...

อรุณ เวชสุวรรณ : ผมและคณะมาจากประเทศไทย ต้องการมาคารวะท่าน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ขอโทษ ขอทราบนามสักนิด

อรุณ เวชสุวรรณ : ผม “อรุณ เวชสุวรรณ” เป็นผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ตามสบายครับ

อรุณ เวชสุวรรณ : ปีนี้ท่านอายุเท่าไรแล้วครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ๘๑ ปีแล้ว ปีกลายทําบุญอายุ ๘๐ ปีไปแล้ว

อรุณ เวชสุวรรณ : สุขภาพของท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ปีนี้ไม่ค่อยสบาย โรคประจําตัวที่เคยเป็นมาเมื่อก่อนกําเริบขึ้นมาอีก

อรุณ เวชสุวรรณ : เป็นโรคอะไรครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  หมอเขาบอกว่าปอดทํางานไม่เต็มที่ และเป็นโรคหัวใจอ่อน มักจะเหนื่อยบ่อยๆ หมอเรียกโรคอะไร ผมก็จําไม่ได้ แต่สรุปแล้วเป็นโรคชราแหละครับ

อรุณ เวชสุวรรณ : ได้ทราบข่าวว่าท่านใช้เวลาว่างเขียนหนังสือ ไม่ทราบว่ายังเขียนอยู่หรือเปล่า ?

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี : ถ้าสุขภาพยังดีก็เขียนอยู่เสมอ

อรุณ เวชสุวรรณ : ส่วนมากเป็นเรื่องประเภทไหนครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  เขียนไปเรื่อยๆ พิมพ์ไปเรื่อยๆ เขียนคําขวัญให้กับผู้ที่มาขอบ้าง เขียนบทความบ้างเท่าที่มีเวลาและร่างกายอํานวย

อรุณ เวชสุวรรณ : ผมเห็นมีหนังสือหลายเล่มในประเทศไทยที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับท่าน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ใครที่เขียนบิดเบือนข้อเท็จจริง ผมก็ฟ้องและชนะคดีมาทุกราย

อรุณ เวชสุวรรณ : มีหนังสือของพลโท ประยูร ภมรมนตรี เขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พาดพิงมาถึงท่านอยู่เหมือนกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  คุณคงอ่านจบแล้วซิ..หนังสือเล่มนี้ของคุณประยูร กระทรวงศึกษาธิการถึงกับให้รางวัลเป็นหนังสือดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทําไมกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของชาติถึงกับให้รางวัลหนังสือที่ไม่มีมูลความจริงเช่นนี้

อรุณ เวชสุวรรณ : ผิดพลาดมากหรือครับ?

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ผมกําลังฟ้องศาลอยู่ คุณไม่ทราบหรือ

อรุณ เวชสุวรรณ : ก็ทราบเหมือนกันครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ผ่านมา ๒ ศาลแล้ว ผมน่ะไม่อยากจะทําหรอก เรามันแก่กันแล้ว แต่ถ้าปล่อยไปคนรุ่นหลังไม่รู้ ความจริงอ่านเข้า ก็รู้ผิดๆ ไป จึงต้องการทําให้ถูกต้อง

อรุณ เวชสุวรรณ : ที่ พระยาศราภัยพิพัฒน์ แต่งล่ะครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  นั่นเป็นฝ่ายตรงกันข้าม!

อรุณ เวชสุวรรณ : มีหนังสือแต่งเกี่ยวกับท่านมากเหลือเกิน บางเล่มก็ดูจะยกย่องมากไป บางเล่มก็เขียนเชื่อถือยาก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ก็อย่างของคุณประยูร นั้นแกเองก็ยอมรับว่าแกเป็นตัวสกั๊งค์ตัวหนึ่ง แม้ในหนังสือที่แกแต่งแกเองก็ยังกล่าวไว้ แกก็เคยเข้าฝ่ายกบฏบวรเดช เคยถูกประกาศจับแต่ก็หลบหนีไปได้ ตอนหลังแกกลับมาเขียนไปอีกอย่างหนึ่งกลับความกันไปหมด

อรุณ เวชสุวรรณ : แล้วหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูลล่ะครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  คุณสุพจน์ แกเป็นคนรุ่นหลัง แกได้ข้อมูลมาจากคนอื่น หรือได้จากหนังสือที่เคยเขียนไว้ต่างหาก

อรุณ เวชสุวรรณ :  เชื่อถือได้ไหมครับ?

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  เรื่องการเชื่อถือนี้ให้เชื่อถือเอกสารที่เป็นเอกสารแท้จริงทางประวัติศาสตร์เป็นการดีที่สุด อย่างประวัติของผม ก็ไปค้นเอาได้จากประวัติราชการ ตอนทํางานรับราชการ เขาก็มีประวัติไว้

อรุณ เวชสุวรรณ : ผมเป็นคนรุ่นหลัง และคนรุ่นหลังผมยังมีอีกต่อไปตามลําดับ ผมเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีคนแต่งมีคนบันทึกกันมากเหลือเกิน บางเล่มก็ขัดกันเอง ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาสันนิษฐานว่าเล่มไหนเชื่อถือได้บ้าง

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ก็มีที่เจ้าคุณพหลฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ลงพิมพ์ในหนังสือ สุภาพบุรุษ-ประชามิตร นั้นแหละพอจะเชื่อได้เพราะ เจ้าคุณพหลฯ ท่านเป็นคนดีคนตรง บทความเรื่องนี้ดูเหมือนคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยรวมพิมพ์เป็นเล่มมาแล้ว

อรุณ เวชสุวรรณ : แล้วบันทึกของพระยาทรงสุรเดช เชื่อถือได้หรือเปล่าครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  หลังจากเจ้าคุณทรงฯ เสียชีวิตไปแล้ว คุณหญิงทรงฯ ได้เอาต้นฉบับให้ผมและได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นในเล่มนี้ก็เชื่อได้เช่นกัน

อรุณ เวชสุวรรณ : มีหนังสือออกใหม่ ๒ เล่ม ชื่อ ทส. เจ้าคุณทรงสุรเดช และชีวิตพระยาทรงฯ ในต่างแดน อ่านแล้วจับใจความได้ว่าจอมพล ป. เป็นผู้กล่าวร้ายใส่ร้ายพระยาทรงฯ แล้วเนรเทศออกจากประเทศไทย โดยตั้งข้อหากบฏแล้วประหารชีวิตฯ พรรคพวกเจ้าคุณทรงๆ เสีย ๑๘ คน เรื่องนี้ในฐานะที่ท่านร่วมรัฐบาลจอมพล ป. อยู่ด้วยในสมัยนั้นพอจะให้ความจริงได้หรือไม่ล่ะครับว่าใครผิดใครถูก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  เรื่องนี้ไม่ขอตอบ ต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ศาลเท่านั้นที่จะชี้ขาดได้ และผมก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือทั้ง ๒ เล่มที่ว่านั้นด้วย

อรุณ เวชสุวรรณ : ผมคิดว่าท่านและคณะราษฎรทุกคนมีความหวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง แต่ทําไมตอนหลังถึงได้มีความคิดไม่ตรงกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  คุณเคยเข้าใจเรื่องทฤษฎีความแตกแยกไหม? ไม่ว่าสังคมสมัยไหนก็ตามจะต้องมีการแตกแยกเสมอมา พระนารายณ์เสด็จสวรรคต แผ่นดินก็มีความแตกแยกเกิดการฆ่ากันมากมายที่ลพบุรี

อรุณ เวชสุวรรณ : แม้ในสมัยพระเจ้าตากตอนสิ้นรัชกาลก็ฆ่ากันมากนะครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ใช่

อรุณ เวชสุวรรณ : สมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ฆ่ากันมาก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  แม้แต่กรมขุนกระษัตรานุชิต ก็ยังถูกสําเร็จโทษ...คุณรู้ไหม กรมขุนกระษัตรานุชิตเป็นใคร

อรุณ เวชสุวรรณ : เป็นโอรสของพระเจ้าตาก ใช่ไหมครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  แม่ของท่านล่ะ ?

อรุณ เวชสุวรรณ : แม่ของท่านก็คือลูกของรัชกาลที่ ๑ นะครับ ประวัติศาสตร์ว่าไว้อย่างนั้น

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ใช่...นี่แสดงว่าคุณรู้ ที่นี้คุณพอจะเข้าใจทฤษฎีความแตกแยกแล้วละซีว่าไม่ว่าสังคมใดก็ตามทฤษฎีความแตกแยกจะต้องเกิดมีติดต่อกันเสมอมันเป็นกฎอนิจจังของสังคมอย่างหนึ่ง

อรุณ เวชสุวรรณ : แต่ความคิดของท่านบางอย่างไม่เป็นอนิจจังนะครับ เช่นในเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลืองของท่านที่คนในสมัยหนึ่งเคยคิดว่าการก่อตั้งธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย จะตั้งไม่ได้แต่ต่อมาก็ตั้งได้ และโดยเฉพาะปัจจุบันนี้ประเทศไทยกําลังร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดินตรงกับความคิดของท่านในเค้าโครงการเศรษฐกิจเปี๊ยบเลย ถ้าประเทศไทยดําเนินตามเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านป่านนี้ประเทศคงเจริญรุ่งเรือง คนจนคงมีน้อยหรือไม่มีก็เป็นได้

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  มันก็เป็นไปตามกฎอนิจจัง

อรุณ เวชสุวรรณ : ทุกวันนี้ท่านยังสนใจปรัชญาพุทธศาสนาอยู่หรือเปล่าครับ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  สนใจเท่าที่มีเวลา

อรุณ เวชสุวรรณ : ในประเทศไทยมีท่านพุทธทาสภิกขุ อธิบายหลักธรรมที่ประยุกต์เข้ากับสังคมสมัยใหม่และมีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ ธรรมิกสังคมนิยม รู้สึกสอดคล้องกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านอยู่บ้างเหมือนกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี :  ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นพระที่ดี ผมเลื่อมใสในจริยวัตรและความรู้ของท่านเป็นอย่างมาก ตอนผมอยู่ในไทยเคยนิมนต์ท่านมาปาฐกถาธรรมที่หน้าวัดบวรฯ อยู่เสมอ ลูกศิษย์ของท่าน ท่านปัญญานันทะ ก็เคยมาเยี่ยมผมที่นี่ ถ้าคุณกลับไปเมืองไทยช่วยบอกท่านทั้งสองด้วยว่าผมขอฝากกราบนมัสการ ผมเองเคยอุปถัมภ์วัดชื่อ วัดพนมยงค์ที่อยุธยาบ้านเกิดของผม ต้องการพระดีๆ จากสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุ บ้างเหมือนกัน แต่เหตุการณ์มันผันแปรไปเสียก่อน

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขรวิธีสะกด เลขไทย และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม :

  • อรุณ เวชสุวรรณ, “ชีวประวัติ และผลงานของท่านปรีดี,” ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, 2541)

 


[1] ลงพิมพ์ใน น.ส.พ. รายวัน ไทยแลนด์ไทม์ หน้า ๙ ฉบับวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๔, ฉบับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ และฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๔

[2] การสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ได้เขียนคําถามไป ๒๐ กว่าคําถามแต่เมื่อไปเห็นสภาพความชราของท่านปรีดีแล้วก็ไม่กล้าที่จะถามเพราะกลัวจะเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ แต่อย่างไรก็ตามผู้สัมภาษณ์เชื่อว่าพฤติกรรมที่แล้วมาของท่านผู้นี้ ที่ทําไปแล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธามั่นอยู่ในพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้นคนหนึ่งทีเดียว