ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

สามนักต่อสู้ ไล่ช้างกลางทุ่งอำเภออุไทย

4
ธันวาคม
2564

ย้อนกาลเวลาสู่ช่วงทศวรรษ 2440 กลางท้องทุ่งริมเขตแดนของอำเภออุทัย (ยุคนั้นเรียก “อำเภออุไทย”) แห่งอยุธยา มณฑลกรุงเก่า ได้ปรากฏบุรุษสามรายผู้ประพฤติตนเป็น “นักต่อสู้ไล่ช้าง” อันมีนามว่า คุณแดง นายฮ้อ และนายเสียง เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นอย่างไร? และเกี่ยวข้องประการใดกับ นายปรีดี พนมยงค์?

โปรดติดตาม ณ บัดนี้

ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถ่ายทอดเนื้อหาที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้เข้าสัมภาษณ์นายปรีดีเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525 โดยความตอนหนึ่งเปิดเผยเรื่องราวของนายเสียงว่า

“นายเสียง บิดาปรีดีนั้นไม่ชอบรับราชการ  เพราะนายเสียงชอบผจญภัย  ดังนั้นภายหลังที่แต่งงานกับแม่ของปรีดีมีบุตรหัวปีแล้ว  นายเสียงจึงไปทำป่าไม้ที่บริเวณพระพุทธบาท  ถิ่นที่มีไข้ป่าชุกชุม  สมัยนั้นการทำป่าไม้ไม่คุ้มกับการต้องป่วยไข้ จึงได้เปลี่ยนไปทำนาที่ท่าหลวง ซึ่งญาติผู้ใหญ่อันดับอาผู้หนึ่งชื่อผึ้ง (ขุนประเสริฐ) เป็นผู้มีหลักฐานในตำบลนั้น สมัยนั้นยังไม่มีการชลประทาน”

นายปรีดีถามฉัตรทิพย์ “ท่าหลวงเคยไปหรือเปล่า” ครั้นฉัตรทิพย์ตอบ “ท่าหลวงที่มีโรงงานใช่ไหมครับ” นายปรีดีพลันอธิบายเพิ่มเติม

“คือ แต่ก่อนนี้โรงงานปูนซีเมนต์ก็ไม่มี เขื่อนกั้นน้ำก็ไม่มี  ที่เขาเรียกท่าหลวงเพราะว่า  คำว่า ท่าหลวง หมายถึงท่าของพระเจ้าแผ่นดิน เดิมแต่ครั้งโบราณจากท่าหลวง เขาตัดถนนซึ่งเมื่อผมยังเล็กๆ เขาเรียกถนนฝรั่งส่องกล้อง ยาว 1 โยชน์ ตัดตรงจากท่าหลวงไปพระพุทธบาท ตำบลนั้นเขาจึงเรียกว่า ท่าหลวง แล้วต่อมาในหลวงเวลาจะเสด็จไปพระพุทธบาท ก็เสด็จจากที่ๆ เวลานี้เรียกว่าท่าเรือ ตรงนั้นเดิมทีเดียวก็มีทาง สุนทรภู่เคยเขียนไว้เหมือนกัน  แต่เขาไปช้างกัน ไปจนถึงพระพุทธบาท แล้วต่อๆ มาทางนั้นถูกลบ กรมพระนราฯ ท่านได้สัมปทานรถไฟเล็กจากท่าเรือไปพระพุทธบาท”

เดี๋ยวนี้ ตำบลท่าหลวงอยู่ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนเขื่อนที่อ้างถึงว่ายังไม่มีคือ เขื่อนพระรามหก สร้างขึ้นกั้นแม่น้ำป่าสัก เริ่มดำเนินการสร้างนับแต่ปลายทศวรรษ 2450 ยาวนานกว่าจะเสร็จสิ้นปลายทศวรรษ 2460 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถือเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของเมืองไทย 

 

นายเสียง พนมยงค์
นายเสียง พนมยงค์

 

“นายเสียง” ทำนาที่ท่าหลวงไปได้สักพัก ก็เกิดเหตุการณ์มิคาด เพราะ “...ฝนแล้งติดต่อกัน 2 ปี  ทำนาไม่ได้ผล”  ฉะนั้น เขา “...จึงไปปรับทุกข์กับเจ้าคุณไชยวิชิต (นาค) ถึงการจะหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพกับครอบครัว  ท่านเจ้าคุณได้ลาออกจากราชการไปก่อนแล้วหลายปี  จึงแนะนำว่านายเสียงชอบผจญภัย  จึงควรไปบุกเบิกที่บริเวณชายอำเภออุทัย ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งช้าง....”

“เจ้าคุณไชยวิชิต” ที่นายเสียงไปปรึกษาหารือเป็นคนเดียวกันกับ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) เคยรับราชการกระทรวงนครบาล ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า ทั้งยังเคยรับราชการตำแหน่ง หลวงวิเศษสาลี ผู้ช่วยสถานทูตประจำกรุงลอนดอน ซึ่งเข้าร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ 3 องค์ พระวรวงศ์เธอ 1 องค์ และข้าราชการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและประจำกรุงปารีสอีก 6 ราย รวมทั้งสิ้น 11 ราย ทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ “คอนสติตูชาแนลโมนากี” เมื่อเดือนมกราคม ร.ศ. 103 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2427) ผู้ลงลายมือชื่อประกอบด้วย

  1. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์
  2. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต
  3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ 
  4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
  5. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี) 
  6. หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย)
  7. นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) 
  8. ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น)
  9. นายร้อยเอกเปลี่ยน หัสดิเสวี
  10. หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร์) 
  11. สับเลฟ ติแนนต์ สอาด สิงหเสนี

พระยาไชยวิชิตฯ เป็นญาติกับนายเสียง แม่ของท่านเจ้าคุณ คือ พี่น้องร่วมบิดามารดากับย่าของเขา (ต่อมาเจ้าคุณไชยวิชิตฯ ยังมีศักดิ์เป็นปู่ของพูนศุข ภริยานายปรีดี บุตรชายของนายเสียง)

ใช่ว่าจะให้นายเสียงไปบุกเบิกจับจองที่ดินเพียงผู้เดียว ท่านเจ้าคุณชราแนะนำให้ชวน นายฮ้อ พี่ชาย (บุตรคนที่ 6 ของนายเกิดและนางคุ้ม ส่วนนายเสียงเป็นบุตรคนที่ 7) พร้อมทั้งให้ คุณแดง บุตรชายของตนผู้กำลังหนุ่มแน่น (ต่อมาเข้ารับราชการกระทรวงนครบาล จนได้รับบรรดาศักดิ์ “หลวงปราณีตโยธากิจ”) ร่วมไล่ช้างบุกเบิกที่ดินบริเวณทุ่งช้างของอำเภออุทัยด้วย โดยจะจัดแบ่งที่ดินที่จับจองได้มาออกเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน

ในที่สุด ภารกิจของนักต่อสู้ไล่ช้างทั้งสามนายจึงเริ่มต้นขึ้น !

นายปรีดีบอกเล่าต่อว่า

“เมื่อบุกเบิกต่อสู้ช้างจนโขลงช้างถอยออกจากบริเวณนั้นแล้ว ก็แบ่งที่บุกเบิกระหว่างกัน คุณแดงจับจองแถวลำแดง นายฮ้อกับนายเสียงจับจองแถวลำชะแมก  แต่ช้างก็ยังรบกวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อข้าวออกรวงงอกงาม ช้างก็พากันมาทั้งโขลงกินข้าวที่เพาะปลูกไว้ ต่อมาราชการได้ตั้งอำเภอวังน้อยขึ้น  จึงโอนบริเวณลำแดงและลำชะแมก ซึ่งเดิมอยู่เขตอำเภออุทัยนั้นขึ้นกับอำเภอวังน้อย”

ตอนพื้นที่อำเภอวังน้อยเพิ่งแยกออกมาจากอำเภออุทัยราวปลายปี ร.ศ. 126 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับช่วงต้นปี พ.ศ. 2451) จะเรียกขานว่า “อำเภออุไทยน้อย” รวมท้องที่ทั้งสิ้น 10 ตำบล ดังระบุตามประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126 ได้แก่ “ตำบลบ่อตาโล่ ๑ ตำบลลำไซ ๑ ตำบลลำตาเสา ๑ ตำบลพะยอม ๑ ตำบลวังน้อย ๑ ตำบลหันตะเภา ๑ ตำบลชะแมบ ๑ ตำบลวังกุลา ๑ ตำบลสนับทึบ ๑ ตำบลเข้างาม ๑...”  

กระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 มีประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภออุไทยน้อย” เป็น “อำเภอวังน้อย”

อาณาบริเวณที่นายฮ้อกับนายเสียงจับจอง ซึ่งนายปรีดีเรียก “ลำชะแมก” น่าจะหมายถึง “ลำชะแมบ” หรือ ตำบลชะแมบในอำเภอวังน้อยเสียมากกว่า ชาวท้องถิ่นให้ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของชื่อว่า เพี้ยนจาก “ช้างม่อย” มาเป็น “ช้างแมบ” และเป็น “ชะแมบ” เพราะเคยเป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ที่โขลงช้างป่ามักแวะนอนพักผ่อนมาแต่ยุคโบราณ

ต้นทศวรรษ 2440 นายเสียงและนายฮ้อยังคงปฏิบัติการไล่ช้างอยู่ แม้ตอนนายปรีดีถือกำเนิดแล้ว (พ.ศ. 2443) สอดคล้องกับเสียงเล่าที่ว่า “...บิดาผม ลุงผม ท่านไปไล่ช้างผมก็เกิดแล้ว แต่คลับคล้ายคลับคลา  การจับจองที่ดินว่างเปล่าต้องต่อสู้กับช้าง...” เด็กชายปรีดีอาจจะเติบโตไม่ทันได้ไปช่วยบิดาไล่ช้างอย่างจริงจัง แต่เขาทันพบเห็นภาพบรรยากาศความเป็น “ทุ่งช้าง” ของละแวกทุ่งรังสิตจรดอยุธยา ซึ่ง “...แต่ก่อนนี้เป็นทุ่งช้างจริงๆ ในปีที่ผมได้ทุนรัฐบาลไปเรียนในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2463 นั้น ก่อนจะจากสยามไปผมได้ไปบ้านที่อยุธยา แล้วสังเกตกลางทุ่งนายังเห็นช้าง จำได้ตะคุ่มๆ โดยมากมันมักอยู่กัน 2 ตัว ถึงเวลาที่มีข้าวมันก็มากันหลายตัว...”

 

ภาพ: บรรยากาศความเป็น “ทุ่งช้าง” ของบริเวณพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิต ช่วงทศวรรษ 2440 ที่มา: teakdoor
ภาพ: บรรยากาศความเป็น “ทุ่งช้าง” ของบริเวณพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิต ช่วงทศวรรษ 2440
ที่มา: teakdoor

 

นายปรีดีเองก็เคยทำนาตามคำสั่งของบิดา ด้วยเจตนาจะบ่มเพาะบุตรชายให้รู้จักความยากลำบากเยี่ยงเดียวกับที่ตนลิ้มรสชาติเรื่อยมา ความรู้สึกของนายปรีดีที่มีต่อนายเสียงจึงเป็นไปทำนอง “...บิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างชาวนาซึ่งกระทบถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป”

กระนั้น นายเสียงมิเคยมองว่าการทำนาเป็นของน่าเหนื่อยหน่ายหรือสิ่งไม่ดีงาม เขากลับนิยมชมชอบอาชีพกสิกรรมแขนงนี้  หนังสือ คำแนะนำและข้อสกิดใจในการทำนา ที่เจ้าภาพพิมพ์แจกในการฌาปนกิจศพนายเสียง พนมยงค์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 บุคคลที่เขียนประวัติผู้วายชนม์กล่าวว่า “นายเสียง พนมยงค์ เป็นผู้สนใจในกสิกรรมและที่สนใจที่สุดคือการทำนา ดูเหมือนว่าพบกันกับข้าพเจ้าครั้งไรที่จะไม่พูดกันถึงเรื่องทำนาเป็นไม่มี แต่ถึงว่าจะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียง พนมยงค์ มิได้ละเลยที่จะสงเคราะห์และให้การศึกษาแก่บุตรเลย…”

ภายหลังจากนักต่อสู้ไล่ช้างทั้งสามเอาชนะโขลงช้างสำเร็จ สามารถจับจองที่ดินทำการเกษตรได้สักระยะ พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคใหม่ที่ถาโถมมาพร้อมๆ เครื่องจักรกลในช่วงทศวรรษ 2440 ดังนายปรีดีแจกแจงว่า

“ต่อมาบริษัทขุดคลองคูนาสยามได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่คุณแดง นายฮ้อ นายเสียงบุกเบิกจับจองไว้ ในสัมปทานที่รัฐบาลให้แก่บริษัทนั้นมีความว่า ถ้าบริษัทได้ขุดคลองไปถึงที่ใดก็ให้ถือบริเวณ 40 เส้นตั้งแต่ฝั่งคลองแต่ละฝั่งเป็นของบริษัทนั้น  แต่บริษัทก็ให้สิทธิแก่ผู้จับจองไว้ก่อนแล้วที่เสียค่าขุดคลองในอัตราไร่ละ 4 บาท เพื่อได้กรรมสิทธิในที่ดินที่จับจองไว้ก่อนนั้น เจ้าคุณกรุง (พระยาไชยวิชิตฯ (นาค)) ในนามคุณแดงกับคุณขัน นายฮ้อ นายเสียง จึงต้องเสียเงินให้บริษัทคนละประมาณ 200 ไร่...” 

นั่นหมายความว่า เฉพาะแค่ตัวนายเสียงจะต้องจ่ายเงินให้ บริษัทขุดคลองคูนาสยาม (Siam Canals, Lands and Irrigation Company) ซึ่งผู้ดำเนินงานคือกลุ่มชนชั้นนำและ “...ตั้งโดย 3 หุ้นใหญ่ หุ้นหนึ่งคือ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และ ม.ร.ว. สุวพันธ์ ลูกคนโตของพระองค์เจ้าสาย และพระปฏิบัติราชประสงค์เป็นชาวเยอรมันชื่อมูลเล่อร์...” เป็นจำนวนประมาณ 800 บาท ถือว่าราคาสูงลิบลิ่วสำหรับสมัยนั้น ด้านชาวบ้านธรรมดาสามัญที่ไม่มีเงินเพียงพอ ก็คงปลงตกจำใจให้ทางบริษัทยึดเอาที่ดินอันพวกตนเคยต่อสู้ไล่ช้างเพื่อบุกเบิกจับจอง และลงเรี่ยวแรงเพาะปลูกพืชพรรณไปเสียง่ายดาย ขณะที่ดินสองฝั่งคลองที่ขุดตลอดสายค่อยๆ กลายเป็นของบริษัท ส่วนชาวนาผู้เคยจับจองพื้นที่ดั้งเดิมต้องทนตรากตรำกรำงานหนักโดยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะพวกเขาทั้งหลายไม่มีเงินจ่าย “ค่ากรอกนา” ไร่ละ 4 บาท 

 

ภาพ: การขุดคลองโดยใช้เครื่องจักรของบริษัทขุดคลองคูนาสยาม ที่มา: rangsit.org
ภาพ: การขุดคลองโดยใช้เครื่องจักรของบริษัทขุดคลองคูนาสยาม
ที่มา: rangsit.org

 

นายเสียงได้มีที่ดินเป็นของตนเองอยู่ก็จริง ทว่า “...นาตั้ง 200 ไร่ ทำคนเดียวก็ไม่ไหว ก็ให้เขาเช่าไปบางปี  ทีแรกก็ทำนาเอง บิดาผมมีควาย 5-6 ตัว ผมยังจำได้ว่าขโมยเอาไปหมดเลย  ชาวนาจึงเดือดร้อนหลายอย่างรวมทั้งถูกขโมยควาย”

การรุกเข้ามาของบริษัทขุดคลองที่อาศัยประสิทธิภาพของเครื่องจักร แม้จะนำมาซึ่งความเจริญแบบสมัยใหม่ แต่ผลประโยชน์มหาศาลตกอยู่ในมือชนชั้นนำและผู้ถือหุ้นบริษัท ขณะชาวบ้านและชาวนาทั้งหลายที่เคยลงทุนลงแรงถึงกับต้องเสี่ยงเป็น “นักต่อสู้ไล่ช้าง” เพื่อจับจองที่ดินทำมาหากิน กลับเผชิญความลำบากยากเข็ญ คนธรรมดาสามัญเยี่ยงพวกเขาอาจเคยเอาชนะโขลงช้างตามธรรมชาติได้ แต่ท้ายสุดก็พ่ายแพ้ต่อกลุ่มคนที่ประหนึ่ง “ขี่ช้างจักรกล” มายึดเอาที่ดินไป

 

เอกสารอ้างอิง

  • กรมเกษตรและการประมง. คำแนะนำและข้อสกิดใจในการทำนา. เจ้าภาพพิมพ์แจกในการฌาปนกิจศพ นายเสียง พนมยงค์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2479
  • “แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอพระราชวัง ตั้งขึ้นอีกหนึ่งอำเภอเรียกว่าอำเภออุทัยน้อยและโอนตำบลต่างๆ ๔ ตำบล จากอำเภอพระราชวัง กับตัดตำบลหนองน้ำส้ม จากอำเภออุทัยใหญ่ หนองแขม จากอำเภอหนองแครวมแห่งละกึ่งตำบลมาขึ้นอำเภออุทัย.” ราชกิจจานุเบกษา. 24 (47) (23 กุมภาพันธ์ ร.ศ.126). หน้า 1252–1253. 
  • “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ 10 (29 เมษายน 2460). หน้า 40-68
  • ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526